ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2172
ตอบกลับ: 4
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ เสียสละเพื่อธรรม ~

[คัดลอกลิงก์]
เสียสละเพื่อธรรม



การปฏิบัติธรรมของพวกเราทั้งหลายที่มารวมกันอยู่นี้ทั้งพระอาคันตุกะและทั้งพระเจ้าของถิ่นผมเองก็ไม่ค่อยจะมีเวลาได้พบกับพระอาคันตุกะบางท่านส่วนพระที่อยู่ในถิ่นนั้นได้เคยอบรมบ่มนิสัยมาพอสมควรฉะนั้นจึงไม่ควรปล่อยโอกาสและเวลาให้เนิ่นนานไป
อย่างไรก็ตามจะเป็นพระอาคันตุกะหรือเป็นพระเจ้าของถิ่นก็ตามทุกๆท่านนั้นให้เข้าใจว่าเราเป็นผู้หนึ่งซึ่งเป็นผู้เสียสละทุกสิ่งทุกอย่างโดยความหมายในทางพระ-พุทธศาสนาอยู่แล้วถ้าท่านองค์ใดยังไม่ยอมเสียสละสิ่งอันควรเสียสละในทางพระพุทธศาสนานี้ท่านองค์นั้นก็ยังไม่เข้าถึงพระพุทธศาสนายังไม่เข้าถึงความสงบตามคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือตามวิสัยของสมณะความหมายที่พวกเราทุกๆท่านที่มารวมกันก็มีจุดหมายกันอย่างนั้นฉะนั้นเมื่อเป็นเช่นนี้พวกเราทั้งหลายนั้นต้องเข้าใจว่ารวมทั้งพระอาคันตุกะและรวมทั้งพระที่อยู่ในถิ่นฐานนี้ก็คือเป็นพระองค์เดียวกันเป็นพ่อแม่อันเดียวกันมีข้อวัตรปฏิบัติเสมอกันมีความเป็นอยู่เสมอกันนั่นจึงมีความสามัคคีกันมันจึงมีความสบายสมกับว่าเราเป็นผู้ที่เสียสละมาแล้ว
การเสียสละนี้แหละเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาแท้ทุกท่านที่แสวงหาโมกขธรรมคือ เป็นทางหรือเป็นปากทางแห่งการพ้นทุกข์นั้นก็คือมีคำๆเดียวเรียกว่า"ยอมเสียสละสิ่งทั้งปวง"นั่นเอง อันใดที่พวกเราทั้งหลายสละไปแล้วนั้นเราปล่อยไปจากกายก็เบากายปล่อยไปจากใจก็เบาใจอันนี้คือการปฏิบัติที่พวกเรามุ่งแสวงหาก็ไม่มีอะไรมากมายถ้าเรายอมเสียสละแล้วมันก็ถึงธรรมะเท่านั้นแหละไม่ต้องยากไม่ต้องยุ่งไม่ต้องลำบากผู้ที่ยังไม่ถึงธรรมะข้างในก็เอาธรรมะข้อปฏิบัติอันนี้มาทำกันเช่น ขันติบารมีวิริยบารมีเมตตาบารมีทั้งหลายเหล่านี้เป็นต้นมาเป็นขั้นตอนที่เราจะดำเนินในชีวิตของเราอยู่เสมออันนี้เป็นพี่เลี้ยงที่จะให้พวกเราทั้งหลายเข้าถึงธรรมะจะให้ถึงปากถึงทาง ถึงโมกขธรรมอย่างที่เราปรารถนา
แต่ว่าก็ทุกท่านทุกองค์นั้นอาจจะยังไม่เข้าใจในการปฏิบัติเช่นมาอยู่ในวัดหนองป่าพงนี้หรือบวชเข้ามาแล้วก็นึกว่าเราได้บวชแล้วอย่างนี้ก็มีก็เพราะมองเห็นว่าผ้าจีวรมันเหลืองได้ปลงผมตามกาลตามเวลาอาศัยเที่ยวบิณฑบาตเลี้ยงชีพแค่นี้ก็เข้าใจว่าเราบวชแล้วหรือหากว่าเราได้มาร่วมอยู่ในวัดหนองป่าพงนี้นึกว่าถือพุทธศาสนาและเข้าถึงพุทธศาสนาแล้วอย่างนี้หรือว่าเราได้มาร่วมกับผู้ประพฤติปฏิบัติก็ว่าเราได้ปฏิบัติแล้วอย่างนี้อันนี้มันยังมีอะไรเป็นเครื่องกำบังอยู่ในตาข้างในนี้มากเราไม่ค่อยจะมองเห็นสิ่งที่เรามองเห็นข้างนอกมันเป็นสิ่งผิวเผินเช่นว่า "ผมไม่มีศรัทธาผมจะมาบวชรึ"อย่างนี้เป็นต้น
"ผมไม่มีศรัทธาผมจะมาปฏิบัติรึ"
หรือ "ผมไม่ชอบอยู่ป่าผมจะมาอยู่ป่ารึ"อย่างนี้เป็นต้นอันนี้เป็นความเข้าใจเพียงผิวเผิน
ความเป็นจริงนั้นการปฏิบัตินี้มันเป็นของพวกท่านทั้งหลายที่จะรู้ได้ในใจของพวกท่านทั้งหลายเพราะว่าความผิดชอบทั้งหลายความดีชั่วทั้งหลายนั้นไม่มีใครเห็นกับเราด้วยเราจะยืน เราจะเดินเราจะนั่งเราจะนอน เราจะมีความรู้สึกอย่างไรนั้นก็เป็นเพียงแต่ว่าเราคนเดียวนั้นเป็นคนรู้จักถ้าเราฝืนข้อประพฤติปฏิบัติคือพระ-ธรรมวินัยนี้ก็เราเองเป็นคนรู้จักคนอื่นไม่ค่อยรู้จักด้วยฉะนั้น การมาอยู่ร่วมกันนี้จะต้องอาศัยตัวเองเป็นอย่างยิ่งถ้าหากเราไม่อาศัยตัวเราเองคนอื่นเราก็อาศัยไม่ได้อันนี้ให้เข้าใจให้ดี
การปฏิบัตินี้ไม่มีทางจะมองเห็นอะไรได้ข้างนอกดังนั้น ผู้ประพฤติปฏิบัตินี้บางท่านบางองค์มีความเดือดร้อนเดือดร้อนอะไรเดือดร้อนเรื่องความสงสัยสงสัยที่อยู่อาศัยสงสัยในความรู้สึกนึกคิดของเราและการสงสัยเกิดขึ้นโดยเฉพาะเรื่องของคนอื่นก็มีเรื่องราวต่างๆเช่นนั้นอันนี้เป็นเหตุให้เราอยู่ไม่สบาย
ไม่ต้องยกอื่นไกลหรอกตัวอย่างผมเองนี่แหละให้พวกท่านทั้งหลายฟังให้เห็นชัดเพราะผมนี้ก็เป็นนักบวชตลอดแต่วันบวชมาตั้งแต่เป็นเณรแต่ไม่ค่อยยอมเสียสละอยู่มาสามสี่ห้าพรรษาแล้วก็ตามก็มีความเสียสละน้อยสิ่งที่ชอบใจเราก็เสียสละสิ่งที่ฝืนใจเรานั้นผมไม่ค่อยยอมเสียสละอะไรที่ผมไม่ชอบใจแล้วผมก็ไม่ค่อยยอมเสียสละอันนั้นจึงมามองเห็นว่าการยอมเสียสละของเราทั้งหลายนั้นมองเห็นได้ยากเพราะตามธรรมดาของคนเราสามัญชนก็ต้องเป็นอย่างนั้นมันชอบตามใจตัวเองชอบตามเรื่องของตัวเองแต่ถ้าหากว่าเราเข้าถึงการประพฤติปฏิบัติแล้วมันไม่เป็นอย่างนั้นถ้าเรามาสะสางดีๆแล้วไม่เป็นอย่างนั้น
ทีนี้ เมื่อเข้ามาบวชเข้ามาปฏิบัติถ้าอยู่ไปอย่างนั้นมันก็มีความสบายอย่างหนึ่งเหมือนกันผมนี่อยู่ทั้งวัดบ้านทั้งวัดป่าอยู่ไปอย่างนั้นเรื่อยๆไป ก็ไม่มีอะไรเท่าไรเพราะไม่มีเรื่องขัดใจของเราเราอยากจะพูดอะไรเราก็พูด อยากจะทำอะไรเราก็ทำตามใจของเราก็เลยไม่มีความเดือดร้อนสบาย สบายใจของตัวเองอยากพูดอะไรก็พูดอยากทำอะไรก็ทำเลยสบายความสบายเช่นนั้นแหละมันมีความผิดมันมีความไม่สบายอยู่ในนั้นมากแต่เราก็มองไม่เห็นแล้วก็ตามใจความสบายใจของเราเรื่อยๆไป
ความเป็นจริงใจของเรานั้นกับสัจจธรรมมันคนละอย่างกันเสียแล้วใจของเราถ้าหากว่ามันผิดแต่เราชอบใจเราก็ทำก็ได้แต่ว่ามันไม่ใช่สัจจธรรมไม่ใช่ธรรมที่ให้พ้นทุกข์อันนั้นมันถูกเฉพาะใจของเราตามธรรมะนั้นมันไม่ถูกมันก็เป็นอย่างนี้เรื่อยๆมาถ้าปล่อยใจไปตามเรื่องของมันมันก็ไม่มีอะไรมากมายเท่าไร
ผมเคยเปรียบให้ท่านทั้งหลายฟังเสมอว่าเมื่อเราเป็นเด็กหรือเด็กทั้งหลายตลอดจนทุกวันนี้เราเอาตุ๊กตาอันหนึ่งตัวหนึ่งให้เล่นเด็กก็เล่นสบายใจเพราะตุ๊กตาเป็นสิ่งที่ชอบใจอย่างนี้แต่เด็กคนนั้นไม่รู้เรื่องว่าตุ๊กตานี่เป็นพิษก็เพราะเข้าใจว่าตุ๊กตานี้มันชอบเล่นก็เพลินกับตุ๊กตานั้นเมื่อเล่นไปหลายๆวันตุ๊กตามันหล่นมันแตกเด็กนั้นจึงจะรู้สึกตัวว่าความน้อยใจความเสียใจเกิดขึ้นมาอย่างนี้เป็นต้นทำไมถึงเป็นอย่างนั้นเมื่อตุ๊กตามันยังไม่แตกมันยังไม่พังความชอบใจความสุขใจนั่นแหละมันบังทุกข์ไว้มันบังไม่ให้เห็นทุกข์ก็เพราะตุ๊กตามันยังไม่พังอันนั้นเป็นเครื่องกำบังไว้ไม่ให้เด็กร้องไห้เป็นทุกข์เมื่อตุ๊กตานั้นมันพังไปแล้วเด็กนั้นมันก็เสียใจมันก็ร้องไห้เมื่อมาถึงความจริงเช่นนี้แล้วเด็กมันอยู่ไม่ได้


2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-4 12:41 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เมื่อเราบวชเข้ามาอยู่ในความหลอกลวงของอารมณ์ทั้งหลายเราก็สบายสบายกันอยู่อาศัยอารมณ์นั้นเป็นอยู่อันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้นถ้าเราปฏิบัติกันมีความสบายผมก็ถามว่า"มันสบายอย่างไรมันสบายเพราะว่ามีอาการเสียสละทางใจหรือ"อย่างนี้ความเป็นจริงความสบายนั้นมันมีพิษอยู่ในนั้นมันสบายอยู่กับสิ่งที่เราชอบใจสิ่งที่ไม่ชอบใจเราก็ไม่สบายอันนี้ก็เป็นเครื่องกำบังของพระภิกษุสามเณรผู้ประพฤติปฏิบัติอยู่เหมือนกันเท่ากับว่าเราไม่ได้ปฏิบัติถ้าถูกอารมณ์อันใดที่ไม่ชอบใจมันก็ใจไม่สบายถูกอารมณ์บางอย่างที่เราชอบใจเราก็สบายอย่างนี้ยังไม่เห็นพื้นฐานอะไรเลย
พูดว่ายังไม่เห็นพื้นฐานอะไรเหมือนเด็กมันเล่นตุ๊กตามันยังไม่เห็นพื้นฐานของทุกข์เลยไม่เห็นพื้นฐานของตุ๊กตาที่อาจจะพังได้มันก็ติดอยู่อย่างนั้นอารมณ์ที่พวกเราทั้งหลายติดตามมันอยู่ด้วยความชอบใจมันก็เป็นอยู่อย่างนั้นมันก็มีความหลงงมงายอยู่ในตุ๊กตาเหมือนเด็กนี้เรียกว่างมงายอยู่ในอารมณ์เหมือนเด็กนั้นเมื่อถึงเวลามันเปลี่ยนแปลงมันเป็น สัญญาวิปลาสเมื่อสัญญาวิปลาสคือสัญญาความจำนี้เปลี่ยนมันเปลี่ยนจากที่เก่าของมันอย่างเราเห็นบาตรของเราอยู่อย่างนี้มันก็เป็นวิปลาสอันหนึ่งอยู่ตอนบาตรไม่ร้าวไม่แตกเมื่อบาตรเราแตกมันก็เป็นสัญญาวิปลาสขึ้นอีกอันหนึ่งจิตมันจะเปลี่ยนทันทีนี้เรียกว่าจิตไปอาศัยอามิสอยู่ไม่อาศัยเนกขัม-มธรรมอาศัยอามิสคือ สิ่งของอาศัยบาตร อาศัยจีวรอาศัยเสนาสนะอยู่มันก็เพลินมันก็ติดอยู่ด้วยอามิสไม่อาศัยเนกขัมมะ(การออกจากกาม,การออกบวช, ความปลอดโปร่งจากสิ่งล่อเร้าเย้ายวน)อยู่ภายใน
อย่างกิจของบรรพชิตที่ท่านสวดกันวันนี้(บทสวดปัจจัยปัจจ-เวกขณะคือบทพิจารณาปัจจัย๔ ก่อนบริโภค)เป็นประโยชน์มากเหลือเกินไม่ใช่ว่าไม่เป็นประโยชน์แต่สูตรนี้มันก็อาภัพอยู่ในตำรับตำราของมันเหมือนกับไม่มีอะไรถ้าเราเอาสูตรนี้มาพิจารณามันก็มีข้อความออกมามันก็มีความหมายเราได้ฟังก็เป็นเช่นนั้นเพราะฉะนั้นบริขารชิ้นใดชิ้นหนึ่งจะเป็นบาตร จีวรเสนาสนะ เภสัชอะไรก็ตามในวันนี้เรามักไม่ได้พิจารณาแล้ววันพรุ่งนี้ก็ต้องพิจารณาเราห่มจีวรใส่สังฆาฏิเราฉันบิณฑบาตเราอุ้มบาตรเข้าไปในบ้านอย่างนี้ที่อยู่ที่อาศัยอย่างนี้วันนี้ตอนเช้าเรายังไม่ได้พิจารณาอดีตมันล่วงมาแล้วนั้นต่อมานี้ท่านจึงให้พิจารณาพิจารณาถึงอามิสทั้งหลายนี้ว่ามันเป็นอามิสมันเป็นวัตถุบัดนี้เรามองเห็นตัวตาเราก็สบายใจอีกวันหนึ่งเราไม่ได้มองเห็นด้วยตาเราก็จะเป็นทุกข์นี้เรียกว่าอามิสสุขมันสุขอยู่ด้วยอามิสพระพุทธเจ้าจึงให้เราทั้งหลายพิจารณาให้มากที่สุดเรื่องจีวรบิณฑบาต เสนาสนะเภสัช
มันเป็นเรื่องข้องเกี่ยวกับเรื่องสมณะทั้งหลายอยู่เท่านั้น..๔.อย่างคือจีวร บิณฑบาตเสนาสนะ เภสัชเป็นบริขารและเป็นปัจจัยจำเป็นที่พวกเราทั้งหลายจะต้องอาศัยอยู่ตลอดเวลาเหมือนกันกับพระพุทธเจ้าและพระอริยะทั้งหลายมันเป็นของจำเป็นของสมณะทั้งหลายที่จะอยู่อาศัยจนกว่าชีวิตจะหาไม่ฉะนั้น ท่านกลัวว่าเราทั้งหลายจะไปเพลินในอย่างอื่นเสียจะไม่ได้พิจารณาอันนี้ได้อาหารก็เพลินกับอาหารได้จีวรก็เพลินกับจีวรได้บาตรก็เพลินกับบาตรได้กุฏิที่ดีที่สวยก็เพลินเสียได้ยาบำบัดโรคฉันเข้าไปมันหายโรคก็เพลินเสียกลัวพวกท่านทั้งหลายจะเป็นผู้เพลินอยู่ด้วยสิ่งทั้งหลายเหล่านี้โดยปราศจากสติไม่มีสติ ก็เป็นเหตุให้เพลินให้หลงใหลตามสิ่งทั้งหลายเหล่านี้
สตินี้มันเป็นธรรมอันหนึ่งแต่ว่าเราก็พยายามให้มีธรรมเหล่าอื่นเกิดขึ้นมารวมกันหลายๆอย่างเช่น มีสติ แล้วต่อไปก็มีสัมปชัญญะรู้ตัวพูดง่ายๆเรียกว่าสติ ความระลึกได้เมื่อมีความระลึกได้ความรู้ตัวมันก็พร้อมกันมาเมื่อมีความรู้ตัวเกิดขึ้นมาเราก็หาที่พึ่งที่หลักเรียนหาที่ปฏิบัติต่อไปก็ให้วิจัยปัญญาก็เกิดสิ่งทั้งสามนี้มันจะต้องพร้อมเพรียงกันอยู่เสมอทีเดียวถ้าเรามีสติอยู่สัมปชัญญะก็เกิดขึ้นเมื่อสัมปชัญญะเกิดแล้วก็ดึงเอาปัญญามาสติดึงเอาสัมปชัญญะมาระลึกแล้วก็รู้ตัวรู้ตัวแล้วก็พิจารณาปัญญาเกิดถ้าหากปราศจากธรรม๓ ประการนี้แล้วก็ตกลงว่าเราทั้งหลายอยู่ในความประมาทพระพุทธองค์ท่านตรัสว่า
"ผู้ไม่มีสติก็คือคนประมาทคนที่ประมาทนั้นก็คือคนตาย"
แม้มีชีวิตอยู่ก็เรียกว่าตายแล้วเพราะจิตใจมันตายไม่มีอะไรแล้วเป็นผู้ประมาท
"ปมาโท มจฺจุโนปทํคนประมาทแล้วเหมือนคนตาย"
นี่ตายในภาษาธรรมะตายในภาษาด้านปรมัตถ์ไม่ใช่ตายในร่างกายของเราเกิดในร่างกายของเราเป็นผู้ตายในภาษาธรรมะไม่ใช่เป็นภาษาคนธรรมดาถ้าเป็นภาษาคนธรรมดาตายก็ลมหายใจไม่มีนี่ก็เรียกว่าเขาฟังกันออกเขารู้กัน แต่ตายโดยธรรมะก็เรียกว่าผู้ไม่มีสติไม่มีสัมปชัญญะไม่มีปัญญาฉะนั้น เมื่อไม่รู้จักอันนี้เราก็เห็นว่าเราเป็นอยู่เสมอไม่เห็นว่าเราตายทีนี้เมื่อคนตายจะเป็นอย่างไรเมื่อตายมันก็หมดแล้วหมดความรู้สึกหมดอะไรหลายๆอย่างไม่เกิดประโยชน์นั่นคือคนตายถ้าพวกเราทั้งหลายเป็นอยู่อย่างนั้นมันก็เป็นคนตายดังนั้นพระพุทธเจ้าของเราท่านจึงไม่ให้ประมาทในอามิสทั้งหลายท่านกลัวพวกเราจะติดกันให้รู้จักอามิสกลัวพวกเราทั้งหลายจะติดอามิสคือสิ่งของเพราะว่าพวกเราทั้งหลายนั้นจะมีโอกาสที่จะอยู่กับสิ่งทั้งหลายเหล่านี้จนถึงวันตาย
ฉะนั้น เมื่อเราใกล้ชิดสิ่งทั้งหลายเหล่านี้อยู่พระพุทธเจ้าท่านจึงทรงให้พิจารณาให้มากระวังให้มากระมัดระวังเมื่อมีความระมัดระวังก็มีความสำรวมเมื่อมีความสำรวมก็มีความระมัดระวังเมื่อเราระมัดระวังอยู่เมื่อใดสติเราก็มีอยู่เมื่อนั้นสัมปชัญญะเราก็มีอยู่ปัญญาเราก็มีอยู่ถ้าเราระวังอยู่การสังวรการสำรวมระวังนี้มันจะเป็นศีลถ้าพูดง่ายๆตัวนี้มันจะเป็นตัวศีลอาการของศีลถ้ามันเป็นอย่างนี้มันจะรอบคอบของมันอยู่ระมัดระวังของมันอยู่มีความอายเมื่อมีความอายแล้วก็มีความกลัวเมื่อผิดพลาดไปทำอะไรพลาดไปเช่นเมื่อเดินไปสะดุดหัวตอหรือเมื่อสิ่งของอะไรที่เราหยิบเช่นว่า กระโถนที่เราหยิบมามันพลัดจากมือเราไปเสียอย่างแก้วน้ำเรานี้เราทำมันพลัดตกแตกหรือเราไปทำอะไรที่เสียงมันดัง"เคร้ง" ขึ้น ก็มีความละอายแล้วผู้ปฏิบัตินั้นมีความละอายมากแล้วมีความสำรวมแล้วมีความรู้แล้วมีความเห็นแล้วมองเห็นข้อปฏิบัติของเราแล้วมองเห็นความเป็นอยู่ของเราว่ามันขาดอะไรต่ออะไรนี่คือมันละอายอยู่และระมัดระวังอยู่ถ้ามันละอายมากๆก็ระวังมากๆเมื่อระวังมากสติมันก็ดีขึ้นมาสัมปชัญญะก็มากขึ้นมาปัญญาก็เกิดขึ้นมามันอยู่ในสายเดียวกันนี้
ฉะนั้น พวกเราทั้งหลายซึ่งมาอยู่ในที่นี้เป็นกันอยู่สองอย่างคืออามิสสุขและ นิรามิสสุขสุขอย่างหนึ่งเพราะมีอามิสอาศัยอามิสอยู่สุขอีกประเภทไม่ต้องอาศัยนี่เป็น นิรามิสสุขสุขอันนั้นผสมกันในความสงบทีนี้พวกเราทั้งหลายปฏิบัตินี้ก็ต้องแยกพิจารณาพิจารณาแยกเช่น การห่มผ้าก็พิจารณาการเที่ยวบิณฑบาตก็พิจารณาการฉันบิณฑบาตก็พิจารณาการอยู่เสนาสนะก็พิจารณาการฉันยาบำบัดโรคก็พิจารณาการพิจารณาอย่างนี้ให้คุมปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้อยู่ในวัดนี้ก็ให้วัดนี้สะอาดให้วัดนี้น่าอยู่แต่ก็อย่าไปติดมันอันนี้เป็นเรื่องของโลกเสนาสนะกุฏิหลังนี้ท่านให้เราอยู่เราก็ต้องรักษาเสนาสนะนั้นให้เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติไม่ใช่ว่าเราปฏิบัติเสนาสนะอันนั้นเพื่อให้เราไปติดในเสนาสนะอันนั้นอันนี้มันเป็นของสงฆ์แต่คนเราก็ชอบถ้าเป็นของๆตัวก็ทำให้ดีมากของคนอื่นก็ชอบวางเฉยๆเสียนิสัยกิเลสทั้งหลายก็ต้องเป็นอย่างนี้
ฉะนั้นการเสียสละนี้ไม่มีเมื่อไรก็ไม่ถึงธรรมะเมื่อนั้นการทำกิจเล็กๆน้อยๆทั้งหลายเหล่านี้เป็นเรื่องของคนนั้นเป็นเรื่องของคนนี้เป็นเรื่องของคนโน้นอย่างนี้เช่น จับกระโถนของท่านอาจารย์เหลี่ยมไปเทจับเอากาน้ำไปกรองน้ำก็เข้าใจว่าเอากระโถนไปเทให้ท่านอาจารย์เหลี่ยมอย่างนี้เป็นต้นก็ดีอยู่แต่ว่ามันน้อยไปเอากระโถนนี้เอากาน้ำนี้ไปกรองน้ำใส่ให้ท่านอาจารย์ชูนี่ก็ถูกไปอย่างหนึ่งเหมือนกันแต่ว่าถ้าหากว่าไม่ใช่ของอาจารย์ชูแล้วก็จะไม่เอาไปเทกระมังไม่ใช่ของอาจารย์เหลี่ยมก็ไม่เอาไปเทกระมังอันนี้เช่นนี้มันก็ดีไปส่วนหนึ่งแต่ว่ายังไม่เลิศไม่ประเสริฐมันมีความมุ่งหมายในนั้นมีความยึดมั่นถือมั่นอยู่เราควรทำเพื่อธรรมะเราทำเพื่อเสียสละกระโถนใบนี้เราก็ทำเพื่อเราเองนั่นแหละกิจการงานอันนี้เราทำเพื่อเราเองไม่ได้ทำให้ใครทั้งนั้นทำเพื่อธรรมะถ้าจิตเราเป็นอย่างนี้ไปอยู่ที่ไหนเราก็เสียสละปฏิบัติก็ถึงธรรม

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-4 12:41 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
อย่างเช่น เมตตามันก็มีสองนัยเหมือนกันเมตตา คือความรักรักอย่างหนึ่งก็รักแต่กลุ่มตัวเองกลุ่มอื่นไม่รักอย่างตาแก่คนหนึ่งลูกหลานไปขโมยของเขาแกก็ไปจับลูกหลานนั้นมาสอน"เฮ้ย พวกเอ็งทั้งหลายนั้นถ้าจะขโมย ถ้าจะปล้นก็ไปปล้นโน่น...บ้านอื่นอย่ามาปล้นบ้านเรา"อย่างนี้เป็นต้นอย่างนี้มันสั้นเกินไปตาแก่คนนั้นก็ไม่รู้ตัวไปขโมยของคนอื่นเสียอย่ามาขโมยของเราไปปล้นบ้านอื่นเสียอย่ามาปล้นบ้านเราตาแก่คนนั้นก็คิดว่าคิดถูกเต็มที่แล้วแต่พูดตามธรรมะแล้วมันก็ไม่ใช่ธรรมะอีกนั่นแหละนี่เรียกว่ามีเมตตาเป็นบางส่วนมันไม่ทั่วถึงความเป็นจริงไปขโมยตรงไหนก็ไม่ดีตรงนั้นแหละไปปล้นบ้านไหนมันก็ไม่ดีบ้านนั้นแหละถ้าเป็น อัปปมัญญา(ธรรมที่แผ่ไปไม่มีประมาณ)แล้ว อย่าไปขโมยใครเลยสักแห่งหนึ่ง
การประพฤติปฏิบัติก็อย่างนั้นเหมือนกันมันมีกำลังใหญ่ตรงไหนที่มันเป็นธรรมะแม้มันจะฝืนใจของเราสักเท่าไรก็พยายามลงตรงนั้นให้ได้ข้างนอกก็เหมือนกันอันใดมันเสียสละยังไม่ได้ก็พยายามเสียสละตรงนั้นพยายามทำตรงนั้นถ้าทำตรงนั้นไม่ได้ก็ยังไม่สบาย
ยกตัวอย่างผมเองผมนี้เป็นคนขี้ขลาดเป็นคนกลัวตั้งแต่เป็นเด็กมาบ้านถ้าปิดประตูก็เข้าไปในบ้านไม่ได้กลัวมากที่สุดถึงบวชเข้ามาปฏิบัติแล้วความกลัวนี้มันก็ยังยึดอยู่เวลาหนึ่งอยากจะไปอยู่ป่าช้าคิดแล้วคิดเล่ามันก็ไปไม่ได้ไปเห็นพระท่านอยู่ก็ท้อใจแล้วมันไปไม่ได้แต่ก็ยังไม่ยอมมันจะเป็นอย่างไรตรงนี้ทำไมมันถึงกลัวมากก็พยายามมันอยู่อย่างนั้นแหละผลที่สุดวันสุดท้ายจับบริขารไปเลยไปให้มันตายทำไมป่าช้ามันถึงกลัวนักกลัวหนามันมีอะไรอยู่ตรงนั้นไปให้มันตายดูซิวันนี้มันจะเป็นอย่างไรไปไม่ใช่ว่าไม่กลัวนะกลัวแทบจะเดินถอยหลังเข้าไปถึงป่าช้าแล้วมันก็ไม่อยากเข้าไปขืนเข้าไปมันจะเป็นอย่างไรตรงนี้อย่างนี้เราอยากจะรู้ว่าอะไรมันขวางทางเราการปฏิบัติของเราต้องทำกันให้มันทะลุพอไปแล้วก็รู้เรื่องอะไรต่างๆในที่นั้นความคิดเก่าๆที่มันกลัวนั้นมันก็เบาลงหายไปนี่เพราะเราทำให้ดีแล้วก็ดีใจว่าตรงนี้มันฝืนใจเราได้เท่านี้แหละไม่ต้องมากหรอกก็เกิดความพอใจขึ้นมาแล้ว
การปฏิบัตินี้ต้องฝืนใจถ้าพูดกันง่ายๆการปฏิบัตินี้ไม่ใช่ปฏิบัติตามใจเรามันเรื่องฝืนใจเราทั้งนั้นตลอดจีวร บิณฑบาตเสนาสนะเภสัช ทั้งหลายนี้อยากได้ดี อยากได้สวยอยากได้มากสารพัดอย่างเมื่อดูตรงนั้นแล้วคนเรานี้พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนให้สันโดษมักน้อย ขนาดนั้นก็ยังน้อยไม่ได้อยู่นั่นแหละน้อยไม่ค่อยได้นี่มันอยู่ตรงนี้เช่น ท่านสอนว่าเอาอาหารรวมในบาตรพยายามทำให้มันเหลือน้อยหรือไม่ให้มันเหลือนั้นจะดีมากอย่างนี้มันก็ทำยากไม่ต้องอื่นไกลหรอกทำได้วันสองวันสามวันอาทิตย์หนึ่งมันก็เผลอไปเสียแล้วถูกมันจูงไปเสียแล้วมันจูงออกไปข้างนอกมันทำยากนะไม่ใช่ง่ายๆลองฝึกดูตรงนี้ก็ได้จัดข้าวจัดอาหารให้มันพอดีๆฉันให้หมดพอดีๆลองเถอะน่าไม่ต้องไปวิ่งธุดงค์ที่ไหนหรอกลองดูซิมันจะได้ไหมมันได้อยู่กี่วันไหมอันนี้เราควรฝึกดูนะว่าจะลำบากสักแค่ไหนนี่ก็จะรู้จักล่ะว่าจิตใจเรามันติดอามิสทั้งหลายอยู่
ฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนให้รู้จักทั้งสองอย่างอามิสสุขอย่างหนึ่งก็ให้มันชัดเจนนิรามิสสุขก็ให้มันชัดเจนให้มันชัดเจนทั้งสองอย่างไม่ให้หลงทั้งสองอย่างเช่น กามสุขัลลิกานุโยโคคือความสุขความสบายนี้ท่านก็ให้รู้ชัดเจนอัตตกิลมถานุโยโคคือความไม่สบายเป็นทุกข์ขัดข้องทำไปแล้วเปล่าประโยชน์สองอย่างนี้ท่านก็ให้รู้จักพูดง่ายๆคือความดีใจเป็นกามสุขัลลิกานุโยโคความไม่สบายใจก็เรียกว่าเป็นอัตตกิลมถานุโยโคสิ่งทั้งสองนี้พวกท่านทั้งหลายจะรู้อยู่ทุกวันแต่ว่าท่านจะรู้ชื่อมันหรือไม่รู้รู้นั้นมันก็เป็นบัญญัติอันหนึ่งเท่านั้นแต่ว่าอาการอย่างนี้มันจะมีอยู่กับท่านทุกคนไม่ว่าท่านจะรู้มันไหมมันเป็นธรรมะอันนี้มันรู้อยู่ทุกคนนั่นแหละติดความสุขมันก็รู้จักความทุกข์ไม่ชอบมันก็รู้จักแต่ว่ามันจะบอกพวกท่านทั้งหลายว่าอันนี้เป็นกามสุขัลลิกานุโยโคอันนี้เป็นอัตต-กิลมถานุโยโคมันจะไม่บอกชื่อมันอย่างนั้นแต่อาการมันก็อยู่อย่างนั้นสุขมันก็เป็นสุขทุกข์มันก็เป็นทุกข์อยู่อย่างนั้น
สุขทุกข์ทั้งหลายนี้พวกเราทั้งหลายชอบอันใดชอบสุขหรือทุกข์อันนี้เราก็ตัดสินใจของเราได้เราชอบความสุขนั้นมันถูกไหมชอบความทุกข์นั้นมันถูกไหมอันนี้เราก็เลือกพิจารณาแต่ว่าถ้าเราเป็นผู้มีปัญญาน้อยเป็นผู้อิงอามิสอยู่กับอามิสมันก็ติดสุขอามิสสุข ได้ของดีได้ของมาก ได้ของที่ชอบใจมันก็สุขใจมันไปติดดีดีนั้นเราก็นึกว่าโทษมันไม่มีในที่นั้นสิ่งที่ไม่ดีสิ่งที่เราไม่ชอบนั้นไม่ต้องว่ามันรู้จักแล้วไม่เอาที่เราไม่ชอบทีนี้เราก็เลือกตามใจเราอันใดชอบก็เอาอันใดที่เราไม่ชอบก็ไม่เอาอันนั้นมันก็เป็น ทีฆนขะพราหมณ์เท่านั้นแหละพราหมณ์เล็บยาวๆที่มากราบพระพุทธเจ้าเรื่องทิฏฐิทั้งสาม*นั่นแหละ
ความเห็นของเขาเห็นว่าอันใดไม่ชอบใจเขาก็ไม่เอาอันใดควรแก่เขาเขาก็เอา อันใดไม่ควรแก่เขาเขาก็ไม่เอาอันนี้คือเขาอาศัยจิตของเขาเขาอาศัยกิเลสเป็นหลักไม่ใช่อาศัยการประพฤติปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องเป็นหลักก็ต้องเป็นอย่างนั้นทุกคนเราทุกคนก็เหมือนพราหมณ์ผู้เล็บยาวทั้งนั้นแหละหารู้ไม่ว่ากามสุขัลลิกานุโยโคและอัตตกิลมถานุโยโคสองอย่างนี้มันมีโทษเท่ากันมันเป็นเครื่องกำบังเท่าๆกันความสุขกับความทุกข์นี้มันมีราคาเท่ากันคือมันผิดเท่าๆกันพูดง่ายๆ แต่เราก็ไม่เห็นไปเห็นแต่ว่าอันที่เราไม่ชอบใจนั่นแหละไม่ดีหรือไปเห็นว่าอะไรมันทุกข์นั่นไม่ดี นี่ไปเห็นอย่างนั้นสุขที่เราชอบมันยังอยู่อย่างนี้ถ้าเราโยกย้ายไปมาเพราะอามิสอย่างนี้ถ้าไม่มีเนกขัมมะไม่ยอมเสียสละไม่เห็นธรรมะจิตใจเราก็ต้องเป็นอย่างนี้
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงทรงให้พิจารณาให้ขยันในการกระทำความเพียรข้อวัตรปฏิบัติเหล่านี้อย่าประมาทเพราะเรายังไม่รู้อันใดเราชอบใจเราก็นึกว่ามันถูกทั้งนั้นแหละอันใดไม่ชอบใจเราก็นึกว่ามันไม่ดีทั้งนั้นจะต้องมีอย่างนี้เป็นหลักในจิตของปุถุชนเราฉะนั้นเมื่อพูดธรรมะอันใดขึ้นมาเราไม่ชอบใจเราก็ทิ้งเท่านั้นแหละเหมือนกันกับผมที่ไปภาคกลางไปเจอเอาผลมะขวิดมะขวิดเหมือนกับมะตูมน่ะที่ข้างในมันดำๆเป็นเม็ดเหลวเขากินมะขวิดกันอย่างนั้นเมื่อเราเอามีดไปผ่ามันออกไปไม่เหลือหรอกเอาไปทิ้งหมดเราว่ามันเน่าไม่รู้จักมะขวิดคิดว่ามะขวิดเน่าทั้งนั้นแหละนี่คือเราไม่รู้ความเป็นจริงผลไม้ชนิดนี้มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้นเขาก็ทานกันอย่างนั้นก็อร่อยอยู่อย่างนั้นแต่ว่าเราไม่รู้เรื่อง
อันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้นเราก็เหมือนกันเรานึกว่าความสุขมันเกิดประโยชน์มากทุกข์มันไม่เกิดประโยชน์เลยทุกข์กับสุขนี้ถ้าใครติดสุขก็ไม่ชอบทุกข์ทั้งนั้นแหละธรรมสองอย่างนี้มันให้โทษเท่าๆกันและเกิดประโยชน์เท่าๆกันก็เหมือนลูกตาเราสองข้างข้างซ้ายหรือข้างขวามันเกิดประโยชน์เท่าๆกันคนไม่รู้จักอันนี้ก็เหมือนกันถ้าจะให้ลูกตามันแตกมันก็มีโทษเท่าๆกันถ้าเอามันไว้ทั้งสองลูกตาดำๆอยู่ก็เกิดประโยชน์แก่เราเท่าๆกันฉะนั้นลักษณะธรรมนี้มันอยู่ที่ศูนย์กลางอย่างนั้น
คนเรามาปฏิบัติไม่รู้เรื่องบวชมาแล้วก็ไม่รู้เรื่องเพ่งออกไปข้างนอกบ้างเพ่งไปที่อื่นไม่น้อมเข้ามาในใจของเราและการบวชเข้ามานี้บวชธรรมดาก็ยังมีกิเลสน้อยผมเคยเป็นเณรเป็นพระอยู่วัดบ้านก็ไม่ค่อยได้อะไรเท่าไรคือ ปล่อยไปตามเรื่องของมันมันก็เลยไม่ค่อยมีอะไรเมื่อเข้าปฏิบัติแล้วมาพิจารณาเออ...อย่างนั้นต้องรักษาพระวินัยอย่างนั้นต้องทำอะไรก็ไม่ให้ร้องไม่ให้ขอทุกอย่างท่านไม่ให้ความอยากมันเกิดขึ้นมาความทุกข์มันก็บีบบังคับขึ้นมาอยู่วัดบ้านนั้นมันสบายฤดูนี้อยากปลูกหัวหอมกินก็ได้อยากปลูกผักกาดกินก็ได้ฟันไม้ก็ได้ขุดดินก็ได้มันเลยสบายบัดนี้ท่านไม่ให้ปลูกอย่างนั้นไม่ให้แตะต้องอย่างนั้นไม่ให้ทำอย่างนั้นมันบีบหัวใจมันก็เลยเกิดทุกข์ขึ้นมายิ่งพระกรรมฐานนี้ถ้าอยากก็อยากได้หลายๆอยากได้กว่าสิ่งธรรมดาที่เราไม่ได้ปฏิบัติ
เมื่อบวชเข้ามาปุ๊บมันก็อยากได้ความสงบอยากเป็นพระอรหันต์อยากแล้วมันก็คิดคิดมากก็เดือดร้อนมากที่นี่ก็อยู่ไม่ได้ที่นั่นก็อยู่ไม่ได้อยู่ที่นี่ก็"แหม คนมันมากนะไม่สงบ อยู่ที่นี่มันไม่เป็นป่านะไปหาป่าเถอะอยู่ที่นี่มันเป็นป่าก็จริงแต่มันไม่เป็นเขา"บางทีก็ขึ้นไปโน้นเขาสูงๆบิณฑบาตวันละสามสี่กิโลไปหาที่อยู่ที่มันสบายๆคือหนีจากมันนั่นเองแหละหนีจากมันเพราะความไม่รู้ไม่ได้หนีจากมันเพราะปัญญาหนีจากมันเพราะการเดินหน้าอย่างเราทุกวันนี้จะหนีจากคนไปอยู่ที่ไหนไม่ให้คนเห็นจะไปอยู่ที่ไหนแต่ว่าระยะชั่วคราวได้อยู่มันเป็นอยู่อย่างนี้
ฉะนั้น พระปฏิบัติหนึ่งพรรษาสองสามพรรษาถ้าไม่ได้ศึกษาเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ให้เข้าใจล่ะก็ไปแล้ว ธุดงค์นี่ทุกปีละธุดงค์นี่เดินจนหนังถลอกปอกเปิกหยุดตรงนี้ไปตรงนั้นไปตรงนั้นไปตรงนี้เรื่อยไม่มีหยุดหรอกคือ มันไม่ให้หยุดเราเป็นทาสมันแต่เราไม่รู้จักพอสบายสักนิดหนึ่งก็มานั่งพิจารณา"ฮื้อ...จะไปหนองคายดีละมั้งเอาละจะไปหนองคายแล้วไปอยู่หนองคายอยู่สบายสักพักหนึ่งฮือ...เชียงใหม่ก็ดีเหมือนกันไปเชียงใหม่ปะไร"เอ้า ไปอีก มันไล่เข้าไปในป่ามันก็ไล่ขึ้นภูเขาขึ้นภูเขามันก็ลำบากเกินไปมันก็ไล่ลงมามันก็เป็นอยู่อย่างนั้นแหละ

4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-4 12:41 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
นักกรรมฐานทั้งหลายไม่รู้สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ไม่สบายหรอกให้รู้เถอะอยู่บนภูเขาเป็นอย่างไรอยู่ป่าเป็นอย่างไรอะไรทุกอย่างนี้มันเป็นอย่างไรถ้าหากเรามารวมจุดของมันได้แล้วไม่จำเป็นอะไรมากคล้ายๆคนอยากจะรวยไปทำไร่ไปตัดต้นไม้เต็มป่าแต่ว่าทำไม่หมดขี้เกียจไปถางมันทิ้งแล้วก็หนีไปทำได้มากแต่ไม่เอาอันนี้ก็เหมือนกันเช่นนั้นเราก็ทำได้มากไปมากแต่ก็ไม่รู้เรื่องที่จะเอาอย่างไรกันจุดนี้เรายังไม่ถึงของเราแล้วเราก็เดินอยู่เรื่อยๆเป็นทุกข์ บางองค์เดินไปเลยไม่เห็นบางองค์เข้าในถ้ำก็อยู่แล้วบนภูเขาเราก็อยู่แล้วในป่าเราก็อยู่แล้วมันก็เป็นอย่างนั้นแหละสิบปีกว่าบางทีไปพบอยู่ตามภูเขาเขาทำสวน ทำไร่อ้อยทำถั่ว ทำข้าวโพดเท่านั้นแหละเดี๋ยวก็ธุดงค์อยู่ในป่าอยู่ในเขาแล้วก็เดินบิณฑบาตไปเห็นซังข้าวโพดก็อีกแล้วอยากจะไปเป็นลูกของเขาแล้วอยากจะเป็นลูกจ้างเขาแล้วบางคนเลยออกมาเก็บข้าวโพดกับเขาเสียเป็นลูกจ้างโยมที่เคยอุปัฏฐากเรานั่นแหละเป็นทุกข์อีกมันเสียอย่างนั้น
ฉะนั้น การธุดงค์นั้นธุ-ตัง-คะ ก็คือว่าเป็นข้อปฏิบัติอันบุคคลทำได้ยากเพราะเป็นข้อปฏิบัติทำปุถุชนให้เป็นอริยชนมันจึงเป็นของทำยากเป็นของทำลำบากมากมันฝืน ไม้มันคดมันงอมันโก่งไปดัดมันก็ฝืนอย่างนี้ท่านจึงกล่าวไว้ว่าธุดงค์นี้ใครไม่ทำก็ไม่เป็นอาบัติ(ผิดวินัย) หรอกเพราะมันเป็นข้อวัตรพิเศษความเป็นจริงนั้นมันเป็นของฝืนเป็นข้อวัตรของพระอริยบุคคลหรือที่จะทำปุถุชนให้เป็นอริยบุคคลมันก็เป็นของทำได้ยากเหมือนเราเคยทำของหยาบๆมาเช่นเราไสกบเลื่อยไม้ในอีกเวลาหนึ่งเราจะไปทำงานให้ไปไล่สนิมทองไปทำสร้อยทำแหวนอย่างนี้ก็ลำบากมากมันเป็นกิจการของบุคคลที่ละเอียดเขาทำกันมันก็เป็นของยากลำบากเช่นเนสัชชิกในวันพระนี้ไม่ให้นอนตลอดคืนเราก็ไม่เคยทำเป็นฆราวาสก็ไม่เคยทำเมื่อกินอิ่มแล้วจะนอนก็นอนเลยบางทีบุหรี่ยังติดปากอยู่เลยบางทีปากคาบบุหรี่นอนกรนครอก...ครอกจนไฟจะไหม้ ไฟไหม้ปากแล้วจึงลุกขึ้นมาบางคนกินอิ่มแล้วนั่งไม่ไหวเสียแล้วมันหนัก นอนลงไปหยิบเอาไม้ข้างฝามาจิ้มฟันจิ้มไปจิ้มมาก็เลยนอนหลับไปเลยไม้จิ้มฟันก็ไม่ต้องเอาออกอยู่อย่างนั้นแหละกรนครอก...ครอก
ทีนี้เราไม่ให้นอนในคืนนั้นมาทำธุดงค์ทำไมมันจะไม่ลำบากล่ะมันขัดกันอย่างนี้มันก็ลำบากซิทำไมจะไม่ลำบากบางคนก็ทนไม่ไหวนี่เป็นเรื่องอย่างนี้นี่คือข้อปฏิบัติธุดงควัตรคือการกระทำฝืนฝึกตัวเองฆ่ากิเลสพระพุทธองค์ท่านตรัสว่าธรรมใดมันเดือดร้อนข้อปฏิบัติอันใดมันเดือดร้อนให้มันซ้ำอยู่อย่างนั้นมันสู้กิเลสแล้วท่านว่าถูกมันแล้วถูกตัวมันแล้วถ้ามันสบายๆก็ไม่ถูกเพราะเราชอบสบายนี่ถ้ามันเดือดร้อนก็เข้าใจว่ามันผิดแต่นี่มันเดือดร้อนนั้นถูกแล้วมันปฏิบัติถูกแล้วมันฝืนใจตัวเองมันก็เดือดร้อนมันทุกข์ มันเป็นทุกขสัจจ์เมื่อทุกข์มันเกิดขึ้นมามันก็ลืมตาเท่านั้นแหละลืมตาขึ้นมาก็พิจารณา"นี่อะไรกัน"อย่างนี้ มันเห็นอย่างนี้
ฉะนั้น การปฏิบัตินี้เราบวชมานานหลายพรรษาก็จริงแต่ว่าเราจะไม่ค่อยได้ปฏิบัติเราจะเอาแต่สิ่งที่เราชอบสิ่งที่เราไม่ชอบเราไม่รู้สึกว่ามันเป็นข้อปฏิบัติมันจะเป็นอย่างนี้ก็ได้นะแล้วเราพูดว่า"ฮื้อ...ผมไม่มีศรัทธาผมไม่บวชหรอก"แต่ว่าอาศัยอันนี้ยังผิวเผินพวกเราทั้งหลายควรระลึกให้มันได้นะว่าที่เราอยู่นี้บริขารที่อาศัยอยู่นี้ท่านให้พิจารณาให้มากอย่าไปหลงมันอย่าไปเพลินกับมันอยู่กุฏิสวยๆก็ดีอยู่ที่ไหนก็ดีจีวรสวยก็ดีให้มันมีนิรามิสสุขใจให้มันเป็นเนกขัมมธรรมอยู่กับอะไรก็ให้ใจมันออกถอนอุปาทานจากสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นตัวอุปาทานนั้นแหละท่านบอกว่าการถอนจะต้องอาศัยเนกขัมมธรรมอาศัยรู้จักเหตุรู้จักผลอาศัยรู้จักโทษของมัน
อย่างพวกเรานี้เราอาศัยร่างกายเป็นอยู่มันไม่ป่วยไม่ไข้มันก็สบาย แต่เราอย่าไปอาศัยมันมากนักนะระวังนะ! ต้องอาศัยเนก-ขัมมะไว้อย่าไปพึ่งไปเกาะในกายของเราเดี๋ยวมันจะเป็นโรคเมื่อไรก็ไม่รู้เรื่องนี่จะไปอาศัยมันได้หรือก็ต้องระวังเราจะต้องระวังอันนี้ให้มากอีกวันหนึ่งมันจะระเบิดขึ้นมาเป็นต้นข้อปฏิบัติเป็นอย่างนี้ถ้าเราคิดว่ามากมันก็มาก เรื่องปฏิบัติเป็นเรื่องฝืนใจของเราอย่างนั้นพวกเราทั้งหลายก็ต้องระวังไว้ว่าการฝืนใจตัวเองในทางที่ถูกที่ชอบนั้นนะดีแต่ว่าให้รู้จักกำลังของเราฉะนั้นท่านจึงสอนซ้ำๆซากๆอยู่เรื่อยๆอย่างวันนี้พระเณรทุกองค์นั้นเคยนึกถึงความตายหรือเปล่า"แหม.วันนี้อีกไม่นานเราก็ต้องตายบัดนี้มีอายุ๒๐, ๓๐ แล้วเดี๋ยวก็ตาย"เคยคิดหรือเปล่าก็ไม่รู้เรื่องระลึกถึงความตายมีสักองค์สององค์ก็ยังดีความละเอียดของคนมันต่างกันเรื่องนึกถึงความตายจะเล่าให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง
อาจารย์คนหนึ่งมีศิษย์๓ คน วันหนึ่งอาจารย์ถามว่า"ใครมีสติระลึกถึงความตายบ้างวันหนึ่งประมาณกี่ครั้ง"
องค์หนึ่งตอบว่า"โอ๊ย ผมระลึกถึงความตายไม่ได้หยุดหย่อนเลยครับผมเที่ยวบิณฑบาตผมนึกไปว่าจะได้กลับมาวัดหรือไม่หนอจะได้กลับมาวัดหรือไม่หนอกลัวมันจะตายอยู่กลางทางกลัวจะไม่ได้มาฉันบิณฑบาต"
องค์ที่สองก็ว่า"โอ๊ย ผมนึกถึงความตายยิ่งกว่านั้นผมมานั่งฉันบิณฑบาตอยู่นึกในใจว่าจะฉันจังหันเสร็จหรือไม่หนอกลัวมันจะล้มตายก่อน"
องค์ที่สามว่า"โอ๊ย ผมไม่ถึงแค่นั้นเลยครับผมคิดว่า ผมหายใจเข้าออกอยู่นี้ผมกลัวมันหายใจเข้าไปกลัวมันจะไม่ออกมามันออกมาแล้วผมกลัวมันจะไม่เข้าไปผมจะตายตรงนั้นผมคิดอยู่แค่นี้"

5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-4 12:42 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
สององค์แรกก็นึกว่าเราเอาเต็มที่แล้วนะองค์หนึ่งว่าบิณฑบาตกลัวจะไม่ถึงวัดจะตายก่อน นึกว่าดีแล้วแต่ยังหลงอยู่องค์ที่สองฉันอยู่กลัวมันจะล้มกลิ้งลงก็นึกว่าไม่มีที่ไหนแก้ไขอีกแล้วองค์ที่สามลมเข้าผมกลัวไม่ออกมันจะตาย นี่ดูซินี่คือความรู้สึกนึกคิดของคนแต่ละคนเพราะฉะนั้นมันจึงไม่เหมือนกันมันหยาบกว่ากันมันละเอียดกว่ากันเพราะอันนี้
แต่ความรู้สึกของผมสมัยนี้ผมว่าพวกเราควรจะประพฤติปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนและเพื่อประโยชน์ประชาชนคนอื่นเขาบ้างเพราะว่าสัตว์โลกทุกวันนี้กำลังเมากำลังมืดไม่รู้เรื่องที่ทางทำมาหากินกันผมว่ามันจะแย่เสียแล้วคับแคบกันเสียแล้วถ้าเราออกไปอีกเราก็ไปแย่งเอาที่ดินกับเขาอีกไปแย่งเงินเขาอีกไปแย่งอะไรอีกเลยวุ่นไปอีกจะฆ่าจะแกงกันตายมนุษย์ในโลกนี้ก็เห็นจะพอละมั้งนี่เห็นจะพอกันละสมัยก่อนชาวบ้านแต่งงานแล้วลูกก็เกิด เอ้าให้มันเกิดเต็มที่มันเลยไม่ต้องกลัวมันมันจะเกิดมาถึงยี่สิบก็เอาเถอะเอาหมดเดี๋ยวนี้เขาไม่เอาแล้วรู้ตัวว่าไปไม่ไหวแล้วอย่างมากก็สามคนผู้ชายสองคนผู้หญิงคนหนึ่งพอแล้ว อุดเลยปิดเลยผมว่าไม่เห็นมันเกิดประโยชน์อะไรมากมายมันแย่งกันแล้วสมัยก่อนนี้คราวหลวงพิบูลสงครามให้รางวัลคนลูกมากๆผมก็อยากให้สึกเหมือนกันแหละประชาชนมันน้อยเดี๋ยวนี้ประชาชนเขามันพอกันแล้วจะสึกออกไปทำไมอีกล่ะ



ผมว่ามันได้โอกาสแล้วพวกเราทั้งหลายมันได้โอกาสแล้วที่จะสร้างประโยชน์ในเวลานี้ประโยชน์ตนและประโยชน์คนอื่นประโยชน์ภพนี้ประโยชน์ภพหน้าหรือประโยชน์อย่างยอดผมว่าควรแล้วเวลานี้มันควรเพราะเราก็เห็นนี่นะว่าสึกเป็นฆราวาสแล้วจะไปทำอะไรเคยได้ยินไหมเคยได้ไปบิณฑบาตตามบ้านไหมบางวันเดินบิณฑบาตไปโน่นทะเลาะกันตรงโน้นยังไม่ทันหุงข้าวเลยทะเลาะกันแล้วเอาแล้ววุ่นวายกันแล้วไม่รู้อะไรเป็นอะไรพวกท่านไม่เคยเห็นหรือก็ไปดูสิ่งที่มันจะเกิดปัญญาบ้างซิไปดูแต่สิ่งที่มันถมทับหัวใจของเรามันจะเห็นอะไรไปมองโน่น มองแมงป่องเขามองก้ามมันก็นึกว่ามันเอาก้ามมันกัดไปมองโน่น มองแมงป่องไม่ได้มองก้นมันนี่ไปจับหัวมันนึกว่าตรงนั้นมันเป็นอันตรายความจริงมันเอาก้นมันจิ้มจนจะตายเอาเรามองข้ามไปมองไม่ถูกที่มันจึงเสีย
อันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้นผมว่าอยู่เป็นนักบวชอย่างนี้สบายแล้วถ้าเราคิดอย่างนี้มันสบายไม่มีกรรมไม่มีเวรมันจะมีอะไรก็สบายแล้วแต่ว่าเป็นนักบวชไม่ใช่อยู่สบายเฉยๆนะต้องทำให้เกิดประโยชน์หาทางพ้นทุกข์ให้ได้เป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายญาติทั้งหลายให้ได้

ที่มา http://www.ubu.ac.th/wat/ebooks/ ... ing_for_Dhamma.html

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้