ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 8838
ตอบกลับ: 11
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ประวัติวัดใหญ่ชัยมงคล จ.พระนครศรีอยุธยา

[คัดลอกลิงก์]


วัดใหญ่ชัยมงคล *
(วัดเจ้าพญาไท-วัดป่าแก้ว)
อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา


ใน พ.ศ. ๒๗๕ พระเจ้าอโศกมหาราช
ได้ราชาภิเษกเป็นพระเจ้าราชาธิราชปกครองมคธราษฎร์  
ทรงเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง  
และทรงทำนุบำรุงพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนายิ่งกว่านักบวชในศาสนาอื่นๆ

ทำให้นักบวชนอกพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า “เดียรถีร์”
ปลอมตนเข้าบวชเป็นพระภิกษุด้วยหวังลาภสักการะเป็นอันมาก  
จนเกิดแตกสามัคคีเพราะรังเกียจกันในหมู่สงฆ์  
จึงมีการไต่สวนและกำจัดพวกเดียรถีร์ออกเสียจากภิกษุภาวะ  
พระสงฆ์ที่ทรงธรรมวินัยโดยถ่องแท้ได้พร้อมกันทำตติยสังคายนา
ที่  เมืองปาตลีบุตร มี พระโมคคลีบุตรดิสเถระ เป็นประธาน  
ในพระราชูปถัมภ์ของ พระเจ้าอโศกมหาราช

หลังจากทำตติยสังคายนาแล้ว  ได้จัดส่งพระเถรานุเถระ
ไปสั่งสอนพระพุทธศาสนาในนานาประเทศ ๙ สายด้วยกัน คือ

๑.      พระมัชฌันติก ไปประเทศกัสมิระ และคันธาระ
(แคว้นแคชเมียร์ และอาฟฆานิสถาน)
๒.        พระมหาเทว ไปมหิสมณฑล (ไมสอ)
๓.        พระรักขิต ไปวนวาสีประเทศ (เหนือบอมเบข้างใต้)
๔.        พระธรรมรักขิต ไปอปรันตกประเทศ (ชายทะเลเหนือบอมเบ)
๕.        พระมหาธรรมรักขิต ไปมหารัฐประเทศ
(ห่างบอมเบไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ)
๖.        พระมหารักขิต ไปโยนกโลกประเทศ (อยู่ในเปอร์เชีย)
๗.        พระมัชฌิม ไปหิมวันตประเทศ (ในหมู่เขาหิมาลัย)
๘.        พระโสณะ และ พระอุตตระ ไปสุวรรณภูมิประเทศ (ไทย)
๙.        พระมหินทเถระ ไปลังกาทวีป

ในลังกาทวีปการพระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่ง  
ทั้งนี้โดยความอุปการะช่วยเหลือของ พระเจ้าอโศกมหาราช

อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาล่วงไป ลังกาทวีปได้ถูกพวกทมิฬ  
ซึ่งเป็นชนชาติหนึ่งอยู่ตอนใต้ปลายแหลมชมพูทวีปมาแต่เดิมรุกราน
และมีอำนาจเหนือลังกาทวีปหลายครั้งประการหนึ่ง
การแย่งราชสมบัติรบราฆ่าฟันกันเองประการหนึ่ง

ทำให้การพระพุทธศาสนาในลังกาทวีปปั่นป่วน  
และแตกแยกเป็นหลายลัทธิ
และบางทีก็เสื่อมลงถึงที่สุดจนไม่มีพระเถระ
สำหรับบวชกุลบุตร  และสืบพระศาสนา  
ต้องส่งทูตไปขอพระเถระจากต่างประเทศ
เข้าไปบวชกุลบุตรเป็นหลายครั้ง  รวมทั้งประเทศไทยด้วย
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-25 10:45 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


ในระหว่าง พ.ศ. ๑๘๙๐-๑๙๒๙
พระพุทธศาสนาเสื่อมลงอย่างมาก  เพราะเกิดพวกอลัชชี
ถึงกับต้องชุมนุมสงฆ์ชำระและกำจัดภิกษุอลัชชีหลายคราว  
เหตุที่เกิดอลัชชีมี ๒ ประการ คือ

๑. ลังกาทวีปถือพระพุทธศาสนาก็จริง  
แต่ได้รับขนบธรรมเนียมอย่างอื่นมาจากชมพูทวีปด้วย  
โดยเฉพาะการถือชั้นวรรณะตามคติของพราหมณ์  
เมื่อพระเจ้าแผ่นดินสิงหฬมีอำนาจมาก
ก็กีดกันคนชั้นต่ำเข้าบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์  

ครั้นอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินสิงหฬเสื่อมทราม
คนชั้นต่ำก็เข้าบวชมาก ผู้ดีบวชน้อยลง

๒. ระหว่าง พ.ศ. ๔๓๙-พ.ศ. ๔๕๕
พระเจ้าวัฏคามินีอภัย  เสียราชธานีแก่พวกทมิฬ  
เที่ยวหลบหนีอยู่ในมลัยประเทศ  
ไม่มีพระราชทรัพย์ทำนุบำรุงพระสงฆ์  

จึงทรงอุทิศที่ดิน  
พระราชทานแทนเรียกว่า  “ที่กัลปนา” (นับเป็นครั้งแรก)  
ให้ราษฎรซึ่งอาศัยได้ผลประโยชน์จากที่ดินนั้น
ทำการอุปการะตอบแทนแก่พะสงฆ์  
จึงเป็นราชประเพณีสืบต่อมา  

เมื่อคนชั้นเลวเข้าบวชมากขึ้น  
พระภิกษุพวกนี้ก็ขวนขวายหาลาภสักการจากที่ดินเลี้ยงตน  
ถึงกับเอาลูกหลานบวชไว้สำหรับครองอารามอย่างรับมรดก  
การบำเพ็ญกิจแห่งสมณะตามพระธรรมวินัยก็หย่อนยาน

ด้วยเหตุ ๒ ประการดังกล่าว  
จึงเกิดพระสงฆ์พวกหนึ่งเรียกว่า “วนวาสี”
ซึ่งถือความสันโดษ ไม่ข้องแวะต่อการแสวงหาลาภสักการมาบำรุงรักษาอาราม

ปรากฏในตอนหลังๆ มาว่า
ชาวลังกาทวีปนับถือพระสงฆ์ฝ่ายวนวาสีมาก
แต่พระภิกษุฝ่ายคามวาสีที่ดีก็คงมีจึงนิยมเป็นสงฆ์ ๒ ฝ่าย
วนวาสี ก็คือ อรัญวาสี นั่นเอง
และเป็นแบบอย่างมาถึงประเทศไทยเราด้วย

เมื่อได้มีการกำจัดพวกอลัชชีแล้ว  
คงจะได้มีการวางระเบียบแบบแผนสังฆมณฑลเรียบร้อยขึ้น  
จนกิตติศัพท์เลื่องลือมาถึงประเทศไทย มอญ เขมร และลานนาไทย
จึงมีพระภิกษุพากันออกไปบวชแปลงเป็นพระสงฆ์ใน สิงหฬนิกาย กันมาก

หมายเหตุ : บทความเรื่องนี้ใช้อักขรวิธีตามต้นฉบับ



3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-25 10:46 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

[พระเจดีย์ชัยมงคล วัดใหญ่ชัยมงคล]


หนังสือตำนานโยนกว่า

“เมื่อราวปีขาล จุลศักราช ๗๘๔ พ.ศ. ๑๙๖๕
ตรงในสมัยเมื่อสมเด็จพระอินทราชาธิราชที่ ๑
ครองราชย์สมบัติ ณ กรุงศรีอยุธยา ว่า

มีพระภิกษุทางประเทศนี้หมู่หนึ่ง
หัวหน้าเป็นพระมหาเถรชาวเชียงใหม่ ๗ รูป  
ชื่อพระธรรมคัมภีร์ ๑ พระเมธังกร ๑ พระญาณมังคละ ๑
พระสีลวงศ์ ๑ พระสาริบุตร ๑ พระรัตนากร ๑ พระพุทธสาคร ๑
เป็นพระมหาเถรชาวกรุงศรีอยุธยา ๒ รูป  
ชื่อพระพรหมมุนี ๑ พระโสมเถร ๑
เป็นพระมหาเถรชาวกรุงกัมพูชา ชื่อพระญาณสิทธิ์รูป ๑
พระภิกษุบริษัทเป็นอันมากพากันออกไปเมืองลังกา
ไปอุปสมบทแปลงเป็นสิงหฬนิกาย ณ อุทกเขปสีมาที่แม่น้ำกัลยาณี
ในสำนักพระวันรัตมหาเถร เมื่อ ณ วันเสาร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๘ อุตราสาฒ
ปีมะโรง จุลศักราช ๗๘๖ พ.ศ. ๑๙๖๗  
แล้วศึกษาธรรมวินัยอยู่ในลังกาทวีปอยู่หลายปี  

เมื่อกลับมาได้นิมนต์พระมหาเถรชาวลังกามาด้วย ๒ รูป
ชื่อพระมหาวิกรมพาหุ รูป ๑ พระอุดมปัญญา รูป ๑ มาขึ้นที่กรุงศรีอยุธยาก่อน
แล้วแยกย้ายกันไปเที่ยวตั้งนิกายลังกาขึ้นอีกนิกายหนึ่ง เรียกว่า วันรัตนวงศ์
แปลเป็นภาษาไทยเรียกว่า คณะป่าแก้ว (ชาวเชียงใหม่เรียกว่า ป่าแดง)
ได้ความตามหนังสือในตำนานที่ปรากฏอยู่ในเมืองเชียงใหม่ดังนี้
เชื่อได้ว่าพระสงฆ์นิกายป่าแก้วมีขึ้นครั้งนั้นเป็นปฐม

แต่ความที่ปรากฏทางเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองพัทลุง
วัดนิกายป่าแก้วนี้มีในหัวเมืองแถบนั้นมาก
เห็นพระสงฆ์นิกายเมืองป่าแก้วจะมาแพร่หลายทางหัวเมืองเหล่านั้นก่อน  
แล้วจึงขึ้นมาถึงกรุงศรีอยุธยา  

จึงได้เรียกพระสงฆ์คณะป่าแก้วที่ขึ้นสมเด็จพระวันรัตนว่า คณะใต้
พระสงฆ์นิกายนี้คงจะปฏิบัติเคร่งครัดทางแสดงธรรมวินัย
กว่าพระสงฆ์ลังกาวงศ์ซึ่งอยู่มาแต่ก่อน
จึงทำให้เจริญความเลื่อมใสกันขึ้น  
เมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ”


(สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา)
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-25 10:47 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงผนวชใน คณะป่าแก้ว  
เห็นจะเลื่องลือพระเกียรติยศมาก
เป็นเหตุให้พระเจ้าแผ่นดินประเทศอื่น
ขวนขวายการบำเพ็ญอุปถัมภกพระศาสนาเป็นพิเศษบ้าง

เช่น พระรามาธิบดี (ปิฎกธร) กรุงหงสาวดี
ส่งพระภิกษุสงฆ์ออกไปอุปสมบทแปลงที่ลังกา  เมื่อ พ.ศ. ๒๐๑๘
เมื่อพระสงฆ์เหล่านั้นกลับเข้ามาแล้ว  
บังคับให้พระสงฆ์ในรามัญประเทศแปลงเป็นนิกายเดียวกันจนหมด

พระเจ้าติโลกราช เมืองเชียงใหม่ก็ตั้งพิธีทำสังคายนาพระไตรปิฎก
ซึ่งนับว่าเป็นครั้งที่ ๘ เมื่อ พ.ศ. ๒๐๒๐ เป็นต้น

ซึ่งดูจะเนื่องมาจากการที่ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงผนวชขึ้นก่อนทั้งสิ้น  
ยิ่งกว่านั้นยังปรากฏว่า  ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๐๗ เป็นต้นมา
ได้นำพระราชโอรส พระราชนัดดา
ตลอดจนเจ้านายลูกผู้ลากมากดีบวชกันมากจนกลายเป็นธรรมเนียมสืบมา  
ถือกันว่าเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา
ประเพณีบวชนี้  ได้แพร่หลายนิยมตามกันมาถึงในหมู่คนสามัญด้วย

อนึ่ง พระสงฆ์ไทยที่ไปบวชแปลงที่สำนักพระวันรัตนวงศ์ในลังกา
ที่เรียกเป็นภาษาไทยว่า “คณะป่าแก้ว” นั้น
เมื่อเข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยาก็ได้เข้าพักอยู่ในวัดเจ้าพระยาไทยซึ่งเป็นอรัญวาสีอยู่ก่อนแล้ว  

เมื่อคณะป่าแก้วเข้ามาก็ทำให้เพิ่มความคึกคักในการปฏิบัติธรรมกันฝ่ายนี้กันมากขึ้น
วัดเจ้าพระยาไทยจึงเป็นวัดชั้นนำทางด้านอรัญวาสี
พระเถระที่เป็นหัวหน้าควบคุมจึงได้นามว่า “สมเด็จพระวันรัตน” (พระพนรัตน)
ตามพระนามพระวันรัตนมหาเถระซึ่งเป็นอาจารย์ในลังกาทวีป

การที่คณะป่าแก้วเข้ามีเมืองไทยนั้น  ได้จัดเป็นคณะหนึ่งต่างหาก
ผู้คนจะเลือกศึกษาได้ตามสมัครใจไม่บังคับเหมือนในเมืองมอญ
ฉะนั้น ในชั้นแรกจึงเรียกชื่อวัดว่า “วัดเจ้าพระยาไทยคณะป่าแก้ว”
ภายหลังจึงได้เหลือ วัดป่าแก้ว แต่อย่างเดียว

อย่างไรก็ดี เนื่องจาก วัดเจ้าพระยาไทย หรือ วัดป่าแก้ว
เป็นพระอารามหลวงมีพระเจ้าแผ่นดินเจ้านายเข้าทรงผนวช  
และเป็นที่ประกอบการพระราชพิธีบางอย่าง
รวมทั้งใหญ่โตกว้างขวาง  
ชาวบ้านจึงได้เรียกกันว่า “วัดใหญ่” มาแต่แรกสร้าง

เมื่อ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ทรงกระทำยุทธหัตถีได้ชัยชนะพระมหาอุปราชาแห่งพม่าแล้ว
ได้ทรงมีพระราชศรัทธาบูรณปฏิสังขรณ์วัดใหญ่ขึ้นเป็นงานใหญ่  
พร้อมทั้งได้ทรงสร้างพระเจดีย์ชัยมงคลเป็นเครื่องเฉลิมพระเกียรติอีกด้วย

ชาวบ้านจึงได้นำเอาชื่อวัดกับนามพระเจดีย์มาประกอบกัน
เรียกขานกันต่อมาว่า “วัดใหญ่ชัยมงคล” จนกระทั่งทุกวันนี้


[พระตำหนักที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ณ วัดใหญ่ชัยมงคล จ.พระนครศรีอยุธยา ในปัจจุบัน]

5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-25 10:49 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

[พระพุทธรูปปางมารวิชัยที่ประดิษฐานอยู่หน้าพระอุโบสถ
ซึ่งได้รับการออกแบบสร้างซ้อนไว้ในซากพระอุโบสถเดิมโดยกรมศิลปากร]



งานบูรณปฏิสังขรณ์วัดใหญ่ชัยมงคล
ในแผ่นดิน สมเด็จพระนเรศวรมหาราช นั้น
นอกจากพระเจดีย์ชัยมงคลแล้ว  

สิ่งก่อสร้างที่ยังปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน
คือทางด้านทิศตะวันออกของพระเจดีย์ชัยมงคล
ทรงสร้างพระอุโบสถหลังใหญ่ ยังมีซากให้เห็นอยู่จนทุกวันนี้

คือ ด้านเหนือพระอุโบสถปัจจุบันมีผนังพระอุโบสถเดิม
ก่อด้วยอิฐถือปูนหนาประมาณ ๔๐ เซนติเมตร
เหลือซากให้เห็นอยู่ค่อนข้างสมบูรณ์แต่ก็ซวนเซเต็มที  
อาศัยความหนาจึงทรงตัวอยู่ได้  

ผนังด้านทิศใต้เหลือซากผนังด้านหน้า
และด้านหลังพระอุโบสถเพียงเล็กน้อย
นอกนั้นกลายเป็นอิฐหักกากปูนทับถมกันอยู่
ซึ่งทางวัดได้ขนย้ายไปถมที่ลุ่มหมดแล้ว

ตัวพระอุโบสถที่เห็นในปัจจุบัน
เป็นพระอุโบสถที่กรมศิลปากรออกแบบแล้ว
ทางวัดสร้างซ้อนไว้ในซากพระอุโบสถหลังเดิม

ทางด้านทิศตะวันตกของพระเจดีย์ชัยมงคล  
มี พระวิหารหลวง ที่เรียกว่า “ศาลาดิน”
ซึ่งยังเหลือซากตอนฐานล่วงไว้ให้เห็น
เข้าใจว่า คงเป็นสถานที่สำหรับพระเจ้าแผ่นดินบำเพ็ญพระราชกุศล
ติดกับศาลาดินด้านใต้ยังมี “เกย”
สำหรับเจ้านายใช้เป็นที่เสด็จขึ้นลงยานพาหนะ



6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-25 10:50 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระวิหารหลวงอีกหลังหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระอุโบสถ
ติดกับกำแพงวัดซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธไสยาสน์ นั้น
เข้าใจว่า เดิมน่าจะสร้างขึ้นเป็นทำนอง พระที่นั่งทรงธรรม
มากกว่าจะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป

เพราะภายในไม่ปรากฏว่ามีฐานชุกชีสำหรับตั้งพระพุทธรูป
นอกจากนี้ยังมี “มุขเด็จ” แบบมุขเด็จของพระมหาปราสาท
ยื่นออกไปทางทิศใต้สำหรับเสด็จออก
ให้ประชาชนเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอีกด้วย

“วัดเจ้าพระยาไท-ชัยมงคล หรือวัดป่าแก้ว มากลายเป็นวัดร้าง  
เมื่อพุทธศักราช ๒๓๐๙ พม่าข้าศึกยกพลมาประชิดพระนครศรีอยุธยา

สมเด็จพระที่นั่งสุริยาตรมรินทร์โปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพเรือ
ออกจากพระนครไปตั้งอยู่ที่วัดป่าแก้ว
ทัพเรือไทยเสียทีข้าศึกจับพระยาเพชรบุรีได้ฆ่าเสียแล้วก็แตกกลับมา

พม่ายึดเอาวัดเจ้าพญาไทเป็นฐานปฏิบัติการ
วัดใหญ่เจ้าพญาไทชัยมงคล หรือวัดป่าแก้วก็ถึงกาลวิปโยค...
ฉิบหายลงด้วยน้ำมือข้าศึกผู้มีรากฐานอุปนิสัยใจคอมาจากโจรป่าด้วยประการฉะนี้”


ปัจจุบันวัดใหญ่ชัยมงคล
หรือวัดเจ้าพญาไทชัยมงคล หรือวัดป่าแก้ว เหลือแต่ซาก....


สิ่งเหล่านี้เองที่เหลืออยู่ให้เราศึกษา แต่ว่าอิฐทุกก้อน ปูนทุกชิ้น
แม้จะแหลกราญอยู่กับพื้นดินก็ยังมีความรู้สึกท้าทายผู้ไปพบเห็น  
ที่แหล่งนี้และเป็นที่ประกาศชัยชนะอันบันลือเกียรติของ
สมเด็จพระนเรศวรมหาราชให้ปรากฏไปตราบกัลป์ปาวสาร

(ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์)



7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-25 10:50 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kit007 เมื่อ 2014-4-25 10:51



เกี่ยวกับเรื่อง “วัดป่าแก้ว” นี้
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงพระนิพนธ์คำอธิบาย
ไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา
ได้ประทานข้อวินิจฉัยที่น่าสนใจไว้ ขอคัดมาเล่าสู่กันอ่านดังต่อไปนี้

เมื่อ สมเด็จพระนเรศวร ทรงทำยุทธหัตถีมีชัยชนะ  
เสด็จกลับถึงพระนครแล้ว  

ในหนังสือพระราชพงศาวดารรับสั่งว่า
ทรงพระพิโรธแม่ทัพนายกอง  มีรับสั่งให้ปรึกษาโทษที่โดยเสด็จไปไม่ทัน
ละแต่พระคชาธารสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์
ให้เข้าไปอยู่ในท่ามกลางศึก จะมีโทษฉันใด
ลูกขุนปรึกษาโทษประหารชีวิต
แต่ สมเด็จพระวันรัตน ถวายพระพรขอโทษไว้ได้


[สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ]


“ในพระราชพงศาวดาร ว่า สมเด็จพระวันรัตน วัดป่าแก้ว  
ถวายพระพรขอพระราชทานอภัยโทษข้าราชการไว้
ควรจะอธิบายเรื่องวัดป่าแก้วไว้ตรงนี้สักหน่อย

ในคำอธิบายของข้าพเจ้าในตอนแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
กล่าวถึงเรื่องนิกายพระสงฆ์ที่เข้ามาสู่ประเทศนี้
มีเนื้อความปรากฏถึงเรื่องนิกายพระสงฆ์ซึ่งเรียกว่า คณะป่าแก้ว
เพราะเหตุที่แปลงมาในสำนัก พระวันรัตนมหาเถร ในเมืองลังกา

จึงเอานามวันรัตนนั้นมาแปลเป็นภาษาไทย
เรียกชื่อนิกายสงฆ์ว่าคณะป่าแก้ว  
พระราชาคณะที่เป็นสังฆนายกของนิกายป่าแก้ว หรือที่เรียกว่า คณะใต้
จึงมีพระราชทินนามในสมณศักดิ์ว่า สมเด็จพระวันรัตน  

แต่ที่อยู่วัดป่าแก้วนั้น ทำให้เข้าใจผิดอยู่  
แม้ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่าสมเด็จพะรามาธิบดีที่ ๑ ทรงสร้างวัดป่าแก้ว  
ที่จริงวัดนั้นเป็นวัดแก้วฟ้า วัดที่ชื่อป่าแก้วไม่มีในกรุงศรีอยุธยา

ปรากฏว่าได้ค้นหาวัดป่าแก้วกันมาแต่ในรัชกาลที่ ๔  
จนเมื่อ พระยาโบราณราชธานินทร์ เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า
ก็ได้ค้นหาวัดป่าแก้วอีก เคยพาข้าพเจ้าไปบุกรุกช่วยหาหลายหนก็ไม่พบ

เรื่องวัดป่าแก้วในกรุงเก่าเป็นที่ฉงนสนเท่ห์อยู่มาก
ความคิดเพิ่งมาปรากฏแก่ข้าพเจ้าเมื่อไปเห็นหนังสือเก่าๆ
ที่เมืองนครศรีธรรมราชและเมืองพัทลุง

ในหนังสือเหล่านั้น ใช้คำคณะป่าแก้ว ติดเขาท้ายชื่อวัดทุกแห่ง
ดังว่า วัดเขียนคณะป่าแก้ว วัดจะทิงคณะป่าแก้ว ดังนี้เป็นต้น  
ต้องกันกับชื่อวัดที่เคยเห็นในหนังสือพงศาวดารเหนือ
ที่เรียกวัดทางเมืองสุโขทัยวัด ๑ ว่า วัดไตรภูมิ (คณะ)  ป่าแก้ว  

ข้าพเจ้านึกว่า วัดป่าแก้วในกรุงเก่าบางทีจะมีชื่ออื่นและเรียกคำป่าแก้วเข้าข้างท้าย
อย่างเมืองสุโขทัยและเมืองนครศรีธรรมราช
วัดในกรุงเก่าที่เป็นพระอารามหลวงใหญ่โตมีอยู่วัด ๑
ซึ่งเดี๋ยวนี้เรียกกันว่าวัดใหญ่  ครั้งกรุงเก่าเรียกกันว่าเจ้าพญาไทย
วัดนี้ไม่มีชื่อในทำเนียบสมณศักดิ์ครั้งกรุงเก่า
ในทำเนียบนั้นว่า สมเด็จพระวันรัตนอยู่วัดป่าแก้ว

เมื่อวัดป่าแก้วหาไม่พบ  ข้าพเจ้าจึงคิดว่าจะเป็นวัดเจ้าพาไทยหรือวัดใหญ่นี้เอง
เพราะคำว่า “ไทย” เป็นศัพท์เก่า แปลว่า “พระ”  
ใช้ในหนังสือไตรภุมิพระร่วงและหนังสือสวดมาลัยมีอยู่เป็นพยาน  
ถ้าเจ้าไทยแปลว่า “พระ” เจ้าพญาไทยก็แปลว่า “สังฆราชา”
วัดเจ้าพญาไทยแปลว่า “เป็นที่อยู่ของสังฆราช”

ทำเนียบสมณศักดิ์ครั้งกรุงเก่าว่าพระสังฆราชมี ๒ องค์
คือ สมเด็จพระอริยวงศ์ อยู่วัดมหาธาตุ ยังปรากฏอยู่
สมเด็จพระวันรัตนเป็นสังฆราชอีกองค์ ๑ ว่าอยู่วัดป่าแก้ว  

เมื่อวัดสังฆราชยังมีชื่ออีกวัด ๑ คือ วัดเจ้าพญาไทย
ก็เห็นว่าคือวัดเจ้าพญาไทยนี้เอง  เป็นวัดที่สมเด็จพระวันรัตนอยู่  
จะเรียกว่าวัดสังฆราชคณะป่าแก้ว  
เมื่อเรียกสั้นลง  จึงคงแต่คำว่า “วัดป่าแก้ว”
เป็นชื่อหนึ่งของวัดเจ้าพระยาไทย

8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-25 10:52 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

[พระพุทธชัยมงคลในอดีตเมื่อแรกปฏิสังขรณ์  
แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ เข้าใจว่าเป็นพระประธานในพระอุโบสถ
แต่เมื่อครั้งพระเฑียรราชา (สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ) กับคณะมาเสี่ยงเทียน]



ความคิดเห็นของข้าพเจ้านี้
เมื่อมาอ่านตรวจหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขานี้โดยถ้วนถี่
ได้ความว่า กรมหลวงธิราชวงศาสนิท
ท่านทรงคิดเห็น และลงยุติเสียแล้วแต่ในรัชกาลที่ ๔

ด้วยความตอนรบพม่า  เมื่อแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าสุริยาตรมรินทร์ มีแห่ง ๑
ในพระราชพงศาวดารฉบับพิมพ์ ๒ เล่มว่า  

พระยากำแพงเพ็ชร (คือ พระเจ้ากรุงธนบุรี) กับพระยาเพชรบุรี
ยกกองทัพออกไปตั้งที่วัดใหญ่
ดังนี้จึงควรยุติได้ว่าที่ในพระราชพงศาวดารว่า
สมเด็จพระวันรัตนอยู่วัดป่าแก้วนั้น  คืออยู่วัดเจ้าพญาไทย
ที่เรียกทุกวันนี้ว่า “วัดใหญ่” มีพระเจดีย์สูง
อยู่ริมทางรถไฟข้างตะวันออก เมื่อก่อนจะเข้ากรุงเก่านั่นเอง”

พระนิพนธ์คำอธิบายฉบับพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  
การที่ยกมากล่าวข้างต้นนี้  
ค้านข้อความในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่นับว่าสำคัญอยู่ตอนหนึ่ง
คือที่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง)  ทรงสร้างวัดป่าแก้วนั้น  
ที่แท้จริง วัดนั้นเป็น “วัดแก้วฟ้า”   หาใช่ป่าแก้วไม่
พระวินิจฉัยของสมเด็จฯ น่าจะเป็นไปได้มาก  
เพราะสงฆ์คณะป่าแก้วนี้เพิ่งมามีในสมัย สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
ฉะนั้น สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ จึงไม่ได้สร้างวัดป่าแก้วแน่นอน  

แต่จะเป็นใครสร้าง  และสร้างมาตั้งแต่เมื่อไรนั้น  
เป็นเรื่องที่จะต้องค้นคว้ากันต่อไป



[พระพุทธชัยมงคลปัจจุบัน : พระประธานที่ประดิษฐาน
อยู่ในพระอุโบสถที่สร้างซ้อนซากของเดิมไว้ในปัจจุบัน]

9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-25 10:53 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

[พระเจดีย์ชัยมงคล : อนุสรณ์แห่งชัยชนะในการยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช]


ประวัติพระเจดีย์ชัยมงคล

ชัยชนะในสงครามยุทธหัตถี เป็นชัยชนะครั้งสำคัญที่สุด
นับตั้งแต่ สมเด็จพระนเรศวร
ได้ทรงประกาศอิสรภาพของชาติไทยที่เมืองแครง  
เมื่อปีวอก พุทธศักราช ๒๑๒๗
หลังจากที่ประเทศไทยต้องตกอยู่ใต้อำนาจของชาติอื่นมาเป็นเวลาถึง ๑๕ ปี

จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้สร้างอนุสรณ์แห่งชัยชนะครั้งนี้ขึ้นสองแห่ง
เป็นพระสถูปเจดีย์ตรงที่ทรงยุทธหัตถีกับ พระมหาอุปราชา แห่งหนึ่ง
  
และทรงสร้างพระมหาสถูปคือ พระเจดีย์ชัยมงคล
ขึ้นที่ วัดป่าแก้ว เป็นเหตุสำคัญ
  
นอกจากนั้นก็ยังมีเหตุอื่น อีกด้วย  
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวร ว่า

“ยังมีของโบราณอยู่บางสิ่งซึ่งชวนให้เห็นว่า
เมื่อสมเด็จพนวันรัตทูลขอโทษข้าราชการแล้ว
ได้ทูลแนะนำ สมเด็จพระนเรศวร
ให้เฉลิมพระเกียรติที่มีชัยครั้งนั้นด้วยทรงบำเพ็ญกุศลกรรม
และคงยกเรื่องประวัติพระเจ้าทุษฐคามมินีมหาราชอันมีในคัมภีร์มหาวงศ์  
พงศาวดารลังกาทวีปมาทูลถวายเป็นตัวอย่าง ในเรื่องนั้นว่า  

เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘  พวกทมิฬมิจฉาทิฎฐิยกกองทัพข้ามมาจากชมพูทวีป
มาตีได้เกาะลังกาแล้วครอบครองบ้านเมืองอยู่หลายปี  
ทุษฐคามนีกุมาร ราชโอรสของ  พระเจ้ากากะวรรณดิศ
ซึ่งเป็นกษัตริย์สิงหฬพระพุทธศาสนาหนีไปอยู่บนเขา  
พยายามรวบรวมรี้พลยกไปตีเอาบ้านเมืองคืน  
ได้รับเอา พระยาเอฬาระทมิฬ  ซึ่งครองเมืองลังกา
ถึงชนช้างกันตัวต่อตัวที่ชานเมืองอนุราธธานี  

ทุษฐคามนี้กุมาร มีชัยชนะฆ่า พระยาเอฬาระทมิฬ ตายกับคอช้าง  
ได้เมืองลังกาคืนจากพวกมิจฉาทิฏฐิ  
มีพระเกียรติเป็นมหาราชสืบมาในพงศาวดาร  
เมื่อ พระเจ้าทุษฐคามนี  ทำยุทธหัตถมีชัยครั้งนั้น
โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเจดีย์ขึ้นไว้
เป็นอนุสรณ์ตรงที่ชนช้างกับ พระยาเอฬาระทมิฬ  องค์หนึ่ง  
แล้วให้สร้างพระมหาสถูปอันมีนามว่า “มริจิวัตรเจดีย์”
ขึ้นที่เมืองอนุราธบุรีอีกองค์หนึ่ง  
เฉลิมพระเกียรติปรากฏสืบมากว่าพันปี"  

สมเด็จพระนเรศวร  ทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้สร้างพระสถูปเป็นอนุสรณ์ไว้ในทุ่งหนองสาหร่าย
ตรงที่ทรงทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาองค์หนึ่ง

แล้วทรงสร้างพระมหาสถูปขึ้นไว้ที่วัดป่าแก้ว  
ขนานนามว่า “ชัยมงคลเจดีย์” อีกองค์หนึ่ง
(คือพระเจดีย์พระองค์ใหญ่ที่อยู่ทางฝ่ายตะวันออกทางรถไฟ
และเห็นเมื่อก่อนเข้าเขตพระนครศรีอยุธยา)”


นอกจากนั้น ยังมีอีกเหตุหนึ่งซึ่งคงจะเป็นเครื่องชักจูงพระราชหฤทัย
ให้ทรงสร้างพระมหาสถูปนี้อยู่ไม่น้อย
เมื่อพุทธศักราช ๒๑๑๒ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง
ตีได้กรุงศรีอยุธยาในรัชกาล สมเด็จพระมหินทราธิราช  
ครั้งนั้นไทยได้รับความเสียหายแสนสาหัส  
ข้อความในพระราชพงศาวดารแสดงให้เห็นความอัปยศนี้อยู่เป็นอย่างดียิ่ง
10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-25 10:54 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

[พระเจดีย์ภูเขาทองเมื่อได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๐]


ในชัยชนะครั้งนั้น  พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง
ได้ให้สร้างพระเจดีย์ใหญ่แบบมอญขึ้น  
ไว้เป็นอนุสรณ์ที่วัดซึ่ง สมเด็จพระราเมศวรสร้างไว้นอกพระนครทางด้านเหนือ
และให้เรียกพระเจดีย์นั้นว่า “ภูเขาทอง”
เป็นเหตุให้ชาวบ้านเรียกวัดนั้นว่า “วัดภูเขาทอง”

ต่อมาพระเจดีย์ภูเขาทองนั้น  
นอกจากจะเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองแล้ว  
ยังเป็นเครื่องเตือนใจคนไทยทั้งปวง
ให้ระลึกถึงความอัปยศอดสูในครั้งนั้นอีกด้วย

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้สร้างพระมหาสถูปชัยมงคลที่วัดพระยาไทย
มีขนาดสูงกว่าพระเจดีย์ภูเขาทอง  
ทั้งนี้เพื่อจะได้เป็นเครื่องล้างความอัปยศอดสูของชาติไทย  
และเป็นเครื่องให้เกิดกำลังใจแก่คนไทยทั้งชาติอีกด้วย  
นับว่าเป็นพระบรมราโชบายอันลึกซึ้ง  
และมีประโยชน์ต่อชาติไทยจนตราบทุกวันนี้


[ภาพสงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กับพระมหาอุปราชา แห่งกรุงหงสา]
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้