ปัจจุบันว่าวแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ
1. ว่าวแผง คือว่าวที่ไม่มีความหนา มีแต่ส่วนกว้าง และส่วนยาว ตัวอย่างเช่น ว่าวจุฬา ปักเป้า อีลุ้ม หรือว่าวรูปสัตว์ ต่าง ๆ
2. ว่าวภาพ คือว่าวที่ประดิษฐ์ให้มีลักษณะพิเศษเพื่อแสดงแนวคิด ฝีมือในการประดิษฐ์ แบ่งเป็นประเภทย่อยได้ 3 ชนิด
ว่าวประเภทสวยงาม
ว่าวประเภทความคิด
และว่าวประเภทตลกขบขัน
ว่าวแผงเท่านั้นที่นิยมนำมาคว้าหรือแข่งขันกัน ส่วนว่าวภาพจะทำสำหรับชักขึ้นอวดรูปร่างว่าวมากกว่าและนิยมชักให้ลอยนิ่งอยู่ใน
อากาศให้คนชม ว่าวในแต่ละภาคของประเทศไทย
ถ้าจะกล่าวถึงเอกลักษณ์ของการทำว่าวในแต่ละภาคของประเทศไทยแล้วก็ไม่ต่างกันมากนัก ซึ่งขึ้นอยู่กับความนิยมของผู้เล่น และ
ก็ขึ้นอยู่วัยของผู้เล่นด้วย ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็จะทำยากขึ้นมาหน่อย ว่าวไทยในแต่ละภาคของประเทศไทย แยกได้ดังนี้
ภาพจากหน่วยงานผลิตภาพถ่ายและไมโครฟอร์ม
สำนักเทคโนโลยีการศึกษา
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช |
|
ภาคกลาง
ว่าวที่เล่นกันมีรูปแบบต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นแบบดั้งเดิม คือว่าวจุฬา ว่าวปักเป้า ว่าวดุ๊ยดุ่ย ว่าวหาง ว่าวอีแพรด ว่าวอีลุ้มส่วน
รูปแบบใหม่ที่รับมาจากต่างประเทศ เช่น ว่าวงู ว่าวนกยูง ว่าวปลา ว่าวคน ว่าวผีเสื้อภาคเหนือ
ลักษณะของว่าวไทยภาคเหนือ แต่เดิมมีรูปแบบที่ทำขึ้นอย่างง่าย ๆ โดยมีโครงทำจากไม้ไผ่ นำมาไขว้กันมีแกนกลางอันหนึ่ง และอีก
อันหนึ่งโค้งทำเป็นปีกว่าว จะไม่ใช้เชือกช่วยในการทำโครงก่อน ใช้กระดาษปิดทับโครงไม้เลยทีเดียว รูปร่างของว่าวก็คล้าย ๆ กับว่าวปักเป้า
ของภาคกลาง แต่ไม่มีหางและพู่และมีชนิดเดียว ไม่มีหลายประเภทเหมือนภาคกลาง ลักษณะของว่าวก็เปลี่ยนแปลงไปตามสมัยนิยม โดยหา
ซื้อว่าวตามท้องตลาด ซึ่งเป็นว่าวรูปแบบใหม่ ๆ คือรูปสัตว์ชนิดต่าง ๆ เช่น ว่าวงู ว่าวนก ภาคตะวันออก
ว่าวที่มีรูปแบบดั้งเดิม และรูปแบบที่เหมือนกับภาค อื่น ๆ ได้แก่ ว่าวอีลุ้ม ว่าวหาง ว่าวหัวแตก ว่าวดุ๊ยดุ่ย ว่าวกระดาษ และว่าวใบ
มะกอกส่วนว่าวรูปแบบจากต่างประเทศไม่เป็นที่นิยมในภาคนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ประชาชนส่วนมากนิยมเล่นว่าวพื้นเมืองกัน และว่าวที่เป็นที่นิยมมากที่สุดคือ ว่าวหาง หรือว่าวดุ๊ยดุ่ย รองลงไปได้แก่ว่าวอีลุ้ม
(หรือว่าวอีลุ่ม) ว่าวปลาโทดโทงและว่าวประทุน บางครั้งก็มีการแข่งขันในงานบุญ เช่น บุญกุ้มข้าวใหญ่ การแข่งขันว่าวนี้ตัดสินได้หลายอย่าง
เช่น ว่าวสวย ว่าวที่ขึ้นได้สูงที่สุดหรือว่าวที่มีเสียงดังเพราะที่สุด ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานีจัดการแข่งขันว่าวเป็นกีฬาพื้นเมืองของจังหวัด ภาคใต้
ในภาคใต้นี้มีว่าวเล่นกันจำนวนมากโดยเฉพาะในเขตจังหวัดสงขลา มีว่าวที่มีรูปแบบต่าง ๆ กัน เช่น ว่าวนก ว่าวนกปีกแอ่น ว่าวนกยูง
ว่าวปลาวาฬ ว่าวปลาปีกแอ่น ว่าวควาย ว่าวใบยาง และว่าวกระป๋อง หรือว่าวกระดาษ เป็นต้น ในเขตจังหวัดที่อยู่ใต้สงขลาลงไปนั้น ชาวบ้าน
นิยมเล่นว่าววงเดือนอย่างเดียว ว่าวที่มีรูปแบบอื่น ๆ ไม่นิยมประดิษฐ์กัน และที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งของภาคใต้คือ มักนิยมติดแอกหรือที่เรียก
กันว่าสะนู หรือธนู ไว้ที่ส่วนหัวของว่าว
หากจะกล่าว ถึงว่าวไทยด้วยกันแล้ว ว่าวที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากที่สุดคือ ว่าวจุฬา กับว่าวปักเป้า แม้จะทำเล่นกันเฉพาะในภาคกลาง
ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นว่าวประจำชาติไทย มีลักษณะผิดแปลกแตกต่างกับว่าวของชาติต่าง ๆ อย่างสิ้นเชิง ทั้งรูปร่าง ทั้งการเคลื่อนไหวใน
อากาศ กล่าวคือเป็นว่าวที่สวยงามด้วยรูปทรงและฝีมือที่ประดิษฐ์อย่างประณีตที่สุด และสามารถบังคับให้เคลื่อนไหวได้ด้วยอาการต่าง ๆ
อย่างสง่างามและคล่องแคล่วว่องไว ด้วยสายป่านที่ชักว่าวนั้นเพียงสายเดียว ตรงข้ามกับว่าวนานาชาติ ที่มีความสวยงามที่สีสรรแพรวพราว
แต่ส่วนมากลอยลมอยู่เฉย ๆ ไม่อาจบังคับให้เคลื่อนไหวอย่างว่าวจุฬาและว่าวปักเป้าได้ ว่าวจุฬา มีลักษณะคล้ายดาวห้าแฉก มุมไม่เท่ากัน
ไม่มีหาง ผูกคอซุงที่อก ทำให้ส่ายไปมาได้ ส่วนว่าวปักเป้ารูปร่างเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ผูกคอซุงที่อกเช่นเดียวกัน มีหางยาวไว้ถ่วง
น้ำหนักที่มุมล่างของตัวว่าว กติกาการแข่งขัน
ถ้าดูจากขนาดรูปร่างแล้ว ว่าวจุฬามีขนาดใหญ่เป็น 2 เท่าของว่าวปักเป้า หรืออาจโตกว่าปักเป้า บางตัวมีความยาวถึง 2 เมตร ว่าว
จุฬามีอาวุธคือ "จำปา" เป็นไม้เหลาโค้งประกบติดสายป่านต่อจากคอซุงลงมา ติดประมาณ 3-5 ดอก ประโยชน์คือใช้สำหรับเกี่ยวว่าวปักเป้า
ให้ตาย แล้วจะได้ชักรอกไปกินเสีย
ส่วนว่าวปักเป้ามี "เหนียง" เป็นห่วงป่านติดใต้คอซุงลงมา เอาไว้คล้องตัวว่าวจุฬา ในวงการแข่งขันว่าว ถือว่าว่าวจุฬาได้เปรียบกว่า
ว่าวปักเป้าโดยรูปร่างและอาวุธ กติกาจึงต้องต่อให้ว่าวปักเป้า 2 ต่อ 1 ปักเป้าจะแพ้จุฬาได้หลายกรณี เช่น
1. จุฬาคว้าตัวปักเป้าติด และทำให้ตายคือ ปักเป้าผ่อนสายป่านไม่ได้ เพราะ "จำปา"จุฬาบีบรัดหางพาดซุงหรือสายเครื่องป่านจุฬา
2. กินหางตัวเอง คือหางปักเป้าพันกันเอง
3. ตัวว่าวปักเป้ากระดาษขาดมากจนว่าวเอียงสายแร่งหัวหรือปีกขาด ไม้อกหรือปีกหัก หางขาดเหลือแต่ตัวว่าวหรือตัวว่าวขาด เหลือ
แต่หางติดป่านจุฬา
4. สายเหนียงขาด
5. ตัวปักเป้าลอดซุงจุฬา แล้วจะยาวหรือสั้นกว่าก็ตาม
6. ทำร้ายจุฬาจนกระดาษขาด หรือสักขาดเป็นรูโต ไม้อกหรือปีกหรือขากบหัก
7. ป่านมัดซุงจุฬา
8. จุฬาเข้าตาร้ายประกบติดกัน หรือเข้าเหนียง เป็นต้น
ถ้าขณะเมื่อจุฬาพาปักเป้าไปยังไม่ถึงมือ ปักเป้าเกิดหลุดขาดลอยตามลมมาตกในเขตปักเป้าได้ ก็เป็นอันล้มเลิกกันไปในเที่ยวนั้น
จุฬาจะเอาปักเป้าเป็นแพ้ไม่ได้
ส่วนจุฬาจะแพ้ปักเป้าเมื่อต้องติดปักเป้าตกดินกลับขึ้นอีกไม่ได้ จะตกด้วยประการใด ๆ เช่น ติดต้นไม้ตกขาดลอยติดกันไป หรือขาด
หน้ารอกมาจับได้ในเขตศูนย์ของปักเป้า ถึงแม้ว่าว่าวทั้งสองจะยังขึ้นอยู่ไม่ตกดินก็ตาม หรือแม้แต่จะแฉลบลงดินด้วยมือคนชักว่าวของจุฬา
ก็ตาม เมื่อตกลงในเขตปักเป้าแล้วก็เป็นอันต้องแพ้ปักเป้าทั้งสิ้น แต่ถ้าเมื่อก่อนจะตก ว่าวหลุดจากกันไปในอากาศโดยไม่ติดพันแต่อย่างใด
ก็เป็นอันเลิกกันไปไม่แพ้และชนะ ผู้ชมการแข่งขันว่าวสนุกสนานตรงที่แบ่งเป็น 2 ฝ่าย ต่างเอาใจช่วยว่าวที่ตนคาดว่าชนะ มีผู้เปรียบว่าวจุฬา
ซึ่งโฉบส่ายไปมาเหมือนนักเลงโตว่าเป็นฝ่ายชาย และเปรียบว่าวปักเป้าที่ตัวเล็กและโฉบฉวัดเฉวียนว่าแม่เปรต หรือเป็นฝ่ายหญิงก็มี เวลา
แข่งว่าวจะมีการบรรเลงดนตรีไทยคือวงปีพาทย์ให้เข้ากับท่วงทำนองการต่อสู้ของว่าวจุฬาและปักเป้าด้วย เป็นที่สนุกสนานกันมากมีผู้สนใจ
ชมไม่แพ้ยามมีนักขัตฤกษ์ทีเดียว
นั่นก็เป็นรายละเอียดของตำนานว่าวไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นข้อเขียนของ เนื้อหาและภาพประกอบจากของรศ.ดร.ภิญโญ-
สุวรรณคีรี ในหนังสือตำนานว่าวไทย
กล่าวได้ว่าเป็นภูมิปัญญาของคนไทย ในอดีตที่มีความคิดสร้างสรรค์อย่างแท้จริง และถ่ายทอดมาสู่คนรุ่นหลังให้ได้เห็นสามารถทำ
ตามและคิดรูปแบบใหม่ในลักษณะต่าง ๆ ของว่าวไทย นอกจากการเล่นเพื่อความสนุกสนานแล้ว สิ่งสำคัญคือมีความสมัครสมานสามัคคี
ของชุมชนในแต่ละท้องถิ่น ตลอดจนร่วมกันสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมของไทยสืบ ที่มา http://www.stou.ac.th/study/proj ... -55/page2-1-55.html |