คติความเชื่อเรื่อง “พญานาคกับศาสนา” ปรากฏทั้งในศาสนาพราหมณ์และพุทธศาสนา สำหรับศาสนาพราหมณ์ “นาค” มีความสำคัญหลายประการ ตัวอย่างเช่น เป็นบัลลังก์ขององค์พระวิษณุในไวกูณฑ์ ที่เรียกว่า “วิษณุอนันตศายินปัทมะนาภะ” หรือ “นารายณ์บรรทมสินธุ์” หรือใน “ครุฑปุราณะ” เรื่องพญานาควาสุกรีที่พันรอบเขา มิลินทระในคราวกวนเกษียรสมุทรเพื่อทำน้ำอมฤต การเป็นเทพพาหนะของพระวรุณ หรือพระพิรุณ ซึ่งทำหน้าที่ให้ฝน การเป็นสัตว์สำคัญที่เฝ้ามหานทีสีทันดรล้อมรอบเขาพระสุเมรุ ตลอดจนการกล่าวถึงนาคในปุราณะต่างๆ นอกจากเรื่องราวของ “นาค” ยังสัมพันธ์กับพงศาวดารเขมร ซึ่งกล่าวถึงนาคว่าเป็นต้นบรรพบุรุษของขอมโบราณ และมักมาปรากฏช่วยสร้างเมืองอยู่เสมอ จนเมื่อชาวขอมจะสร้างศาสนาสถานต่างๆ ก็มักจะจำลองรูปพญานาคไว้ บ้างก็ถือว่านาคเป็นตัวแทนของสะพานสายรุ้งที่เชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์ด้วย ส่วนพุทธศาสนา เป็นที่ทราบกันว่ามีความนิยมสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรก อันเกี่ยวเนื่องกับพญานาคที่ชื่อ “มุจลินท์” ซึ่งมาแผ่พังพานปกป้องพระพุทธองค์ และกลายเป็นพระประจำวันเสาร์ นอกเหนือไปจากเรื่องพญานาคเลื่อมใสในพุทธศาสนาถึงขนาดปลอมตนมาขอบวชจนเรียกว่า “บวชนาค” มาจนถึงปัจจุบันนี้ นอกจากนี้ หากพิจารณาอาคารสถาปัตยกรรมจะพบเห็นเค้าเงื่อนที่พญานาคทำหน้าที่ปกป้องดูแลพระศาสนาอย่างเอาจริงเอาจัง เช่น การทำช่อฟ้า รวยระกา ใบระกา และหางหงส์ เป็นรูปพญานาค หรือการทำคันทวยเป็นรูปนาค เรียกกันว่า “นาคทัณฑ์” ล้อมรอบอุโบสถ วิหารไว้
|