ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2074
ตอบกลับ: 5
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

การปล่อยวาง

[คัดลอกลิงก์]
การปล่อยวาง



การที่เราอยู่ร่วมกันนี้จะต้องมีระเบียบระเบียบเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับคนหมู่มากไม่ใช่จำเป็นเฉพาะบุคคลเท่านั้นอยู่คนเดียวก็ต้องมีระเบียบอย่างพระวินัยพระวินัยสมัยก่อนนี้มีนิดเดียวพระสงฆ์ที่มาบวชในพระพุทธศาสนามีมากขึ้นต่างคนต่างจะทำอะไรก็มีหลายเรื่องบางคนอยากจะทำอย่างนั้นบางคนอยากจะทำอย่างนี้ก็มีกันมาเรื่อยๆเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าของเราตั้งข้อกติกาคือพระวินัยขึ้นมาเพื่อเป็นข้อปฏิบัติอยู่ไปนานๆก็มีคนบางคนก็ทำเรื่องมาอีกหลายอย่างดังนั้นพระวินัยจึงไม่มีทางจบสิ้นหลายล้านสิกขาบทแต่ก็ยังไม่จบพระวินัยไม่มีทางจบลงได้แต่ถ้าพูดถึงเรื่องธรรมเรื่องธรรมะนี้มีทางจบก็คือ "การปล่อยวาง"เรื่องพระวินัยก็คือเอาเหตุผลกันถ้าเอาเหตุผลกันแล้วไม่จบหรอก
สมัยหนึ่งอาตมาไปบริหารพระ๓-๔ องค์ ไปอยู่ในป่าไฟไม่ค่อยจะมีเพราะอยู่บ้านป่าองค์หนึ่งก็ได้หนังสือธรรมะมาอ่านอ่านอยู่ที่หน้าพระประธานที่ทำวัตรกันอ่านอยู่ก็ทิ้งตรงนั้นแล้วก็หนีไปไฟไมมีมันก็มืดพระองค์มาทีหลังก็มาเหยียบหนังสือจับหนังสือขึ้นมาก็โวยวายขึ้นว่า"พระองค์ไหนนไม่มีสติทำไมไม่รู้จักที่เก็บหนังสือ"สอบสวนถามก็ไปถึงพระองค์นั้นพระองค์นั้นก็รับปากว่า"ผมเอาหนังสือเล่มนี้ไว้ที่นี่""ทำไมท่านไม่รู้จักที่เก็บหนังสือผมเดินมาผมเหยียบหนังสือนี้""โอ...อันนั้นเป็นเพราะท่านไม่สำรวมต่างหากเล่า"เห็นไหมมันมีเหตุผลอย่างนั้นจึงเถียงกันองค์นั้นบอกว่า"เพราะท่านไม่เอาไปไว้ในที่เก็บท่านไม่รู้จักเก็บหนังสือท่านจึงไว้อย่างนี้"องค์นี้บอกว่า"เป็นเพราะท่านไม่สำรวมถ้าท่านสำรวมแล้วคงไม่เดินเหยียบหนังสือเล่มนี้"มีเหตุผลว่าอย่างนั้นมันก็เกิดเรื่องทะเลาะกันทะเลาะกันไม่จบด้วยเรื่องเหตุผล
เรื่องธรรมะที่แท้จริงนั้นต้องทิ้งเหตุทิ้งผลคือธรรมะมันสูงกว่านั้นธรรมะที่พระพุทธองค์ท่านตรัสรู้ระงับกิเลสทั้งหลายได้นั้นมันอยู่นอกเหตุเหนือผลไม่อยู่ในเหตุอยู่เหนือผลทุกข์มันจึงไม่มีสุขมันจึงไม่มีธรรมนั้นท่านเรียกว่าระงับระงับเหตุ ระงับผลถ้าพวกใช้เหตุผลอยู่อย่างนี้เถียงกันตลอดจนตายเหมือนพระสององค์นั้น
ธรรมที่พระพุทธองค์ท่านตรัสรู้ต้องอยู่นอกเหตุเหนือผลนอกสุขเหนือทุกข์นอกเกิดเหนือตายธรรมนี้มันเป็นธรรมที่ระงับคนเราก็มาสงสัยอยู่นี่แหละผู้ชายยิ่งสงสัยมากความสงสัยนี่ตัวสำคัญมีเหตุผลอย่างนั้นอย่างนี้มันจะตายอยู่แล้ว(หัวเราะ) มันไม่ใช่ธรรมของพระพุทธองค์ธรรมนั้นเป็นข้อปฏิบัติเป็นทางเดินเดินไปเท่านั้นถ้ามัวคิดว่าเมื่อไปถึงนี่ฉันนี้สุขเหลือเกินไม่ได้ฉันนี้ทุกข์เหลือเกินไม่ได้ แต่ถ้าฉันไม่มีสุขไม่มีทุกข์นี่คือมันระงับแล้วสงสัยไม่มี
ตรงโน้นมันจะมีอยู่ที่ตรงไหนมันก็อยู่ตรงที่ปฏิบัติไปเรื่อยๆสุขเกิดขึ้นมาทุกข์เกิดขึ้นมาเรารู้มันทั้งสองอย่างนี้สุขนี้ก็สักว่าสุขทุกข์นี้ก็สักว่าทุกข์เท่านั้นไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่ตัวตนเราเขาธรรมนี้เกิดขึ้นแล้วดับไปเกิดขึ้นมาดับไปเท่านั้นจะเอาอะไรกับมันสงสัยทำไมมันเกิดอย่างนั้นเมื่อเกิดอีกทำไมมันไปอย่างนั้นละสงสัยอย่างนี้มันเป็นทุกข์ปฏิบัติไปจนตายก็ไม่รู้เรื่องมันทำให้เกิดเหตุไม่ระงับเหตุของมัน
ความเป็นจริงธรรมที่พวกเราปฏิบัติอยู่ทุกวันนี้ธรรมนี้นำเราไปสู่ความสงบสงบจากอะไร จากสิ่งที่ชอบใจจากสิ่งที่ไม่ชอบใจถ้าเราชอบสิ่งที่เราชอบใจไม่ชอบสิ่งที่เราไม่ชอบใจมันไม่หมด ธรรมนี้ไม่ใช่ธรรมระงับธรรมนี้เป็นธรรมก่อทุกข์ขึ้นมาให้เข้าใจอย่างนั้น
ฉะนั้นเราจึงสงสัยตลอดเวลา..แหม.วันนี้ฉันได้มาแล้วพรุ่งนี้ทำไมหายไปแล้วมันหายไปไหนฉันนั่งเมื่อวานนี้มันสงบดีเหลือเกินวันนี้ทำไมมันวุ่นวายมันไม่สงบเพราะอะไรอย่างนี้ก็เพราะเราไม่รู้เหตุของมันครั้นปล่อยวางว่ามันเป็นของมันอยู่อย่างนี้เห็นไหมมันเป็นอยู่ของมันอย่างนี้วันนี้มันสงบแล้วเออ ไม่แน่นอนหนอเราต้องเห็นโทษมันอย่างนี้สงบแล้วมันก็ไม่แน่นอนฉันไม่ยึดมั่นไว้สงบก็สงบเถอะความไม่สงบก็ไม่แน่นอนเหมือนกันฉันไม่ว่า ฉันเป็นผู้ดูเท่านั้นที่สงบฉันก็รู้ว่าเรื่องมันสงบที่ไม่สงบฉันก็รู้ว่าไม่สงบแต่ว่าฉันไม่ยึดมั่นถือมั่นในเรื่องที่ว่ามันสงบหรือไม่สงบเห็นไหมเรื่องมันเป็นอยู่ของมันอย่างนั้นอย่างนี้มันก็ระงับมันก็ไม่วุ่นวายมันจะสงบ ฉันก็รู้ว่ามันเรื่องของมันฉันจะดูอยู่แค่นี้แหละดูเรื่องที่มันสงบมันก็ไม่แน่นอนดูเรื่องที่มันวุ่นวายมันก็ไม่แน่นอนมันแน่นอนอยู่แต่ว่ามันจะเป็นของมันอยู่อย่างนั้นเราอย่าไปเป็นกับมันเลย
ถ้าอย่างนี้มันก็สบายและสงบเพราะเรารู้เรื่องมันไม่ใช่ว่าเราอยากจะให้เรื่องนั้นเป็นอย่างนั้นอยากให้เรื่องนี้เป็นอย่างนี้มันสงบเพราะเรารู้เรื่องว่าเป็นอย่างนั้นแล้วก็มีการปล่อยวางเราคิดดูซิว่าถ้าคนทุกคนต้องพูดให้ถูกใจฉันคนทุกคนต้องทำให้ถูกใจฉันฉันจึงจะสงบฉันจึงจะสบายคนทั้งโลกจะให้เขามาพูดถูกใจเรามีไหมจะมาทำถูกใจเราทุกคนมีไหมไม่มี เมื่อไม่มีเราก็เป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลาถ้าเราไม่มีการปล่อยวางเราเกิดมาในชีวิตหนึ่งเราจะหาความสงบว่าคุณต้องพูดให้ถูกใจฉันคุณต้องทำให้ถูกใจฉันฉันจึงจะสบายในชีวิตหนึ่งจะได้สบายไหมคนเราคุณต้องพูดให้ถูกใจฉันคุณก็ต้องทำให้ถูกใจฉันฉันจึงจะสงบ ถ้าไม่อย่างนั้นฉันก็ไม่สงบคนคนนี้เกิดมาไม่รู้กี่ชาติก็ไม่มีความสงบเพราะคนหลายคนใครจะมาพูดให้ถูกใจเราทุกคนใครจะมาทำให้ดีทุกคนมันไม่มีหรอกอย่างนี้นี่มันเป็นธรรมะเราจะต้องศึกษาอย่างนี้
ฉะนั้นเราจะต้องอดทนอดทนต่ออารมณ์ที่มันเกิดขึ้นมาอย่าไปหมายมั่นอย่าไปยึดมั่นจับมาดูแล้วรู้เรื่องเราก็ปล่อยมันไปเสียเขาจะพูดอย่างไรก็รับฟังมันไปเถอะมันจะทำอย่างไรก็ระวังไว้มันเป็นอย่างนั้นของมันเราต้องถอยกลับมาอยู่ตรงนี้เราก็มีความสบาย
อารมณ์ก็เหมือนกันฉันนั้นที่มันมากระทบเราอยู่ทุกวันนี้บางทีก็ร้ายบางทีก็ดี บางทีก็ชอบใจบางทีก็ไม่ชอบใจคนทุกๆคนนั่งอยู่ในนี้ก็เหมือนกันจะทำให้ถูกใจเราทุกคนมีไหมมันไม่ได้ นอกจากเราปฏิบัติธรรมะให้รู้ว่าคนคนนี้มันเป็นอย่างนี้นานาจิตตังไม่เหมือนกัน


2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-28 09:17 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เราจำเป็นต้องอบรมใจของเราทุกๆคนเมื่อมันโกรธขึ้นก็ดูความโกรธความโกรธนี้มันมาจากไหนเราให้มันโกรธหรือเปล่าดูว่ามันดีไหมทำไมเราถึงชอบมันทำไมเราถึงไม่ทิ้งมันเมื่อโกรธขึ้นมาแล้วไม่ดีไม่ดีเราเก็บมันไว้ทำไมก็เป็นบ้าเท่านั้นทิ้งมันเสียถ้าเห็นว่ามันไม่ดีมันก็จะไปในทำนองนี้
เมื่ออยู่ด้วยกันกับคนมากๆมันก็ยิ่งให้การศึกษาเรามากที่สุดให้มันวุ่นวายเสียก่อนให้รู้เรื่องของความวุ่นวายเสียก่อนมันจึงจะถึงความสงบอย่าหนีไปที่ไหนพระอานนท์กับพระพุทธเจ้าของเราในสมัยก่อนไปบิณฑบาตบ้านมิจฉาทิฏฐิพอไปถึงหน้าบ้านพระพุทธองค์ก็สะพายบาตรยืนเฉยท่านก็สบายเพราะท่านเข้าใจว่าเรายืนอยู่เฉยๆมันไม่บาปหรอกเขาจะให้ก็ไม่เป็นไรเขาจะไม่ให้ก็ไม่เป็นไรท่านยืนอยู่เฉยๆพระอานนท์เดินย่ำเท้าไปมาอายเขาคิดว่าพระพุทธองค์นี้อยู่ทำไมถ้าเขาไล่ก็น่าจะหนีไปเขาไม่ให้ก็ยังทนอยู่ไม่ก่อประโยชน์อะไรเลยพระพุทธองค์ก็เฉยจนกว่าสุดวิสัยแล้วก็ไปบางทีเขาก็ให้ให้ในฐานที่ไม่เคารพพระพุทธเจ้าก็เอาเขาให้พระพุทธเจ้าก็เอาท่านไม่หนีไปไหนไม่เหมือนพระอานนท์
พอกลับมาถึงอารามพระอานนท์ก็กราบพระพุทธองค์ถามว่า"ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรงไหนที่เขาไม่ใส่บาตรให้เราเราจะไปยืนอยู่ทำไมมันเป็นทุกข์อายเขา เขาไม่ให้ก็รีบไปที่อื่นเสียดีกว่า"พระพุทธองค์ตรัส"อานนท์ ตรงนี้ถ้าเรายังไม่ชนะมันไปที่อื่นก็ไม่ชนะถ้าเราชนะอยู่ที่นี่ไปที่อื่นเราก็ชนะ"พระอานนท์ว่า"ชนะไม่ชนะไม่รู้เรื่องแหละอายเขา" "อายทำไมอานนท์อย่างนี้มันผิดหรือเปล่าเป็นบาปไหมเรายืนอยู่เขาไม่ให้ก็ไม่เป็นไร"พระอานนท์บอกว่า"อาย" "อาย ทำไมเรายืนอยู่เฉยๆมันเป็นบาปที่ไหนอานนท์เราจะต้องทำอยู่อย่างนี้ถ้าเราชนะมันตรงนี้ไปที่ไหนมันก็ชนะแต่ถ้าเขาไม่ให้เราก็ไปที่โน่นถ้าไปที่โน้นแล้วเขาไม่ให้เราจะไปไหนอานนท์" "ไปอีกไปบ้านโน้นอีก""ถ้าหากบ้านโน้นเขาก็ไม่ให้เราจะไปตรงไหน""ไปตรงโน้นอีก""เลยไปไม่มีหยุดเลยอานนท์ ถ้าเราไม่ชนะตรงนี้ไปข้างหน้ามันก็ไม่ชนะถ้าเราชนะอยู่ที่นี่แห่งเดียวไปที่อื่นมันก็ชนะทั้งนั้นอานนท์เข้าใจผิดแล้วไม่ต้องอายซิ"
พระองค์ตรัสว่าอะไรเป็นบาปอันนั้นท่านให้อายอะไรที่ไม่เป็นบาปจะอายทำไมใครอายก็โง่เท่านั้นภาวนายังไม่เป็นเลยถ้าอายอย่างนั้นเราจะไปอยู่ตรงไหนถึงจะมีปัญญาถ้าไปอยู่คนเดียวไม่มีใครพูดดีพูดชั่วให้มันก็สบาย แต่เราจะไม่รู้เรื่องสบายอย่างนี้มันไม่มีปัญญาถ้าถูกอารมณ์แล้วปัญญามันไม่มีก็เป็นทุกข์อย่างนั้น
ฉะนั้นเราอยู่ในโลกก็ต้องมีความสัมพันธ์กับมนุษย์เรื่อยไปเป็นธรรมดาไม่อยากเป็นมันก็เป็นไม่อยากจะอยู่มันก็อยู่เป็นไปอยู่อย่างนั้นให้เรามาพิจารณาอย่างนั้นเราต้องกลับมาย้อนพิจารณาอารมณ์ที่ท่านตรัสว่านินทาสรรเสริญมันเป็นคู่กันมาเรื่องนินทาเรื่องสรรเสริญเป็นธรรมดาของโลกถ้าไม่ดีเขาก็นินทาถ้าดีเขาก็สรรเสริญพระพุทธองค์ท่านไม่เห็นแก่นินทาไม่เห็นแก่สรรเสริญจงเรียนสรรเสริญให้มันรู้จักจงมาเรียนนินทาให้มันรู้จักให้รู้จักสรรเสริญกับนินทาสรรเสริญ นินทามันก็มีผลมีเหตุเท่ากันนินทาเราก็ไม่ชอบนี่เป็นเรื่องธรรมดาของโลกถ้าสรรเสริญเราชอบ
สิ่งที่เราชอบมันพาให้เราทุกข์มีไหมเช่นว่า เรามีเพชรสักก้อนหนึ่งเราชอบมาก ชอบกว่าก้อนหินธรรมดาเอาวางไว้ ถ้ามีขโมยมาหยิบเอาก้อนเพชรไปเราจะเป็นอย่างไรนั่นของดีมันหายทำให้เราเป็นทุกข์ได้เหมือนกัน
ดังนั้นเราต้องอดทนต่อสู้ให้เรามีสติคุ้มครองจิตของเราสติคือความระลึกได้สัมปชัญญะคือความรู้ตัวอันนี้ช่วยประคับประคองดวงใจของเราให้อยู่กับธรรมะสติระลึกได้ว่าบัดนี้เราจะจับไม้เท้าเมื่อเราจับไม้เท้าอยู่เราก็รู้ว่าเราจับไม้เท้านี่เป็นสัมปชัญญะถ้าเรารู้อยู่ในขณะนี้ขณะเมื่อเราจะทำหรือเมื่อเราทำอยู่ก็รู้ตามความเป็นจริงของมันอยู่อย่างนั้นอันนี้แหละที่จะช่วยประคับประคองใจของเราให้รู้ธรรมะที่แท้จริง
ทีนี้ถ้าหากว่าเราเผลอไปนาทีหนึ่งก็เป็นบ้านาทีหนึ่งเราไม่มีสติสองนาทีเราก็เป็นบ้าสองนาทีถ้าไม่มีสติครึ่งวันเราก็เป็นบ้าอยู่ครึ่งวันเป็นอย่างนี้
สตินี้คือความระลึกได้เมื่อเราจะพูดอะไรทำอะไรต้องรู้ตัวเราทำอยู่เราก็รู้ตัวอยู่ระลึกได้อยู่อย่างนี้คล้ายๆกับเราขายของอยู่ในบ้านเราเราก็ดูของของเราอยู่คนจะเข้ามาซื้อของหรือจะมาขโมยของของเราถ้าเราสะกดรอยมันอยู่เสมอเราก็รู้เรื่องว่าคนคนนี้มันมาทำไมเราจับอาวุธของเราไว้อยู่อย่างนี้คือเรามองเห็นพอขโมยมันเห็นเรามันก็ไม่กล้าจะทำเรา
อารมณ์ก็เหมือนกันถ้ามีสติรู้อยู่มันจะทำอะไรเราไม่ได้อารมณ์มันจะทำให้เราดีใจอยู่อย่างนี้ตลอดไปไม่ได้มันไม่แน่นอนหรอกเดี๋ยวมันก็หายไปจะไปยึดมั่นถือมั่นทำไมอันนี้ฉันไม่ชอบอันนี้ก็ไม่แน่นอนหรอกถ้าอย่างนี้อารมณ์นั้นมันก็เป็นโมฆะเท่านั้นเราสอนตัวของเราอยู่เรามีสติอย่างนี้เราก็รักษาอย่างนี้เรื่อยๆไปทำเรื่อยๆไปตอนกลางวันตอนกลางคืนตอนไหนๆก็ตาม
เมื่อเรายังมีสติอยู่เมื่อนั้นแหละเราได้ภาวนาอยู่การภาวนาไม่ใช่ว่าเราจะนั่งสมาธิอย่างเดียวยืนเดินนั่งอยู่เราก็รู้จักนอนอยู่เราก็รู้จักเรารู้จักตัวของเราอยู่เสมอจิตเรามีความประมาทเราก็รู้จักไม่มีความประมาทเราก็รู้จักของเราอยู่ความรู้อันนี้แหละที่เรียกว่า"พุทโธ" เรารู้เห็นนานๆพิจารณาดีๆมันก็รู้จักเหตุผลของมันมันก็รู้เรื่อง
ยกตัวอย่างเช่นชาวตะวันตกมาอยู่ในประเทศไทยอยู่ไปเฉยๆอย่างนั้นความที่อยู่ติดต่อใกล้ชิดกันไปถึงแม้พูดภาษาไม่รู้เรื่องก็ตามแต่มันรู้เรื่องเข้าใจได้เห็นไหม มองดูหน้ากันรู้เรื่องกันถึงพูดภาษาไม่รู้เรื่องแต่ก็อยู่กันไปได้มันรู้กันด้วยิวธีนี้ไม่ต้องพูดกันทำงานก็ต่างคนต่างทำทำอยู่ใกล้ๆกันนั่นแหละไม่รู้จักพูดกันมันก็ยังรู้เรื่องกันอยู่ด้วยกันได้รู้ได้โดยอากัปกิริยาที่ว่ารักกันหรือชอบกันอะไรมันก็รู้ของมันอยู่อย่างนี้เป็นอย่างนั้นเหมือนกันกับแมวกับสุนัขมันไม่รู้ภาษาแต่ว่ามันก็รู้จักรักเจ้าของเหมือนกันแมวหรือสุนัขมันอยู่บ้านเราถ้าเรามาถึงบ้านสุนัขมันก็วิ่งไปทำความขอบคุณด้วยเห็นไหมถ้าเรามาจากตลาดหรือมาจากที่อื่นมาถึงบ้านแมวอยู่ที่บ้านเรามันก็มาทำความขอบคุณมันจะร้องว่าเหมียวๆ มันมาเสียดมาสีเราแต่ภาษามันไม่รู้แต่จิตมันรู้อย่างนั้น
อันนี้เราก็อยู่ไปได้อย่างนั้นเราต้องให้เข้าใจกันอย่างนั้นเราปฏิบัติธรรมะบ่อยๆจิตมันก็คุ้นเคยกับธรรมะเช่นว่าความโกรธเกิดขึ้นมามันเป็นทุกข์พระท่านว่ามันเป็นทุกข์มาแล้วชอบทุกข์ไหมไม่ชอบ แล้วเอาไว้ทำไมถ้าไม่ชอบจะยึดเอาไว้ทำไมทิ้งมันไปซิถ้าทุกข์มันเกิดล่ะคุณชอบทุกข์หรือเปล่าไม่ชอบ เมื่อไม่ชอบทุกข์แล้วยึดไว้ทำไมก็ทิ้งมันเสียซิท่านก็สอนทุกวันๆก็รู้เข้าไปๆทุกข์มันเกิดขึ้นมาครั้งหนึ่งเราก็รู้จักคำสอนครั้งหนึ่งทุกข์มันเกิดมาครั้งหนึ่งเราก็รู้จักคำสอนครั้งหนึ่งทุกข์เราก็ไม่ชอบไม่ชอบทุกข์แต่เราไปยึดไว้ทำไมสอนอยู่เรื่อยๆบางทีก็เห็นชัดเห็นชัดก็ค่อยๆวางวางไปก็เป็นเรื่องธรรมดาอย่างเก่าทีหนึ่งก็ดีสองทีก็ดีสามที่ก็ดีมันก็เกิดประโยชน์แล้วเกิดรู้เรื่องขึ้นแล้ว
เมื่อมันเกิดความรู้เฉพาะตัวของเราเราจะนั่งอยู่ก็ดีเดินอยก็ดีนอนอยู่ก็ดีพูดภาษาไม่เป็นแต่จิตเรารู้ภาษาธรรมะเราปิดปากตรงนี้ไว้ปิดปากกายแต่เปิดปากใจนี้ไว้ใจมันพูดนั่งอยู่เงียบๆยิ่งพูดดี พูดกับอารมณ์รู้อารมณ์เสมอนี่เรียกว่า"ปากใน" นั่งอยู่เฉยๆเราก็รู้จักพูดอยู่ข้างในรู้อยู่ข้างในไม่ใช่คนโง่คนรู้อยู่ข้างในรู้จักอารมณ์สั่งสอนตัวเองก็เพราะอันนี้....

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-28 09:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ชีวิตของเรานี้มันแก่ทุกวันเกิดมามีการยกเว้นไม่แก่บ้างไหมวันคืนของเรานี้ตอนเช้า ตอนเที่ยงตอนเย็น ตอนค่ำมันยกเว้นอายุเราไหมวันนี้มันก็ให้แก่พรุ่งนี้มันก็ให้แก่นอนหลับอยู่มันก็ให้แก่ตื่นอยู่ก็ให้โตขึ้นตามเรื่องของมันเรียกว่าปฏิปทาของมันสม่ำเสมอเหลือเกินเราจะนอนอยู่มันก็ทำงานของมันอยู่เราจะเดิน มันก็ทำงานคือความโตของเรานี่แหละกลางวันมันก็โตกลางคืนมันก็โตจะนั่งจะนอนมันมีความโตของมันอยู่เพราะชีวิตประจำวันมันเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอร่างกายของเรามันได้อาหารมันก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆนี่เรียกว่าปฏิปทาของมันมันจึงทำให้เราโตจนไม่รู้สึกดูเหมือนกับไม่ได้ทำอะไรเลยมันก็โตของมันเองแต่สิ่งที่เราทำคือเรากินอาหารกินข้าว ดื่มน้ำนั่นเป็นเรื่องของเราเรื่องร่างกายมันจะโตจะอ้วนมันก็เป็นของมันเราก็ทำงานของเราสังขารมันก็ทำงานของสังขารมันไม่พลิกแพลงอะไรนี่ปฏิปทามันติดต่อกันอยู่เสมอ
การทำความเพียรของเราก็เหมือนกันต้องพยายามอยู่อย่างนั้นเราจะต้องมีสติติดต่อกันอยู่อย่างนั้นเสมอมีความรู้ติดต่อกันอยู่เสมอเป็นวงกลมจะไปถอนหญ้าก็ได้จะนั่งอยู่ก็ได้จะทานอาหารก็ได้จะกวาดบ้านอยู่ก็ได้ต้องไม่ลืมมีความรู้ติดต่ออยู่เสมอตัวนี้มันรู้ธรรมะมันจะพูดอยู่เรื่อยๆใจข้างในมันจะพูดอยู่เรื่อยๆเป็นอยู่อย่างนั้นมีความรู้อยู่มีความตื่นอยู่มีความเบิกบานอยู่สม่ำเสมออย่างนั้นนั้นเรียกว่าเป็นประโยชน์มากไม่ต้องสงสัยอะไรเลยอะไรมันเกิดขึ้นมาเราก็เห็นว่าอันนี้มันไม่แน่นอนมันไม่เที่ยงอันนั้นก็ดีแต่ว่ามันไม่แน่นอนมันไม่เที่ยงเท่านี้ละ เราก็รู้ของเราไปเรื่อยๆเท่านั้นแหละการปฏิบัติของเรา
มีคนถามว่าการทำภาวนานี้ต้องอธิษฐานหรือไม่ว่าจะทำเวลานานเท่าไร๕ หรือ ๑๐ นาทีอาตมาเลยบอกว่าไม่แน่นอนบางทีอธิษฐานว่าฉันจะนั่งสามชั่วโมงนั่งไปได้สิบนาทีก็เดือดร้อนแล้วไม่ถึงชั่วโมงก็หนีไปแล้วเมื่อหนีไปแล้วก็มานั่งคิดว่าแหม เรานี้พูดโกหกตัวเราเองเอาแต่โทษตัวเองอยู่ไม่สบายใจ บางทีก็เอาธูปสักดอกหนึ่งมาจุดอธิษฐานจิตใจว่าไฟจุดธูปดอกนี้ไม่หมดฉันจะไม่ลุกหนีฉันจะพยายามอยู่อย่างนี้พอท่านพูดอย่างนี้พญามารก็มาแล้วนั่งเข้าไปสักนิดนั่นทุกข์หลายเหลือเกินเดี๋ยวมดกัดเดี๋ยวยุงกัดมันวุ่นไปหมดจะลุกหนีไปก็อธิษฐานแล้วนี่มันตกนรกนึกว่านานเต็มทีแล้วลืมตามองดูธูปยังไม่ถึงครึ่งเลยหลับตาอธิษฐานใหม่ต่อไปอีกสามทีสี่ทีธูปก็ยังไม่หมดเลยก็มาคิดเรานี่มันไม่ดีเหลือเกินโกหกตัวของตัวอยู่เลยวุ่นยิ่งกว่าเก่าอีกเรานี้เป็นคนไม่ดีเป็นคนอัปรีย์จัญไรเป็นคนโกหกพระพุทธเจ้าโกหกตัวเราเองเกิดบาปขึ้นมาอีกอาตมาเห็นว่าต้องพยายามทำไปเรื่อยๆพอสมควรที่จะเลิกก็เลิกเหมือนกันกับเราทานข้าวเราอธิษฐานมันเมื่อไรทานไปทานไปมันจวนจะอิ่มจะพอเราก็เลิกมันเมื่อนั้นกินมากไปมันก็อาเจียรออกเท่านั้นแหละให้มันพอดีอย่างนั้น
เราเหมือนพ่อค้าเกวียนต้องรู้จักกำลังโคของเราต้องรู้จักกำลังเกวียนของเราโคของเรามีกำลังเท่าไรเกวียนของเรารับน้ำหนักได้เท่าไรต้องรู้จักต้องเอาตามกำลังโคต้องเอากำลังเกวียนของเราอย่าเอาตามความอยากของเราสิเรามีเกวียนลำเดียวอยากจะบรรทุกหนักให้ขนาดรถสิบล้อมันก็พังเท่านั้นก็ตายน่ะซิมันต้องค่อยๆไปค่อยๆทำ อย่างนี้ให้รู้จักของเราปฏิปทาเราทำไปเรื่อยๆก็สบายมันวุ่นวายก็ตั้งใหม่มันวุ่นวายไปก็ตั้งใหม่ถ้ามันวุ่นวายนักก็ลุกเดินจงกรมเสียซิเดินมันจนเหนื่อยพอเหนื่อยก็มานั่งนั่งกำหนด มันเหนื่อยมันจะสงบระงับถ้าเดินก็พอแรงนั่งก็ สมควรแล้วอยากจะพักผ่อนก็พักผ่อนเสียแต่ว่า จิตใจอย่าลืมมีสติอยู่ทั้งเดินทั้งนั่ง ทั้งนอนอยู่ให้สม่ำเสมออย่างนั้นให้เราเข้าใจอย่างนั้น
การประพฤติปฏิบัติธรรมต้องไม่ย่อหย่อนจะต้องทำความพยายามอย่างนั้นความอยากจะเร็วของเราอันนี้ไม่ใช่ธรรมะมันเป็นความอยากของเราใจอยากจะเร็วที่สุดแต่มันทำไม่ได้ธรรมชาติมันเป็นอยู่อย่างนั้นเราก็กำหนดจิตปฏิบัติตามธรรมชาติของมันอย่างนั้นอยากจะให้มันเร็วที่สุดนั้นไม่ใช่ธรรมมันคือความอยากของเราเราจะทำตามความอยากของเรานั้นไม่จบ
ให้รู้จักดูประวัติของพระอานนท์พระอานนท์นั้นมีศรัทธามากที่สุดพรุ่งนี้เขากำหนดให้พระอรหันต์ทำปฐมสังคายนาแล้วและคณะสงฆ์ก็กำหนดพระอานนท์องค์หนึ่งว่าจะเอาไปร่วมทำสังคายนาแต่จะเอาเฉพาะพระอรหันต์ทั้งนั้นพระอานนท์เหลือเพียงคนเดียวเท่านั้นยังไม่เป็นพระอรหันต์ไม่รู้จะทำอย่างไรพระอานนท์ก็อาศัยความอยากนึกว่า เราจะต้องทำอะไรหนอจึงจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์พรุ่งนี้เขาจะนับเข้าอันดับแล้วจะประชุมสงฆ์ทำสังคายนาตอนกลางคืนก็ตั้งใจนั่งไม่ได้นอนทั้งคืนนั่งทำอยู่อย่างนั้นอยากจะเป็นพระอรหันต์กลัวจะไม่ทันเพื่อนเขาทำไปทุกอย่างคิดไปทางนี้ก็มีแต่ปัญญาหยาบคิดไปทางโน้นก็มีแต่ปัญญาหยาบคิดไปทางไหนก็มีแต่ปัญญาหยาบทั้งนั้นวุ่นวายไปหมดคิดไปก็จวนจะสว่างเรานี่แย่ เราจะทำอย่างไรหนอเพื่อนสหธรรมิกทั้งหลายจะทำสังคายนาแล้วเรายังเป็นปุถุชนจะทำอย่างไรหนอธรรมที่พระพุทธองค์ท่านแสดงไว้เราพิจารณาทุกอย่างไม่ขัดข้องแต่เรายังตัดกิเลสยังไม่ได้ยังไม่เป็นพระอริยเจ้าทำอย่างไรหนอเลยคิดว่าเราก็ทำความเพียรมาตั้งแต่ย่ำค่ำจนถึงบัดนี้หรือมันจะเหนื่อยไปมากกระมังคิดว่าควรจะพักผ่อนสักพักหนึ่งเลยเอาหมอนมาจะทำการพักผ่อนเมื่อจะพักผ่อนก็ปล่อยวางทอดธุระหมดเท่านั้นศีรษะยังไม่ทันถึงหมอนเลยพอเท้าพ้นพื้นเท่านั้นตอนนั้นขณะจิตเดียวพอดีจิตมันรวมไว้ที่ตั้งใจว่าจะพักผ่อนมันปล่อยวางทอดธุระตอนนั้นเองพระอานนท์ได้ตรัสรู้ธรรมตอนที่ว่าอยากจะให้มันเป็นอย่างนั้นอยากจะให้มันเป็นอย่างนี้ไม่มีเวลาที่จะพักผ่อนไม่ปล่อยวางก็เลยไม่มีโอกาสที่จะตรัสรู้ธรรม
ให้เข้าใจว่าการที่ตรัสรู้ธรรมนั้นมันพร้อมกับการปล่อยวางด้วยสติปัญญาไม่ใช่ว่าเราจะเร่งมันให้มันเป็นอย่างนั้นแต่ด้วยเห็นว่ามันไม่ใช่อย่างนั้นพอพักผ่อน พอวางเข้าปุ๊บตรงนั้นไม่มีอะไรเข้ามายุ่งไม่มีความอยากเข้ามายุ่งเลยสงบตรงนั้นเลยพอจิตตอนนั้นรวมดีก็เป็นโอกาสพบตรงนั้นพระอานนท์เกือบจะไม่รู้ตัวรู้ตัวว่ามันเป็นอย่างนั้นเท่านั้นที่พระอานนท์อยากจะตรัสรู้ให้มันเป็นอย่างนี้ไม่ได้นี่คือความอยากแต่พอรู้จักวางตรงนั้นแหละคือการตรัสรู้ธรรมะ
คนไม่รู้จักมันก็ทำยากเช่นว่า ตรงนั้นไม่ใช่ที่อยู่ของคนความวิตกของปุถุชนจะไปวิตกตรงนั้นก็ไม่ได้เช่นว่า นี่พื้นนั่นหลังคาตรงนี้ (ระหว่างหลังคากับพื้น)ไม่มีอะไร เห็นไหมตรงนี้ไม่มีภพภพคือหลังคากับพื้นระยะกลางนี้เรียกว่าไม่มีภพถ้าคนจะอยู่ก็ต้องอยู่ข้างล่างหรือข้างบน ตรงนี้ไม่มีคนที่จะอยู่ไม่มีใครที่จะอยู่เพราะว่ามันไม่มีภพตรงนี้คนไม่สนใจการปล่อยวางอย่างนี้คนไม่สนใจว่าการปล่อยวางมันจะเกิดอะไรไหมเมื่อขึ้นไปถึงโน้นเป็นภพเคยอยู่ลงมาทางนี้ก็เป็นภพเคยอยู่ขึ้นไปข้างบนนี้หน่อยก็สุขสบายหล่นลงมาตูมก็เจ็บแล้วเป็นทุกข์มีแต่ทุกข์กับสุขแต่ที่มันจะวางให้เป็นปกติไม่มีเพราะว่าที่ไม่มีภพนั้นคนไม่สนใจแม้จิตจะวิตกก็ให้วิตกไปในปกติไม่มีภพ
ที่พระพุทธองค์ตรัสว่าที่ไม่มีภพไม่มีชาติคือไม่มีอุปาทานนั่นเองอุปาทานเป็นเหตุให้ทุกข์เกิดถ้าอุปาทานนั้นเราปล่อยไม่ได้เราอยากจะสงบมันก็ไม่สงบคนเราอยู่กับภพถ้าไม่มีภพคิดไม่ได้เพราะนิสัยของคนมันเป็นอย่างนั้นกิเลสของคนเป็นอย่างนั้นพระนิพพานที่พระพุทธองค์ท่านว่าพ้นจากภพชาติฟังไม่ได้ ไม่เข้าใจมันเข้าใจแต่ว่าต้องมีภพชาติถ้าไม่มีภพถ้าไม่มีที่อยู่ฉันจะอยู่อย่างไรยิ่งคนธรรมดาๆอย่างเราแล้วฉันจะอยู่อย่างนี้ไม่ดีกว่าหรืออยากจะเกิดอีกแต่ก็ไม่อยากตายมันขัดกันเสียอย่างนี้ฉันอยากเกิดแต่ฉันไม่อยากตายมันพูดเอาคนเดียวตามภาษาคนแต่การเกิดแล้วไม่ตายนั้นมีไหมในโลกนี้เมื่อคนอยากเกิดก็คือคนนั้นอยากตายนั่นเองแต่เขาพูดว่าฉันอยากเกิดแต่ฉันไม่อยากตายมันคิดสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เขาก็ไปคิดให้มันทุกข์
ทำไมเราจึงคิดอย่างนั้นเพราะเขาไม่รู้จักทุกข์เขาจึงคิดอย่างนั้นพระพุทธองค์ท่านว่าตายนี้มาจากความเกิดถ้าไม่อยากตายอย่าเกิดสิแต่นี่อยากเกิดอีกแต่ว่าไม่อยากตายพูดกับกิเลสตัณหานี้มันก็ยากมันก็ลำบากมันถึงมีการปล่อยวางได้ยากมีการปล่อยวางไม่ได้อย่างนี้กิเลสตัณหามันเป็นอย่างนั้น
ฉะนั้นที่พระพุทธองค์ท่านตรัสว่าไม่มียางต้นเสาอันนี้อะไรไปเกาะไม่มีที่เกาะก็จึงไม่มีภพไม่มีชาติถ้าพูดถึงว่าเราไม่มีภพมีชาติเราฟังไม่ได้จนกระทั่งท่านย้ำเข้าไปถึงตัวตนนี้ว่าไม่มีตัวมีตนตัวตนนั้นเป็นเรื่องสมมุติทั้งนั้นมันจริงอยู่มันก็จริงโดยสมมุติถ้าพูดถึงวิมุติตัวตนก็ไม่มีเป็นธรรมธาตุอันหนึ่งเกิดขึ้นมาเพราะเหตุเพราะปัจจัยเกิดขึ้นมาเท่านั้นเราก็ไปสมมุติว่ามันเป็นตัวเป็นตนเกิดขึ้นมาเมื่อเป็นสมมุติเป็นตัวเป็นตนก็ยึดตัวยึดตนนั้นอีกเลยเป็นคนมีตนถ้ามี "ตน" ก็มี"ของตน" ถ้าไม่มี"ตน" "ของตน" ก็ไม่มีถ้ามี"ตน" มันก็มีสุขมีทุกข์ถ้ามี "ตน" มันก็มี"ของตน" พร้อมกันขึ้นมาเลยเราไม่รู้เรื่องอย่างนั้นฉะนั้นคนเราจึงไปคิดว่าอยากเกิดแต่ไม่อยากตาย
พูดถึงเรื่องกระแสพระนิพพานแล้วถ้าไม่รู้ปัจจัตตังแล้วก็ไม่มีใครที่จะปรารถนาอะไรถึงพระนิพพานนี้ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องปรารถนาอีกด้วยพระนิพพานปรารถนาไม่ได้เหมือนกันอย่างนี้มันเป็นลักษณะที่เข้าใจยากถึงเราจะเข้าใจในเรื่องพระนิพพานแต่จะพูดให้คนอื่นฟังก็ไม่เข้าใจเหมือนกันมันไม่เข้าใจเพราะธรรมอันนี้ถ้าแบ่งให้กันได้มันก็สบายละซิแต่ธรรมนี้มันเป็นปัจจัตตังมันรู้เฉพาะตัวของเราเองบอกคนอื่นได้แต่มีปัญหาอยู่ว่าคนอื่นจะรู้ไหม

4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-28 09:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ฉะนั้นพระพุทธองค์จึงตรัสว่า"อักขาตาโร ตถาคตา"แปลว่า พระตถาคตเป็นแต่ผู้บอกนั่นก็เหมือนกับเราทุกวันนี้แหละเป็นผู้บอกไม่ใช่ผู้ทำให้บอกแล้วให้เอาไปทำจึงจะเกิดความมหัศ-จรรย์ขึ้นเกิดความเป็นจริงขึ้นเฉพาะตนเป็น"ปัจจัตตัง เวทิตัพโพวิญญูหิ"วิญญูชนรู้เฉพาะตัวเองทั้งนั้น อย่างพูดวันนี้จะมาเชื่ออาตมานั้นก็ยังไม่ใช่ของดีมันยังไม่ใช่ของแท้คนที่เชื่อคนอื่นอยู่พระพุทธองค์ท่านว่ายังโง่อยู่พระพุทธองค์ท่านให้รับรู้ไว้แล้วไปพิจารณาให้มันเกิดขึ้นมาโดยเฉพาะตัวเราเองธรรมนี้มันจึงเป็นปัจจัตตังอย่างนั้น
ทีนี้ในเรื่องการฟังธรรมก็ให้ทำความเข้าใจว่าต้องไม่ปฏิเสธรับฟังไม่เชื่อก็พิจารณาดูไม่เชื่อก็ไม่ว่าเชื่อก็ไม่ว่าวางไว้ก่อนเราจะรู้โดยให้เกิดปัญญาอะไรทุกอย่างถ้าไม่มีเหตุผลเพียงพอในใจของเราเองก็ยังไม่ปล่อยวางคือว่า มีสองข้างนี่ข้างหนึ่งนี่ก็ข้างหนึ่งคนเรานั้นจะแอบเดินมาข้างนี้หรือแอบเดินไปข้างนั้นที่เดินไปกลางๆไม่ค่อยเดินหรอกมันเป็นทางเปลี่ยวเดี๋ยวรักก็ไปทางรักพอชังก็ไปทางชังจะปล่อยการรักการชังนี้ไปมันเป็นทางเปลี่ยวมันไม่ยอมไป
เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้ธรรมะทรงเทศน์เป็นปฐมเทศนาเลยตรงนี้ทางหนึ่งมันเป็นทางสุขของกามทางหนึ่งมันเป็นทางทุกข์ทรมานตนสองอย่างนี้ไม่ใช่ทางที่สงบท่านพูดว่าไม่ใช่ทางของสมณะสมณะนี้คือความสงบสงบจากสุขทุกข์ไม่ใช่มีความสุขแล้วมันสงบไม่ใช่มีความทุกข์แล้วมันสงบต้องปราศจากสุขหรือทุกข์มันจึงเป็นเรื่องความสงบถ้าเราทำอย่างนั้นแล้วมีความสุขใจเหลือเกินอันนี้ก็ไม่ใช่ธรรมะที่ดีนะแต่ต้องเราวางสุขหรือทุกข์ไว้สองข้างความรู้สึกต้องไปกลางๆเดินผ่านมันไปกลางเราก็มองดูสุขก็เห็น ทุกข์ก็เห็นแต่เราไม่ปรารถนาอะไรเดินมันเรื่อยไปเราไม่ต้องการสุขเราไม่ต้องการทุกข์เราต้องการความสงบจิตใจของเราไม่ต้องแวะไปหาความสุขไม่ต้องแวะไปหาความทุกข์ก็เดินมันไปเรื่อยเป็นสัมมาปฏิปทาเป็นมรรคมีองค์แปดมีสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบเกิดขึ้นแล้วสัมมาสังกัปปะคือความดำริวิตกวิจารมันก็ชอบทั้งนั้นอันนี้เป็นสัมมามรรคเป็นมรรคปฏิปทาถ้าจะทำอย่างนี้ให้เกิดอย่างนั้น
ทีนี้เราได้ฟังเราก็ไปคิดดูธรรมะทั้งหมดนี้ท่านต้องการให้ปล่อยวางปล่อยวางจะเกิดขึ้นมานั้นต้องรู้ความเป็นจริงมันถึงจะปล่อยวางได้ถ้าความรู้ไม่เกิดก็ต้องมีการอดทนมีการพยายามมีการปฏิบัติธรรมอยู่มันต้องใช้ทุนอยู่เสมอทีเดียวเรียกว่าต้องปฏิบัติธรรม
แต่เมื่อมันรู้เห็นหมดแล้วธรรมะก็ไม่ได้แบกเอาไปด้วยอย่างเลื่อยคันนี้เขาจะเอาไปตัดไม้เมื่อเขาตัดไม้หมดแล้วอะไรก็หมดแล้วเลื่อยก็เอาวางไว้เลยไม่ต้องไปใช้อีกเลื่อยคือธรรมะธรรมะต้องเอาไปปฏิบัติเพื่อให้บรรลุมรรคผลถ้าหากว่ามันเสร็จแล้วธรรมที่มีอยู่ก็วางไว้เหมือนเลื่อยที่เขาตัดไม้ท่อนนี้ก็ตัดท่อนนี้ก็ตัดตัดเสร็จแล้วก็วางไว้ที่นี่อย่างนั้นเลื่อยก็ต้องเป็นเลื่อยไม้ก็ต้องเป็นไม้นี่เรียกว่าถึงหยุดแล้วถึงจุดของมันที่สำคัญแล้วสิ้นการตัดไม้ไม่ต้องตัดไม้ตัดพอแล้ว เอาเลื่อยวางไว้
การประพฤติปฏิบัติต้องอาศัยธรรมะถ้าหากว่าพอแล้วไม่ต้องเพิ่มมันไม่ต้องถอนมันไม่ต้องทำอะไรมันปล่อยวางอยู่อย่างนั้นเป็นไปตามธรรมชาติอันนั้นถ้าไปยึดมั่นหมายมั่นสงสัยอันนี้เป็นอย่างนั้นมันอยู่ไกลเหลือเกินอยู่ไกลมากทีเดียวยังเป็นเด็กๆอยู่ยังเป็นเด็กอมมืออยู่นั่นแหละทำอะไรไม่ถูกอยู่นั่นไม่เอาแล้วอย่างนั้นมันเป็นทุกข์ต้องดู ต้องดูออกจากจิตใจของเราดูมันปล่อยมันดูว่ามันอะไรเกิดขึ้นก็รู้ว่าอันนี้ไม่แน่อันนี้เกิดไม่จริงอันนี้มันปลอมความจริงมันก็อยู่อย่างนั้นที่เราอยากให้อันนั้นเป็นอันนี้อันนี้เป็นอันนั้นนั่นไม่ใช่ทางมันเป็นอยู่อย่างนั้นก็วางมันเสียความสงบเกิดขึ้นได้เราข้ามไปข้ามมามันไม่รู้เรื่องก็เป็นทุกข์ตลอดเวลาหายสงสัยเสียอย่าไปสงสัยมันเลิกมันเถอะอย่าไปเป็นทุกข์หลายพอแล้ว ปล่อยวางมันเสีย(หัวเราะ)
"การฝึกจิตมีอยู่หลายวิธีด้วยกันแต่วิธีที่เห็นว่ามีประโยชน์และเหมาะสมที่สุดใช้ได้กับบุคคลทั่วไปวิธีนั้นเรียกว่า



"อานาปาน-สติภาวนา"คือมีสติจับอยู่ที่ลมหายใจเข้าและหายใจออกที่สำนักนี้ให้กำหนดลมที่ปลายจมูกโดยภาวนาว่าพุทโธในเวลาเดินจงกรมและนั่งสมาธิก็ภาวนาแบบนี้จะใช้บทอื่นหรือจะกำหนดเพียงการเข้าออกของลมก็ได้แล้วแต่สะดวกข้อสำคัญอยู่ที่ว่าพยายามกำหนดลมเข้าออกให้ทันเท่านั้นการเจริญภาวนาบทนี้จะต้องทำติดต่อกันไปเรื่อยๆจึงจะได้ผล ไม่ใช่ว่าทำครั้งหนึ่งแล้วหยุดไปตั้งอาทิตย์สองอาทิตย์หรือตั้งเดือนจึงทำอีกอย่างนี้ไม่ได้ผลพระพุทธองค์ตรัสสอนว่าภาวิตา พหุลีกตาอบรมกระทำให้มากคือทำบ่อยๆติดต่อกันไป"
"อาการบังคับตัวเองให้กำหนดลมหายใจข้อนี้เป็นศีลการกำหนดลมหายใจได้และติดต่อกันไปจนจิตสงบข้อนี้เรียกว่าสมาธิการพิจารณากำหนดรู้ลมหายใจว่าไม่เที่ยงทนได้ยาก มิใช่ตัวตนแล้วรู้การปล่อยวางข้อนี้เรียกว่าปัญญาการทำอานาปานสติภาวนาจึงกล่าวได้ว่าเป็นการบำเพ็ญทั้งศีลสมาธิ ปัญญาไปพร้อมกันและเมื่อทำศีลสมาธิ ปัญญาให้ครบก็ชื่อว่าได้เดินทางตามมรรคมีองค์แปด ที่พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นทางสายเอกประเสริฐกว่าทางทั้งหมดเพราะจะเป็นการเดินทางเข้าถึงพระนิพพานเมื่อเราทำตามที่กล่าวมานี้ชื่อว่าเป็นการเข้าถึงพุทธธรรมอย่างถูกต้องที่สุด"

ที่มา http://www.ubu.ac.th/wat/ebooks/chahthai/Letting_Go.html

อนุโมทนา สาธุ คับ

หนักก็วาง...
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้