ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 4110
ตอบกลับ: 5
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

กองทัพธรรมพระเจ้าอโศก วันที่โลกได้รู้จักพระพุทธเจ้า

[คัดลอกลิงก์]
ขบวนขนเสาหินของพระเจ้าอโศก
หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานก็ไม่มีการแต่งตั้งใครขึ้นมาเป็นผู้นำศาสนาพุทธแทน พระพุทธเจ้าทรงบอกแต่เพียงว่า “ธรรมะเท่านั้นที่เป็นศาสดาแทนพระองค์”

จนกระทั่งเกือบ 300 ปีต่อมา พระเจ้าอโศกมหาราชก็ได้นำพระธรรมของพระพุทธเจ้าออกไปเผยแผ่เกือบทั่วโลก




ฉันเดินทางต่อไปที่รัฐโอริสสา เพราะสงครามที่โหดร้ายทารุณซึ่งเกิดขึ้นที่นั่นเมื่อ 2,000 ปีก่อน ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเผยแผ่พระธรรมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนา

ดร.จี.ซี. ประธาน ผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกโบราณของอินเดีย ประจำหน่วยโบราณคดีรัฐโอริสสา พาฉันมาที่เชิงเขาเธาลีคีรี (Dhauli Giri) ใกล้เมืองภุพเนศวร (Bhubaneswar) เธาลีคีรีเป็นภูเขาหินขนาดย่อม ภายในบริเวณมีเจ้าหน้าที่เฝ้าดูแลอยู่ เขาต้องการให้ฉันได้เห็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ใช้ในการสอนธรรมะของพระเจ้าอโศก เจ้าหน้าที่นำเราเดินขึ้นเขาไปตรงจุดที่มีประตูรั้วล้อมไว้ด้วยลูกกรงเหล็กลั่นกุญแจแน่นหนา

มันคือก้อนหินขนาดใหญ่ จารึกอักขระโบราณที่เรียกว่าอักษรพราหมี ที่ ดร.จี.ซี. ประธาน บอกว่าเป็นกุญแจที่ไขเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศก

“พระเจ้าอโศกสั่งสอนธรรมะแก่ประชาชนให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในศีลในธรรม ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ให้อุปถัมภ์พระภิกษุสงฆ์ และอื่นๆ อีกหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่องการดูแลทุกข์สุขของประชาชน โดยจารึกไว้บนแผ่นหินแบบที่เห็นนี้ตามเมืองต่างๆทั่วอินเดีย” ดร.จี.ซี. ประธาน อธิบาย

แผ่นจารึกธรรมและรัฐบัญญัติสมัยพระเจ้าอโศกที่เธาลีคีรี เมืองภุพเนศวร รัฐโอริสสา

“แล้วทุกๆ แห่งที่พบ มีข้อความในจารึกเหมือนๆ กันหรือเปล่าคะ” ฉันซัก

“ที่เราเห็นนี้ แทนที่จะมี 14 หัวข้อแบบที่อื่นๆ กลับพบว่ามีเพียงข้อ 1 ถึง 10 แล้วข้ามไปเขียนข้อ 14 เลย... ไม่มีข้อ 11, 12 และ 13... พวกเราวิเคราะห์กันว่า ที่ข้ามไปก็เพราะมันมีเนื้อหาพูดถึงสงครามกลิงคะ พระเจ้าอโศกคงไม่อยากตอกย้ำเรื่องอดีตที่พระองค์ทำสงครามบุกแคว้นกลิงคะจนผู้คนล้มตายนับแสนให้คนที่นี่สะเทือนใจ เพราะที่โอริสสานี่ก็คืออดีตแคว้นกลิงคะนั่นเอง...แต่ก็ทรงให้จารึกข้อความเพิ่มเติมนี้มาแทน ความว่า...พระองค์มีพระราชโองการให้มหาอำมาตย์มาดูแลชาวกลิงคะให้อยู่กันอย่างสมบูรณ์พูนสุข...เป็นจารึกพิเศษที่พบที่นี่เท่านั้น”

แทบไม่อยากเชื่อว่าพระเจ้าอโศกเคยเป็นกษัตริย์ที่ได้ชื่อว่าโหดร้ายที่สุด ทรงขยายอาณาจักรด้วยเลือดเนื้อด้วยสงคราม เพื่อรวบรวมแว่นแคว้นต่างๆ จากเหนือจรดใต้ ตะวันออกจรดตะวันตก ให้เป็นอาณาจักรหนึ่งเดียวของชมพูทวีป คืออาณาจักรเมารยะของพระองค์

แคว้นกลิงคะเป็นแคว้นสุดท้ายที่พระองค์เสด็จมาพิชิต เป็นสงครามครั้งใหญ่ที่สุด มีประชาชนบาดเจ็บล้มตายหลายแสนคน แต่ชัยชนะในครั้งนั้นกลับสร้างความสลดใจแก่พระเจ้าอโศกอย่างรุนแรง

ฉันเดินตาม ดร.ประธานขึ้นไปบนเขาเธาลีคีรีอีกอึดใจ ซึ่งยังมีร่องรอยประวัติศาสตร์สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งท่านเล่าว่า

“ตรงจุดนี้ละครับ เราพบหินแกะสลักรูปช้าง น่าจะเป็นอนุสรณ์อย่างหนึ่งถึงการที่พระเจ้าอโศกได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธที่นี่ เพราะตอนที่พระเจ้าอโศกหันมานับถือศาสนาพุทธนั้นยังไม่มีการสร้างพระพุทธรูปไว้บูชา ช้างนี้ละครับที่ใช้เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระพุทธเจ้า...”

สลักหินเป็นรูปช้างที่เธาลีคีรี

ความสลดใจจากสงครามกลิงคะทำให้พระเจ้าอโศกหันมาศึกษาพระธรรมในพุทธศาสนา และเริ่มทำนุบำรุงพระศาสนาด้วยการเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าไปทั่วพระราชอาณาจักร

ข้อความหนึ่งในจารึกได้แสดงความในใจของพระเจ้าอโศกไว้ว่า

“ชัยชนะที่แท้จริงคือการชนะจิตใจของคนด้วยพระธรรม...พระองค์ได้บรรลุชัยชนะเช่นนี้แล้ว ไม่เฉพาะในราชอาณาจักรของพระองค์เท่านั้น หากในแว่นแคว้นแดนไกลอื่นๆ ด้วย...”

พระเจ้าอโศกได้ส่งพระสมณทูตไปเผยแผ่พุทธศาสนา สู่ดินแดนต่างๆ ถึง 9 สาย ทั้งในและนอกชมพูทวีป จนทำให้ ศาสนาพุทธเจริญแพร่หลายต่อไปในดินแดนอื่นๆ อย่างรวดเร็ว ตั้งแต่นครกัศมีร์หรือแคชเมียร์ทางตอนเหนือของอินเดีย จนถึงตอนใต้คือเกาะลังกา และเผยแผ่เข้าไปสู่เนปาล จีน ทิเบต มองโกเลีย เอเชียกลาง ดินแดนอาหรับ อียิปต์ รวมถึงสุวรรณภูมิ

รูปพระเจ้าอโศกมหาราช

ในสมัยพระเจ้าอโศกนั้น ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาที่ทรงอำนาจในอินเดียและการเผยแผ่ไปยังต่างประเทศนั้นทำให้นักปราชญ์ทางพุทธหลั่งไหลจากอินเดียไปสู่ประเทศอื่น และจากประเทศอื่นเข้ามาในอินเดียโดยไม่ขาดสายเป็นเวลาติดต่อกันหลายร้อยปี

กลิงคะในปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของรัฐโอริสสา ถึงผู้คนส่วนใหญ่ที่นี่จะนับถือศาสนาฮินดู แต่พวกเขาก็ไม่ได้ปฏิเสธ พระพุทธเจ้า ยังคงให้ความเคารพศรัทธาเช่นเทพเจ้าพระองค์หนึ่งของฮินดู
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-7 07:26 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แผ่นหินสลักรูปพระเจ้าอโศกและพระมเหสี 2 องค์ ขุดพบที่เนินเขาลังกุฎี รัฐโอริสสา
เมื่อพระถังซัมจั๋งได้เดินทางมาถึงแคว้นกลิงคะ ท่านบันทึกไว้ว่า ได้เห็นสถูปที่พระเจ้าอโศกสร้างไว้มากมาย และมีอยู่องค์หนึ่งที่ศักดิ์สิทธิ์มาก ชาวพุทธจากทั่วสารทิศจะมาสักการะกัน สถูปนี้อยู่ที่ปุษปะคีรี ซึ่งนักโบราณคดีพยายามตามหาเมืองปุษปะคีรีกันอยู่นาน จนได้มาพบเนินดินใหญ่ที่ชื่อเนินเขาลังกุฎี (Langudi Hill) และเริ่มขุดกันเมื่อสิบปีมานี่เอง

ลักษณะสถูปของพระเจ้าอโศก ฐานจะเป็นทรงสี่เหลี่ยม...จากการขุดค้นได้พบเสารั้วที่ล้อมพระสถูปสี่ด้าน ทั้งแบบเรียบและแกะลวดลาย ซึ่งเสารั้วแบบเรียบคือหลักฐานอย่างดีที่จะบอกว่าสถูปองค์นี้สร้างในสมัยพระเจ้าอโศกและที่น่าตื่นเต้นที่สุดก็คือ ตรงทางเข้าสถูปนี้ได้ขุดพบรูปพระเจ้าอโศกเป็นครั้งแรกในอินเดีย...เป็นรูปแกะสลักหิน ที่ฐานของรูปแกะสลักมีอักษรจารึกเอาไว้เป็นคำว่า “ราชาอโศก”

ดร.ประธานพยายามค้นหาจนได้รูปถ่ายเก่ามาใบหนึ่ง ถ่ายไว้ขณะที่ขุดพบใหม่ๆ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับสภาพในปัจจุบัน ซึ่งพบว่าด้านซ้ายของรูปสลักนั้นน่าจะเป็นรูปพระมเหสีองค์หนึ่ง แต่แตกหักไปแล้ว ส่วนด้านขวาเป็นรูปพระมเหสีอีกพระองค์หนึ่ง จะเห็นได้ว่าเป็นรูปแกะสลักกษัตริย์ประทับนั่งบนบัลลังก์ ทรงเครื่องทรงและเครื่องประดับที่พบในสมัยพระเจ้าอโศก ทั้งรูปแบบมงกุฎ ต่างหู และสร้อยสังวาลสะพายบ่า

พระมหาสถูปสาญจี รัฐมัธยประเทศ

การขุดสำรวจในครั้งนั้นยังได้พบฝาผอบที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ แต่ไม่พบตัวผอบ ซึ่งสันนิษฐานกันว่าน่าจะมีการย้ายพระบรมสารีริกธาตุออกไปโดยกษัตริย์ในยุคหลัง และอาจสร้างพระสถูปขึ้นมาใหม่แล้วบรรจุไว้ในนั้น ขณะที่ในละแวกใกล้เคียงยังมีสถูปอีกแห่งที่ยังไม่ได้ขุดสำรวจ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าพระบรมสารีริกธาตุอาจจะยังคงอยู่ในนั้น ซึ่งลักษณะของสถูปยังชี้ว่าสร้างขึ้นในปลายสมัยคุปตะ

ในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์ทรงนำกองทัพธรรมยาตราไปทั่วราชอาณาจักร ทรงชนะจิตใจของประชาชนด้วยการปกครองแผ่นดินโดยธรรม เมื่อเสด็จไปจาริกธรรมที่ใดก็ยังได้นำเสาหินทรายขนาดใหญ่ที่แกะสลักไว้อย่างงดงามไปประดิษฐานไว้ในสถานที่สำคัญในพุทธศาสนาทุกแห่ง

ปัจจุบันนักโบราณคดียังไม่ละความพยายามในการตามหาเสาพระเจ้าอโศกเหล่านั้น หลังจากที่พบแล้วราว 20 ต้น จากจำนวนที่คาดว่าน่าจะมีอยู่ไม่น้อยกว่า 40 ต้น เช่นเดียวกับสถูปเจดีย์และวิหารอีกนับหมื่นแห่งที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศก เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ได้มีที่ศึกษาพระธรรมวินัยและสั่งสอนประชาชน

นี่เองที่ทำให้อารยธรรมของพุทธศาสนาในอินเดียถูกปลุกให้ตื่นอีกครั้ง หลังจากที่หลับใหลไปราว 700 ปี เมื่อพุทธสถานตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกได้ทยอยกันเผยโฉมหน้าออกมา จากการขุดค้นของหน่วยงานโบราณคดีที่อังกฤษตั้งขึ้นเมื่อครั้งที่เข้ามาปกครองอินเดีย

การค้นพบพระมหาสถูปที่เนินเขาสาญจีในรัฐมัธยประเทศยืนยันได้ว่าอิทธิพลของศาสนาพุทธได้แผ่ขยายจากภาคเหนือลงมาสู่ภาคกลางของอินเดียแล้วตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศก นับเป็นครั้งแรกที่ได้พบ พุทธสถานอายุเก่าแก่ที่ยังคงมีสภาพสมบูรณ์มากที่สุดในอินเดีย แม้กระทั่งหินที่ใช้สร้างบันไดขึ้นพระสถูปก็พบว่าเป็นหินดั้งเดิมตั้งแต่แรกสร้างทั้งสิ้น

ประตูด้านเหนือของพระมหาสถูปสาญจี ที่ถูกแกะสลักตบแต่งอย่างสวยงาม

เมื่อแรกที่พระเจ้าอโศกเริ่มสร้างพระมหาสถูปสาญจีนั้น องค์สถูปยังคงสร้างด้วยดิน และมีการบูรณะเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องหลังจากนั้น เช่น รั้วหินที่ล้อมพระสถูปถูกสร้างในอีก 100 ปีต่อมา

และหลังจากที่สร้างรั้วหินมาได้ 100 ปี จึงมีการสร้างประตูหินทั้ง 4 ทิศ พร้อมจำหลักภาพพุทธประวัติและชาดกประดับตกแต่งไว้อย่างงดงาม

คำถามมีอยู่ว่า หลังจากสิ้นราชวงศ์เมารยะของพระเจ้าอโศก กษัตริย์ราชวงศ์ต่อมาก็ไม่ได้อุปถัมภ์ศาสนาพุทธ แล้วใครคือผู้สร้างผลงานเหล่านี้ คำตอบน่าจะอยู่ที่ว่า ในสมัยนั้นประชาชนนั่นเองที่เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างงานศิลปะเพื่อศาสนา เพราะตั้งแต่พระเจ้าอโศกได้เผยแผ่พระธรรมคำสอนไปทั่วประเทศ ศาสนาพุทธก็ได้หยั่งรากลึกลงในใจของประชาชนอย่างมั่นคงแล้ว

ประตูด้านตะวันออกของพระมหาสถูปสาญจี

ธรรมเนียมการสร้างพระสถูปเจดีย์นี้เป็นความเคลื่อนไหวระลอกใหม่ของ ศาสนาพุทธ ที่เริ่มมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศก น่าสนใจว่าธรรมเนียมนี้ไม่ได้มาจากพระธรรมวินัยหรือการตีความของพระสงฆ์ แต่มาจากความรู้สึกนึกคิด จินตนาการของคนธรรมดา แต่พวกเขาก็ยังไม่สามารถใช้รูปมนุษย์ธรรมดาเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า ผู้เป็นมหาบุรุษได้ พระสถูปเจดีย์จึงถูกสร้างสรรค์ด้วยความคิดและฝีมือของประชาชน เช่น รูปสลักยักษ์แบกเสายังแทนถึงคนร่ำรวยและมีอำนาจที่ช่วยกันค้ำจุนพระศาสนาไว้

ในยุคนั้น ใครที่ร่วมบริจาคทรัพย์สินเพื่อสร้างพระสถูปก็จะสลักชื่อไว้บนแผ่นหินด้วย
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-7 07:27 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ภาพแกะสลักรูปต้นโพธิ์ประดับองค์พระสถูปสาญจี
ภาพจำหลักหินบนรั้วและประตูสี่ทิศที่ล้อมรอบพระสถูปทำให้เรารู้ว่ากว่า 500 ปีหลังการเสด็จปรินิพพานก็ยังไม่มีการสร้างพระพุทธรูป เพราะประติมากรรมรอบองค์พระสถูปได้ใช้สัญลักษณ์อื่นแทนพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น เช่น ใช้ช้างและดอกบัวแทนพระพุทธเจ้าในยามประสูติ สร้างรูปต้นโพธิ์ที่เคยประทับแทนพระพุทธเจ้าเมื่อตรัสรู้แล้ว เมื่อจะเล่าเรื่องตอนปฐมเทศนาก็ใช้รูปธรรมจักรเป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์ และใช้รูปพระสถูปเป็นสัญลักษณ์แทนยามปรินิพพาน

นอกจากนี้ถ้าภาพแกะสลักชิ้นไหนมีรูปรอยพระบาทจะหมายถึงการปรากฏองค์ของพระพุทธเจ้าในสถานที่นั้น แม้กระทั่งสัญลักษณ์ของพระรัตนตรัยที่มองเห็นโดดเด่นที่สุดในมหาสถูปสาญจี ก็ยังใช้สัญลักษณ์ตรีศูลและร่มแทนพระพุทธ รูปธรรมจักรแทนพระธรรม และรูปดอกบัวแทนพระสงฆ์

ภาพแกะสลักรูปรอยพระพุทธบาท


พระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่หน้าซุ้มประตูทั้งสี่

แล้วพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่หน้าซุ้มประตูทั้งสี่ทิศถูกนำเข้าเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้าตั้งแต่เมื่อไหร่

คำตอบถูกเปิดเผยขึ้นเมื่อได้มีการค้นพบรอยจารึกบนรั้วหินด้านหนึ่งว่า พระเจ้าจันทรคุปต์เป็นผู้ที่นำพระพุทธรูปทั้งสี่องค์มาประดิษฐานไว้เมื่อราว 800 ปีหลังพุทธกาล ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่ได้มีการสร้างสถูป สร้างรั้วและประตูทั้งสี่ทิศไปแล้วหลายร้อยปี

ภาพจำหลักหินเหล่านี้ยังได้บันทึกพระราชกรณียกิจของพระเจ้าอโศกเมื่อคราวเสด็จมาสักการะพระศรีมหาโพธิที่พุทธคยา ก่อนออกเดินทางไปเผยแผ่ศาสนาพุทธที่ศรีลังกาไว้ด้วย

แต่หลังจากพุทธศตวรรษที่ 12 เป็นต้นมา ก็ไม่พบร่องรอยของชุมชนพุทธที่นี่อีก ไม่มีใครรู้ว่าความรุ่งเรืองของ ศาสนาพุทธ ที่สาญจีถึงจุดจบลงเพราะเหตุใด จะรู้แต่เพียงว่าไม่ได้ถูกทำลายลงเพราะสงครามเท่านั้น

ภาพแกะสลักบนประตูด้านตะวันตกของพระมหาสถูปสาญจี แสดงพระพุทธประวัติตอนที่โทณพราหมณ์เข้ามายุติปัญหาการแย่งพระบรมสารีริกธาตุ

เมื่อสิ้นสุดยุคของพระเจ้าอโศก อาณาจักรเมารยะของพระองค์ก็เล็กลงเรื่อยๆ เกิดแคว้นเล็กแคว้นน้อยขึ้นปกครองตัวเองไปทั่ว และบางส่วนก็ยังนับถือศาสนาพุทธอยู่ จนกระทั่งราชวงศ์ศุงคะเข้ามาปกครองแคว้นมคธ ก็ไม่ได้อุปถัมภ์ศาสนาพุทธที่มคธอีกต่อไป

กล่าวกันว่าในช่วงนี้มีพระภิกษุสงฆ์จำนวนไม่น้อยได้อพยพออกจากแคว้นมคธลงไปอยู่ทางใต้ฝั่งตะวันตก หรือบริเวณที่เรียกว่าที่ราบสูงเดกกันในรัฐมหาราษฏระ

วัดถ้ำอชันตา มองจากมุมสูง

ฉันเดินทางต่อมาถึงมุมไบ เมืองหลวงของรัฐมหาราษฏระ มุมไบเป็นเมืองท่าชายฝั่งตะวันตกที่เจริญที่สุดของอินเดีย สั่งสมความเจริญมั่งคั่งจากการค้ากับนานาประเทศมานาน ตั้งแต่สมัยโบราณ ที่นี่เป็นหนึ่งในดินแดนที่พระสมณทูตของพระเจ้าอโศกนำศาสนาพุทธเข้ามาเผยแผ่ คือตอนเหนือของมุมไบ และแคว้นมหาราษฏระบนที่ราบสูงเดกกัน เพื่อเดินทางต่อไปยังถ้ำอชันตาที่ได้ชื่อว่าเป็นวัดถ้ำในพุทธศาสนาที่งดงามและเก่าแก่ที่สุดในโลก

เรื่องราวการสร้างวัดถ้ำของพระสงฆ์ก็ได้เริ่มต้นขึ้นที่นี่ตั้งแต่พุทธศักราช 350
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-7 07:29 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วัดถ้ำที่อชันตา รัฐมหาราษฏระ
ท่ามกลางเทือกเขาสลับซับซ้อนบนที่ราบสูงเดกกัน พระภิกษุในสมัยนั้นได้ค้นพบสถานที่ที่เหมาะสำหรับทำเป็นกุฏิเพื่ออยู่อย่างสันโดษ ห่างไกลผู้คนและทำให้ประวัติศาสตร์หน้าต่อมาของ ศาสนาพุทธ ในอินเดียได้ปรากฏขึ้นในหมู่ถ้ำบริเวณฝั่งตะวันตกของที่ราบสูงเดกกันนั่นเอง

ปีพุทธศักราช 2362 จอห์น สมิธ นายทหารชาวอังกฤษได้ตามล่าเสือเข้ามาถึงยอดเขาแห่งหนึ่งบริเวณหมู่บ้านอชันตา ใกล้เมืองออรังคบาด ขณะที่เขามองไปที่หน้าผาหินฝั่งตรงข้ามซึ่งปกคลุมไปด้วยต้นไม้หนาทึบ ก็ได้สังเกตเห็นสิ่งหนึ่งที่มีรูปร่างแปลกไปจากลักษณะหน้าผาหินธรรมชาติในบริเวณนั้น สิ่งนั้นดูคล้ายกับส่วนโค้งของสิ่งก่อสร้างที่มนุษย์ทำขึ้น

ด้วยความแปลกใจ จอห์น สมิธ จึงปีนหน้าผาลงไปสำรวจ และเขาก็ต้องตกตะลึงเมื่อพบว่าบริเวณนั้นมีวัดถ้ำเป็นจำนวนมากซ่อนตัวอยู่ในหน้าผาท่ามกลางป่ารกแห่งนั้น

วัดถ้ำที่อชันตา รัฐมหาราษฏระ

ถ้ำเหล่านี้ถูกเจาะลึกเข้าไปในภูเขาเพื่อสร้างเป็นวัด มีวิหารขนาดใหญ่ภายในเต็มไปด้วยงานแกะสลักหิน เป็นเจดีย์ เป็นพระพุทธรูป เป็นเรื่องราวต่างๆ ในพุทธประวัติและชาดกเต็มไปหมด ส่วนสิ่งที่เขามองเห็นแต่ไกลนั้นก็คือส่วนโค้งของประตูถ้ำขนาดมหึมาแห่งหนึ่งที่โผล่พ้นยอดไม้ออกมานั่นเอง

และที่น่าตื่นเต้นที่สุดก็คือ ถ้ำเหล่านี้ซุกซ่อนตัวอยู่ที่นี่มานานถึงกว่า 1,500 ปีแล้วโดยไม่ถูกรุกล้ำนับจากวันที่ถูกทิ้งร้าง

การค้นพบหมู่ถ้ำอชันตาในครั้งนั้นทำให้โลกต้องตื่นตะลึงกับความมหัศจรรย์ของศิลปะวัดถ้ำที่ไม่มีใครเคยเห็นหรือรู้เรื่องมาก่อน ขณะเดียวกันก็ทำให้นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี สามารถปะติดปะต่อเรื่องราวของ ศาสนาพุทธ ในอินเดียได้อย่างชัดเจนเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ด้วยการศึกษาจากภาพแกะสลักหินภายในถ้ำที่ยังคงอยู่อย่างยืนยง ไม่ผุกร่อนพังทลายไปเหมือนพุทธสถานอื่นๆ เพราะทุกอย่างที่นี่สลักขึ้นจากภูเขาทั้งลูก

วัดถ้ำที่อชันตา รัฐมหาราษฏระ

ถ้ำเหล่านี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่อยู่ของสงฆ์ เป็นวัด เป็นวิหาร โดยใช้วิธีเจาะภูเขาทั้งลูกเข้าไป บางถ้ำมีถึงสามชั้น มีทางเดินเชื่อมถึงกันตลอด

ถ้ำที่ก่อสร้างในยุคแรกๆ เป็นวัดถ้ำของพุทธฝ่ายเถรวาท

พระสงฆ์ในยุคนั้นได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยอย่างเรียบง่าย โดยเจาะหินเข้าไปเป็นห้องโถงเปิดโล่ง ใช้เป็นที่นั่งสนทนาธรรม ส่วนผนังทั้งสามด้านก็สกัดหิน เจาะเข้าไปเป็นห้องนอน ภายในมีเตียงหินห้องละสองหลัง

อารามแต่ละแห่งอาจมีพระสงฆ์อาศัยอยู่รวมกันตั้งแต่ 2 รูปจนถึง 20 รูป วัดถ้ำบางแห่งยังมีร่องรอยให้เห็นว่ายังสร้างไม่เสร็จ ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า พระสงฆ์จะใช้วิธีสร้างไปอยู่อาศัยไป พอมีกำลังทรัพย์ที่ชาวบ้านบริจาคมาจึงจะก่อสร้างเพิ่มเติมไปเรื่อยๆ

วัดของพุทธฝ่ายเถรวาทหลายถ้ำสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นห้องบูชาด้วย ฝีมือการแกะสลักของช่างในยุคนั้น พวกเขาได้สกัดหินจากด้านนอกเข้าไปและสกัดจากเพดานถ้ำลงมา จนได้ห้องโถงขนาดใหญ่ มีระเบียงทางเดินอยู่ด้านข้าง มีเจดีย์อยู่ปลายสุดของห้อง

ห้องโถงขนาดใหญ่มีเจดีย์อยู่ปลายสุดของห้อง

การสร้างเจดีย์ไว้เพื่อสักการบูชาแทนองค์พระพุทธเจ้าเป็นธรรมเนียมเดียวกับการสร้างพระสถูปเจดีย์ที่สืบทอดมาจากชาวพุทธทางอินเดียตอนเหนือนั่นเอง ถ้ำอชันตาในยุคแรกจึงยังไม่มีการแกะสลักพระพุทธรูปให้เห็น

ถ้ำหมายเลข 10 ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในหมู่ถ้ำอชันตา สร้างเป็นหอสวดมนต์บูชาพระเจดีย์ เมื่อครั้งที่จอห์น สมิธ ได้เข้าพบเห็นเป็นครั้งแรก ตอนที่เขาเข้ามาในถ้ำนั้น ดินโคลนได้ทับถมสูงขึ้นไปจากพื้นถ้ำกว่าครึ่ง เขาได้จารึกชื่อไว้บนเสาหิน พร้อมลงวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2362 วันที่ถ้ำอชันตาปรากฏสู่สายตาชาวโลก

จอห์น สมิธได้จารึกชื่อไว้บนเสาหิน พร้อมลงวันที่

แต่รอยจารึกสำคัญที่พบในถ้ำเดียวกันนี้ได้ระบุชื่อกษัตริย์พระองค์หนึ่งในราชวงศ์สาตวาหนะ ทำให้นักประวัติศาสตร์ได้รู้ว่า วัดถ้ำที่อชันตาได้รับการอุปถัมภ์อย่างต่อเนื่องจากพระมหากษัตริย์ตั้งแต่การสร้างวัดถ้ำในยุคแรกๆ
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-7 07:30 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แม่น้ำวโฆระ
ลักษณะของหมู่วัดถ้ำอชันตานั้น พบว่ามีถ้ำมากกว่า 30 ถ้ำ เรียงตัวต่อเนื่องกันยาวหลายร้อยเมตรบนเชิงเขาสูงวงโค้งรูปพระจันทร์เสี้ยว บริเวณหน้าถ้ำแต่ละแห่งสร้างเป็นบันไดทอดยาวลงไปยังแม่น้ำสายเล็กๆ ที่ไหลลดเลี้ยวไปตามหุบเขาเบื้องล่าง แม่น้ำสายนี้คือแม่น้ำวโฆระ ซึ่งจะมีระดับน้ำขึ้นสูงในช่วงฤดูฝน

ในอดีตแม่น้ำสายนี้ยังเป็นเส้นทางหลักในการเดินทางของพระภิกษุและชาวบ้านมายังวัดถ้ำอชันตา

ถ้ำพุทธฝ่ายเถรวาทที่อชันตาเจริญรุ่งเรืองอยู่ต่อมาอีกราว 200 ปีจนถึง พุทธศักราช 550 ก็หยุดชะงัก ไม่ปรากฏร่องรอยการสร้างวัดถ้ำของพุทธฝ่ายเถรวาทที่นี่อีกต่อไปนานถึง 400 ปี จึงกลับมาสร้างต่ออีกครั้งในราวพุทธศตวรรษที่ 10

แกะสลักพระพุทธรูปงดงามในยุคพุทธมหายาน วัดถ้ำที่อชันตา

แม้ยังไม่มีคำตอบว่า เกิดอะไรขึ้นกับพุทธสถานที่ถ้ำอชันตาในช่วง 400 ปีที่เว้นว่างไป แต่ในช่วงเวลานั้นเองก็ได้เกิดความเคลื่อนไหวสำคัญที่พลิกโฉมศาสนาพุทธในอินเดียไปอย่างสิ้นเชิง

สิ่งแรกก็คือ การเกิดขึ้นของพระพุทธรูป

สิ่งที่สองคือ ศาสนาพุทธ สายมหายานได้เกิดขึ้นแล้วอย่างเต็มตัว

การสร้างวัดถ้ำที่อชันตาระยะที่ 2 เริ่มขึ้นอีกครั้ง หลังจาก ศาสนาพุทธ ในอินเดียได้เข้าสู่ยุคของมหายานไปแล้วถึง 400 ปี

ในบรรดาวัดถ้ำทั้งหมด พบว่ามีวัดถ้ำในแบบพุทธมหายานถึง 24 ถ้ำ ทั้งหมดถูกสร้างขึ้นในสมัยคุปตะ ซึ่งเป็นยุคทองของศิลปะอินเดีย พระภิกษุฝ่ายมหายานได้เข้ามาอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก และปรับเปลี่ยนถ้ำให้เหมาะสมกับพิธีกรรมที่ทำขึ้น

ภายในวัดถ้ำที่อชันตา มีพระพุทธรูปเอาไว้สักการบูชา

ถ้ำพุทธมหายานที่ใหญ่โตและสวยงามที่สุดคือถ้ำหมายเลข 4

จากวิหารแบบเรียบง่ายที่สร้างขึ้นในสมัยพุทธฝ่ายเถรวาท ถูกเปลี่ยนไปเป็นห้องโถงใหญ่โตโอ่อ่า สลักหินเป็นเสาสูงมากมาย ที่หัวเสาแกะสลักเป็นลวดลายงดงามทั่วทั้งคูหาถ้ำ

ผนังด้านในทั้งสองด้านแกะสลักเป็นพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ขนาดใหญ่ ที่แสดงให้เห็นถึงฝีมือช่างประติมากรรมชั้นสูงในการแกะสลักหินออกมาได้อย่างอ่อนช้อยสวยงาม

ด้านในสุดถูกเจาะเข้าไปเป็นห้อง แกะสลักเป็นแท่นและพระพุทธรูปเอาไว้สักการบูชา

ภาพเขียนสีบนผนังถ้ำอชันตาหมายเลข 1 รูปพระโพธิสัตว์ปัทมปาณี

ส่วนถ้ำหมายเลข 1 เป็นถ้ำพุทธมหายานที่ได้รับการกล่าวขวัญไปทั่วโลกว่ามีภาพเขียนสีที่งดงามมากที่สุด แม้เวลาจะผ่านมานานถึงกว่า 1,500 ปี ภาพก็ยังคงสีสันและลายเส้นที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์มากอย่างไม่น่าเชื่อ

ภาพที่โด่งดังที่สุดเป็นภาพพระโพธิสัตว์ปัทมปาณี และพระโพธิสัตว์วัชรปาณี

ภายในถ้ำค่อนข้างมืดสลัว มีเพียงแสงไฟเย็นสีเขียวส่องไว้ที่ภาพ เพราะทางการอินเดียห้ามใช้แสงแฟลชหรือแสงใดๆ ในการถ่ายภาพเด็ดขาด แม้กระทั่งขาตั้งกล้อง ด้วยเกรงว่าจะไปทำลายสภาพดั้งเดิมภายในถ้ำ

เทคนิคในการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ถ้ำอชันตานั้นมีชื่อเสียงโด่งดังอย่างมากในระดับนานาชาติ ภาพพุทธประวัติและชาดกในถ้ำหมายเลข 1 และ 2 เขียนขึ้นมาก่อนยุคเรอเนสซองซ์ของกรีก แต่ศิลปินในยุคนั้นก็รู้เทคนิคที่จะทำให้ภาพมีมิติ ดูสมจริงสมจัง งดงามทั้งสัดส่วนและการใช้สีมาก่อนแล้ว

ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ถ้ำอชันตา

งานจิตรกรรมฝาผนังที่ถ้ำอชันตาจึงได้กลายเป็นงานศิลปะคลาสสิกของอินเดีย ให้ศิลปินรุ่นหลังยึดถือเป็นแบบอย่างกันต่อมา

ขณะที่หมู่ถ้ำพุทธที่อชันตามีชื่อเสียงโดดเด่นในเรื่องของการสร้างสรรค์งานศิลปะ ก็ยังมีหมู่ถ้ำเก่าแก่ อายุรุ่นราวคราวเดียวกับถ้ำอชันตาอีกนับร้อยถ้ำที่แสดงความโดดเด่นด้านวิถีความเป็นอยู่ของพระสงฆ์มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สมัยพุทธเถรวาท จนเข้าสู่ยุคของพุทธมหายาน หมู่ถ้ำแห่งนี้อยู่ห่างจากมุมไบ (บอมเบย์) เพียง 42 กิโลเมตรเท่านั้น

ที่นี่คือหมู่ถ้ำกฤษณะคีรี ที่ฝังตัวอยู่ในป่าลึกมานานนับพันปีเช่นกัน
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-7 07:31 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ถ้ำกฤษณะคีรี
แม้ปัจจุบันคนทั่วไปจะรู้จักสถานที่แห่งนี้ในชื่ออุทยานแห่งชาติสัญชัยคานธี แต่สำหรับนักโบราณคดีแล้ว ที่นี่คือหมู่ถ้ำที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์ที่มีอาณาเขตกว้างขวางใหญ่โตที่สุดในอินเดียตะวันตก กินพื้นที่ถึง 2 ตารางกิโลเมตร มีถ้ำกระจายตัวอยู่ตามภูเขาเป็นจำนวนมาก เท่าที่พบตอนนี้ก็มีอยู่ทั้งหมด 112 ถ้ำ เป็นถ้ำที่สร้างขึ้นสำหรับให้พระภิกษุอาศัยถึง 107 ถ้ำ ที่เหลือจะเป็นถ้ำสำหรับประกอบพิธีสงฆ์

เรื่องราวการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของพระสงฆ์ที่นี่ เห็นได้ชัดว่ามีเส้นแบ่งเวลาระหว่างการก่อสร้างของพระยุคเถรวาทกับการเข้ามาบูรณะของพระในยุคมหายาน เพราะตลอดระยะเวลากว่า 1,100 ปีที่พระสงฆ์ได้อาศัยป่าแห่งนี้หลีกเร้นความวุ่นวายจากโลกภายนอก คณะสงฆ์ฝ่ายเถรวาทได้เริ่มเข้ามาอยู่ก่อนตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 4 จนกระทั่งคณะสงฆ์ฝ่ายมหายานได้ตามเข้ามาสมทบในราวพุทธศตวรรษที่ 10 และอยู่ร่วมกันไปอีก 300 ปีจึงทิ้งร้างไป

ถ้ำกฤษณะคีรี

ฉันได้เดินทางล่วงหน้ามารอพบกับลักษมี กีชอร์ คนนำทางในอินเดียคนแรกและคนเดียวที่เป็นผู้หญิง ลักษมีได้นำทางฉันขึ้นไปบนเขากฤษณะคีรี ซึ่งเธออธิบายให้ฟังว่า

“ถ้ำนี้สร้างเป็นหอสวดมนต์ เห็นได้ว่าเริ่มสร้างตั้งแต่ยุคที่ยังเป็นพุทธเถรวาท ดูจากเจดีย์ที่สร้างไว้ในถ้ำ เป็นธรรมเนียมการบูชาเจดีย์แทนองค์พระพุทธเจ้าของพุทธนิกายเถรวาท...ในถ้ำนี้เวลาสวดเสียงจะดังกังวานมาก ถ้ำที่ 11 นี้ดูจะแปลกไปจากถ้ำที่อยู่ของสงฆ์ถ้ำอื่นๆ จะเห็นว่ามีการสร้างโต๊ะหินขนาดใหญ่ไว้กลางถ้ำ มีจารึกระบุเอาไว้ว่าเป็นห้องฉันอาหาร แต่ขณะเดียวกันก็อาจจะใช้เป็นห้องประชุมไปด้วย” เธอเล่าขณะนำทางฉันดูถ้ำต่างๆ

เมื่อพุทธฝ่ายมหายานเข้ามาอยู่ ก็ได้สร้างพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์เพิ่มเติม มีการแกะสลักเรื่องราวในชาดกตามฝาผนังถ้ำ รวมทั้งสร้างรูปผู้บริจาคประดับไว้

ถ้ำนี้สร้างเป็นหอสวดมนต์


ถ้ำที่ 11 สร้างเป็นห้องฉันอาหาร

กล่าวกันว่า วัดถ้ำสงฆ์ที่กฤษณะคีรีได้รับการบริจาคเงินสร้างวัดจากเศรษฐี ที่ส่วนใหญ่จะเป็นพ่อค้าที่ส่งสินค้าออกไปขายในต่างประเทศ เพราะหมู่ถ้ำนี้อยู่ในเส้นทางที่พวกเขาจะต้องขนส่งสินค้าผ่านไปยังเมืองท่าริมฝั่งทะเลตะวันตก พระสงฆ์ที่นี่จึงค่อนข้างมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี

นักโบราณคดีพบจารึกที่ระบุว่า มีการบริจาคเงินเพื่อสร้างโรงครัว สร้างบ่อน้ำถวายพระสงฆ์ ถ้ำแต่ละแห่งจึงมีบ่อเก็บน้ำกินน้ำใช้สร้างไว้ที่หน้าถ้ำ

ลักษมีได้นัดกับเจ้าหน้าที่รักษาป่าเอาไว้ โดยบอกว่าจะพาไปดูสถานที่แห่งหนึ่งที่ซ่อนตัวอยู่ในป่าลึก ไม่อนุญาตให้คนทั่วไปเข้าไปในบริเวณนั้น พวกเขาพาฉันเดินลัดเลาะไปตามไหล่เขาและทุ่งหญ้า ห่างออกไปจากบริเวณถ้ำประมาณ 2 กิโลเมตร สถานที่แห่งนั้นซ่อนตัวอยู่ใต้ชะง่อนผาที่ห่างไกลจากสายตาผู้คน เจ้าหน้าที่ป่าไม้พาเราไต่หน้าผาลงไปข้างล่าง

สักครู่ใหญ่เราก็มาถึงสถานที่แห่งนั้น

ที่นั่น ฉันเห็นฐานของสถูปขนาดเล็กจำนวนมากตั้งเรียงรายไว้ใต้หน้าผา เจ้าหน้าที่บอกว่าที่นี่คือสุสานของพระสงฆ์ในสมัยโบราณ มีสถูปขนาดใหญ่สร้างไว้ตรงกลางลานสำหรับสักการบูชา เจ้าหน้าที่เล่าให้ฟังว่ากว่าทางการจะเข้ามาดูแล พวกล่าสมบัติก็มาขุดหาของจนสถูปพังไปหมดแล้ว

บริเวณสุสานโบราณที่ฝังศพพระสงฆ์ที่กฤษณะคีรี

ใกล้ๆ กับสถูป พวกเขายังพบถ้ำสำหรับพระสงฆ์นั่งวิปัสสนา ยังมีร่องรอยของภาพแกะสลักพระพุทธรูป ซึ่งอาจจะผุพังไปบ้างตามกาลเวลา แต่ก็มีเค้าโครงที่สมบูรณ์มาก สุสานพระสงฆ์แห่งนี้มีอายุอยู่ในช่วงที่พุทธมหายานได้เข้ามาแล้ว และอยู่ต่อไปจนกระทั่งวัดถ้ำที่กฤษณะคีรีถูกทิ้งร้างไปในพุทธศตวรรษที่ 14

ในช่วงเวลาเพียงห้าร้อยกว่าปีหลังจาก พระพุทธเจ้า ปรินิพพานได้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมาย ทั้งการเดินทางของศาสนาพุทธไปสู่นานาประเทศและตามมาด้วยการเติบโตของพุทธนิกายมหายานไปทั่วอินเดีย

การเกิดขึ้นของมหายานนี้มีเหตุมีผล มีที่มาที่ไป เพราะทั้งเถรวาทและมหายานก็ต่างเสริมความแข็งแกร่งให้กับศาสนาพุทธ ไปคนละด้าน ทำให้ ศาสนาพุทธ มีความมั่นคงและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกอย่างทุกวันนี้ ขณะเดียวกันก็มีผลต่อการเติบโตของ ศาสนาพุทธ ในอินเดียในเวลาต่อมา

ที่มา จากหนังสือ "ตามรอยพระพุทธเจ้า"
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้