ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 4642
ตอบกลับ: 14
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ อุบายวิธีดับไฟนรก ~

[คัดลอกลิงก์]
อุบายวิธีดับไฟนรก



โดย
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย  


          ขอให้ทุกท่านเตรียมนั่งสมาธิ  การนั่งสมาธิ นั่งให้สบาย จะนั่งลง เอาขาขวาทับขาซ้าย เอามือขวาวางทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง หรือจะนั่งพับเพียบหรือท่าใดก็ได้ที่ตนสบาย เมื่อนั่งแล้วให้ตรวจดู ให้หายใจยาว ๆ ดูว่าเรานั่งสบายแล้วหรือยัง เมื่อเรานั่งสบายแล้ว ก็กำหนดจิต กำหนดสติ ให้รู้ด้วยจิตของตัวเอง และพยายามนึกว่าขณะนี้เราตัวคนเดียวในโลก หนึ่งไม่มีสอง ให้กำหนดรวมที่จิตของตนเองเท่านั้น



           เมื่อมีความตั้งใจกำหนดจิตของเราเอง อาการกำหนดรู้ รู้ตัวนั้นเป็นพุทธะ ซึ่งออกมาจากคำว่า  พุทโธ ที่เราท่องบริกรรมภาวนาอยู่ เมื่อการกำหนดรู้จิตเฉย ๆ ยังไม่ชัดเจน ก็ให้นึกพุทโธ ๆ ไว้ในจิต นึกว่าขณะนี้มีแต่จิตของเรากับพุทโธ สองอย่างเท่านั้นอยู่ด้วยกัน แล้วก็ตั้งใจให้แน่วแน่ว่า เราจะลงนรกก็ขอไปกับพุทโธ ขึ้นสวรรค์ขอไปกับพุทโธ จะถึงนิพพานก็ขอไปกับพุทโธ ตั้งใจบริกรรมภาวนาพุทโธ ๆๆ อยู่อย่างนั้น เพียงแต่นึกพุทโธด้วยกิริยาเบา ๆ อย่าไปข่ม อย่าไปบังคับจิต แต่ประคองจิตให้นึกพุทโธ ๆ เพียงอย่างเดียวเท่านั้น



          แล้วก็ให้สังเกตดู ขณะที่เรานึกพุทโธอยู่นั้น ถ้ารู้สึกว่ากายของเราเบา จิตของเราเบา หายใจโล่งอกโล่งใจ สบายนั่นแสดงว่าสมาธิของเรากำลังจะเกิดแล้ว ตั้งใจบริกรรมภาวนาเรื่อยไป บางทีขณะที่บริกรรมภาวนาอยู่ กายเบา จิตเบา แล้วก็เกิดความสงบกาย กายสบาย หายเมื่อย หายมึนหายชา เป็นสุขสบายทุกอย่าง เมื่อเป็นเช่นนั้นจิตก็สงบ จดจ่ออยู่กับบริกรรมภาวนาตลอดไป แล้วก็มีอาการอิ่ม ๆ กระหยิ่มอยู่ในจิต จิตเริ่มมีความแจ่มใสเบิกบานแล้วก็ดำเนินเข้าไปสู่ความสงบทีละน้อย ๆ
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-8 11:44 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เมื่อจิตสัมผัสกับปีติ ซึ่งเป็นอาการที่จิตดื่มรสพระสัทธรรม บางทีอาจทำให้จิตของเรามีความลิงโลดเบิกบาน แจ่มใส ทำกายให้สั่น ขนหัวลุกขนหัวพอง บางท่านรู้สึกว่ากายโยกโคลง บางทีตัวสั่น มีความรู้สึกเหมือนลอยอยู่บนอากาศ จิตเริ่มมีความสว่าง ความสว่างค่อยแผ่ซ่านไปทั่วกายหรือครอบคลุมกายอยู่ นั่นแสดงว่าการภาวนาของเรากำลังจะได้ผล จิตของเราจะยังบริกรรมภาวนา  ยังไม่หยุด  สติรู้พร้อมอยู่ในขณะจิตที่บริกรรมภาวนาแล้วเกิดปีติดังที่กล่าวแล้ว


  
         เมื่อจิตมีปีติ ความสุขอันเป็นผลพลอยได้ย่อมบังเกิดขึ้นในอันดับต่อมา แล้วจิตจดจ้องอยู่กับบริกรรมภาวนา ในที่สุดบริกรรมภาวนาจะค่อยจางหายไป ๆ ลมหายใจปรากฏขึ้นมา จิตยึดเอาลมหายใจเป็นอารมณ์ เป็นสิ่งรู้ของจิต เป็นสิ่งระลึกของสติ แม้บริกรรมภาวนาคือพุทโธหายไป ก็ไม่ต้องไปนึกพุทโธอีก ให้กำหนดรู้ลมหายใจ บางครั้งลมหายใจอาจแสดงอาการหายใจแรง มีอาการคล้ายๆ กับหอบ ก็ให้กำหนดรู้เฉยอยู่ บางครั้งลมหายใจค่อยแผ่วลงๆ มองเห็นความสว่างแห่งลมหายใจที่วิ่งออกวิ่งเข้าเป็นลำยาว ก็ให้กำหนดรู้อยู่เฉย ๆ อย่าไปเอะใจ อย่าไปตื่นตกใจ อะไรมันจะเกิดขึ้นก็ให้ดูอยู่เฉย ๆ


          ช่วงที่สำคัญที่สุดก็คือ ลมหายใจแผ่วๆ จนรู้สึกว่าไม่หายใจ ก็ให้กำหนดรู้เฉยอยู่ เพราะเป็นอาการของจิตที่สงบ ละเอียดลงไปเรื่อย กายก็ละเอียด ลมหายใจก็ละเอียด จนกระทั่งลมหายใจหายวับไป กายก็หายไปด้วย จิตไปนิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน พุทธะ ผู้รู้ พุทธะ ผู้ตื่น พุทธะ ผู้เบิกบาน บังเกิดขึ้นในจิตของผู้ภาวนา อันนี้เป็นจุดเริ่มของสมาธิในขั้นต้นเรียกว่า ปฐมสมาธิ ถ้าว่าโดยจิตก็เป็นปฐมจิต ว่าโดยวิญญาณเป็นปฐมวิญญาณเพราะรู้อยู่เฉย ๆ ถ้าว่าโดย ฌานเป็นอัปปนาฌาน ว่าโดยจิตเป็นอัปปนาจิต นี่คือจิตแท้จริงดั้งเดิมของเรา
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-8 11:44 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
การที่โบราณาจารย์สอนให้เราภาวนาให้จิตสงบลงเป็นสมาธิ เป็นหนึ่ง หรือเข้าไปสู่อัปปนาสมาธิ อัปปนาฌาน เพื่อให้ผู้ภาวนาทั้งหลายได้รู้ว่าจิตแท้จิตดั้งเดิมของเราเป็นอย่างไร นี่เป็นจุดมุ่งหมายของการฝึกสมาธิในเบื้องต้น          ทุกคนจะทำได้เช่นนั้นเชียวหรือ?          ทำได้ทุกคน ถ้าทำจริง!           วิธีทำจริงก็คือ ให้ตั้งใจแน่วแน่ต่อบริกรรมภาวนาที่เรายึดเป็นอารมณ์จิต อย่าไปทำความลังเลสงสัยใด ๆ ทั้งสิ้น และอย่ากลัวว่าจิตจะไปติดสมถะ ติดความสงบ  ไม่ต้องกลัว เวลานี้เรามาหัดภาวนาเพื่อให้จิตมีสิ่งที่ติดให้เหนียวแน่น เมื่อจิตของเราไปติดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเหนียวแน่น แน่วแน่ เราก็ไม่ไปกังวลกับสิ่งอื่น ไม่ไปยึดในสิ่งอื่น มายึดอยู่ในสิ่ง ๆ เดียว คือยึดอยู่ที่ตัวผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ยึดรู้อยู่ที่ตนของตนเอง ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานก็คือจิตของเรา จิตของเราเป็นพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตของเรามีตนเป็นเกาะคือเป็นที่พักพิง จิตของเรามีตนเป็นตัวของตนเอง ไม่เกาะเกี่ยวยึดกับสิ่งใด ๆ ให้จิตสงบแน่วแน่อย่างนี้บ่อย ๆ ฝึกจนคล่องตัว จนชำนิชำนาญ ฝึกให้มาก อบรมให้มาก ถ้ายิ่งเราชำนาญในการเข้าสมาธิ การออกสมาธิ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าชำนาญในการเข้าฌาน ชำนาญในการออกจากฌาน การปฏิบัติอันใดซึ่งเป็นไปคล่องตัวชำนิชำนาญ ท่านเรียกว่า วสี ชำนาญในการกำหนดรู้อารมณ์จิต ชำนาญในการตามรู้อารมณ์จิต ชำนาญในการเข้าสมาธิ ชำนาญในการออกสมาธิ ชำนาญในการยับยั้งสมาธิให้อยู่ในขั้นนั้น ๆ ตามที่ต้องการ อันนี้เรียกว่าความชำนาญหรือความคล่องตัว เราจะเกิดความชำนาญและความคล่องตัวได้ก็เพราะเราหมั่น เราขยัน ภาวิตา อบรมให้มาก พหุลีกตา กระทำให้คล่องแคล่ว ให้ชำนิชำนาญ  พอทำได้บ้างนิด ๆ หน่อย ๆ ยังไม่คล่อง ยังไม่ชำนิชำนาญ ก็พอไปล่ะ เราเอาแค่นี้พอแล้ว อะไรทำนองนี้



          ทีนี้ข้อสังเกตในการนั่งสมาธิ ในการภาวนานี่ ในบางครั้งระหว่างหัวเลี้ยวหัวต่อที่จิตจะเข้าสู่สมาธิ ทุกขเวทนาต่าง ๆ บังเกิดขึ้น มันปวดแข้งปวดขา มันปวดหลัง ปวดเอว ศีรษะมึนงง ต้นคอหนักหน่วง นั่น ขันธมาร มันกำลังบังเกิดขึ้น เมื่อขันธมารบังเกิดขึ้น กิเลสมาร ก็บังเกิด กิเลสมารตัวนี้ก็คือ ตัว นิวรณ์ กามฉันทะจิตใฝ่ในความสบาย ในเมื่อเกิดกามฉันทะขึ้นมา จิตคิดจะล้มเลิกในการภาวนาก็เกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้น ความลังเลสงสัยก็บังเกิดขึ้นมาอีก ความง่วงเหงาหาวนอนบังเกิดขึ้นมาอีก ทีนี้ความสงสัยมันมีความรุนแรงขึ้น จิตมันก็เถียงกัน จะภาวนาต่อไปหรือจะหยุดเพียงแค่นี้จะเอาแค่นี้หรือจะเอาต่อไป เถียงกันไปเถียงกันมา ถ้ามันสู้กิเลสไม่ได้ สู้นิวรณ์ไม่ได้ จิตมันก็ตัดสินใจว่า เอาล่ะ แค่นี้ แล้วก็หยุด เลิกภาวนา พยาปาทะ   คือความตัดรอนคุณงามความดี ก็ทำหน้าที่ของมันได้อย่างเต็มที่ เราก็เป็นผู้แพ้ ถ้าเราแพ้บ่อย ๆ ก็เคย มันก็เคยตัว  มันเคยกดขี่ข่มเหงเราได้  มันก็กดขี่ข่มเหงเรื่อยไป
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-8 11:45 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ดังนั้น เราต้องพยายามต่อสู้และปราบปรามมันด้วยขันติ ความอดทน ทนมันไปจนกว่ามันจะทนไม่ไหว เมื่อทนในท่านี้ไม่ได้ก็เปลี่ยนท่าใหม่ ไปกำหนดภาวนาในท่าใหม่ นอนก็ได้ ยืนก็ได้ เดินก็ได้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงให้มีการเปลี่ยนอิริยาบถ คือให้เปลี่ยนในขณะที่เราสู้ขันธมารและกิเลสมารไม่ได้ ทีแรกเรานั่งสู่มัน นั่งสู้ไม่ไหว เราลุกขึ้นมายืนสู้มัน  ยืนสู้ไม่ไหว  เดินสู้มัน ถ้าเดินสู้มันไม่ไหว ก็นอนสู้มัน ในขณะที่นอนสู้มัน  มันอาจจะแพ้ก็ได้  แพ้ก็ช่างมัน แต่เราพยายามที่จะต่อสู้มันเรื่อยไป



5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-8 11:46 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เรื่องกิเลส เรื่องของโลก เราได้ฝึกฝนอบรมมาจนคล่องตัวเหมือนกัน สมาธิภาวนาเรามาเริ่มใหม่ เรามาฝึกฝนอบรมใหม่ ๆ ทีนี้อำนาจฝ่ายต่ำที่เราปล่อยจิตปล่อยใจให้เป็นไปตามอำนาจของมันมานานแล้วจนมันคล่องตัว โลภ โกรธ หลงอะไรต่าง ๆ เป็นกิเลสที่เราฝึกฝนอบรมมาโดยไม่ได้ตั้งใจ ฝึกและรับเอาเข้ามาจนมันมาเป็นเจ้าเรือนแล้ว เราจะขับไล่ไสส่งมันออกไปง่าย ๆ ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ต้องตั้งใจปฏิบัติโดยมอบกายถวายชีวิต บูชาต่อพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ต่อคุณงามความดี เพราะว่าอุบายวิธีอันนี้เป็นวิธีการดับไฟนรกเมื่อเรามาปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ มีศีลบริสุทธิ์ มีจิตบริสุทธิ์มีปัญญาอันบริสุทธิ์มันก็เป็นอุบายดับไฟนรกทันที ดังนั้นขอให้ทุกท่านจงตั้งใจจริง ปฏิบัติกันจริง ๆ อย่าทำเหลาะแหละ ไม่ต้องไปไขว่คว้ากันที่ไหน ตั้งใจหาความดีในจิตในใจของเรานั่นแหละ



          ก่อนอื่น ขอให้พยายามให้ได้สมาธิในขั้นต้น คืออุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ เมื่อเราทำได้แล้ว ภูมิจิตภูมิใจของเราจะขยายวงกว้างออกไปเอง เรามีศีลบริสุทธิ์สะอาดเป็นเครื่องอบรมสมาธิ เรามีสมาธิที่มีจิตมั่นคงต่อการกระทำความดี มันเป็นอุบายให้เกิดปัญญา  เพราะฉะนั้น อย่าไปกลัวว่าจิตเป็นสมาธิแล้วจะไม่เกิดความรู้ ไม่เกิดปัญญา ขอให้ทำให้ได้ ถ้าเราทำจริงก็ได้จริง อย่าทำแต่เวลามาเข้าปฏิบัติในศูนย์หรือเฉพาะเวลานั่งสมาธิท่าเดียว ถ้าใครจะภาวนาพุทโธ ก็ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ภาวนาพุทโธได้ตลอดกาล ผู้ที่มีสติคล่องแคล่วว่องไวดีแล้วไม่ต้องภาวนาพุทโธ ให้กำหนดลมตามรู้การยืนเดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ทุกขณะจิต ทุกลมหายใจ แล้วสมาธิจะบังเกิดขึ้นมาเองไม่ต้องสงสัย



          ปัญหาที่ว่าทำอย่างไรจิตจะได้สมาธิเร็ว คำตอบก็คือว่าทำให้มันมาก ๆ ไม่มีที่ไหนที่เขาจะสอนให้ได้สมาธิอย่างเร็ว ๆ ไม่มี พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้และไม่เคยท้าทายกับบุคคลผู้ใดใครผู้หนึ่ง อุปนิสัยบุญบารมีของคนมันต่าง ๆ กัน ไม่เหมือนกัน บางท่านปฏิบัติง่ายและบรรลุง่าย  บางท่านปฏิบัติง่ายแต่บรรลุยาก บางท่านปฏิบัติยากแล้วก็บรรลุยากด้วย บางท่านปฏิบัติยากแต่บรรลุง่าย นี่คือการแบ่งขั้นแห่งภูมิบารมีของแต่ละบุคคล เพราะฉะนั้นอย่าไปรีบเร่ง ปฏิบัติอย่างใจเย็น ๆ นึกพุทโธ ๆ ๆ ๆ อยู่ในจิตของเรานั่นแหละ  ในเมื่อเรามานึกพุทโธๆๆ ไม่หยุด  จิตไม่มีช่องว่าง มันก็ไม่มีโอกาสจะไปคิดสร้างบาปอกุศลที่ไหนเพราะมันอยู่กับพุทโธแล้ว  เมื่อภาวนาพุทโธหนักๆ เข้าพุทโธวิ่งเข้าไปอยู่ในจิต จิตกลายเป็นพุทโธ เป็นพุทธะ ผู้รู้ พุทธะ ผู้ตื่น พุทธะ ผู้เบิกบาน ดังที่กล่าวแล้ว
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-8 11:46 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
การฟังธรรมะ การเรียนธรรมะ มีความรู้จากการฟัง มีความรู้จากการเรียน มีความรู้จากการอ่านหนังสือ มีความรู้จากประสบการณ์ เรามีภูมิความรู้ที่จะพูดจะคุยอวดกันได้ทั้งนั้น แต่ว่าการปฏิบัติของเรายังไม่ถึงขั้น เพราะฉะนั้นจึงควรจะขยันขันแข็ง เอาชีวิตเข้าแลก เงินทองมองเห็นอยู่ เราก็ยังเอายากเหลือทน คุณธรรมซึ่งเกิดขึ้นในจิตในใจ มองไม่เห็นด้วยตา เพียงแต่รู้ด้วยจิตเท่านั้น มันก็ยิ่งจะเอายาก เพราะฉะนั้นถ้าท่านผู้ใดอยากได้คุณธรรม ก็ต้องทำให้แน่วแน่ วิธีทำให้แน่วแน่คือทำอย่างไร ? จะภาวนาพุทโธ ๆ ยุบหนอพองหนอ สัมมาอรหัง ฟัดมันตลอด ๒๔ ชั่วโมงนั่นแหละ



          มันเป็นได้อย่างไร ภาวนาตลอด ๒๔ ชั่วโมงนี่เป็นไปได้อย่างไร ?



          มันเป็นไปได้จริง ๆ เมื่อเราภาวนาด้วยความตั้งใจพุทโธ ๆๆ เมื่อจิตเป็นสมาธิดีแล้วนี่ เวลาเรานอนลงไปเราภาวนาพุทโธๆๆ  พอพุทโธแล้วไม่ทราบมันหลับไปแต่เมื่อ ไหร่ หลับไปแล้วจิตยังภาวนาพุทโธ ๆ อยู่ตลอดคืนย่ำรุ่ง ทำให้ผู้ภาวนารู้สึกว่าตัวเองนอนไม่หลับทั้งคืนแต่แท้ที่จริงกายมันหลับได้เป็นอย่างดี แต่จิตมันไม่หลับเมื่อก่อนธรรมดาเรานอนหลับ เราหลับทั้งกายหลับทั้งจิตแต่นักภาวนาที่ทำสมาธิเก่ง แล้วสมาธิมีอยู่ตลอดเวลา เมื่อนอนหลับลงไปแล้ว กายมันหลับแต่จิตมันตื่น ไม่มีกลางวันไม่มีกลางคืน นั่นเป็นธรรมชาติแห่งคุณธรรมคือพุทธะเกิดขึ้นในจิตของผู้ภาวนาจะเป็นอย่างนั้น ดังนั้นจึงได้กล้าใช้คำว่า ภาวนาพุทโธอยู่ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพราะมันได้เป็นไปแล้ว



          ถ้าท่านผู้ใดจะพิจารณาอะไร เช่น พิจารณากายคตาสติ ก็ตั้งใจพิจารณา      อะยัง  โข  เม  กาโย  กายของเรานี้แล  อุทธัง  ปาทะตะลา  เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา  อะโธ  เกสะมัตถะกา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป  ตะจะปะริยันโต  มีหนังห่อหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ  ปุโร  นานัปปะการัสสะ  อะสุจิโน  เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ
7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-8 11:47 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
           เกสา   คือผม ได้แก่สิ่งที่เป็นเส้น ๆ เกิดอยู่บนศีรษะเมื่อน้อยก็มีสีดำ เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีขาว เป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครกเพราะเกิดอยู่ในที่สกปรกโสโครก ชุ่มแช่ไปด้วยปุพโพ (น้ำเหลือง) โลหิต ผู้ที่เป็นเจ้าของต้องบริหารรักษา ต้องตัดต้องดัดต้องแต่ง ต้องขัดต้องล้างฟอกด้วยสบู่ ประดับด้วยของหอม ที่ทำเช่นนั้นเพราะผมเป็นสิ่งปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก


          โลมา  ขน เกิดอยู่ที่ร่างกายเว้นฝ่ามือและฝ่าเท้ามีอยู่ทั่วไปในร่างกาย เป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครกเพราะเกิดอยู่ในที่สกปรก ชุ่มแช่ไปด้วยปุพโพโลหิต เราจะต้องทำความสะอาดอยู่เสมอ


          นะขา  เล็บ  เกิดอยู่บนปลายนิ้วมือนิ้วเท้าทั้ง ๒๐ นิ้ว เราใช้หยิบจับสิ่งต่างๆ ทำให้ถูกต้องกับของสกปรก ต้องแกะต้องแคะมูลเล็บ ทำความสะอาดล้างด้วยสบู่ ถ้าปล่อยเอาไว้ก็ดำเหม็นสาบเหม็นสาง เป็นสิ่งที่ปฏิกูลน่าเกลียดยิ่งนัก


          ทันตา ฟัน เกิดอยู่ในเหงือกข้างบนและข้างล่าง เราใช้สำหรับเคี้ยวบดอาหาร เป็นของสกปรกปฏิกูลเพราะเกิดอยู่ในที่สกปรก ชุ่มแช่ไปด้วยปุพโพโลหิต น้ำลายและเสลดอะไรต่าง ๆ เราต้องคอยทำความสะอาด คอยแกะ คอยแคะคอยแปรงฟัน ถ้าปล่อยไว้ก็เกิดกลิ่นเหม็น เป็นสิ่งที่น่าเกลียดยิ่งนัก


          ตะโจ  หนัง  เป็นสิ่งที่ห่อหุ้มอยู่ทั่วร่างกาย เมื่อเวลาเหงื่อไคลไหลออกมาในกาย ก็ทำให้ผิวหนังสกปรกเป็นขี้ไคล เราจะต้องอาบน้ำฟอกสบู่ประดับตกแต่ง ที่ไหนดำ ๆ ด่างๆ ก็เอาแป้งมาพอกเข้าให้มองเป็นผิวเสมอกัน ที่เราทำเช่นนั้นเพราะมันเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก  ถ้าปล่อยไว้ก็เหม็นสาบเหม็นสาง น่าเกลียดยิ่งนัก
8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-8 11:48 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ให้พิจารณากลับไปกลับมา  พิจารณาสิ่งทั้งห้านี้ก่อน เกสา  โลมา  นะขา  ทันตา  ตะโจ  เป็นกรรมฐานเบื้องต้นที่นักบวชนักปฏิบัติทั้งหลายต้องรีบเร่งพิจารณาให้เห็นเป็นไปตามความเป็นจริง คือเป็นของปฏิกูล เพราะสิ่งทั้งห้านี้เป็นเครื่องหมายแห่งความสวยความงาม คนเรามาติดกันอยู่ที่สิ่งทั้งห้านี่แหละ คนที่มีผมงาม เขาก็เรียกคนงาม มีขนงามเขาเรียกว่าคนงาม มีเล็บงามเขาก็เรียกว่า คนงาม มีฟันงามเขาก็เรียกว่าคนงาม มีหนังงามเกลี้ยงเกลาสะอาดดีเขาก็เรียกว่าคนงาม ในเมื่อเราไปมีความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นของงาม ของสวย เราก็เกิดความใคร่ยินดี ไปหลงรักหลงชอบ เพราะฉะนั้น เพื่อเป็นอุบายขจัดราคะ ความกำหนัดยินดี พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้พิจารณาสิ่งเหล่านี้ให้รู้ให้เห็นตามความเป็นจริง อย่างน้อยให้เกิดศรัทธาวิโมกข์คือการน้อมใจเชื่อ เพียงน้อมใจเชื่อเท่านั้นก็ทำให้กิเลสเบาบางไปแล้ว



           ถ้าใครจะพิจารณาอย่างนี้ ก็พิจารณาซ้ำ ๆ ซาก ๆ ถอยไปถอยกลับ พิจารณาตั้งแต่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง พิจารณาจากหนัง มาฟัน มาเล็บ มาขน มาผม ย้อมกลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้น ให้จิตน้อมนึกว่าเป็นสิ่งปฏิกูลไม่สวยไม่งาม เป็นสิ่งที่น่าเกลียด สกปรกโสโครก เมื่อพิจารณาไปพอสมควรแล้ว บางครั้งจิตอาจจะสงบลงในท่ามกลางแห่งภาวนา แล้วก็หยุดพิจารณา เมื่อมันหยุดพิจารณา ไปนิ่ง รู้เฉยอยู่ ให้กำหนดตัวผู้รู้ ในขณะกำหนดตัวผู้รู้ จิตจะหยุด นิ่งอยู่ ก็กำหนดรู้อยู่อย่างนั้นแหละ อย่าไปรบกวน น้ำใจกำลังจะนิ่ง ในเมื่อน้ำใจนิ่ง ไม่มีคลื่นไม่มีฟอง ไม่มีอารมณ์มารบกวน เราก็จะสามารถเห็นจิตเห็นใจของเราได้ทะลุปรุโปร่ง เหมือน ๆ กับน้ำทะเลที่มันนิ่ง เราสามารถมองเห็นเต่าปลากรวดทรายสาหร่ายอยู่ใต้น้ำได้ถนัด ฉันใด ในเมื่อจิตของเรานิ่ง รู้ ตื่น เบิกบาน เราก็สามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ในจิตของเราได้อย่างชัดเจน อะไรผุดขึ้นมา จิตจะกำหนดรู้เองโดยอัตโนมัติ



9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-8 11:48 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ธรรมชาติของจิต จะไปหยุดนิ่งอยู่นาน ๆ ไม่ได้ เดี๋ยวมันก็คิด ในช่วงนั้นถ้าเกิดความคิดขึ้นมาปล่อยให้คิดไป แต่ให้มีสติตามรู้ สิ่งที่มันคิดนั้นจะเป็นอะไรก็ได้เรื่องครอบครัว เรื่องการเรื่องงาน เรื่องผู้เรื่องคน จิปาถะสารพัดที่จะคิดขึ้นมา        เมื่อมันคิดขึ้นมาอย่างนั้น ปล่อยให้คิดไป แต่ให้มีสติกำหนดตามรู้ รู้ รู้ เป็นการส่งเสริมให้จิตของเรามีพลังเข้มแข้ง เพราะความคิดเป็นอาหารของจิต ความคิดเป็นการบริหารจิตให้เกิดสติปัญญาจินตามยปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นได้จากความคิด เมื่อจิตมีความคิด สติสัมปชัญญะรู้พร้อมอยู่ทุกขณะจิต ความคิดสะเปะสะปะเหลวไหลนั่นแหละจะกลายเป็นปัญญาในสมาธิ เพราะจิตของเราคิดแล้วจะรู้สึกแต่เพียงสักแต่ว่าคิด คิดแล้วก็ปล่อยวางไป ๆ เมื่อสติสัมปชัญญะมีพลังแก่กล้าขึ้นกลายเป็นปัญญา เมื่อมีปัญญาก็สามารถกำหนดหมายรู้ความคิดว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วก็รู้พระไตรลักษณ์ขึ้นมา ก็กลายเป็นปัญญาในขั้นวิปัสสนาเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น จะไปข้องใจสงสัยอยู่ทำไมหนอรีบเร่งบำเพ็ญภาวนาให้มากๆ ให้ได้สมาธิเป็นเบื้องต้น



          ทีนี้ถ้าหากว่าท่านผู้ใดขี้เกียจ หรือไม่มีอะไรจะคิดก็ให้กำหนดจิตรู้ที่จิตเฉยๆ ถ้าจิตว่างรู้ที่ความว่าง ถ้าจิตคิดรู้ที่ความคิด ว่างรู้ที่ความว่าง คิดรู้ที่ความคิด ไล่ตามกันไปอย่างนี้ เมื่อเราฝึกหัดจนคล่องตัว จนชำนิชำนาญ ทีหลังเราอาจจะไม่ได้ตั้งใจกำหนดรู้อารมณ์จิตหรือความคิดของเรา เมื่อจิตมีความคิดอันใด สติมันจะรู้พร้อมอยู่ในขณะจิตที่คิดนั้น  นั่นแสดงว่าพลังของสติของเรากำลังเริ่มแล้ว เมื่อจิตมีสติสัมปชัญญะรู้พร้อมอยู่ที่จิต  พอจิตมีความคิด สติก็ทำหน้าที่ตามรู้คอยควบคุม เมื่อมีสติสัมปชัญญะ จิตของเราก็รู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว อะไรผิด อะไรถูก มันจะรู้ของมันขึ้นมาเอง


  
        โดยธรรมชาติของจิตคนเรานี่ มีแต่เพียงความรู้สึก รู้นึก รู้คิด แต่ไม่รู้จักดี ไม่รู้จักชั่ว ที่เรารู้ดีรู้ชั่ว รู้ผิดรู้ถูกเพราะอาศัยการฝึกฝนอบรม เริ่มต้นตั้งแต่พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย พี่เลี้ยงนางนม ได้ฝึกฝนอบรมมาจนกระทั่งใหญ่โตเป็นตัวของตัวเองได้ ในเมื่อตัวเป็นของตัวเองได้ เราไปเรียนหนังสือบ้าง ทำงานบ้าง สติปัญญาก็เกิดขึ้นโดยประสบการณ์ ยิ่งมีสังคมมีการงานกว้างขวางเท่าไร ก็ยิ่งเก่งยิ่งฉลาด นั่นคือปัญญาที่เกิดขึ้นจากการฝึกฝนอบรม ทีนี้ถ้าเรามาตั้งใจทำสมาธิกันอย่างแท้จริง เมื่อสติสัมปชัญญะแก่กล้ามีจิตใจมั่นคง มันก็จะยิ่งวิเศษเสียยิ่งกว่าเราที่เราฝึกสมาธิโดยไม่ได้ตั้งใจ และผู้สอนก็ไม่ได้ตั้งใจจะสอนสมาธิเรา
10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-8 11:49 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ทีนี้เราภาวนาทำสมาธิแล้ว จิตไม่สงบ ไม่รู้ธรรม เห็นธรรม เราได้อะไร เราย้อนมองไปดูศีลของเราอีกทีหนึ่ง ถ้าเราเคร่งในศีล ปฏิบัติศีล ละโทษตามศีลข้อนั้นๆ ได้โดยเด็ดขาด โดยไม่ต้องอดไม่ต้องทน ไม่ต้องฝืนใจความคิดที่จะฆ่า ความคิดที่จะลัก ความคิดที่จะประพฤติผิดกาเมสุมิจฉาจาร ความคิดที่จะทำชั่วโดยประการทั้งปวงได้หายไปหมดแล้ว มันมีแนวโน้มที่จะสร้างความดีในถ่ายเดียว นี่คือผลที่เราจะพึงได้


   
       เกี่ยวกับการปฏิบัติ ถ้าเราเกิดความหมั่นความขยันวันหนึ่ง ๆ ไม่ได้สวดมนต์ ไม่ได้นั่งสมาธิ แล้วนอนไม่หลับ นั่นแสดงว่าเราได้ศรัทธา ได้วิริยะ ได้สติ ได้สมาธิ ได้ปัญญา เป็นคุณธรรมเกิดความวิริยะอุตสาหะ เป็นผู้กล้าตาย เรากลายเป็นทหารผู้กล้าตาย เข้าสู่สนามรบกิเลสก็ไม่สะทกสะท้าน มีแต่ความแกล้วกล้าอาจหาญ ตั้งใจแน่วแน่ที่จะปฏิบัติละชั่วประพฤติดี ทำจิตให้บริสุทธิ์สะอาดแล้วเราก็จะกลายเป็น สุปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติดี อุชุปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติตรง ญายะปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความรู้ยิ่งเห็นจริง สามีจิปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติชอบยิ่ง ยทิทํ นี่คือใครปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เอสะ ภะคะวะโต นี่คือสาวกของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า



           ผมหรือดิฉันไม่ได้บวช จะเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าได้อย่างไร ได้ซิ!ในเมื่อเราเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ดำเนินตามแนวของพระองค์ พระองค์สอนอย่างไร เราปฏิบัติได้อย่างนั้น เราก็เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า พระกับโยมนั่นแหละ ถ้าปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเป็นสุปฏิปันโน โยมปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก็เป็นสุปฏิปันโน พระโสดาซึ่งเป็นคฤหัสถ์ก็มีถมเถไป ทีนี้พระเจ้าพระสงฆ์ไปตกนรกก็มีถมเถไป ในนรกใหญ่นั่น พระมาลัยสูตร ท่านกล่าวไว้ว่า เหล็กท่อนเท่าต้นตาล มีเสาค้ำรองรับหัวท้าย เหล็กใหญ่เท่าต้นตาลนี่มันจะแข็งสักเพียงใด ผ้าจีวรผ้าสบงของพระที่ทำบาปทำกรรมไปลงนรกแล้วเอาไปพาดไว้ตรงนั้น ท่อนเหล็กใหญ่อ่อนลงมาจนจรดพื้นดิน  ดูซิ!  พระเจ้าพระสงฆ์ยังตกนรกเป็น  โยมตกนรกได้พระก็ตกนรกได้เหมือนกันถ้าปฏิบัติไม่ดีไม่ถูกต้องทำบาปทำกรรม ทีนี้ญาติโยมปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก็เป็นสุปฏิปันโนได้ พระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก็เป็นสุปฏิปันโนได้ เพราะฉะนั้น ญาติโยมอย่าน้อยอกน้อยใจ บางคนอยากบวชเป็นพระ ไปขอร้องให้มหาเถรสมาคมรับรองว่าตัวเป็นนางภิกษุณีก็มี ไม่รู้จะดิ้นรนไปทำไม
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้