|
[url=][/url]
‘พระกริ่งนวราชบพิตร’วัดตรีทศเทพฯ ปี ๒๕๓o : ปกิณกะพระเครื่องโดยฐกร บึงสว่าง
พระกริ่ง พระชัยวัฒน์ “นวราชบพิตร” วัดตรีทศเทพฯ ปี ๒๕๓o หรือ พระกริ่ง วัดตรีทศเทพฯ รุ่น ๒ ชุดนี้ถือว่าเป็น “สุดยอดพระเครื่อง” อีกรุ่นหนึ่งที่น่าสะสมไว้สักการบูชามาก เพราะเป็นพระเครื่องแห่งองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างแท้จริง โดยได้รวบรวมสิ่งอันเป็นมหามงคลวาร อันหาสิ่งใดเปรียบได้ยาก กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้หล่อ พระพุทธนวราชบพิตร เพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดตรีทศเทพฯ รวมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง พระกริ่ง และ พระชัยวัฒน์นวราชบพิตร อย่างละ ๙๙๙ องค์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็น “นวราชบพิตร” ซึ่งถือเป็นพระนามของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ดังนั้น พระนามของพระชุดนี้จึงถือเป็นสิ่งมงคลยิ่ง อีกประการหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระพุทธนวราชบพิตร พระกริ่งและพระชัยวัฒน์นวราชบพิตร เมื่อวันพุธที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๓๐ ในมหามงคลสมัยอันเป็นมิ่งมงคลยิ่ง ที่ล้นเกล้าฯ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบพระนักษัตร โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์พิธีนี้
ชนวนมวลสารสำคัญที่ใช้ในการหล่อพระชุดนี้ ประกอบด้วยชนวน พระพุทธนวราชบพิตร ปี ๒๕๐๐ (พระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริที่ให้สร้างขึ้น เพื่อประดิษฐานไว้ ณ จังหวัดต่างๆ), ชนวนพระกริ่งปวเรศ (รุ่นแรก), ผงสมเด็จจิตรลดา, เส้นพระเจ้า (เส้นพระเกศาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว), ทองคำ, เงิน, นาก และเครื่องยศของนายทหาร ตำรวจ ชั้นผู้ใหญ่ที่เข้าร่วมในพิธีฯ
สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์), สมเด็จพระญาณสังวร, พระวัชรธรรมาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดตรีทศเทพวรวิหาร และคณะสงฆ์ ได้เข้าร่วมพิธีมหามงคลนี้จำนวนมาก พระกริ่งและพระชัยวัฒน์นวราชบพิตร ได้ผ่านพิธีพุทธาภิเษก ๓ แห่ง คือ วัดตรีทศเทพวรวิหาร, วัดบวรนิเวศวิหาร และ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม(วัดพระแก้ว)
พระพุทธนวราชบพิตร มีพุทธลักษณ์เช่นเดียวกับพระพุทธนวราชบพิตร ปี ๒๕๐๙ ส่วนพระกริ่งและพระชัยวัฒน์นวราชบพิตร ได้นำรูปแบบของ พระกริ่งวัดตรีทศเทพฯ ปี ๒๔๙๑ และ พระกริ่งวัดสุทัศนฯ มาปรับปรุงให้ได้พุทธลักษณ์ที่งดงามและคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์เฉพาะของวัดตรีทศเทพฯ
พระกริ่งนวราชบพิตร ฐานกว้าง ๑.๙ ซม. สูง ๓.๓ ซม. ใต้ฐานคว้านใหญ่แล้วบรรจุผงพระสมเด็จจิตรลดา เส้นพระเจ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเม็ดกริ่ง ปิดด้วยแผ่นโลหะ พร้อมกับตอกโค้ดตัว “อุ” (ขอม) ที่ฐานด้านหลังองค์พระ
พระชัยวัฒน์นวราชบพิตร ฐานกว้าง ๑ ซม. สูง ๑.๘ ซม. ตอกโค้ดตัว “อุ” (ขอม) ใต้ฐาน (เท่าที่พบเห็นไม่มีการอุดเม็ดกริ่ง)
ลักษณะกล่องที่บรรจุ “พระกริ่ง” และ “พระชัยวัฒน์นวราชบพิตร” เป็นกล่องกำมะหยี่ มีน้ำเงิน มีตรา ภปร (คล้ายกล่องบรรจุพระกริ่งปวเรศ ปี ๒๕๓๐) มีข้อความจารึกไว้ที่ฝากล่องด้านในว่า “พระกริ่ง พระชัยวัฒน์ นวราชบพิตร วัดตรีทศเทพวรวิหาร มหามงคลวาร เฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบนักษัตร ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐” พระกริ่งและพระชัยวัฒน์นวราชบพิตร หล่ออย่างละ ๙๙๙ องค์ (ไม่มีเผื่อเสียและทำลายเบ้าทิ้งทั้งหมด)
พระชุดนี้แบ่งออกเป็น ๒ เนื้อ (อย่างละใกล้เคียงกัน) คือ เนื้อนวโลหะ (กลับดำคล้ายพระกริ่งปวเรศ) และเนื้อทองล่ำอู่ (กลับน้ำตาลอมแดง คล้ายพระพุทธนวราชบพิตร ปี ๒๕๐๙)
ทั้งนี้ในจำนวนพระกริ่งที่หล่อทั้งหมด มีอยู่ประมาณ ๙๙ องค์ ได้ทาชาดแดงไว้ที่ใต้ฐานองค์พระกริ่ง ขนาดรูปทรงและประเภทของเนื้อโลหะ พระพุทธนวราชบพิตร มีพุทธลักษณ์เช่นเดียวกับพระพุทธนวราชบพิตร ปี ๒๕๐๙
ส่วน พระกริ่งและพระชัยวัฒน์นวราชบพิตร ได้นำแบบของ พระกริ่งวัดตรีทศเทพฯ ปี ๒๔๙๑ และพระกริ่งวัดสุทัศนฯ มาปรับปรุงแบบให้ได้พุทธลักษณ์ที่งดงามและคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์เฉพาะของวัดตรีทศเทพฯ
การครอบครองและการเช่าบูชา...สำหรับผู้มีจิตศรัทธาที่ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลในการหล่อพระพทุธนวราชบพิตร พระกริ่งและพระชัยวัฒน์นวราชบพิตร จำนวน ๑๐ ราย (ส่วนใหญ่เป็นบุคคลในตระกูล “นพวงษ์” โดยบริจาครายละไม่ต่ำกว่า ๑ ล้านบาท) ได้รับพระราชทานพระกริ่งและพระชัยวัฒน์นวราชบพิตร จำนวน ๑ ชุด - พระราชทานให้กับผู้มีจิตศรัทธาที่ถวายเงินทำบุญ (ทอดกฐิน-ผ้าป่า) และผู้มีจิตศรัทธาทำบุญบูชา ชุดละ ๒๐,๐๐๐ บาท (ตามรายชื่อมีประมาณ 200 ราย)
ต่อมาไม่นานนัก พระวัชรธรรมาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดตรีทศเทพวรวิหาร ได้มรณภาพ ทำให้หยุดการทำบุญบูชาพระชุดนี้ ดังนั้นพระชุดนี้จึงพบเห็นน้อย ส่วนใหญ่จะอยู่กับนายทหาร และนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่
พระกริ่ง พระชัยวัฒน์ “นวราชบพิตร” วัดตรีทศเทพฯ ปี ๒๕๓o รุ่นนี้เมื่อเทียบกับ พระกริ่งปวเรศ ปี ๒๕๓o จะหายากกว่ากันมาก เนื่องจากมีจำนวนสร้างน้อยมากนั่นเอง
|
|