ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1686
ตอบกลับ: 1
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

มรณสติ'จากกะทิน้อย

[คัดลอกลิงก์]
'มรณสติ'จากกะทิน้อย  : วิปัสสนาบนหน้าข่าว โดยพิสุทธิ์ เกรียงบูรพา                                                                
          หน้าร้อนอย่างนี้ คนกรุงเทพฯ อย่างผม จะหาที่หลบร้อนพักผ่อนกายใจให้ร่มเย็นตามธรรมชาติ แบบที่ไม่ต้องพึ่งพาห้างสรรพสินค้านั้นแสนจะยากยิ่งนัก ... แต่ก็ยังมีที่แห่งหนึ่งซึ่งผมมักปลีกวิเวกไปอยู่เสมอ คือวัดอินทรวิหาร (วัดอินทร์ ) บางขุนพรหม กรุงเทพฯ เล่าขานกันว่า ยังมีบ่อน้ำมนต์ดั้งเดิมที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี ท่านสร้างไว้กับมือเลย

          ผมมาที่นี่ ได้มานั่งสมาธิ ตกตะกอนเรื่องชีวิต ตกผลึกทางความคิด จิตวิญญาณจึงบังเกิดความร่มเย็น

          บ่ายวันนั้นหลังเดินออกจากโปสถ์เพียงไม่กี่ก้าว ได้พบเจ้านกกะทิน้อย วัยละอ่อนผู้น่าสงสาร ตกจากฟากฟ้าลงสู่ลานพื้นโบสถ์ หายใจระรวยอยู่ได้อีกไม่กี่อึดใจก็ตายจากไปต่อหน้าต่อตา ผมอุ้มมันขึ้นมาไว้ในอุ้งมืออย่างทะนุถนอม หมายว่าจะส่งผ่านความรัก ความอบอุ่นจากอุ้งมือของผม พร้อมทั้งแผ่เมตตาให้มันในเวลาเดียวกันเลย

          โธ่ ... ขนเจ้าเพิ่งจะเต็มตัว เปรียบกับคนก็คงแค่เด็กน้อยวัย ๖-๗ ขวบเท่านั้น โบกโบยบินยังไม่ทันจะคล่อง ก็ต้องตกลงมาสิ้นใจแล้ว ชีวิตนี้ไม่เที่ยงจริงๆ ผมรำพึง

          เช้าวันรุ่งขึ้นเพื่อนเก่าโทรมาแจ้งข่าวร้าย เพื่อนสมัยเรียนมหาวิทยาลัยคนหนึ่ง เป็นถึงรองศาตราจารย์ ระดับดอกเตอร์ เธอประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ขณะเก็บข้อมูลทำวิจัยที่ต่างจังหวัด เสียชีวิตไปอย่างกะทันหันแล้วเมื่อวันก่อน! …

          ชีวิตนี้ช่างน้อยนัก... รำพึงถึงคำสอนของ สมเด็จพระสังฆราช ที่แวบเข้ามา กับบทกลอนที่ พระปิยมหาราชทรงนิพนธ์ถึงความตายไว้ว่า ...
เห็นหน้ากันเมื่อเช้า         สายตาย
        สายสุขอยู่สบาย             บ่ายม้วย
        บ่ายยังรื่นเริงกาย           เย็นดับ ชีพนา
        เย็นอยู่หยอกลูกด้วย      ค่ำม้วยดับสูญ

          คนเราหนอ ตายได้ในหลายเวลา ทุกสถานการณ์ ต่างกรรมต่างวาระไป เคยมีสถิติระบุไว้ ในโลกมีคนตายทุกๆ นาที นี้เป็นธรรมดา เพื่อนผมหรือนกกะทิตัวนั้น เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น  และก็คงต้องมีสักนาที ที่กำลังย่างกรายมาถึงในอนาคต ที่คนตายนั้นอาจจะต้องเป็นเราอย่างแน่นอนที่สุด ส่วนคนที่ประมาท หรือยังถูกกิเลสครอบงำ อาจถูกพาให้คิดไปได้ต่างๆ นานา บ้างก็ว่ายังไม่ใช่ฉันหรอกที่จะต้องตาย บ้างก็ว่าคนตายมีเฉพาะคนแก่ หรือผู้ป่วยหนักเท่านั้น ไม่ใช่ฉันหรอก

          บ้างก็ว่าฉันคงต้องอยู่ถึง ๘๐ ก่อนแน่ๆ ถึงค่อยตาย ฯลฯ อำนาจของพญามารกิเลสจึงสามารถเล่นกล หลอกล่อให้คนส่วนใหญ่ ยังคงไม่ตระหนักถึงความตาย ในขณะที่ปรัชญาเมธีทั้งหลาย เขาสอนให้เจริญมรณานุสติกัน

2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-27 17:07 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
   แม้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ไม่ทิ้งมรณานุสสติกรรมฐาน คือนึกถึงความตายเป็นอารมณ์ วันหนึ่งพระองค์ตรัสถามพระอานนท์ว่า อานันทะ ดูก่อนอานนท์ เธอนึกถึงความตายวันละกี่ครั้ง พระอานนท์กราบทูลตอบว่า นึกถึงความตายวันละเจ็ดครั้งพระเจ้าข้า พระองค์ตรัสว่า ยังห่างมากอานนท์ ตถาคตนึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก

                  พูดถึงเรื่องนี้ทีไร ผมอดยกกรณีตัวอย่างเรื่อง ลูกสาวช่างทอหูก เปสการีธิดา ขึ้นมาไม่ได้ทุกที เมื่อครั้งที่สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จไปเมืองอาฬวี ตอนนั้นพระองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาเรื่อง ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง ความตายเป็นของเที่ยง ท่านทั้งหลายจงอย่าประมาทในชีวิต จงคิดไว้เสมอว่าเราจะตายเดี๋ยวนี้ เราจะตายอีกประเดี๋ยวหนึ่งก็ได้ อย่าพึ่งคิดว่าชีวิตของเราจะยืนยาว ...

                  เทศน์เพียงเล็กน้อยเท่านี้แล้ว พระองค์ก็เสด็จกลับ มีเพียงลูกสาวช่างทอหูกวัย ๑๓ ปีเพียงคนเดียว เกิดความประทับใจ ปีติในพระรูปพระโฉม พระสุรเสียง และธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงน้อมโยนิโสมนสิการ ปฏิบัติตามคำสอน
        เจริญมรณสติอยู่เนืองๆ ดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาทตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

          ๓ ปีต่อมา เช้ามืดวันหนึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรวจอุปนิสัยของสัตว์ ตามพุทธกิจที่ทำเป็นประจำ ทรงเห็นภาพเด็กสาวคนนั้น ซึ่งในเวลานี้อายุ ๑๖ ปี ตกอยู่ในข่ายพระญาณ มีโอกาสที่จะบรรลุธรรม สู่กระแสพระนิพพาน แต่สิ่งที่น่าตกใจคือ พระองค์ยังทรงพิจารณาต่อไปเห็นว่า เธอจะต้องตาย ตอนสายของวันนี้! องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเสด็จไปโปรดในทันที โดยคอยเธออยู่ระหว่างทางที่เธอจะต้องผ่านจากบ้านไปยังโรงทอหูกของพ่อ เมื่อได้พบกัน เธอก็มองหน้าตาจ้องมองตาพระพุทธเจ้า เห็นพระพุทธเจ้ามองหน้าเธอ เธอก็ทราบว่า องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ต้องการให้เธอเข้าไปใกล้ เธอเข้าไปแล้วจึงมีพุทธปุจฉาแก่เธอว่า
  
        "ภคินิ ดูก่อนน้องหญิง เธอมาจากไหน"
เธอตอบ "ไม่ทราบ เจ้าค่ะ"
พระพุทธปุจฉาต่อว่า "เธอจะไปไหน"
เธอก็ตอบว่า "ไม่ทราบ เจ้าค่ะ"
พระผู้มีพระภาคเจ้าถามต่อไปว่า "เธอไม่ทราบหรือ"
เธอตอบว่า "ทราบ เจ้าค่ะ"
แล้วก็ถามต่อไปว่า "เธอทราบหรือ"
เธอตอบ "ไม่ทราบ เจ้าค่ะ"

                  พอเธอตอบแบบนี้คนที่ฟังอยู่หลายคนบริเวณนั้น หาว่าเด็กหญิงล้อเลียน เล่นลิ้น จึงด่าหาว่าอีเด็กถ่อย สามารถกล้าล้อเลียนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ห้ามปรามไว้ แล้วอธิบายให้กระจ่างไปใหม่ว่า ...ที่ตถาคตถามเธอว่า เธอมาจากไหน หมายถึง ก่อนที่จะเกิดมาเกิดเป็นมนุษย์นั้น เป็นอะไรมาก่อน ซึ่งเธอไม่ทราบได้ จึงตอบว่า “ไม่ทราบ”  เมื่อเราถามว่า “จะไปไหน?” เธอตอบว่า “ไม่ทราบ” ก็เพราะไม่รู้ว่าเมื่อตายแล้วจะไปภพภูมิไหนต่อ ... ที่ตถาคตถามว่า “เธอไม่ทราบหรือ” เธอตอบว่า “ทราบ” นี่หมายความว่า เธอทราบว่า ชีวิตเธอต้องพบกับความตายแน่นอน ส่วนข้อสุดท้ายที่ตถาคตถามเธอว่า “ทราบหรือ” เธอตอบว่า “ไม่ทราบ” เธอหมายความว่า ... เธอรู้ว่าต้องตายแน่ แต่ไม่ทราบว่าจะตายเมื่อไหร่

          องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกมือขึ้นสาธุ ดีแล้วถูกแล้วอย่างนี้ อารมณ์ของเธอก็เกิดธรรมปีติ เวลานั้นเอง ความมั่นคงของจิตก็ปรากฏ ได้บรรลุโสดาปัตติผล หลังจากพระพุทธเจ้าจากไปแล้ว เธอกลับไปที่โรงหูก ทักพ่อซึ่งกำลังทำงานเพลินอยู่ ทำให้พ่อตกใจ ปล่อยกระสวยหลุดมือ พุ่งไปถูกอกของเธออย่างแรง ล้มลงขาดใจตายในทันที ด้วยการได้รับดวงตาเห็นธรรมจากพระพุทธเจ้าอย่างแจ่มชัดแล้ว จิตของลูกสาวช่างทอหูกจึงได้ไปเกิดเป็นเทวดาชั้นดุสิต ...

                  เห็นไหมครับ อานิสงส์ในการระลึกถึงความตายเป็นมรณสติกรรมฐาน เป็นมงคลยิ่ง มีประโยชน์มหาศาล ครูกวีสุนทรภู่ยังเคยประพันธ์ไว้ว่า ...

นึกถึงความตายสบายนัก  มันหักรักหักหลงในสงสาร
        บรรเทามืดโมหันต์อันธกาล  ทำให้หาญหายสะดุ้งไม่ยุ่งใจ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้