ประวัติ
วิหารพระมงคลบพิตร ถ้าตามพระราพงศาวดารฯบริเวณที่ตั้งวิหารนี้เคยเป็นวัด
ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเพราะระบุว่าโปรดอัญเชิญพระพุทธรูปขนาดใหญ่
นามว่า “มงคลบพิตร” มาจากพื้นที่ทางตะวันออกต่อจากนั้นก็ทรงก่อมณฑปครอบ ครั้นถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โปรดเกล้าให้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์
พระมงคลบพิตรขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยโปรดให้ทำบัวหงายคั่นระหว่างพระเกตุมาลากับพระรัศมี
ส่วนพระวิหารนั้นก็โปรดให้รื้อเครื่องบนออก แล้วก่อหลังคาให้เหมือนดังพระวิหารทั่วไป ต่อมาเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๐ นั้น
พม่าเข้าใจว่าพระมงคลบพิตรเป็นพระพุทธรูปทองคำ จึงได้ใช้ไฟสุมลอกทอง
จนกระทั่งองค์พระ ตลอดจนพระวิหารได้รับความเสียหายมาก
โดยเฉพาะเครื่องบนพระวิหารที่หักลงมา ต้องพระเมาฬีและพระกรข้างขวาจนแตกหัก
ตกลงมากลายเป็นซากปรักหักพัง นับแต่นั้นมาจนกระทั่งถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕
จึงได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้น เมื่อครั้งพระยาโบราณราชธานินทร์ ดำรงตำแหน่ง
สมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่าครั้งนั้นได้มีการซ่อมพระเมาฬีและพระกรข้างขวา
ด้วยปูนปั้น ส่วนพระวิหารที่อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม ก็ได้มีการบูรณะขึ้นใหม่ด้วยเช่นกัน ใน พ.ศ. ๒๔๗๔ คุณหญิงอมเรศศรีสมบัติ มีศรัทธาที่จะปฏิสังขรณ์ฐานพระมงคลบพิตรขึ้นใหม่
ครั้นนั้นจำเป็นต้องลบรอยปูนปั้นของเดิมออกจนหมด ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๙๙ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้มีการ
บูรณะปฏิสังขรณ์พระมงคลบพิตร และพระวิหารขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง
โดยเฉพาะองค์พระมงคลบพิตรนั้นได้ทาสีดำตลอดทั้งองค์ พ.ศ. ๒๕๓๓ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก
เสด็จมาเป็นองค์ประธานเททองหล่อพระพุทธรูปพระมงคลบพิตรจำลอง
ได้ประทานพระราชดำริว่าควรปิดทององค์พระมงคลบพิตรทั้งองค์
ทำให้องค์พระพุทธรูปมีพุทธลักษณะที่งดงาม น่าเลื่อมใสศรัทธายิ่งขึ้น
|