ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2032
ตอบกลับ: 5
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

สัมมาสมาธิ

[คัดลอกลิงก์]
สัมมาสมาธิ -- ปล่อยอยู่ในการกระทำ



ทำความเข้าใจเรื่องการปฏิบัติ

ให้เราเข้าใจในการปฏิบัติยกตัวอย่างเช่นพระพุทธเจ้าของเราทั้งปฏิปทาก็ตามทั้งอุบายแนะนำพร่ำสอนสาวกทั้งหลายก็ตามให้เอาตัวอย่างพระพุทธเจ้าท่านสอนข้อปฏิบัติเป็นอุบายให้เราละถอนทิฏฐิมานะไม่ใช่ว่าท่านปฏิบัติให้เมื่อเลิกจากการฟังแล้วเราต้องมาสอนตัวเองมาปฏิบัติตัวเองผลมันเกิดขึ้นตรงนี้ไม่ใช่ว่าเกิดขึ้นตรงที่ท่านสอนที่ท่านสอนเรานั้นเราเพียงแต่เข้าใจแต่ว่าธรรมะนั้นยังไม่มีในใจเพราะอะไรเพราะเรายังไม่ได้ปฏิบัติคือยังไม่ได้สั่งสอนตัวเราพูดตรงๆแล้วก็คือธรรมะนี้เกิดที่การกระทำจะรู้ก็อยู่ตรงที่การกระทำจะสงสัยก็อยู่ตรงที่การกระทำธรรมที่เราฟังจากครูบาอาจารย์ก็จริงอยู่แต่ว่าการฟังนั้นไม่สามารถที่จะให้เราบรรลุธรรมะได้เป็นแต่เหตุให้รู้จักการปฏิบัติให้บรรลุธรรมการจะให้เราบรรลุธรรมนั้นเราก็ต้องเอาคำสอนของท่านมาทำขึ้นในใจของเราส่วนที่เป็นทางกายก็เอาให้กายส่วนที่เป็นทางวาจาก็เอาให้วาจาส่วนที่เป็นทางใจก็เอาให้ใจปฏิบัติหมายความว่าท่านสอนเราแล้วเราก็กลับมาสอนตัวเราอีกให้เป็นธรรมะให้รู้ธรรมตามทำนองนั้น


อย่าเชื่อผู้อื่นโดยปราศจากการพิจารณา

บุคคลที่เชื่อคนอื่นพระพุทธเจ้าของเราไม่ตรัสสรรเสริญว่าบุคคลนั้นเป็นปราชญ์คนที่เป็นปราชญ์นั้นก็คือคนที่ปฏิบัติธรรมะให้เป็นธรรมะจนเชื่อตัวของตัวไม่ต้องเชื่อคนอื่น
ในคราวหนึ่งครั้งพุทธกาลพระสารีบุตรและสาวกหลายรูปนั่งฟังธรรมด้วยความเคารพต่อพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าท่านก็อธิบายธรรมะให้ความเข้าใจไปแล้วที่สุดท่านก็ย้อนถามพระสารีบุตรว่า
"ท่านสารีบุตรเชื่อแล้วหรือยัง"
พระสารีบุตรตอบว่า"ข้าพระองค์ยังไม่เชื่อ"
นี่เป็นตัวอย่างแต่ว่าท่านรับฟังคำที่ว่าท่านยังไม่เชื่อนั้นมิใช่ว่าท่านประมาทท่านพูดความจริงออกมาท่านรับฟังเฉยๆคือปัญญายังไม่เกิดท่านจึงตอบพระพุทธองค์ว่ายังไม่เชื่อก็เพราะว่ายังไม่เชื่อจริงๆคำพูดนี้คล้ายๆกับประมาทแต่ความจริงท่านมิได้ประมาทเลยท่านพูดตามความจริงใจว่าท่านยังไม่เชื่อพระพุทธองค์ก็ทรงสรรเสริญ
"เออ สารีบุตรดีแล้วนักปราชญ์ไม่ควรเชื่อง่ายๆควรไตร่ตรองพิจารณาแล้วจึงเชื่อ"


2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-2-27 10:52 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ลักษณะของการเชื่อตนเอง

คำที่ว่าเชื่อตนเองนั้นก็มีหลายอย่างมีหลายลักษณะลักษณะอันหนึ่งมีเหตุผลที่ถูกต้องตามสัจจธรรมแล้วลักษณะอีกอันหนึ่งมีเหตุผลที่ไม่ถูกต้องตามสัจจธรรมลักษณะอันนี้ประมาทเลยเป็นความเข้าใจที่ประมาทเป็นมิจฉาทิฏฐิไม่เชื่อใครยกตัวอย่างเช่นทีฆนขะพราหมณ์พราหมณ์คนนี้เชื่อตนเองมากไม่เชื่อคนอื่นเมื่อพระพุทธเจ้ากับพระสารีบุตรลงมาจากดอยคิชฌกูฏนั่งพักอยู่ทีฆนขะพราหมณ์ก็เข้าไปเรียนถามพระพุทธเจ้าให้พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้ฟังหรือจะว่าไปแสดงธรรมให้พระพุทธเจ้าฟังก็ได้คือไปอวดรู้อวดความเห็นของตัวเอง
"ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าทุกอย่างไม่ควรแก่ข้าพเจ้า"
ความเห็นเป็นอย่างนี้พระพุทธเจ้าก็ฟังทิฏฐิของทีฆนขะพราหมณ์อยู่ท่านก็เลยตอบว่า
"พราหมณ์ ความเห็นอย่างนี้ก็ไม่ควรแก่พราหมณ์เหมือนกัน"
พอพระพุทธเจ้าตอบสวนมาพราหมณ์ก็สะดุดใจไม่รู้ว่าจะพูดอะไรพระพุทธเจ้าจึงยกอุบายหลายอย่างขึ้นให้พราหมณ์เข้าใจพราหมณ์ก็เลยหยุดพิจารณาจึงได้เข้าใจว่า"เออ....ความเห็นของเรานี้มันไม่ถูก"
เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสตอบปัญหาเช่นนั้นพราหมณ์ก็ลดทิฏฐิมานะลงพิจารณาเดี๋ยวนั้นเห็นเดี๋ยวนั้นพลิกเดี๋ยวนั้นเลยเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือในเวลานั้นได้สรรเสริญธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า
"เมื่อได้รับธรรมะของพระผู้มีพระภาคแล้วจิตใจของข้าพระองค์มีความแจ่มแจ้งใสสว่างเหมือนอยู่ในที่มืดมีคนมาทำไฟให้สว่างฉันนั้นหรือเหมือนกะละมังที่มันคว่ำอยู่มีคนมาช่วยหงายกะละมังขึ้นหรือเปรียบประหนึ่งว่าหลงทางไม่รู้จักทางก็มีคนมาชี้ทางให้ฉันนั้น"


เมื่อความเห็นผิดหายไปความเห็นถูกก็เข้ามา

อันนี้ความรู้ได้เกิดขึ้นที่จิตเดี๋ยวนั้นที่จิตที่มันเปลี่ยนกลับเดี๋ยวนั้นความเห็นผิดหายไปความเห็นถูกก็เข้ามาความมืดก็หายไปความสว่างก็เกิดขึ้นมาเดี๋ยวนั้นดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าทีฆนขะพราหมณ์นี้เป็นผู้ได้ดวงตาเห็นธรรมเพราะว่าในสมัยก่อนทีฆขนะพราหมณ์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงความเห็นของตัวเองและไม่รู้สึกว่าจะพยายามเปลี่ยนแปลงความเห็นเช่นนั้นด้วยเมื่อได้รับธรรมะของพระพุทธเจ้าจิตของท่านก็รู้ตามความเป็นจริงว่าความยึดมั่นถือมั่นในความเห็นของตนนั้นผิดไปเมื่อความรู้ที่ถูกเกิดขึ้นก็เห็นความรู้ที่มีก่อนนั้นว่ามันผิดท่านจึงเปรียบเทียบอยู่ในที่มืดมีคนมาทำไฟให้สว่างอันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้นในเวลานั้นทีฆนขะพราหมณ์ก็หลุดไปจากมิจฉาทิฏฐิที่ยึดถือไว้เช่นนั้น


ปัญญาเกิดขึ้นที่จิต

คนเราก็ต้องเปลี่ยนอย่างนี้ปฏิบัติต้องเปลี่ยนต้องเห็นเช่นนี้จึงจะละมันไปได้เรามาปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแต่ก่อนเราปฏิบัติไม่ดีไม่ชอบแต่ก็เห็นว่ามันดีมันชอบอยู่นั่นเองเราจึงทิ้งมันไม่ได้เมื่อเรามาประพฤติปฏิบัติพิจารณาแล้วเปลี่ยนกลับหน้ามือเป็นหลังมือคือผู้รู้ธรรมะหรือปัญญาเกิดขึ้นที่จิตนั้นคงมีความสามารถเปลี่ยนความเห็นเพราะความรู้อันนั้นตามรักษาจิต
ฉันนั้น นักประพฤติปฏิบัตินี้จึงสร้างความรู้สึกที่เรียกกันว่า'พุทโธ'คือผู้รู้อันนี้ให้เกิดขึ้นที่จิตแต่ก่อนผู้รู้ยังไม่เกิดขึ้นที่จิตรู้แต่ไม่แจ้งรู้แต่ไม่จริงรู้แต่ไม่ถึงความรู้อันนั้นจึงอ่อนความสามารถไม่มีความสามารถที่จะสอนจิตของเราได้ในเวลานั้นจิตนั้นได้กลับเปลี่ยนออกมาเพราะความรู้อันนี้เรียกว่าปัญญาหรือญาณรู้ยิ่งกว่ารู้มาแต่ก่อนผู้รู้แต่ก่อนนั้นรู้ไม่ถึงที่สุดจึงไม่มีความสามารถแนะนำจิตของเราให้ถึงที่สุดได้


ทำปัญญา-ทำญาณให้เกิดขึ้นที่จิต

ฉะนั้นพระพุทธเจ้าของเราจึงให้น้อมเข้ามาเป็นโอปนยิโกน้อมเข้า อย่าน้อมออกไปหรือน้อมออกไปแล้วให้น้อมเข้ามาดูเหตุผลให้หาเหตุหาผลที่ถูกต้องทุกอย่างเพราะว่าของภายนอกและของภายในนั้นมันเกี่ยวเนื่องซึ่งกันและกันอยู่เสมอดังนั้นการปฏิบัตินี้คือการมาสร้างความรู้อันหนึ่งให้มีกำลังมากกว่าความรู้ที่มีอยู่แล้วคือทำปัญญาให้เกิดขึ้นที่จิตทำญาณให้เกิดขึ้นที่จิตจนมีความสามารถที่จะหยั่งรู้กิริยาจิตภาษาจิต รู้อุบายของกิเลสทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นมาในจิตนั้น

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-2-27 10:53 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ความรู้ที่ยังไม่จบ

พระพุทธเจ้าของเรานั้นท่านก็ตัดสินใจของท่านยังไม่ได้เหมือนกันเมื่อท่านออกบวชใหม่ๆก็แสวงหาโมกขธรรมดูอะไรท่านก็ดูทุกอย่างให้มีปัญญาแสวงหาครูบาอาจารย์อุทกดาบสอย่างนี้ท่านก็ไป เข้าไปปฏิบัติดูยังไม่เคยนั่งสมาธิท่านก็ไปนั่งนั่งสมาธิขาขวาทับขาซ้ายมือขวาทับมือซ้ายตั้งกายให้ตรงหลับตา อะไรๆก็ปล่อยวางไปหมดจนสามารถบรรลุฌานสมาบัติชั้นสูงแต่เมื่อออกจากฌานนั้นแล้วความคิดมันก็โผล่ขึ้นมาอีกเมื่อมันโผล่ขึ้นมาแล้วจิตก็เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในที่นั้นท่านก็รู้ว่าเออ...อันนี้ปัญญาของเรายังไม่รู้ยังไม่แจ่มแจ้งยังไม่เข้าถึงยังไม่จบ ยังเหลืออยู่
เมื่อเป็นเช่นนี้ท่านก็ได้ความรู้เหมือนกันตรงนี้ไม่จบท่านก็ออกไปใหม่แสวงหาครูบาอาจารย์ใหม่เมื่อออกจากครูบาอาจารย์องค์นี้ท่านก็ไม่ดูถูกดูหมิ่นท่านทำเหมือนกันกับแมลงภู่ที่เอาน้ำหวานในเกสรดอกไม้ไม่ให้ดอกไม้ช้ำแล้วไปพบอาฬารดาบสก็เรียนอีกความรู้สูงกว่าเก่าเป็นสมาบัติอีกขั้นหนึ่งเมื่อออกจากสมาบัติแล้วพิมพาราหุลก็โผล่ขึ้นมาอีกเรื่องราวต่างๆก็เกิดขึ้นมายังมีความกำหนัดรักใคร่อยู่ท่านก็เห็นในจิตของท่านว่าอันนี้ก็ไม่ถึงที่สุดเหมือนกันท่านก็เลิกลาอาจารย์องค์นี้ไปแต่ยอมรับฟังและพยายามทำไปจนสุดวิสัยของท่านท่านตรวจดูผลงานของท่านตลอดกาลตลอดเวลาไม่ใช่ว่าท่านทำแล้วก็ทิ้งไปไม่ใช่อย่างนั้นท่านติดตามผลงานของท่านตลอดเวลาทีเดียว


สัมมาสมาธิ: ความรู้ที่ถูกต้อง

แม้กระทั่งการทรมานเมื่อทรมานเสร็จก็เห็นว่าการทรมานอดข้าวอดปลาทรมานให้ร่างซูบซีดนี้มันเป็นเรื่องของกายกายมันไม่รู้เรื่องอะไรคล้ายๆกับว่าไปตามฆ่าคนที่ไม่ได้เป็นโจรคนที่เป็นโจรนั้นไม่ได้สนใจเขาไม่ได้เป็นโจรเข้าใจว่าเขาเป็นโจรเลยไปตะคอกใส่พวกนั้นไปคุมขังแต่พวกนั้นไปเบียดเบียนแต่พวกนั้นเรื่อยเป็นไปในทำนองนี้เมื่อท่านพิจารณาแล้วก็เห็นว่าไม่ใช่เรื่องของกายมันเป็นเรื่องของจิตอัตตกิลมถานุโยโคนี้พระพุทธเจ้าผ่านแล้วรู้แล้ว จึงเข้าใจว่าอันนี้เป็นเรื่องกายความเป็นจริงพระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสรู้ทางจิต
เรื่องกายก็ดีเรื่องจิตก็ดีดูแล้วก็ให้รวมเป็นเรื่องอนิจจังเป็นเรื่องทุกขังเป็นเรื่องอนัตตามันเป็นแต่เพียงธรรมชาติอันหนึ่งมีปัจจัยให้เกิดขึ้นมาแล้วมันก็ตั้งอยู่ตั้งอยู่แล้วก็สลายไปมีเหตุมีปัจจัยก็เกิดขึ้นมาเกิดขึ้นมาแล้วก็ตั้งอยู่ตั้งอยู่แล้วมันก็สลายไปอีกที่มันเป็นเช่นนี้ก็ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนไม่ใช่เราไม่ใช่เขาไม่มีอะไร เป็นแต่เพียงความรู้สึกเท่านั้นสุขก็ไม่มีตัวตนทุกข์ก็ไม่มีตัวตนเมื่อค้นคว้าหาตัวตนจริงๆแล้วไม่มีมีเพียงธรรมชาติอันหนึ่งเกิดขึ้นมาแล้วก็ตั้งอยู่ตั้งอยู่แล้วก็ดับไปมันหมุนเวียนเปลี่ยนไปเท่านั้น


สรรพสิ่งเกิดขึ้น: ตั้งอยู่ : ดับไป

มนุษย์สัตว์ทั้งหลายนั้นก็มักเข้าใจว่าการเกิดขึ้นนั้นเป็นเราการตั้งอยู่เป็นเราการดับไปนั้นเป็นเราก็ไปยึดสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นไม่อยากให้เป็นอย่างนั้นอยากให้เป็นอย่างอื่นเช่นว่าเกิดแล้วไม่อยากให้สลายไปสุขแล้วไม่อยากให้ทุกข์ทุกข์ไม่อยากให้เกิดถ้าทุกข์เกิดแล้วอยากให้ดับเร็วๆหรือไม่ให้เกิดเลยดีมากอย่างนี้ นี่ก็เพราะเห็นว่ารูปนามนี้เป็นตัวเราเป็นของเราจึงมีความปรารถนาอยากจะให้รูปนามเป็นอย่างนั้นถ้าความเห็นเป็นอย่างนี้มันก็คล้ายๆกับว่าสร้างทำนบสร้างเขื่อนไม่มีทางระบายน้ำโทษมันก็คือเขื่อนมันจะพังเท่านั้นเองเพราะไม่มีทางระบายอันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้นนี่พระพุทธองค์ทรงเห็นว่าเมื่อความคิดความเห็นเป็นเช่นนี้อันนี้แหละเป็นเหตุให้ทุกข์เกิดเมื่อคิดเช่นนั้นเข้าใจเช่นนั้นทุกข์มันก็เกิดขึ้นมาเดี๋ยวนั้นท่านเห็นเหตุอันนี้ท่านจึงสละนี้คือสมุทัยสัจทุกขสัจ นิโรธสัจมรรคสัจ มันติดอยู่ตรงนี้เท่านั้นคนจะหมดสงสัยก็จะหมดที่ตรงนี้เมื่อเห็นว่าอันนี้มันเป็นรูปนามหรือกายกับใจพิจารณาแล้วที่มันเกิดมาแล้วก็ให้เข้าใจว่าไม่ใช่เราไม่ใช่เขา ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตนเรา เขา มันเป็นไปตามธรรมชาติตั้งอยู่อย่างนั้น
ที่เรามาปฏิบัติให้รู้ตามสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ว่ามันเป็นอย่างนั้นเราไม่มีอำนาจไปบริหารการงานที่นั้นเราจะไปเจ้ากี้เจ้าการไปแต่งไปตั้งอะไรตรงนั้นไม่ได้มันจะเป็นทุกข์เพราะเราไม่ใช่เจ้าของเราจะเข้าใจว่าเราเป็นเขาไม่ได้ทั้งกายและจิตถ้าเรารู้อันนี้ตามเป็นจริงแล้วมันก็มีอยู่แล้วก็เห็นอยู่มันก็เป็นอยู่อย่างนั้นเหมือนกับก้อนเหล็กแดงๆก้อนหนึ่งที่เขาเอาไปเผาไฟแล้วมันร้อนอยู่ทั้งหมดนั่นแหละจะเอามือไปแตะข้างบนมันก็ร้อนไปแตะข้างล่างก็ร้อนไปแตะข้างๆมันก็ร้อนไปแตะค่อนทางนี้ทางโน้นก็ร้อนเพราะอันนั้นมันร้อนให้เราเข้าใจอย่างนั้น
โดยมากปกติของเรานะเมื่อเรามาปฏิบัติมันก็อยากมีอยากเป็นอยากรู้อยากเห็นแต่ว่าไม่รู้จะไปเป็นอะไรไม่รู้ว่าจะไปเห็นอะไรอาตมาเคยเห็นลูกศิษย์คนหนึ่งมาปฏิบัติกับอาตมาครั้งแรกมาปฏิบัติจิตมันวุ่นวายเมื่อมันวุ่นวายก็เกิดความสงสัยไม่หยุดเหมือนกันแล้วทำไปสอนไปเรื่อยๆให้มันสงบ เมื่อจิตสงบแล้วก็ยังหลงอยู่อีกว่า"จะทำให้เป็นอย่างไรต่อไปอีก"แน่ะ!.วุ่นวายเข้าอีกแล้วเขาชอบความสงบป่านนี้มันทำจิตให้สงบแล้วแต่ก็ไม่เอาอีกถามว่าจะทำอย่างไรต่อไป


สมาธิ เพื่อความสงบ

ฉะนั้นการปฏิบัติทุกอย่างนี้พวกเราทั้งหลายต้องทำด้วยการปล่อยวางการปล่อยวางนั้นมันจะปล่อยวางได้อย่างไรคือเกิดความรู้เท่ามันเสียให้เรารู้ว่าลักษณะของจิตมันเป็นอย่างนี้ลักษณะของกายมันเป็นอย่างนี้เรานั่งเพื่อความสงบแต่ว่านั่งเข้าไปแล้วมันเห็นความไม่สงบคืออาการของจิตมันเป็นอยู่อย่างนั้นเองพอเราตั้งจิตกับลมหายใจของเราที่ปลายจมูกหรือริมฝีปากเราจะทำสมาธิเราก็ยกความรู้ขึ้นมาตั้งตรงนี้ไว้เมื่อยกขึ้นมาตั้งเรียกว่าเป็นวิตกคือยกไว้เมื่อยกเป็นวิตกกำหนดอยู่ที่นี่เป็นวิจารคือการวิจัยที่ปลายจมูกหรือที่ลมนี้ไปเรื่อยๆวิจารนี้มันจะคลุกคลีกับอารมณ์ของเรานั้นอารมณ์อะไรก็ช่างมันเถอะมันก็ต้องพิจารณาเรื่องที่มันเกิดขึ้นมาคลุกคลีกับอารมณ์เรื่อยๆไปเป็นธรรมดาของมันเราก็คิดว่าจิตมันไม่นิ่งไม่อยู่เสียแล้วความเป็นจริงอันนั้นมันเป็นวิจารมันต้องคลุกคลีไปกับอารมณ์นั้นทีนี้เมื่อมันถลำมากไปในทางที่ไม่ดีมันจะดึงความรู้สึกของจิตออกห่างไปมากเมื่อเรามีสติอีกก็ตั้งใจขึ้นใหม่ยกขึ้นมาตั้งตรงนี้อีกเรียกว่าวิตกเมื่อเราตั้งขึ้นสักประเดี๋ยวหนึ่งมันก็เกิดวิจารพิจารณาคลุกคลีไปกับอารมณ์เรื่อยไปแต่เมื่อเราเห็นอาการเป็นเช่นนี้ความไม่รู้ของเราก็เกิดขึ้นมาว่ามันไปทำไม เราอยากให้มันสงบทำไมมันไม่สงบนี่เราทำไปด้วยความยึดมั่นถือมั่นของเรา

4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-2-27 10:54 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เรื่องของจิตมันเป็นอย่างนั้นเอง

ความเป็นจริงอาการของจิตมันเป็นของมันอยู่อย่างนั้นแต่เราไปเพิ่มว่าอยากให้มันนิ่งทำไมมันไม่นิ่งเกิดความไม่พอใจเลยเอาไปทับกันเข้าไปอีกทีหนึ่งก็ยิ่งเพิ่มความสงสัยเพิ่มความทุกข์เพิ่มความวุ่นวายขึ้นมาอีกตรงนั้นความเป็นจริงถ้าหากมันมีวิจารคิดไปตามเรื่องตามราวกับอารมณ์เรื่อยๆไปอย่างนั้นถ้าเรามีปัญญาเราก็ควรคิดว่าเออ..เรื่องจิตมันเป็นอย่างนี้เองนั่นผู้รู้บอกอยู่ตรงนั้นบอกให้รู้ตามความจริงเรื่องจิตมันเป็นของมันอยู่แล้วอย่างนี้มันก็สงบลงไปเมื่อไม่สงบเราก็ยกเป็นวิตกขึ้นมาตั้งใหม่ได้พักหนึ่งแล้วมันก็สงบอีกหน่อยมันก็เกิดวิจารอีกวิตกวิจารมันเป็นอยู่อย่างนี้วิจารไปตามอารมณ์เมื่อวิจารไปมันก็จางไปๆเราก็ยกขึ้นมาอีกอยู่อย่างนี้คือการกระทำความเพียรของเราการกระทำในเวลานี้ต้องทำโดยการปล่อยวางเห็นการวิจารไปกับอารมณ์อารมณ์ที่มันเกิดขึ้นมานั้นไม่ใช่ว่าจิตเราวุ่นแต่เราไปคิดผิดเท่านั้นว่าเราไม่อยากให้มันเป็นตรงนี้เป็นเหตุขึ้นมาแล้วก็ไม่สบายก็เพราะเราอยากให้มันสงบเท่านั้นตรงนี้เป็นเหตุคือความเห็นผิดถ้าเรามาเปลี่ยนความเห็นสักนิดว่าอาการของจิตมันเป็นของมันอยู่อย่างนี้เท่านี้มันก็ลดลงแล้วนี้เรียกว่าการปล่อยวาง


การปล่อยวางอาการของจิต

ทีนี้ถ้าเราไม่ยึดมั่นถือมั่นคือทำด้วยการปล่อยวางปล่อยอยู่ในการกระทำกระทำอยู่ในการปล่อยอย่างนี้ ให้มันเป็นลักษณะอย่างนี้อยู่ในใจของเราเรื่องวิจารนั้นมันก็ไม่มีอะไรถ้าจิตเราหยุดวุ่นวายเช่นนั้นเรื่องวิจารนั้นมันจะเป็นเรื่องซอกค้นหาธรรมะถ้าเราไม่ซอกค้นหาธรรมะมันจะไปเกิดวุ่นวายอยู่ตรงนั้นความเป็นจริงวิตกแล้วก็วิจารวิตกแล้วก็วิจารวิจารมันค่อยๆละเอียดไปเรื่อยๆทีแรกมันก็วิจารประปรายทั่วๆไปพอเรารู้ว่าอาการของจิตมันก็เป็นอย่างนั้นมันไม่ทำอะไรให้ใครทั้งนั้นมันเป็นที่เราไปยึดมั่นถือมั่นอย่างน้ำมันไหลมันก็ไหลของมันไปอยู่อย่างนั้นถ้าเราไปยึดมั่นว่าไหลไปทำไมเกิดทุกข์แล้วถ้าเราเข้าใจว่าน้ำก็ไหลไปตามเรื่องของมันมันก็ไม่มีทุกข์แล้วเรื่องวิจารนี้ก็เหมือนกันฉันนั้นวิตกแล้วก็วิจารวิตกแล้วก็วิจารคลุกคลีกับอารมณ์แล้วเอาอารมณ์นั้นมาทำกรรมฐานให้จิตสงบเอาอารมณ์นั้นมากำหนดวิจารนี้ก็ทำนองเดียวกับอารมณ์นั้น


ความสุขปะปนอยู่ในความปีติ

ถ้ามันรู้เรื่องของจิตอย่างนี้มันก็ปล่อยวางนะเหมือนกับปล่อยน้ำให้มันไหลไปเรื่องวิจารนั้นก็ละเอียดเข้าไปละเอียดเข้าไปมันจะหยิบเอาสังขารขึ้นมาวิจารก็ได้เอาความตายมาวิจารก็ได้เอาธรรมะอันใดมาวิจารก็ได้ถูกจริตขึ้นเมื่อใดมันก็เกิดความอิ่มขึ้นมาความอิ่มคืออะไรคือปีติ เกิดปีติความอิ่มใจขึ้นมาความขนพองสยองเกล้าซู่ซ่าขึ้นมาหรือตัวเบาใจมันก็อิ่มนี่เรียกว่าปีติแล้วก็มีความสุขในที่นั้นความสุขมันปะปนอยู่ที่นั้นทั้งมีความสุขทั้งมีอารมณ์ผ่านอยู่ก็เป็นเอกัคคตารมณ์แน่ะ เอกัคคตารมณ์คืออารมณ์อันเดียวนี้ถ้าพูดไปตามขณะของจิตมันต้องเป็นอย่างนี้วิตก วิจาร ปีติสุขเอกัคคตาถ้าขั้นที่สองไปเป็นอย่างไรล่ะจิตมันละเอียดแล้ววิตกวิจาร มันหยาบมันก็ล้นไปอีกมันก็ทิ้งวิตกวิจาร เหลือแต่ปีติสุขเอกัคคตาอันนี้เรื่องจิตมันดำเนินการเองเราไม่ต้องรู้อะไรให้รู้ว่ามันเป็นอย่างนี้บัดนี้ปีติไม่มีเหลือแต่สุขกับเอกัคคตาเราก็รู้จักปีติไปไหนไม่หนีไปที่ไหนหรอกจิตของเรามันละเอียดขึ้นไปก็ทิ้งส่วนที่มันหยาบเท่านั้นส่วนไหนมันหยาบมันก็ทิ้งไปทิ้งไปเรื่อยๆจนถึงที่สุดแล้วคือมันทิ้งๆไปเหลือเอกัคคตากับอุเบกขามันก็ไม่มีอะไรมันจบอย่างนั้น


ยิ่งอยากให้สงบมันยิ่งไม่สงบ

เมื่อจิตดำเนินการประพฤติปฏิบัติมันจะต้องไปในรูปนี้แต่ขอให้เรามีปัญญาเสียหน่อยหนึ่งว่าที่เราทำครั้งแรกนี้นะเราต้องการให้จิตสงบแต่จิตมันก็ไม่สงบเราอยากให้มันสงบก็ไม่สงบอันนี้คือเราทำด้วยความอยากแต่เราไม่รู้จักว่าทำด้วยความอยากคือเราอยากให้มันสงบมันไม่สงบอยู่แล้วเราก็ยิ่งอยากให้มันสงบอยากนี้มันเป็นเหตุมิใช่อื่นอยากให้สงบนี้เราไม่เข้าใจว่าเป็นตัณหาก็เหมือนเพิ่มน้ำหนักขึ้นอีกยิ่งอยากขึ้นก็ยิ่งไม่สงบขึ้นแล้วก็เลิกกันเท่านั้นทะเลาะกันไปเรื่อยๆไม่ได้หยุดหรอกนั่งทะเลาะกันคนเดียวนี้ก็เพราะอะไรเพราะเราไม่น้อมกลับมาว่าเราจะตั้งจิตอย่างไรให้รู้สภาวะของมันว่าอาการของจิตมันก็เป็นของมันอย่างนั้นถ้ามันเกิดมาแล้วเวลาใดก็พิจารณาว่าเรื่องมันเป็นอย่างนั้นเรื่องจิตนี้ลักษณะของจิตมันเป็นอย่างนี้มันไม่ไปทำให้ใครหรอกถ้าเราไม่เห็นว่ามันเป็นอย่างนั้นมันเป็นโทษแต่ความเป็นจริงมันไม่มีโทษหรอกเห็นว่าลักษณะอันนั้นมันเป็นอย่างนั้นเท่านั้นแหละ

5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-2-27 10:55 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ความเห็นที่ถูกต้องเกี่ยวกับอารมณ์

เราจะตั้งวิตกวิจาร วิตกวิจารมันก็ผ่อนลงมาผ่อนลงมาเรื่อยๆมันก็ไม่รุนแรงที่มันมีอารมณ์มาเราก็วิจารไปคลุกคลีไปกับอารมณ์มันจะรู้เรื่องเกี่ยวกับอารมณ์นั่นเองมิใช่อื่น อันนี้เราไปทะเลาะกันเสียก่อนแล้วก็เพราะเราตั้งใจเหลือเกินว่าเราอยากทำความสงบเมื่อนั่งปุ๊บอารมณ์มากวนยกขึ้นมาเท่านี้ก็ไม่อยู่แล้วก็พิจารณาออกไปตามอารมณ์เลยก็นึกว่ามันมากวนเราความเป็นจริงมันเกิดจากที่นี่เกิดจากความเห็นที่มันอยากๆนี้แหละถ้าหากเราเห็นว่าเรื่องจิตนี้มันเป็นของมันอยู่อย่างนี้มันก็อาศัยการไปการมาอย่างนั้นถ้าเราไม่เอาใจใส่มันถ้าเรารู้เรื่องของมันเสียแล้วเหมือนกันกับเรารู้เรื่องของเด็กน้อยเด็กน้อยมันไม่รู้จักอะไรมันจะพูดกับเราพูดกับแขก มันจะพูดอย่างไรก็พูดไปตามเรื่องของมันถ้าเราไม่รู้เรื่องของเด็กเราก็โกรธก็เกลียดขึ้นมาอย่างนั้นถ้าเรารู้เรื่องของเด็กแล้วเราก็ปล่อยเด็กมันก็พูดของมันไปอย่างนั้นเมื่อเราปล่อยอย่างนี้ความไปยึดในเด็กนั้นก็ไม่มีเราจะปรึกษากันกับแขกเราก็พูดไปตามสบายเด็กมันก็คุยเล่นไปตามเรื่องของมันเรื่องของจิตมันก็เป็นของมันอยู่อย่างนี้ไม่มีพิษอะไรนอกจากเราไปหยิบมันขึ้นมาเลยไปยึดมันไปตะครุบมันเท่านั้นแหละมันก็เป็นเหตุขึ้นมาทีเดียว
เมื่อปีติเกิดขึ้นมาเราจะมีความสุขใจบอกไม่ถูกเหมือนกันแต่ใครเข้าไปถึงตรงนั้นมันก็รู้จักความสุขเกิดขึ้นมาอาการอารมณ์อันเดียวมันก็เกิดขึ้นมาก็มีวิตก วิจารปีติ สุข เอกัคคตาสิ่งทั้ง ๕อย่างนี้มันรวมอยู่ที่อันเดียวกันถึงมันเป็นคนละลักษณะก็ตามแต่ว่ามันรวมอยู่ที่อันเดียวกันเราเห็นทั่วถึงกันไปหมดเหมือนกับผลไม้เอามารวมในกระจาดเดียวกันมันเป็นคนละอย่างก็ช่างมันเราจะเห็นทุกอย่างในกระจาดอันนั้นวิตกก็ดี วิจารก็ดีปีติก็ดี สุขก็ดีเอกัคคตาก็ดีเราก็มองดูที่จิตตรงนั้นมันจะมีหมด ๕อย่าง ก็มีลักษณะอันนั้นมันเป็นอย่างนั้นมีอยู่อย่างนั้นจะว่ามันวิตกอย่างไรวิจารอย่างไรปีติอย่างไรสุขอย่างไรบอกไม่ถูก เมื่อมันรวมลงเรามองเห็นว่ามันเป็นอย่างนั้นมันเต็มในใจของเราอยู่


ภาวนาอย่าไปยึดมั่นยึดติด

ตรงนี้มันก็แปลกแล้วการทำภาวนาของเราก็แปลกแล้วต้องมีสติสัมปชัญญะอย่าหลง ให้เข้าใจว่าอันนี้มันคืออะไรมันเป็นเรื่องขณะของจิตมันเป็นเรื่องวิสัยของจิตเท่านั้นอย่าไปสงสัยอะไรในเรื่องปฏิบัตินี้มันจะจมลงในพื้นดินก็ช่างมันจะไปบนอากาศก็ช่างมันจะนั่งตายเดี๋ยวนี้ก็ช่างมันเถอะอย่าไปสงสัยมันเรื่องการปฏิบัตินี้ให้มองดูลึกลักษณะจิตเรามันเป็นอย่างไรให้อยู่กับความรู้อันนี้เท่านั้นทำไปอันนี้มันได้ฐานแล้วมันมีสติสัมปชัญญะรู้ตัวทั้งการยืนการเดินการนั่งการนอน เมื่อเราเห็นอะไรเกิดขึ้นมาก็ให้มันไปเราอย่าไปติดอย่าไปยึดมั่นถือมั่นมันเรื่องชอบใจไม่ชอบใจ เรื่องสุขเรื่องทุกข์เรื่องสงสัยไม่สงสัย นั้นก็เรียกว่ามันวิจารมันพิจารณาตรวจตราดูผลงานของมันอย่าไปชี้อันนั้นเป็นอันนี้อย่าเลย ให้รู้เรื่องเห็นสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับจิตนั้นก็สักแต่ว่าเป็นความรู้สึกเท่านั้นเองเป็นของไม่เที่ยงเกิดขึ้นมาก็ตั้งอยู่ตั้งอยู่ก็ดับไปก็เป็นไปเท่านั้นไม่มีตัว ไม่มีตนไม่มีเรา ไม่มีเขาไม่ควรยึดมั่นถือมั่นอันใดอันหนึ่งในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้


รูปนามมันไม่เที่ยง

เมื่อเห็นรูปนามมันเป็นเช่นนี้ตามเรื่องของมันแล้วปัญญาเห็นเช่นนี้มันก็เห็นรอยเก่ามันเห็นความไม่เที่ยงของจิตเห็นความไม่เที่ยงของร่างกายเห็นความไม่เที่ยงของความสุขความทุกข์ ความรักความโกรธมันไม่เที่ยงทั้งนั้นจิตมันก็วูบแล้วก็เบื่อเบื่อกายเบื่อจิตเบื่อสิ่งที่มันเกิดมันดับที่มันไม่แน่อย่างนี้เท่านั้นแหละจะไปนั่งอยู่ที่ไหนมันก็เห็นเมื่อจิตมันเบื่อก็หาทางออกเท่านั้นมันหาทางออกจากสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นไม่อยากเป็นอย่างนี้ไม่อยากอยู่อย่างนี้มันเห็นโทษในโลกนี้เห็นโทษในชีวิตที่เกิดมาแล้วเมื่อจิตเป็นเช่นนี้เราไปนั่งอยู่ที่ไหนก็เห็นเรื่องอนิจจังทุกขัง อนัตตาก็ไม่มีที่จับต้องมันแล้วจะไปนั่งอยู่โคนต้นไม้ก็ได้ฟังเทศน์พระพุทธเจ้าจะไปนั่งอยู่บนภูเขาก็ได้ฟังเทศน์พระพุทธเจ้าจะไปนั่งที่ราบก็ได้ฟังเทศน์พระพุทธเจ้าเห็นต้นไม้ทุกต้นมันจะเป็นต้นเดียวกันเห็นสัตว์ทุกชนิดมันเป็นสัตว์อย่างเดียวกันไม่มีอะไรจะแปลกไปกว่านี้มันเกิดแล้วมันก็ตั้งอยู่ตั้งอยู่แล้วก็แปรไปดับไปเหมือนกันทั้งนั้น


เมื่อยึดมั่นมันก็ทุกข์

ฉะนั้นเราก็มองเห็นโทษนี้ได้ชัดขึ้นเห็นรูปนามอันนี้ได้ชัดขึ้นมันชัดขึ้นต่ออนิจจังชัดขึ้นต่อทุกขังชัดขึ้นต่ออนัตตาถ้ามนุษย์ทั้งหลายเข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่ามันเที่ยงมันจริงอย่างนั้นมันก็เกิดทุกข์ขึ้นมาทันทีมันเกิดอย่างนี้ถ้าเราเห็นรูปนามมันเป็นของมันอย่างนั้นมันก็ไม่เกิดทุกข์เพราะไม่ไปยึดมั่นถือมั่นนั่งอยู่ที่ไหนก็มีปัญญาเห็นแม้ต้นไม้ก็เกิดปัญญาพิจารณาเห็นหญ้าทั้งหลายก็มีปัญญาเห็นแมลงต่างๆก็มีปัญญารวมแล้วมันเข้าจุดเดียวกันเป็นธรรมะ เป็นของไม่แน่นอนทั้งนั้นนี้คือความจริงนี้คือสัจจธรรมมันเป็นของเที่ยงมันเที่ยงอยู่ตรงไหนมันเที่ยงอยู่ตรงที่ว่ามันเป็นอยู่อย่างนั้นไม่แปรเป็นอย่างอื่นเท่านั้นละก็ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้นถ้าเราเห็นเช่นนี้แล้วมันก็จบทางที่จะต้องไป


รู้แจ้งตามเป็นจริง: ไม่มีเรา ไม่มีเขา

ในทางพระพุทธศาสนานี้เรื่องความเห็นนี้ถ้าเห็นว่าเราโง่กว่าเขามันก็ไม่ถูกเห็นว่าเราเสมอเขามันก็ไม่ถูกเห็นว่าเราดีกว่าเขามันก็ไม่ถูกเพราะมันไม่มีเรานี่มันเป็นเสียอย่างนี้มันก็ถอนอัสมิมานะออกอันนี้ท่านเรียกว่าเป็นโลกวิทูรู้แจ้งตามเป็นจริงถ้ามาเห็นจริงเช่นนั้นจิตมันก็รู้เนื้อรู้ตัวรู้ถึงที่สุดมันตัดเหตุแล้วไม่มีเหตุผลก็เกิดขึ้นไม่ได้อันนี้พูดถึงข้อปฏิบัติมันจะดำเนินการของมันไปอย่างนั้น

6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-2-27 10:56 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
รากฐานที่เราจะต้องปฏิบัติใหม่ๆ

๑. ให้เป็นคนซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา
๒. ให้เป็นคนกลัวเป็นคนละลายต่อบาป
๓. มีลักษณะที่ถ่อมตัวในใจของเราเป็นคนที่มักน้อยเป็นคนที่สันโดษ
ถ้าคนมักน้อยในการพูดการอะไรทุกอย่างมันก็เห็นตัวของตัวไม่เข้าไปวุ่นวายรากฐานที่มีอยู่ในจิตนั้นก็ล้วนแต่ศีลสมาธิ ปัญญาเต็มอยู่ในจิตไม่มีอะไรอื่นจิตในขณะนั้นก็เดินในศีลในสมาธิ ในปัญญาโดยอาการเช่นนั้น
ฉะนั้นนักปฏิบัติเรานั้นอย่าประมาทถึงแม้ว่าถูกต้องแล้วก็อย่าประมาทผิดแล้วก็อย่าประมาทดีแล้วก็อย่าประมาทมีสุขแล้วก็อย่าประมาททุกอย่างท่านว่าอย่าประมาททำไมไม่ให้ประมาทเพราะอันนี้มันเป็นของไม่แน่ให้จับมันไว้อย่างนี้จิตใจเราก็เหมือนกันถ้ามีความสงบแล้วก็วางความสงบไว้แหม มันอยากจะดีใจแต่ดีก็ให้รู้เรื่องมันชั่วก็ให้รู้เรื่องมัน


การอบรมจิตเป็นเรื่องของตนเอง

ฉะนั้นการอบรมจิตนั้นเป็นเรื่องของตนเองครูบาอาจารย์บอกแต่วิธีที่อบรมจิตก็เพราะจิตมันอยู่ที่เรามันรู้จักหมดทุกอย่างไม่มีใครจะรู้เท่าถึงตัวเราเรื่องปฏิบัติมันอาศัยความถูกต้องอย่างนี้ให้ทำจริงๆเถอะอย่าไปทำไม่จริงคำว่าทำจริงๆนั้นมันเหนื่อยไหมไม่เหนื่อยเพราะทำทางจิตประพฤติทางจิตปฏิบัติทางจิตถ้าเรามีสติอยู่มีสัมปชัญญะอยู่เรื่องที่ถูกที่ผิดมันก็ต้องรู้จักถ้ารู้จักเราก็รู้จักข้อปฏิบัติเท่านั้นไม่จำเป็นมากดูข้อปฏิบัติทั้งหลายทุกสิ่งทุกส่วนแล้วก็ให้น้อมเข้ามาอย่างนั้นทุกคน



เราทำประโยชน์ต้องทำให้สมบูรณ์

มันก็จวนค่อนพรรษาแล้วตามความจริงลักษณะของคนเรานั้นนานๆไปมันชอบอยากประมาทในข้อวัตรที่ตั้งไว้ไม่เสมอต้นเสมอปลายแสดงว่าปฏิปทาของเราไม่สมบูรณ์อย่างที่เราตั้งใจไว้ก่อนพรรษาเราจะทำอะไรกันก็ต้องทำประโยชน์อันนั้นให้สมบูรณ์ระยะสามเดือนนี้ให้มันตลอดต้นตลอดปลายต้องพยายามให้เป็นทุกๆคนเราตั้งใจไว้ว่าเราจะปฏิบัติกันอย่างไรก่อนเข้าพรรษาข้อวัตรเราต้องทำกันอย่างไรตั้งใจอย่างไรให้ระลึกถึงว่าถ้าหากมันย่อหย่อนก็ต้องกลับตัวปรับปรุงเรื่อยๆเหมือนกับเราภาวนาทำอานาปานสติลมหายใจเข้าออกสม่ำเสมอเมื่อมันเป็นไปตามอารมณ์ก็ยกขึ้นมาอีกตั้งใหม่ อย่างนี้ก็เหมือนกันทางจิตของเราทางกายของเราก็เป็นอย่างนั้นต้องพยายาม

ที่มา http://www.ubu.ac.th/wat/ebooks/chahthai/Samma_Samadhi.html

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้