ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 5459
ตอบกลับ: 1
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

สิ่งที่เป็นปรปักษ์กับ 'ความยุติธรรม' จดหมายจากพ่อถึงลูก

[คัดลอกลิงก์]
สิ่งที่เป็นปรปักษ์กับ 'ความยุติธรรม' จดหมายจากพ่อถึงลูก

ถึง...ตุลย์....ลูกรัก
      
       ลูกปรารภกับพ่อว่า แม้จะทำตามสังคหวัตถุธรรม ธรรมอันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจของผู้อื่นแล้ว ลูกน้องก็ยังไม่มีความกลมเกลียวในการทำงานร่วมกัน บ่อยครั้งที่งานได้ผลไม่ตรงตามเป้าหมาย ถูกตำหนิจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องเสมอ เพื่อนๆก็บอกว่า ลูกมีอคติในการทำงาน ขาดความยุติธรรมในหน่วยงาน แต่ลูกคิดเสมอว่า ได้ทำงานอย่างยุติธรรมเสมอมา ให้คุณให้โทษแก่ผู้ร่วมงานไปตามความรับผิดชอบ เช่นนี้แล้วทำอย่างไรจึงจะทำให้เกิดความยุติธรรมอย่างแท้จริง
      
       เมื่อพูดถึงความยุติธรรม สิ่งที่เป็นปรปักษ์ก็คือ “อคติ” ความลำเอียง ซึ่งมีอยู่ประจำในอัธยาศัยของคนเรา หลายคนอาจแสดงออกมาโดยไม่รู้สึกตัว พ่อแม่มักจะบอกว่า รักลูกเสมอกันทุกคน แต่ลูกบางคนก็ยังมีความรู้สึกว่าพ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน ครูสอนหนังสือให้นักเรียนด้วยความเสมอภาคในด้านวิชาการ แต่ศิษย์บางคนมักบอกว่า ครูสอนนักเรียนที่นอบน้อมและขยันมากกว่า ส่วนหัวหน้างานอย่างลูกก็บอกว่า ให้การปกครองลูกน้องอย่างยุติธรรม แต่ลูกน้องบางคนก็บอกว่า หัวหน้ามักชอบใช้คนที่สั่งงานง่าย ไม่ฟังเหตุผลของคนที่ชอบแสดงความคิดเห็น
      
       นี่เป็นธรรมชาติในการอยู่ร่วมกันของคนเรา แม้จะมีสังคหวัตถุธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวในการอยู่ร่วมกันแล้ว ผู้เป็นใหญ่เช่นพ่อแม่ ครูอาจารย์ หรือหัวหน้างาน จักต้องสำรวจจิตใจของตนเองให้ปราศจากอคติอยู่เสมอ ความยุติธรรมในการปฏิบัติสังคหวัตถุธรรมก็จะบังเกิดขึ้น นำความยึดเหนี่ยวจิตใจซึ่งกันและกันให้เกิดขึ้นและคงอยู่เสมอไป



      
       พ่อจะบอกให้ว่า “อคติ” ความลำเอียง ที่เป็นทางนำให้เกิดความไม่ยุติธรรม มี ๔ ประการ ได้แก่


       ๑. ฉันทาคติ ความลำเอียงเพราะความรักใคร่ ธรรมชาติของคนเรามักจะรักใคร่ในสิ่งที่นำให้ความปรารถนาของตนเองสำเร็จ นี่จึงเป็นเหตุทำให้ใจของเขาไม่เป็นกลาง ก่อให้เกิดการปฏิบัติต่อทุกคนไม่เท่าเทียมกัน คนที่ร่วมสมาคมด้วยก็จะเกิดความรู้สึกว่า ไม่ยุติธรรมในการอยู่ร่วมกัน
      
       ดังเช่นพ่อแม่มักรักใคร่ลูกคนที่ว่านอนสอนง่าย บอกอะไรก็เชื่อฟัง เมื่อจะให้สิ่งใดๆ หรือแสดงออกถึงความรัก จึงมักให้สิ่งดีๆ หรือความอบอุ่นแก่ลูกคนโปรดด้วยความรักอยู่เสมอ ส่วนลูกคนที่ดื้อด้าน ก็จักได้รับแต่สิ่งที่ด้อยกว่า หรือคำตำหนิว่ากล่าว ทำให้เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ รู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความยุติธรรมจากพ่อแม่
      
       เมื่อมาพิจารณาในการทำงานอย่างที่ลูกกำลังประสบอยู่


ความลำเอียงเพราะความรักใคร่ ย่อมจะทำให้เกิดประเมินผลงานลูกน้องแบบตอบแทนความดี


คือ หัวหน้างานมักตอบแทนความดีที่ลูกน้องมีต่อตน โดยไม่ได้ประเมินตามความสามารถในการทำงาน เช่น ลูกน้องมีนิสัยดี ถูกใจตน แสดงความมีน้ำใจต่อเพื่อนร่วมงานทุกคน ยินดีช่วยเหลืองานเขา แม้ไม่ใช่หน้าที่โดยตรง แต่งานที่เป็นความรับผิดชอบของตนมักจะทำผิดพลาด ด้วยความไม่รอบคอบเป็นประจำ ไม่ค่อยมีสมาธิในการทำงาน
      
       แต่หัวหน้างานกลับประเมินแบบให้รางวัลความมีน้ำใจ ให้ทำงานในตำแหน่งที่ดีกว่าเดิม ได้เงินดีกว่าเดิม กลายเป็นการประเมินแบบตอบแทนความดี แต่ไม่ได้มาจากการประเมินตามเกณฑ์มาตรฐานการทำงาน นี่ก็คือความไม่ยุติธรรมในที่ทำงาน
      
       ๒. โทสาคติ ความลำเอียงเพราะความโกรธ ลูกย่อมรู้แล้วว่าเมื่อความโกรธเกิดขึ้นในจิตใจ ย่อมนำมาซึ่งความเคียดแค้น ความเกลียดชัง ความไม่ปรารถนาดีต่อผู้ที่ถูกโกรธ
      
       ดังนั้น เมื่อมีกิจกรรมให้ต้องเกี่ยวข้องกัน ความโกรธจะนำให้แสดงออกถึงความไม่พอใจ ความไม่อยากสมาคมด้วย คนที่ถูกโกรธก็ต้องคอยหลีกเลี่ยงไม่ให้ตนเองได้รับความเดือดร้อนจากอารมณ์โกรธของผู้นั้น เมื่ออยู่ร่วมกันในลักษณะเช่นนี้ งานที่ต้องทำร่วมกันก็ขาดประสิทธิภาพ นำให้เกิดความถดถอยในหน่วยงาน
      
       หัวหน้างานที่มีโทสาคติย่อมประเมินผลงานลูกน้องแบบล้างแค้นให้สะใจ ด้วยอาศัยเหตุผลต่างๆมาประกอบการตัดสินใจตนเอง เช่น เพราะลูกน้องคนนี้เป็นคนหยิ่ง เห็นแก่ตัว ชอบโต้แย้ง ไม่ฟังคำสั่ง ถือว่าตนเองมีการศึกษาดีกว่า เขาต้องรับโทษในสิ่งที่เขาทำกับฉัน เป็นต้น
      
       เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้งานที่ลูกน้องทำจะดีเพียงใด มีความรับผิดชอบงานดี มีความคิดสร้างสรรค์ หัวหน้าก็จะละเลยประเด็นเหล่านี้ไป หน่วยงานที่มีหัวหน้าเช่นนี้ ก็ย่อมไม่สามารถได้คนที่ดีมาร่วมงานได้เลย เพราะอำนาจของโทสาคตินี่เอง
      
       ๓. โมหาคติ ความลำเอียงเพราะความหลงผิด
ความไม่รู้ ความเขลา การมองโลกมองคนในแง่ร้าย อันเป็นส่วนนำให้เกิดการตัดสินใจโดยไม่พิจารณาให้รอบคอบ ไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ผลที่ติดตามมาก็คือความเสียหายในงาน ความขัดแย้งในหน่วยงาน
      
       หัวหน้างานที่มีโมหาคติย่อมประเมินผลงานลูกน้องแบบตามใจตนเอง ถือความคิดเห็นตนเองเป็นใหญ่ ลูกน้องที่ได้หัวหน้างานมีโมหาคติอยู่เป็นประจำ ย่อมเกิดความรู้สึกอยากย้ายหน่วยงาน ด้วยไม่เห็นหนทางแห่งความเจริญก้าวหน้าของตนเอง เห็นแต่หายนะอันเกิดจากโมหาคติของหัวหน้างาน ความล่มสลายของหน่วยงานจึงเกิดจากอำนาจของโมหาคตินี่เอง
      
      ๔. ภยาคติ ความลำเอียงเพราะความกลัว ความกลัวเป็นสภาพของคนที่ไม่มีความมั่นใจในตนเอง มักจะเป็นทุกข์ในความคิด ด้วยความคาดหวังถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ด้วยคิดว่าสิ่งนั้นจะนำภัยมาสู่ตนเอง ขาดความกล้าหาญในทางจริยธรรม ทำตนให้ตกอยู่ในอำนาจของบุคคลที่ตนคิดว่า เขาจะปกป้องตนเองให้พ้นจากภัยได้ ภยาคติจึงนำให้เกิดการไม่กล้าตัดสินใจในหน้าที่การงานของตน
      
       หัวหน้างานที่มีภยาคติย่อมประเมินผลงานของลูกน้องแบบเกรงใจ ไม่กล้าประเมินตามความเป็นจริง ทั้งๆที่รู้ว่า ลูกน้องทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ผิดพลาดบ่อย ด้วยเหตุกลัวว่า จะเสียความสัมพันธ์ระหว่างกัน เกรงว่าลูกน้องจะไม่พอใจ และจะยิ่งไม่ให้ความร่วมมือในการทำงาน จึงต้องประเมินให้ทั้งคนที่ทำงานดีและทำงานไม่ค่อยดีเท่าเทียมกัน
      
       หน่วยงานของหัวหน้างานที่มีภยาคติ จึงเป็นหน่วยงานที่ลูกน้องทำงานตามอำเภอใจของตนเองเป็นส่วนใหญ่ โดยไม่กังวลต่อหัวหน้างานเลย หน่วยงานเช่นนี้จึงไม่มีความก้าวหน้าในกิจการตลอดเวลา
      
       ลูกคงจะตระหนักได้ว่า เมื่ออคติเกิดขึ้นในใจของหัวหน้างานเมื่อใด เมื่อนั้นเขาจะขาดคุณสมบัติของการเป็นหัวหน้างานที่ดีไปทันที เพราะอคติจะเข้ามาบิดเบือนการใช้อำนาจในฐานะหัวหน้า บิดเบือนความยุติธรรมที่หัวหน้าควรจะมี และสะท้อนการทำหน้าที่หัวหน้าที่ล้มเหลว สิ่งที่ติดตามก็คือ เกิดความเสียหายทั้งองค์กรโดยส่วนรวม
      
       พ่อเคยได้ยินคำกล่าวหนึ่งที่มีไว้สำหรับบุคคลที่เป็นหัวหน้างาน หรือผู้บังคับบัญชาว่า

“ไม่มีสิ่งใดจะทำลายอำนาจของคุณได้เร็วกว่าความลำเอียง”
      
       เมื่อเรารู้แล้วว่า อคติเป็นตัวทำลายความยุติธรรมในการทำงาน ดังนั้น ความยุติธรรมจึงเป็นคุณลักษณะ “สำคัญ” และ “จำเป็น” ของหัวหน้างาน ที่จักต้องทำให้เกิดขึ้นในตนเอง
      
       คนที่ต้องการเป็น “หัวหน้างานที่ดี” แม้ว่าจะไม่สามารถกำจัดความรู้สึกส่วนตัว ชอบบางคน ไม่ชอบบางคน ออกไปได้ แต่ต้องตระหนักว่า จะไม่ให้สิ่งเหล่านี้มาทำให้เราเกิดอคติ โดยจำเป็นต้องรู้วิธี “เก็บกด ปิดกั้น” ควบคุมความรู้สึกตรงนี้ไว้ เพื่อให้สามารถบริหารงานของหน่วยงาน ประเมินผลทีมงานได้อย่างยุติธรรม และถูกต้องที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

      
       ในทัศนะของพ่อคิดว่า ความยุติธรรมน่าจะเกิดขึ้นได้เมื่อเราสามารถปฏิบัติตนได้ดังนี้


       ๑. มีความซื่อสัตย์สุจริต คือ ยึดมั่นในความสัตย์จริงและในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม มีความซื่อตรง และมีเจตนาที่บริสุทธิ์ ปฏิบัติต่อตนเองและผู้อื่นโดยชอบ ไม่คดโกง แสดงออกให้คนอื่นได้ทราบด้วยการพูดความจริง ทำตัวเป็นที่น่าเชื่อถือ ทำตามสัญญา ตรงไปตรงมา กล้าเปิดเผยความจริง รู้จักแยกแยะประโยชน์ส่วนตัวส่วนรวม
      
       ซึ่งคนที่ทำงานด้วยจักสัมผัสได้ถึงความเป็นคนซื่อสัตย์สุจริตจากการทำงาน เขาก็จะให้ความเคารพนับถือ เชื่อใจในการนำ เปิดใจกว้างในการทำงานด้วย ด้วยมุ่งหวังว่า จะทำให้งานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
      
       ๒. มีจิตสาธารณะ คือ มีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม มีความตระหนักรู้และคำนึงถึงสังคมส่วนรวม มีความรับผิดชอบต่อตัวเองในการกระทำใดๆ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อส่วนรวม และพร้อมที่จะเสียสละประโยชน์ส่วนตน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม สามารถแสดงออกด้วยความรับผิดชอบส่วนรวม มีการเอื้อเฟื้อ เมตตา มีน้ำใจ ไม่เห็นแก่ตัว ในการทำงานที่ดีต่อกัน
      
       ๓. มีความเป็นธรรมทางสังคม คือ ปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน และอย่างมีเหตุผล โดยไม่เลือกปฏิบัติต่อเพศ เชื้อชาติ ชนชั้น สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม นึกถึงใจเขาใจเรา ไม่เอาเปรียบผู้อื่น รับฟังผู้อื่น เคารพให้เกียรติผู้อื่น คำนึงถึงความยุติธรรมโดยตลอด คนที่ทำงานร่วมด้วยก็จะมีความรู้สึกอุ่นใจ นำให้เขาทำงานได้อย่างสบายใจ สนุกกับงานอย่างต่อเนื่อง
      
       ๔. มีการกระทำอย่างรับผิดชอบ คือ มีจิตสำนึกในบทบาทและหน้าที่ของตัวเองและปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด เคารพกฎเกณฑ์กติกา พร้อมให้ตรวจสอบการกระทำได้เสมอ หากมีการกระทำผิดก็พร้อมที่จะยอมรับและแก้ไขในสิ่งที่ผิด
      
       แสดงออกด้วยการทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด มีระเบียบวินัย เคารพกติกา รับผิดชอบในสิ่งที่ทำ กล้ายอมรับผิดและรับการลงโทษ รู้จักสำนึกผิดและขอโทษ แก้ไขในสิ่งผิด กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง
       
       ๕. มีความเป็นอยู่อย่างพอเพียง
คือ ดำเนินชีวิตโดยยึดหลักความพอประมาณ ซื่อตรง ไม่ละโมบโลภมาก รู้จักยับยั้งชั่งใจ และต้องไม่เอาเปรียบหรือเบียดเบียนทั้งตัวเองและผู้อื่น มีการแสดงออกด้วยการรู้จักความพอดี มีความอดทนอดกลั้น รู้จักบังคับตัวเอง ไม่กลัวความยากลำบาก ไม่ทำอะไรแบบสุดขั้วหรือสุดโต่ง มีสติและเหตุผล
      
       เมื่อลูกสามารถปฏิบัติตนได้ตามเกณฑ์ที่พ่ออธิบายมานี้ ลูกจะรู้ด้วยตนเองว่า ความยุติธรรมในตัวของลูกเป็นเช่นไร ผลของความยุติธรรมจะนำให้อคติหมดไปจากจิตใจของลูก
      
       เมื่อลูกซึ่งเป็นหัวหน้างาน เป็นผู้มีความยุติธรรมในการทำงาน ลูกน้องก็จักมีความอุ่นใจว่า ผลงานของเขาย่อมได้รับการประเมินอย่างถูกต้อง ได้รับความเป็นธรรมในการทำงาน ลูกน้องก็จักเกิดสามัคคีธรรมในการทำงาน เพื่อให้หน่วยงานได้บรรลุถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ สันติสุขในหน่วยงานก็จะทำให้ทุกคนสนุกกับงาน งานก็ได้รับประสิทธิผลสูงสุดอยู่เสมอ
      
       ท้ายนี้ พ่ออยากให้ลูกทำตนให้เป็นผู้มีความยุติธรรม ปราศจากอคติในจิตใจ แล้วสิ่งที่ลูกปรารภไว้เบื้องต้นก็จะหมดไป สังคหวัตถุธรรมก็จักสามารถดำเนินไปได้อย่างสวัสดี ให้ผลตรงตามธรรมเสมอ
      
       หวังว่าลูกจะสามารถปรับปรุงตนเองให้อยู่ในทำนองคลองธรรมแล้วลูกก็จะสัมผัสความสุขในธรรมที่ปรารถนาได้ตลอดเวลา
      
       ด้วยรัก
       พ่อโต

      
       (จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 154 ตุลาคม 2556 โดย พระครูพิศาลสรนาท(พจนารถ ปภาโส) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม.)



http://www.manager.co.th/dhamma/viewnews.aspx?NewsID=9560000123895
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2020-11-8 06:12 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้