พระมหาสุรศักดิ์ อติสักโข วัดประดู่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
พระมหาสุรศักดิ์ อติสักโข วัดประดู่
จะว่าไปแล้วก็ดูเป็นที่น่าแปลกใจอยู่มิใช่น้อยที่ในที่สุดการสร้่างตะกรุดโลกธาตุนี้ หลังจากที่เดินทางไปไกลถึง จ.กาญจนบุรี แล้วกลับมาวนเวียนอยู่แถวแม่กลอง โดยหลวงปู่ใจ วัดเสด็จ หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬสมณี หลวงพ่อหยอด วัดแก้วเจริญ สุดท้ายก็กลับมาที่จุดเริ่มต้นดั้งเดิมของสายวิชาคือที่วัดประดู่ แห่งนี้เอง...
วัดประดู่วันนี้เป็นวัดที่ดูสงบ สะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย แสดงให้เห็นถึงได้รับการปกครองอย่างดีจากเจ้าอาวาส ในบริเวณวัดยังได้มีการจัดพิพิธภัณฑ์พระราชศรัทธาของล้นเกล้าพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่5 เมื่อครั้งได้เสด็จประภาสที่วัดประดู่แห่งนี้ในสมัยที่หลวงปู่แจ้งเป็นเจ้าอาวาสในครั้งอดีต หากมีเวลาแนะนำให้ขึ้นไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ได้นะครับโดยพิพิธภัณฑ์นี้จะปิดประมาณ 4 โมงเย็น...
แต่ด้วยการไปวัดประดู่ในครั้งนี้เป็นไปด้วยเหตุแห่ง “ตะกรุดขลัง” ดังนั้นต้องไปเยี่ยมชมตู้วัตถุมงคลของทางวัดก่อนเป็นอันดับแรก... ตะกรุดที่มีให้บูชาอยู่ในตู้นอกจากตะกรุดโลกธาตุแล้ว ยังมีตะกรุดมหาระงับตามตำราของหลวงปู่ใจ วัดเสด็จ ,ตะกรุดดาวล้อมเดือน , ตะกรุดใบลาน , ตะกรุดมหาปราบ และเครื่องมงคลอีกหลายอย่างมากมายทีเดียวครับ ....
แต่คงต้องกระซิบดังๆ ว่า “ตะกรุด” คงเป็นไฮไลท์ของเครื่องมงคลทั้งปวงอย่างไม่ต้องสงสัย... ท่านพระมหาสุรศักดิ์ เล่าว่าท่านเรียนวิชาการทำตะกรุดโลกธาตุและตะกรุดต่างๆตามตำราของหลวงปู่ใจ วัดเสด็จมาจากหลวงพ่อหยอดวัดแก้วเจริญด้วยท่านพระมหาสุรศักดิ์นี้มีความใกล้ขิดหลวงพ่อหยอดเป็นอย่างดี โดยท่านเป็นอดีตพระเลขานุการขององค์หลวงพ่อหยอดนั่นเอง ด้วยเหตุนี้จึงได้วิชามามิใช่น้อย
ด้วยเหตุที่ตามตำราเดิมนั้นผู้ที่จะทำตะกรุดโลกธาตุได้นั้นต้องขลังขนาดเพ่งไส้เทียนขาดผมเลยกราบเรียนถามหลวงพ่อพระอาจารย์มหาสุรศักดิ์ถึงเรื่องดังกล่าวซึ่งท่านได้เคลียร์ข้อสงสัยของผมได้อย่างหมดสิ้น...ท่านบอกว่ามันมีอีกเคล็ดวิชาหนึ่งของผู้ที่ต้องการจะเรียนการทำตะกรุดโลกธาตุคือหนึ่งให้เพ่งไส้เทียนจนขาดหรือไม่ก็ต้องถือ”อโกรธ” คือความไม่โกรธ ไม่ว่ากล่าวหรือแช่งผู้ใดและให้บวชตลอดชีวิตหลวงพ่อก็เลยเฉลยให้ฟังว่าท่านรับปากหลวงพ่อหยอด วัดแก้วเจริญว่าจะไม่โกรธ ไม่แช่งผู้ใด และจะบวชตลอดชีวิตผมก็เลยถึงบางอ้อ ณ. กาลบัดนั้น...
เมื่อได้พูดคุยกับท่านพระมหาสุรศักดิ์แล้วทำให้รู้สึกได้อย่างหนึ่งว่าท่านเป็นพระที่พูดจาได้ไพเราะยิ่ง ทุกประโยคจำลงท้ายด้วยคำว่า “จ้ะ” หรือ “จ๊ะ” เสมอ เช่น “มากันนานแล้วหรือจ๊ะ”
มีเรื่องเล่ากันในหมู่ลูกศิษย์ว่ามีคราวหนึ่งที่ท่านพระมหาสุรศักดิ์ต้องลงกระหม่อมให้กับท่านอาจารย์ฆราวาสท่านหนึ่งจะเป็นด้วยความอาวุโสของอาจารย์ท่านนั้น หรือด้วยเพราะ “กระหม่อม” ของอาจารย์ท่านนั้น “เต็ม” ไปด้วย “ของเดิม” ที่ลงไว้โดยพระเถระที่มีชื่อเสียงในอดีตถึงปัจจุบันนับไม่ถ้วน และยัง“สรรพวิชา” ซึ่งอาจารย์ท่านนั้นได้เล่าเีรียนมาจากอาจารย์ของท่านแต่ครั้งอดีตอีก
ท่านพระมหาสุรศักดิ์ได้ปฏิเสธการลงกระหม่อมให้กับอาจารย์ท่านนั้นด้วยวาจาอันไพเราะว่า
“ไม่ต้องลงอีกก็ได้จ้ะ”
แต่ท่านอาจารย์ฆราวาสท่านนั้นก็ยังนอบน้อมกราบเรียนท่านไปว่า “ลงให้หน่อยเถอะครับ” ก่อนที่ท่านพระมหาสุรศักดิ์จะจรดเหล็กจากลงบน “กระหม่อม” ท่านก็คงพูดอย่างไพเราะอีกว่า
“ขออภัยนะจ๊ะ”
จากนั้นจึงลงกระหม่อมตามวิชาที่ท่านได้เล่าเรียนมา
แต่หลังจากนั้นก็ลงให้กับลูกศิษย์อีกหลายคนแต่ไม่ปรากฏว่าท่านพระมหาสุรศักดิ์กล่าว “ขออภัย” อีกแต่อย่างใด .....
พระอาจารย์มหาสุรศักดิ์ลงจารของให้ลูกศิษย์
ผู้ที่จะเข้าใจความหมายของการสนทนานี้อย่างแจ่มแจ้งคงมีแต่เพียงท่านพระมหาสุรศักดิ์ กับอาจารย์ฆราวาสท่านนั้นเท่านั้น คนที่นั่งอยู่รายรอบคงไม่ทราบว่าท่านทั้งสองคุยกันนี้เรื่องอะไร
น่าแปลกดีไหม !!?
หากจะให้เดาคงจะเป็นไปในทางที่ว่า “ปราชญ์ย่อมเข้าใจในปราชญ์” เป็นแน่ ต่างฝ่ายคงต่างทราบถึง “วิชา” ที่แต่ละคน “ถือครอง” อยู่นั่นเอง.... จากการสอบถามตะกรุดต่างๆของท่านพระมหาสุรศักดิ์นี้ทำการสร้่างด้วยวิธีโบราณคือลงเหล็กจารด้วยมือทุกดอกโดยท่านพระมหาสุรศักดิ์เองมิได้ทำการสร้่างแม่พิมพ์แล้วปั๊มโลหะอย่างที่บางสำนักอาศัยความสะดวกในการสร้่าง อย่างในปัจจุบัน และคงเป็นด้วยเหตุที่ต้องลงจารด้วยมืออย่างโบราณทำให้มีการเรียกสูตรสนธิของอักขระแต่ละตัวตามตำราก่อให้เกิดความขลังกับตะกรุดแต่ละชนิดตามเคล็ดวิชาจึงมีประสบการณ์ตามมาจากผู้อาราธนาติดตัวอยู่มิได้ขาด... |