ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2873
ตอบกลับ: 4
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

หลวงพ่อร้องไห้ หรือ “หลวงพ่อโต” วัดสี่ร้อย จ.อ่างทอง

[คัดลอกลิงก์]


หลวงพ่อร้องไห้  หรือ “หลวงพ่อโต”
[พระพุทธรูปองค์ใหญ่ประทับนั่งห้อยพระบาท ปางป่าลิไลยก์
ประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่บริเวณประตูทางเข้าวัด]

วัดสี่ร้อย ต.สี่ร้อย อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง


“วัดสี่ร้อย” เป็นวัดเก่าแก่อายุกว่า ๑๕๐-๒๐๐ ปี ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน้อย
หมู่ที่ ๔ ตำบลสี่ร้อย อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง
ไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๔๕๔ หลักกิโลเมตรที่ ๓๑-๓๒
บนเส้นทางสายโพธิ์พระยา-ท่าเรือ หรืออ่างทอง-วิเศษชัยชาญ

ชื่อตำบลสี่ร้อยและชื่อวัดสี่ร้อย เป็นชื่อที่สันนิษฐานว่าตั้งขึ้นเป็นอนุสรณ์
แก่ “ขุนรองปลัดชู และทหารกองอาทมาต ชาววิเศษชัยชาญ ๔๐๐ คน”
ที่เสียชีวิตในสงครามระหว่างไทยกับพม่าที่เมืองกุย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.๒๓๐๒


ณ วัดสี่ร้อยแห่งนี้ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางป่าลิไลยก์
มีขนาดหน้าตักกว้าง ๖ เมตรเศษ สูงตลอดยอดพระรัศมีราว ๒๑ เมตร
มีนามว่า “หลวงพ่อโต” ประดิษฐานอยู่หน้าอุโบสถ ริมฝั่งขวาของแม่น้ำน้อย
เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประทับนั่งกลางแจ้งห้อยพระบาท

ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่บริเวณประตูทางเข้าวัด พระพักต์หันไปทางทิศตะวันออก
พระหัตถ์ขวาวางหงายบนพระเพลาขวา พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนพระเพลาซ้าย
ลักษณะพุทธศิลป์สมัยรัตนโกสินทร์ วงพระพักตร์ค่อนข้างกลมมน พระรัศมีค่อนข้างสูง
เป็นที่น่าแปลกที่ช่างสร้างให้อารมณ์ที่ปรากฏบนพระพักตร์ค่อนข้างหมอง

สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๒ ในสมัยที่หลวงพ่อบุญ เป็นเจ้าอาวาส
หลวงพ่อปั้น หรือพระครูสังคกิต เจ้าอาวาสวัดพิกุล (วัดพิกุลโสคัณธ์)
ตำบลพระขาว อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ได้ร่วมกับหลวงพ่อบุญ เจ้าอาวาสวัดสี่ร้อย จังหวัดอ่างทอง
สร้างพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ ซึ่งเป็นการจำลองมาจาก
วัดป่าเลไลยก์ วรวิหาร ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี
โดยใช้เวลาก่อสร้างอยู่ราว ๑๖ ปี จึงแล้วเสร็จสมบูรณ์


2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-1 10:07 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ชาวบ้านทั้งใกล้และไกลต่างเคารพศรัทธา “หลวงพ่อโต วัดสี่ร้อย” เป็นอันมาก
งานเทศกาลประจำปีของวัดในวันขึ้น ๑๓-๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒
ซึ่งตรงกับเทศกาลลอยกระทงนั้น สมัยก่อนจะแน่นขนัดด้วยเรือยนต์ เรือพาย
ร้านขายของ และฝูงชนมากมายที่มากราบนมัสการองค์พระและร่วมงานลอยกระทง

แต่อีกชื่อที่เป็นที่สนใจแก่คนทั่วไป ก็คือ “หลวงพ่อร้องไห้”
เพราะเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐ มีข่าวใหญ่ตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่า
“หลวงพ่อโต วัดสี่ร้อย” มีโลหิตไหลออกมาจากพระนาสิก (จมูก)
ข่าวนี้ได้รับความสนใจจากคนทั่วไป เป็นที่โจษจันกันไปทั่ว

เหตุการณ์นั้นมีชาวบ้านในอำเภอวิเศษชัยชาญล้มตายไปเป็นจำนวนมาก
ทำให้มีสาธุชนผู้สนใจทั้งชาวจังหวัดอ่างทองและจังหวัดใกล้เคียง
ต่างหาโอกาสเดินทางมานมัสการ กราบไหว้สักการะเป็นอันมาก

กระทั่งเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๓ มีข่าวใหญ่อีกว่า
“หลวงพ่อโต วัดสี่ร้อย” มีโลหิตไหลออกมาทางจมูก บริเวณหน้าอก
หัวไหล่ ด้านหลัง และตามส่วนต่างๆ ทั่วองค์พระพุทธรูปอีกเป็นจำนวนมาก
ชาวบ้านต่างพากันตื่นตระหนกหวั่นลางร้าย ด้วยเชื่อว่าปรากฏการณ์ดังกล่าว
อาจเกิดจากองค์หลวงพ่อโตท่านเสียใจ หลังท่านเห็นพระสงฆ์กับชาวบ้าน
ทะเลาะกันในงานพิธีบวงสรวงเปิด อนุสาวรีย์ขุนรองปลัดชู ณ วัดสี่ร้อย
เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๓ ที่ผ่านมา ก็อาจจะเป็นได้
นอกจากนี้แล้ว “หลวงพ่อโต วัดสี่ร้อย” องค์นี้ ยังเคยมีปาฏิหาริย์
มีน้ำตาไหลออกมาจากพระเนตร ยามที่บ้านเมืองจะเกิดอาเพศด้วย


นอกจากนี้ ภายในอุโบสถ วัดสี่ร้อย เคยมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง
ฝีมือช่างอยุธยาที่มีความงดงามมาก ปัจจุบันภาพลบเลือนไปหมดแล้ว

ชาววิเศษชัยชาญไปสร้างชื่อเสียงในการรบท้องถิ่นอื่นถึง ๒ ครั้ง
คือ การรบของชาววิเศษชัยชาญ ที่ค่ายบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี
และการรบของขุนรองปลัดชู กับทหาร “กองอาทมาต” ชาววิเศษชัยชาญ
ที่อ่าวหว้าขาว อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในปัจจุบันนี้

เมื่อปี พ.ศ.๒๓๐๒ ในรัชกาลพระเจ้าเอกทัศ กษัตริย์องค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา
กองทัพพม่ายกทัพมาตีไทย โดยอ้างสาเหตุว่า ไทยช่วยมอญที่หนีพม่าเข้ามา
มอญนั้นหนีพม่าเข้ามาอาศัยอยู่ที่เมืองตะนาวศรี ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นของไทย
พม่าขอตัวหัวหน้ากบฏมอญ แต่ทางไทยไม่ยินยอมมอบให้



3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-1 10:08 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


ประวัติท่านขุนรองปลัดชู กองอาทมาต และวัดสี่ร้อย
   
วัดสี่ร้อย จังหวัดอ่างทอง ในอดีตล่วงมาถึงปีพุทธศักราช ๒๓๐๓
พระเจ้าอลองพญา กษัตริย์พม่า กำลังฉลองพระเกศธาตุ อยู่ที่เมืองย่างกุ้ง
จึงรับสั่งให้ “มังระราชบุตร” กับ “มังฆ้องนรธา” คุมทัพพล ๘,๐๐๐ คน
ลงไปตีเมืองทวายที่แข็งเมือง มังระราชบุตรตีเมืองได้แล้ว
ทราบว่ากำปั่นจากเมืองทวายหนีมาอาศัยอยู่ที่เมืองตะนาวศรี
และเมืองมะริด (ของไทย) หลายลำ จึงขอยกทัพไปตีเมืองทั้งสอง
ซึ่งอยู่ในความปกครองของกรุงศรีอยุธยา ต่ออีก
มังระราชบุตรยกทัพพล ๘,๐๐๐ ซึ่งคงตายไปบ้าง
ไปตีเมืองตะนาวศรี และเมืองมะริด (ของไทย) ได้โดยง่าย
เป็นผลให้พม่าประมาทฝีมือไทย จึงคิดจะเข้ามาตีหัวเมืองไทย
ทางฝ่ายกรุงศรีอยุธยาทราบข่าวศึกจากเมืองตะนาวศรี ก่อนที่เมืองตะนาวศรีจะแตก
จึงให้ พระยายมราช เป็นแม่ทัพคุมพล ๓,๐๐๐ คนยกไปรักษาเมืองมะริด
และให้ พระยารัตนาธิเบศร์ ซึ่งเป็นจตุสดมภ์กรมวัง
(เรียกว่าตั้งแม่ทัพแบบตั้งส่งเดช) คุมทัพพล ๒,๐๐๐ คนยกหนุนขึ้นไป

ในครั้งนั้นยังโปรดให้ ขุนรองปลัดชู กรมการเมืองวิเศษไชยชาญ
ซึ่งเป็นผู้ทรงวิทยาคมแก่กล้า ชำนาญในการรบด้วยดาบสองมือ มีลูกศิษย์มากมาย
พร้อมด้วยพรรคพวกชาววิเศษไชยชาญอีกจำนวน ๔๐๐ คน
โดยใช้ชื่อว่า “กองอาทมาต”
ทุกคนที่อยู่ในกองอาทมาตเรียกว่า
จะยิงก็ไม่เข้า จะแทงก็ไม่เข้า หนังเหนียวกันทั้งกอง จนเป็นที่เลื่องลือ
ยกไปเข้าสมทบกับกองทัพของพระยารัตนาธิเบศร์ด้วย

ส่วนทัพพระยายมราชยกกองทัพไปทางด่านสิงขร ที่ประจวบคีรีขันธ์
ข้ามเขาบรรทัดไป พอพ้นแดนไทยก็ทราบว่า เมืองตะนาวศรีและเมืองมะริด
เสียแก่พม่าแล้ว จึงยั้งทัพอยู่ที่แก่งตุ่มปลายน้ำตะนาวศรี หวังรอคำสั่งต่อไป

ครั้นเมื่อกองทัพพม่ารู้ว่า ทัพไทยตั้งอยู่ที่ปลายน้ำตะนาวศรี
มังระราชบุตรจึงให้มังฆ้องนรธา ยกมาตีกองทัพพระยายมราชแตกพ่ายไป
(พระยายมราช เดิมคือ พระยาราชครองเมือง ไร้ฝีมือในการรบ)   
ขณะนั้นทัพของพระยารัตนาธิเบศร์ตั้งอยู่ที่เมืองกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
จึงได้สั่งให้กองอาทมาตของขุนรองปลัดชู คุมขึ้นไปตั้งสกัดกองทัพพม่า
อยู่ที่อ่าวหว้าขาว ตั้งอยู่เหนือที่ว่าการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในปัจจุบันนี้

พอพม่ายกทัพผ่านมาแต่เช้าตรู่ ขุนรองปลัดชูจึงคุมกองอาทมาต
ออกโจมตีพม่าข้าศึก รบด้วยอาวุธสั้นถึงตะลุมบอน
ถึงแม้ทหารของไทยจะน้อยกว่า แต่ก็ไล่ฆ่าฟันพม่าล้มตายเป็นอันมาก
การต่อสู้ผ่านไป ๑ คืนถึงเที่ยงวันรุ่งขึ้น ก็ยังไม่สามารถเอาชนะพม่าได้
เพราะพม่ายกทัพหนุนเข้ามาช่วยอีก ด้วยกำลังที่น้อยกว่าจึงเหนื่อยอ่อนแรง
สิ้นกำลังลง ในที่สุดก็ถูกพม่ารุกไล่โจมตีแตกพ่ายยับเยิน


ฝ่ายพระยารัตนาธิเบศร์พอทราบว่า กองทัพพระยายมราชแตกถอยลงมาแล้ว
ก็ให้เกณฑ์พลอีก ๕๐๐ คน ให้ยกไปหนุนกองอาทมาตของขุนรองปลัดชู
ที่มีพลยกไปเพียง ๔๐๐ คน แต่กองหนุนก็ยกทัพไปช่วยไม่ทัน
เพราะขุนรองปลัดชูและกองอาทมาตนั้นรบมาตั้งแต่เช้าตรู่จนยันเที่ยง
แม้ทหารกองอาทมาตจะมีวิชาอาคมแก่กล้า ฟันแทงไม่เข้า หนังเหนียว
แต่ทหารพม่าก็ใช้วิธีทุบตีและไสช้างเข้าเหยียบย่ำทหารกองอาทมาตให้ตาย
ที่ไม่ตายด้วยการถูกทุบตีหรือช้างเหยียบ ก็ถูกไล่ลงน้ำทะเลจนจมน้ำตายหมด
ในที่สุด ขุนรองปลัดชู พร้อมด้วยทหารกองอาทมาตอีกจำนวน ๔๐๐ คน
ก็เสียชีวิตลงด้วยฝีมือของทัพพม่าหมดทั้งกอง


พระยารัตนาธิเบศร์นั้น พอทราบข่าวว่า ทหาร “กองอาทมาต” แตกพ่าย
ก็ถอยหนีกลับไปยังเมืองเพชรบุรี กองทัพพม่าก็ตีตามไล่เข้ามา
ฝ่าย พระเจ้าอลองพญา ที่มาตรวจตราดูเมืองตะนาวศรีที่ตีได้
พอทราบข่าวว่าได้ชัยชนะอย่างง่ายดายเช่นนั้น จึงคิดมาตีกรุงศรีอยุธยาทันที
แต่การรบในครั้งนี้ พระเจ้าอลองพญา (น่าจะไม่ใช่ทหารปืนใหญ่)
ตอนมาล้อมกรุงศรีอยุธยา ทรงบัญชาการยิงปืนใหญ่ด้วยพระองค์เอง
จะเอาระยะไกลเข้าว่า จึงบรรจุดินปืนมากจนลำกล้องระเบิด
และการระเบิดของลำกล้องปืน เป็นผลให้พระเจ้าอลองพญาบาดเจ็บสาหัส
จึงยกทัพกลับไปทางเมืองตาก หมายจะพ้นแดนไทยทางด่านแม่ละเมา
แต่ยังไม่พ้นแดนไทย ก็สิ้นพระชนม์ในป่า ซึ่งสถานที่แห่งนี้ในปัจจุบัน
ก็คือ อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช จังหวัดตาก

4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-1 10:09 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ชาววิเศษไชยชาญ เมื่อทราบข่าวการตายยกกองของกองอาทมาต
ก็โศรกเศร้าเสียใจ จึงได้แต่ภาวนาขอบุญกุศลที่ได้สร้างสมไว้จงเป็นปัจจัย
ส่งผลให้ดวงวิญญาณของทหารกล้าได้ไปสู่สุคติ ความเงียบเหงาวังเวงเกิดขึ้น
หมดกำลังใจในการทำมาหากิน ไม่มีอะไรดีไปกว่าการร่วมกันสร้างสิ่งต่างๆ
ไว้เป็นที่ระลึกถึงผู้พลีชีพด้วยการสร้าง วัดสี่ร้อย ขึ้นในปี พ.ศ.๒๓๑๓
ใช้ชื่อสี่ร้อยตามจำนวนกองอาทมาตสี่ร้อยคน ที่ไม่ได้กลับมา
เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่อนุชนรุ่นหลังของชาวเมืองวิเศษไชยชาญ
เพื่อเป็นการย้ำเตือนให้ระลึกถึงบรรพบุรุษที่พลีชีพปกป้องปฐพีถึงกับเสียชีวิต
โดยตั้งนามว่า วัดสี่ร้อย ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาประชาชนทั่วไป

อ่างทองเป็นจังหวัดที่เล็ก แต่ก็มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่เป็นอันมาก
อย่างวัดสี่ร้อยก็เป็นอีกหนึ่งวัดที่มีพระใหญ่ให้ชาวบ้านสักการบูชาและชมความงาม
บรรยากาศในวัดค่อนข้างเงียบสงบ วันหยุดหรือวันว่างขอเชิญแวะมานมัสการ
ท่านจะได้เห็นถึงความใหญ่โตของพระใหญ่ และประวัติความเป็นมาที่น่าทึ่งของวัดสี่ร้อย

การเดินทาง


ไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๔๕๔ หลักกิโลเมตรที่ ๓๑-๓๒
บนเส้นทางสายโพธิ์พระยา-ท่าเรือ หรืออ่างทอง-วิเศษชัยชาญ
ห่างจากอำเภอเมืองอ่างทองไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๑๒.๕ กิโลเมตร
แล้วแยกซ้ายมือไปตามถนนคันคลองชลประทานอีก ๕ กิโลเมตร






5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-1 10:10 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้







   รวบรวมและเรียบเรียงเนื้อหามาจาก
http://www.bansansuk.com/travel/Measure ... 20hundred/

ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ
http://yuyeeindy.multiply.com/photos/photo/123/9
http://m.exteen.com/blog/littlest-aa/read/4187685785

พระพุทธรูปปางป่าลิไลยก์ : อนุสรณ์เหตุการณ์พระสงฆ์ทะเลาะกัน
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=41164
                                                                                       
....................................................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=41178

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้