ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2135
ตอบกลับ: 0
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

เหรียญครูบาเจ้าศรีวิชัยปี๒๕๑๗เหรียญดังสายเหนือที่กำลังมาแรง

[คัดลอกลิงก์]
เหรียญครูบาเจ้าศรีวิชัยปี๒๕๑๗เหรียญดังสายเหนือที่กำลังมาแรง
            ท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย อมตเถราจารย์ชื่อดังอันดับหนึ่งแห่งเมืองล้านนา แม้ว่าท่านจะละสังขารไปนานแล้ว แต่ความเชื่อความศรัทธาเลื่อมใสในบารมีความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน ยังคงสถิตอยู่ในความรู้สึกของพุทธศาสนิกชนและประชาชนทั่วไปอย่างไม่เสื่อมคลาย
            ท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย เกิดเมื่อวันอังคารที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๔๒๑ ปีขาล ที่บ้านปาง เมืองลี้ ปัจจุบันอยู่ในเขต ต.ศรีวิชัย อ.ลี้ จ.ลำพูน บิดาชื่อ "นายควาย" มารดาชื่อ "นางอุสา" ต้นตระกูลเป็นหมอคล้องช้าง ของเจ้าหลวงดาราดิเรกฤทธิ์ไพโรจน์ (เจ้าดาวเรือง) เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ ๗ ตรงกับช่วงปลายแผ่นดินรัชกาลที่ ๕ เล่ากันว่า ขณะที่ท่านถือกำเนิดนั้น ได้เกิดปาฏิหาริย์ มีฟ้าร้องคำรามจนสะเทือนไปทั่ว บิดามารดาจึงตั้งชื่อท่านว่า "ฟ้าร้อง" หรือ "ฟ้าฮ้อง"
            เมื่อท่านอายุ ๑๘ ปี ได้บวชเป็นสามเณร  ต่อมาอายุครบ ๒๒ ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ ณ วัดบ้านโฮ่งหลวง อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน โดยมีครูบาสมณะ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ฉายา "สิริวิชโยภิกขุ" หรือ พระสีวิไช หรือ พระศรีวิชัย หลังจากบวชแล้ว แทนที่ท่านจะศึกษาเล่าเรียนพระพุทธศาสนา และการปฏิบัติธรรม แต่กลับไปสนใจวิชาไสยศาสตร์ คาถาอาคม โหราศาสตร์ แพทย์แผนโบราณ การก่อสร้าง และวิชาป้องกันตัวต่างๆ มากเป็นพิเศษ ต่อมาท่านได้เดินทางสู่สำนักวัดดอยแต ซึ่งเป็นสำนักสงฆ์สายอรัญญวาสี เพื่อศึกษากับครูบาอุปละ อันเป็นจุดพลิกผันต่อวิถีชีวิตของพระศรีวิชัย ให้กลับมามุ่งเน้นความรู้ด้านการปฏิบัติธรรมและการบำเพ็ญสมาธิภาวนา ใต้ร่มเงาแห่งพระบวรพุทธศาสนาอย่างถูกต้องตามหลักศาสนา หลังจากนั้นท่านได้เดินทางกลับสู่วัดบ้านปาง ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส สืบต่อจาก "ครูบาแค่งแคระ"
            ท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย ได้สร้างวัดและบูรณะวัดต่างๆ ในภาคเหนือมากมายหลายแห่ง แทบจะทั่วแคว้นแดนล้านนา นับเป็นผลงานอันยิ่งใหญ่ของท่าน ที่พุทธศาสนิกชนต่างเคารพเทิดทูน และศรัทธาเลื่อมใสท่านอย่างกว้างขวาง อีกประการหนึ่งที่ทำให้ท่านครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และอยู่ในความทรงจำของชาวล้านนามาโดยตลอด คือ การเป็นผู้นำในการสร้างทางขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพ ซึ่งใช้เวลาสร้างเพียง ๕ เดือนเศษ โดยไม่ได้ใช้งบประมาณของรัฐบาลเลย
            ท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย มรณภาพเมื่อวันที่  ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๑ วัตถุมงคลของท่านทุกรุ่นจัดสร้างขึ้นหลังจากที่ท่านได้มรณภาพแล้ว แต่ก็ล้วนได้รับความศรัทธาเลื่อมใสจากชาวล้านนาอย่างสูง และต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ ซึ่ง มีการเช่าบูชาในราคาค่านิยมสูงหลายรุ่นด้วยกัน
            สำหรับเหรียญครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง ปี ๒๕๑๗ นับเป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ในทุกวันนี้
            การจัดสร้างเหรียญรุ่นนี้มี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ ยุคล เป็นประธาน คุณนิตย์ พงษ์ลัดดา เป็นผู้ดำเนินการจัดสร้าง แกะแม่พิมพ์โดยช่างฝีมือเยี่ยมในยุคนั้น คือ ช่างยิ้ม ยอดเมือง
            ประกอบพิธีพุทธาภิเษกเมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๑๗ ที่วัดบ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน โดยท่านเจ้าคุณพระเทพสารเวที เจ้าคณะภาคเหนือ (ธรรมยุต) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พระเถราจารย์ผู้ร่วมพิธีพุทธาภิเษกล้วนเป็นพระอริยสงฆ์ชื่อดังแห่งเมืองเหนือทั้งสิ้น อาทิ ครูบาพรหมจักร วัดพระพุทธบาทตากผ้า, ครูบาอินทจักร วัดน้ำบ่อหลวง, ครูบาคำแสน คุณาลังกาโร วัดป่าดอนมูล, ครูบาชุ่ม โพธิโก วัดวังมุย, หลวงพ่อสิม พุทธาจาโร วัดสันติธรรม, ครูบาชัยวงศ์ษา วัดพระบาทห้วยต้ม, ครูบาทึม วัดจามเทวี, ครูบาสิงห์ชัย วัดป่าซางงาม ฯลฯ
            เหรียญครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง ปี ๒๕๑๗ จัดสร้างด้วยเนื้อทองคำ จำนวน ๙ เหรียญ, เนื้อเงิน ๕๗๙ เหรียญ, เนื้อนวโลหะ ๓,๕๕๙ เหรียญ และเนื้อทองแดง ๕,๖๒๕ เหรียญ นอกจากนี้ยังมี ล็อกเกตลงหิน อีก ๒๒๗ อัน เหรียญทองคำ ไม่มีหู และไม่มีการตอกโค้ด ส่วนเหรียญเงิน ไม่มีหู แต่มีการตอกโค้ด ตัว 'ศ' และ 'ช' เช่นเดียวกับล็อกเกต
            สำหรับ เหรียญนวโลหะ ตอกโค้ดตัว 'ศ' และเหรียญทองแดง ตอกโค้ดตัว 'จ' เหรียญรุ่นนี้มี ๒ พิมพ์ คือ พิมพ์เศียรหนาม และพิมพ์เศียรโล้น เนื่องจากเมื่อปั๊มเหรียญใกล้ครบจำนวนที่กำหนดไว้ ปรากฏว่าแม่พิมพ์เกิดชำรุด จึงได้นำเหรียญพิมพ์เศียรหนาม มาถอดพิมพ์ แล้วปั๊มเหรียญต่อไป คือ เหรียญพิมพ์เศียรโล้น จนครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ ทำให้เหรียญพิมพ์เศียรหนาม มีจำนวนการสร้างมากกว่า โดยเฉพาะ เหรียญทองคำ และเหรียญเงิน เป็นพิมพ์เศียรหนามทั้งหมด ส่วนเหรียญนวโลหะ และเหรียญทองแดง มี ๒ พิมพ์ ในวงการนักสะสมนิยมเหรียญพิมพ์เศียรหนาม มากกว่า เหรียญพิมพ์เศียรโล้น
            สนนราคาเช่าหา เหรียญทองแดงอยู่ที่หลักหมื่นต้น เหรียญนวโลหะประมาณ ๔-๕ หมื่นบาท เหรียญเงินหลักแสนต้น ส่วนเหรียญทองคำไม่มีการหมุนเวียน ทุกคนที่มีอยู่ต่างหวงแหนสุดๆ เพราะมีแค่ ๙ เหรียญเท่านั้น
            "เหรียญรุ่นนี้มี ๒ พิมพ์ คือ พิมพ์เศียรหนาม และ พิมพ์เศียรโล้น เนื่องจากเมื่อปั๊มเหรียญใกล้ครบจำนวน ปรากฏว่าแม่พิมพ์เกิดชำรุด จึงได้นำเหรียญพิมพ์เศียรหนามมาถอดพิมพ์ แล้วปั๊มเหรียญต่อไป คือ เหรียญพิมพ์เศียรโล้น
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้