เมื่อพูดถึง “ เด็กวัด ” หลายคนคงจะนึกถึงภาพของเด็กชาย หรือวัยรุ่นชายที่ถือย่าม ปิ่นโต หรือถุงกับข้าวเดินตามหลังพระภิกษุที่ออกบิณฑบาตตอนเช้า และคอยหยิบอาหารที่เต็มออกจากบาตร แต่เด็กหรือวัยรุ่นพวกนี้มาจากไหนและมีความเป็นอยู่อย่างไร อาจจะอยู่ห่างจากความคิดและวิถีการดำเนินชีวิตของเรา อย่างไรก็ดี วัดและพุทธศาสนิกชนเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก ดังนั้น กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงอยากจะขอนำผลงานวิจัยบางส่วนจากเรื่อง “ วัดกับเยาวชน : บทบาทของวัดในการส่งเสริมให้ศิษย์วัดประสบความสำเร็จในชีวิต ” ของ ประภาพร ชุลีลัง ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสวช.มาเสนอให้ทราบถึงบทบาทของวัดในอีกแง่มุมหนึ่ง นอกเหนือไปจากการเป็นศาสนสถานที่ใช้ประกอบพิธีกรรม รวมถึงการดำรงชีวิตของเด็กวัดหรือศิษย์วัด ที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้ นับแต่อดีตจนปัจจุบัน “ วัด ” นับเป็นศูนย์กลางของสังคม และตัวแทนของสถาบันทางพุทธศาสนาที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาเป็นเวลาช้านาน นอกจากจะเป็นที่พำนักของพระภิกษุผู้สืบทอดพระพุทธศาสนาแล้ว วัดยังเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ทางสังคมในรูปแบบอื่นๆอีกมากมาย เช่น เป็นศูนย์กลางทางด้านการศึกษา เป็นที่พึ่งทางใจ สโมสร สถานบันเทิง ที่สอนวิชาชีพ ที่พักคนเดินทาง และฌาปนสถาน เป็นต้น กล่าวได้ว่าวัดมีบทบาทเกี่ยวข้องและผูกพัน รวมทั้งมีอิทธิพลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยและสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง ในสมัยโบราณที่ยังไม่มีโรงเรียนเช่นปัจจุบัน เด็กผู้ชายมักถูกส่งเข้ามาอยู่ที่วัด เพราะวัดเป็นสถานที่แห่งเดียวที่จะให้การศึกษาเล่าเรียนศิลปะวิทยาการแขนงต่างๆ โดยมีพระสงฆ์ซึ่งเป็นผู้มีความรู้สูงกว่าชาวบ้านเป็นผู้ประสิทธิประสาทวิชาความรู้ให้ทั้งทางโลกและทางธรรม รวมถึงการอบรมจรรยามารยาท ดังนั้น บุคคลไม่ว่าจะมีสถานภาพทางเศรษฐกิจเช่นไร ถ้าต้องการให้บุตรหลานได้เล่าเรียนก็จะนำไปฝากให้อยู่ที่วัด เป็นลูกศิษย์วัด คอยปรนนิบัติรับใช้พระภิกษุสงฆ์ และเมื่อมีอายุพอสมควรก็จะบรรพชาเป็นสามเณรและเรียนธรรมชั้นสูงขึ้นไป ครั้นพออายุครบ ก็จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ทำให้เด็กชายส่วนใหญ่อ่านออกเขียนได้ มีความรู้ทางศีลธรรม จริยธรรม และหลักธรรมในทางพุทธศาสนา ถือเป็นเกียรติของตนและครอบครัว และยังเป็นที่ยอมรับยกย่องของสังคม ซึ่งสมัยก่อนจะถือว่าคนที่บวชเรียนแล้วเป็น “ คนสุก ” คือ ผ่านการอบรมบ่มนิสัยมาแล้ว และจะเรียกคำนำหน้าผู้ที่สึกจากพระว่า “ ทิด ” เช่น ทิดขาว เป็นต้น
|