|
ดังนั้นจึงอัญเชิญพระใสขึ้นประดิษฐานที่ “วัดโพธิ์ชัย” แทน
ความอัศจรรย์ของพระใสจนได้สมญาว่า “หลวงพ่อเกวียนหัก”
หลวงพ่อพระใสก็กลายเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองหนองคาย
มานับแต่นั้น เป็นที่เคารพนับถือของทั้งชาวอีสานและชาวลาว
ภาพในขบวนพิธีอัญเชิญ หลวงพ่อพระใส จากพระอุโบสถวัดโพธิ์ชัย
เช้าวันศุกร์ที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๕๕ เพื่อให้ประชาชนทั้งชาวไทยและลาว
ได้สรงน้ำเพื่อเป็นสิริมงคลเนื่องในวันสงกรานต์ วันปีใหม่ไทย
ส่วนเกวียนที่ประดิษฐาน พระเสริม นั้นไม่มีปัญหาใดๆ
จึงสามารถอัญเชิญไปจนถึงพระนคร ไปประดิษฐานอยู่ในพระบวรราชวัง
แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จสวรรคต
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระเสริมจากพระบวรราชวังหรือวังหน้า
ไปประดิษฐานยัง พระวิหารวัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ
และประดิษฐานอยู่ ณ ที่นั้นจนกระทั่งมาถึงปัจจุบัน
ชาวอีสานและชาวหนองคายมีศรัทธาต่อองค์หลวงพ่อพระใส
เนื่องจากเป็นพระพุทธรูปที่กษัตริย์สร้างขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนพระพุทธเจ้า
ให้พุทธศาสนิกชนปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนเป็นสำคัญ
และจากความศรัทธาเลื่อมใสนี้
มักจะมีประชาชนมาบนบานขอพรต่อองค์หลวงพ่อพระใส
โดยส่วนใหญ่มักจะบนบานให้แคล้วคลาด เดินทางปลอดภัย
นอกจากนี้ ยังมีการบนบานเกี่ยวกับสุขภาพ หน้าที่การงาน
เมื่อบนบานและสัมฤทธิผลแล้วก็จะมาแก้บนในช่วงสงกรานต์
โดยนำปราสาทเงิน ปราสาททอง (ปัจจัย) โพธิ์เงิน โพธิ์ทอง ๑ คู่,
พวงมาลัย ๙ พวง, แผ่นทองเปลว ๙ แผ่น และผ้าอังสะ ๓ ผืน
มาทำการแก้บน ซึ่งจะมีพระสงฆ์พาประกอบพิธี
พิเศษที่สุด คือ การบนบานขอลูกจากหลวงพ่อพระใส
คู่สามีภรรยาที่ต้องการมีลูกและขอพึ่งบารมีหลวงพ่อพระใส
จะต้องมาประกอบพิธีบนบานต่อหน้าหลวงพ่อพระใส
เตรียมขันธ์ ๕ ขันธ์ ๘ ขันหมากเบ็ง เทียนเงิน เทียนทอง
โดยมีพระสงฆ์นำประกอบพิธี ๔ รูป
หลังจากเสร็จพิธี ในวันพระสามีภรรยาต้องนุ่งขาวห่มขาว
งดร่วมเพศเด็ดขาด จะต้องถือศีล ๘ อย่างต่อเนื่องจนกว่าจะมีลูก
และเมื่อสัมฤทธิ์ดังประสงค์แล้ว รอให้คลอดลูกก่อน
แล้วนำลูกน้อยนั้นมาทำพิธีแก้บน โดยจะมีพระสงฆ์ ๔ รูป
นำประกอบพิธีต่อหน้าหลวงพ่อพระใสและผูกแขนทารกแรกเกิดให้
ถือว่าเป็นการปวารณาเป็นลูกของหลวงพ่อ มีข้อห้าม คือ
เด็กที่เกิดจากการบนบานขอพรจากหลวงพ่อพระใส จะเป็นเด็กซนมาก
แต่ฉลาด พ่อแม่ห้ามตีเด็ดขาด หากวันใดตีเด็ก
เด็กจะป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุทันทีและต้องมาทำพิธีขอขมาองค์หลวงพ่อ
สำหรับงานประเพณีสำคัญเกี่ยวกับองค์หลวงพ่อพระใส
ชาวหนองคายจะยึดถือเอาวันสงกรานต์ของทุกปี
จัดงานสมโภชหลวงพ่อพระใส
โดยในวันที่ ๑๓ เมษายน จะเป็นวันทำพิธีอัญเชิญหลวงพ่อพระใส
ลงจากพระแท่นแห่รอบพระอุโบสถ เวียนประทักษิณ ๓ รอบ
แล้วอัญเชิญขึ้นสู่ราชรถ เป็นองค์พระประธานนำพระพุทธรูป
จากชุมชนต่างๆ ในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย
แห่ไปรอบเมืองให้ประชาชนได้สรงน้ำ เพื่อความเป็นสิริมงคล
และในวันสุดท้าย จะมีพิธีอัญเชิญหลวงพ่อพระใส
กลับขึ้นประดิษฐานบนพระอุโบสถเช่นเดิม
เป็นอันเสร็จสิ้นงานประเพณีสมโภชองค์หลวงพ่อพระใสในรอบปี
|
|