ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่มหาทองสุก สุจิตฺโต วัดป่าสุทธาวาส ~

[คัดลอกลิงก์]
11#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-20 11:22 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

นั่งบนพื้น : พระตั๋น รุวรรณศร

แถวนั่งเก้าอี้ จากซ้าย : หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี, หลวงปู่ขาว อนาลโย,
พระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล), หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม, หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ

แถวยืนหลังสุด จากซ้าย : พระอาจารย์อ่อนสี สุเมโธ, พระศรีรัตนวิมล,
พระธรรมไตรโลกาจารย์ (หลวงปู่รักษ์ เรวโต), พระครูบริหารคณานุกิจ,
หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน, พระอาจารย์จันทร์ เขมปตฺโต

บันทึกภาพร่วมกันเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๐๓




แถวหน้าสุด จากซ้าย : พระเทพสิทธาจารย์ (หลวงปู่จันทร์ เขมิโย),
พระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล), พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)

แถวกลาง จากซ้าย : หลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร,  
หลวงปู่กว่า สุมโน, หลวงปู่มหาทองสุก สุจิตฺโต, หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ

แถวหลัง จากซ้าย : พระธรรมมงคลญาณ (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร),
หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ, หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน


12#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-20 11:23 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พ.ศ. ๒๔๘๑

หลังจากการก่อเจดีย์ฉลองเรียบร้อยแล้ว ก็เดินทางไปถ้ำผาจมใกล้เขตแดนพม่า ถ้ำนี้สบายมาก จึงอยู่ทำความเพียรเสียระยะหนึ่ง พอท่านพักทำความเพียรแล้ว เวลาใกล้เข้าพรรษาจึงเดินทางกลับจังหวัดเชียงใหม่ พักอยู่จำพรรษาที่ตำบลสันมหาพน การจำพรรษาปีนี้ไม่ได้อยู่กับท่านพระอาจารย์ใหญ่ แต่ก็เป็นที่สงบสงัดดีพอสมควร ท่านก็อยู่กัน ๒ องค์เท่านั้น เพราะต่างก็จะหาที่วิเวกทำความเพียรกันตลอดเวลา

หลังจากออกพรรษาแล้ว มีพระเขือง พระมนู พร้อมกับท่าน ได้เดินธุดงค์ต่อไป ทั้งๆ ที่ยังจับไข้มาลาเรียอยู่ทุกวัน ท่านก็ยังพยายามเพื่อจะไปหาที่อยู่ที่วิเวกที่สุด ขณะที่ท่านกำลังไปนั้นเผอิญพบกับพวก “เตียวต่าง” แปลว่า พวกพ่อค้าที่มีต่างบรรทุกบนหลังม้า พวกเขาพากันดีใจที่พบพระ เพราะว่าไปกับพระปลอดภัยดี และเขาก็ได้ทำบุญไปด้วย วันนั้นค่ำแล้วก็หยุดพักกัน เขาทำอาหารมื้อค่ำมาถวาย ท่านก็ไม่ฉัน พวกเขาพากันอ้อนวอนกันใหญ่ ท่านจึงแสดงเรื่องวินัยของพระให้เขาฟังว่า

“ผู้บวชเป็นพระแล้วครองผ้าเหลืองเป็นสมณศากยบุตรต้องรักษาพระวินัยยิ่งกว่าชีวิต วินัยนั้นมี ๒๒๗ ข้อ ข้อสำคัญคือปาราชิก ๔ ต่อมาสังฆาทิเสส ๑๓ อนิยตะ ๒ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ สุทธิกปาจิตตีย์ ๙๒ ปาฏิเทสนียะ ๔ เสขิยวัตร ๗๕ อธิกรณสมถะ ๗ ท่านอธิบายต่อไปว่า พระภิกษุนั้นต้องปฏิบัติตามวินัยจึงจะเป็นพระที่ดี ถ้าล่วงพระวินัยเป็นพระเลว พระเป็นผู้เสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง แม้แต่ร่างกายจะต้องเสียสละเพื่อธรรมวินัย ดังนั้น พวกท่านทั้งหลายจะมาให้เราฉันอาหารในเวลาเช่นนี้ เราฉันไม่ได้”

พวกเขาว่า “ก็พระอื่นๆ ทำไมเขาจึงฉันได้”

ท่านตอบว่า “นั้นคือพระเลว ไม่รักธรรมรักวินัย”

ทำให้พวก (เตียวต่าง) เกิดความเลื่อมใส ก็เลยเดินทางไปด้วยกัน

เขาก็เอาบริขารของท่านใส่ต่างไป ข้ามเขาข้ามเหวไปถึงเมืองกอง จากเมืองกองไปถึงเมืองแหง พ่อเมืองแหงรู้ว่าท่านมา ใช้ให้คนมารับ ๒ คน ตอนนี้ท่านก็เริ่มเป็นไข้หนักเข้าทุกที จึงจำเป็นต้องพักรักษาตัวอยู่ที่เมืองนี้ พ่อเมืองเกิดความเลื่อมใส พยายามช่วยอนุเคราะห์เป็นศิลานุปัฏฐากอย่างเต็มที่

ท่านรักษาตัวอยู่ ๒ เดือนเศษ พระมนู พระเขือง เลยไปก่อน หลังจากพระเขือง พระมนู ไปได้ ๑๐ วัน โดยที่ท่านต้องการจะไปแม้ยังไม่หายดี ท่านก็ตามไปทันท่านมนูที่พระธาตุแม่สวย แล้วได้อยู่ที่นี่ ๑๐ วัน แต่ไม่พบพระเขือง เพราะพระเขืองได้กลับไปเสียแล้ว ท่านมนูก็เลยแยกไปภูเขาลูกหนึ่งอยู่กับพวกปะหล่อง ท่านจึงเดินทางไปแต่ผู้เดียวไปถึงบ้านเชียงหลวง ไปพักอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเล็กๆ ข้างๆ ภูเขา น้ำใสไหลเย็น มีพุ่มไม้เกิดขึ้นตามริมฝั่ง ร่มเย็น ทรายแดงขาวปนกับเกลือเงินเกล็ดทองที่ถูกน้ำเซาะมาแต่ซอกหิน เป็นระยิบระยับ ฝูงนกมากมายหลายจำพวกมาหากินตามชายฝั่ง จนไม่ทราบว่ามีนกอะไรบ้าง แถวนี้นับว่ามีทำเลดี ท่านว่าสบายแท้ จึงอยู่ทำความเพียรเป็นเวลานาน ได้รับความเยือกเย็นเป็นอย่างยิ่ง ทั้งชาวบ้านก็ไม่รบกวน ใส่บาตรให้ฉันแล้วก็แล้วกัน อยู่องค์เดียวไม่พูดอะไรกับใคร มีแต่อนุสรณ์ถึงธรรมแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น

ที่นี่จำพวกเสือหมีมีมาก มันเข้ามาหาทุกคืนแต่มันก็ไม่ทำอะไรใคร แต่มันคอยกินวัวควายของชาวบ้านเสมอ เสียงเสือมันจะร้องกังวานน่าเสียวเฉพาะใหม่ๆ พอชินแล้วมันก็ธรรมดา แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม มันก็ทำให้เกิดความระวังสติขึ้นได้มาก จากนั้นท่านเดินทางต่อไปเพื่อหาที่วิเวกและเพื่อเป็นการฝึกฝนตัวเอง ก็บรรลุถึงบ้านหมากกายอน เป็นหมู่บ้านเล็กอยู่ระหว่างหุบเขา เป็นที่เงียบสงัดดี ท่านจึงพักอยู่ปรารภความเพียร ณ ที่นั้นอีก เป็นที่วังเวง มีแต่เสียงสัตว์ป่าร้องโหยหวน เฉพาะอย่างยิ่งชะนีมีมากทีเดียว เพราะมันส่งเสียงร้องระงมป่าไปหมด ตกกลางคืนก็พวกนกอูลอ ร้องคล้ายๆ คนเรียก แล้วก็พวกนกเค้าดูมันไม่ค่อยรู้จักคนเอาทีเดียว ท่านพระครูอุดมธรรมคุณ (หลวงปู่มหาทองสุก สุจิตฺโต) ท่านว่าท่านอยู่ในที่นี้เหมือนอยู่อีกโลกหนึ่ง เป็นเหตุให้ระลึกถึงมรณานุสติอยู่ตลอดเวลา คล้ายกับหายห่วงอะไรๆ ทุกสิ่งทุกอย่าง มันเป็นบรรยากาศที่เหมาะสมแก่สมณะแท้ๆ

ท่านอยู่บำเพ็ญสมณธรรมที่นี้พอสมควรแก่กาล ก็เดินธุดงค์ต่อไป ข้ามห้วยนอนหลับ (ที่ว่าห้วยนอนหลับเพราะด้วยนี้ยาวมาก ต้องหลายคืนจึงจะเดินตลอด) ตอนนี้ข้ามจากเขตไทยถึงประเทศพม่าแล้ว เป็นป่าทึบมากทีเดียว มองไม่เห็นพระอาทิตย์เลย ขณะนี้เดินธุดงค์อยู่องค์เดียว อาศัยอาหารพวกชาวเขา ป่าแห่งนี้อยู่ระหว่างเขตไทยกับเขตพม่า เป็นป่าใหญ่มาก ท่านธุดงค์วกเข้าวกออกระหว่างเขตอยู่ ๔ เดือน พอเห็นว่ามีชาวเขาอยู่ตรงไหน ท่านก็พักอาศัยอยู่กับเขา พอมีอาหารประทังชีวิต เพื่อให้ได้ที่วิเวก พอได้บำเพ็ญสมณธรรม ขณะที่ท่านอยู่กับชาวเขา ท่านได้อบรมให้ชาวเขาเหล่านั้นได้เข้าใจถึงพระพุทธศาสนา จนชาวเขาเกิดความเลื่อมใสในตัวท่าน จะไปทางไหนต้องติดตามไปช่วยถือบริขารบ้าง ปฏิบัติต่างๆ บ้าง

วันหนึ่ง ท่านเห็นพวกชาวเขาไปได้กวางมาตัวหนึ่ง ช่วยกันแล่เนื้อแล้วย่างแขวนไว้ นำเอาไปถวายท่านตอนเย็น เนื้อยังร้อนอยู่ ท่านบอกว่าฉันไม่ได้ ต้องตอนเช้าแล้ว พวกชาวเขาเหล่านั้นจะมาหาท่านตลอดเวลาจนเป็นเรื่องของการกังวล ท่านจึงออกเดินธุดงค์ต่อไปถึงเมืองเต๊ะจ๊ะจนค่ำมืด เดินข้ามน้ำ (ลึก) ขนาดโคนขา ท่านก็เดินเรื่อยไป คราวนี้ท่านทดลองเดินทางลัดไม่ไปตามทาง และไม่ให้ชาวเขาเหล่านั้นติดตามไปด้วย ลัดป่า ขึ้นหิน ข้ามห้วย หลงทาง ไม่ทราบจะไปทางไหนดี นอนค้างกลางดงใหญ่ นั่งภาวนาเต็มที่นึกว่า เอาละ คราวนี้ต้องตายกันที เพราะไม่รู้จะไปทางไหนจึงจะพบบ้านคน ภาวนาดีแท้ๆ ท่านว่าคนเราถึงที่สุดมันก็แค่ตาย

ตื่นขึ้นแต่เช้า เดินทางต่อไป ไม่ได้ฉันอะไรเลย ฉันแต่น้ำพอประทังความกระหาย เดินไป ๑ วันเต็มๆ พอดีเจอทางคน ท่านก็เดินตามทาง พอดีพบเห็นแสงไฟ ท่านก็เดินเข้าไปหาแสงไฟจึงพบหมู่บ้านใหญ่โต และพักอยู่จนเช้าออกบิณฑบาต ถามชาวบ้าน เขาบอกว่าที่นี่ชื่อเมืองทา เขตพม่า จึงพักอยู่ ๓ คืน ดีเหมือนกันท่านว่า

“มาพบผู้คนเสียที เขาดี พวกนี้เป็นพวกเงี้ยว (ไทยใหญ่) เป็นคนมีรูปร่างสะอาดดี มีศีลธรรมดีมาก การขายของไม่ต้องมีคนเฝ้า เจ้าของบางทีไม่อยู่ในร้าน คนซื้อรู้ราคา เอาเงินไปใส่วางไว้แล้วก็เอาของไป ไม่มีโกงกัน”

ท่านถามชาวบ้านว่า “ของทำอย่างนี้ไม่หายหรือ ?”

เขาตอบว่า “ไม่เสียหาย ไม่เคยมีเสียหาย ไม่ขโมยกันหรือ ไม่มีขโมย ถ้าใครขโมย คนนั้นไม่มีใครคบตลอดชาติ ผู้หญิงจะหาผัวไม่ได้ ผู้ชายจะหาเมียไม่ได้ ไม่มีใครต้องถือว่าเศษคน”
13#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-20 11:24 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พ.ศ. ๒๔๘๒

ครั้นเมื่อท่านได้สถานที่เหมาะสมแล้วเช่นนี้ ท่านอยู่จำพรรษากับพวกชาวเขาปะหล่อง ซึ่งเป็นยอดภูเขาสูงชันมากและเป็นเขตพม่า ท่านอยู่องค์เดียว เขาทำกุฏิถวายให้เหมือนกับคอกหมูเพราะท่านบอกว่าท่านต้องเดินจงกรม เสือมันก็มาหมอบอยู่ข้างๆ ก็ทำบ้านเช่นคอกหมูเหมือนกัน พวกเขาดีใจมากที่ท่านไปอยู่ที่นี้ เพราะพวกชาวเขาเหล่านี้เลื่อมใสพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว ปีนี้เป็นปีสำคัญที่ท่านปรารภความเพียรอย่างยิ่งยวด โดยพยายามเร่งความเพียร พยายามให้มีสติครอบครองจิตอยู่ตลอดเวลาทั้งกลางวันกลางคืน ไม่มีใครมายุ่งเกี่ยว เป็นโอกาสอันดีแท้ จิตใจผ่องใส มีความเยือกเย็นสุขุมเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งจะหาปีใดเสมอปีนี้ไม่มีเลย วิเวกทั้งกาย วิเวกทั้งใจ

เมื่อท่านอยู่กับชาวเขาตลอดพรรษาแล้ว ก็คิดถึงท่านพระอาจารย์มั่น อยู่กับเขา ๔ เดือนก็ลาเขากลับ พวกเขาพากันร้องห่มร้องไห้กันใหญ่ เขาไม่อยากให้ท่านกลับเลย ท่านแทบจะไม่ได้กลับเสียแล้ว แต่ความที่ต้องการพบท่านพระอาจารย์มั่น โดยที่ต้องการกราบเรียนท่านถึงการทำจิตที่ผ่านมา จึงตัดสินใจกลับ โดยเดินกลับทางเก่าจนไปถึงจังหวัดเชียงใหม่ ทราบข่าวท่านพระอาจารย์มั่นถูก ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล) นิมนต์จากจังหวัดเชียงใหม่ไปยังจังหวัดอุดรธานีเสียแล้ว ท่านจึงติดตามไป

พอไปถึงกรุงเทพฯ ก็ไปพบกับ ท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ชวนท่านไปทางจันทบุรี ท่านคิดว่าจันทบุรียังไม่เคยไปเลยตัดสินไป แล้วเมื่อไปถึงจันทบุรี ท่านก็ไปเที่ยวทั่วไปๆ เพราะโดยปกติท่านไม่ชอบอยู่เฉยอยู่แล้ว ท่านได้ไปช่วย ท่านพระอาจารย์จันทร์ เขมปตฺโต สร้างวัดที่บ้านยางระหง อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี


ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล)

14#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-20 11:25 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ


พระอาจารย์จันทร์ เขมปตฺโต  
15#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-20 11:25 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


พ.ศ. ๒๔๘๓ - ๒๔๘๕

ปีนี้ท่านก็ได้จำพรรษาที่วัดทรายงาม บ้านหนองบัว ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี กับผู้เขียน (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร) เป็นเวลา ๑ ปี เนื่องจากท่านพระอาจารย์กงมาท่านไม่ได้จำพรรษาที่วัดทรายงาม ท่านไปสร้างวัดใหม่ที่เขาน้อยท่าแฉลบ จังหวัดจันทบุรี และจำพรรษาอยู่ที่นั่น

ปีนี้เองท่านพระครูอุดมธรรมคุณก็ได้สอนการแปลหนังสือบาลี-ไทยให้แก่ผู้เขียน เพราะไวยากรณ์นั้นผู้เขียนได้เรียนมาจบแล้วตั้งแต่ยังไม่ได้บรรพชาเป็นสามเณร หลังจากผู้เขียนบรรพชาแล้ว ก็เริ่มเร่งความเพียรตลอดมา มิได้จับดูหนังสือประเภทนี้เลย พึ่งจะมาจับการแปลตอนที่ท่านมาอยู่ที่วัดทรายงามนี้เอง

เมื่อท่านอยู่วัดทรายงามแล้ว ก็ได้สั่งสอนประชาชนให้เกิดความยินดีในธรรมคำสั่งสอนพระพุทธเจ้าเป็นอย่างมาก และแนะนำพร่ำสอนกุลบตรที่ได้เข้ามาบรรพชาอุปสมบท จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่กุลบุตรเหล่านั้นอย่างยิ่ง

หลังจากท่านทราบว่า ท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ได้ไปนมัสการท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว ท่านก็จำเป็นที่จะต้องอนุเคราะห์ชาวหนองบัว วัดทรายงามก่อน ครั้นจะไปทีเดียวก็ไม่มีใครจะอยู่วัดทรายงามแทน ท่านจึงต้องพำนักอยู่ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๓-๒๔๘๔-๒๔๘๕ แล้วจึงได้เดินทางออกติดตามมาปฏิบัติธรรมกับท่านพระอาจารย์มั่นอีกครั้ง ณ สำนักป่าบ้านนามน ตำบลตองโขป อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร

ผู้เขียนขณะนั้นกำลังอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่น เมื่อท่านพระครูอุดมธรรมคุณกลับไปพบท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว ท่านพระอาจารย์มั่นท่านก็ใช้ให้ไปอยู่ ณ สำนักป่าบ้านห้วยหีบ ตำบลหนองเหียน อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ซึ่งห่างจากสำนักป่าบ้านนามนประมาณ ๔ กิโลเมตร และที่สำนักป่าบ้านห้วยหีบแห่งนี้ ท่านพระครูอุดมธรรมคุณไปอยู่ตรงที่ผีป่ามันหวงไว้ เข้าไปทำลายดงผีป่าปู่ตา จนเกือบจะเกิดเรื่องกับชาวบ้านเสียแล้ว แต่ท่านก็ได้แสดงธรรมแก้ไขจนเขาเหล่านั้นกลับเลื่อมใส แล้วท่านก็พำนักอยู่ที่นั้นต่อไป
16#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-20 11:26 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พ.ศ. ๒๔๘๖ - ๒๔๘๘

เมื่อท่านพระครูอุดมธรรมคุณพักอยู่บ้านห้วยหีบนั้น ก็เหมือนกับที่ท่านเคยอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นมาแต่ก่อนเหมือนกัน คือเมื่อถึงเวลาอันสมควร ท่านก็จะต้องไปฟังธรรมเทศนาเสมอ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งวันอุโบสถ ไม่ว่าองค์ใดจะอยู่ที่ไหน ถ้าพอจะมาประชุมทำอุโบสถได้ต้องพยายามมารวมทำอุโบสถกับท่านพระอาจารย์มั่น เพราะว่าหลังจากทำอุโบสถแล้ว ท่านจะให้โอกาสและเปิดโอกาสให้ซักถามข้อข้องใจในการปฏิบัติที่ผ่านมา กับให้โอวาทอันจับใจเป็นเวลานานพอสมควร จึงต่างองค์ต่างกลับที่พักของตน


ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถระ


พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ

17#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-20 11:27 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พ.ศ. ๒๔๘๙ - ๒๕๐๗

ในระหว่างที่ท่านอยูบ้านห้วยหีบนั้น วัดป่าสุทธาวาสซึ่งเป็นวัดที่ ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถระ ผู้เป็นพระอาจารย์ของท่านพระอาจารย์มั่นได้สร้างไว้ อันเป็นวัดใหญ่โตและสำคัญอยู่ที่เมืองสกลนคร เกิดว่างสมภารลง มีการรวนเร พระภิกษุสามเณรก็ขาด ดังนั้น ท่านพระอาจารย์มั่นจึงได้สั่งให้ท่านพระครูอุดมธรรมคุณขณะนั้นอยู่บ้านห้วยหีบ ให้มาเป็นเจ้าอาวาสอยู่ ณ วัดป่าสุทธาวาสแห่งนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ถึง ๒๕๐๗

เนื่องจากท่านพระครูอุดมธรรมคุณเป็นผู้มีนิสัยไม่นิ่งดูดายและมีนิสัยโอบอ้อมอารี จึงมีพระภิกษุสามเณรไปอยู่ด้วยมากขึ้นเป็นลำดับ จนถึงกับมีการสอบนักธรรมสนามหลวง สอบนักธรรมจนได้รับการยกย่องจากส่วนกลาง นอกนั้นท่านก็ได้ปรับปรุงเสนาสนะจากการปรักหักพังจนมีกุฏิถาวรขึ้นหลายหลัง แก้ไขแผนผังวัดจนสง่างาม ทั้งศาลาการเปรียญ โรงฉันสวยงามถาวรแข็งแรง ซึ่งสามารถมีที่พักพอแก่พระภิกษุสามเณรนับร้อย

ครั้นเมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๒ อันเป็นปีที่สำคัญมาก คือท่านพระอาจารย์มั่นเกิดอาพาธหนัก และย้ายออกจากวัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) มาพักอาพาธระยะสุดท้ายเป็นเวลา ๑๑ วัน ที่วัดป่ากลางโนนภู่ บ้านกุดก้อม แล้วย้ายมาถึงวัดป่าสุทธาวาส ท่านพระอาจารย์มั่นได้มรณภาพลงด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ เวลา ๐๒.๒๓ น. ที่่วัดป่าสุทธาวาส สิริอายุรวมได้ ๘๐ ปี ท่านพระครูอุดมธรรมคุณ (หลวงปู่มหาทองสุก สุจิตฺโต) ได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงที่สำคัญในการจัดงานศพของท่านพระอาจารย์มั่น แต่ว่าทุกๆ พระอาจารย์ เช่น ท่านพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ, ท่านเจ้าคุณพระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี), ท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร, ท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ และผู้เขียน (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร) รวมอยู่ด้วย และมีอีกหลายพระอาจารย์ได้มาร่วมช่วยในงานศพท่านพระอาจารย์มั่น


พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร


หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร

18#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-20 11:27 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ท่านพระครูอุดมธรรมคุณ ในฐานะเจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาส ก็ต้องมีภาระหนักมาก เพราะท่านพระอาจารย์มั่นมรณภาพคราวนี้ บรรดาศิษยานุศิษย์ของท่านมีทั่วประเทศไทย ต่างก็ได้ทยอยมาอย่างมากมายจนเสนาสนะไม่พออาศัย ต้องอยู่โคนต้นไม้กันเต็มไปหมด พระภิกษุสามเณรประมาณ ๘๐๐ กว่า ประชาชนจำนวนหลายหมื่น ในการมาประชุมเพลิงคราวนั้น และมิใช่มาเฉพาะจังหวัดเดียว ต่างก็มากันหลายจังหวัด ซึ่งเป็นงานใหญ่โตมโหฬารพิเศษ แต่ท่านพร้อมกับพระอาจารย์ทั้งหลายได้ช่วยจัดการจนงานเหล่านี้สำเร็จได้ด้วยดี หลังจากท่านพระอาจารย์มั่นมรณภาพเดือนพฤศจิกายน พอถึงปลายเดือนมกราคมได้ประชุมเพลิง ซึ่งเป็นเวลาที่น้อยมากสำหรับจัดงานที่ใหญ่โตอย่างนี้ แต่คณะบรรดาพระอาจารย์ทั้งหลายก็สามารถจัดงานนี้สำเร็จลุล่วงไปโดยมิได้มีอะไรขาดตกบกพร่องเลย ซึ่งนับเป็นเกียรติประวัติที่หาได้ยากในการทำฌาปนกิจศพในคราวครั้งนั้น

หลังจากงานประชุมเพลิงศพท่านพระอาจารย์มั่นผ่านพ้นไปแล้ว บรรดาศิษยานุศิษย์ก็ตกลงกันจะสร้างอนุสาวรีย์ถวายท่านพระอาจารย์มั่น ซึ่งก็ต้องอาศัยท่านพระครูอุดมธรรมคุณเป็นประธานในการก่อสร้างอนุสาวรีย์นี้ ในการสร้างอนุสาวรีย์ครั้งนี้ก็ตกลงกันว่าให้เป็น “อุโบสถ” ไปในตัวเสร็จ เพราะขณะนั้นวัดป่าสุทธาวาสยังไม่มีอุโบสถที่ถาวร ทั้งนี้ โดยสร้างอุโบสถครอบสถานที่ประชุมเพลิงศพท่านพระอาจารย์มั่น เมื่อการตกลงจะให้เป็นอุโบสถ ก็จำเป็นต้องใช้ปัจจัยก่อสร้างเป็นจำนวนเงินหลายแสนบาท จำเป็นอยู่เองที่ท่านพระครูอุดมธรรมคุณก็จะต้องหนักใจมากที่จะดำเนินงานชิ้นนี้ให้บรรลุถึงความสำเร็จ

การก่อสร้างได้ดำเนินมาตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๓ และได้ทำพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้ทำพิธีบรรจุอัฐิธาตุของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ ไว้ภายในอุโบสถหลังนี้

ท่านพระครูอุดมธรรมคุณ ท่านก็ได้พยายามตบแต่งอุโบสถอันเป็นอนุสาวรีย์นี้จนดูสวยงามวิจิตรพิสดาร หาที่อื่นเปรียบปานได้ยาก ท่านได้อุตสาหวิริยะเป็นที่สุดในการทำนุบำรุงวัดป่าสุทธาวาส ปรับปรุงเสนาสนะจนเข้ารูปเป็นวัดที่มั่นคงแข็งแรงสง่างาม ปรับปรุงการศึกษาด้านปริยัติธรรม ตลอดถึงการแสดงธรรมแก่อุบาสกอุบาสิกา นับเป็นการจำพรรษาซึ่งเป็นเวลาอันยาวนานที่สุดในชีวิตของท่านก็คือที่นี่ คือจำพรรษาเป็นเวลา ๑๙ ปี


ป้ายชื่อวัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร


อุโบสถวัดป่าสุทธาวาส โดยได้สร้างครอบสถานที่ประชุมเพลิงศพท่านพระอาจารย์มั่น
19#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-20 11:28 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้



บริเวณกุฏิที่ท่านพระอาจารย์มั่นมรณภาพ ณ วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร
ต่อมาได้จัดสร้างเป็น “อาคารพิพิธภัณฑ์อัฐบริขารพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ”
ภายในพิพิธภัณฑ์ฯ เป็นที่ประดิษฐานอัฐิธาตุ-อัฐบริขาร-รูปหล่อเหมือนเท่าขนาดองค์จริง
และข้าวของเครื่องใช้ของท่านพระอาจารย์มั่น ฯลฯ ที่แสดงถึงความสมถะเรียบง่ายแบบพระป่า



๏ มหาทองสุกเป็นคู่ทุกข์คู่ยากกัน


จากการที่ท่านพระครูอุดมธรรมคุณได้ออกธุดงค์ติดตามท่านพระอาจารย์มั่นไปทางภาคเหนือ ทั้งจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย จนถึงประเทศพม่านั้น ก็เพื่อศึกษาฝึกฝนอบรมธรรมปฏิบัติ

ครั้งหนึ่งท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ ได้เล่าให้ฟังว่า ไปธุดงค์กับท่านพระครูอุดมธรรมคุณ พักอยู่กลางป่าบนดอยจังหวัดเชียงใหม่ ไฟได้ไหม้ล้อมเข้ามาทุกทิศ ท่านพระครูอุดมธรรมคุณได้หอบเอาบริขารของท่านพระอาจารย์มั่นมัดไว้กับตัว แล้วถือคันไม้กวาดตีไฟ กวาดใบไม้จนไฟสงบได้

ท่านพระอาจารย์มั่น ยังพูดเสมอว่า “มหาทองสุกเป็นคู่ทุกข์คู่ยากกัน”
20#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-20 11:29 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ อวสานปี ๒๕๐๘

เมื่อท่านได้ตรากตรำงานการก่อสร้างมากขึ้น ก็เป็นเหตุให้ท่านมีโรคภัยไข้เจ็บรบกวนมากขึ้นเป็นลำดับ ท่านก็พยายามรักษา แต่การเป็นโรคของท่านก็มีแต่จะทวีขึ้นท่านจึงได้มากรุงเทพฯ เพื่อจะได้รักษาให้ถูกต้องตามหลักวิชาการของแพทย์ จนได้เข้าโรงพยาบาลรักษาอยู่ที่อายุรศาสตร์ (โรงพยาบาลโรคเมืองร้อน)

ต่อมาก็ได้เข้าทำการผ่าตัดที่โรงพยาบาลศิริราช โดยมีศาสตราจารย์นายแพทย์อุดม โปษกฤษณะ เป็นผู้ดูแลการผ่าตัดและรักษา แต่อาการก็ไม่ทุเลาลงได้ มีแต่ทรงกับทรุดเท่านั้น เมื่อถึงเวลาเข้าพรรษา ท่านจึงออกจากโรงพยาบาลมาอยู่ วัดธรรมมงคล เถาบุญนนทวิหาร (วัดธรรมมงคล) ที่ผู้เขียนได้มาสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๖ อาการของท่านก็ไม่ดีขึ้นกลับทรุดหนักต่อไปอีก ศาสตราจารย์นายแพทย์อุดม โปษกฤษณะ จึงได้มารับเข้าไปโรงพยาบาลศิริราชอีกครั้ง และทำการผ่าตัดอีกเป็นครั้งที่ ๒ โรคกำเริบสุดขีดสุดความสามารถของแพทย์ที่จะทำการเยียวยา ท่านก็ได้มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ เวลา ๐๖.๐๔ นาฬิกา


“นครธรรม” ตั้งอยู่ใต้ฐานพระวิริยะมงคลมหาเจดีย์ ศรีรัตนโกสินทร์
พระมหาเจดีย์ที่สูงที่สุดในกรุงเทพฯ ณ วัดธรรมมงคล เถาบุญนนทวิหาร



ข้าพเจ้าผู้เขียน (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร) ในฐานะเป็นศิษย์ของท่านพระครูอุดมธรรมคุณ (หลวงปู่มหาทองสุก สุจิตฺโต) ขอขอบพระคุณใน ท่านศาสตราจารย์นายแพทย์อุดม โปษกฤษณะ เป็นอย่างมาก ในการให้ความอุปการะแด่ท่านพระครูอุดมธรรมคุณคราวนี้ ซึ่งเป็นการหาได้ยากมาก ถ้าท่านศาสตราจารย์ฯ ไม่อุปการะแล้วก็คงจะลำบากกว่านี้ แต่นี่ได้รับความสะดวกทุกประการ แม้ตอนที่อยู่วัดธรรมมงคลฯ ก็ยังได้ไปช่วยดูแลรักษาอยู่ตลอดเวลา บุญกุศลใดที่ผู้เขียนได้บำเพ็ญมาตั้งแต่ต้นจนบัดนี้ ขอส่งผลให้ท่านศาสตราจารย์นายแพทย์อุดม โปษกฤษณะ จงประสพอิธวิบูลมรูยผลสุขสวัสดิ์พัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล ถึงซึ่งพระนิพพานเทอญ

หลังท่านมรณภาพแล้ว ผู้เขียนได้นำศพของท่านมาบำเพ็ญกุศล ณ วัดธรรมมงคลฯ ซึ่งก็ได้บำเพ็ญกุศลตามความสามารถเป็นที่เรียบร้อย ครั้นต่อมา ท่านเจ้าคุณพระวิบูลธรรมภาณ (พระมหาประมูล รวิวํโส) เจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดสกลนคร และ ท่านเจ้าคุณพระพิศาลศาสนกิจ วัดสุทธิมงคล  พร้อมด้วยชาวเมืองสกลนครประมาณ ๒๐๐ คน ได้มารับศพท่านกลับไปจัดพิธีบำเพ็ญกุศล ณ วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้