มงคล ที่ ๑๘ ทำงานไม่มีโทษ โรงงานที่ดีมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่เพียงเพราะผลิตผลงานได้มากเท่านั้น แต่จะต้องผลิตผลงานที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ด้วย เช่นกัน คนเราจะเจริญก้าวหน้า ทำประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นได้ ไม่ใช่เพียงเพราะทำงานได้มากเท่านั้น แต่จะต้องเลือกทำเฉพาะงานที่ไม่มีโทษด้วย
งานไม่มีโทษ คือ อะไร ?
งานไม่มีโทษ หมายถึง งานที่ไม่มีเวรไม่มีภัย ไม่เบียดเบียนใคร แต่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและผู้อื่น ความสามารถในการทำงานของคนมีอยู่ ๒ ระดับ คือ ขั้นทำได้ กับ ขั้นทำดี
ทำได้ หมายถึง การทำงานสักแต่ให้เสร็จๆ ไป จะเกิดประโยชน์หรือ ไม่เพียงใด ไม่ได้คำนึงถึง ทำดี หมายถึง การเป็นผู้คิดให้รอบคอบถึงผลได้ผลเสียทุกแง่มุม แล้วจึงเลือกทำเฉพาะแต่ที่เป็นประโยชน์จริงๆ
สิ่งใดที่ไม่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นเพียงพอก็ไม่ทำสิ่งนั้น พูดสั้นๆ ก็คือ ถ้าทำต้องให้ดี ถ้า ไม่ดีต้องไม่ทำ
กล่าวอีกนัยหนึ่ง ทำได้ หมายถึง ทำสิ่งต่างๆ ได้ตามที่ตนอยากได้ อยากทำ เช่น ค้าขายหาผลประโยชน์เข้าตัวเป็น โดยไม่เลือกสิ่งของที่ค้าอาจขายสิ่งที่ไม่ควรขาย อย่างพวกเหล้า บุหรี่ ยาบ้า เป็นต้นก็ได้ หรืออยากได้ยศ อยากได้ตำแหน่ง ก็มุ่งมั่นช่วงชิงเอาให้ได้ ผิดถูกชั่วดีอย่างไรไม่ได้คำนึง การทำได้จึงเป็นเพียงคุณสมบัติขั้นต้นของคนทำงานเท่านั้น ถ้าจะให้ดีจริงแล้ว ต้องถึงขั้น ทำดี คนทำดีนั้นมีคุณสมบัติในตัวถึง ๒ อย่าง คือนอกจากจะ ทำได้ แล้วยังสามารถเลือก ไม่ทำก็ได้ ถ้าเห็นว่าทำแล้วจะไม่ดี อย่างนี้จึงจะเก่งแท้
อาจจะเปรียบได้ว่า คนทำงานขั้นทำได้ ก็เหมือนกับ เด็กทารกที่เพิ่ง รู้จักกิน ทำเป็นแต่เพียงหยิบอะไรใส่เข้าปากแล้วกลืนลงท้องไป กินขั้นนี้เรียกว่า กินได้ ยังไม่ใช่คนกินเป็น ยังไม่มีความดีวิเศษอะไรนัก ถ้าพี่เลี้ยงเผลออาจหยิบสิ่งที่เป็นพิษใส่เข้าปากแล้วกลืนลงท้อง ให้ผู้ใหญ่ต้องเดือดร้อนวิ่งหาหมอก็ได้ แต่คน กินเป็น จะต้องรู้จักเลือกของกิน เห็นว่าควรกินจึงกิน ถ้าไม่ควรกินก็ไม่กิน เช่นเดียวกัน นักทำงานที่เก่งแท้ต้องถึงขั้น ทำดี คือไม่ใช่สักแต่ว่าทำงานได้ แต่ต้องเห็นว่างานที่จะทำเป็นงานที่ดีควรทำจึงลงมือทำ
วิธีพิจารณางานว่ามีโทษหรือไม่
ในการพิจารณางานที่ทำว่าเป็นงานมีโทษหรือไม่ ต้องไม่ถือเอาคำติชม ของคนพาลมาเป็นอารมณ์ เพราะคนพาลนั้น
เป็นคนมีใจขุ่นมัวเป็นปกติ มีวินิจฉัยเสีย ความคิดความเห็นผิดเพี้ยนไปหมด สิ่งใดที่ถูกก็เห็นเป็นผิด ที่ผิดกลับเห็นเป็นถูก หรือเรื่องที่ดีคนพาลก็เห็นเป็นเรื่องที่ชั่ว แต่เรื่องที่ชั่วกลับเห็นเป็นเรื่องที่ดี ถือเป็นบรรทัดฐานไม่ได้
ส่วนบัณฑิตนั้น เป็นคนมีความคิดเห็นถูกต้อง รู้จักผิดชอบชั่วดี รู้จักบาปบุญคุณโทษ ทั้งเป็นคนมีศีลมีสัตย์ คนประเภทนี้ใจกับปากตรงกัน เราจึงควรรับฟังคำติชมของบัณฑิตด้วยความเคารพ
หลักที่บัณฑิตใช้พิจารณาว่างานมีโทษหรือไม่นั้น มีอยู่ ๔ ประการ ด้วยกัน แบ่งเป็นหลักทางโลก ๒ ประการ
และหลักทางธรรม ๒ ประการ
องค์ประกอบของงานไม่มีโทษ
งานไม่มีโทษจะต้องมีองค์ประกอบ ๔ ประการ ดังนี้
๑. ไม่ผิดกฎหมาย ๒. ไม่ผิดประเพณี ๓. ไม่ผิดศีล ๔. ไม่ผิดธรรม
๑. ไม่ผิดกฎหมาย กฎหมายเป็นระเบียบข้อบังคับซึ่งทุกคนต้องปฏิบัติตาม การทำผิดกฎหมายทุกอย่างจัดเป็นงานมีโทษทั้งสิ้น แม้บางอย่างจะไม่ผิดศีลธรรมข้อใดเลย เช่น การปลูกบ้านในเขตเทศบาล ต้องขออนุญาตตามเทศบัญญัติ ถ้าไม่ขอผิด การทำอย่างนี้ดูเผินๆ ทางธรรมเหมือนไม่ผิด เพราะ ปลูกในที่ของเราเอง และด้วยเงินทองของเรา แต่การกระทำดังกล่าวก็เป็นงานมีโทษคือมีตำหนิ และโปรดทราบด้วยว่า เมื่อใครทำงานมีโทษก็ย่อมผิดหลักธรรมอยู่นั่นเอง อย่างน้อยก็ผิดมงคล
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเป็นหนักหนา ทั้งพระทั้งชาวบ้าน ให้เคารพต่อกฎหมายบ้านเมืองโดยเคร่งครัด ไม่เคยปรากฏในที่ใดเลยว่าพระบรมศาสดาของเราสอนพุทธศาสนิกชนให้แข็งข้อต่อกฎหมาย แม้จะเอาการประพฤติธรรมหรือความเป็นพระเป็นสงฆ์ เป็นข้ออ้าง แล้วทำการดื้อแพ่ง ก็หาชอบด้วยพุทธประสงค์ไม่
ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาต้องการให้ศาสนิกชนเป็นคนรักสงบและให้เคารพในกฎหมาย ชาวพุทธต้องไม่ทำตัว “ดื้อแพ่ง” ต่อกฎหมายบ้านเมืองไม่ว่าในกรณีใดๆ
ถ้าเราพิจารณาในแง่มงคลแล้ว จะเห็นได้ชัดว่าการทำผิดกฎหมายนั้นเป็นอัปมงคลแน่ เพราะเป็นการสร้างความผิดคล้องคอตัวเอง
๒. ไม่ผิดประเพณี ประเพณีหมายถึง จารีต ขนบธรรมเนียมของมหาชนในถิ่นหนึ่งๆ หรือสังคมหนึ่ง ซึ่งแตกต่างกันมากบ้างน้อยบ้าง แต่เมื่อคนทั้งหลายเขาถือกันเป็นส่วนมากและนิยมว่าดี ก็กลายเป็นกฎของสังคม ใครทำผิดประเพณีถือว่าผิดต่อมหาชน เช่น ประเพณีแต่งงาน ประเพณีต้อนรับแขก ประเพณีรับประทานอาหาร ประเพณีทำความเคารพผู้ใหญ่ ฯลฯ ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ จึงต้องศึกษาให้ดี
|