พุหางนาค เป็นชื่อยอดเขาลูกหนึ่งบนทิวเขาศักดิ์สิทธิ์ที่มีหลายยอดในชื่อต่างๆกัน (เช่น เขารางกะปิด, เขาพระ, เขาทำเทียม, เขาถ้ำเสือ) ของทิวเขาด้านหลัง (หรือด้านตะวันตก) เมืองอู่ทอง อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี
ชื่อเขาพุหางนาค หมายถึง ยอดเขาที่มีน้ำผุดขึ้นจากใต้ดิน แล้วไหลคดเคี้ยวเป็นแนวยาวคล้ายหางพญานาคลงตีนเขา
พุ แปลว่า ผุดขึ้น, แตกขึ้น แล้วเรียกน้ำที่ผุดขึ้นมาจากใต้ดินด้วยแรงดันธรรมชาติภายในว่าน้ำพุ
น้ำพุน้ำผุดที่ไหลคดเคี้ยวจากบนเขาลงตีนเขา แล้วไหลผ่านช่องเขาลงสู่ที่ราบระหว่างเขาพระทางเหนือ กับเขาทำเทียมทางใต้ กลายเป็นทางน้ำใหญ่เรียก ห้วยหางนาค(ห้วย หมายถึงทางน้ำไหล เป็นแนวยาวจากภูเขา)
ห้วยหางนาค ไหลจากช่องเขาศักดิ์สิทธิ์ด้านตะวันตก ลงที่ราบเชิงเขาลาดเอียงสู่ด้านตะวันออก แล้วเข้าคูเมืองอู่ทอง หล่อเลี้ยงผู้คนในเมือง ก่อนไหลลงแม่น้ำจรเข้สามพันไปออกแม่น้ำท่าจีน
บนยอดเขาพุหางนาคอันศักดิ์สิทธิ์ อ. ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ นักวิชาการอิสระ สำรวจพบหินตั้งเนื่องในศาสนาผี ราว 2,000 ปีมาแล้ว โดยใช้งานต่อเนื่องในศาสนาพุทธยุคทวารวดี ราว 1,500 ปีมาแล้ว
น้ำที่ผุดจากเขาพุหางนาค แล้วไหลเป็นห้วยหางนาคลงสู่ที่ราบจึงเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ หมายความว่าสองฝั่งห้วยหางนาคก็เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วย
คนยุคทวารวดีเมื่อรับศาสนาพุทธจึงสร้างพุทธสถาน เป็นสถูปเจดีย์, วิหาร, และอื่นๆไว้สองฝั่งห้วย นักโบราณคดีกรมศิลปากรจึงขุดพบธรรมจักรสลักบนหิน พร้อมเสาแปดเหลี่ยมกับแท่นรองรับธรรมจักร สัญลักษณ์พุทธศาสนายุคพระเจ้าอโศก บนฝั่งห้วยหางนาค
ห้วยหางนาค ยุคทวารวดีเป็นทางน้ำกว้างใหญ่ มีน้ำไหลแรงตลอดปี เพราะมีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์กักเก็บน้ำไว้บนเขาพุหางนาค จึงไม่ขาดน้ำ
แต่ยุคปัจจุบันไม่มีน้ำไหล แม้น้ำขังก็หายากมากๆ ยิ่งถึงหน้าแล้งไม่มีน้ำสักหยด
อ่างเก็บน้ำเขาพระที่ลงทุนสร้างไว้หวังจะกักเก็บน้ำไว้ใช้ในตัวอำเภอ จึงไม่มีน้ำให้เก็บกัก ก็เหลือแต่ซากสันอ่างไว้เป็นอนุสรณ์สถาน
วัฒนธรรมมีชีวิต แต่คนนั่นแหละมีส่วนทำลายให้วัฒนธรรมไร้ชีวิต
ทางการไม่ว่าส่วนกลาง, ส่วนภูมิภาค, หรือส่วนท้องถิ่น ถ้ารักจะทำเมืองอู่ทองเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ต้องห้ามสร้างอาคารสถานที่บริเวณสองฝั่งห้วยหางนาคนี้ แล้วหาวิธีกักเก็บน้ำไว้ในห้วยให้ได้
สุจิตต์ วงษ์เทศ
|