|
ด้วยเจตนาอันแรงกล้าที่จะเผยแพร่พระพุทธศาสนาเพื่อนำเหล่าพุทธบริษัททั้งหลายพ้นทุกข์พบสุขที่นิรันดร์ พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระมหาโกศล จนฺทวณฺโณ (พระครูวิสุทธิภาวนาคุณ) ได้นำแนวทางรับศีลปรมัตถบารมีของพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระครูภาวนาวรคุณ (หลวงพ่อเกตุมฯ) แห่งวัดเกตุมดีศรีวราราม จังหวัดสมุทรสาคร ให้เหล่าพุทธบริษัททั้งหลายได้รักษาศีลปรมัตถ์ตลอดชีวิตแล้วแต่บุคคลพึงจะรักษาได้อย่างน้อยคนละ ๑ ข้อและหลวงพ่อจะแจกลูกยามหาวิกัติให้เท่ากับจำนวนศีลที่รับไว้ โดยลูกยามหาวิกัตินี้ พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านกล่าวว่า เป็นเครื่องรางสมัยพุทธกาลที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแจกให้พระธุดงค์ เพื่อป้องกันภัยอันตรายต่างๆ ลูกยามหาวิกัติ ทำจากดินเหนียวผสมกับข้าวก้นบาตรนำมาปั้นเท่ากับเม็ดในพุทราเจาะรูตรงกลางแล้วนำไปเผา เวลาจะใช้ให้ตั้งนะโม ๓ จบ แล้วนึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
บุญที่สำเร็จจากการรักษาศีลเป็นบุญขั้นกลาง โดยที่ศีลของฆราวาสได้แก่ศีล ๕ มีดังนี้
๑. ปาณาติปาตา เวระมะณี สิขาปะทัง สะมาทิยามิ
(เว้นจากการฆ่าสัตว์ด้วยตนเองและไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า)
๒. อะทินาทานา เวระมะณี สิขาปะทัง สะมาทิยามิ
(เว้นจากการลัก,ฉ้อ ของผู้อื่นด้วยตนเองและไม่ใช้ให้ผู้อื่นลัก,ฉ้อ)
๓. กาเมสุมิจฉาจารา เวระมะณี สิขาปะทัง สะมาทิยามิ
(เว้นจากการประพฤติผิดในกาม มั่นอยู่ในสทารสันโดษยินดีแต่ในคู่ของตน)
๔. มุสามวาทา เวระมะณี สิขาปะทัง สะมาทิยามิ
(เว้นจากการพูดเท็จ คำไม่เป็นจริงและคำล่อลวงอำพรางผู้อื่น)
๕. สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฎฐานา เวระมะณี สิขาปะทัง สะมาทิยามิ
(เว้นจากการดื่มกินสุราและเมรัยเครื่องดองของทำใจให้คลั่งไคล้ต่างๆ)
การรักษาศีลบารมี แบ่งได้ 3 ขั้น
๑. ศีลบารมี ได้แก่ ศีลที่ใช้ในพิธีเวลาทำบุญต่างๆ พระท่านจะให้ศีลเพื่อเป็นการเตรียมตัวให้บริสุทธิ์เป็นกำลังศีลก่อนการทำพิธีต่างๆ ศีลที่บำเพ็ญด้วยรักศีลยิ่งกว่าบุคคลที่รักและทรัพย์สิน
๒. ศีลอุปบารมี ได้แก่ ศีลที่พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา น้อมรับตามกำหนดเวลาที่ประพฤติปฏิบัติจนกว่าจะลาสิขา ศีลที่บำเพ็ญด้วยรักยิ่งกว่าอวัยวะร่างกายของตน
๓. ศีลปรมัตถบารมี เป็นสูงสุด ต้องรักษาตลอดชีวิต ปรมัตถบารมี แปลว่ายากยิ่งอย่างเยี่ยมยอด ได้แก่ ศีลที่บำเพ็ญด้วยรักษาศีลยิ่งกว่าชีวิตของตน
ลักษณะของศีล ๓ ลักษณะ คือ
๑. เจตะนา สีลัง ความตั้งใจงดเป็นศีล (ุส. ป. ๓๑/๖๔)
๒. เวระมะณี สีลัง ความเว้นเป็นศีล (สุ. ป. ๓๑/๖๖)
๓. สังวะโร สีลัง ความสำรวมเป็นศีล?(สุ. ป. ๓๑/๖๔)
ชั้นของศีล
๑. ศีลขาดทุน เมื่อแลเห็นโทษของการทุศีลจึงตั้งใจสมาทานปฏิญญาว่าจะรักษาศีล๕ ศีล๘ หรืออุโบสถศีล ก็ดีเรียกว่าได้ทุนคือศีลไว ครั้นพ่ายแพ้ต่อกิเลสสิ่งยั่วยวน ประพฤติผิดปฏิญญาจึงชื่อว่า ขาดทุน
๒. ศีลย่อหย่อน เมื่อได้สมาทานปฏิญญาว่าจะไม่ละเมิดองค์แห่งศีล แต่ในขณะเดียวกันก็ชอบหาอุบายหลีกเลี่ยงเพื่อให้ได้สำเร็จตามความอยากของตน เช่น การไม่ฆ่าสัตว์แต่ชอบทรมานสัตว์, ไม่ลักทรัพย์แต่ชอบขอ ชอบถือวิสาสะในของผู้อื่น, ไม่ประพฤติผิดในกามแต่ชอบออกอาการสุงสิงใกล้เคียง, ไม่พูดเท็จแต่ชอบพูดส่อเสียด, ไม่ดื่มน้ำเมาแต่ชอบเข้าไปมั่วสุมในสถานขายสุราหรือจำหน่ายจ่ายแจกเสียเอง เป็นต้น
๓. ศีลเสมอตัว เมื่อตั้งใจสมาทานแล้วพยายามไม่ล่วงละเมิดให้ศีลขาดตกบกพร่อง แต่ก็ไม่พยายามทำคุณพิเศษอันเป็นส่วนกำไรของศีลให้เกิดขึ้น
๔. ศีลได้กำไร ได้แก่ ศีลของผู้สมาทานปฏิญญาแล้วพยายามทำศีลนั้นให้เป็นบาทเป็นภาคพื้นไม่หยุดนิ่งอยู่แต่เพียงเท่านั้น เช่นดังตัวอย่าง ไม่ฆ่าสัตว์แล้วยังพยายามช่วยชีวิตสัตว์ให้พ้นทุกข์ด้วยความเมตตากรุณา, ไม่ลักทรัพย์แต่ยังมีใจเผื่อแผ่กว้างขวางบริจาคทรัพย์สิ่งของเพื่อประโยชน์ส่วนรวม, ไม่ประพฤติผิดในกามมั่นอยู่ในสันโดษยินดีแตใน่คู่ของตน, ไม่พูดเท็จแล้วยังมีเจตนาเว้นจากการพูดส่อเสียดยุยง ประพฤติปฏิบัติในการพูดคำจริง คำอ่อนหวาน แสดงธรรมแสดงคุณแสดงโทษแก่ผู้ที่ยังไม่รู้, ไม่ดื่มน้ำเมาแล้วยังพยายามบรรเทาความประมาททางใจด้วยการดำรงสติให้เพรียบพร้อมบริสุทธิ์ในทุกขณะ
|
|