ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1908
ตอบกลับ: 3
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ การเข้าสู่หลักธรรม ~

[คัดลอกลิงก์]
การเข้าสู่หลักธรรม



เอาละ ให้ตั้งใจฟัง มีอะไรขัดข้องไหม มีอะไรไหม ง่วงไหม
การฟังธรรมนั้นก็เพื่อความเข้าใจในธรรมะ แล้วก็จะต้องนำไปปฏิบัติให้ไปถึงในสิ่งที่เรามีความมุ่งหมายอย่าเข้าใจว่าพอฟังธรรมแล้วก็จะดีเลยทีเดียว ในการฟังธรรมนั้น พื้นฐานเป็นสิ่งที่สำคัญมากคือจะต้องประกอบไปด้วยสถานที่ ประกอบไปด้วยเวลา ประกอบไปด้วยบุคคล และประกอบไปด้วยธรรมะ
อย่างสถานที่ในวัดของเรานี้มันเป็นป่า มันมีความสงบ เมื่อพูดอะไรออกไปก็ไม่มีอะไรเข้ามาแทรก มันเป็นสถานที่อันสมควร ส่วนสถานที่อันไม่สมควร เช่นคนร้องเพลงก็ร้องเพลงไป คนเล่นก็เล่นไป มันก็วุ่นวาย จะเอาพระไปพูดตรงนั้นก็ไม่สมควรหลวงพ่อเคยไปงานมงคลแต่ไม่ใช่งานมงคลหรอก เป็นงานอมงคลเสียมากกว่า พอจะให้รับศีลให้ฟังเทศน์เขาก็ไม่สนใจในศีลในเทศน์ คนเล่นก็เล่น คนกินเหล้าก็กินสารพัดอย่าง มานิมนต์พระไปเทศน์ตรงนั้นก็เรียกว่าสถานที่ไม่สมควร บุคคลนั้นก็ไม่สมควร ไม่ควรจะวางธรรมเทศนาในที่ตรงนั้น
ในการฟังธรรมนั้นให้เราเป็นผู้ฟัง เพราะอะไร? เพราะเรายังไม่รู้ชัด ก็ต้องเป็นผู้ฟังฟังไปเถอะ ฟังแล้วก็เอาไปพิจารณา อย่าเพิ่งเข้าใจว่ามันถูกแน่นอน และอย่าเพิ่งเข้าใจว่ามันผิดให้ฟังแล้วเอาไปกลั่นไปกรองเสียก่อน คือ เอาไปภาวนา เอาไปพิจารณา เราเรียกว่าภาวนาในภาษาธรรมะภาษาโลกก็เรียกว่า พิจารณา เมื่อมาเข้าถึงธรรมะ ท่านก็เรียกว่าภาวนา ภาวนาหมายถึงทำให้มันถูกขึ้น ทำให้มันดีขึ้น ทีนี้เมื่อเราจะฟังธรรมเทศนานั้น ก็เหมือนประหนึ่งว่าจะย้อมผ้าโดยปกติเราก็ต้องเอาผ้าไปฟอก ไปซักให้มันสะอาด แล้วจึงเอามาย้อมด้วยสีที่เราชอบไม่ใช่เราไปเห็นสีมันสวยเราชอบ ก็จะเอามาย้อมผ้าของเราให้มันสวย แต่ผ้าที่จะย้อมไม่ได้ฟอกได้ซักเราก็เอามาย้อมเลย อย่างนั้นมันก็ไม่สวย เพราะผ้ามันไม่ดี มันไม่สะอาดการที่เราจะเข้าสู่หลักธรรมก็ต้องเป็นอย่างนั้นต้องทำใจให้สะอาดเป็นพื้นฐาน อย่างเช่นที่หลวงพ่อให้ถึงพระรัตนตรัยเสียก่อนแล้วก็มาสมาทานศีล แล้วจึงมาฟังธรรมอย่างนี้


(๑) เบื้องต้นให้มีพระรัตนตรัยเป็นรากฐาน

การให้ถึงพระรัตนตรัย ก็คือ การให้ถึงพระพุทธ พระธรรมพระสงฆ์ พระพุทธคืออะไรพระพุทธก็คือ "ผู้รู้" รู้อะไร รู้ความจริงความจริงคืออะไร ความจริงก็คือธรรมะ ส่วนพระสงฆ์ก็คือ ผู้ประพฤติปฏิบัติตามธรรมะ ที่พระศาสดาได้ตรัสรู้แล้วว่าเป็นความจริงฉะนั้นนั่งอยู่แถวๆนี้ก็เป็นพระสงฆ์ได้ทั้งนั้นแหละ มันไม่ได้หมายถึงเครื่องแต่งตัวแต่มันหมายถึงผู้ปฏิบัติตามธรรมะ ปฏิบัติตามความจริงนั้น รวมเรียกว่า พระรัตนตรัยคือ พระพุทธหนึ่ง พระธรรมหนึ่งพระสงฆ์หนึ่ง ท่านให้ถือว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกยิ่งกว่าอะไรทั้งนั้นอย่างพ่อแม่ของเราเป็นผู้เลี้ยงเรามา เราก็เคารพบูชาพ่อแม่ของเรา แต่ก็ต้องไม่ยิ่งไปกว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะว่าพ่อแม่ของเราก็ยังมีความเห็นผิดมากอยู่ ถ้าจูงเราเข้าป่าเราจะทำอย่างไร แต่เราก็ไม่ได้ดูถูกพ่อแม่ของเราถ้าจะว่าไปแล้ว พระพุทธก็ดี พระธรรมก็ดี พระสงฆ์ก็ดี นี่เป็นชื่อของผู้ประกาศความจริงเท่านั้นแหละความจริงถ้าย่อลงมาแล้วก็คือท่านให้เชื่อ กรรม คือ การกระทำของเรา เราจะกระทำทางกายทางวาจา ทางใจ เฉพาะอะไรที่มันไม่เป็นโทษ ปราศจากโทษทั้งหมด ถึงแม้ว่ามันจะมีอะไรหลายๆอย่างในโลกที่ว่ามันน่าอัศจรรย์ก็ดี ที่น่าเลื่อมใสก็ดี น่าอะไรต่างๆก็ดี อันนี้ก็ตามใจมันเถอะแต่พระพุทธเจ้าของเราท่านก็ว่า กรรมเป็นแดนเกิด กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ กรรมเป็นที่พึ่งอาศัยถ้าเรากระทำทางกาย ก็เรียกว่ากายกรรม กระทำทางวาจาก็เรียกว่าวจีกรรม กระทำทางใจก็เรียกว่ามโนกรรมท่านให้เชื่ออันนี้คือเชื่อในการกระทำของเรา
บางคนเป็นผู้มาปฏิบัติธรรม ฟังธรรม เข้าวัดเข้าวา แต่เมื่อมีเรื่องไม่สบายใจบางทีก็ไปหาหมอดู จะไปดูว่ามันจะเป็นอะไรไหมหมอดูก็ทายว่าปีนี้ระวังนะ ไปรถให้ระวังไปเรือก็ให้ระวัง ระวังอุบัติเหตุนะ เราก็กลัว กลัวจะเป็นอย่างนั้น กลัวจะเป็นอย่างนี้สารพัดอย่างบางคนเมื่อจะออกจากบ้าน หรือจะออกเดินทาง ก็ว่าจะไปวันไหนดี จะต้องไปหาหมอว่าจะออกวันไหนเวลาเท่าไร บางทีหมอก็ว่าคุณอย่าไปเลย ไม่ดี เราก็เลยกลับบ้าน นี่เรียกว่าไม่เชื่อมั่นในตัวเองไม่เชื่อมั่นในคุณพระรัตนตรัย ไปเชื่อหมอดู อย่างพวกเราบางคนมาอยู่อุบลฯ จะไปกรุงเทพฯก็มาหาหลวงพ่อ
"หลวงพ่อครับ เดินทางวันไหนจะดีครับ"
"ถ้าเดินดีมันก็ดีทุกวันนั่นแหละ"
คือ ถ้าเราดีมันก็ดีทุกวัน แต่นี่พอเจอหน้ากันก็ต้องเลี้ยงต้องกินเหล้าเมายากันเมื่อไปมันก็เลยไม่ดี ขับรถมันก็จะตกถนน ถ้าเราทำดีแล้วมันจะเป็นอะไร เราเชื่อการกระทำของเราอันอื่นจะมาทำให้เราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ไม่มีหรอก
เราทั้งหลายต้องมีความเชื่อมั่นในการกระทำของเรา ไม่มีความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัยอย่าถือมงคลตื่นข่าว มงคลตื่นข่าวนั้นมันเป็นอมงคล เขาว่ามันเป็นอย่างนั้นเขาว่ามันเป็นอย่างนี้ สารพัดอย่างบางทีก็ว่าต้องไปเอาน้ำในสระตรงนั้นมานะเลยวุ่นไปหากัน จนน้ำในสระเป็นเลนหมด เอากันอยู่นั่นแหละ นี่มันตื่น พระพุทธองค์ท่านสอนให้เป็นคน"นิ่งอยู่ด้วยปัญญา" ใครเขาจะว่าอันนั้นมันเป็นอย่างนั้นอันนี้มันเป็นอย่างนี้ก็ให้ฟังไว้ก่อน การทำจิตใจอย่างนี้ท่านเรียกว่า"ทำให้มันแยบคาย" มันก็จะเกิดความเชื่อมั่นในพระรัตนตรัยไม่มีความลังเลสงสัย มิฉะนั้นก็จะไม่รู้จักความจริง ไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไรกันแน่การมีพระรัตนตรัยเป็นรากฐาน เป็นที่พึ่งของเรา จะทำให้ใจของเราแน่วแน่ ใครจะว่าอย่างไรก็ช่างเราทำดีเท่านั้นแหละ ไม่ต้องลังเลสงสัย การที่ไม่ลังเลสงสัยนี่แหละ เรียกว่ามันเดินอยู่เรื่อยไปแต่ถ้ามีความสงสัยแล้ว มันก็จะกลับไปกลับมา กลับมากลับไปวุ่นวายอยู่ตรงนั้น


2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-3 13:31 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
(๒) สมาทานศีลเป็นคุณสมบัติ

เมื่อถึงพระรัตนตรัยแล้ว ก็มาสมาทานรับศีล ผิดศีลมันดีไหมเราลองคิดดูให้ละเอียดอย่าเข้าข้างเราเข้าข้างใคร การไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่เบียดเบียนสัตว์มันดีไหม การไม่ขโมยของคนอื่นนั้นมันดีไหม ให้เราคิดดูเท่านี้ก็รู้ และพวกที่มีครอบครัวแล้วนั้นอยู่ในวงจำกัดของเรามันดีไหม หรืออยู่นอกวงมันดี ดูเท่านี้ก็พอแล้ว ไม่ต้องไปคิดไกลถามดูง่ายๆ และมุสา การพูดโกหกนั้นมันดีไหม คิดให้มันซึ้งๆ เข้าทางธรรมะ อย่าไปเข้าข้างเราไม่ต้องไปศึกษาอะไรมาก ข้อที่ห้า เครื่องมึนเมา คนที่ปราศจากเครื่องมึนเมามันดีไหมอย่าเข้าข้างเจ้าของนะ ทั้งหมดนี้เรียกว่า เป็นคุณสมบัติของมนุษย์ ถ้าหากว่าใครมีคุณสมบัติทั้งห้าประการนี้เราก็ไม่ต้องไปถามใครหรอกว่า ฉันเป็นอะไรอย่างพระสงฆ์ พระสงฆ์ท่านเป็น สุปฏิปันโน อุชุปฏิปันโนญายปฏิปันโน สามีจิปฏิปันโน
ที่ว่า สุปฏิปันโน ก็คือ ผู้ปฏิบัติดี ดีกาย ดีวาจา ดีใจ เป็นคุณสมบัติของท่านเป็นคุณสมบัติของพระสงฆ์ เราก็เลยเรียกผู้นั้นว่า"พระสงฆ์"
อุชุปฏิปันโน คือ ผู้ปฏิบัติตรง ตรงกาย ตรงวาจา ตรงใจด้วยธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอันนี้ก็เป็นคุณสมบัติของพระ
ญายปฏิปันโน คือ การปฏิบัตินั้นเป็นการปฏิบัติไม่ลวงโลกปฏิบัติตามสัจจธรรมถ้าหากว่าเป็นสัจจธรรมแน่นอนแล้ว ใครจะว่าดีว่าชั่วก็ช่างเถอะ เราทำของเราไปเรื่อยๆบางทีเขาก็บอกว่า โอ๊ย! ท่านอย่าไปทำเลย เดี๋ยวนี้โลกเขาไม่ทำอย่างนั้นหรอกเราก็ไม่ได้หวั่นไหวไปตามเขา
สามีจิปฏิปันโน คือ ปฏิบัติเอาศีล สมาธิ ปัญญา คำสอนของพระมาเป็นใหญ่ สิ่งเหล่านี้เป็นคุณสมบัติของพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ญาติโยมพวกเราทั้งหลายก็เหมือนกัน ต้องมีคุณสมบัติอย่างนี้จะทำอะไรๆก็ให้ตรวจดูพื้นฐานนี้เสียก่อน อันนี้เรื่องพระ-รัตนตรัยต้องมีคุณสมบัติอย่างนี้


(๓) ฝึกปฏิบัติอบรมจิต

ส่วนเรื่องการปฏิบัตินั้น ทุกวันนี้มันยิ่งไปกันใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเราที่มาเที่ยวมาสนใจในการปฏิบัติ ได้ไปพบหลายๆแห่งไปพบอาจารย์นี้ท่านก็ว่าให้ทำอย่างนั้นไปพบอาจารย์นั้นท่านก็ว่าให้ทำอย่างนี้ เลยวิ่งตลอดเวลาเลย คือ มันไม่เชื่อมั่นมันไม่เข้าใจ การปฏิบัติกรรมฐานอย่างน้อยมันก็มีตั้งสี่สิบข้อ เราไปเรียนกันมันก็หลายเกินไป เลยไม่รู้จะทำอะไร ยกพุทโธๆๆขึ้นมาภาวนา ใจมันก็ไม่สงบ ก็ไปดึงอันอื่นมาทำอีกเอาอันโน้นบ้างอันนี้บ้าง เลยวุ่นไปหมดไม่รู้เรื่อง ก็เลยเลิก อย่างนี้ก็มีฉะนั้น การทำกรรมฐานจึงต้องมาทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า ทำไปทำไม ทำให้มันเกิดอะไรมันมีประโยชน์อะไรไหมการทำกรรมฐานนี้ก็คือ มาฝึกจิตของเรานั่นเอง เพื่อให้รู้จักจิตใจของเราเพราะจิตของเราเกิดขึ้นมาไม่เคยได้ฝึก ปล่อยตามใจของมัน เมื่อมันโมโหก็ปล่อยตามใจของมันเมื่อมันโกรธใคร ก็ปล่อยตามเรื่องของมัน เราเป็นเด็กๆ เกิดมาเป็นลูกของพ่อแม่พ่อแม่ก็ยิ่งปล่อยตามใจ ไม่เคยรู้จิต ไม่เคยฝึกจิต เราจึงมาทำกรรมฐาน มาฝึกจิตรู้จักที่จะอบรมจิตของเรา เรียกว่ามาปฏิบัติธรรม
แต่ใจของเรานั้นมันเร็ว เร็วที่สุด เร็วกว่าสิ่งทั้งหลายทั้งนั้น เมื่อเรามาทำกรรมฐานมันจึงไม่ค่อยสงบ ความสงบมันจะเกิดขึ้นตรงไหนความสงบนี้มันจะเกิดขึ้นระยะที่เราปล่อยวางถ้าเราตึงเครียดเมื่อไรมันจะมีแต่เรื่องวุ่นวาย ไม่มีความสงบภายในจิต ดูอย่างพระอานนท์ท่านเป็นผู้รู้ธรรมะมากที่สุดเมื่อจะเอาจริงๆ ก็เลยไม่รู้ว่าจะเอาตรงไหน อันนั้นมันก็ดี อันนี้มันก็ดีเลยดีกันทั้งคืน ยิ่งตอนเช้าพรุ่งนี้เขาจะเรียกพระอรหันต์ทำการสังคายนา รวมทั้งพระอานนท์ด้วยก็ยิ่งร้อนใจ ยังมีเวลาอีกคืนเดียวเท่านั้น ก็เลยเร่งเต็มที่อยากจะเป็นพระ-อรหันต์แต่ยิ่งทำก็ยิ่งไปกันใหญ่ จวนจะสว่างอยู่แล้ว ก็ว่า "เอ เรานี่มันตึงเครียดไปละมั้งนี่"เหนื่อยก็เหนื่อย ง่วงก็ง่วง ก็เลยจะพักผ่อนสักระยะหนึ่ง พอท่านทอดอาลัยเอนกายนอนมีตัวรู้อันเดียว พอจิตมันวางปุ๊บเท่านั้นแหละ มันเร็วที่สุด พระอานนท์ท่านตรัสรู้เวลานั้นในเวลาที่ว่างพวกเราลองดูซิ ไปนั่งกรรมฐาน กัดฟันเข้า! ขัดสมาธิยันเลย ตายเป็นตาย เหงื่อมันไหลแหมะๆความสงบไม่ใช่มันอยู่ตรงนั้น ความสงบนั้นมันอยู่ที่พอดีๆ มันจะดีขนาดไหนมันก็ไม่สงบถ้ามันดีเกินดีมันไม่ดีพอดี มันเกินไป มันดีไม่พอ ดีขนาดไหนก็ให้พอดี มันถึงดี ดีเกินดีมันไม่ดีหรอก ให้พวกเราเข้าใจอย่างนั้น แต่คนเราตัณหามันก็ว่า ต้องทำอย่างเฉียบขาดไปนั่งกัดฟันลองดูซิไม่มีทางหรอก วุ่นตลอดเวลา


(๔) สงบความคิดด้วยสมถะ

เรื่องกรรมฐานนี้มันอยู่ด้วยอารมณ์คือ ให้มี "อารมณ์อันเดียว"อย่างเช่น เราจะดูลมหายใจเข้าออกก็ให้จิตกำหนดอยู่กับอารมณ์นี้เราอยู่ในโลก มันหลายอารมณ์เกินไป เดี๋ยวจะเอาอันนั้นอันนี้ไม่มีจบจึงวุ่นวายจิตไม่สงบ ทีนี้ท่านว่ามันเกิดกับอารมณ์ มันอยู่ด้วยอารมณ์เราก็เลยเอา "อารมณ์อันเดียว"เล่นอันเดียว อย่าไปเล่นอันอื่น เรียกว่า อารมณ์กรรมฐาน เช่น หายใจออก หายใจเข้าหายใจออกหายใจเข้า หรือให้เข้าพุท ออกโธ ก็ได้ พุทโธๆๆ หรือว่าเข้าออก จะไม่ว่าพุทโธก็ได้เมื่อเข้ามันก็ "พุท" เอง เมื่อออกมันก็ "โธ" เอง มันได้ความว่าเมื่ออาการของลมมันเข้าเราก็รู้จักเมื่อมันออกเราก็รู้จัก คือเป็นผู้รู้ มันเข้าเราก็รู้ มันออกเราก็รู้ ตรงรู้นี่แหละมันเป็นพุทโธอยู่แล้วไม่ต้องว่าพุทไม่ต้องว่าโธ ไม่ต้องว่าพุท ไม่ต้องว่าโธ มันก็ขี้เกียจจะว่าอีกนั่นแหละ เข้าใจไหม?หรืออย่าง ยุบหนอ พองหนอ อันนี้ก็ถูกเหมือนกัน แต่เราจะไม่ต้องว่ายุบหนอพองหนอก็ได้เราหายใจออกมันก็ยุบเอง หายใจเข้ามันก็พองเอง มันไม่ต้องไปว่ายุบว่าพอง ที่เราว่ายุบว่าพองคือ ให้มันออกเสียงในใจสักหน่อย มันจะได้ตั้งใจขึ้นมาความเป็นจริงมันยุบมันพองของมันเองอยู่แล้วแต่เราก็เอาคำว่า ยุบหนอ พองหนอ เสริมเข้ามาอีก ไม่มีผิด อันนี้ก็ไม่มีผิดแต่รวมแล้วก็คือ ให้เข้าก็รู้ ออกก็รู้ ตามสบายของมันเท่านั้นแหละ ไม่ต้องไปคิดอะไรมากมายอย่าไปคิดว่าเมื่อไรหนอมันจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มันจะวุ่นวาย ให้เราตั้งสติขึ้นให้มันจดจ่ออยู่ในอารมณ์นั้น จนใจมันผ่องใส ไม่มีง่วงเหงา ไม่มีเหน็ดเหนื่อยให้มันเห็นชัดอยู่อย่างนั้นเมื่อเราจะฝึกจิตอย่างนี้นั้น เรารู้ไหมว่าจิตของเราคืออะไร อยู่ตรงไหนถ้าเราจะมาฝึกจิตก็ควรจะต้องรู้จิตของเรา บางทีเราไม่รู้จักเมื่อเวลามันวุ่นวายขึ้นมาเราก็รู้แต่ว่ามันวุ่นวาย แต่ไม่รู้ว่าจิตอยู่ตรงไหน ถ้าเราจะพูดเข้าไปจริงๆแล้วจิตนี้มันก็ไม่เป็นอะไร มันก็คือจิตนั่นแหละ เมื่อเขาเอาชื่อ "จิต" เข้ามาแทรกเราก็เลยหลงจิตนี้มันคืออะไรหนอ พูดง่ายๆว่า คนที่รับรู้อารมณ์นั่นแหละคือจิต คนที่รับรู้อารมณ์ทั้งอารมณ์ดี อารมณ์ชั่ว สารพัดอย่างนี่แหละ สมมติว่าเป็นจิต ถ้านำมันไปฝึกแล้วมันรู้จริงมันก็เป็น "พุทโธ" คือ ผู้รู้ เป็นผู้รู้จริง คือรู้แล้วไม่มีทุกข์ แต่ถ้าจิตนี้ยังไม่ได้ฝึกไม่ได้อบรม มันก็เป็นผู้รู้ไม่ได้ เพราะมันมี "ผู้หลง" มาปนเปมันอยู่ คือถ้าชอบใจมันก็ดีใจถ้าไม่ชอบใจมันก็เสียใจอย่างนี้ฉะนั้นเราจึงต้องเอามันมาฝึกให้มันรู้เท่าทันอารมณ์ จนกว่าที่จิตมันจะสงบเมื่อมันสงบมันก็ไม่ไปไหน มันขี้เกียจจะไปเหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม ความสงบอย่างนั้นยังไม่มีปัญญาอะไร เข้าไปสงบอยู่เฉยๆ เรียกว่าสมถะ ความสงบอย่างนี้มันไม่แน่นอน บางทีเราได้มันเป็นบางครั้ง บางทีวันนี้มันสงบพรุ่งนี้ไปทำมันก็ไม่สงบ เราก็ว่า "เอ เมื่อวานทำไมมันสงบดีเหลือเกิน วันนี้ทำไมไม่ได้เรื่องได้ราวมันเป็นอะไรหนอ"
ถ้าไปตะครุบมันอยู่อย่างนี้ ความสงบตอนนั้นไม่รู้เรื่องเสียแล้วเป็นความสงบที่ไม่แน่นอนเช่นว่า หูของเรามีอยู่ เรื่องรับมีอยู่ แต่เมื่อยังไม่มีใครมาพูด มาด่าให้เราได้ยินเราก็ยังสบาย ยังสงบอยู่ อีกวันหนึ่งพอมีเรื่องเข้าไปทางหูเท่านั้น มันก็เกิดความไม่สงบขึ้นมาแล้วฉะนั้นความสงบนั้นจึงเป็นความสงบ เพราะมันปราศจากอารมณ์ต่างๆ มันก็สงบเฉยๆ อยู่ในอารมณ์อันเดียวแต่เมื่อมีอารมณ์ต่างๆผ่านมาเป็นเหตุเป็นปัจจัย ก็มีความเกิดขึ้นมา เกิดดีใจเกิดเสียใจขึ้นมา เกิดชอบใจไม่ชอบใจขึ้นมาเลยวุ่น อันนี้เพราะความสงบนั้นเป็นเรื่องของสมถกรรมฐานไม่ใช่เรื่องของปัญญา มันสงบเหมือนกัน แต่ว่ามันไม่เด็ดขาด คือ มันไม่ได้สงบเพราะรู้ตามความเป็นจริงเหมือนใบไม้บนต้นไม้ เมื่อไม่มีลมมาพัด มันก็สงบนิ่ง แต่ถ้ามีลมมาพัดก็กวัดแกว่งความสงบอันนี้มันจึงมีอายุสั้น ที่มันสงบอยู่ก็เพราะอาศัยอารมณ์ที่มันไม่เปลี่ยนแปลงท่านเรียกว่า "สงบจิต" ไม่ใช่ว่า "สงบกิเลส"

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-3 13:32 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
(๕) ปล่อยวางละด้วยวิปัสสนา

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีความสงบเช่นนั้น สติมันก็จะค่อยดีขึ้นมาจะเห็นอะไรชัดขึ้นกว่าที่ไม่ได้ทำความสงบแล้วก็สร้างปัญญา สร้างวิปัสสนาให้มันเกิด ให้มันแจ้งขึ้นมา ต่อไปเราจะเข้าใจว่าเมื่อตาเห็นรูป หรือหูได้ยินเสียง เป็นต้น ฉันจะให้มีความสงบ คือ ทำจิตให้มันรู้เรื่องมากขึ้นให้รู้ชัดด้วยปัญญา มีความสงบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นจะต้องหล่อเลี้ยงปัญญาให้มันเกิดขึ้นอะไรจะทำให้ปัญญาเกิด ก็ให้อาหารมันสิ เหมือนเอาข้าวเอาน้ำให้เรา เราก็โตขึ้นมาปัญญามันจะเกิดขึ้นก็ต้องอาศัยอารมณ์เหมือนกัน แต่ต่างจากสมถะ สมถะนั้นเช่นว่าพุทโธๆ หรือลมหายใจเข้าออก แค่นี้มันก็สงบได้ แต่ว่าอาหารของปัญญาไม่ใช่อย่างนั้นต้องเปลี่ยนอาหารให้มัน เช่น แม้เราจะทำความสงบเกิดขึ้นมาได้ เราก็ต้องชี้มันบอกมันว่า "อันนี้มันก็ไม่เที่ยง"มันจะชอบขนาดไหน ก็บอกว่าอันนี้มันก็ไม่เที่ยงบอกเท่านี้แหละปัญญามันก็จะโตขึ้นมา ทำไมมันถึงโต เพราะมันมองเห็นความไม่เที่ยงตลอดตามที่เราพิจารณาอยู่แต่เมื่อยังไม่มีปัญญา จิตหรือผู้ที่รับรู้อารมณ์นั้น อันนั้นเขาว่าดีก็ไปตะครุบเอามันก็กัดเอา อันนี้ว่าไม่ดีก็ตะครุบเอา มันก็กัดเราเท่านั้นแหละ ดีมันก็กัดเอาไม่ดีมันก็กัดเรา แต่ถ้าเมื่อมันเกิดขึ้นมาเราก็ว่า "อันนี้มันไม่แน่" ไม่ตะครุบมันมันก็ไม่กัดเราหรอก ดูไปอยู่เรื่อยๆ มองดูข้างหน้าข้างหลังก็เห็นว่ามันไม่เที่ยงมันไม่แน่นอนสักอย่าง เมื่อเห็นชัดเช่นนี้ อารมณ์ทุกอย่างมันก็มีของมันอยู่อย่างนั้นความยึดมั่นอุปาทานมันก็น้อยเข้ามาๆจนเป็นเรื่องธรรมดา เป็นตาธรรมดา เป็นหูธรรมดา มีความรู้สึกธรรมดา สักแต่ว่ามันชอบสักแต่ว่ามันไม่ชอบ สักแต่ว่ามันทุกข์ สักแต่ว่ามันสุข มีแต่สักแต่ว่าเท่านั้นมันก็ปล่อยให้เป็นเรื่องธรรมดาในตัวของมันเองปัญญามันเห็นชัดอย่างนี้ เรียกว่า วิปัสสนา คือ ความรู้ตามความเป็นจริง รู้แล้วมันวางไม่ตะครุบเดี๋ยวมันกัดแต่ก่อนนี้ผู้รู้อารมณ์นั้น มันมีความสำคัญมั่นหมาย ยึดมั่นถือมั่น แต่เมื่อจิตมันเห็นชัดปัญญามันเกิดเห็นสัจจธรรมตามความเป็นจริงแล้ว มันก็มีการปล่อยวางในตัวของมันถ้าเป็นเด็กมันก็โตขึ้นมาบ้างแล้วมันเปลี่ยนการให้อาหารแล้ว การประพฤติปฏิบัติเช่นนี้ จึงเรียกว่า การปฏิบัติธรรม


(๖) พิจารณาหลักสัจจธรรม

พระพุทธองค์ท่านก็เคยได้พิจารณาในเรื่องความเกิด ท่านก็สงสัยว่า ความไม่เกิดมันจะมีไหมหนอ?แต่ท่านก็มาพิจารณาว่า มันมีมืด มันก็มีสว่าง มันมีสว่าง แล้วมันก็มีมืด ฉะนั้นเมื่อมีเกิดมันก็ต้องมีไม่เกิดเหมือนกัน ท่านก็พิจารณาอยู่ตรงนี้แหละ ไม่ต้องไปเรียนคัมภีร์อยู่ที่ไหนอย่างเช่น เราไปสอบวิชาหนึ่งที่เขาเขียนปัญหาให้เราตอบ เราตอบไม่ได้ แต่มันก็มีคำตอบหรือข้อเฉลยอยู่ถ้าไม่มีข้อเฉลยมันมีปัญหาไม่ได้หรอก เราจึงต้องค้นมันตรงนั้น ฉะนั้น พระพุทธองค์จึงไม่ทรงท้อใจเพราะเมื่อความเกิดมันมี ความไม่เกิดมันก็ต้องมีแน่ท่านก็ทำไปๆจนเห็นชัดขึ้นมาท่านพบว่า ความเกิดก็คือ ความที่มีอุปาทานยึดมั่นถือมั่นขึ้นมา เป็นภพเป็นชาติติดต่อกันไปเป็น ปฏิจ-จสมุปบันธรรม เช่น ต้นลำไยต้นหนึ่งอยู่ที่หน้าบ้านของเรา เราก็ว่าเป็นของเราไปดูอยู่ทุกวัน เดินไปเดินมาก็ว่านี่ต้นลำไยของเรา ทีนี้อีกต้นหนึ่งอยู่หน้าบ้านคนอื่นเราก็ไม่ได้นึกว่าเป็นของเรา มาวันหนึ่งมีคนมาตัดต้นลำไยที่หน้าบ้านของเราเราก็เป็นทุกข์หลาย เพราะมันตัดของเรา อีกวันหนึ่งเขามาตัดต้นลำไยต้นอื่นหน้าบ้านคนอื่น เราก็ไม่เป็นทุกข์ แค่นี้แหละมันทำให้สุขทุกข์เกิดขึ้นมา อุปาทานเป็นตัวทำให้เป็นทุกข์เป็นความเกิดขึ้นมาตรงนี้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงให้พิจารณาว่าอุปาทานทำให้เกิดภพภพทำให้เกิดชาติ ชาติแล้วก็ชราพยาธิ มรณะ นี่พระพุทธองค์ท่านก็เห็นเท่านี้แหละเห็นชัดแจ้งอย่างนี้แล้วก็หายสงสัยฉะนั้น เพื่อให้มันเห็นชัด เราจะต้องมาฝึกอบรมจิตของเรา ในตัวบุคคลหนึ่งก็มีจิตหรือผู้ที่รับอารมณ์นี่แหละสำคัญมากที่สุด ถ้าจิตนี้มันหลง มันก็หลงไปหมดตามันก็หลง หูมันก็หลง ถ้าได้อารมณ์ที่ดีก็ดีใจ ถ้าได้อารมณ์ที่ไม่ชอบก็เสียใจคือ จิตอันนี้มันยังไม่ได้อบรม การที่เรามาทำกรรมฐานกันนั้น ก็เพื่อมาอบรมจิตนี่แหละแต่ว่าก็ไม่ใช่ง่ายๆนะโยมนะ มันลำบากเหมือนกัน แต่มันก็ง่ายอยู่ในที่ลำบากนั่นแหละมันง่ายอยู่ที่มันยากตรงนั้นเอง เพราะฉะนั้นมันเป็นปัญหาของเราทุกคน จะต้องให้มันมีความลำบากยากแค้นเสียก่อนไม่ใช่ว่าเรามาทำกรรมฐานปุ๊บมันก็จะดีเลย ทุกข์มันจะหายเลย ไม่ใช่อย่างนั้น
เราจะต้องทำไปจนกว่ามันจะเห็นชัดอย่างท่านว่า "อนัตตา" แต่เราก็ยังเห็นว่ามันเป็นอัตตาเป็นตัวเป็นตน ไอ้นี่ก็ของฉัน ไอ้นั่นก็ของฉัน นั่นลูกฉัน นั่นสมบัติของฉันไปสร้างให้เป็นตัวเป็นตนขึ้นมาทั้งนั้น แต่พระก็มาเทศน์ให้ฟังว่า มันไม่ใช่ของเรานะไอ้นี่ก็ไม่ใช่ของเรา ไอ้นั่นก็ไม่ใช่ของเรา เราก็ไม่เข้าใจ บางทีก็จะโกรธพระก็ได้เรานึกว่าเป็นของเรา แต่ท่านมาเทศน์ว่าไม่ใช่ของเรา เราก็เลยอ่อนใจไม่รู้จะทำไปทำไมเราจึงต้องคิดพิจารณาจนมันเห็นว่า มันเป็น "สมบัติของโลก" ทั้งหมด แล้วทำไมเราจึงงัดแงะจิตใจของเราออกไม่ได้นี่เพราะมันหลงติดอยู่ในนั้นนั่นเอง
ฉะนั้น คำสอนของพระที่เรามาฝึกกันนี้ ก็เพื่อจะไม่ให้ทุกข์เกิดขึ้นมา คือไม่ให้ไปสำคัญมั่นหมาย ให้ไปทำลายความรู้สึกว่าเป็นอัตตาอันนี้ แต่คนเราก็ไม่ค่อยจะชอบใจอย่างเช่น พระพุทธองค์ท่านตรัสว่า โลกนี้มันเป็นทุกข์ ท่านจึงให้ตัด ไม่อยากให้เกิดแต่พอท่านว่าไม่อยากให้เกิด เราก็ไม่ค่อยพอใจเสียแล้ว ที่ท่านไม่อยากให้เกิดเพราะมันทุกข์เมื่อเกิดขึ้นมามันก็มีพร้อม ตาก็มี หูก็มี จมูกก็มีวุ่นวายหลายอย่าง ท่านจึงให้ตัดภพตัดชาติคือ ไม่ให้มันเกิด เพราะเมื่อเกิดมาแล้วมันเป็นทุกข์ แต่เราก็ไม่ยอม "ขอเถิดอย่าให้หนีไปเลยขออยู่นี่ล่ะ" อย่างนี้มันจึงวุ่นวาย คือ อะไรที่ท่านว่ามันไม่เที่ยงแต่เราก็อยากให้มันเที่ยง อะไรที่ไม่ใช่ของเรา เราก็อยากให้ใช่ของเรา มันก็เป็นไปไม่ได้
ทีนี้ ถ้าเป็นผู้ที่พ้นทุกข์แล้วอย่างพระอริยเจ้าของเราทุกวันนี้ถ้าหากว่าคนไปเห็นสงสัยจะหาว่าเป็นโรคประสาทก็ไม่รู้การไปการมา การพูดการจา การกระทำของท่านไม่เหมือนคนที่มีกิเลสตัณหา เราก็ดูไม่ออกอย่างแท่งทองแท่งหนึ่งท่านว่าเป็นดิน แต่เขาก็ว่าเป็นทอง ถ้ามันเสียไปเราก็ร้องไห้แต่ท่านเห็นว่ามันก็เหมือนก้อนดินก้อนหนึ่ง ถ้าหากว่าบังเอิญเราไปเห็นท่านเขี่ยเอาก้อนทองนั้นทิ้งไปเราก็จะว่า "โอ้ย!คนนี้มันเป็นโรคประสาทละมั้ง" ไม่รู้ใครเป็นโรคประสาทแน่ก็ไม่รู้นี่มันเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น การปฏิบัตินี้อาตมาว่า เอาแค่ศีลธรรมเสียก่อนเช่น ถ้ามันโกรธขึ้นมาก็อดไว้ อย่าปล่อยตามใจมันไปเลยหรือถ้ามันอยากขึ้นมามากๆก็ตามใจให้มันน้อยๆ ให้พอประมาณ อย่าปล่อยตามมันเต็มที่ ถ้าเราปล่อยมันเต็มที่โลกมันจะแตกให้อดไว้ให้กลั้น อย่าปล่อยเต็มที่ของมัน ให้มันมีศีลธรรมไว้ เท่านี้ก็เรียกว่ามันสมควรอยู่ล่ะเราแต่เราก็จะต้องทำกรรมฐานของเราเรื่อยๆไป ให้มันชัดเข้าไป มันก็จะค่อยๆดีขึ้นไม่ใช่ว่าทำปุ๊บปั๊บมันจะได้เลย


ธรรมปฏิสันถาร

เอาละ เรามากันกี่คืนแล้ว ได้อะไรไปบ้างล่ะ ใครนึกอยากจะกลับไปกรุงเทพฯบ้างล่ะเหนื่อยไหม มีกำไรหรือขาดทุน หรืออยู่ทนความเป็นจริงที่เรามากันนี้มันก็ดีมันละกิเลสได้อย่างหนึ่งเหมือนกัน ออกจากบ้านมาอยู่อย่างนี้ มันจะมองเห็นสภาพอะไรหลายๆอย่างความรู้สึกนึกคิดมันก็รู้อะไรหลายๆอย่างคนที่อยู่กับที่จนเกินไป มันก็ไม่รู้เหนือรู้ใต้กับเขา มันก็ลำบาก ทุกปี ถ้ามาอย่างนี้เรียกว่าไปธุดงค์ก็ได้ไปธุดงค์เหมือนพระเอาละพูดเท่านี้แหละ ทีนี้ใครมีปัญหาอะไรจะถาม เดี๋ยวนี้มันพูดหลายไม่ได้เขาไม่ให้พูดหลายซะแล้ว อาศัยเขาอยู่ มีไหม ขัดข้องอะไรไหม

4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-3 13:33 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ปุจฉา วิสัชนา

มีปัญหาขอถามอยู่อย่างหนึ่งเกี่ยวกับท่านอาจารย์คือ ท่านอาจารย์เองเกิดความสนใจในธรรมะนี้ตั้งแต่เมื่อไรหรือเพิ่งเกิดความสนใจตอนมาบวชหรืออย่างไรอ๋อ ตอนมาบวชพระนี่นะหรือ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่มันมีปัจจัย มีนิสัยปัจจัยเช่น เป็นคนซื่อสัตย์ ไม่โกหกใคร ชอบนิสัยตรงไปตรงมาอยู่เสมอ อย่างเช่น แบ่งของกันนะไปหาเงินมา หรือไปหาอะไรมาเมื่อมาแบ่งกัน ก็ชอบเอาน้อยกว่าเขา เกรงใจเขา เป็นอย่างนี้เรื่อยๆมาจนตลอดมาเมื่อธรรมชาติอันนี้มันแก่ขึ้นมา มันก็เกิดความรู้สึกนึกคิดอย่างนั้นอยู่นั่นแหละเรามีความคิดอย่างนี้เมื่อไปถามเพื่อน เขาก็ไม่เคยคิด มันเป็นของมันเอง เรียกว่ามันเป็นวิบาก
ทีนี้ เมื่อเราพิจารณามันเรื่อยๆ มันก็โตของมันเรื่อยๆ มันเป็นเหตุให้ทำอย่างนี้มันเป็นเหตุให้คิดอย่างนี้ อย่างเมื่อตอนเด็ก ถ้าจะเล่นกันแล้วชอบจะเป็นนายเด็กอื่นๆต้องเป็นลูกน้อง บางทีไปเล่นคิดอยากจะเป็นพระ ก็ตั้งตัวเป็นพระขึ้นพวกเด็กอื่นๆ เราก็ให้เป็นอุปัฏฐาก ถึงเวลาก็ตีระฆังเพลเก๊งๆๆ แล้วก็ให้เอาน้ำมากินมันเป็นอย่างนี้ นิสัยมันเป็นอย่างนี้มาเรื่อยๆ แล้วก็มาในระยะหนึ่งโตขึ้นมาอายุสักประมาณสิบห้าสิบหกเบื่อ ไม่อยากอยู่กับพ่อกับแม่ คิดอยากจะไปเรื่อยๆ ไม่รู้ทำไมมันถึงคิดอย่างนั้นมันเป็นอย่างนั้นมาหลายปีเหมือนกัน ไม่รู้มันเบื่ออะไรก็ไม่รู้ อยากไปคนเดียวอยากไปไหนๆอันนี้เป็นอยู่ระยะหนึ่ง แล้วเราก็ได้มาบวชพระ อันนี้มันเป็นนิสัยแต่ว่าอันนี้เราก็ไม่รู้มันใช่ไหม แต่ว่าอาการมันเป็นอย่างนี้ตลอดมา
สำหรับท่านพระอาจารย์ตอนถึงคราวปฏิบัติจะฝึกตนเอง เกิดมีปัญหาอะไรไหม



โอ้หลาย มันมีหลายปัญหาในชีวิตนี้ มันพูดไม่จบล่ะ มากที่สุดวันปฏิบัตินะ ทุกข์มากเช่น บางวันอยู่ตามป่า ฝนตกทั้งคืน นั่งเปียกคิดถึงชีวิตเจ้าของแล้วก็นั่งร้องไห้น้ำตาก็ไหล ทั้งดีใจด้วย ทั้งมีศรัทธา ทั้งเสียใจ บอกไม่ถูกตรงนี้ แต่ก็ไม่หยุดใจมันกล้ามากที่สุด
ทีนี้ถามถึงตอนท่านอาจารย์มาบวชแล้ว
ถึงเวลามันก็บวชได้ เราค่อยๆทำไป แต่ว่าให้มีความสนใจอยู่เสมอ เรื่อยๆไปเราจะทำอะไร เช่น มีความรักรูปก็พิจารณา มีความเกลียดรูปก็พิจารณา มันเป็นของไม่แน่นอนทั้งสองอย่างพิจารณาเรื่อยไปจนกว่ามันจะเห็นชัด คนเรานั้นมันไปติดในความสุข ความทุกข์มันจึงเป็นเหตุอย่างเช่นเรื่อง กาม กามนั้นพระพุทธเจ้าท่านสอนว่า เหมือนกันกับคนกินเนื้อสัตว์เมื่อเนื้อมันเข้าไปติดฟันเจ็บปวด เราก็ไปเอาไม้จิ้มมันออก ก็อ้า สบาย อีกสักหน่อยก็คิดอยากอีกแล้วก็มากินอีก เนื้อมันยัดเข้าไปในซีกฟัน ก็ปวดอีก ก็หาไม้มาแหย่มันออกโอ้สบายอีกแล้ว แล้วก็อยากอีก นี่เรียกว่ามันไม่รู้จัก
เอาละนะ เทศน์ให้ฟังเท่านี้ก็พอนะ เอาพอปานนี้แหละ

ที่มา http://www.ubu.ac.th/wat/ebooks/ ... tice_of_Dhamma.html

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้