ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 5556
ตอบกลับ: 8
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล วัดป่ามณีรัตน์(วัดป่าบ้านคุ้ม) ~

[คัดลอกลิงก์]


ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล


วัดป่ามณีรัตน์ (วัดป่าบ้านคุ้ม)
ต.โคกสว่าง อ.สำโรง จ.อุบลราชธานี



๏ ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย
      
“หลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล” เป็นแม่ทัพใหญ่แห่งกองทัพธรรมสายท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล  และท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ฝ่ายมหานิกาย ที่มีอาจาระงดงาม ไม่ติดที่ไม่ติดวัด สมณะสันโดษเป็นที่สุด ท่านพระอาจารย์มั่นได้กล่าวกับหลวงปู่ทองรัตน์ ครั้งหนึ่งว่า “จิตท่านเท่ากับจิตเราแล้ว จงไปเทศนาอบรมสั่งสอนได้” ด้วยเห็นว่าหลวงปู่เป็นพระแล้ว ปฏิบัติดีแล้ว เป็นพระแท้จริง ท่านพระอาจารย์มั่นจึงไม่ญัตติให้เป็นธรรมยุตดังลูกศิษย์รูปอื่นๆ หลวงปู่ทองรัตน์จึงเป็นพระภิกษุผู้ประสานติดต่อภิกษุสงฆ์มหานิกายให้เป็นพระป่า ยึดธรรมปฏิบัติตามพระบูรพาจารย์ใหญ่ท่านพระอาจารย์เสาร์ และท่านพระอาจารย์มั่น
      
หลวงปู่ทองรัตน์ มีนามเดิมว่า ทองรัตน์ บรรพบุรุษของตระกูลเป็นชาวบ้านชี้ทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี แล้วอพยพย้ายถิ่นฐานครอบครัวไปอยู่บ้านสามผง ตำบลสามผง อำเภอศรีวันชัย (อำเภอศรีสงคราม) จังหวัดนครพนม ท่านเกิดที่บ้านสามผงหรือบ้านชี้ทวน ยังไม่ทราบแน่ชัด เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๑ ซึ่งเป็นบ้านเดียวกับ พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก และพระอาจารย์วัง ฐิติสาโร แห่งภูลังกา จังหวัดหนองคาย ท่านมีพี่ชายคนหนึ่งเป็นกำนันของตำบลนี้คือกำนันศรีทัศน์ บิดาเป็นคหบดีคนมั่งคั่งในหมู่บ้าน และมีหน้าที่เก็บส่วย

ในวัยเด็ก ท่านเป็นคนค่อนข้างจะหัวดื้อ นิสัยออกจะนักเลง ในงานบุญประจำปีหรือเทศกาลของหมู่บ้าน ช่วงวัยเริ่มย่างเข้าสู่วัยหนุ่มฉกรรจ์ท่านชอบไปทางนักเลงสุรา สะพายบั้งทิงเหล้าหรือกระบอกสุราเหมือนนักเลงเหล้า หลวงพ่อกิ ธมฺมุตฺตโม แห่งวัดสนามชัย บ้านสนามชัย ตำบลโพธิ์ไทร อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ศิษย์ผู้ใกล้ชิดคนหนึ่งของหลวงปู่ทองรัตน์เล่าถึงภูมิหลังของท่าน

การศึกษามูลฐาน ท่านได้รับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนบ้านเกิด

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-19 11:59 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา
      
จากชีวิตคฤหัสถ์ที่สนุกสนานคึกคะนอง ค่อนไปทางนักเลงสุรากลางบ้าน พูดจาโผงผาง พูดขำขันตลกขบขัน และช่วยบิดามารดาทำมาหากินอย่างขยันขันแข็ง จนล่วงเลยวัยเบญจเพศชีวิตของท่านจึงเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์
      
เหตุที่จูงใจที่ทำให้หลวงปู่ทองรัตน์ตัดสินใจออกบวชก็คือ ท่านได้ไปจีบสาวต่างบ้าน สาวนั้นได้เกิดความชอบพอใจขึ้นมา และหลายครั้งได้คะยั้นคะยอให้ท่านนำญาติผู้ใหญ่ไปสู่ขอตามประเพณี ถ้าไม่ไปสู่ขอ สาวเจ้าได้ยื่นคำขาดว่าจะขอหนีตาม ท่านได้คิดอยู่หลายวัน ถ้าจะปล่อยให้สาวหนีตามก็ไม่อยู่ในวิสัยของลูกผู้ชายอย่างท่านจะทำ ถ้าบอกปฏิเสธก็กลัวว่าสาวเจ้าจะเสียใจ และได้ตัดสินใจว่าจะยังไม่ขอแต่งงาน ถ้าขืนอยู่ต่อไปก็คงจะไม่พ้นอยู่ดี ท่านจึงบอกกับบิดาว่า ให้พาไปฝากกับพระอุปัชฌาย์เพื่อบวช บิดาก็ไม่อยากให้บวช เพราะท่านเป็นกำลังสำคัญในบ้าน จึงอยากให้มีครอบครัวมากกว่าให้ออกบวช แต่ก็ต้องยอมตามคำอ้อนวอน และเหตุผลที่ได้อ้างต่อบิดาว่า “ยังไม่อยากมีเมีย” ท่านเคยเล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่า “บวชหนีผู้สาว” (บวชหนีหญิงสาว)

แต่เมื่อหลวงปู่ได้บวชแล้วซาบซึ้งในรสพระธรรม จึงไม่ยอมลาสิกขา หลวงปู่ทองรัตน์ได้บรรพชาเป็นสามเณรแล้วลาสิกขาเป็นเซียงทองรัตน์ มีชีวิตเสพสุขสนุกสนานและช่วยงานการบิดามารดา จนประมาณว่าหลวงปู่อุปสมบทอีกครั้งราวอายุ ๒๖ ปี โดยบวชที่บ้านสามผง มี หลวงปู่คาร คนฺธิโย วัดโพธิชัย ตำบลสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม เป็นพระอุปัชฌาย์ และ พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “กนฺตสีโล” หลวงปู่สนใจและตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัย ปริยัติธรรม ด้วยความเอาใจใส่โดยอยู่ในสายพระวัดบ้านนานถึง ๕ พรรษา จึงเป็นพระปาฏิโมกข์ ที่แตกฉานในการสวดปาติโมกข์
      
ในพรรษาที่ ๖ หลวงปู่เริ่มเบื่อหน่ายต่อการศึกษาปริยัติธรรม นึกเปรียบเทียบการปฏิบัติกับพระธรรมวินัยของตนแล้วดูจะห่างไกลกันมาก ยิ่งมีความสงสัยในการประพฤติปฏิบัติว่าจะไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง อีกทั้งได้ยินข่าวครูบาอาจารย์ในทางวิปัสสนากรรมฐานที่สกลนคร คือ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต และท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ซึ่งพำนักอยู่ที่วัดป่าสุทธาวาส และวัดป่าในละแวกเขตอำเภอโคกศรีสุพรรณ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ว่าเป็นผู้มีคุณธรรมสูง ชำนาญด้านวิปัสสนาธุระ มีประชาชนเคารพเลื่อมใสศรัทธามาก

ดังนั้น ในพรรษาที่ ๖ หลวงปู่ทองรัตน์ได้เดินทางไปจังหวัดสกลนคร เข้านมัสการและขอโอกาสถามปัญหาในข้อวัตรปฏิบัติ ปกิณกะธรรม และวิสุทธิมรรค แล้วขอฝากตัวเป็นศิษย์

หลวงพ่ออวน ปคุโณ (สิริรวมอายุได้ ๖๖ ปี พรรษา ๔๖) แห่งวัดจันทิยาวาส บ้านนามะเขือ ตำบลนามะเขือ อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม ศิษย์ผู้ใกล้ชิดหลวงปู่ทองรัตน์รูปหนึ่ง ได้เล่าถึงการไปศึกษาธรรมของหลวงปู่ทองรัตน์กับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ไว้ว่า ขั้นแรกของการศึกษา หลวงปู่ทองรัตน์ไม่รู้สึกอะไร ภาวนาตามธรรมดา ท่านพระอาจารย์มั่นได้แนะนำว่า รู้ไม่รู้ไม่สำคัญ ขอให้ทำจิตใจให้รู้จักจิตว่าสงบหรือไม่สงบ หลวงปู่ทองรัตน์ได้ออกวิเวกเที่ยวธุดงค์ไปแล้วกลับมาถามท่านพระอาจารย์มั่นอีก โดยถามว่าจิตสงบเป็นอย่างไร ท่านพระอาจารย์มั่นถาม “เท่าที่ทองรัตน์ปฏิบัติทุกวันนี้รู้สึกว่าเป็นแบบใด”

หลวงปู่ทองรัตน์ ตอบว่า “มีเหตุหนักกายหนักใจ ใจฝืดเคืองนัก” ท่านพระอาจารย์มั่นแนะนำว่า “เรื่องที่หนักกายหนักใจนั่น ไม่ใช่เพราะการบำเพ็ญภาวนา แสดงว่ามีความเชื่อมั่นศรัทธาอยู่ในการปฏิบัติอยากทำ แต่ไม่รู้จักวิธีการปฏิบัติให้รักษาจิต รักษาระเบียบวินัย กิจวัตร ข้อวัตรวินัยต้องเข้มงวด ปฏิบัติถึงแล้วก็จะเกิดเมตตา มีเมตตาแล้วแสดงว่ามีศีลบริสุทธิ์ มีศีลบริสุทธิ์แล้วจิตก็สงบ จิตสงบแล้วจะเกิดสมาธิ”

หลวงปู่ทองรัตน์ได้อุบายธรรมปฏิบัติแล้ว ได้กราบนมัสการลาออกหาวิเวกธุดงค์ จนกระทั่งรู้จักสมาธิแล้วจึงมาหาท่านพระอาจารย์มั่น และได้เล่าให้ท่านฟังว่า “ผมรู้จักแล้วสมาธิ” ท่านพระอาจารย์มั่นจึงถามว่าที่ว่ารู้จักนั้น รู้จักแบบไหน หลวงปู่ทองรัตน์ ตอบว่า “รู้จักเมื่อเป็นสมาธิแล้วก็เบากาย เบาจิต” ท่านพระอาจารย์มั่นได้แนะนำต่อว่า จิตสงบแล้วก็ให้พิจารณาขันธ์ ๕ ให้รู้จักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หลวงปู่ทองรัตน์จึงได้ออกวิเวกธุดงค์ไปตามหุบห้วยภูผาป่าช้าต่างๆ ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระผู้เป็นบูรพาจารย์ เช่น ห้ามเทศน์เด็ดขาด ให้ระวังสำรวม ให้อยู่ตามต้นไม้ อยู่ป่า สหธรรมิกที่มีอุปนิสัยต้องกันในระหว่างจำพรรษาอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่น คือ หลวงปู่มี ญาณมุนี แห่งวัดป่าสูงเนิน (วัดญาณโสภิตวนาราม) อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา
     
หลวงพ่อกิ ธมฺมุตฺตโม เล่าถึงหลวงปู่ทองรัตน์ไว้ว่า นอกจากท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต แล้ว หลวงปู่ทองรัตน์ท่านเคารพนับถือท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล เป็นอาจารย์อีกรูปหนึ่ง ซึ่งท่านกล่าวถึงมากที่สุดเมื่อออกธุดงค์ใหม่ๆ ในพรรษาที่ ๗ กับหลวงปู่มี ญาณมุนี ได้มีญาติโยมมาสนทนาธรรมและขอฟังเทศน์จากท่าน หลวงปู่ก็มักจะบ่ายเบี่ยงว่าเราบวชน้อย อายุพรรษาไม่มาก ครูบาอาจารย์ยังไม่ให้เทศน์
      
หลวงปู่ทองรัตน์ท่านเป็นผู้เคร่งครัดในข้อวัตรปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง ท่านเป็นผู้มักน้อยสันโดษ และปฏิบัติมาก ถือการอยู่ป่าตามโคนต้นไม้ บางทีท่านเอาศรีษะหนุนโคนต้นไม้ บางทีนอนหนุนกิ่งไม้มัดรวมกับใบไม้หรือบางทีก็เอาฟางข้าวญาติโยมมัดเป็นหมอนหนุน บางครั้งนั่งสมาธิกลางป่าไม่มีมุ้ง บางทีได้กระบอกน้ำก็สะพายปลีกตัวขึ้นไปอยู่รูปเดียวหลังภูเขา พยายามพากเพียรภาวนาอยู่อย่างสม่ำเสมอ
      

พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก


พระอาจารย์วัง ฐิติสาโร
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-19 12:00 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ความมักน้อย และความเคร่งครัดต่อพระธรรมวินัย ไม่ใช้สิ่งของที่เขาไม่ถวาย และไม่ออกปากขอเพราะถือว่าเขาไม่ใช่ญาติโยม เมื่อไม่มีด้ายและผ้าเอามาปะชุนผ้าจีวร ท่านได้หาหนามและไม้ป่ามาเย็บสอดยึดส่วนที่ขาดเอาไว้ ครั้งหนึ่งผ้าจีวรขาดจนไม่สามารถหาอะไรมายึดไว้ได้ หลังจากกลับจากธุดงค์ท่านเข้าไปนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ขอลากลับบ้านสามผง จะไปขอผ้ามาทำจีวร ท่านพระอาจารย์มั่นทรมานจิตของท่านโดยกล่าวว่า “อยากจะได้ธรรมไม่ใช่เหรอจึงมาบวช จะแสวงหาธรรมะมันไม่ใช่ของง่าย” และท่านพระอาจารย์มั่นยังพูดต่ออีกว่า “ไม่ใช่คิดถึงบ้านหรือ ถ้ามัวมาคิดถึงบ้านจะไปถึงไหน ทำความเพียรให้มาก จะได้เห็นธรรมเร็วขึ้น”

ท่านพระอาจารย์มั่นแนะนำให้ไปปฏิบัติธรรมที่ถ้ำพระบทว่าจะสำเร็จเร็วขึ้น
      
หลวงปู่ทองรัตน์ เรียนว่า ถ้ำพระบทนั้นได้ยินว่า พระรูปใดไปแล้วมีแต่ตายกับตายไม่เคยกลับมา ที่กลับมามีแต่เป็นล่อย ล่อย (เป็นห้อย) ทั้งนั้น
      
ต่อมา ท่านได้เดินทางไปถ้ำพระบท ซึ่งขึ้นชื่อว่าเจ้าที่แรง โดยไปบำเพ็ญภาวนาจำพรรษาอยู่รูปเดียว ในเดือน ๑๐ ขึ้น ๑๕ ค่ำ หลวงปู่ได้นั่งสมาธิสงบนิ่งอยู่ในถ้ำ ในกลางดึกได้ยินเสียงอึกทึกครึกโครมเหมือนเสียงฝูงสัตว์และคนจำนวนมากวิ่งอยู่บนภูเขาทั้งลูกเหนือน้ำ ภูเขาทั้งลูกสั่นสะเทือนไปทั่ว มีเสียงหวีดร้องคล้ายสัตว์และคน

หลวงปู่เล่าให้ศิษย์ฟังว่า หลวงปู่ขนลุก ผมบนศรีษะตั้งอยู่หลายวัน ตั้งใจอยากจะออกไปดู แต่ก็นั่งเป็นสมาธิสงบระงับอยู่อย่างนั้น และความคิดหนึ่งก็โต้แย้งว่า ไม่ใช่ธุระอะไรของเรา เรื่องของเขาจะเป็นอะไรก็อยู่ต่างหาก เรื่องของเราเราก็อยู่ต่างหาก เมื่อตั้งสติได้มั่นแล้ว ทำให้เกิดความสงบเยือกเย็น เบิกบาน ไม่มีความกลัวใดๆ และความกลัวตอนแรกๆ หายไปหมดสิ้น มีความรู้สึกใหม่เกิดขึ้นคือ อยากเทศน์อยากจะโปรดสัตว์ทั้งหลาย มันเหมือนว่าแม้จะมีด้ายมาเย็บปากไว้ด้ายก็จะขาด มันอยากจะเทศน์โปรดคนทั้งโลก อยากไปเทศน์ประเทศใกล้เคียงทั้งพม่า มาลายู จึงนั่งเทศน์อยู่คนเดียวเป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน ไม่ได้อยู่ไม่ได้นอน ญาติโยมที่อยู่หมู่บ้านใกล้ภูเขาเห็นท่านไม่ไปบิณฑบาตหลายวัน คิดว่าคงมีอะไรเกิดขึ้นกับท่าน และได้ขึ้นมาดู ท่านจึงรู้สึกตัว
      
วันต่อมาหลังจากรู้สึกตัว หลวงปู่ท่านได้ลงไปบิณฑบาต เนื่องจากไม่ได้นอน ๗ วัน ๗ คืน ตาจึงแดงก่ำไปหมดทั้ง ๒ ตา ญาติโยมทักว่า อาจารย์ป่วยหรือ ตาจึงแดง ท่านตอบโยมไปว่า สบายดี ญาติโยมถามต่อไปว่า ท่านฉันอาหารได้ดีอยู่หรือ ท่านตอบว่า ฉันได้ดีอยู่ แต่พอถึงเวลาฉันเนื่องจากไม่ได้ฉันมาหลายวัน ร่างกายไม่รับอาหาร ฉันได้ ๒-๓ คำ จึงได้รู้สึกตัวว่าได้โกหกญาติโยมไปแล้ว จึงได้ตั้งสติใหม่ และตั้งจิตให้มั่นคง จิตจึงได้กลับเป็นปกติและเกิดความสงบเยือกเย็นเบิกบาน
      
เมื่อออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ได้เดินทางกลับไปนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น และได้เล่าเหตุการณ์ให้ท่านฟัง ท่านพระอาจารย์มั่นบอกว่า จิตท่านกับจิตเราเท่ากันแล้ว ต่อไปท่านอยากจะเทศน์ก็เทศน์
      
หลวงปู่ทองรัตน์ท่านเป็นพระที่ไม่ยึดติดในเสนาะสนะ ชอบสันโดษ จำพรรษาแต่ละแห่งไม่นานมักจะย้ายวัด หรือออกธุดงค์ตามป่าเขาเป็นส่วนใหญ่ ในพรรษาต่อๆ มา ท่านได้ธุดงค์ไปถึงประเทศพม่ากับพระอาจารย์มี นอกจากนี้ก็ยังธุดงค์ไปทั่วภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลาง


พระอาจารย์ชา สุภทฺโท

      
ด้านอุปนิสัยของหลวงปู่ทองรัตน์ ท่านเป็นผู้มีอารมณ์ขัน พูดจาโผงผาง เสียงดังกังวาน ลูกศิษย์ลูกหายำเกรง ท่านมีนิสัยทำอะไรแผลงๆ แปลกๆ พระอาจารย์ชา สุภทฺโท ซึ่งนับถือหลวงปู่ทองรัตน์เป็นพระอาจารย์ของท่านรูปหนึ่ง เคยเล่าให้ศิษย์ฟังถึงหลวงปู่ทองรัตน์เสมอในความเคารพที่ท่านมีต่อพระอาจารย์ ความชื่นชอบปฏิปทาที่ห้าวหาญ อีกทั้งปัญญาบารมี และอารมณ์ขันของท่าน เป็นต้นว่า เมื่อไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ท่านไปหยุดยืนที่หน้าบ้านหลังหนึ่ง เมื่อเจ้าของบ้านเหลือบมาเห็นพระ ก็ร้องว่า “ข้าวยังไม่สุก”
      
แทนที่หลวงปู่ทองรัตน์จะเดินทางจากไป ท่านกลับร้องบอกว่า “บ่เป็นหยังดอกลูก พ่อสิท่า ฟ่าวๆ เร่งไฟเข้าเด้อ” (ไม่เป็นไรลูก พ่อจะคอย เร่งไฟเข้าเถอะ)
      
ระหว่างพำนักอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นและไม่ค่อยได้ฟังเทศน์ หลวงปู่ทองรัตน์ก็มีอุบายหลายอย่างที่ทำให้ท่านพระอาจารย์มั่นต้องแสดงธรรมให้ฟังจนได้ อย่างเช่นครั้งหนึ่งไปบิณฑบาต ท่านก็เดินแซงหน้าท่านพระอาจารย์มั่น แล้วก็ควักเอาแตงกวาจากบาตรออกมากัดดังกร้วมๆ และอีกครั้งหนึ่งท่านไปส่งเสียงเหมือนกำลังชกมวย เตะถึงต้นเสาอยู่อย่างอุตลุดใต้ถุนกุฏิท่านพระอาจารย์มั่นนั่นเอง ในขณะที่เพื่อนสหธรรมิกต่างก็กลัวกันหัวหด ผลก็คือตกกลางคืนลูกศิษย์ลูกหาต่างก็ได้ฟังเสียงท่านพระอาจารย์มั่นอบรมด้วยเทศน์กัณฑ์ใหญ่ทั้ง ๒ ครั้ง
      
พระอาจารย์ชา เล่าว่า หลวงปู่ทองรัตน์เป็นผู้อยู่อย่างผ่อนแผ่จนกระทั่งวาระสุดท้าย เมื่อท่านมรณภาพนั้น ท่านมีสมบัติในย่ามคือมีดโกนเพียงเล่มเดียวเท่านั้น
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-19 12:01 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

หลวงปู่กินรี จนฺทิโย
      
หลวงปู่กินรี จนฺทิโย ศิษย์ต้นรูปแบบผู้ใกล้ชิดที่สุด ได้เล่าถึงหลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล ว่า เป็นพระอาจารย์ผู้เฒ่าที่มีปฏิปทาสูงยิ่ง ท่านมีความรู้ความสามารถเก่งกาจเฉพาะตัว เป็นนายทัพธรรมที่พระอาจารย์มั่นท่านไว้วางใจที่สุด นิสัยของหลวงปู่ทองรัตน์นี้ท่านมีความห้าวหาญและน่าเกรงกลัวยิ่งนัก ซึ่งในบางครั้งกิริยาท่าทางออกจะดุดัน วาจาก้าวร้าว แต่ภายในจิตใจจริงๆ ของท่านนั้นไม่มีอะไร

หลวงปู่กินรี กล่าวต่อไปว่า มีอยู่คราวหนึ่งในท่ามกลางพระภิกษุสงฆ์สานุศิษย์ของท่านพระอาจารย์มั่น ซึ่งก็มีหลวงปู่ทองรัตน์รวมอยู่ในที่นั้นด้วย ท่านพระอาจารย์มั่นมองดูหลวงปู่ทองรัตน์แล้วเรียกขึ้นว่า “ทองรัตน์” หลวงปู่ทองรัตน์ประนมมือแล้วขานรับอย่างนอบน้อมว่า “โดย” (คำว่า “โดย” เป็นภาษาอีสาน ซึ่งแปลว่า “ขอรับกระผม” เป็นคำสุภาพอ่อนน้อมที่สุดสำหรับคฤหัสถ์และพระผู้น้อยนิยมใช้พูดกับพระภิกษุหรือพระเถระผู้ใหญ่ ซึ่งมักจะใช้กิริยาประนมมือไหว้ระหว่างอกควบคู่ไปด้วย)
      
ท่านพระอาจารย์มั่น จึงพูดต่อไปว่า “เดี๋ยวนี้พระเราไม่เหมือนกับเมื่อก่อนนะ เครื่องใช้ไม้สอย สบู่ ผงซักฟอกอะไรๆ มันหอมฟุ้งไปหมดแล้วนะ !” หลวงปู่ทองรัตน์ประนมมือรับแล้วกล่าวตอบอีกว่า “โดย” (ขอรับกระผม) ต่อมาขณะที่หลวงปู่ทองรัตน์นั่งอยู่ที่แห่งหนึ่ง มีกลุ่มพระภิกษุ ๒-๓ รูป เดินผ่านท่านไป หลวงปู่ทองรัตน์จึงร้องตะโกนด้วยเสียงอันดังว่า “โอ๊ย...หอมผู้บ่าวโว้ย !” (ผู้บ่าว แปลว่า ชายหนุ่ม บ่าวเป็นคำไทยแท้ ภาษาอีสาน นิยมเรียกว่า “ผู้บ่าว”) ในที่นี้เป็นวิธีการอย่างหนึ่งของหลวงปู่ทองรัตน์ที่ใช้สำหรับสั่งสอนสานุศิษย์ของท่าน

หลวงปู่กินรี ได้เล่าต่อว่า คราวใดที่หลวงปู่ทองรัตน์ไปกราบฟังธรรมท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ท่ามกลางหมู่สงฆ์ ท่านพระอาจารย์มั่นมักชอบเอ่ยชื่อและยกตัวอย่างท่านให้พระเณรฟังบ่อย และมีบางครั้งท่านได้รับคำสั่งให้ตรวจดูพฤติกรรมของพระเณรที่นอกลู่นอกทางพระธรรมวินัย จึงเป็นเหตุให้พระเณรเกลียดชังท่าน หลวงปู่ทองรัตน์เป็นคนไม่เกรงกลัวใคร ตรงไปตรงมาตามธรรมวินัยสม่ำเสมอ

หลวงพ่ออวน ปคุโณ ได้เล่าต่อว่า หลวงปู่ทองรัตน์เตือนสติพระเณรผู้กำลังจะพลั้งเผลอต่อพระธรรมวินัย ซึ่งผลที่จะตามมาคือความเศร้าหมองเอง แต่ละองค์ละท่านอยากฟังพระธรรมเทศนาเป็นแนวปฏิบัติแต่องค์ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านก็ทรมานพระเณรด้วยการไม่อบรมไม่เทศนา จนพระเณรทนไม่ไหว จึงไปกราบเรียนหลวงปู่ทองรัตน์ ทำอย่างไรถึงจะได้ฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์มั่นสักที

“อยากฟังอีหลีบ้อ” (อยากฟังจริงๆ หรือ)
           
“พวกขะน้อยมาปฏิบัติกับพ่อแม่ครูบาอาจารย์ตั้งดนตั้งนาน แต่บ่เห็นครูบาจารย์เพิ่นสอนอีหยัง จนขะน้อยสิใจออกหนี เมื่อแหล่วไล้ขะน้อย” (พวกกระผมปฏิบัติกับท่านพระอาจารย์มั่นตั้งนานนมแล้ว ยังไม่เห็นองค์ท่านเทศน์สอนข้าน้อยเลย กระผมคิดเปลี่ยนใจลากลับแล้ว ขอรับกระผม)

“บ่ยากตั๋ว  เดี๋ยวมื่อแลงกะได้ฟังเทศน์เพิ่น” (ไม่ยาก เดี๋ยวตอนเย็นก็ได้ฟังท่านเทศน์)

หลวงปู่ทองรัตน์รับปาก หลังจากนั้นเมื่อถึงเวลาออกรับบิณฑบาต และวันนี้มีโยมนำแตงกวามาใส่บาตร ขณะเดินตามท่านพระอาจารย์มั่น ท่านได้ล้วงแตงกวามากัดเคี้ยวกินเฉย เมื่อท่านพระอาจารย์มั่นหันมาดูก็ปิดปากไว้ เมื่อท่านหันกลับก็เคี้ยวต่อ ผลตอนเย็นท่านพระอาจารย์มั่นเทศน์ให้พระเณรฟังสมปรารถนา


พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)
      
อยู่มาวันหนึ่ง หลวงปู่ทองรัตน์ได้เป็นปัจฉาสมณะ (สมณะผู้ตามหลังคือพระผู้น้อยที่ไปกับพระผู้มีอาวุโสกว่า) ท่านได้ติดตามไปกับพระมหาเถระรูปหนึ่งในการเที่ยวภิกขาจารบิณฑบาต จะเป็น ท่านพระอาจารย์มั่น หรือ ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) องค์ใดนั้นไม่ทราบชัด พร้อมด้วยพระภิกษุ-สามเณรอีกหลายรูป ในเส้นทางที่เดินไปนั้น ท่านพระมหาเถระเดินหน้าพระภิกษุทั้งหลายเดินหลัง เผอิญมาถึงที่แห่งหนึ่ง ก็มีวัวตัวผู้ตัวหนึ่งปราดเข้ามาต่อหน้าท่านพระมหาเถระ ท่าทางของมันบอกให้รู้ว่าไม่เป็นมิตรกับใคร

ท่านพระมหาเถระจึงสำรวมจิตหยุดอยู่กับที่ โดยที่ไม่มีใครคาดฝันมาก่อน หลวงปู่ทองรัตน์ก็เดินรี่เข้าเตะวัวตัวนั้นอย่างแรงทีหนึ่ง พร้อมกับพูดด้วยเสียงอันดังว่า “สู้พ่อมึงรึ !” วัวตัวนั้นตกใจได้วิ่งหลบหนีไปในทันที ท่านพระมหาเถระซึ่งดูเหมือนจะเป็นท่านพระอาจารย์มั่นจึงพูดขึ้นว่า “เออ ! ทองรัตน์...ไม่มีใครเขาจะคิดป้องกันเราหรอก”

5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-19 12:02 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล


ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต

      
อีกครั้งหนึ่งเกี่ยวกับปฏิปทาในการสอนศิษย์ของหลวงปู่ทองรัตน์ เรื่องมีอยู่ว่า เวลากลางคืนคืนหนึ่ง พระผู้ชรารูปหนึ่งกำลังนั่งทำสมาธิภาวนาอยู่นั้น “อุคหนิมิต” ได้เกิดขึ้นแก่พระชรารูปนั้น เมื่อเกิดอุคหนิมิตขึ้น ปรากฏว่าพระภิกษุชรารูปนั้นก็ได้เห็นร่างของท่านในนิมิตกลายเป็นบ่างตัวขนาดเขื่องเลยทีเดียว (บ่าง คือ สัตว์สี่เท้าชนิดหนึ่งตัวคล้ายกระรอก โตเกือบเท่าค่างอยู่ตามโพรงไม้ สีข้างทั้งสองมีหนังเป็นพืดคล้ายๆ ปีก ไผไปมาได้ไกลๆ) บ่างนั้นได้โผบินไปมาระหว่างต้นมะพร้าวในสวนแห่งหนึ่ง มันเป็นอาการอย่างนั้นอยู่ตลอดคืน

พระชรารูปนั้นทำสมาธิเกิดอุคหนิมิตอยู่ จนอรุณรุ่งอาการเหล่านั้นมันยังติดตามติดใจไม่หาย แม้จะลุกออกจากที่ไปเที่ยวบิณฑบาตแล้วก็ตาม ทำให้เกิดปิติพร้อมๆ กับความสงสัยในอาการแห่งนิมิตเหล่านั้น เดินบิณฑบาตไปใจก็ยังครุ่นคิดถึงเรื่องนั้นอยู่ตลอดเวลา และก็ยังไม่ได้เล่าให้ใครฟังทั้งนั้น ตั้งใจว่าวันนี้ฉันข้าวเสร็จแล้วจึงจะเข้าไปให้ท่านครูบาจารย์ทองรัตน์แนะนำ พอพระบิณฑบาตมาถึงวัด ก็เดินไปที่โรงฉันอันเป็นที่ซึ่งพระเณรจะมาฉันภัตตาหารรวมกันที่นี่ทุกเช้า พอเดินมาถึงโรงฉันเท่านั้น ก็พลันได้ยินท่านครูบาจารย์ทองรัตน์ร้องตะโกนใส่ท่านทันทีด้วยเสียงอันดังฟังชัดว่า “เฮ้ยบ่างใหญ่มาแล้วโว้ย !”

นิมิต คือ เครื่องหมายสำหรับให้จิตกำหนดในการเจริญกรรมฐาน ภาพที่เห็นในใจของผู้เจริญกรรมฐานหรือภาพที่เป็นอารมณ์กรรมฐานมี ๓ อย่าง คือ
      
(๑) บริกรรมนิมิต คือ นิมิตในการกำหนด (บริกรรม) คือ การที่ภิกษุเพ่งดูวัตถุหรือกสิณอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอารมณ์ในการภาวนา สิ่งที่เพ่งนั้น เรียกว่า บริกรรมนิมิต
      
(๒) อุคหนิมิต แปลว่า นิมิตเจนใจ คือ ภิกษุเพ่งดูวัตถุใด หรือกสิณใดเป็นอารมณ์ดังกล่าวมาแล้ว จะสามารถทำได้จนเจนใจ แม้จะหลับตาลงก็ยังสามารถมองเห็นวัตถุหรือกสิณนั้นได้ติดตา ภาพที่ติดตาติดใจนั้นเรียกว่า อุคหนิมิต
      
(๓) ปฏิภาคนิมิต แปลว่า นิมิตเทียบเคียง คือ เมื่อภิกษุเพ่งในนิมิตที่สองคืออุคหนิมิตดังกล่าวแล้ว สามารถปรุงแต่งดัดแปลงให้นิมิตนั้นใหญ่เล็กก็ได้ตามปรารถนานิมิตอย่างนี้เรียกว่า ปฏิภาคนิมิต
   
ยังมีเรื่องที่ค่อนข้างจะขบขันอีกหลายเรื่อง ที่เกี่ยวกับปฏิปทาของหลวงปู่ทองรัตน์  กนฺตสีโล ผู้เป็นอาจารย์ของหลวงปู่กินรี จนฺทิโย ซึ่งมีเรื่องเล่ากันว่า ครั้งหนึ่งหลวงปู่ทองรัตน์พำนักอยู่ที่ป่าช้าใกล้หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ชาวบ้านส่วนมากเป็นมิจฉาทิฏฐิ (มีความเห็นผิดไปจากความถูกต้อง) แต่คนที่ดีก็มีอยู่ พวกที่เห็นผิดส่วนมากมักจะเข้าใจว่าท่านเป็นบ้า และจงเกลียดจงชังท่านด้วย เพราะเหตุว่าวิธีการสอนธรรมะของท่านค่อนข้างจะดุเดือดเผ็ดร้อน ประกอบกับท่านมักจะเน้นหนักคำสอนไปในเรื่องการให้ทาน ซึ่งชาวบ้านพวกที่ชอบการกินเล่นสนุกเฮฮาและประพฤติผิดศีลธรรมทั้งหลาย ขัดอกขัดใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ดังนั้น ในตอนเช้าวันหนึ่งขณะที่หลวงปู่ทองรัตน์เที่ยวบิณฑบาต มีคนหลายคนใส่บาตร ซึ่งของที่ใส่นั้นก็มีข้าวเหนียวนึ่งเป็นหลัก นอกนั้นก็มีห่อหมกที่ห่อด้วยใบตองและผลไม้พื้นบ้านอีกบ้างต่างๆ กันไป เมื่อกลับมาถึงวัดเข้าสู่โรงฉัน สามเณรก็ประเคนบาตรให้ท่าน พอหลวงปู่ทองรัตน์หยิบห่อหมกห่อหนึ่งออกมาแกะดู ปรากฏว่ามีกบเป็นๆ ตัวใหญ่ตัวหนึ่งกระโดดออกจากข้างในบาตรของท่านทันที หลวงปู่ทองรัตน์ถึงกับร้องออกมาอย่างดังทันทีเหมือนกันว่า “เฮ้ย...เกือบไหมละอ้ายหนู เขาเกือบฆ่าเอ็งมาใส่บาตรข้าเสียแล้ว” เสียงร้องและสีหน้าของท่านปราศจากแววบึ้งตึง ท่านกลับหัวเราะชอบใจอีกเสียด้วยซ้ำ


ภาพเขียนจำลองเหตุการณ์...กบเป็นๆ ตัวใหญ่ตัวหนึ่ง
กระโดดออกจากข้างในบาตรของหลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล



ถ้าจะเปรียบไปแล้ว แนวทางและวิธีการสอนธรรมของหลวงปู่ทองรัตน์นี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับพระอาจารย์เซ็นผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย เช่น มาสเตอร์ฮวงโป ผู้ชอบใช้ไม้เท้าตีศิษย์อยู่เป็นอาจิณ เป็นต้น

มีเรื่องที่ค่อนข้างดุอยู่เรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในขณะการเที่ยวโคจรบิณฑบาตอีกเหมือนกัน มีโยมคนหนึ่งนิมนต์หลวงปู่ทองรัตน์ให้หยุดรอเพื่อจะใส่บาตร หลวงปู่ทองรัตน์ก็หยุด สักครู่โยมคนนั้นก็มาใส่บาตร ของที่ใส่คือข้าวเหนียวอย่างเดียว ไม่มีแกงกับ ทันทีที่ใส่แล้วหลวงปู่ทองรัตน์ก็พูดออกมาด้วยน้ำเสียงที่ค่อนข้างดุว่า “บ๊ะ...เห็นแต่หมาหรอกวะกินแต่ข้าวในดอก” ว่าแล้วท่านก็เดินต่อไป  “ข้าวในดอก” เป็นคำพูดตรงๆ อ้างถึงเมล็ดข้าวที่ยังอยู่ในดอกในรวง เป็นสำนวนพูดทางอีสานหมายถึง ข้าวเปล่าๆ อย่างเดียวไม่มีแกงหรือกับ

โยมคนนั้นก็บันดาลโทสะถึงขนาดกล่าวคำผรุสวาทแก่ท่าน แต่ท่านครูบาจารย์ผู้เฒ่าหรือหลวงปู่ทองรัตน์หาได้สนใจไม่ กลับเดินต่อไปเฉยๆ เสียอย่างนั้นเอง โยมคนนั้นเดือดดาลมาก กลับขึ้นเรือนแล้วก็ยังไม่หายโกรธ อารมณ์โกรธลงจากเรือนฉวยได้คันไถแล้วรีบไปนา เที่ยงวันทำงานหนักก็หิวข้าว จึงพักงานไถไว้แล้วจะมากินข้าว ครั้นหยิบกระติบข้าว ก็พอนึกขึ้นได้ว่าลืมเอากับข้าวมาด้วย ครั้นจะกลับไปเอารึบ้านก็ไกล จึงจำเป็นจำยอมต้องกินข้าวเปล่าๆ ที่หลวงปู่ทองรัตน์ท่านเรียกว่า “ข้าวหมา” นั่นแหละ พอถึงตอนนี้แกจึงสว่างโพล่งขึ้นในใจ มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ มันเหมือนหมาจริงๆ ข้าวเปล่านี้มันไม่มีรสชาติเอาเสียเลย เราเป็นหมาเสียแล้ววันนี้ นับตั้งแต่วันนั้นมา โยมคนนั้นก็เรียกหลวงปู่ทองรัตน์ได้เต็มปากเต็มคำว่า “พระอาจารย์ผู้วิเศษ” จึงได้กราบเท้าขอขมาลาโทษท่าน และได้เป็นศิษย์ผู้ใกล้ชิดของท่านคนหนึ่งในเวลาต่อมา

เรื่องของหลวงปู่ทองรัตน์ ผู้เป็นอาจารย์ของหลวงปู่กินรีนี้ ยังมีอยู่อีกมากมายนัก เช่น ในคราวหนึ่งซึ่งเป็นขณะที่ พระอาจารย์ชา สุภทฺโท แห่งวัดหนองป่าพง ตำบลโนนผึ้ง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ท่านเดินธุดงค์รอนแรมไปตามป่าเขาในเขตจังหวัดต่างๆ อยู่นั้น พอพระอาจารย์ชาได้ยินกิตติศัพท์ของหลวงปู่ทองรัตน์ จึงตั้งใจจะไปกราบคารวะและรับโอวาทธรรมจากท่าน ขณะอยู่ที่วัดป่าบ้านชีทวน อำเภอเขื่องใน อีกทั้งยังไม่เคยเห็นจะได้เห็นท่าน เมื่อพระอาจารย์ชาได้เดินทางมาถึงวัดของหลวงปู่ทองรัตน์ จึงได้ปลดบาตร ย่าม และลดจีวรลง แล้วถอดรองเท้าเดินเข้าไปในอารามตามธรรมเนียมในอาคันตุกวัตรทุกประการ พระอาจารย์ชาได้พบกับพระภิกษุรูปหนึ่งที่หลวงปู่ทองรัตน์บอกให้มาต้อนรับ จึงถามว่า “ครูบาจารย์ผู้เฒ่าอยู่ไหน ?”

พระรูปนั้นได้ชี้นิ้วไปอีกทางหนึ่งเป็นเครื่องหมายว่าหลวงปู่ทองรัตน์อยู่ที่โน่น พระอาจารย์ชาจึงวางบริขารแล้วเดินตรงไปหา ซึ่งขณะนั้นหลวงปู่ทองรัตน์กำลังยืนเอามือถือไม้กวาดอยู่ พอไปถึง กำลังจะคุกเข่าก้มลงกราบ หลวงปู่ทองรัตน์ก็เหลียวมามองหน้า พร้อมกับชิงถามขึ้นก่อนว่า “ชามาแล้วหรือ ?” ทำเอาพระอาจารย์ชารู้สึกแปลกใจที่ท่านกล่าวเรียกชื่อได้ถูกต้องทั้งที่ไม่เคยเจอกันมาก่อน
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-19 12:03 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

รูปภาพของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต-หลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล

      
หลวงปู่ทองรัตน์เที่ยวธุดงค์สู่ประเทศลาวบ่อยๆ ครั้งหนึ่งหลวงพ่ออวน ปคุโณ ได้ธุดงค์ติดตามไปกับหลวงปู่กินรี จนฺทิโย เพื่อกราบคารวะที่บริเวณดอนพระเจ้า บ้านบุ่งแมง ใกล้บ้านแพงริมฝั่งโขง ซึ่งหลวงปู่ทองรัตน์ได้มาพำนักปฏิบัติธรรมที่นี่มากกว่า ๗ วันแล้ว จึงทราบเรื่องอัศจรรย์ของหลวงปู่ว่า มีนายฮ้อยช้างได้นำช้างโขลงหนึ่ง ๑๖ ตัว เดินทางผ่านจะไปเวียงจันทน์ เมื่อมาถึงป่าบริเวณดอนพระเจ้า ให้ช่วยทำพิธีขอขมากราบคารวะพวกภูมิภูตผีต่างๆ ในโขงเขตนี้ โขลงช้างก็ยังใช้งวงกอดรัดต้นไม้อยู่เหมือนเดิม

ชาวบ้านจึงแนะนำให้นายฮ้อยช้างไปกราบคารวะหลวงปู่ทองรัตน์ หลวงปู่กล่าวว่าไม่ใช่เรื่องของพ่อ แต่ว่าช้างมันหิว นายฮ้อยช้างตอบว่าพวกกระผมเพิ่งให้พักและเลี้ยงอาหารมาอิ่มใหม่ๆ ขอได้กราบนมัสการหลวงปู่แล้วยกขันธ์ ๕ นมัสการ เมื่อเดินทางไปยังโขลงช้าง เห็นช้างกินใบไม้อยู่ตามปกติ ลูกศิษย์จึงนมัสการถามหลวงปู่กินรี ท่านบอกว่าเป็นอภินิหารของหลวงปู่ทองรัตน์เพราะเคยเห็นเคยรู้จักมาหลายครั้งที่เดินธุดงค์ร่วมกันมากว่า ๕ ปี
     
หลวงปู่กินรี กล่าวตอบว่า หลวงปู่ทองรัตน์อยู่คนเดียวก็มีการแสดงธรรม โดยส่วนมากจะเป็นเวลากลางดึกที่สานุศิษย์ได้พักผ่อนจำวัดแล้ว แต่ท่านยังมีการเทศน์ มีเสียงการถามการตอบปัญหาคล้ายกับมีคนไปถามปัญหาตอบปัญหา หลวงปู่กินรีคิดว่าท่านมีอะไรสำคัญอยู่กับตัวท่าน คล้ายกับมีเทวดามาถามปัญหา จึงแสดงธรรมแก้ปัญหาข้อธรรมคำถามต่างๆ

หลวงพ่ออวน ปคุโณ ได้เล่าถึงหลวงปู่ทองรัตน์ไว้ว่า ไม่มีวัดอยู่ อยู่ร่มไม้ กระท่อมไม้ตลอด เป็นกุฏิกระต๊อบเพียงเพื่ออาศัยอยู่สัปดาห์เดียว เพราะท่านรักการเดินธุดงค์บริขารบาตรใบเดียวตั้งแต่บวชจนมรณภาพ สันโดษมักน้อยที่สุด นิสัยอย่างหนึ่งคือไม่ยอมให้ลูกศิษย์ติดตามหรืออยู่ใกล้ พบศึกษาข้อธรรมแล้วให้แยกหนี

กุฏิที่ชาวบ้านศรัทธาสร้างให้สวยๆ จะไม่ฉลองศรัทธา ซึ่งยังตำหนิว่าคนไม่มีปัญญา ชอบกุฏิที่สร้างวันเดียวเสร็จ ไม่รักสวยรักงามให้ทำง่ายๆ เพราะไม่นานก็ธุดงค์ไป หลวงปู่เคยจำพรรษาระหว่างฝั่งโขง-บ้านสามผง บ้านพงพะเนา บ้านศิริวันชัย อำเภอศรีสงคราม นครพนม บ้านดงชน บ้านดงมะเกลือ และบ้านไผ่ล้อม บ้านโนนหอม อำเภอเมือง สกลนคร อุดรธานี นครราชสีมา อุบลราชธานี แขวงจำปาศักดิ์ และเขมรตอนบน
      
หลวงพ่ออวน ได้เล่าต่อว่า ที่วัดป่าผาศรีคุณ อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม มีคนเอากบมีชีวิต ไก่มีชีวิต แม้กระทั่งขี้ควายใส่บาตรท่าน ด้วยสำคัญผิดคิดว่าท่านเป็นพระมักได้ ชาวอำเภอนาแกบางคนไม่ชอบทำบุญ หลวงปู่ทองรัตน์มีเมตตาสูงส่งอยากให้ได้บุญ จึงตะแคงบาตรรับบิณฑบาตของญาติโยม แหล่งชุมชนที่ไม่ชอบให้ทานไม่อยากทาน ยิ่งชอบไปโปรดมากๆ แม้ผ้ากฐินที่ท่านนำมาเย็บเป็นจีวร ยังถูกทำลายฉีกทิ้งขณะที่ไปบิณฑบาต ญาติโยมบางคนเกลียดชังท่าน ท่านพูดคล้ายดุแต่ใจไม่ดุ
      
พระอาจารย์คำดี พระผู้น้องของหลวงปู่มี แห่งอำเภอหนองไผ่-วีเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่เป็นชาวยโสธรผู้อยู่ร่วมและปรนนิบัติหลวงปู่ทองรัตน์ ตั้งแต่ครั้งอยู่จังหวัดสกลนครเรื่อยมาจนถึงอุบลราชธานี ท่านได้เล่าให้ฟังว่า อุปนิสัยของท่านครูบาจารย์น่าเกรงกลัวมาก กิริยาท่าทางดุ วาจาโผงผาง เสียงดัง ลูกศิษย์อยู่ด้วยได้ไม่นาน ยิ่งผู้ปฏิบัติหย่อนยาน ไม่ซื่อตรงต่อตนเอง หลอกลวงตัวเอง มีภูมิจิตภูมิธรรมไม่ก้าวหน้า ปฏิบัติธรรมฝึกจิตบางขณะเวลา ต้องโดนเล่นภูมิจิต โดนทดสอบอารมณ์ ตรวจสอบอารมณ์อยู่ตลอดเวลาว่า ยินดียินร้ายในรูปรสกลิ่นเสียงหรือไม่ ลูกศิษย์เกือบทุกคนจึงกลัวท่านครูบาจารย์ทองรัตน์มาก

พระอาจารย์คำดี เล่าต่อว่า ท่านครูบาจารย์ทองรัตน์มักใช้คำว่า “พ่อ” กับลูกศิษย์ การที่จะอยู่กับท่านครูบาจารย์ได้นานนั้น จิตต้องภาวนาอยู่ตลอดเวลา จดจ่อต่อธรรมะ จิตส่ายออกทางโลกธรรมไม่ได้ เพราะท่านเฝ้าตรวจสอบการปฏิบัติจิตของลูกศิษย์อยู่เสมอ พอท่านเรียกจิตเราจะต้องรู้ความประสงค์ของท่านแล้วปฏิบัติถวายท่าน พระอาจารย์คำดีคือท่านที่อยู่ป่าช้านาป่าคอง อำเภอนาแก ที่พระอาจารย์ชาได้ไปสนทนาธรรม ขออุบายธรรม การปฏิบัติธรรมอยู่ป่าช้า ซึ่งเป็นนิสัยปกติของพระอาจารย์คำดี (ซึ่งในประวัติของพระอาจารย์ชา สุภทฺโท ผู้เขียนบางท่านคิดว่าเป็นพระอาจารย์คำดี ปภาโส แต่ความจริงแล้วไม่ใช่) ครั้งไปกราบท่านพระอาจารย์มั่น ท่านพระอาจารย์มั่นยังพูดว่า “อ่อ ได้ยินเขาว่าห้าวหาญไม่กลัวผี กลัวภัย กลัวตาย ไม่ใช่รึ” ท่านเป็นชาวบ้านทรายมูล จังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นพระปฏิบัติธรรมมหานิกายรูปหนึ่ง ณ ป่าช้าแห่งหนึ่ง

พระอาจารย์ชาจึงได้พบสหธรรมมิกที่ต่อมาได้ร่วมทางธุดงค์ด้วยกันคือ หลวงพ่อปุ่น ฉนฺทาโร วัดป่าฉันทาราม บ้านคำแดง จังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นมหานิกายเช่นเดียวกัน พระอาจารย์ทองดีและหลวงพ่ออวนเล่าตรงกันว่า ลูกศิษย์ที่ภาวนาไม่ถึงปฏิบัติไม่จริง จะถูกหลวงปู่ทองรัตน์เรียกหาบ่อย ถ้าไม่ปฏิบัติไม่รู้จักนิสัยจะอยู่ไม่ได้ ใครเห็นผิดมีทิฏฐิมานะ ปฏิบัติผิด ทุกเช้าช่วงฉันอาหารท่านจะอบรมสั่งสอนทันที ทำไม่ดีอยู่ไม่ได้ ท่านชอบทดสอบลูกศิษย์เป็นประจำ ชักชวนให้ลูกศิษย์ทำผิดถ้าใครทำตามท่านจะว่าคนไม่มีปัญญา หลวงพ่อปุ่นมักจะเล่าหรือยกตัวอย่างท่านครูบาจารย์ทองรัตน์อยู่เสมอ โดยเฉพาะความสันโดษ ไม่สะสมสิ่งใดๆ ชีวิตเรียบง่าย ประหยัด กุฏิก็อยู่หลังเก่าๆ เล็กๆ มุงหญ้าคาหญ้าแฝก ยกพื้นขึ้นนิดพอดีนั่งถึง ไม่ต้องขึ้นบันได ใครมาสร้างกุฏิหลังใหม่ให้ก็ไม่อยู่ชอบอยู่กุฏิเดิมเช่นเดียวกับพระบูรพาจารย์ท่านพระอาจารย์เสาร์ และท่านพระอาจารย์มั่น
     
บางคนไม่เข้าใจอุบายที่ท่านกระทำเพื่อให้ญาติโยมได้ทำบุญตักบาตร ท่านใช้อารมณ์ขันแม้เวลาไปบิณฑบาต บางคนอาจมองว่าพระอะไรไม่สำรวม ข้าวไม่สุกก็ยืนคอยจนข้าวสุก หลวงปู่ทองรัตน์จะบิณฑบาตไม่เคยขาดแม้ในวัยชรา ท่านจะไปทุกหลังคาเรือน ถามว่าข้าวสุกหรือยัง มาตักบาตรพ่อด้วย แม้ฝนตกท่านก็บอกว่าเดี๋ยวจะเปียกไม่ต้องออกมาและท่านจะเดินเข้าไปถึงบันไดบ้าน
      
เนื่องจากชาวบ้านคุ้มเป็นบ้านป่าไม่คุ้นเคยกับพระและการทำบุญตักบาตร ท่านจึงฝึกหัดและออกอุบายให้ชาวบ้านตักบาตรทุกวัน จนต่อมาทุกครัวเรือนก็ทำบุญตักบาตรและเข้าวัดฟังธรรม
      
เมื่อครั้งครูบาจารย์ทองรัตน์พำนักที่บ้านดอนหอม จังหวัดสกลนคร หลวงพ่ออวนเล่าว่า วันหนึ่งท่านครูบาจารย์ไปบิณฑบาตได้แต่ข้าวเปล่าๆ ท่านจึงพูดว่า บ้านโนนหอมใส่บาตรมีแต่ให้หมากินไม่มีข้าวให้คนกิน ไม่เหมือนบ้านสามผง ชาวบ้านโนนหอมโกรธมาก หลายปีต่อมาชาวบ้านถือข้าวไปทำไร่ ลืมเอากับข้าว นั่งกินข้าวเปล่าๆ เหมือนกับที่เคยโยนก้อนข้าวเหนียวให้หมากิน จึงนึกถึงคำพูดของหลวงปู่
      
ด้วยการที่ไม่ติดในเสนาสนะและสันโดษของหลวงปู่ทองรัตน์ ท่านจึงจำพรรษาอยู่ที่ใดไม่นานก็ย้ายที่ไปเรื่อยๆ หลวงพ่อกิ ธมฺมุตฺตโม ศิษย์คนหนึ่งของท่านเล่าว่า ท่านเคารพนับถือท่านพระอาจารย์เสาร์มาก และมีสัญญากับท่านพระอาจารย์เสาร์ในการมาสร้างวัดที่บ้านชีทวน ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๐-๒๔๘๑ ท่านพระอาจารย์เสาร์ได้ลาท่านพระอาจารย์มั่นเดินทางกลับจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อสร้างและขยายวัดทางจังหวัดอุบลราชธานีที่ท่านเคยพำนักและเป็นบ้านเกิดมาก่อนให้เจริญรุ่งเรือง

ท่านพระอาจารย์เสาร์ได้ให้หลวงปู่ทองรัตน์ไปสร้าง วัดป่าบ้านชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ขึ้น และท่านพระอาจารย์เสาร์เองได้ไปสร้างวัดที่บ้านป่าโคม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งอยู่ในพื้นที่ติดต่อระหว่างอำเภอเขื่องในกับอำเภอเมืองอุบลราชธานี หลวงปู่ทองรัตน์ได้จำพรรษาและพำนักอยู่ที่วัดป่าบ้านชีทวนนานถึง ๙ ปี เมื่อท่านพระอาจารย์เสาร์ได้มรณภาพลงที่นครจำปาศักดิ์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หลวงปู่ทองรัตน์ก็ได้ธุดงค์ต่อไป แม้ชาวบ้านทัดทานอย่างไร ท่านก็ยังจากไป
   
ในปีหนึ่งท่านได้ธุดงค์ไปถึงบ้านคุ้ม ตำบลหนองไฮ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบัน บ้านคุ้มขึ้นอยู่กับตำบลโคกสว่าง อำเภอสำโรง) ซึ่งเป็นหมู่บ้านชนบท ตั้งอยู่ห่างจากบ้านนาส่วง อำเภอเดชอุดม ประมาณ ๑๗ กิโลเมตร ในสมัยนั้นไม่มีทางรถยนต์เข้าหมู่บ้านมีแต่ทางเกวียน ชาวบ้านยังไม่มีวัด บางคนก็นับถือผี อุปนิสัยคนในหมู่บ้านซึ่งเป็นชาวส่วยเป็นลาวเป็นผู้ไม่คุ้นเคยกับพระและวัด หมู่บ้านนี้ยังไม่เจริญทั้งห่างไกลที่ตั้งอำเภอประมาณ ๓๐ กว่ากิโลเมตร เป็นหมู่บ้านกันดาร
      
พ่อใหญ่เขียน ศรีสุธรรม ชาวบ้านคุ้มซึ่งเป็นโยมอุปัฏฐากคนสำคัญ ได้เล่าว่า ครั้งแรกที่ท่านหลวงปู่มาถึงบ้านคุ้มไม่ทราบว่าท่านมาทางไหนอย่างไร มาถามชาวบ้านว่าป่าช้าหมู่บ้านอยู่ตรงไหน ชาวบ้านก็ชี้มือไปทางใต้หมู่บ้าน คืนแรกที่มาถึงหลวงปู่ได้ไปบำเพ็ญภาวนาและปักกดที่กลางป่าใต้หมู่บ้าน ซึ่งกลางป่าแห่งนี้มีเนินดินบริเวณกว้างประมาณ ๖ ไร่ เนินแห่งนี้เดิมรกทึบมากมีเถาวัลย์ขึ้นเต็ม และชาวบ้านไม่กล้าเข้าไปในเนินนี้เพราะเชื่อว่าเจ้าที่แรง ใครไปเก็บลูกสบ้าจากเนินนี้มาก็จะมีอันเป็นไปเป็นไข้ตายบ้างหรืออื่นๆ ชาวบ้านจึงกลัวมาก
      
หลวงปู่ทองรัตน์ได้ไปอาศัยโคนไม้ในดงนี้เป็นที่บำเพ็ญภาวนา มีชาวบ้านญาติโยมที่ศรัทธาในวัตรปฏิปทาของท่าน เข้าไปกราบนมัสการ คอยช่วยเหลือและรับใช้ท่านหลายคน ต่อมาหลวงปู่ได้ตัดสินใจสร้างเป็นวัด แต่ระยะแรกก็เพียงถากป่าให้โล่ง ปลูกศาลา และกุฏิมุงหญ้าพอได้อาศัย นานวันเข้าก็มีผู้เลื่อมใสมาเป็นศิษย์มากขึ้น แม้จะสร้างเป็นวัดหลายปีมีพระเณรลูกศิษย์มาฝากตัวจำพรรษาพำนักอยู่ด้วยปีละ ๒๐ กว่ารูป หลวงปู่ทองรัตน์ก็ไม่ได้สร้างวัดใหญ่โต คงให้ชาวบ้านญาติโยมสร้างพอได้อาศัยให้พอแก่พระเณรเท่านั้น

ท่านได้ปรารภกับลูกศิษย์ว่า ท่านจะไม่ไปไหนจะตายที่นี้ พ่อใหญ่สอน นามฮุม ศิษย์อีกคนที่เคยบวชกับหลวงปู่แม้เพียง ๑ พรรษา ก็ยังซาบซึ้งในตัวหลวงปู่ และเล่าว่าหลวงปู่ไปๆ มาๆ ออกพรรษาแล้วจะธุดงค์ไปครั้งละนานๆ เมื่อเข้าพรรษาจึงกลับมาวัด ท่านพำนักจำพรรษาอยู่ที่ วัดป่าบ้านคุ้ม นานประมาณ ๑๐ ปีกว่า จึงนับเป็นวัดอีกวัดหนึ่งที่หลวงปู่ทองรัตน์จำพรรษาอยู่นาน หลังออกจากสำนักท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว
7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-19 12:05 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

(บนขวา) หลวงปู่กินรี จนฺทิโย, (ซ้ายล่าง) หลวงพ่อชา สุภทฺโท,
(หลังซ้าย)  หลวงพ่ออวน ปคุโณ



๏ ธรรมโอวาท
      
พ่อใหญ่สอน นามฮุง ได้เล่าถึงการสั่งสอนคณะศิษย์และญาติโยมว่า หลวงปู่เอาใจใส่เคร่งครัดในข้อวัตรปฏิบัติ ถือธุดงค์วัตรสม่ำเสมอ ท่านพูดน้อยทำมาก และเอาใจใส่ลูกศิษย์ทุกคน และสั่งสอนให้เอาตัวอย่างท่านในการปฏิบัติ ลูกศิษย์เคารพยำเกรงท่านมาก ไม่มีใครกล้าทำผิด การฉันจะฉันครั้งเดียว ฉันในบาตร ไม่ออกปากขอหากมิใช่ญาติ เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ถึงแม้ท่านจะอารมณ์ขัน บางคนหาว่าท่านไม่สำรวม แต่จริงๆ แล้วท่านสำรวมระวังและสั่งสอนพระเณรให้สำรวมระวังอย่างยิ่ง ข้าวที่ท่านฉัน ท่านจะแยกเอาไว้จากที่เขาเจตนาตักบาตร ส่วนที่ท่านออกอุบายให้เขาตักบาตร ท่านจะแยกไว้ต่างหากและให้ทานแก่ญาติโยม
      
หลวงพ่อปุ่น ฉนฺทาโร เล่าให้ฟังว่า การแสดงธรรมอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ของท่านครูบาจารย์ใหญ่ทองรัตน์นั้นสูงมาก กิริยาวาจาดุดันรุนแรง แต่จิตใจจริงๆ ไม่มีอะไร ครั้งหนึ่งมีศิษย์ไปถามเรื่องวิธีการปฏิบัติธรรม ท่านครูบาจารย์พูดเสียงดังมากพร้อมกับชี้ไปที่ตอไม้ใหญ่ใกล้ๆ กุฏิของท่านว่าเห็นตอไม้ไหม ทำอย่างตอไม้นั่นละ

ครั้งหนึ่งหลวงพ่อปุ่นและสานุศิษย์ได้ติดตามธุดงค์ ระหว่างทาง ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีหญิงชาวบ้าน มาร้องห่มร้องไห้คร่ำครวญกับท่านครูบาจารย์ทองรัตน์ที่ลูกชายได้ตายจากไป ให้ช่วยชีวิตคืน ท่านครูบาอาจารย์จึงพูดขึ้นว่า “ให้มันตาย ให้มันตายหมดโคตร หมดเชื้อหมดแนวมัน หมดพ่อ หมดแม่มัน” หญิงคนนั้นหยุดร้องไห้ฟูมฟายทันที แล้วท่านจึงเทศนาโปรดอบรมให้คลายทุกข์คลายโศกร่ำพรรณนา ให้เข้าใจรู้เท่าทันวัฏสังขาร

อีกครั้งหนึ่ง ขณะพักธุดงค์ระหว่างทางการแสวงหาที่วิเวก ชาวบ้านหามไก่มาหลายตัวทั้งตัวผู้ตัวเมีย ท่านครูบาจารย์ทองรัตน์จึงถามคณะลูกศิษย์ที่ติดตามว่า “เขาหามอะไรนี่” บางรูปก็ว่าไก่ตัวผู้ บางรูปก็ว่าไก่ตัวเมีย บางรูปก็ว่าไก่ตัวผู้ตัวเมีย ถกเถียงกัน ท่านครูบาจารย์จึงตะโกนดังๆ ว่า “มันสิไก่ตัวผู้ตัวเมียได้อย่างไร มันไม่ใช่ตัวผู้ตัวเมีย ไม่ใช่ไก่ เป็นสิ่งสมมติทั้งนั้นละ” อย่าติดสมมติ

หลวงพ่ออวน ปคุโณ ลูกศิษย์ที่ได้ศึกษาธรรมในช่วงตอนหลายชีวิตของท่านครูบาจารย์ทองรัตน์ ได้เล่าว่า ธรรมโอวาทที่ท่านครูบาจารย์ย้ำเตือนอยู่เสมอ คือ พระวินัยและศีล ใช้แนะนำปฏิบัติเบื้องต้นจะแนะนำวินัย มีวินัยเป็นวัตรวินัยจะทำให้เกิดศีลบริสุทธิ์ ทำศีลให้บริสุทธิ์ ศีลจะนำไปสู่การเป็นสมาธิ เกิดสมาธิจะนำไปสู่การเกิดปัญญา ปัญญาจะเกิดขึ้นเอง รักษาวินัยให้แน่วแน่ตั้งจิตให้เป็นหนึ่ง พิจารณาขันธ์ ๕ ท่านครูบาจารย์จะไม่เทศน์พรรณนาอย่างกว้างขวางหรือแยบยล แต่ให้ปฏิบัติ

โอวาทที่ท่านเน้นในการสอนญาติโยม ก็คือ เน้นการให้ทาน การรักษาศีล และสมาธิ
      
สำหรับการสอนพระเณร หลวงปู่เน้นข้อวัตรปฏิบัติธรรมวินัย ให้เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ให้สำรวมระวังรวมทั้งธุดงควัตร การปฏิบัติภาวนา การมีสติ เป็นคนมักน้อยสันโดษ
      
พ่อใหญ่สอน นามฮุง เล่าว่าหลวงปู่เป็นผู้มีฌานที่น่าประหลาดและหลายครั้งที่ท่านได้ประสบ ท่านสามารถหยั่งรู้จิตคน บางคนไม่เคยไปหาท่านเลย เมื่อพบหน้าท่านก็เรียกชื่อถูก ครั้งหนึ่งมีโยมเอากล้วยมาถวาย และซ่อนกล้วยไว้ก่อนเข้าวัด เมื่อไปถึงถวายกล้วย ท่านก็ทักขึ้นว่า “โยมเสี่ยงกล้วยไว้ดีบ่ละ ญ่านลิงมันเอาไปกินก่อนเด้” (โยมซ่อนกล้วยไว้ดีไหมละ กลัวลิงมันจะเอาไปกินก่อนนะ) จนผู้ถวายกล้วยอาย และยอมรับกับหลวงปู่
      
แม้แต่วาระสุดท้ายที่ท่านจะมรณภาพ คณะศิษยานุศิษย์ทั้งหลายก็เชื่อว่าท่านรู้ล่วงหน้าเป็นที่น่าอัศจรรย์ พ่อใหญ่เขียนและพ่อใหญ่สอนช่วยกันเล่าว่า ในปีที่ท่านจะมรณภาพ ท่านบอกให้ญาติโยมรวมทั้งพ่อใหญ่ทั้งสองช่วยกันหาฟืนมาไว้เต็มโรงครัวถึง ๔ ห้อง ท่านบอกว่าปีนี้จะมีการใช้ฟืนมาก ในต้นเดือนกันยายนท่านให้ทำประตูโขงเข้าวัด จะมีรถยนต์มามาก ชาวบ้านญาติโยมแปลกใจมาก เพราะตั้งแต่เกิดไม่เคยมีรถยนต์เข้ามาถึงหมู่บ้านเลย เหมือนกับว่าท่านจะรู้วันมรณภาพและปลงสังขารไว้ก่อนล่วงหน้า
      
เหตุการณ์ทุกอย่างเป็นจริง ประมาณกลางเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๙๙ หลวงปู่ทองรัตน์ได้ปวดท้องกระทันหัน ทั้งที่ท่านสุขภาพดีอยู่ ญาติโยมจะไปตามหมอท่านก็บอกว่า “ไม่เป็นอะไรมาก” ชาวบ้านได้พากันไปตามเจ้าหน้าที่อนามัยที่บ้านโคกสว่าง มาดูอาการท่านในวันที่สองของการอาพาธ แต่หมอยังมาไม่ถึง ท่านก็ได้มรณภาพไปก่อนด้วยอาการสงบ ก่อนมรณภาพท่านได้สั่งไว้ว่าให้นำศพท่านไปเผาริมห้วย ขี้เถ้าและกระดูกให้โปรยลงน้ำให้หมด ท่านบอกว่า “ต่อไปมันซิเอากระดูกพ่อไปขาย” (ต่อไปคนจะเอากระดูกพ่อไปขาย)
      
ก่อนหน้าที่หลวงปู่ทองรัตน์จะมรณภาพ ศิษย์คนสำคัญคือ พระอาจารย์บุญมาก ฐิตปญฺโญ แห่งวัดภูมะโรง (วัดสาลวัน) เมืองจำปาศักดิ์ ประเทศลาว ได้เดินทางจากประเทศลาวมากราบนมัสการหลวงปู่กลางพรรษา และได้เป็นประธานในการจัดการศพหลวงปู่ทองรัตน์ เหตุที่ได้เดินทางมาทันงานศพเนื่องจากเกิดนิมิต วัดภูมะโรงสั่นสะเทือน ๓ ครั้ง จึงคิดถึงหลวงปู่ทองรัตน์มากและคิดว่าน่าจะมีเหตุร้าย จึงเดินทางมาอย่างรีบด่วนโดยไม่มีใครแจ้งข่าว หลวงปู่ทองรัตน์เคยพำนักอยู่วัดภูมะโรงกับพระบูรพาจารย์ท่านพระอาจารย์เสาร์
      
ภายหลังหลวงปู่ทองรัตน์มรณภาพ คณะสงฆ์ คณะศิษยานุศิษย์ และสาธุชนโดยทั่วไป ตลอดจนยานพาหนะต่างๆ ต่างก็เข้ามายังบ้านคุ้มเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ชาวบ้านไม่เคยเห็นรถยนต์มาก่อนเลย ก็ได้เห็น
      
หลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล (ครูบาจารย์เฒ่า) ได้ละสังขารจากโลกนี้ไปเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๙ ตรงกับวันศุกร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีวอก ณ วัดป่าบ้านคุ้ม (วัดป่ามณีรัตน์) จังหวัดอุบลราชธานี สิริอายุรวมได้ ๖๘ ปี พรรษา ๔๒ คณะสงฆ์ คณะศิษยานุศิษย์ และสาธุชนโดยทั่วไปที่ศรัทธาเคารพรักท่าน ได้ร่วมกันฌาปนกิจศพหลวงปู่หลังจากมรณภาพไม่นาน แต่ก็ไม่ได้ฌาปนกิจศพตามที่ท่านสั่งไว้ ศิษย์บางคนได้อัฐิท่านไปไว้สักการะ โดยอัฐิของท่านส่วนหนึ่งชาวบ้านคุ้มได้บรรจุไว้ในเจดีย์ที่สร้างไว้กลางเนินวัดป่าบ้านคุ้ม (วัดป่ามณีรัตน์) เพื่อไว้เคารพสักการะมาจนถึงบัดนี้


พระอาจารย์บุญมาก ฐิติปญฺโญ


หลวงพ่อสีทน กมโล-ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต-พระอาจารย์บุญมาก ฐิติปญฺโญ
ประดิษฐาน ณ วัดสิรินธรวราราม (วัดภูพร้าว) ต.ช่องเม็ก อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี


8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-19 12:06 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

หลวงปู่มี ญาณมุนี วัดป่าสูงเนิน จ.นครราชสีมา


หลวงปู่ทา จารุธมฺโม วัดถ้ำซับมืด จ.นครราชสีมา
      

๏ ปัจฉิมบท

หลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล (ครูบาจารย์เฒ่า) เป็นบูรพาจารย์พระกรรมฐานฝ่ายมหานิกายระดับแนวหน้าของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต แต่เพียงผู้เดียว ท่านพระอาจารย์มั่นให้เหตุผลว่า

“ถ้าพากันมาญัตติเป็นพระธรรมยุติหมดเสียแล้ว ฝ่ายมหานิกายจะไม่มีใครแนะนำการปฏิบัติ มรรคผลไม่ได้ขึ้นอยู่กับนิกายหรอก แต่มรรคผลขึ้นอยู่กับการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ตามธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแนะนำสั่งสอนไว้แล้ว ละในสิ่งที่ควรละ เว้นในสิ่งที่ควรเว้น เจริญในสิ่งที่ควรเจริญ นั่นแหละทางดำเนินไปสู่มรรคผลนิพพาน บรรดาศิษย์ฝ่ายมหานิกายที่ท่านได้อนุญาตให้ญัตติตอนนั้นมีหลายรูป และที่ท่านไม่อนุญาต มีท่านพระอาจารย์ทองรัตน์เป็นต้น”

เรื่องระหว่างธรรมยุติกนิกายกับมหานิกาย เป็นเรื่องที่ยกขึ้นมาพูดหลังพุทธปรินิพพานนานแล้ว ทำให้ผู้ไม่เข้าใจในเรื่องนี้ดีพอ ต้องไขว้เขวไปด้วย จนเกิดเรื่องเกิดราวกันมานับไม่ถ้วน

ในสมัยครูบาจารย์เฒ่าทองรัตน์ ต้องมีเรื่องวิพากษ์วิจารณ์กันมากเกี่ยวกับเรื่องนี้ บางรูปก็ว่าครูบาจารย์เฒ่าทองรัตน์ไม่ได้ญัตติ  ไม่น่าให้ร่วมสังฆกรรมด้วย บางรูปก็ว่าในเมื่อมีข้อวัตรปฏิบัติเหมือนกัน แถมยังเป็นลูกศิษย์พ่อแม่ครูบาอาจารย์เดียวกัน ควรที่จะให้ร่วมสังฆกรรมด้วย

ก่อนถึงวันลงอุโบสถ พระเณรกำลังกังวลกันในเรื่องนี้มาก กลัวว่าเมื่อรวมสังฆกรรมแล้วจะไม่เกิดผลดีต่อคณะสงฆ์ศิษย์ทั้งสองฝ่าย เพราะเหตุเคลือบแคลงสงสัยในสังฆกรรมนั้น ท่านพระอาจารย์มั่นได้หาอุบายเพื่อให้พระเณรคลายสงสัย ท่านพระอาจารย์มั่นจึงถามครูบาจารย์เฒ่าในท่ามกลางสงฆ์ที่รวมฉันน้ำปานะด้วยกันว่า “ท่านทองรัตน์สงสัยในสังฆกรรมอยู่บ้อ”

ครูบาจารย์เฒ่ากราบเรียนพร้อมกับพนมมือ
         
“โดยข้าน้อย ข้าน้อยบ่สงสัยดอกข้าน้อย” (ครับกระผม กระผมไม่สงสัยหรอกขอรับ)
         
“เออ..บ่สงสัยกะดีแล้ว ให้มาลงอุโบสถนำกันเด้อ” (เออ..ไม่สงสัยก็ดี ให้มาลงอุโบสถร่วมกันนะ)
         
ท่านพระอาจารย์มั่นพูดด้วย ครูบาจารย์เฒ่าก็ไม่อยากให้ครูบาอาจารย์ต้องลำบากใจจึงพูดไปว่า “โดยข้าน้อย บ่เป็นหยังดอก ข้าน้อย ข้าน้อยขอโอกาสไปลงทางหน้าพู้นดอกข้าน้อย” ครูบาจารย์ตอบพร้อมกับพนมมือรับ

ครั้นต่อๆ มา เมื่อมีพระฝ่ายมหานิกายที่ไปกราบขอศึกษาประพฤติปฏิบัติธรรมกับท่านพระอาจารย์เสาร์ และท่านพระอาจารย์มั่น ที่ยังไม่ญัตติหรือไม่ประสงค์จะญัตติ พระบูรพาจารย์ใหญ่ทั้งสองท่านก็บอกให้ไปศึกษากับครูบาจารย์ทองรัตน์ตลอด พระสงฆ์ที่ไปขอศึกษาประพฤติปฏิบัติกับท่านพระอาจารย์เสาร์ และท่านพระอาจารย์มั่น ที่ไม่ได้ญัตติ บางรูปถึงแม้จะไปขอญัตติท่านก็ไม่ญัตติให้ โดยท่านให้เหตุผลว่า “ถ้าพากันมาญัตติหมดจะทำให้พระสงฆ์เกิดการแตกแยกเป็นก๊กเป็นเหล่ามากกว่าที่เป็นอยู่” ซึ่งท่านพระอาจารย์เสาร์ และท่านพระอาจารย์มั่นพยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะคืนนิกายทั้งสองนั้นให้เป็นอันเดียวกัน
      
9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-19 12:07 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ครูบาอาจารย์พระสุปฏิปันโนที่เป็นสหธรรมมิกและสานุศิษย์ของหลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล (ครูบาจารย์เฒ่า) แม่ทัพธรรมนายกองใหญ่สายมหานิกาย ที่ไม่ญัตติเป็นธรรมยุติกนิกาย ตามกำหนดของพระบูรพาจารย์ใหญ่ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล และท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต อาทิเช่น

๑. พระครูญาณโสภิต (หลวงปู่มี ญาณมุนี) วัดป่าสูงเนิน อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา

๒. หลวงปู่สีเทา บ้านแวง จังหวัดยโสธร

๓. หลวงปู่พรม บ้านโคกก่อง จังหวัดยโสธร
           
๔. หลวงพ่อบุญมาก ฐิติปญฺโญ วัดอำมาตย์ นครจำปาศักดิ์ ประเทศลาว

๕. หลวงปู่กินรี จนฺทิโย วัดกันตศิลาวาส อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
         
๖. พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภทฺโท) วัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี


๗. หลวงพ่อกิ ธมฺมุตฺตโม วัดสนามชัย อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี (ภายหลังจึงญัตติ)

๘. หลวงพ่อพรม กุดน้ำเขียว อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

๙. พระครูภาวนานุศาสตร์ (หลวงพ่อสาย จารุวณฺโณ) วัดป่าหนองยาว อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี

๑๐. หลวงปู่ทา จารุธมฺโม วัดถ้ำซับมืด อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

๑๑. หลวงพ่อปุ่น ฉนฺทาโร วัดป่าฉันทาราม บ้านคำแดง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร

๑๒. หลวงพ่อพร สจฺจวโร วัดบ้านแก่งยาง อำเภอบุณทริก จังหวัดอุบลราชธานี
            
๑๓. หลวงพ่อกองแก้ว ธนปญฺโญ วัดป่าเทพบุรมย์ บ้านแก่งยาง อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี

๑๔. หลวงพ่ออวน ปคุโณ วัดจันทิยาวาส บ้านนามะเขือ อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม เป็นต้น

     
ขอเมตตาบารมีแห่งภูมิจิตภูมิธรรมของหลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล จงบันดาลแผ่ซ่านสู่จิตใจของสรรพสัตว์ผู้ทนทุกข์ทรมานในห้วงแห่งสังสารวัฏ ได้แก่นธรรมเห็นธรรม เกิดธรรมจักษุที่เป็นแก่นพุทธธรรมแทนเปลือกแทนกระพี้ พิธีพราหมณ์ และพุทธพาณิชย์ด้วยเทอญ


หลวงพ่อชา สุภทฺโท วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี


หลวงพ่อกิ ธมฺมุตฺตโม วัดสนามชัย จ.อุบลราชธานี


.............................................................

คัดลอกเนื้อหามาจาก ::
หนังสือแก้วมณีอีสาน

http://www.manager.co.th/Dhamma/         
                                                                              
.....................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=26860

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้