|
พระประธานในพระอุโบสถ
วัดพระแท่นดงรัง วรวิหาร ต.พระแท่น อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี
พุทธสถานพระแท่นดงรัง
วัดพระแท่นดงรัง วรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ ๑๒๑ หมู่ที่ ๑๐ ตำบลพระแท่น อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ในเขตเทศบาลตำบลพระแท่น เดิมมีฐานะเป็นวัดราษฎร์ อาณาบริเวณภายในวัดกว้างขวางมาก พื้นที่เป็นรูปวงกลมรี มีเนื้อที่ประมาณ ๕๑๕๐ ไร่ ทิศเหนือ จดถนนสายกำแพงแสน-พนมทวน, ทิศใต้ จดหมู่บ้านท่าโป่ง, ทิศตะวันออก จดหมู่บ้านบ้านโป่ง และทิศตะวันตก จดทุ่งนา โดยตั้งอยู่บนเนินเขาป่าไม้เต็งรังและไม้เบญจพรรณอื่นๆ อันเป็นบริเวณเดียวกันกับ “พุทธสถานพระแท่นดงรัง” ที่ประดิษฐาน “พระแท่นดงรัง” ซึ่งเป็นปูชนียสถานสำคัญทางพระพุทธศาสนาแห่งหนึ่งของประเทศไทย
ในปัจจุบันนี้การคมนาคมสะดวกสบายเพราะมีเส้นทางรถยนต์ผ่านวัดพระแท่นดงรัง วรวิหาร ๒ เส้นทาง คือแยกจากถนนสายบ้านโป่ง-กาญจนบุรี ใกล้หลักกิโลเมตรที่ ๑๐๑ ตรงตลาดท่าเรือ ระยะทางจากตลาดท่าเรือถึงวัด ๑๐ กิโลเมตร อีกสายหนึ่งแยกจากถนนสายกำแพงแสน-พนมทวน ตรงหลักกิโลเมตรที่ ๒๒ เป็นระยะทาง ๓๐๐ เมตร
พระแท่นดงรัง นับว่าเป็นเจดียฐานประการหนึ่ง คือถือว่าเป็นที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า และนับว่าเป็นสังเวชนียสถานแห่งหนึ่งในสี่แห่งของพระพุทธเจ้า คือสถานที่ประสูติ สถานที่ตรัสรู้ สถานที่แสดงปฐมเทศนา และสถานที่ดับขันธปรินิพพาน ซึ่งสถานที่ดังกล่าวตั้งอยู่ในประเทศอินเดียในปัจจุบัน
ตามตำนานอันเป็นคติที่เชื่อกันว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปยังแว่นแคว้นต่างๆ ภายนอกประเทศอินเดีย ด้วยอำนาจฌานสมาบัติ และได้ประดิษฐานเจดีย์หรือ ตรัสพยากรณ์เรื่องราวต่างๆ ไว้ในแว่นแคว้นเหล่านั้น จึงเกิดมีเจดีย์วัตถุและพุทธพยากรณ์ที่อ้างว่า พระพุทธองค์ได้ทรงประดิษฐานเจดีย์วัตถุไว้
ในประเทศไทยมีตำนานเกี่ยวกับการประทับรอยพระพุทธบาท และการสร้างพระธาตุเจดีย์อยู่เป็นจำนวนไม่น้อย รวมทั้งพระแท่นและพระพุทธฉาย สำหรับพระแท่นที่มีอยู่ในพงศาวดารคือ พระแท่นศิลาอาสน์ มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย แต่ พระแท่นดงรัง ไม่ได้มีกล่าวไว้ในพงศาวดาร จึงสันนิษฐานว่า อาจจะเกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
ความอัศจรรย์ของพระแท่นดงรังนั้นผิดกับเจดีย์วัตถุอื่น เนื่องจากมีผู้เชื่อว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ พระแท่นดงรังนี้จริงๆ ซึ่งเท่ากับว่าเมืองไทยนี้เป็นมัชฌิมประเทศ อันเป็นสถานที่ ประสูติ ตรัสรู้ และดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า
พระแท่นบรรทม พระแท่นเป็นหินแท่งทึบหน้าลาดคล้ายแท่น หรือเตียงนอน ต่ำข้างหนึ่งสูงข้างหนึ่ง ขนาดยาว ๑๑ ศอก ๑ คืบ กว้าง ๔ ศอกเศษ ด้านล่างป็นปูนปั้นรองแท่น มีหินวางทับซ้อนกันอยู่ มองดูคล้าย พระเขนย (หมอน) พระแท่นนี้อยู่ภายในวิหารพระแท่น เดิมมีต้นรังข้างละหนึ่งต้นโน้มยอดเข้าหากัน
ในระหว่างนางรังทั้งคู่ค้อม
แต่ไม้รังยังรักพระศาสดา
ชวนกันไปไหว้พระแท่นแผ่นศิลา
คำนับน้อมกิ่งก้านก็สาขา
อนิจจาเราเกิดไม่ทันองค์
ปัจจุบันมีวิหารสร้างครอบพระแท่นไว้ ซึ่งคงสร้างไว้นานแล้ว เพราะเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๖ สามเณรกลั่นได้เดินทางไปนมัสการพระแท่นดงรังกับสุนทรภู่ ได้แต่งนิราศไว้มีความตอนหนึ่งว่า
"ถึงพระแท่นแสนสงัดเห็นวัดมี
กับต้นรังทั้งคู่ยังอยู่พร้อม
ต่างชื่นชมโสมนัสยิ่งศรัทธา
เข้าประตูดูแผ่นพระแท่นดัง
ทั้งโบสถ์ที่ครอบพระแท่นแผ่นศิลา
ดูยอดน้อมเข้ามาข้างแท่นที่แผ่นผา
ตามบิดาทักษิณด้วยยินดี
เหมือนบัลลังก์แลจำรัสรัศมี
ส่วนที่เป็นพระแท่นนั้นเป็นปลายของเทือกศิลาที่ยื่นออกมา มีลักษณะเป็นศิลาแท่งสูงข้างหนึ่ง ต่ำข้างหนึ่ง ข้างสูงวัดได้ศอกคืบ และยังมีส่วนที่สูงขึ้นไปอีกเหมือนเป็นหมอน กว้างประมาณคืบเศษ สูงประมาณหนึ่งคืบ ปลายพระแท่นสูง ๑๖ นิ้ว พระแท่นยา ๑๑ ศอกคืบ กว้าง ๔ ศอก เศษ ส่วนล่างกว้าง ๓ ศอกเศษ
|
|