ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 3519
ตอบกลับ: 6
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ประวัติพระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ

[คัดลอกลิงก์]
ประวัติพระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ

นามเดิม : ฌอน ชิเวอร์ตัน (Shaun Chiverton)


พ.ศ. 2501 : เกิดที่ประเทศอังกฤษ เมื่อยังเล็กมีสุขภาพไม่ดี มีอาการหอบหืด ต้องหยุดโรงเรียนบ่อย จึงใช้เวลาในการศึกษาด้วยตนเอง ท่านสนใจว่าอะไรคือสิ่งสูงสุดที่เราจะได้จากการเป็นมนุษย์ อะไรคือความจริงสากลที่ไม่ขึ้นอยู่กับสมมุติของแต่ละสังคม ทำไมคนเราอยากจะอยู่อย่างเป็นมิตรแต่กลับรบราฆ่าฟันกันอยู่เรื่อยไป

เมื่อไปโรงเรียน เป็นนักเรียนที่ช่างคิด ช่างค้นคว้า และมีผลการเรียนที่ดีเยี่ยมจนโยมบิดามีความหวังให้เข้าสอบชิงทุนเพื่อเรียนต่อในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในประเทศอังกฤษ

เมื่อศึกษาอยู่ได้อ่านหนังสือมากมายหลากหลาย จนกระทั่งพบคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาว่าเป็น "สัจธรรมความจริง" ที่กำลังแสวงหาอยู่ จึงสนใจการฝึกจิตและศึกษาหาความรู้ทางพุทธศาสนาตั้งแต่อยู่ในวัยรุ่น

ท่านทำงานเก็บเงินระหว่างที่กำลังเรียน และออกเดินทางหาประสบการณ์ในประเทศต่างๆ ตั้งแต่อายุ 17 ปี ใช้เวลา 2 ปี จนแน่ใจว่าการศึกษาและปฏิบัติธรรม เป็นหนทางที่ต้องการแทนการเรียนต่อในมหาวิทยาลัย

พ.ศ. 2521 : ได้พบและเริ่มปฏิบัติกับอาจารย์สุเมโธ (พระราชสุเมธาจารย์ ในปัจจุบัน และเป็นพระชาวต่างชาติรูปแรกที่เป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อชา) ที่วิหารแฮมสเตด ประเทศอังกฤษ และได้ถือเพศเป็นอนาคาริก (ปะขาว) อยู่กับท่านอาจารย์สุเมโธ ถือศีล 10 เป็นเวลา 1 พรรษา แล้วเดินทางมายังประเทศไทย

พ.ศ. 2522 : บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดหนองป่าพง ตำบลโนนผึ้ง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

พ.ศ. 2523 : อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ที่วัดหนองป่าพง โดยมีพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท) เป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ. 2529-2539 : เป็นรองเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ ตำบลบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีท่านพระอาจารย์ปสันโน เป็นเจ้าอาวาส

พ.ศ. 2540-2544 : รักษาการเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ ตำบลบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี แทนท่านพระอาจารย์ปสันโน ซึ่งได้รับนิมนต์ไปตั้งวัดสาขา คือ วัดป่าอภัยคีรี มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

ปัจจุบัน : พำนัก ณ สถานพำนักสงฆ์ บ้านไร่ทอสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

ก่อนเดินทางมาประเทศไทย ท่านได้ตั้งใจว่าจะอยู่ที่วัดหนองป่าพง ให้ครบ 5 ปี โดยไม่มีเงื่อนไขเพื่อศึกษาปฏิบัติธรรม เมื่อมาพบหลวงพ่อชา ก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในปฏิปทาและความเป็นครูที่มีทั้งเมตตา และปัญญาในการสอนอย่างลึกซึ้ง จึงสามารถทนต่อความยากลำบากในการปรับตัวให้เข้ากับการใช้ชีวิตแบบพระวัดป่า ที่เข้มงวดในวินัย และการฝึกปฏิบัติตามรอยพระพุทธเจ้า และการอยู่ร่วมกับคณะสงฆ์ชาวไทยจนเกิดความก้าวหน้าและเบิกบานในธรรม แนวการสอนของหลวงพ่อชาเน้นการปฏิบัติการรักษาศีล และข้อวัตร ความอดทน ความเพียร การใคร่ครวญหลักธรรม และน้อมมาสู่ใจให้เฝ้าสังเกตจนรู้ทันอารมณ์ของตนเอง และสามารถใช้สติปัญญาในการสร้างประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่นพร้อมกันไป
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-4-27 18:04 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
รวมคติธรรมของท่านพระอาจารย์ ชยสาโร

เป็นชาวพุทธ หรือ ชาวพูด “ ทุกวันนี้เราก็เป็นชาวพูดมากกว่าชาวพุทธ พูดจริงแต่ไม่ค่อยทำ....ชาวพูด พูดเฉยๆ.....เราไม่ได้เป็นชาวพุทธเพราะทะเบียน เราเป็นชาวพุทธเพราะความเพียร..เราเพียรพยายามเลิกละสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม พยายามบำเพ็ญสิ่งที่ดีงามในชีวิต พยายามทำสมาธิภาวนาให้เกิดปัญญาในการแก้ปัญหาในชีวิต.. ”
***

สิ่งน่าอัศจรรย์ที่คาดไม่ถึง “ สิ่งที่น่าอัศจรรย์ที่สุดในโลก คือ คนที่เคยเกิดมาในโลก ล้วนแต่เคยตายมาแล้วทั้งสิ้น แต่ไม่มีใครเชื่อว่า ตัวเองจะตายวันนี้ นี่จึงเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ”
***

พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของเราทุกคน “ พระพุทธเจ้า สามารถเอาความคิดที่ลึกซึ้งของเราออกมาพูดเป็นภาษาคน เพราะฉะนั้น การได้พบพระพุทธศาสนาเท่ากับได้พบตัวเอง ทำให้เข้าใจการสอนของครูบาอาจารย์ที่ว่า พุทธศาสนาไม่ใช่เรื่องของตำรา ไม่ใช่เรื่องของวัดวา ไม่ใช่เรื่องของนักบวช เป็นเรื่องของเราทุกคน เรื่องของหัวใจมนุษย์" ” เรื่องของพุทธศาสนา คือ เรื่องของตัวเองและเรื่องการละ เรื่องการบำเพ็ญ ก็ไม่มีอะไรนอกเหนือจากสิ่งที่มีอยู่ในใจของเรานี่แหละ ”
***

ผู้มีอุปสรรคคือผู้มีบุญ “ ปัญญาเกิดจากการฝ่าฟันอุปสรรค ยิ่งมีอุปสรรคมากยิ่งมีโอกาสที่จะสร้างปัญญามาก ฉะนั้น ผู้ที่มีอุปสรรคมากๆเป็นผู้ที่มีบุญมาก น่าอิจฉา ”
***

ต้องหมั่นสอนตัวเอง “ ชาวพุทธเราเกิดมาเพื่อความฉลาด เพื่อเป็นที่พึ่งของตน เพื่อช่วยตัวเองได้ พระพุทธองค์ก็ชี้แนะแนวทางได้ ครูบาอาจารย์ก็ช่วยได้ แต่ในที่สุดท่านก็สอนเราตลอดเวลาไม่ได้ มีแต่ตัวเองสอนตัวเองตลอดเวลาได้ด้วยการมีสติคอยดูจิตใจตัวเอง ”
***

การเปลี่ยนความรู้จำให้เป็นความรู้จริง นับเป็นความยากอย่างยิ่ง “ ที่เราจะเข้าใจยากที่สุด หรือสิ่งที่เราจะเข้าถึงยากที่สุดก็คือ สิ่งที่เรารู้อยู่แล้ว ฉะนั้น อย่าเป็นคนเก่า จงเป็นคนใหม่อยู่เสมอ อย่าไปเข้าใจว่า เรื่องนี้เรารู้แล้วเราเคยฟังหลายครั้งแล้ว มันจำเจแล้ว ”
***

ความสบายอยู่ที่ความพอดี “ ความสบายมันอยู่ที่ความพอดี คำว่า พอดี จึงเป็นปริศนาธรรมของพุทธ เป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องพยายามเข้าถึง เราไม่ต้องพูดถึงมรรคผลนิพพาน ไม่ต้องพูดถึง สุญญตา ความว่าง อะไรสูงส่งอย่างนั้น เราพูดถึงง่ายๆธรรมดาๆคำนี้ก็พอแล้ว ทำอย่างไรชีวิตของเราจึงจะพอดี ทุกแง่ทุกมุมของชีวิต หากเรามีความพอดีก็จะสบาย ”
***

รอบคอบในความสบาย “ หลวงพ่อชาสอนว่าความสบายมี 2 อย่าง คือ ความสบายที่เป็นไปเพื่อความสบาย และ ความสบายที่เป็นไปเพื่อความไม่สบาย บางทีเราต้องผ่านความไม่สบายก่อนเราจึงได้ความสบายที่มีคุณค่า เพราะความสบายบางอย่างถึงแม้ว่าจะให้ความสุขในปัจจุบันแต่ก็เกิดความไม่สบายในอนาคต... เรื่องการทำลายสิ่งแวดล้อมก็เป็นตัวอย่างที่ดี เราอาจจะทำลายธรรมชาติเพื่อความสุขความสบายอยู่ในขณะปัจจุบัน หรืออาจจะทำเพื่อลูกเพื่อหลานของเราได้ โดยลืมเสียว่าลูกของเราหลานของเราก็จะมีลูกมีหลานเหมือนกัน การสงเคราะห์ลูกหลานของเราอาจเป็นการเบียดเบียนลูกของลูกๆที่ยังไม่ได้เกิด ”
***

ฉลาดในการช่วย “ ถ้าเรามีความหวังที่จะช่วยคนอื่นให้เราฉลาดในการช่วยตัวเอง เพราการช่วยตัวเองและการช่วยคนอื่นเป็นสิ่งเดียวกัน ชีวิตที่มีการช่วยตัวเองและช่วยผู้อื่นเป็นชีวิตที่เบิกบานผ่องใสด้วยการทำหน้าที่ การทำหน้าที่ให้ดีที่สุดก็ด้วยการปล่อยวางความหวังในผล... ”“... เราจะช่วยคนอื่น เราต้องช่วยตัวเองด้วยว่า ประโยชน์ตนประโยชน์ท่านเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อยากจะช่วยคนอื่นอย่างถูกต้องให้ได้ผล มันก็ต้องฉลาดในการชนะกิเลสของตัวเอง ”

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-4-27 18:04 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย oustayutt เมื่อ 2013-4-27 18:06

เมตตาที่แท้ “ เมตตาเป็นความรักที่ประกอบด้วยธรรมะ เป็นความรักที่สม่ำเสมอในสรรพสัตว์ทั้งหลาย บางทีพวกเราอาจจะเคยสังเกตตัวเองว่า การที่เราจะเมตตาสงสารคนอื่นๆที่ประเทศอื่น หรือคนที่เราไม่เคยได้พบเป็นสิ่งที่ง่าย แต่คนที่เราเมตตายากที่สุดคือคนที่อยู่ใกล้ชิด เพราะคนเหล่านี้แหละที่ทำให้เราหนักใจ ที่มีการกระทำและการพูดที่กระทบกระเทือนเราบ่อยๆ ฉะนั้นการแผ่เมตตาของคนทั่วไปมักจะเป็นไปในทำนองที่ว่า ” ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลายมีความสุขๆเถิด เว้นแต่คนนั้น ” ต้องมีเว้นแต่ เว้นแต่คนที่หนาด้วยกิเลส คนที่เราไม่ชอบ แต่นี่ไม่ใช่เมตตา เมตตาที่แท้จริงย่อมไม่มีการเลือกที่รักมักที่ชัง ”
***

อย่าไปท้อ “ ถ้าเรากำลังมีปัญหาก็อย่าไปท้อใจ อย่าหดหู่ใจแต่ปลอบใจตัวเองว่า ถ้าเราอดทน ถ้าเราไม่ท้อถอย ในที่สุดเราต้องผ่านอุปสรรคนี่ได้เพราะพระพุทธองค์ทรงยืนยันได้ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว อันนี้เป้นกฏตายตัวของธรรมชาติ ”
***

อย่าเป็นนัก ” โทษ ”“ ความทุกข์เกิดขึ้นในชีวิต ชอบโทษคนอื่นชอบเป็นนักโทษ โทษคนนั้นโทษคนนี้โทษพ่อแม่โทษลูกหลานโทษรัฐบาล โทษเศรษฐกิจ โทษอาหาร สิ่งที่โทษได้ในชีวิตมีนับไม่ถ้วน แต่ว่าทุกข์ไม่ได้เกิดขึ้นจากสิ่งเหล่านี้ สิ่งเหล่านั้นเป็นแค่เงื่อนไขหรือเป็นปัจจัยหรือเป็นจุดกระตุ้นความทุกข์อยู่ที่ใจ ”
***

เมตตาตัวเองแล้วก็เมตตาผู้อื่นด้วย “ บางสิ่งบางอย่างรู้ว่ามันดี แต่เราทำไม่ได้ บางสิ่งบางอย่างรู้ว่ามันไม่ดีแต่ว่าอดทำไม่ได้ อันนี้เราเป็นอย่างไรเขาก็เป็นอย่างนั้น เขาเป็นอย่างไรเราก็เป็นอย่างนั้น จิตใจเรานี้ยังไม่เข้มแข็งต้องให้อภัยตัวเอง เมตตาตัวเองแล้วก็เมตตาคนอื่นด้วย ”
***

สัมมาทิฐิเบื้องต้น “ การมีปัญหาเป็นความจริงเป็นสัจธรรม....ปัญญาพื้นฐานนี้สำคัญมาก ต้องรู้ว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่เราต้องแก้ไข สิ่งใดเป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับ อันนี้คือสัมมาทิฐิในระดับหนึ่ง ”
***

ล้างบาปไม่ได้แต่ละลายได้ “ พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ความเชื่อเหมือนของขมๆ เอาของขมไว้ในภาชนะเล็กๆ เช่น แก้วน้ำ จะทำให้น้ำในแก้วขมหมดเลย แต่สมมุติว่าเอาของขมนั้นไปไว้ในแทงค์น้ำใหญ่ๆเปิดก๊อกชิมน้ำดื่มน้ำก็ไม่ขม แต่ไม่ใช่ว่าความขมหรือของขมหายไปเลย มันก็ยังมีอยู่เหมือนเดิมแต่ว่ามีก็เหมือนกับไม่มี เพราะสิ่งที่จืด สิ่งที่สะอาด สิ่งที่ไม่ขมมากกว่าเสียจนความขมนั้นเกือบจะไม่มีความหมาย ถ้าเราทำคุณงามความดีไว้มากไม่ใช่ว่าจะลบล้างกรรมเก่าหรือบาปอกุศลที่ไม่ดีได้ทั้งหมด.... แต่เหมือนกับว่าพลังหรืออำนาจของความดีจะมากกว่าพลังของความชั่วจนมีเหมือนกับไม่มี ”
***

จะทำดีอ้างบุญบารมีน้อย แต่ทำชั่วไม่เคยอ้าง “ พวกเราชอบอ้างบุญ อ้างบารมีอยู่เรื่อย เพื่อเป็นการแก้ตัว บางคนก็อ้างว่าบุญหรือบารมีที่จะภาวนาก็ไม่มี ทำไมเรามีแต่บุญมีแต่บารมีเพื่อทำความชั่ว ทำไมเราไม่มีบุญบารมีเพื่อทำความดีบ้างบุญบารมีทำความชั่ว เห็นเรามีทุกคนตลอดเวลา ทำไมเราไม่มีบุญบารมีทำความดี นั่นต้องถามตัวเองอย่างนี้ ”
***

ติดดีก็เป็นทุกข์ “ ถ้าเป็นคนดีแล้วต้องรำคาญคนที่ไม่ดี ทุกวันนี้คนที่ไม่ดีมากกว่าคนดีเยอะ ไปที่ไหนก็กลุ้มใจ มีแต่ความไม่พอใจ เหมือนกับคนที่สูบบุหรี่ เลิกแล้วดูคนอื่นสูบก็ไปเทศน์ให้เขาฟัง นี่เรียกว่า ติดดีท่านไม่ให้ติด แม้จะเป็นความดีท่านก็ไม่ให้เราติด เพราะว่า ความติดเป็นทุกข์ สร้างความทุกข์แก่ใจ ”
***

ทำดีต้องได้ความดี “ ทำดีต้องได้ความดี ทำชั่วต้องได้ความชั่ว ถ้าเราทำความดีแล้วเราก็ย่อมได้ความดีอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ว่าผลที่จะได้ออกมาทันตาเห็น อาจจะไม่สมปรารถนาก็ได้ แต่สิ่งที่ไม่สมปรารถนาก็อาจเป็นไปเพื่อสิ่งที่สมปรารถนาในภายหลังก็ได้ แล้วสิ่งที่สมปรารถนาอาจจะเป็นไปเพื่อความทุกข์ ความเดือดร้อนในภายหลังก็ได้ มันก็ไม่แน่นอน ”


4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-4-27 18:06 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ความสุขในโลกเหมือนน้ำผึ้งติดปลายมีดโกน “ ความสุขในโลกมีหลายอย่าง ความสุขบางอย่าง ท่านบอกว่าเหมือนกับ ” น้ำผึ้งติดปลายมีดโกน ” คิดดูซิมันเป็นอย่างไร น้ำผึ้งติดปลายมีดโกน น้ำผึ้งแสนอร่อยเราไปเลียมัน อร่อยที่สุด แต่ต่อมาเป็นอย่างไร มันบาดลิ้นเรา ความสุขในโลกเป็นอย่างนี้ ”
***

ปัญหาที่ต้องแก้ไข และ ปัญหาที่ต้องยอมรับ “ การมีปัญหาเป็นความจริง เป็นสัจธรรมเป็นสิ่งที่เราแก้ไขไม่ได้ ต้องรู้ว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขสิ่งใดเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับ อันนี้คือ สัมมาทิฏฐิในระดับหนึ่ง เพราะถ้าเราหลงยอมรับในสิ่งที่เราต้องแก้ไข แต่เราไปแก้ไขในสิ่งที่ควรยอมรับ การปฏิบัติของเราก็คงเป็นหมัน เราก็ไม่ได้ก้าวหน้า ในที่สุดก็ท้อใจล้มเลิกการปฏิบัติ ”
***

ชีวิตนี้สั้นเกินกว่าที่จะคอยให้อภัยตนเอง “ เมื่อเราทำอะไรด้วยความมักง่ายด้วยความขาดตกบกพร่อง ผลที่เกิดขึ้นมักจะเป็นโทษ เป็นโทษทั้งแก่ตนเองและคนอื่นด้วย แล้วเราก็คิดปลอบใจตนเองว่าไม่เป็นไรๆ เราไม่เจตนา ปล่อยวางซะ อย่าไปคิดเลย การคิดเช่นนี้ไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรมะ... ” เราทำอะไรต้องรับผิดชอบด้วย ให้เราระลึกอยู่เสมอว่า เราต้องตั้งสติอยู่ในความจริงอยู่เสมอว่า วันนี้แหละเราก็ตายเป็น เราไม่มีเวลาที่จะไปทำอะไรแบบนั้น ที่เราคิดว่าเราไม่ได้ตายวันนี้หรอก อันนี้ก็เป็นกิเลส เป็นความคิดที่ผิด ชีวิตของเรานั้นเปราะบางมาก มันเบาบางมาก มันแตกสลายได้ง่าย เป็นของนิดเดียวเหมือนฟองน้ำไม่มีความมั่นคง
***

จงภูมิใจและไม่ประมาทในความเป็นมนุษย์ “ การเกิดเป็นมนุษย์นี้ เกิดยากจริงๆเป็นโอกาสที่ไม่ควรจะพลาด ไม่ควรจะประมาทในโอกาสอันแสนยากนี้ เพื่อจะได้ปฏิบัติธรรมะตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ให้มีความอิสระเสรี ให้พ้นจากความทุกข์ เพราะว่าในบรรดาสัตว์ในโลกหรือสัตว์ในภูมิต่างๆ มีแต่มนุษย์เราเท่านั้นที่มีอุปกรณ์พร้อม หรือมีความเฉลียวฉลาดพอสมควรที่จะบรรลุความจริงอันลึกซึ้งของพระพุทธเจ้าได้ ”
***

ตัวบาป ตัวบุญ “ ถ้าเราทำสิ่งใดด้วยความรู้สึกของตัวตนมีเรามีของเรา ทำอะไรที่เบียดเบียนตนเอง และเบียดเบียนคนอื่น จิตใจก็เศร้าหมอง ว้าวุ่น ขุ่นมัว ผิดปกติไป นี่แหละเรียกว่า บาปถ้าเราทำสิ่งใดด้วยความเสียสละอย่างแท้จริง ทำเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขของคนอื่น โดยปราศจากผลประโยชน์ของตนเอง จะเห็นว่าจิตใจของเราผ่องใสเบิกบาน นั้นแหละตัวบุญ ”
***

ความจริงที่แน่นอน “ พระพุทธองค์เกิดขึ้นในโลกก็ตาม ไม่เกิดขึ้นในโลกก็ตาม สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยงเป็นทุกข์ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน หลัก ” อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ” อันนี้เป็นความจริงที่แน่นอน ”
***

พุทธบริษัทถ้าขี้เกียจปฏิบัติก็ล้มละลายได้เช่นกัน “ ถ้าเรามีอาชีพอยู่ในโลก เวลาเราจะลุกขึ้นตอนเช้า เราไม่ได้คิดว่า เราจะไปทำงานหนอ จะไม่ไปหนอ จะนอนต่อหนอ คิดว่า ถ้าเราไม่จำเป็นต้องไปทำงาน เราก็ไม่ได้กิน เดียวเขาจะไล่ออก ของเราก็เหมือนกันให้ถือว่าการปฏิบัติธรรมมีความจำเป็น เป็นหน้าที่ของเราแล้วบริษัททุกบริษัทถ้าไม่ทำกิจกรรม ไม่ทำหน้าที่ของมัน มันก็จะล้มละลาย พุทธบริษัทก็เหมือนกัน ถ้าพุทธบริษัทไม่ทำหน้าที่ ไม่ทำกิจกรรมของตน มันก็จะล้มละลายเหมือนกัน ศาสนาพุทธก็จะหายไปจากโลก ”


ที่มา http://www.dhammajak.net/dhamma/13.html
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=367
สาธุครับเคยไปฟังเทศน์ท่านเหมือนกัน
นานมากแล้ว...ฟังเทศน์โต้รุ่งสุดๆ

กราบนมัสการครับ

ขอบพระคุณข้อมูลครับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้