|
'เชือกคาด'สุดยอดเครื่องรางของขลัง
'เชือกคาด'สุดยอดเครื่องรางของขลัง อีกหนึ่งภูมิปัญญาของเกจิอาจารย์ไทย : สายตรงเครื่องรางของขลัง โดยมล เชือกคาด
“เชือกคาด” เป็น "เครื่องรางของขลัง" ชนิดหนึ่งซึ่งเป็นภูมิปัญญาของเกจิอาจารย์ไทยมาแต่โบราณกาลอย่างแท้จริง
คำว่า “คาดเชือก” เป็นชื่อมวยไทยสมัยเก่าก่อน หากต่อยกันด้วยหมัดรุ่นๆ มันไม่ค่อยถนัด เดี๋ยวเนื้อหนังถลอกปอกเปิก จึงเอาเชือกเส้นเล็กๆ มาพันมือแทนนวม แล้วก็ต่อยกัน ส่วนเชือกนั้นต้องชุบน้ำข้าว เพื่อให้คม จะได้ฉีกเนื้อคู่ต่อสู้ให้เหวอะแตก เรียกว่าให้แพ้เท็คนิเกิลน็อคเอ้าท์ไปเลย
ในอดีตกาล บรมครูมวยไทยของเราคนหนึ่งชื่อ นายขนมต้ม เคยถล่มนักมวยพม่าถึง ๑๐ คนผลัดมาแล้ว ก็ด้วยคาดเชือกนี่แหละ แต่เชือกคาดนั้น คือ เชือกเส้นใหญ่ที่ใช้คาดเอว เพื่อให้เป็นคงกระพันชาตรี จัดอยู่ในชุดเครื่องคาดของไทยชนิดหนึ่ง
การแต่งกายให้สุภาพก็ต้องมีเข็มขัด ซึ่งพัฒนามาจากเชือกคาดเอวในสมัยโบราณ ส่วนรัดประคดของพระสงฆ์ก็จัดอยู่ในสายคาดเอวเหมือนกัน เชือกคาดจึงเป็นสิ่งที่ผูกพันกับชีวิตของคนไทยมาแต่โบราณ พระเกจิอาจารย์ต่างๆ จึงนิยมสร้างเชือกคาดขึ้นมาเป็นเครื่องรางไว้ป้องกันภัยให้กับลูกศิษย์...สืบทอดวิชามาจนถึงทุกวันนี้
"เชือกคาด" ที่ว่านี้ไม่ใช่เชือกคาดปอ, เชือกกล้วย หรือเชือกมะนิลา แต่เป็นเชือกที่ถักขึ้นเป็นพิเศษพร้อมกับลงคาถาอาคม โดยมีหลักการสร้างดังนี้
๑. ใช้ผ้าขาวที่ห่อศพ หรือคลุมโลงศพ หรือจะใช้ผ้าเหลืองพระที่ได้มาจากบังสุกุลเอามาฉีกเป็นเส้น ๆ ก็ได้ ๒.ต้องลงอักขระลงไปบนเส้นผ้าที่ฉีกออกนั้นให้ครบทุกเส้น คือลงให้เต็มที่ ๓. ถ้าหากไม่ฉีกเป็นเส้นก็เอามาตัดเป็นแผ่นสี่เหลี่ยม แล้วลงยันต์ นำมาม้วนเป็นก้อนแท่งยาว ๆ แล้วเอาเชือกมาถักหุ้มภายนอกสำหรับคาดเอว อย่างนี้ก็ใช้ได้เหมือนกัน ๔. บางแห่งใช้ "หวาย" ลงอักขระ แล้วถักหุ้มด้วยผ้า เป็นสายคาดเอวก็มี
เชือกคาดเอว ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง มีหลายสำนัก เป็นการสืบทอดวิชามาจากโบราณคณาจารย์ยุคเก่าอย่างไม่ขาดสาย อาทิ เชือกคาดไส้หนุมาน หวายคาดเอว หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว , หวายคาดเอว หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว , เชือกคาดเอว หลวงพ่อขัน วัดนกกระจาบ , เชือกคาดเอว หลวงพ่อโชติ วัดตะโน , เชือกคาดเอว หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว (ลูกศิษย์หลวงปู่ยิ้ม) , เชือกคาดเอว หลวงปู่ธูป วัดแคนางเลิ้ง (ลูกศิษย์หลวงพ่อขัน วัดนกกระจาบ) , เชือกคาดเอว พ่อท่านเขียว วัดหรงบน, เชือกขมวดหนุมาน หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค, เชือก ๗ ขอดไปได้กลับได้ หลวงพ่อกวย, เชือกคาดเอว หลวงพ่อหลิว วัดสนามแย้, เชือกขอด หลวงพ่อพรหม วัดขนอนเหนือ, เชือกคาดตะกรุด ภุชงค์เบญจฤทธิ์ หลวงพ่อเฮ็น วัดดอนทอง, เชือกคาดเอว หลวงพ่อไสว วัดปรีดาราม ฯลฯ
สรุปแล้ว เชือกคาด ก็คือ การลงอักขระบนผ้า หรือวัสดุอื่นๆ แล้วทำให้เป็นสายยาวๆ ใช้คาดเอวป้องกันอันตราย ส่วนการลงอักขระนั้น ก็แล้วแต่จะเลือกเอา เท่าที่ได้คลี่เชือกคาดของพระเกจิอาจารย์ท่านหนึ่งของนครปฐม ดูเส้นหนึ่ง (เพราะชำรุดคาดไม่ได้) พบว่า เป็นการลงยันต์แบบปทุมจักรตรงกลาง ล้อมรอบด้วยยันต์องค์พระ เป็นมหาอุด ขมวดมุมทั้งสี่ด้วยยันต์เฑาะว์สมาธิ และมีอักขระกำกับสี่ด้าน เมื่อแกะดูแล้วผู้เป็นเจ้าของยังใช้เป็นผ้ายันต์นำติดตัวไปไหนมาไหนได้ เพราะถือว่า ได้ลงอักขระและปลุกเสกไว้แล้ว ย่อมต้องเข้มขลังเหมือนเดิม
เชือกคาด มีหลายสำนักทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ... อาทิของ หลวงพ่อโชติ วัดตะโน ธนบุรี สำนักนี้ถักเป็น ลายจระเข้ขบฟัน หัวเป็นตะกร้อ หางเชือกเป็นบ่วงแน่นหนา มีทั้งผ้าขาว และผ้าเหลือง สมัยก่อน มีผู้คนจำนวนมากนิยมไปหา หลวงพ่อโชติ วัดตะโน เพื่อขอเชือกคาดจากท่าน ต่อมาท่านเกิดตาบอดตอนชราภาพ ก็เพราะว่า การทำเชือกคาดนั้น ต้องเสียค่ายกครูหนึ่งสลึง (สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ เงินเฟื้องเงินสลึง หรือ ๒๕ สตางค์ ถือว่าไม่ใช่เงินน้อยๆ บังเอิญมีเจ้าหนุ่มชาวสวนคนหนึ่ง อยากได้เชือกคาด แต่ไม่มีสตางค์ จึงไปกราบเท้าอ้อนวอนขอให้ท่านช่วยทำเชือกคาดให้ ปรากฎว่าท่านใจอ่อน ก็เลยทำให้ฟรี ไม่เรียกค่ายกครู เท่านั้นแหละ ครูของท่านมาบอกว่า เอ็งจะต้องตาบอดแน่ๆ และท่านก็ตาบอดจริงๆ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๐ มาถึง พ.ศ.๒๕๐๐ สิบปีเต็มๆ ที่หลวงพ่อต้องให้ศิษย์ถักเชือกแล้วเอามาให้ท่านปลุกเสกอีกทีหนึ่ง ... ทุกวันนี้ แม้หลวงพ่อโชติจะมรณภาพไปแล้ว แต่ศิษย์ของท่านก็ยังทำสืบต่อๆ กันมา
สำหรับเชือกคาดของ หลวงพ่อเขียว วัดหรงบน จ.นครศรีธรรมราช ท่านใช้ผ้ารอยมือรอยเท้าของท่าน มาม้วนแล้วถักเป็นเชือกคาด ส่วนเชือกคาดของ หลวงพ่อขัน วัดนกกระจาบ ท่านใช้ผ้าขาวมาถักเป็นเชือกล่ามควาย หัวก็พันเอาดื้อๆ ไม่ค่อยสวย แต่มีผลชะงัดทีเดียว
เชือกคาด นั้นใช้ได้ ๒ อย่างด้วยกัน คือ ๑.คาดเอวแทนเข็มขัด หรือแทนตะกรุด แต่บางคนใช้พันแขนแทน เชือกคาดแขน หรือพิรอดแขน ใช้ได้ทั้ง ๒ อย่าง แล้วแต่จะสะดวก
สุดยอดของ เชือกคาด ถ้าจะเอากันให้ดีจริงๆ ต้องปลุกเสกให้เชือกคาดนั้นสามารถเคลื่อนตัว บิดไปบิดมาได้เหมือนกับ งู จึงจะใช้การได้อย่างแท้จริง ซึ่งพลังจิตแบบนี้มีพระเกจิอาจารย์น้อยรูปที่สามารถทำได้
การอาราธนาเชือกคาด ใช้พระคาถาดังนี้...ตั้งนะโมฯ ๓ จบ แล้วสวดบูชาระลึกถึงพระศรีรัตนตรัย บิดามารดา ครูบาอาจารย์ และท่านผู้เป็นเจ้าของเชือกคาด เป็นที่สุดแล้วว่า “อุทธัง อัทโธ นะโมพุทธายะ โธอุท ธังอัท ผุดผัดผิด ปิดด้วยนะโมพุทธายะ มะอะอุ อุอะมะ นะปิดนะหยุด นะอัตถะยาวะ”
http://www.komchadluek.net |
|