ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2094
ตอบกลับ: 3
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

วิธีคิด (เสฐียรพงษ์ วรรณปก)

[คัดลอกลิงก์]


วิธีคิด
โดย
อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก


ความคิดเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะความคิดเป็น "จุดเริ่ม" ของชีวิต พฤติกรรมที่แสดงออกทางคำพูดและการกระทำ ไม่ว่าดีหรือชั่ว ล้วนมาจากความคิดเห็นเบื้องต้นทั้งนั้น ซึ่งสอดคล้องกับคำพังเพยไทยว่า "ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว" หรือทางพระพุทธศาสนาว่า "สิ่งทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ สำเร็จด้วยใจ ถ้าใจดีหรือชั่ว การกระทำย่อมดีหรือชั่วไปด้วย"

การรู้จักคิดหรือคิดเป็น เป็นศูนย์กลางการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง เพราะเมื่อ คิดเป็นแล้ว ก็ช่วยให้ "พูดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น"

การคิดเป็นทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า "โยสิโสมนสิการ" มีหลายวิธี แต่สรุปเป็น 4 ลักษณะใหญ่ๆ คือ

(1) คิดถูกทาง
(2) คิดถูกวิธี
(3) คิดมีเหตุผล
(4) คิดเกิดกุศล

2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-28 16:42 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
(1) คิดถูกทาง หมายถึงคิดมองเห็นเป็นทางตลอดสายตั้งแต่ต้นจนจบ คนที่รู้จักคิดอย่างนี้ เวลาประสบพบเห็นอะไรแล้วจะวาดภาพในใจแจ่มชัดว่ามันจะเป็นอย่างไรต่อไป สามารถพูดหรือพยากรณ์ได้ถูกต้อง และถ้าลงมือทำตามที่คิดเห็น ภาพนั้นจะปรากฏเป็นจริงตามนั้นอย่างน่าทึ่ง

ผู้ที่เล่นหมากรุกจนชำนาญ มองกระดานหมากรุกทั้งหมดแล้ว มองเห็นภาพว่าหมากแต่ละตัวเดินอย่างไร เมื่อฝ่ายตรงข้ามเดินตัวใดไปตาใด จะทราบว่าจะต้องแก้ไขอย่างไร กล่าวกันว่าเขาสามารถมองเห็นล่วงหน้าตั้ง 5-6 ตา เวลาเขาลงมือเล่นจริงๆ จะประสบผลสำเร็จอย่างน่าประหลาด

ในนิทานชาดกเรื่องมโหสถ กล่าวกันว่ามโหสถกุมาร มีวิธีแบบนี้ คือมองเห็นล่วงหน้าเป็นทางๆ ตลอดสาย สามารถให้คำตอบหรือแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างน่าพิศวง ทั้งๆ ที่เป็นเด็กตัวนิดเดียว

ครั้งหนึ่งเมื่อเห็นเด็กๆ วิ่งไล่เหยี่ยวที่โฉบเอาเนื้อของหญิงชาวบ้าน พากันสะดุดตอไม้บ้าง ก้อนดินบ้าง ล้มลุกคลุกคลาน เจ็บช้ำไปตามๆ กัน มโหสถมองเห็นทางตลอดสายว่าวิธีจะไล่เหยี่ยวทัน และได้ชินเนื้อคืนนั้นจะต้องทำอย่างไร วันต่อมาเมื่อเหยี่ยวลงมาโฉบเอาเนื้อไปอีก มโหสถจึงวิ่งตามไปโดยไม่แหงนดูเหยี่ยว ก้มหน้ามองแผ่นดินดูเงาเหยี่ยวและวิ่งตามไปเรื่อยๆ พอทันเงาก็แหงนขึ้นมอง ปรบมือ ตะโกนเสียงดัง เหยี่ยวตกใจปล่อยชิ้นเนื้อลงมา

วิธีคิดเป็นทาง หรือคิดถูกทางนี้ต้องหมั่นฝึกและทดสอบความคิดนั้น เพื่อดูว่าจะตรงตามที่คิดหรือไม่ เช่น กำลังดูละครทีวี เมื่อได้ยินคำพูดของตัวละครตัวใดตัวหนึ่งแล้ว ลองล่วงหน้าดูว่าตัวละครอีกตัวจะพูดตอบอย่างไร หรือมองไปข้างหน้าว่าละครเรื่องนั้นจะดำเนินไปอย่างไร จบอย่างไร ถ้าผิดหรือไม่ตรงตามความจริง ก็หมั่นฝึกบ่อยๆ นานๆ เข้าจะพบว่าท่านคิดหรือวาดภาพล่วงหน้าได้ถูกต้องอย่างน่าอัศจรรย์

วิธีคิดที่ถูกทาง อีกนัยหนึ่งหมายถึงคิดไปในทางที่ดีงาม ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่คนอื่นด้วย ถ้าคิดหรือมองเห็นเป็นทางๆ ตลอดสายจริง แต่คิดเอาแต่ผลประโยชน์เพื่อตน ไม่คำนึงถึงผลกระทบในทางเสียหายแก่คนอื่น ก็ไม่นับว่าคิดถูกทางที่แท้จริง

ยกตัวอย่างนิทานชาดกให้ฟังสักเรื่อง พ่อกับลูกไปทอดแห พ่อทอดแหลงไปติดตอไม้ใต้น้ำ ดึงไม่ขึ้น พ่อคิดว่าปลาตัวใหญ่ติดแห คิดเลยไปไกลว่า ถ้านำปลากลับบ้าน เพื่อนบ้านจะมาขอแบ่งกินด้วย จึงสั่งลูกชายให้ไปบอกแม่ให้หาทางทะเลาะกับเพื่อนบ้าน

ภรรยาของชายคนนั้นก็ไปหาเรื่องทะเลาะกับคนโน้นคนนี้โดยไม่มีสาเหตุ ถูกเพื่อนบ้านรุมกระทืบเอาบาดเจ็บสาหัส

ฝ่ายสามีขณะที่ลูกชายวิ่งเข้าบ้านมาบอกแม่ ก็กระโดดลงไปในน้ำ ด้วยความรีบร้อน ถูกตอไม้ใต้น้ำตำตาแตกเลือดไหล ได้รับความเจ็บปวดมาก ขึ้นจากน้ำ มือหนึ่งกุมตาที่มีแต่เลือดไหลอาบหน้า อีกมือหนึ่งถือแหเดินกลับบ้าน

พบภรรยานอนครวญครางเพราะถูก "สหบาทา" ของชาวบ้าน

ปลาก็ไม่ได้กิน แถมยังต้องบาดหมางกับเพื่อนบ้านอีกต่างหาก นี่แหละเขาว่าคิดถูกทาง คิดเป็นทาง มองเห็นตลอดสายจริง แต่ความคิดไม่เป็นไปทางดีงาม หรือทางสร้างสรรค์
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-28 16:42 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
(2) คิดถูกวิธี หมายถึงมีวิธีคิดถูกกับเรื่อง ถูกกับสถานการณ์ อันนี้เน้นไปที่กาละเทศะนั่นเอง ถึงจะคิดดียังไง ถ้าใช้ความคิดไม่ถูกกาละเทศะไม่นับว่าเป็นการคิดที่ถูกวิธี

มีนิทานชาดกเรื่องหนึ่ง พอจะยกมาสาธกเข้ากับเรื่องนี้ (วันนี้เล่านิทานเยอะจริงเนาะ) บุตรเศรษฐี 4 คน เป็นสหายรักกัน วันหนึ่งเห็นนายพรานบรรทุกเนื้อมาเต็มเกวียนเข้าไปขายในเมือง จึงปรึกษากันว่า พวกเราขอแบ่งเนื้อจากนายพรานคนนี้ไปกินบ้างคงจะดีไม่น้อย

ต่างคนต่างก็มีวิธีคิดและวิธีพูดเพื่อขอเนื้อ

คนที่ 1 ตะโกนเสียงดังว่า "เฮ้ย ไอ้แก่ ขอแบ่งเนื้อบ้างสิวะ"

นายพรานตอบว่า "วาจาของเจ้าหยาบกระด้างจัง จะขอเขาแท้ๆ ยังพูดไม่เพราะเลย เอ้า เอาพังผืดหยาบๆ เสมือนวาจาของเจ้าไป" ว่าแล้วก็หยิบพังผืดให้

คนที่ 2 พูดว่า "พ่อครับ ขอเนื้อบ้างเถอะครับ"

"เมื่อได้ยินคำว่า พ่อ หัวใจของผู้ได้ยินย่อมอ่อนไหวด้วยความรัก วาจาของเจ้าเปรียบเสมือนหัวใจ เอาเนื้อหัวใจไปเถิด" นายพรานกล่าว ว่าแล้วก็หยิบเนื้อหัวใจให้

คนที่ 3 พูดว่า "พี่ครับ ขอเนื้อผมบ้าง"

"พี่น้องเปรียบเสมือนแขนขา ใครมีพี่น้องมากก็มีผู้ช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาก เจ้าควรได้ขาไป" ว่าแล้วเฉือนขาเนื้อให้ไป

คนที่ 4 พูดว่า "เพื่อนรัก ขอเนื้อบ้างเถิด"

นายพรานหัวเราะชอบใจ "บ้านเมืองใดไม่มีเพื่อน บ้านเมืองนั้นไม่ต่างอะไรกับบ้านร้าง เมืองร้าง ใครมีเพื่อนรักสนิทมากเท่ากับมีทุกสิ่งทุกอย่าง เอ้า ข้าให้เนื้อหมดทั้งเกวียนเลย"

นิทานจบลงด้วยคำพูดว่า จากนั้นทั้งสองคนก็กลายเป็นเพื่อนรักกันตลอดชีวิต

เรื่องนี้สะท้อนวิธีคิดของคนทั้ง 4 คนแรกคิดว่าคนระดับนายพรานพ่อค้าเนื้อธรรมดาๆ ไม่ต้องพูดเพราะก็ได้ คนที่ 2 คิดว่าควรทำตัวเสมือนลูกขอของจากพ่อ คนที่ 3 คิดว่าควรให้ความนับถือเขาเหมือนพี่ คนสุดท้ายคิดว่าควรถือเขาเสมือนเพื่อนรักคนหนึ่ง แต่ละคนมีวิธีคิดไม่เหมือนกัน ผลที่ได้จึงออกมาไม่เหมือนกัน
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-28 16:43 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
(3) คิดมีเหตุผล คือมีวิธีคิดสมเหตุสมผล หรือใช้เหตุผลในการคิด ไม่ใช่ใช้อารมณ์หรือเอาความชอบไม่ชอบส่วนตัวเป็นเครื่องตัดสิน

ว่ากันว่าคนไทยมักไม่ค่อยใช้เหตุผลในการตัดสินเรื่องราว มักสรุปเอาง่ายๆ ว่าอะไรถูก อะไรผิด ขอยกตัวอย่างเรื่องจริงที่ผมแอบได้ยินเขาสนทนากันมา

"คนไทยส่วนมากยากจน" คนที่หนึ่งเอ่ย แล้วกล่าวต่อไปว่า

"คนไทยนับถือพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นคนไทยจึงยากจน"

"อือ เข้าทีๆ" คนที่สองพยักหน้าเห็นด้วย

ความจริงวิธีคิดแบบนี้ไม่เห็นจะเข้าทีตรงไหน เพราะเป็นวิธีคิดที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล ไม่เป็นเหตุเป็นผลอย่างไร เชื่อว่าผู้อ่านคงมองออก

(4) คิดเป็นกุศล หรือคิดสร้างสรรค์ วิธีคิดสุดท้ายนี้สำคัญยิ่ง ไม่ว่าคุณจะคิดถูกทาง คิดถูกวิธี และคิดมีเหตุผลเพียงใดก็ตาม ถ้าไม่เป็นไปเพื่อกุศล หรือความดีงามแห่งสังคม ก็ยังไม่นับว่าเป็นวิธีคิดที่ดี เพราะเป็นการคิดเพื่อทำลายล้าง

พระพุทธศาสนาเน้นฝึกความคิดให้สุจริต ความคิดที่สุจริตจะต้องครบวงจรที่กล่าวมาคือต้องเป็นความคิดถูกทาง, คิดถูกวิธี, คิดมีเหตุผล และคิดเป็นกุศลหรือคิดสร้างสรรค์สิ่งดีงามเพื่อสังคมส่วนรวม

วันนี้เขียนเหมือนเทศน์นะ


ที่มา : http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=9794                                                                                       

............................................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=47467

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้