ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล วัดป่าสันติกาวาส ~

[คัดลอกลิงก์]
81#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 20:59 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

บรรยากาศความสงบร่มรื่นภายในวัดป่าสันติกาวาส จ.อุดรธานี ในปัจจุบัน


๏ พ.ศ. 2517-2518 พรรษาที่ 39-40
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 39-40

ในพรรษาปี พ.ศ. 2518 นี้ หลวงปู่ได้สัตตาหกิจไปร่วมงานถวายเพลิงศพหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ วัดป่าหนองแซง (วัดราษฎรสงเคราะห์) ซึ่งท่านได้มรณภาพก่อนเข้าพรรษา แล้วทำการถวายเพลิงศพหลังจากเข้าพรรษาแล้วไม่กี่วัน หลวงปู่อยู่ร่วมงานจนเก็บอัฐิธาตุท่านเสร็จแล้วจึงได้กลับวัด

อาพาธครั้งที่ 5 ด้วยอุบัติเหตุเส้นโลหิตแตก

ในพรรษาปี พ.ศ. 2518 เดือนสิงหาคม มีต้นไม้ต้นหนึ่งไม่โตนัก ตายยืนต้นอยู่หลังกุฏิที่หลวงปู่พำนักอยู่ หลังจากฉันเช้าที่ศาลาเสร็จแล้วหลวงปู่กลับไปกุฏิ มีผ้าขาวคนหนึ่งอยู่ปรนนิบัติท่าน หลวงปู่นำมีดโต้ที่ท่านฝนไว้อย่างคมกริบ ให้ผ้าขาวตัดต้นไม้ที่ตายแห้งอยู่กลังกุฏิท่านออก ในขณะที่ตัดไม้ยังไม่เสร็จฝนได้ตกลงมา ผ้าขาวทิ้งมีดตากฝน ตัวเองวิ่งเข้าใต้ถุนกุฏิหลวงปู่ หลวงปู่เห็นมีดทิ้งตากฝนอยู่ ท่านจึงเดินไปเก็บเอามีดเข้ามาใต้ถุนกุฏิท่าน แล้วเอามีดเสียบไว้ที่กองไม้ใต้ถุนกุฏิ

ท่านนึกว่ามีดเสียบไว้แน่นดีแล้ว จึงวางมือแล้วจะเดินออกจากที่นั้น ทันใดนั้นมีดได้หลุดออกจากกองไม้ เหวี่ยงลงมาถูกหลังเท้าติดกับข้อเท้าขวา เป็นเหตุให้เส้นเลือดใหญ่เป็นแผล ท่านสั่งไม่ให้ผ้าขาวไปบอกใคร เพราะในขณะนั้นท่านอยู่ที่กุฏิ 2 คนกับผ้าขาวเท่านั้น ท่านให้ผ้าขาวเอาใบเพิน (หรือหญ้าบ้านร้างก็เรียก) มาเคี้ยวแล้วเอาปิดแผล เพื่อขัดเลือดให้เลือดหยุด

ในวันนั้นพอตะวันบ่าย ผู้เขียนอยู่กุฏิตัวเองรู้สึกอยากจะไปหาหลวงปู่ที่กุฏิท่าน จึงลงจากกุฏิแล้วเดินไปหาหลวงปู่ที่กุฏิท่าน เห็นท่านนั่งเหยียดเท้าอยู่กับผ้าขาว ผู้เขียนกราบท่านแล้วถามว่าเป็นอะไร ท่านบอกว่า “ถูกมีด กรรมมันยังไม่สิ้นสุด” ผู้เขียนจะไปตามอนามัยมาเย็บแผล ท่านห้ามไม่ให้ไป ผู้เขียนก็ปฏิบัติตาม อยู่มาได้ 22 วัน เส้นเลือดที่เป็นแผลได้แตกเลือดพุ่ง ผู้เขียนได้ใช้ผ้าขาวพันที่แผลและขาของท่านไว้ แล้วไปติดต่อหารถนำท่านส่งโรงพยาบาลอุดรธานี

เส้นเลือดหลวงปู่แตกตั้งแต่เวลา 11.00 น. จนเวลาบ่ายสามโมงเย็นจึงได้รถจากแขวงการทางสว่างแดนดินมารับหลวงปู่ ส่งถึงโรงพยาบาลอุดรธานีเกือบมืด นำเข้าห้องฉุกเฉิน หมอแก้ผ้าที่พันแผลไว้ออก เลือดพุ่งออกมา หมอใช้คีมจับเส้นเลือดไว้ แล้วนำหลวงปู่เข้าห้องผ่าตัดฉุกเฉิน จนถึงเวลา 20.00 น. หมอนำหลวงปู่ออกจากห้องผ่าตัดไปพักที่ตึกสงฆ์อาพาธ หมอบอกว่าเหลืออีก 10 เปอร์เซ็นต์ หลวงปู่จะสิ้นใจ เพราะเลือดออกมา จนถึงเวลา 02.00 น. หลวงปู่จึงลืมตาขึ้นมองดูลูกศิษย์ที่คอยอุปัฏฐากอยู่ใกล้ๆ ทุกคนจึงหายใจโล่งไปตามๆ กัน

เราเตรียมตัวไปแล้ว


วันหลังเมื่อหลวงปู่อาการดีขึ้นแล้ว ท่านจึงเล่าให้ฟังว่า “ในขณะที่เลือดออกมากๆ นั้น เรามองดูอะไรก็อยู่ไกลริบหรี่ไม่ได้การแล้ว จึงกำหนดเข้าที่ เตรียมตัวไปแล้วแต่มันยังไม่ไปจึงฟื้นคืนมา”
82#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 21:00 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระอาจารย์เสน ปญฺญาธโร


ศ.นพ.โรจน์ สุวรรณสุทธิ มาเยี่ยม

เมื่อ ศ.นพ.โรจน์ สุวรรณสุทธิ ได้ทราบข่าวว่าหลวงปู่อาพาธ ด้วยเส้นโลหิตแตก จึงเดินทางจากกรุงเทพฯ มาเยี่ยมหลวงปู่ที่ตึกสงฆ์อาพาธ โรงพยาบาลอุดรธานี และได้ทำแผลล้างถวายหลวงปู่ด้วยตนเองด้วย เสร็จแล้วได้กราบเรียนหลวงปู่ว่า “หากท่านอาจารย์พักอยู่โรงพยาบาลไม่เป็นที่สบาย ก็กลับไปรักษาอยู่ที่วัดได้ เพราะอาการอย่างอื่นไม่มีอะไร มีแต่การล้างแผลวันละครั้งเท่านั้น”

เมื่อ ศ.นพ.โรจน์ สุวรรณสุทธิ เยี่ยมหลวงปู่เป็นเวลานานพอสมควรแล้ว จึงกราบลาหลวงปู่กลับกรุงเทพฯ หลวงปู่พักรักษาอยู่โรงพยาบาลอุดรธานีประมาณ 1 อาทิตย์ ท่านพระอาจารย์เสน ปญฺญาธโร จึงนิมนต์หลวงปู่ไปพักรักษาอยู่ที่วัดป่าหนองแซง (วัดราษฎรสงเคราะห์) หลวงปู่พักอยู่วัดป่าหนองแซงได้ 3 วัน คุณลัดดาวัลย์ เอียสกุล ไปพบหลวงปู่ที่วัดป่าหนองแซง จึงกราบอาธาธนาให้หลวงปู่ไปพักรักษาที่โรงพยาบาลหนองคาย เพื่อให้ลูกศิษย์ลูกหาทางหนองคายได้ถวายอุปัฏฐากบ้าง

หลวงปู่รับนิมนต์ไปพักรักษาที่โรงพยาบาลหนองคายอยู่ระยะหนึ่ง จึงได้ออกจากโรงพยาบาลไปพักอยู่ที่วัดอรุณรังษี แผลที่เป็นก็ยังไม่หาย คุณลัดดาวัลย์และคณะลูกศิษย์ชาวหนองคายได้ถวายอุปัฏฐากเป็นอย่างดียิ่ง และได้ขอร้องให้ทางโรงพยาบาลหนองคาย ส่งพยาบาลผู้ชายไปทำแผลให้ที่วัดอรุณรังษี จนแผลหายดีเรียบร้อย หลวงปู่จึงได้กลับวัดป่าสันติกาวาส รวมเวลาที่พักรักษาอยู่ที่หนองคายเป็นเวลาถึง 3 เดือน เป็นอันว่าพรรษาที่ 40 ของหลวงปู่ ท่านไม่ได้จำอยู่วัดป่าสันติกาวาสตลอด ด้วยเหตุแห่งอาพาธจึงย้ายไปที่ต่างๆ ดังได้กล่าวมาแล้ว


๏ พ.ศ. 2519 พรรษาที่ 41
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 41

ในปี พ.ศ. 2519 นี้ ทั้งนอกพรรษาและในพรรษา หลวงปู่ได้เอาใจใส่ในการอบรมพระเณร และอุบาสกอุบาสิกา โดยเฉพาะวันประชุมพระเณร ในวัน 7 ค่ำ 14 ค่ำ เป็นวันที่ท่านอบรมพระเณรเป็นพิเศษ ส่วนวัน 8 ค่ำ 15 ค่ำ เป็นวันที่อุบาสกอุบาสิกา มาถือศีลอุโบสถและนอนอยู่ที่วัด ท่านก็จะอบรมญาติโยมหญิงชายที่มาจำศีลอุโบสถเป็นพิเศษ หลังจากท่านนำพาทำวัตรเย็นแล้ว ก็อบรมธรรมะและนำพานั่งสมาธิภาวนาไปจนถึงเวลา 24 นาฬิกา ท่านจึงเลิกกลับกุฏิที่พักของท่าน


หลวงปู่ฝั้น อาจาโร


ไปร่วมงานทำบุญสวดมนต์ถวายหลวงปู่ฝั้น อาจาโร

เมื่อออกพรรษาแล้ว เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2519 หลวงปู่ฝั้น อาจาโร อาพาธ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่ออาการดีขึ้นท่านได้เดินทางกลับวัดป่าอุดมสมพร คณะศิษยานุศิษย์ได้ทำบุญสวดมนต์ถวายเพื่อเป็นการต่ออายุให้ท่าน และได้นิมนต์หลวงปู่ไปร่วมในงานด้วย หลวงปู่รับนิมนต์และเดินทางไปค้างที่วัดป่าอุดมสมพร เพื่อสวดมนต์ถวายหลวงปู่ฝั้น ตอนเช้ารับฉันบิณฑบาตเสร็จแล้วจึงเดินทางกลับวัดป่าสันติกาวาส

อุบัติเหตุขวานถูกหัวแม่เท้าข้างซ้าย

ในปี พ.ศ. 2519 นี้ หลวงปู่ได้รับอุบัติเหตุขวานถูกที่หัวแม่เท้าซ้ายเกือบขาด ในวันนั้นเป็นเวลาบ่าย หลวงปู่สั่งให้พระเอาขวานมาถากเศษไม้ที่ทิ้งอยู่ เอาไว้ทำด้ามจอบด้ามเสียม พระจับขวานถากไม้ทำไม่เป็น ในขณะนั้นหลวงปู่ท่านยืนดูอยู่ เมื่อเห็นพระทำไม่เป็น ท่านจึงจับเอาขวานจากมือพระแล้วถากไม้ให้ดู ในขณะนั้นผู้เขียนกำลังทำข้อวัตรเอารถเข็นเข็นน้ำใส่ตุ่มตามกุฏิต่างๆ ผ่านไป เห็นหลวงปู่จับขวานถากไม้อยู่ เห็นไม้มันกระดกๆ ไปมา ในใจจึงนึกขึ้นว่า “โอ้ หลวงปู่ถากไม้ เดี๋ยวขวานจะถูกเท้าอีกแหละ” แล้วก็เข็นรถน้ำผ่านไป

พอให้หลังไปไม่ไกลได้ยินเสียง วิ่งตามหลัง ในใจคิดว่าขวานคงถูกหลวงปู่แล้ว พอเณรวิ่งตามมาถึงจึงรีบถามเณรว่า “อะไร” เณรตอบว่า “ขวานถูกหัวแม่เท้าหลวงปู่แล้ว” ผู้เขียนวางรถเข็นน้ำแล้วรีบไปดูเห็นหัวแม่เท้าท่านเกือบขาดออกจากกันเลือดไหลอยู่ จึงเอาผ้ามาพันผูกไว้ให้แน่น ให้คนไปตามเอารถในหมู่บ้านมานำหลวงปู่ไปโรงพยาบาลอุดรธานี ให้หมอเย็บแผล เรียบร้อยแล้วหมอให้กลับวัดได้

คุณหมอสัมพันธ์เป็นผู้เย็บแผลให้ แล้วหมอพูดว่า “แหม ท่านอาจารย์ปีกลายนี้ก็ถูกมีด ปีนี้ก็ถูกขวานอีก” หลวงปู่จึงพูดว่า “กรรมมันให้ผลยังไม่หมด ทีนี้หมดแล้วละ 3 ครั้งแล้ว” หลวงปู่พูดต่อไปว่า “กรรมตั้งแต่เป็นเด็กเลี้ยงวัวโน้นแหละ ซัดเสียมใส่ข้อเท้าวัว เส้นเลือดมันขาด กรรมกลัวจะไม่ได้ให้ผลก็เลยรีบให้ผลในชาตินี้ เรื่องของกรรมเป็นสิ่งที่น่ากลัว อย่าไปยินดีในการทำบาปทำกรรมชั่วเลย เมื่อทำแล้วก็ได้รับผลอย่างนั้นแหละ” หลวงปู่เตือนลูกศิษย์ลูกหาไม่ให้กล้าต่อการทำกรรมชั่ว เพราะทำแล้วย่อมได้รับผลเป็นทุกข์
83#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 21:01 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ พ.ศ. 2520 พรรษาที่ 42
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 42

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ท่านมรณภาพเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2520 คณะศิษยานุศิษย์ได้ตั้งศพท่านบำเพ็ญกุศลจนถึงปี พ.ศ. 2521 และได้จัดงานพระราชทานเพลิงศพท่าน เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2521 ก่อนจะถึงวันพระราชทานเพลิงศพ 3 วัน หลวงปู่ท่านได้ระลึกถึงคุณานุคุณของครูบาอาจารย์ที่เคยได้ร่วมพบปะสนทนาธรรมซึ่งกันและกัน และท่านก็มีความเคารพในหลวงปู่ฝั้นด้วย จึงได้เดินทางไปกราบคารวะศพหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ที่วัดป่าอุดมสมพร ก่อนวันงานท่านบอกว่า “วันงานคนเยอะ เราตาไม่ดี ขาไม่ดี ต้องไปก่อนวันงาน”

ทำบุญฉลองและถวายศาลานิยม สุวรรณสิทธิ์

เดือนมีนาคม พ.ศ. 2521 การก่อสร้าง ศาลานิยม สุวรรณสิทธิ์ ซึ่งได้ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 ได้สำเร็จเรียบร้อย สิ้นค่าก่อสร้างทั้งหมด 620,000 บาท (หกแสนสองหมื่นบาท) หลวงปู่จึงให้ทำพิธีทำบุญฉลองความสำเร็จที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันก่อสร้างมาจนเสร็จเรียบร้อย โดยให้นิมนต์ครูบาอาจารย์มาเจริญพระพุทธมนต์ และแสดงพระธรรมเทศนา 2 กัณฑ์ ในตอนกลางคืน กัณฑ์ที่ 1 แสดงโดยท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร กัณฑ์ที่ 2 แสดงโดยท่านพระอาจารย์สีลา อินฺทวํโส ตอนเช้าก็ถวายอาหารบิณฑบาต ญาติโยมกล่าวคำถวายเสนาสนะก็เป็นเสร็จพิธี และคณะสงฆ์พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมือง ได้ทำการย้ายเขตวิสุงคามสีมาจากวิหารกลางน้ำมาปักเขตใหม่ที่ศาลาการเปรียญด้วย


๏ พ.ศ. 2521-2522 พรรษาที่ 43-44
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 43-44

วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2523 พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร และพระอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโม ได้มรณภาพด้วยอุบัติเหตุเครื่องบินตก พร้อมกับ พระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม, พระอาจารย์วัน อุตฺตโม และพระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ หลังจากตั้งศพของท่านบำเพ็ญกุศลที่วัดพระศรีมหาธาตุ วรมหาวิหาร เขตบางเขน กรุงเทพฯ ครบ 7 วันแล้ว คณะศิษยานุศิษย์ได้นำศพของท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง มาตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดป่าแก้วชุมพล ตำบลบ้านชุม อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ส่วนศพของท่านพระอาจารย์สุพัฒน์ นำไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดป่าประสิทธิ์สามัคคี บ้านต้าย ตำบลบ้านต้าย อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร

หลวงปู่ได้ไปค้างคืนประจำอยู่วัดป่าแก้วชุมพล เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่พระภิกษุ สามเณร และคณะศรัทธาญาติโยม ที่มาร่วมกันจัดงานพระราชทานเพลิงศพท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง เมื่อถึงวันพระราชทานเพลิงศพท่านพระอาจารย์สุพัฒน์ หลวงปู่ได้ไปร่วมเป็นกำลังใจให้แก่พระภิกษุ สามเณร และคณะศรัทธาญาติโยม ที่วัดป่าประสิทธิสามัคคี บ้านต้าย ด้วย จนเสร็จการพระราชทานเพลิงศพและเก็บอัฐิท่านพระอาจารย์สุพัฒน์เสร็จแล้ว หลวงปู่จึงกลับไปพักอยู่ที่วัดป่าแก้วชุมพลอีก จนถึงวันพระราชทานเพลิงศพท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง


ไม่มีความสงสัยในธรรม

ในวันพระราชทานเพลิงศพท่านพระอาจารย์สิงห์ทองนั้น หลวงปู่ได้พักอยู่กุฏิที่มุงด้วยไม้ที่วัดป่าแก้วชุมพล และมี ท่านพระอาจารย์สุวัจน์ สุวโจ และครูบาอาจารย์องค์อื่นอีกหลายรูปนั่งอยู่ด้วยกัน ผู้เขียนก็นั่งอยู่ในที่นั้นด้วย พระอาจารย์สุวัจน์ท่านเคยจำพรรษาอยู่ร่วมกันกับหลวงปู่ในคราวที่อยู่จังหวัดร้อยเอ็ด พอมาพบกัน ท่านก็ไต่ถามสนทนาธรรมกัน สุดท้ายพระอาจารย์สุวัจน์จึงเรียนถามหลวงปู่ว่า “เป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้ครูบาอาจารย์ยังมีความสงสัยในธรรมอยู่หรือไม่” หลวงปู่ตอบอย่างอาจหาญว่า “ไม่มีความสงสัยในธรรม”

หลวงปู่อยู่ร่วมพระราชทานเพลิงศพท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง จนเก็บอัฐิท่านเรียบร้อยแล้วจึงได้กลับวัด ท่านอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร และท่านอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโม ทั้ง 2 องค์นี้ เป็นที่สนิทสนมกันมากกับหลวงปู่ในคราวที่มีชีวิตอยู่ ไปมาหาสู่กันไม่ได้ขาด


๏ พ.ศ. 2523 พรรษาที่ 45
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2524 เป็นวันพระราชทานเพลิงศพท่านพระอาจารย์วัน อุตฺตโม หลวงปู่ได้เดินทางไปร่วมงานที่วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม ภูผาเหล็ก เสร็จพิธีแล้วหลวงปู่จึงได้เดินทางกลับวัดป่าสันติกาวาส
84#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 21:02 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม  


พระอาจารย์วัน อุตฺตโม


พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ


พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร


พระอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโม
85#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-10 22:02 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ พ.ศ. 2524 พรรษาที่ 46
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


เมื่อออกพรรษาแล้ว เข้าฤดูแล้งเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 ได้มีพิธีถวายเพลิงศพหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ที่วัดป่านิโครธาราม บ้านหนองบัวบาน อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งหลวงปู่อ่อนท่านได้มรณภาพตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2524 คณะศิษยานุศิษย์ได้ตั้งศพของท่านไว้บำเพ็ญกุศลจนถึงวันถวายเพลิงศพ

หลวงปู่ท่านมีความเคารพในหลวงปู่อ่อนมาตั้งแต่ครั้งที่เคยอยู่ร่วมกับหลวงปู่อ่อนที่จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อมาอยู่ในเขตจังหวัดอุดรฯ ด้วยกัน ท่านก็ไปมาหาสู่กันมาโดยตลอด เมื่อถึงวาระสุดท้ายที่หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ จากไป หลวงปู่ถึงแม้ในขณะนั้นสุขภาพของท่านก็ไม่ค่อยแข็งแรง การเดินเหินไปมาก็ไม่ค่อยสะดวก นับแต่ที่ท่านได้ผ่าตัดที่โคนขาขวามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 แล้ว ถึงอย่างนั้นท่านก็ได้พยายามไปร่วมงานวันถวายเพลิงศพของหลวงปู่อ่อนด้วย เพื่อเป็นการแสดงกตเวทิตาคารวะต่อครูบาอาจารย์เป็นครั้งสุดท้าย


๏ พ.ศ. 2525 พรรษาที่ 47
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
อาพาธครั้งที่ 6 ด้วยโรคทางปอด


พ.ศ. 2526 ระหว่างปลายเดือนพฤษภาคม หลวงปู่มีอาการไข้ต่ำๆ และฉันอาหารไม่ค่อยได้ เวลาไอบางครั้งจะมีเลือดปนเสมหะออกมาด้วย คณะศิษย์ทางจังหวัดหนองคายจึงอาราธนาให้ท่านไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัดหนองคาย หลวงปู่รับอาราธนา

คุณลัดดาวัลย์ เอียสกุล จึงให้รถมารับหลวงปู่ที่วัดป่าสันติกาวาสไปรักษาที่โรงพยาบาลหนองคาย หลวงปู่พักอยู่ที่ห้องพิเศษตึกสงฆ์อาพาธ โดยมีคุณหมอเลื่อน เป็นผู้ดูแลรักษา คณะศิษย์ชาวจังหวัดหนองคายเป็นผู้อุปถัมภ์ เมื่อหลวงปู่เข้าพักที่โรงพยาบาล อาการไข้ได้กำเริบขึ้นสูง หมอได้ให้ยารักษาทางปอดอาการค่อยดีขึ้น หลวงปู่พักรักษาอยู่เป็นเวลา 1 เดือน จึงหายปกติ หมอจึงอนุญาตให้กลับวัดได้


๏ พ.ศ. 2526 พรรษาที่ 48
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


ครั้นออกพรรษาปี พ.ศ. 2526 แล้ว เข้าฤดูแล้ง วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 จะเป็นวันพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ขาว อนาลโย ที่วัดถ้ำกลองเพล อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานีในขณะนั้น (ปัจจุบันเป็นอำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู) หลวงปู่ขาว อนาลโย ท่านได้มรณภาพตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 คณะศิษยานุศิษย์ได้ตั้งศพของท่านบำเพ็ญกุศลมาตลอด จนถึงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 จึงได้จัดงานพระราชทานเพลิงศพของท่าน และพระราชทานเพลิงจริงในเวลา 20.00 น. ก่อนจะถึงวันพระราชทานเพลิงศพ 1 วัน

หลวงปู่ท่านได้ไปกราบคารวะศพหลวงปู่ขาว อนาลโย เป็นครั้งสุดท้าย เพราะถ้าจะไปร่วมในวันพระราชทานเพลิงศพ จะมีพระเณร ประชาชนเป็นจำนวนมาก และหลวงปู่ก็ขาไม่ดี ตาไม่ดี ท่านกลัวว่าจะลำบากมาก ท่านจึงไปก่อนวันงาน 1 วัน หลวงปู่ท่านมีความเคารพในหลวงปู่ขาวมาก และท่านได้ไปมาหาสู่หลวงปู่ขาวตั้งแต่ครั้งที่ท่านอยู่วัดป่าแก้วชุมพล อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร


๏ พ.ศ. 2527 พรรษาที่ 49
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


เมื่อออกพรรษาแล้ว ศ.นพ.โรจน์ สุวรรณสุทธิ ได้นิมนต์ให้หลวงปู่ลงไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลศิริราช พักที่ห้องพิเศษ ชั้น 4 ตึก 84 ปี หลวงปู่ได้ให้โอวาทธรรมแก่คณะศิษยานุศิษย์ที่ไปเยี่ยม ในขณะที่ท่านพักอยู่โรงพยาบาลศิริราช ดังนี้

กายเป็นดงหนาป่าทึบ

“ร่างกายนี้เป็นดงหนาป่าทึบ ยากที่บุคคลจะถากถางบุกป่าฝ่าดงนี้ให้ทะลุไปได้ ในดงหนาป่าทึบนี้เต็มไปด้วยอสรพิษ คอยกัดตอดให้ได้รับทุกขเวทนาอยู่ตลอดเวลา ได้แก่ความเจ็บไข้ได้ป่วย เจ็บท้อง ปวดหัว เจ็บตา ปวดฟัน เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานอยู่ในกายอันนี้ เมื่อเราหลงอยู่ในดงหนาป่าทึบอันนี้ จึงถูกอสรพิษทำร้ายอยู่ตลอดเวลา หลงในร่างกายนี้ ชายหลงหญิง หญิงหลงชาย หลงกันอยู่อย่างนี้ เราหลงเขา เขาหลงเรา นี้จึงพ้นทุกข์ไปไม่ได้ ถ้าใครมาถากถางดงหนาป่าทึบคือร่างกายนี้ให้เตียนโล่ง คือพิจารณาให้เห็นสภาพความเป็นจริงในกายนี้ เป็นของแตกดับทำลาย ไม่จีรังยั่งยืน เป็นเพียงธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ ประชุมกันอยู่เท่านั้น ในที่สุดก็จะสลายลงสู่ธาตุเดิมของเขาเท่านั้น เมื่อเห็นอย่างนี้จึงจะได้ชื่อว่า ข้ามดงหนาป่าทึบไปได้ จึงจะพ้นทุกข์พ้นภัยไปได้” นี้เป็นโอวาทธรรมที่หลวงปู่แสดงเตือนศิษยานุศิษย์ที่ไปกราบเยี่ยมท่านที่โรงพยาบาลศิริราช

86#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-10 22:04 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ พ.ศ. 2528 พรรษาที่ 50
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 50

ในระยะเข้าพรรษาปี พ.ศ. 2528 นี้ ตอนใกล้จะออกพรรษา หลวงปู่ได้เดินทางไปทำวัตรคารวะหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ที่วัดป่าโคกมน บ้านโคกมน อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย พอไปถึงวัดป่าโคกมนเป็นเวลาเที่ยง ถามพระเณรในวัดทราบว่าหลวงปู่ชอบไม่อยู่ ท่านขึ้นไปพักอยู่ที่วัดป่าบ้านม่วงไข่ บนภูเขาทางไปอำเภอภูเรือ หลวงปู่จึงให้ลูกศิษย์ขับรถขึ้นเขาตามไปหาหลวงปู่ชอบ ถนนเข้าไปบ้านม่วงไข่ลำบาก เป็นถนนลงหินขรุขระ ไปถึงวัดป่าม่วงไข่เป็นเวลาบ่าย 3 โมง จึงได้พบหลวงปู่ชอบ

หลวงปู่ชอบได้ถามสุขทุกข์กับหลวงปู่ แล้วหลวงปู่จึงพาลูกศิษย์ที่ติดตามไป ขอขมาคารวะหลวงปู่ชอบ เสร็จแล้วจึงได้กราบลาหลวงปู่ชอบ เดินทางไปวัดถ้ำผาปู่ เพื่อกราบคารวะศพหลวงปู่คำดี ปภาโส ถึงถ้ำผาปู่เป็นเวลาเกือบมืดแล้ว หลวงปู่ได้พาคณะศิษย์กราบคารวะศพหลวงปู่คำดี เสร็จแล้วได้อยู่ร่วมฟังสวดอภิธรรม จบแล้วจึงได้เดินทางกลับถึงวัดป่าสันติกาวาสเป็นเวลา 23.00 น.

ร่วมงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่คำดี ปภาโส

เมื่อออกพรรษาแล้ว เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2528 หลวงปู่เดินทางไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่คำดี ปภาโส ที่วัดถ้ำผาปู่ จังหวัดเลย ในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528 เพื่อเป็นการแสดงกตเวทิตาสักการะต่อครูบาอาจารย์เป็นครั้งสุดท้าย หลวงปู่มีความเคารพในหลวงปู่คำดีมาก ในฐานะที่หลวงปู่คำดีเป็นครูบาอาจารย์ ซึ่งหลวงปู่ได้เคยอยู่ปฏิบัติธรรมร่วมกับหลวงปู่คำดีในคราวที่ท่านอยู่ที่ถ้ำกวาง อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น

เดินทางลงกรุงเทพฯ ให้หมอตรวจตาข้างขวา

เมื่อเสร็จจากไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่คำดี ปภาโส แล้ว คณะศิษยานุศิษย์ทางกรุงเทพฯ ได้กราบอาราธนานิมนต์ให้หลวงปู่ไปตรวจตาที่กรุงเทพฯ เพราะหลวงปู่มีอาการตาข้างขวามัว หลวงปู่รับนิมนต์แล้วเดินทางลงกรุงเทพฯ โดยทางรถไฟ ได้เข้ารับการตรวจตาที่ไทยจักษุคลินิก โดยมีนายแพทย์สวัสดิ์ โพธิกำจร เป็นผู้ตรวจอาการ พบว่าตาข้างขวาของหลวงปู่เป็นต้อกระจก แต่ยังไม่แก่ดี หมอจึงให้ยาหยอดรักษาไปก่อน


หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ


พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป  


พระอาจารย์เจริญ ญาณวุฑฺโฒ


พระสุพรหมยานเถร (หลวงปู่วัดพระพุทธบาทตากผ้า)  
87#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-10 22:05 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เดินทางไปเชียงใหม่เป็นครั้งแรก

หลวงปู่เดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่เป็นครั้งแรก เพื่อกราบคารวะศพของ หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ วัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2528 หลวงปู่ได้เดินทางโดยเครื่องบินจากท่าอากาศยานกรุงเทพฯ ไปลงที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ แล้วนั่งรถตู้ต่อไปที่ดอยแม่ปั๋ง มีลูกศิษย์ติดตามไปด้วยเป็นพระ 2 รูป คือ ผู้เขียนองค์หนึ่ง และพระอึ่งองค์หนึ่ง ฆราวาสอีก 5 ท่าน คือ คุณหมออุรพล บุญประกอบ, คุณหมอวันเพ็ญ บุญประกอบ, คุณญาณี-คุณนิดา ชิตานนท์ และคุณหมออมรา มลิลา เดินทางถึงวัดดอยแม่ปั๋งเป็นเวลาเย็น หลวงปู่พาลูกศิษย์ที่เดินทางไปด้วย ทำพิธีคารวะศพหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ และทอดผ้าบังสุกุลถวายบูชาเป็นธัมมสักการะในองค์หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ หลวงปู่พักค้างคืนที่วัดดอยแม่ปั๋ง 1 คืน

เช้าวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2528 ฉันภัตตาหารเช้าที่วัดดอยแม่ปั๋ง เสร็จแล้วได้เดินทางไปแวะเยี่ยม พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป ที่วัดอรัญวิเวก บ้านปง อำเภอแม่แตง แต่ไม่พบ พระอาจารย์เปลี่ยนเดินทางเข้ากรุงเทพฯ หลวงปู่เดินทางต่อไปวัดถ้ำปากเปียง อำเภอเชียงดาว เพื่อเยี่ยม พระอาจารย์เจริญ ญาณวุฑฺโฒ  ซึ่งเป็นศิษย์ของหลวงปู่เอง พระอาจารย์เจริญได้จัดกุฏิไม้สักซึ่งอยู่ติดหน้าผาถวายให้หลวงปู่พำนัก อากาศเย็นมาก

วันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2528 หลวงปู่ขึ้นถ้ำผาปล่องเพื่อกราบนมัสการ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร แต่ไม่พบ หลวงปู่สิมเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ลงจากถ้ำผาปล่อง หลวงปู่เข้าชมถ้ำเชียงดาวแล้วกลับไปพักที่วัดถ้ำปากเปียง

วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2528 ฉันเช้าเสร็จที่วัดถ้ำปากเปียง แล้วเตรียมบริขารขึ้นรถตู้เดินทางเข้าเมืองเชียงใหม่ หลวงปู่และคณะศิษยานุศิษย์ผู้ติดตามแวะนมัสการพระเจดีย์หลวง วัดเจดีย์หลวง วรวิหาร แล้วเดินทางต่อไปนมัสการพระธาตุหริภุญชัย วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน จากนั้นไปนมัสการพระพุทธบาทตากผ้า ที่วัดพระพุทธบาทตากผ้า อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน และได้กราบนมัสการสรีระศพ พระสุพรหมยานเถร (หลวงปู่วัดพระพุทธบาทตากผ้า) ด้วย แล้วเดินทางกลับเมืองเชียงใหม่ แวะโปรดคุณพ่อวิจิตรและแม่สายบัวที่บ้านพัก เพื่อรอเวลาเครื่องบินเวลา 20.00 น. เดินทางไปขึ้นเครื่องบินที่สนามบินเชียงใหม่เดินทางกลับกรุงเทพฯ หลวงปู่พักที่กรุงเทพฯ ไม่นาน ก็เดินทางกลับวัดป่าสันติกาวาส

เดินทางไปเชียงใหม่ครั้งที่ 2

เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 คุณนิดา ชิตานนท์ ได้กราบอาราธนาให้หลวงปู่เดินทางลงกรุงเทพฯ เพื่อตรวจตาข้างขวาของหลวงปู่อีกครั้งหนึ่ง ว่าต้อกระจกที่เป็นอยู่แก่หรือยัง สมควรที่จะผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ใหม่ได้หรือยัง หลวงปู่รับอาราธนาเดินทางลงกรุงเทพฯ โดยรถไฟปรับอากาศชั้นหนึ่ง โดยมีข้าพเจ้าผู้เขียนและท่านสนิทเป็นผู้ติดตามไปด้วย เมื่อถึงกรุงเทพฯ ได้พักที่รถราง ซึ่งคุณนิดาได้จัดถวายให้เป็นที่พักของหลวงปู่และพระติดตามต่างหาก ซึ่งอยู่ในบริเวณบ้านส่วนตัว คุณนิดาได้รับหลวงปู่ไปที่ไทยจักษุคลินิก ให้คุณหมอสวัสดิ์ตรวจตาหลวงปู่อีกครั้งหนึ่ง ผลปรากฏว่าต้อยังไม่แก่เต็มที่ หมอจึงให้รอไปก่อน คุณนิดาจึงได้นิมนต์ให้หลวงปู่ไปพักวิเวกที่บ้านแม่เมืองหลวง อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 หลวงปู่ออกจากที่พักบ้านคุณนิดาไปสนามบินดอนเมืองเพื่อขึ้นเครื่องบินไปเชียงใหม่ เวลา 07.00 น. เครื่องบินจะออกจากสนามบินดอนเมืองกรุงเทพฯ เมื่อถึงสนามบินดอนเมือง หลวงปู่และผู้ติดตาม คือข้าพเจ้าผู้เขียนและท่านสนิทกับโยมติดตามอีก 2 คน คือคุณนิดาและคุณลำพูน ได้ขึ้นนั่งบนเครื่องบินโดยสารจัมโบ้ขนาดใหญ่ พร้อมผู้โดยสารอีกเต็มลำ หลวงปู่นั่งที่นั่งติดกับผู้เขียน หลวงปู่ท่านเป็นผู้ไม่ประมาทตลอดเวลา เมื่อนั่งเก้าอี้รัดเข็มขัดเรียบร้อยแล้ว ท่านจะหลับตาเข้าที่สงบอยู่เมื่อถึงเวลาตามกำหนดที่เครื่องจะออก ได้ยินเสียงประกาศว่า

“ขออภัยผู้โดยสาร มีความติดขัดทางเทคนิคบางประการ ขอให้รอเวลาอีก 15 นาที”

เมื่อรอถึง 15 นาทีแล้วก็ได้ยินเสียงประกาศอีกว่า “ยังแก้ไขไม่ได้ ขอให้รออีก 15 นาที” จนสุดท้ายรอไปถึง 45 นาที เครื่องบินจึงพาขึ้นจากสนามบินดอนเมือง ในวันนั้นแม่บัวผายได้ให้คุณนิดานิมนต์หลวงปู่และพระติดตาม ให้ไปฉันภัตตาหารเช้าที่บ้านที่เชียงใหม่ด้วย โดยได้เตรียมภัตตาหารเช้าไว้คอย

อนิจจาความไม่แน่นอน

เมื่อเครื่องบินบินไปจะถึงเชียงใหม่แล้ว ได้ยินเสียงประกาศว่า “เครื่องบินไม่สามารถจะลงเชียงใหม่ได้ เพราะเครื่องติดขัดเทคนิคบางประการ จะต้องกลับไปลงที่สนามบินกรุงเทพฯ” ในขณะนั้นพวกฝรั่งที่กำลังเล่นไพ่กันอย่างสนุกสนานอยู่ พากันตาเหลือกตาลานเพราะความกลัวตาย หยุดเล่นกันเงียบเลย สำหรับหลวงปู่ท่านนั่งเข้าที่สงบตั้งแต่เครื่องบินขึ้นจากดอนเมือง จนเครื่องกลับไปลงที่ดอนเมืองอีก ท่านจึงลืมตาขึ้น

เมื่อเครื่องลงถึงสนามบินดอนเมืองแล้วได้ยินเสียงประกาศว่า “เที่ยวบินจะไปเชียงใหม่เปลี่ยนเป็นเวลาบ่าย 1 โมง” ตกลงในวันนั้นหลวงปู่และพระติดตามต้องกลับมาฉันภัตตาหารเช้าที่ดอนเมือง โดยคุณนิดาเป็นผู้จัดถวายเวลา 4 โมงเช้า เมื่อฉันเสร็จแล้วก็รอเครื่องเที่ยวบ่าย 1 โมง อยู่ที่สนามบินดอนเมือง

ส่วนพวกแม่บัวผายที่รออยู่ทางเชียงใหม่ เห็นเครื่องบินไม่ลงตามเวลาก็เกิดความกระวนกระวายใจ คิดว่าเครื่องบินตกหรือเป็นอะไรกัน รอจนถึง 5 โมงเช้า จึงได้ยินประกาศที่สนามบินเชียงใหม่ว่า เครื่องบินติดขัดไม่สามารถลงได้ จึงกลับไปลงที่กรุงเทพฯ จะมาใหม่เวลาบ่าย 2 โมง เป็นอันว่าอาหารที่จัดรอไว้ถวายหลวงปู่และพระติดตาม ญาติโยมทางเชียงใหม่ต้องรับประทานกันเอง
88#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-10 22:06 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
คอยจนถึงเวลา

หลวงปู่และผู้ติดตามคอยเวลาเครื่องไปเชียงใหม่เที่ยวที่ 2 อยู่ที่สนามบินดอนเมือง จนได้เวลาใกล้บ่าย 1 โมง เจ้าหน้าที่เรียกขึ้นเครื่อง หลวงปู่และผู้ติดตามขึ้นนั่งบนเครื่องบิน พร้อมกับผู้โดยสารอื่นในเที่ยวบินเดียวกัน ได้เวลาเครื่องทะยานขึ้นสู่ฟ้า นำพาไปถึงสนามบินเชียงใหม่ เวลาบ่าย 2 โมง ลงจากเครื่องบินเรียบร้อย

พ่อวิจิตรนำรถมารับหลวงปู่และผู้ติดตามจากสนามบินเชียงใหม่ แวะไปพักที่บ้านพ่อวิจิตรแม่บัวผายก่อน ถวายน้ำดื่มน้ำเย็นหลวงปู่และพระติดตาม พักผ่อนพอหายเหนื่อยแล้วพ่อวิจิตรได้จัดรถรับหลวงปู่และผู้ติดตาม รวมทั้งพ่อวิจิตรและแม่บัวผายด้วย ออกจากเชียงใหม่ไปแวะพักที่บ้านป่าแป๋ครู่หนึ่ง จากนั้นรถได้นำขึ้นเขาคดเคี้ยวเลี้ยวไปตามไหล่เขา ถึงวัดป่าบ้านแม่เมืองหลวง อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นเวลาเย็น วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 อากาศหนาวเยือกเย็นมาก ที่วัดป่าแม่เมืองหลวงมีพระอยู่ 2 รูป มีท่านทองน้อยเป็นหัวหน้า และสามเณรอีก 1 องค์ พระเณรในวัดให้การต้อนรับและเคารพหลวงปู่เป็นอย่างดี เมื่อรถส่งหลวงปู่และผู้ติดตามถึงวัดป่าแม่เมืองหลวงแล้วเขาก็กลับไป

ที่วัดป่าบ้านแม่เมืองหลวง

ในขณะที่หลวงปู่พักวิเวกอยู่นั้น มีหลวงปู่ ผู้เขียน ท่านสนิทและพระประจำอยู่ที่วัด 2 รูป สามเณร 1 รูป รวมเป็นพระ 5 รูป สามเณร 1 รูป สำหรับโยมที่ติดตามไปปฏิบัติธรรมและทำอาหารบิณฑบาตถวายหลวงปู่นั้น มีคุณนิดา, แม่บัวผาย, คุณพูลและคุณปิ๊ก ทั้ง 4 คน ได้พักอยู่ที่พักสำหรับโยมในวัด ที่วัดป่าแม่เมืองหลวงมีต้นไม้เขียว น้ำสะดวก มีความเงียบสงบวิเวกวังเวง อยู่ท่ามกลางป่าเขาลำเนาไพร

พระภิกษุสามเณรอาศัยบิณฑบาตที่บ้านแม่เมืองหลวงและบ้านใต้ซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยง บ้านใต้อยู่ห่างวัดประมาณ 1 กิโลครึ่ง บ้านแม่เมืองหลวงอยู่ห่างวัดประมาณ 1 กิโลเมตร หลวงปู่รับบิณฑบาตที่หน้าโรงครัวในวัด เพราะท่านเดินไม่ค่อยสะดวก

เป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อในพระธรรมวินัยและข้อวัตรปฏิบัติ

หลวงปู่เป็นผู้ไม่ประมาทไม่หละหลวมในพระธรรมวินัยและข้อวัตรปฏิบัติแม้เล็กๆ น้อยๆ เช่น การทำกัปปิยะโวหารพีชคาม ของที่จะปลูกให้เกิดได้ด้วยลำด้วยใบ หรือที่มีรากติดอยู่ก่อน เรียกว่า “วินัยกรรม” หรือเมื่อเวลามีโยมผู้หญิงเข้ามากราบเรียนถามเรื่องขัดข้องเกี่ยวกับการปฏิบัติด้านจิตตภาวนา หรือจะเรื่องอะไรก็ตาม ถ้าไม่มีผู้ชายมาด้วย ท่านจะให้เรียกพระเณรหรือลูกศิษย์ผู้ชายมานั่งอยู่เป็นเพื่อน

ถ้ามีแต่ผู้หญิงถึงแม้จะหลายคนก็ตาม ถ้าไม่มีผู้ชายอยู่ด้วยถือว่าผิดพระวินัย การบิณฑบาตเป็นกิจประจำของพระ ถ้าหลวงปู่ท่านยังเดินได้ท่านจะบิณฑบาตก่อน หลวงปู่ท่านสอนว่า “ของใหญ่ๆ ท่อนซุง ท่อนยาง มันไม่เข้าตาของคนหรอก ของเล็กๆ น้อยๆ หยากเยื่อนั้นแหละมันเข้าตาคน” การที่ท่านปฏิบัติก็เพื่อจะให้เป็นตัวอย่างแก่ลูกศิษย์ลูกหาต่อไป

กิจประจำวันในขณะที่หลวงปู่พักอยู่วัดป่าแม่เมืองหลวงคือ เช้ารับบิณฑบาต ฉันเช้าเสร็จแล้วสนทนาให้ธรรมะแก่ญาติโยม หลังจากนั้นก็เข้าที่ในความสงบในที่พัก ตอนบ่ายบางวันท่านก็เดินเที่ยวตามป่า ดูต้นไม้อันไหนเป็นยารักษาโรคได้ ท่านก็ให้เก็บเอา บ่าย 4 โมงเย็น ศิษย์พระเณรนำน้ำอุ่นไปถวายสรงน้ำหลวงปู่ ตอนหัวค่ำอบรมพระเณรและโยมที่ติดตามไปปฏิบัติธรรม

วันมาฆบูชา พ.ศ. 2529

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 เป็นวันมาฆบูชา ในขณะที่หลวงปู่พักวิเวกอยู่วัดป่าแม่เมืองหลวง ในตอนเช้าหลวงปู่พร้อมด้วยพระเณรรับบิณฑบาต โปรดชาวกะเหรี่ยงที่มารวมกันใส่บาตรในบริเวณวัด ตอนค่ำหลวงปู่นำทำพิธีกล่าวคำถวายบูชาดอกไม้ธูปเทียนเนื่องในวันมาฆบูชาและนำเวียนเทียน เสร็จแล้วนำทำวัตรสวดมนต์เย็น จบแล้วอบรมศีลธรรมแก่ญาติโยมที่มาร่วมทำพิธีมาฆบูชา ซึ่งมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่จากบ้านแม่เมืองหลวงและบ้านใต้ และที่อยู่ไกลคือบ้านขุนห้วยเดื่อ ซึ่งอยู่ห่างจากวัดแม่เมืองหลวงขึ้นเขาลงเขาไป 6 กิโลเมตร

กะเหรี่ยงตัดผี

หลังจากวันมาฆบูชาไม่กี่วัน ได้มีโยมกะเหรี่ยงบ้านขุนห้วยเดื่อมานิมนต์หลวงปู่ไปตัดผีให้ หลวงปู่ไม่สามารถจะเดินถึงบ้านขุนห้วยเดื่อได้เพราะขาท่านไม่ดี หลวงปู่จึงให้ผู้เขียนและพระอีก 2 รูป ไปทำพิธีตัดผีให้โยมกะเหรี่ยงบ้านขุนห้วยเดื่อ เดินจากวัดป่าแม่เมืองหลวง ขึ้นเขาลงห้วย และไปตามลำธารและนาของพวกกะเหรี่ยง ซึ่งทำนาตามที่ราบในหุบเขา เดินไปตามทางพวกกะเหรี่ยงเดินไปมาหากินระหว่างหมู่บ้าน

บางแห่งก็มีกองอิฐพังกระจัดกระจาย ดูแล้วเป็นสถูปเจดีย์สมัยโบราณ เดินไปประมาณชั่วโมงครึ่งถึงลำธารมีน้ำใสเย็นดี ข้ามลำธารไปมองเห็นหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงอยู่เชิงเขา ปลูกบ้านอยู่ที่สูงบ้างต่ำบ้างลดหลั่นกันไป บ้านหลังเล็กๆ พอเดินไปถึงหมู่บ้าน ทีแรกเห็นมีโรงยาวประมาณ 8 เมตร มุงด้วยใบตองตึงมีเสาธงชาติปักอยู่ ถามโยมกะเหรี่ยงที่พาเดินทางไป ได้ความว่าเป็นโรงเรียนบ้านขุนห้วยเดื่อ แต่ไม่มีนักเรียน เขาบอกว่าวันนี้นักเรียนไม่มาเรียน คือวันไหนนักเรียนมาครูก็สอน วันไหนนักเรียนไม่มาครูก็ไม่สอน เพราะยังบังคับไม่ได้

เมื่อเดินไปถึงบ้านโยมที่ต้องการตัดผี เขาก็นิมนต์ให้ขึ้นบนบ้าน บ้านพวกกะเหรี่ยงหลักเล็ก เสาไม้ก่อ หลังคามุงด้วยใบตองตึง แอ้มด้วยฝาฟากไม้ไผ่ บางหลังก็แอ้มด้วยฝาใบตองตึง ปูด้วยฟากไม้ไผ่ เมื่อนั่งเรียบร้อยแล้ว เจ้าของบ้านก็นำน้ำร้อนต้มรากไม้ และกระบอกเกลือหมากเม็ดพร้อมถ้วยสำหรับกินน้ำร้อนเข้ามาถวาย รับประเคนด้วยความเอื้อเฟื้อแล้ววางไว้

แล้วผู้เขียนก็ถามไถ่กับเจ้าของบ้านว่า “ทำไมจึงอยากตัดผี” เขาบอกว่า “ถือผีอยู่กับผีลำบากยุ่งยากหลายอย่าง คีไฟ (ที่ก่อไฟ) ก็เอาไว้กลางเรือน ทำให้ดำสกปรกไปหมด ทำอะไรก็คอยแต่จะผิดผี อย่างลูกสาวแต่งงานกับสามีออกเรือนไปแล้ว พอพ่อแม่เหลืออยู่บ้านคนเดียว จะกลับเข้ามาอยู่ด้วยก็ไม่ได้ ผิดผี ผีของชาวกะเหรี่ยงมีมาก มีอยู่ที่บันไดขึ้นบ้าน อยู่ที่ตุ่มน้ำกิน อยู่ที่เล้าหมูเล้าไก่ อยู่ที่หม้อต้มแกง อยู่ที่ประตูเรือน อยู่ที่คีไฟกลางเรือน ลำบากกับการเลี้ยงบวงสรวงผี และปฏิบัติตามกฎของผี ฉะนั้นเขาจึงอยากตัดผีทิ้งไป”

เมื่อได้ฟังอย่างนั้นผู้เขียนจึงกล่าวนำให้เจ้าของบ้านไหว้พระ แล้วประกาศตนถึงพระรัตนตรัยและสมาทานศีลห้า เสร็จแล้วสวดมนต์ทำน้ำพระพุทธมนต์พรมให้ทั้งบ้านทั้งคน แล้วก็ถอนก้อนเส้าที่อยู่คีไฟกลางเรือนสำหรับหุงข้าวต้มแกงออก เพื่อให้ทำเรือนไฟต่างหาก เสร็จแล้วก็สอนเขาให้สวดมนต์ไหว้พระและเจริญเมตตาภาวนา ระลึกถึงพุทโธ ธัมโม สังโฆ เป็นอารมณ์ประจำใจ ให้เคารพพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ตามแบบที่หลวงปู่เคยสอนมา เสร็จบ้านหนึ่งก็ไปอีกบ้านหนึ่ง ในวันนั้นมี 5 หลังคาเรือนที่ให้ทำพิธีตัดผีให้

ซาบซึ้งในน้ำใจของยายแก่

มีบ้านหลังหนึ่ง เจ้าของบ้านเป็นยายแก่ตัวดำขะมุกขะมอม อาศัยใต้ยุ้งข้าวเล็กๆ ต่อเพิงหลังคาใบตองตึงรอบยุ้งข้าว ยายอาศัยอยู่คนเดียว ยายมีลูกสาวคนหนึ่ง แต่งงานแล้วมีลูกออกเรือนอยู่กับสามี ต่อมาสามีหย่าทิ้งให้อยู่กับลูกชายเล็กๆ คนหนึ่ง ลูกสาวนั้นจะกลับมาอยู่กับยายก็ไม่ได้ ถ้ากลับมาก็ผิดผี ยายจึงต้องการตัดผีเพื่อจะให้ลูกสาวกลับมาอยู่ด้วย

เมื่อผู้เขียนพร้อมพระอีก 2 รูป และพ่อโป๊กวา ซึ่งเป็นโยมผู้ชายชาวกะเหรี่ยงที่ติดตามไปด้วย ไปถึงบ้านยายแก่ มันเป็นใต้ถุนยุ้งข้าว หมอบเข้าไปนั่งพื้นยุ้งข้าวพอพ้นศีรษะ ในเรือนดำไปด้วยเขม่าเพราะคีไฟ (ที่ก่อไฟหุงต้ม) อยู่กลางเรือน จีวรมอมแมมไปด้วยเขม่าไฟ ทำพิธีตัดผีด้วยการนำยายไหว้พระ สมาทานศีลห้า แล้วสวดมนต์พรมน้ำมนต์ให้ สอนให้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า คือ เว้นจากการทำบาป ตั้งอยู่ในการทำความดี มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่ง

เสร็จแล้วยายได้นำน้ำอ้อยก้อนหนึ่งขนาดเท่าสองนิ้วมือเข้ามาถวาย เพราะปัจจัยไทยทานอย่างอื่นของยายไม่มี ยายมีอยู่เพียงน้ำอ้อยก้อนเดียวเท่านั้น ในขณะนั้นทำให้ผู้เขียนเกิดความซาบซึ้งในน้ำใจเสียสละของยายหาสิ่งจะเปรียบมิได้ และได้รับให้ยายด้วยความตื้นตันใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อได้สงเคราะห์ชาวกะเหรี่ยงบ้านขุนห้วยเดื่อทั้ง 5 หลังคาเรือนให้ตั้งอยู่ในพระรัตนตรัยแล้ว จึงเดินทางกลับวัดป่าแม่เมืองหลวง ถึงวัดเป็นเวลาเย็นมาก จึงได้กราบเรียนให้หลวงปู่ทราบด้วยความเอิบอิ่มใจ

กลับจากวัดป่าแม่เมืองหลวง

หลวงปู่พาพักวิเวกอยู่ที่วัดป่าแม่เมืองหลวง จนถึงวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2529 จึงเดินทางกลับ เช้าวันที่ 5 หลังจากฉันบิณฑบาตเช้าแล้วรถเข้าไปรับ อำลาญาติโยมชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่เมืองหลวงแล้ว หลวงปู่และผู้ติดตามลาพระเณรในวัด กล่าวมอบเสนาสนะแล้วขึ้นรถกลับ พอมาถึงหลังเขาลูกศิษย์ขอถ่ายรูปหลวงปู่เป็นอนุสรณ์ ออกมาถึงบ้านป่าแป๋ แม่บัวผายนิมนต์ให้หลวงปู่แวะฉันน้ำที่ร้านบ้านป่าแป๋ด้วย ต่อจากนั้นจึงเดินทางเข้าเชียงใหม่

ขึ้นดอยสุเทพ

เมื่อมาถึงเชียงใหม่ โยมพ่อวิจิตร ได้พาหลวงปู่ขึ้นไปไหว้พระธาตุดอยสุเทพ รถนำหลวงปู่และคณะศิษยานุศิษย์ผู้ติดตามวิ่งตามถนนคดเคี้ยวขึ้นสู่ยอดดอยสุเทพ ถึงลานจอดรถ หลวงปู่และคณะศิษยานุศิษย์ผู้ติดตามลงจากรถ แล้วท่านพยายามเดินขึ้นไปสู่พระธาตุดอยสุเทพด้วยตัวท่านเอง คณะศิษยานุศิษย์เป็นห่วงหลวงปู่เพราะขาของท่านไม่ดี หลวงปู่นำพาคณะศิษยานุศิษย์ผู้ติดตามกราบนมัสการพระธาตุและพระประธานในพระวิหาร เสร็จแล้วเดินทางกลับเข้าเชียงใหม่ แวะพักที่บ้านโยมพ่อวิจิตร เวลา 20.00 น. โยมพ่อวิจิตรและแม่บัวผาย ไปส่งหลวงปู่และคณะศิษยานุศิษย์ผู้ติดตามที่สนามบินเชียงใหม่ เมื่อได้เวลาเครื่องบินพาทะยานขึ้นสู่อากาศ เดินทางถึงกรุงเทพฯ เวลา 22.00 น. หลวงปู่พักที่กรุงเทพฯ ไม่กี่วันก็เดินทางกลับวัดป่าสันติกาวาส จังหวัดอุดรธานี
89#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-10 22:07 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร


๏ พ.ศ. 2529 พรรษาที่ 51
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 51

หลังจากออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ได้เดินทางลงกรุงเทพฯ เพื่อตรวจนัยน์ตาข้างขวาที่เป็นต้อกระจก หลวงปู่ได้ไปกราบนมัสการเยี่ยม หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร ที่โรงพยาบาลภูมิพลด้วย ในขณะที่หลวงปู่และผู้เขียนเข้าไปในห้องที่หลวงปู่หลุยท่านพักอยู่ พระที่อุปัฏฐากหลวงปู่หลุยไม่รู้จักหลวงปู่ พากันออกไปอยู่ระเบียงนอกห้อง เหลือแต่ท่านอาจารย์สม วัดถ้ำใหญ่พรหมวิหาร ท่านรู้จักหลวงปู่และนั่งอยู่ในห้องกับหลวงปู่หลุย หลวงปู่และผู้เขียน กราบนมัสการท่านหลวงปู่หลุยด้วยความเคารพแล้ว

หลวงปู่หลุยจึงถามหลวงปู่ว่า “ได้กี่พรรษาแล้ว” หลวงปู่กราบเรียนหลวงปู่หลุยว่า “51 พรรษา เกล้ากระผม” หลวงปู่หลุยจึงพูดว่า “แม้ ! พระมหาเถระ” แล้วท่านจึงเรียนพระอุปัฏฐากที่อยู่ระเบียงข้างนอก ให้เข้ามากราบหลวงปู่ว่า “อ้าว มากราบพระมหาเถระ นี้พระมหาเถระ” พระอุปัฏฐากจึงได้เข้ามากราบหลวงปู่ เมื่อหลวงปู่เยี่ยมสนทนากับท่านหลวงปู่หลุยพอสมควรแล้ว จึงได้กราบลาหลวงปู่หลุยกลับที่พักในกรุงเทพฯ หลวงปู่พักที่กรุงเทพฯ ไม่กี่วันก็เดินทางกลับวัดป่าสันติกาวาส จังหวัดอุดรธานี

ไปร่วมงานถวายเพลิงศพพระอาจารย์บุญยัง ผลญาโณ

พระอาจารย์บุญยัง ผลญาโณ ท่านเคยไปมาหาสู่กับหลวงปู่อยู่บ่อยๆ และหลวงปู่นินซึ่งเป็นหลวงพ่อของท่านอาจารย์บุญยัง ก็เคยมาอยู่จำพรรษากับหลวงปู่ในคราวที่สร้างวัดป่าสันติกาวาสใหม่ๆ และเมื่อท่านพระอาจารย์บุญยังมาสร้างวัดป่าภูวังงาม บ้านคำเลาะ ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านไชยวานเพียง 15 กิโลเมตร ท่านก็ยังไปมาหาสู่หลวงปู่มิได้ขาด ต่อมาพระอาจารย์บุญยังท่านกลับไปโปรดญาติพี่น้องทางจังหวัดศรีสะเกษ และได้สร้าง “วัดป่าบ้านบาก” ขึ้นที่บ้านบาก ตำบลหนองอึ่ง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ

ครั้นต่อมาท่านพระอาจารย์บุญยังได้มรณภาพลง เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2529 คณะศิษยานุศิษย์ได้ตั้งศพของท่านบำเพ็ญกุศล จนถึงวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2530 จึงได้ทำพิธีถวายเพลิงศพของท่าน ในงานครั้งนี้หลวงปู่ได้เดินทางไปร่วมจนเสร็จงานจึงได้กลับวัด ในการเดินทางไปร่วมงานถวายเพลิงศพพระอาจารย์บุญยังในครั้งนี้ ได้ผ่านไปทางบ้านเกิดของหลวงปู่ คือ บ้านคำพระ อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด ท่านจึงแวะเยี่ยมลูกหลานที่บ้านเกิดด้วย เป็นเวลาถึง 40 ปีที่ท่านไม่เคยกลับไปเลย นับแต่มาอยู่วัดป่าสันติกาวาส


หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล และพระครูวิมลญาณวิจิตร (หลวงปู่บุญ ชินวํโส)
บันทึกภาพร่วมกันในพิธีฌาปนกิจศพ ท่านพระอาจารย์บุญยัง ผลญาโณ
ณ วัดป่าบ้านบาก ต.หนองอึ่ง อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ

90#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-10 22:08 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ พ.ศ. 2530-2531 พรรษาที่ 52-53
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


ในปี พ.ศ. 2531 พรรษาที่ 53 นี้ หลวงปู่มีอายุครบ 6 รอบ คือ 72 ปีเต็ม ในวันที่ 15 กันยายน คณะศิษยานุศิษย์จึงขออนุญาตท่านบำเพ็ญกุศลเป็นพิเศษ ซึ่งหลวงปู่ท่านก็อนุญาต คณะศิษยานุศิษย์จึงได้กราบอาราธนานิมนต์พ่อแม่ครูบาอาจารย์จากวัดต่างๆ มาเจริญพระพุทธมนต์ในตอนเย็น แล้วแสดงพระธรรมเทศนาอบรมจิตตภาวนาแก่คณะศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่ ซึ่งมารวมกันจากที่ต่างๆ ทั้งใกล้และไกล ตอนเช้า คณะศรัทธาญาติโยมจากที่ต่างๆ มารวมกันตักบาตรพ่อแม่ครูบาอาจารย์ในบริเวณวัด ถวายอาหารบิณฑบาตแด่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ และพระภิกษุสามเณร เสร็จแล้วพระสงฆ์อนุโมทนา ก็เป็นเสร็จพิธีในการทำบุญครบรอบ 72 ปีของหลวงปู่

อาพาธครั้งที่ 7 ผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์นัยน์ตาข้างขวา

เมื่อออกพรรษาแล้ว เดือนธันวาคม พ.ศ. 2531 หลวงปู่ลงกรุงเทพฯ เพื่อให้หมอตรวจตาข้างขวาที่เป็นต้อกระจกอยู่ เมื่อหมอตรวจพบว่าต้อได้แก่เต็มที่แล้ว จึงได้ผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์นัยน์ตาข้างขวาของหลวงปู่ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2531 ที่ไทยจักษุคลินิก โดย น.พ.สวัสดิ์ โพธิกำจร เป็นผู้ผ่าตัดและดูแลรักษาจนหายเป็นปกติ มีคุณนิดา ชิตานนท์ และหมู่เพื่อนที่กรุงเทพฯ เป็นผู้ถวายค่ารักษา และอุปัฏฐากหลวงปู่ด้วยความเคารพมาโดยตลอด หลวงปู่พักรักษาตาที่กรุงเทพฯ จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532 จึงได้เดินทางกลับวัดป่าสันติกาวาส

วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2532 หลวงปู่ได้เมตตาเป็นองค์ประธานวางศิลาฤกษ์สร้างอุโบสถวัดป่าโนนม่วง บ้านโนนม่วงโคกใหญ่ อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี


๏ พ.ศ. 2532 พรรษาที่ 54
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
อาพาธครั้งที่ 8 พ.ศ. 2532


เมื่อเข้าพรรษาแล้วไม่นาน ปลายเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม หลวงปู่มีอาการปวดชายโครงข้างขวามาก ฉันอาหารได้น้อยได้เพียง 5 คำ ฉันแล้วอาเจียน เสียแน่นท้อง อ่อนเพลีย เบื่ออาหารมาก พร้อมกับมีตุ่มน้ำใสขึ้นทั้งตัว ทั้งศีรษะ หน้า เพดานปาก มือและขา ต่อมามีไข้ คณะแพทย์และศิษยานุศิษย์จึงได้กราบนิมนต์อ้อนวอนให้หลวงปู่ ไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น

หลวงปู่รับนิมนต์และสัตตาหกิจ ไปรักษาตามคำอ้อนวอนของลูกศิษย์ เป็นผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ เมื่อตรวจรักษาเสร็จแล้วจึงกลับไปพักที่วัดป่ามหาวิทยาลัย (ซึ่งเป็นวัดสาขาของ หลวงปู่ศรี มหาวีโร) อาการอาพาธในครั้งนี้ได้ทำการตรวจอัลตราซาวด์และเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของตับ พบลักษณะก้อนที่ตับข้างขวาขนาด 2.5 เซนติเมตร แต่ไม่ได้ทำอะไรมาก อาการอาพาธของหลวงปู่ในครั้งนี้ค่อนข้างหนัก

หลวงปู่พักอยู่วัดป่ามหาวิทยาลัย 1 คืน แล้วก็เดินทางกลับวัดป่าสันติกาวาส คณะแพทย์ได้ถวายยารักษา คณะศิษย์ได้จัดดอกไม้ธูปเทียนกราบอาธาธนาให้หลวงปู่อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของลูกศิษย์ลูกหาไปก่อน อย่าเพิ่งรีบละสังขาร ต่อมาหลวงปู่มีอาการดีขึ้น ลูกศิษย์ลูกหาต่างพากันมีใจแช่มชื่นเบิกบาน

ไปร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพ
พระครูวิมลญาณวิจิตร (หลวงปู่บุญ ชินวํโส)


เดือนมีนาคม พ.ศ. 2533 ได้มีพิธีพระราชทานเพลิงศพ พระครูวิมลญาณวิจิตร (หลวงปู่บุญ ชินวํโส) ที่วัดป่าศรีสว่าง ตำบลสว่างแดนดิน อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร หลวงปู่ได้พยายามไปร่วมในงานนี้ด้วย ถึงแม้สุขภาพของท่านไม่ค่อยแข็งแรง เพราะท่านถือว่าหลวงปู่บุญ ชินวํโส ก็เป็นครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบองค์หนึ่ง และท่านได้ไปมาหาสู่กันมิได้ขาด


๏ พ.ศ. 2533 พรรษาที่ 55
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


ในพรรษานี้สุขภาพของหลวงปู่ได้อ่อนแรงลงไปมาก แต่ท่านก็เมตตาต้อนรับลูกศิษย์ลูกหาที่มาจากที่ต่างๆ และขอความเมตตาในเรื่องต่างๆ แล้วแต่ใครจะมีปัญหาอะไรมา ในที่สุดท่านก็จะเตือนให้ประพฤติธรรม เป็นผู้มีกาย วาจา ใจ อยู่ในขอบเขตแห่งศีลธรรม แล้วธรรมก็จะรักษาผู้ประพฤติธรรมไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว มีอบายภูมิเป็นต้น ในวันพระ 8 ค่ำ 14-15 ค่ำ ท่านก็ยังเมตตาลงนำไหว้พระสวดมนต์ และอบรมจิตภาวนาอยู่มิได้ขาด

เป็นประธานในงานผูกพัทธสีมาอุโบสถวัดป่าโนนม่วง

วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2534 ได้มีพิธีผูกพัทธสีมาตัดลูกนิมิตอุโบสถวัดป่าโนนม่วง บ้านโนนม่วงโคกใหญ่ อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี ถึงแม้หลวงปู่ท่านจะไม่แข็งแรง เพราะสังขารร่วงโรยและอาพาธเบียดเบียน ท่านก็ยังเมตตาไปเป็นประธานในครั้งนี้ จนสำเร็จลุล่วงไป และท่านยังได้เมตตาอนุญาตให้ทำเหรียญรูปของท่านรุ่น 2 ให้แจกในงานนี้ด้วย จำนวน 10,000 เหรียญ นับว่าเป็นความเมตตาต่อศิษยานุศิษย์ของท่านเป็นอย่างยิ่ง


๏ พ.ศ. 2534 พรรษาที่ 56
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 56


ในพรรษานี้หลวงปู่ยังคงเมตตาต้อนรับลูกศิษย์ลูกหาซึ่งมาจากที่ต่างๆ ซึ่งใกล้และไกล นับวันเพิ่มมากขึ้น บางวันทั้งตอนเช้า กลางวัน และตอนเย็น หลวงปู่ท่านให้ทั้งวัตถุธรรม ให้ทั้งธรรมะ บางคนมาหาท่านแล้วบอกว่าไม่สบายมีอาการอย่างโน้นอย่างนี้ ถ้ายาที่ท่านมี ท่านก็ให้ไป ถ้าไม่มีท่านก็บอกให้เอาต้นไม้ชนิดนั้นชนิดนี้มาต้มกิน ฝนกิน เพราะหลวงปู่ท่านชำนาญทางสมุนไพร บางคนก็บอกว่ากินไม่ได้นอนไม่หลับ อยากได้น้ำมนต์ อยากได้ด้ายผูกข้อมือ ท่านก็ทำให้

บางวันท่านนั่งทำน้ำมนต์ทำฝ้ายผูกข้อมือ ตั้งแต่ฉันเช้าเสร็จจนถึงบ่ายโมง ผู้เขียนเคยกราบเรียนท่านว่า “หลวงปู่ บางวันฝ้ายผูกข้อมือมันมาก หลวงปู่จับทำทีละเส้นมันไม่เสร็จเร็ว หลวงปู่จับรวมกันเป่าแล้วก็เอาให้ไปเลย จะได้เสร็จเร็วๆ” หลวงปู่ท่านตอบว่า “ถ้าทำไม่ดีแล้วจะทำไปทำไม ถ้าทำก็ต้องทำให้ดี” แล้วหลวงปู่ก็ทำต่อไปอย่างเยือกเย็น คนที่อยากได้ก็นั่งคอยรับอย่างเยือกเย็น ใครรีบร้อนไม่มีหวังได้จากหลวงปู่ บางทีเมื่อท่านให้สิ่งที่เป็นวัตถุแล้วท่านก็สอนธรรมะต่อ “ดีชั่วก็ตัวเรา จงทำเอาอยู่ที่ใจ”
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้