ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2336
ตอบกลับ: 0
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

'คันฉ่อง'กระจกเงาศักดิ์สิทธิ์คู่แผ่นดินจีน

[คัดลอกลิงก์]
[url=][/url]

'คันฉ่อง'กระจกเงาศักดิ์สิทธิ์คู่แผ่นดินจีน'คันฉ่อง'กระจกเงาศักดิ์สิทธิ์คู่แผ่นดินจีน :  เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกงู                                                                
              พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ ให้ความหมายของ "คันฉ่อง" ไว้ว่า เครื่องใช้ทำด้วยโลหะ ขัดจนเป็นเงา มีด้ามถือ ใช้สำหรับส่องหน้า ปัจจุบันเรียกกระจกเงามีกรอบ ๒ ชั้น สําหรับเอนเข้าออกได้ ตั้งบนโต๊ะเครื่องแป้ง สรุปง่ายๆ "คันฉ่อง" คือกระจกเงา นั่นเอง

              มีคติความเชื่อว่า คันฉ่องเป็นรูปสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น ปลา บ่งบอกถึงความร่มเย็นเป็นสุข ความสุข ความสบาย ส่วนรูปมังกร เป็นสัญลักษณ์ของฮ่องเต้ อำนาจ บารมี วาสนา อายุยืน ส่วนรูปสัตว์มงคลต่างๆ ก็จะมีความหมายเป็นสัญลักษณ์ของพาหนะของเทพต่างๆ คนจีนโบราณจึงมีความเชื่อว่าถ้าได้เอารูปสัตว์มงคลต่างๆ มาเป็นสัญลักษณ์ของการเคารพ จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดี อายุยืน ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ไม่มีศัตรูหมู่มาร ไปไหนมีแต่มิตรแท้ ปราศจากศัตรูและยังป้องกันศัตรู ภูตผีปีศาจ และสิ่งที่ไม่เป็นมงคลใดๆ ทั้งปวง

                      ปัจจุบันนักสะสมวัตถุมงคลเมืองไทยนิยม "คันฉ่อง" มาก เพราะเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เป็นทั้งโบราณวัตถุ และเครื่องรางของขลัง รวมทั้งเป็นสารตราตั้งของฮ่องเต้ ที่จะทรงมอบหมายพระราชอำนาจให้ใครก็ตาม ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้ไปทำราชการแทนองค์ฮ่องเต้ในทุกแห่งหน ทั่วพระราชอาณาจักร

              แต่ด้วยเหตุที่ว่าคันฉ่องเป็นสมบัติของฮ่องเต้ และขุดพบในหลุมฝังศพ การที่จะนำมาเก็บสะสมไว้ในบ้าน จึงต้องทำพิธีขอขมาและทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เจ้าของเดิมเสียก่อน เหมือนกับที่คนไทยสมัยหนึ่งนิยมสะสมลูกปัดทวารวดี ที่ต้องทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เจ้าของเดิมก่อน เพราะลูกปัดก็เป็นของที่ขุดหาได้จากหลุมศพของคนโบราณเช่นกัน
  
                      "นายวันชัย สุพรรณ" นักจัดรายการทีวี “คุยเฟื่องเรื่องพระ” และจัดรายการวิทยุ “คุยเฟื่องเรื่องพระ” หนึ่งในผู้สะสมคันฉ่อง เนื้อสัมฤทธิ์ ของจีนโบราณ
        อธิบายให้ฟังว่า การสร้างคันฉ่อง เนื้อสำริด ของจีนโบราณ เริ่มมาตั้งแต่ก่อนคริสต์ศักราช (บางแห่งบอกว่าสร้างเมื่อ ๔,๐๐๐ ปีก่อน) โดยการนำโลหะชั้นเยี่ยมประเภททองสัมฤทธิ์และปรอท เป็นส่วนผสมในการหล่อสร้าง มีลวดลายต่างๆ ดูแปลกตา แต่แฝงเอาไว้ด้วยศาสตร์และศิลป์อันมีความหมายอย่างลึกซึ้ง  และเข้าใจว่าอาจจะมีการบรรจุพุทธาคมลงไปด้วย เพื่อใช้ในการปกป้องภยันตรายต่างๆ ปกป้องคุ้มครองมิให้สิ่งเร้นลับ คุณไสย หรือภูตผีปีศาจมารังควานได้
  
                      คันฉ่องจีนโบราณ เท่าที่มีการขุดพบในยุคแรก เป็นของสมัยราชวงศ์จิ้น (พ.ศ.๓๒๒-๓๓๖) คือ เมื่อประมาณ ๒,๒๐๐ ปีมาแล้ว จากนั้นได้มีการสืบสานสร้างกันต่อมาจนถึงสมัยราชวงศ์ฮั่น ราชวงศ์ชิน สมัยสามก๊ก สมัยหกราชวงศ์ (พ.ศ.๙๖๓-๑๑๓๒) สมัยราชวงศ์สุย ราชวงศ์ถัง สมัยห้าราชวงศ์ สมัยราชวงศ์ซ้อง ราชวงศ์หงวน (มองโกล) ราชวงศ์เหม็ง (หรือหมิง) และราชวงศ์ชิง หรือเชง แมนจู (พ.ศ.๒๑๘๗-๒๔๕๕
  
                      "แทบไม่น่าเชื่อว่าคนจีนในยุค ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ ปีก่อนหน้านี้จะสามารถสร้างสรรค์คันฉ่องได้อย่างเยี่ยมยอดขนาดนี้ เคียงคู่กับศิลปวัฒนธรรมและประเพณี อันเก่าแก่ของจีนตลอดมา ในทางปฏิบัติหากฮ่องเต้พระองค์ใดสิ้นพระราชอำนาจ สิ้นราชวงศ์ เมื่อมีการสถาปนาฮ่องเต้ราชวงศ์ขึ้นมาใหม่จะมีการสร้างคันฉ่องประจำราชวงศ์ขึ้นมาแทนทุกครั้ง รูปแบบและลวดลายต่างๆ จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย ตามแต่ฮ่องเต้แต่ละยุคแต่ละสมัยจะกำหนดขึ้น แต่จะไม่เลียนแบบของฮ่องเต้องค์ก่อนๆ อย่างเด็ดขาด" นายวันชัยกล่าว

                      พร้อมกันนี้ นายวันชัย ยังอธิบายต่อว่า คันฉ่องจีนโบราณ ถือเป็นของสูงของศักดิ์สิทธิ์คู่กับแผ่นดินจีนมาโดยตลอด คันฉ่องทุกชิ้นที่สร้างขึ้นมา ฮ่องเต้จะนำมาส่องดูพระพักตร์ก่อนที่จะมอบให้ทูตานุทูต เพื่อนำติดตัวเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างชาติ คือเป็นตัวแทนองค์ฮ่องเต้ ผู้ใดพบเห็นจะต้องก้มลงกราบคารวะ แสดงความเคารพทันที  
         
                      ปัจจุบันค่อนข้างที่จะหาชมและพบได้ยากในลักษณะที่สมบูรณ์มีความเชื่อกันว่าผู้ใดได้มีไว้อยู่ในความครอบครอง ผู้นั้นจะอุดมพรั่งพร้อมไปด้วยลาภผล พูนทวี มั่งมีศรีสุข เป็นมหาเศรษฐี อายุยืนตลอดกาล และจะปกป้องคุ้มครองให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากสิ่งที่เป็นอัปมงคลใดๆ ทั้งปวง และป้องกันเสนียดจัญไร ป้องกันลมเพลมพัด ป้องกันภูตผีปีศาจ และผู้ที่ไม่ปรารถนาดี ให้มลายหายสิ้นและพ่ายแพ้ไปเอง

                      ส่วนเรื่องราคาไม่เป็นที่ยุติ คันฉ่องบางอันมีเงิน มียศตำแหน่ง หน้าที่การงานใหญ่โต ก็ไม่สามารถที่จะเช่าซื้อได้ เพราะเจ้าของไม่ขาย เจ้าของบอกไว้ว่ามีแล้วทำให้ผมได้ทุกอย่าง แล้วผมจะไปขายทำไม เพราะฉะนั้นจึงไม่มีราคาที่แน่นอน

              สำหรับผู้สนใจจะชมสามารถเข้าชมฟรีได้ที่ “ร้านครัวทองเรือนไทย” ถนนหัวหิน ๙๖ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดให้ชมฟรี ไม่มีค่าใช่จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
        หลากหลายปริศนาธรรม
              วัฒนธรรมการสร้างคันฉ่อง ที่เป็นเสมือนตัวแทนองค์ฮ่องเต้ของชาวจีนโบราณ เป็นเรื่องที่สอดคล้องกับความหมาย ๔ ประการ ในชีวิตของมนุษย์โดยทั่วไป คือ ความยิ่งใหญ่ ความสุข ความมั่งคั่ง และความมีชีวิตอันยืนยาว อันเป็นสิ่งที่ทุกคนมุ่งมั่นปรารถนาเป็นอย่างยิ่ง

              ในยุคแรกๆ คันฉ่องที่สร้างขึ้นมาไม่มีรูปแบบแกะสลักลวดลายอะไรมากนัก มีเพียงเป็นเส้นๆ เป็นจุดๆ หรือวงกลมๆ เท่านั้น โดยใช้เป็นสัญลักษณ์แทนภูเขา หรือใช้แทนพลังจักรวาล ดวงดาว พระอาทิตย์ พระจันทร์ ฯลฯ

                      ต่อมาเมื่อฝีมือช่างได้พัฒนาขึ้น คันฉ่องที่สร้างเริ่มปรากฏเป็นรูปภาพต่างๆ อย่างชัดเจน สามารถสื่อความหมายได้ดีขึ้น เช่น รูปเทพเจ้าต่างๆ รูป ๑๒ นักษัตร รูปสัตว์ต่างๆ เช่น มังกร หงส์ ม้า ปลา กวาง เต่า ฯลฯ รวมทั้งตัวอักษรจีนที่เป็นคำสิริมงคล และเส้นสายลวดลายต่างๆ ตามแบบศิลปะจีน ก็เริ่มปรากฏรายละเอียดมากขึ้นตามลำดับ จนมีความงดงามวิจิตรพิสดารและอลังการเป็นอย่างยิ่ง
  
                      ภาพต่างๆ เหล่านี้จะปรากฏอยู่ด้านหนึ่งของคันฉ่อง  ตรงจุดกึ่งกลางมักจะเป็นรูปเต่า หรือกบ อันมีความหมายถึงอายุยืนยาวและปราดเปรียวว่องไว กระโดดได้ไกล มีความหมายว่า จะผ่านพ้นอุปสรรคใดๆ ได้ด้วยความรวดเร็ว และไกลห่างจากสิ่งที่เป็นอัปมงคล ตรงรูปเต่า หรือกบ จะมีรูเจาะทะลุกันเพื่อไว้ร้อยเชือกให้จับถือคันฉ่องได้สะดวกขึ้น ส่วนอีกด้านหนึ่งของคันฉ่องราบเรียบ เมื่อขัดให้เป็นเงาแวววาว สามารถส่องดูใบหน้าแทนกระจกเงาได้เป็นอย่างดี
          
                      การจัดสร้างคันฉ่องของชาวจีนโบราณ จะสร้างได้เฉพาะฮ่องเต้เท่านั้น สามัญชนคนทั่วไปไม่สามารถสร้างมาใช้ได้ แม้จะมีทรัพย์สินเงินทองมากมายสักแค่ไหนก็ตาม ส่วนฮ่องเต้แต่ละพระองค์จะสร้างคันฉ่องขึ้นมาใช้เท่าไรก็ได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คันฉ่องแต่ละราชวงศ์มีมากมาย มากทั้งจำนวนและมากด้วยขนาดต่างๆ เท่าที่พบมี ๗ ขนาด คือ ขนาดใหญ่สุด เส้นผ่า ศูนย์กลางประมาณ ๔๙ ซม. แต่พบเห็นน้อยมากถัดลงมาเป็นขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓๐ ซม. ๑๘ ซม. ๑๒ ซม. ๘ ซม. ๖ ซม. และเล็กสุดประมาณ ๓.๕ ซม. โดยสีสันวรรณะของโลหะที่สร้างเป็นคันฉ่องจะมีทั้งสีเหลืองดอกบวบ สีเงินมันวาว

                      ในสมัยราชวงศ์ถัง (สมัยเจ้าแม่กวนอิม) คันฉ่องที่สร้างนิยมเป็นรูปบัว ๘ กลีบ สื่อความหมายถึงพระพุทธศาสนาที่กำลังเผยแพร่ในประเทศจีน แทนที่จะเป็นรูปวงกลมเหมือนอย่างที่เคยสร้างกันมาก่อนหน้านี้
         

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้