การดูพระนั้นมีหลักการและหลักเกณฑ์มีองค์ประกอบสำคัญยิ่งมากมายหลายประการ ที่เราควรจะยึดเป็นหลัก
ปฏิบัติได้ คือ 1. ต้องดูที่รูปทรงองค์ประกอบในองค์พระว่ามีศิลปอะไร, ยุคใด, สมัยใด, กรุไหน, ดูเนื้อหาสาระเรียกและรู้ชื่อของพระ
ว่าชื่ออะไร? มีความนิยมหรือไม่ เป็นพระแท้หรือเปล่า? ต้องดูพระที่มีแสงสว่างพอควร 2. ต้องดูที่มีความเก่าทางธรรมชาติหรือไม่ และต้องดูของใหม่ที่ใช้สารเคมีเพื่อให้เป็นของเก่าได้ด้วยยิ่งดี ถ้าใครไม่เรียนรู้
เรื่องนี้ก็นับว่าอันตรายอยู่เหมือนกัน 3. พระปั๊มในปัจจุบันมีเกร่อในท้องตลาด โดยนำเศษชินหรือพระที่มีเนื้อตะกั่วสนิมแดงมาปั๊ม เช่น พระแก้บน นำมาปั๊ม
ตบตาผู้เช่าระวังไว้ 4. อย่าเกิดความอยาก (ความโลภ) ให้มากเกินเหตุเกินผลเพราะพระเครื่องมีหลายร้อย หลายพันชนิดนับไม่ถ้วน
จงเลือกสรรเฉพาะพระที่ชอบ และพระที่มีชื่อเสียงที่เป็นของแท้รู้ที่มา 5. เรื่องของการเรียนรู้เรื่องพระนี้ เป็นการเรียนรู้ยากสอนยาก นอกเสียจากว่า ผู้เรียนมีความตั้งใจจริงหรือไม่
มีความเชื่อถือจากผู้สอนหรือเปล่า 6. การดูพระที่เฉียบขาด ต้องดูที่ตำหนิหรือจุดสังเกตในองค์พระเป็น ไม่ว่า พระพิมพ์ พระปั๊ม พระหล่อ ผิวพื้นใน
องค์พระต้องมีตำหนิทั้งสิ้น จะมีมากมีน้อยเท่านั้น สำหรับพระปลอมจะมีเส้นตำหนิแผ่วบางกว่าของจริง เหตุที่บางหรือเลือนลาง
เพราะเขาถอดพิมพ์จากของจริงมา 7. เส้นตำหนิ ในพระแต่ละองค์มีลักษณะรูปร่างเป็นอย่างไร มีขนาดไหน เป็นเส้นน้ำตก, เส้นขนแมว, เส้นใยบัว, หรือ
เส้นรากไม้, ไข่ปลา อย่างไร จงจำให้แม่นยำ เพราะถือเป็นเส้นครู 8. พระแต่ละเมืองทั่วประเทศไทย มีส่วนผสมของเนื้อพระไม่เหมือนกัน เพียงแต่คล้ายคลึงกัน แม้แต่พระเกจิอาจารย์
องค์เดียวกันสร้างพระแต่ละครั้ง แต่ละรุ่น ก็ไม่สามารถเหมือนกัน (เนื้อ) ถึงแม้ว่าจะใช้สูตรเดียวกัน แต่ผิดกันที่ระยะเวลา 9. พระเก่าที่มีอายุมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อประเภทใดก็ตามจะมีลักษณะประจำตัวอยู่อย่างหนึ่งซึ่งสัมผัสได้ด้วยสายตา
คือจะมีลักษณะแห้งผาก คนที่ดูพระไม่เป็นจะดูไม่ออกเลย 10. เราศึกษาเรื่องพระอะไร เราต้องเอาพระแท้มาเป็นแม่แบบหรือนำมาเป็นตัวอย่างดูไปทีละขั้นตอน หรือไล่ไป
ทีละอย่าง ๆ เป็นการอ่านไปทีละขั้นว่า ในองค์พระนั้น ๆ มีมวลสารอะไรบ้างเป็นส่วนผสม พยายามหาของจริงมาเปรียบเทียบ
และหาครูอาจารย์ที่มีความจริงใจเป็นที่ปรึกษา ต้องลดทิฐิมานะยอมเป็นผู้มีอาจารย์ เมื่อรู้แล้วอย่าทรนงตน อย่าเห่อเหิม
ทะเยอะทะยานให้คนอื่นหมั่นไส้ การศึกษาเรื่องพระเครื่อง แตกต่างกับเรื่องของพระสงฆ์มากมายหนักหนา พระสงฆ์ในปัจจุบันมีเรื่องราวต่าง ๆ นานา
มากมาย เช่น กินเหล้ากินยา ทอดแหหาปลา ปล้ำสาวในบาร์ แต่งกายเลียนแบบทหาร อะไรต่อมิอะไรมากโข ทำให้พระศาสนา
มัวหมอง แต่ยังมีพระสงฆ์จำนวนมากเป็นสงฆ์ที่ดีเป็นศรีสง่าของพระศาสนาเป็นอันมาก เราอย่าเอาเรื่องพระสงฆ์ประเภทนั้นกับ
พระเครื่องมาปะปนกันจะทำให้เราหมดศรัทธา เรามาตั้งใจศึกษาค้นคว้าเรื่องของพระเครื่องกันดีกว่า แน่นอนกว่า สบายใจกว่า
ไม่รกสมอง สรุปความว่า การดูพระนั้นต้องเชื่อครูบาอาจารย์ ท่านสอนให้เราดูพิมพ์ก่อน เมื่อดูพิมพ์ถูกต้องแล้วจึงค่อยดูตำหนิ
เมื่อดูตำหนิถูกต้องแล้วก็ดูที่เนื้อ เมื่อดูที่เนื้อแล้วก็ดูที่องค์ประกอบของพระทั้งหมดว่าถูกต้องแค่ไหน เมื่อดูองค์ประกอบแล้ว
ก็ดูที่คราบกรุ, ผิวกรุ, และความเก่าทางธรรมชาติได้อีกด้วย เมื่อสามารถเรียนรู้ถึงขั้นนี้แล้วก็เหมือนกับเราได้หัดเรียน ก. ไก่
ถึง ฮ. นกฮูก จบแล้วนั่นเอง แล้วท่านจะเป็นคนเล่นพระเก่งได้ในอนาคต แต่ท่านต้องเป็นคนที่ตัดสินใจแน่นอน องค์ประกอบ
ที่สำคัญยิ่ง คือ ดวง, วาสนา, เงินตรา, ถ้าไม่มีเงินเช่าบูชา สิ่งที่ตนปรารถนาก็ไม่สำเร็จ ถึงแม้ว่าเราจะมีสายตาอันเฉียบขาด
สักปานใดก็ตาม องค์ประกอบต่าง ๆ เหล่านี้เข้มขลังยิ่งกว่ามนต์คาถามหาเสน่ห์นับร้อยบทซะอีก.. ถ้าท่านอยากเป็นคนเก่ง
ในเรื่องดูพระ เนื้อดิน, เนื้อชิน, เนื้อผง, เนื้อสำริด, เนื้อว่าน, เนื้อเงิน, เนื้อทองคำ จงหัดดูตามที่กล่าวมานี้รับรองได้ว่าอนาคต
จะต้องเป็นคนเก่งอย่างแน่นอน ก่อนจบขอย้ำเตือนซ้ำอีกครั้งว่า พระเครื่องทุกอย่างทุกชิ้นดูยากแทบทั้งสิ้น และถ้าใครเอาพระ
มาให้ดู ให้อ่าน อย่าอ่าน อย่าดู จงอ่าน จงดู เฉพาะเรา ถ้าไม่ซี้ปึ๊กกันจริง ๆ แล้วอย่าริอ่าน ไปอ่านเข้า เพราะในอดีตปรากฏว่า
คนอ่านพระ โดนฟันกระบาลมามากต่อมาก ดีไม่ดีก็อาจจะมีการตายโหงเข้าอีก
ที่มาhttp://webboard.yenta4.com/topic/124265
|