ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2885
ตอบกลับ: 3
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ ~

[คัดลอกลิงก์]
มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ




           มนุษย์สมบัติ หมายถึง ความสมบูรณ์แห่งความเป็นมนุษย์ ซึ่งมีคุณสมบัติ ๘ อย่าง ดังต่อไปนี้

๑. มีรูปร่างหน้าตาที่สวยงาม

๒. มีทรัพย์สมบัติมาก

๓. มียศถาบรรดาศักดิ์สูง

๔. มีเกียรติยศ ชื่อเสียง

๕. มีบริวารมาก

๖. มีสติ ปัญญาดี

๗. มีสุขภาพร่างกาย  ที่แข็งแรงสมบูรณ์

๘. มีอายุยืนยาว

๑)  มีรูปร่างหน้าตาที่สวยงาม หมายถึง ผู้ที่เกิดมาในชาตินี้  มีรูปร่างหน้าตา ผิวพรรณที่สวยงาม  เพราะเหตุจากอดีตชาติ   เคยนำศีลมารักษา  กาย  วาจา ให้สะอาดปราศจากความชั่วได้มาก  มี ศีล ๕  ศีล ๘  ศีล ๑๐  ศีล  ๒๒๗  จึงส่งผลให้เกิดมาชาตินี้มีรูปร่างหน้าตาที่สวยงาม  ถ้าในชาตินี้ ผู้ใดนำศีลมารักษา   กาย  วาจา ได้มาก ไปเกิดในชาติหน้า  ก็จะมีรูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณ  ที่สวยงามอย่างแน่นอน

๒) มีทรัพย์สมบัติมาก ผู้ที่เกิดมาในชาตินี้  มีทรัพย์สมบัติมาก เพราะในอดีตชาติเคยให้ทาน ที่เป็นอามิสทาน คือการให้ทานด้วยทรัพย์สินเงินทอง  หรือทรัพย์สมบัติ  อื่น ๆไว้มาก  จึงส่งผลให้เกิดมาในชาตินี้มีทรัพย์สมบัติมาก  ถ้าในชาตินี้  ผู้ใดให้ทานด้วย อามิสทานไว้มาก ไปเกิดชาติหน้า  ก็จะเป็นผู้ที่ร่ำรวยทรัพย์สินเงินทองอย่างแน่นอน

๓) มียศถาบรรดาศักดิ์สูง ผู้ที่เกิดมาในชาตินี้  มียศถาบรรดาศักดิ์สูง เพราะในอดีตชาติ มีความซื่อสัตย์สุจริต ต่อหน้าที่การงาน  และประเทศชาติ บ้านเมือง จึงส่งผลให้เกิดมาในชาตินี้มียศถาบรรดาศักดิ์สูง  ถ้าในชาตินี้ผู้ใด ได้ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ต่อหน้าที่การงานและประเทศชาติบ้านเมือง ไปเกิดชาติหน้าก็จะมีความเจริญก้าวหน้า ในหน้าที่การงานของตน และมียศถาบรรดาศักดิ์สูง  ขึ้นตามลำดับอย่างแน่นอน

๔) มีเกียรติยศชื่อเสียง ผู้ที่เกิดมาในชาตินี้ มีเกียรติยศ ชื่อเสียง เพราะในอดีตชาติเป็นคนดี   มีความซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่การงาน  มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  มีความเป็นธรรม  ยกย่องสรรเสริญ และส่งเสริมผู้ประกอบกรรมดี ให้เจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน  ไม่อิจฉาริษยา นินทา ว่าร้ายผู้อื่น ให้เสียชื่อเสียง  จึงส่งผลให้เกิดมาในชาตินี้มีเกียรติยศชื่อเสียง  ถ้าในชาตินี้ผู้ใดเป็นคนดี มีความซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่การงาน  มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  มีความเป็นธรรม  ยกย่องสรรเสริญ และส่งเสริมผู้ประกอบกรรมดี ให้มีความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน ไม่อิจฉาริษยาว่าร้ายผู้อื่น  ให้เสียชื่อเสียง ไปเกิดชาติหน้าเขาจะเป็นคนดี  มีเกียรติยศชื่อเสียงอย่างแน่นอน

๕) มีบริวารมาก ผู้ที่เกิดมาในชาตินี้ มีบริวารมาก เพราะในอดีตชาติ มีพรหมวิหาร ๔  คือ  มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา มีความรัก ความสงสาร คนทั่วไป มีความพลอยยินดีกับคนที่ได้ดีทั่วไป และมีใจเป็นธรรม  มีความเป็นกลาง ไม่มีความลำเอียง  ให้อภัยกับผู้ที่ควรให้  จึงส่งผลให้เกิดมาในชาตินี้  มีบริวารมาก  ถ้าในชาตินี้ผู้ใด  มีพรหมวิหาร ๔ ดังที่กล่าวมาแล้ว ไปเกิดในชาติหน้า  ก็จะมีญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง และบริวารมากอย่างแน่นอน

๖)    มีสติปัญญาดี ผู้ที่เกิดมาชาตินี้ มีสติปัญญาดีเพราะ ในอดีตชาติ  ผู้นั้นเชื่อฟังคำสอนของพ่อแม่  ครูอาจารย์  เจริญสมาธิกรรมฐาน  และเจริญวิปัสสนา  คือนำคำสอนของพระพุทธเจ้า  มาพิจารณา ไตร่ตรอง  แล้วนำมาปฏิบัติตามจนรู้แจ้งเห็นจริง  ด้วยเหตุด้วยผล  เป็นผู้รู้  ผู้มีปัญญา  จึงส่งผลให้เกิดมาในชาตินี้  มีสติปัญญาดี  ถ้าในชาตินี้ผู้ใดตั้งใจปฏิบัติ  ดังที่กล่าวมาแล้วนี้  ไปเกิดชาติหน้าก็จะเป็นผู้มีสติปัญญาดีอย่างแน่นอน

๗) มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ เบียดเบียน เพราะในอดีตชาติไม่เคยทรมานสัตว์ ไม่เคยเบียดเบียนสัตว์ ให้เจ็บไข้ได้ป่วยทุกข์ทรมาน จึงส่งผลให้เกิดมาในชาตินี้  มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์  ถ้าในชาตินี้ผู้ใด ไม่ทรมานสัตว์ ไม่เบียดเบียนสัตว์  ให้เจ็บไข้ได้ป่วยทุกข์ทรมาน  ไปเกิดชาติหน้าก็จะเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน  อย่างแน่นอน

๘) มีอายุยืน ผู้ที่เกิดมาในชาตินี้ มีอายุยืนนาน เพราะในอดีตชาติ ไม่เคยฆ่าสัตว์ เช่นฆ่ามนุษย์ หรือฆ่าสัตว์น้อยใหญ่ทั้งหลาย  แต่กลับช่วยเหลือสัตว์ที่กำลังจะถูกฆ่า หรือกำลังเจ็บป่วย ให้พ้นจากความทุกข์ทรมาน ให้หายป่วย มีชีวิตรอดอยู่ต่อไป  จึงส่งผลให้เกิดมาในชาตินี้ จึงมีอายุยืน ถ้าในชาตินี้  ผู้ใดไม่ฆ่าสัตว์ แต่ได้ช่วยเหลือสัตว์ที่เจ็บป่วยให้หายป่วย มีชีวิตรอดอยู่ต่อไป ไปเกิดในชาติหน้า จะเป็นผู้ที่มีอายุยืนอย่างแน่นอน  ดังจะเห็นได้จาก  มนุษย์ที่เกิดมาในโลกนี้  มีอายุที่แตกต่างกัน ผู้ใดฆ่าสัตว์มามากก็จะอายุสั้น                                                                                                                  

คำว่า  “มนุษย์สมบัติ” หมายถึง ผู้ที่มีคุณสมบัติ ๘ อย่าง เพียบพร้อมสมบูรณ์ทุกประการ ผู้ที่เกิดมาในชาตินี้ จะมีคุณสมบัติเพียบพร้อมทุกอย่างนั้นหายาก  จะมีอยู่บ้างก็ส่วนน้อย เพราะเหตุจากอดีตชาติ สร้างคุณสมบัติ ๘ อย่างนี้ มามากน้อยแตกต่างกัน จะเห็นได้ว่า มนุษย์ในโลกนี้  จะมีคนสวย  คนไม่สวย  มีคนรวย  คนจน บางคนมีชื่อเสียง  มียศถาบรรดาศักดิ์  บางคนไม่มีชื่อเสียง ไม่มียศถาบรรดาศักดิ์ บางคนมีญาติพี่น้องเพื่อนฝูง บริวารมาก บางคนไม่มีเพื่อนฝูงบริวาร ไม่มีญาติพี่น้อง บางคนมีสติปัญญาดี บางคนโง่เขลาเบาปัญญา บางคนมีร่างกายที่แข็งแรง ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน   บางคนมีอายุยืน บางคนมีอายุสั้น ถ้าท่านอยากมีมนุษย์สมบัติทั้ง ๘ อย่างนี้ ในชาติหน้า   ขอให้ท่าน ได้สร้างคุณสมบัติทั้ง ๘ อย่างนี้ให้มาก แล้วท่านจะได้ไปเกิดเป็นผู้มี  มนุษย์สมบัติ  ในชาติต่อไป ถ้าในชาตินี้ท่านสร้างคุณสมบัติ ทั้ง ๘ อย่างนี้ปานกลางหรือน้อย ในชาติหน้าท่านจะมี มนุษย์สมบัติ ปานกลางหรือน้อย ตามลำดับ



สวรรค์สมบัติ



สวรรค์ เป็นที่สถิต ของวิญญาณ ที่มีบุญ  ผู้ที่จะไปสวรรค์ได้ก็คือ ผู้ที่มีทาน มีศีล มีสมาธิมาก มีสติปัญญาพอสมควร ขณะที่ยังเป็นมนุษย์อยู่  ก็ประกอบแต่กรรมดี  มีคุณธรรมประจำใจ  เช่น มีพรหมวิหาร ๔ คือ มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา คือ มีความรักที่กว้างขวาง อยากให้ทุกชีวิต ทุกวิญญาณมีความสุข มีความสงสารอย่างกว้างขวาง อยากให้ทุกชีวิตทุกวิญญาณ  พ้นจากความทุกข์ทรมาน  มีความพลอยยินดีกับทุกชีวิต ทุกวิญญาณ ที่ได้ดีมีความสุข  มีอุเบกขา  มีความเป็นธรรม  มีความเป็นกลางกับทุกชีวิต ทุกวิญญาณ ไม่มีความลำเอียง   ถ้าผู้ใดมีคุณธรรมทั้ง ๔ อย่างนี้ มากน้อยแตกต่างกัน  ก็จะไปเกิดในสวรรค์ชั้นใดชั้นหนึ่ง  ตามบุญบารมีที่สร้างไว้  ซึ่งสวรรค์มีด้วยกันหลายชั้นเช่น ชั้นจาตุมหาราชิก   ชั้นดาวดึงส์  ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดีชั้นปรนิมมิตวสวัตีสวรรค์ เป็นต้น  (ตามตำราว่าไว้) ในสวรรค์  แต่ละชั้นก็มีอายุแตกต่างกัน บางชั้น ๑ วันของสวรรค์ เท่ากับ ๑๐๐ ปี  ของเมืองมนุษย์  บางชั้น ๑ วัน ของสวรรค์เท่ากับ ๕๐ ปี  ๓๐ ปี , ๒๐ ปีของเมืองมนุษย์เป็นต้น  ขึ้นอยู่กับ  ผู้สร้างกรรมดี มีทาน ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นบุญบารมีที่ส่งผลให้ไปเกิดบนสวรรค์ ชั้นใดชั้นหนึ่ง  เมื่อสิ้นชีวิต สิ่งที่จะติดตัวตามตนไปได้นั้น มีขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ส่วนรูปที่เป็นกายหยาบ จะเปลี่ยนไปเป็นกายทิพย์ มีอาหารอันเป็นทิพย์ ไม่ต้องเลี้ยงด้วยอาหารที่หยาบ เหมือนขณะที่เป็นมนุษย์ แต่กิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็ยังมีอยู่ ผู้ที่ไปเกิดบนสวรรค์ ไม่ใช่ผู้ที่หมดกิเลส เพียงแต่ผู้นั้นทำความดีมาก เกินกว่าที่จะมาเกิดเป็นมนุษย์ ผลบุญจึงให้ไปเกิดบนสวรรค์ชั่วคราว  เมื่อหมดบุญแล้วจะต้องจุติลงมาเกิดเป็นมนุษย์ หรือสัตว์เดรัจฉาน  หรือลงนรกได้อีก  แล้วแต่กรรมดี  กรรมชั่วที่ได้ทำไว้ ในชาติที่เป็นมนุษย์  ผู้ใดต้องการมีสวรรค์สมบัติ ในชาติหน้า ต้องสร้างทานให้มากในชาตินี้ มีอามิสทาน วิทยาทาน อภัยทาน ธรรมทาน นำศีลมารักษากาย วาจา ให้สะอาดปราศจากความชั่ว มีศีล ๕ ศีล  ๘  ศีล ๑๐  ศีล ๒๒๗  ตามสมควรแก่ตน  ศึกษาพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เจริญสมาธิเพื่อฝึกสติให้ควบคุมจิตให้สงบ แล้วนำคำสอนมาพิจารณาไตร่ตรอง ให้รู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรม  คือความจริงที่สามารถพิสูจน์ได้  ที่เรียกว่า ปัญญา

         ขอท่านทั้งหลายได้โปรดพิจารณา การกระทำกรรมดีของท่านว่า พอที่จะมีสวรรค์สมบัติแล้วหรือยัง ถ้ายังขอให้ท่าน จงรีบสร้างบุญบารมีดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เมื่อท่านสิ้นชีวิตลง กรรมดีที่ท่านสร้าง ก็จะส่งผลให้ท่านไปเกิดในสวรรค์ชั้นใดชั้นหนึ่ง ตามบุญบารมีที่ท่านสร้างไว้ ส่วนผู้ใดที่มีสวรรค์สมบัติอยู่แล้ว ขอให้ท่านสร้างกรรมดีให้มากยิ่ง ๆ ขึ้นไป  เมื่อท่านสิ้นชีวิตลง  ผลบุญบารมีที่ท่านสร้างจะส่งให้ท่านไปเกิดในสวรรค์ชั้นสูง ขึ้นไปตามลำดับอย่างแน่นอน  

2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-20 00:05 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
นิพพานสมบัติ



นิพพาน  หมายถึง ความดับสนิทแห่งกิเลส และกองทุกข์


นิพพานสมบัติ  เป็นคุณสมบัติของพระอรหันต์

ผู้ที่จะเข้าสู่นิพพานได้ต้องชำระกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต  ให้หมดสิ้นไปจากจิตใจ   ในชาตินี้ ที่เรียกว่า  “สำเร็จอรหันต์”

ผู้ที่จะสำเร็จอรหันต์ได้นั้น ต้องสร้างบุญบารมีมาแต่ชาติปางก่อน หลายภพ หลายชาติแล้ว ดังบารมี ๑๐ ทัศ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้สร้างบุญบารมีทั้ง ๑๐ อย่าง มาก่อน  ดังนี้

๑)  พระเตมีย์ใบ้ เนกขัมมะบารมี สร้างบารมี ด้วยการออกบวช

๒)  พระมหาชนก วิริยบารมี สร้างบารมี ด้วยความเพียรพยายาม

๓)  พระสุวรรณสาม เมตตาบารมี สร้างบารมี ด้วยความรัก และการให้อภัย

๔)  พระเนมิราช อธิษฐานบารมี สร้างบารมี ด้วยการตั้งปณิธาน แล้วทำให้สำเร็จ

๕)  พระมโหสถ ปัญญาบารมี สร้างบารมี ด้วยการใช้ปัญญาช่วยแก้ไข ปัญหาให้เกิดความเป็นธรรม

๖)  พระภูริทัต ศีลบารมี สร้างบารมี ด้วยการรักษาศีล ให้บริสุทธิ์ แม้จะต้องเสียสละชีวิต

๗)  พระจันทกุมาร ขันติบารมี สร้างบารมีด้วยความอดทน ไม่โกรธ ไม่อาฆาต ไม่พยาบาท

๘)  พระนารท อุเบกขาบารมี สร้างบารมี ด้วยความเป็นกลาง และเป็นธรรม

๙)  พระวิฑูรบัณฑิต สัจจะบารมี สร้างบารมี ด้วยการรักษาวาจาสัตย์

๑๐)  พระเวสสันดรชาดก ทานบารมี สร้างบารมีด้วยการให้ทาน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้สร้างบารมี  ๑๐ ทัศ  มากมายถึงเพียงนี้    จึงได้มาเป็นพระพุทธเจ้า  เป็นศาสดาเอกของโลก ในพระพุทธศาสนา  ส่วนการที่จะเข้าสู่นิพพาน นั้น  ก็ต้องสร้างบารมี  ๑๐  อย่างนี้ให้สมบูรณ์  ดังจะได้กล่าวต่อไปนี้   



ชาติที่ ๑. พระเตมีย์ใบ้   ทรงบำเพ็ญเนกขัมมะบารมี

พระเตมีย์กุมาร ผู้ทรงบำเพ็ญเนกขัมมะบารมี หมายถึง ผู้ที่บำเพ็ญบารมี เพื่อที่จะละจากกามคุณทั้ง ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ ละจากลาภ ยศ สรรเสริญ สุข (โลกธรรม ๘) ซึ่งมองเห็นว่าสิ่งเหล่านี้นำทุกข์มาให้ทั้งสิ้น

ชาติที่ ๒. พระมหาชนก ผู้บำเพ็ญวิริยบารมี

พระมหาชนก ผู้บำเพ็ญวิริยบารมี หมายถึงผู้ที่บำเพ็ญบารมีด้วยความวิริยอุตสาหะ จนสามารถประสบความสำเร็จ ในสิ่งที่พึงปรารถนา ดังที่ตั้งใจไว้ มุ่งบำเพ็ญวิริยะ โดยไม่ย่อท้อ  ต่อความยากลำบาก แม้จะต้องเสี่ยงด้วยชีวิตก็ยอม เพื่อให้สำเร็จลุล่วง ตามความประสงค์นั้น ๆ

ชาติที่ ๓ พระสุวรรณสาม

พระสุวรรณสาม ผู้บำเพ็ญเมตตาบารมี หมายถึง พระสุวรรณสาม แม้จะถูกทำร้าย บาดเจ็บสาหัส แต่ท่านก็ยังแผ่เมตตาจิต ไปยังผู้ที่ทำร้าย โดยไม่มีความโกรธเคือง หรืออาฆาตพยาบาทแต่อย่างใด  มีการให้อภัย ตลอดเวลา  นี้คือ การสร้างเมตตาบารมี ของพระสุวรรณสาม

ชาติที่ ๔ พระเนมิราช

พระเนมิราช  ผู้ทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมี  ไม่ลุ่มหลงมัวเมากับความสุขที่มีอยู่บนสวรรค์ พระองค์ทรงทำตามคำอธิษฐานว่าจะมาปกครอง เมืองมนุษย์ให้อยู่ร่มเย็น เป็นสุข แม้พระอินทร์จะเชิญให้ท่านไปปกครองบนเมืองสวรรค์ก็ตาม ท่านก็ไม่ยินดี นี้คือ การสร้างอธิษฐานบารมี

ชาติที่ ๕ พระมโหสถ

พระมโหสถ ผู้ทรงบำเพ็ญปัญญา บารมี หมายถึง ใช้ปัญญาในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี  ในเมืองมิถิลานั้นมีปัญหาต่าง ๆ มากมาย ที่ไม่มีใครสามารถแก้ปัญหาได้  แต่พระมโหสถแม้ยังเยาว์วัย  ก็สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ  ได้ทุกเรื่องด้วยปัญญาอันเป็นเลิศ  

ชาติที่ ๖ พระภูริทัต

พระภูริทัต ผู้ทรงบำเพ็ญศีลบารมี หมายถึง การนำศีลมารักษากาย วาจา ให้สะอาดปราศจากความชั่ว ยอมสละแม้ชีวิต  ถึงแม้ได้รับความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน สักเพียงใด ก็อดทนไม่แสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ทำร้ายผู้อื่น  เพื่อให้กาย วาจา สะอาดบริสุทธิ์  ปราศจากความชั่ว


ชาติที่ ๗ พระจันทกุมาร

พระจันทกุมาร ผู้ทรงบำเพ็ญขันติบารมี หมายถึง พระจันทกุมาร อดทนที่ต้องสูญเสียพระราชมารดา ญาติ พี่น้อง อันเป็นที่เคารพรัก อดทนที่ถูกคุมขัง ทุกข์ทรมาน แม้จะถูกบูชายันต์ เพราะเป็นความประสงค์ ของพระราชบิดา อดทนไม่แสดงความโกรธ หรือขัดขืนใด ๆ เสียสละ แม้ชีวิตของตนเอง เพื่อให้สมปรารถนาของพระราชบิดา นี้คือ หนึ่งในสิบชาติของพระพุทธเจ้า


ชาติที่ ๘ พระนารทกัสปะ

พระนารทกัสปะ ผู้ทรงบำเพ็ญอุเบกขาบารมี หมายถึง การบำเพ็ญเพียรด้วยความเป็นกลาง มีความเป็นธรรม  ด้วยความเป็นธรรมของ พระนารทกัสปะ เห็นว่าพระเจ้าอังคติราช ได้ทำผิดคิดชั่ว ผิดศีล ผิดธรรม ได้นำศีล ๕  ธรรม  ๕ มาแสดงจนช่วยให้พระเจ้าอังคติราช ได้กลับตัวกลับใจ ละชั่วประพฤติดี  นำศีล ๕ ธรรม ๕ มารักษา  กาย วาจา  ให้สะอาดปราศจากความชั่ว   เป็นผู้มีศีล  มีธรรมประจำ กาย  วาจา  ใจ

ชาติที่ ๙  พระวิฑูร (วิ) บัณฑิต

พระวิฑูรบัณฑิต ผู้ทรงบำเพ็ญสัจจะบารมี หมายถึง รักษาสัจจะวาจา ไม่โกหก หลอกลวง พูดแต่คำสัตย์ พูดแต่ความจริง  เมื่อครั้งพระเจ้าธนญชัยโกรพ  แพ้พนันสกากับปุณณกะยักษ์  ยอมยกราชสมบัติ  และข้าทาสบริวารให้ทั้งหมด  แต่ปุณณกะยักษ์ต้องการเพียงตัวพระวิฑูรบัณฑิต แต่พระเจ้าธนญชัยโกรพไม่ยอม  ตรัสว่า พระวิฑูรบัณฑิต เป็นอาจารย์ ไม่ใช่สมบัติของพระองค์  ไม่สามารถยกให้ได้  ทั้งสองจึงได้เรียกพระวิฑูรบัณฑิต มาถามเพื่อตัดสิน พระวิฑูรบัณฑิต จึงไม่ยอมโกหก  พูดความจริง ว่าเปรียบตนเองเป็นข้าทาสของ พระเจ้าธนญชัยโกรพ  และยอมที่จะไปกับปุณณกะยักษ์  หลังจากนั้นปุณณกะยักษ์  พยายามจะฆ่าพระวิฑูรบัณฑิตด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อจะเอาหัวใจไปถวายนางวิมาลา  แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะมีสัจจะบารมีคุ้มครอง เป็นเหตุให้พ้นจากภัยอันตรายต่าง ๆได้

ชาติที่ ๑๐ พระเวสสันดรชาดก

พระเวสสันดรชาดก  ผู้ทรงบำเพ็ญทานบารมี หมายถึง การบำเพ็ญทาน คือ การให้ ทั้งทรัพย์สมบัติ เงินทอง และบุตร ภรรยา ทานทุกอย่างที่เป็นของรักของหวง ก็สามารถให้ทาน  ได้ดังที่ชาวพุทธได้ฟัง  เทศนาเรื่องพระเวสสันดรชาดก  กันประจำทุกปี  นี้คือบำเพ็ญทานบารมี  ในชาติที่  ๑๐ ของพระพุทธเจ้า  

         พระองค์สร้างบารมีทั้ง  ๑๐ ชาติ  ๑๐ อย่างนี้แล้ว  ก็ยังไม่ได้เข้าสู่พระนิพพาน  พระองค์ยังต้องมาเกิดอีกในชาติสุดท้าย  เป็นเจ้าชายสิทธัตถะราชกุมาร  มีมนุษย์สมบัติโดยสมบูรณ์  พระองค์ท่านก็ยังมีความทุกข์กับ  ราชสมบัติ  พระมเหสี  พระราชโอรส ข้าทาสบริวาร  และกายของพระองค์ท่าน  ที่ต้องมีการเกิด  แก่ เจ็บ ตาย ต้องเวียนว่ายตายเกิดไม่มีวันที่สิ้นสุด  ในที่สุดพระองค์ท่านได้ตัดสินใจเสด็จออกบวช  เพื่อหาทางพ้นทุกข์  เพราะไม่อยากมาเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอีกต่อไป ในที่สุดพระองค์ท่านก็พบสัจธรรม  เป็นความจริงที่สามารถพิสูจน์ได้  คือพระองค์ท่านทรงเห็นกิเลส คือความโลภ  ความโกรธ  ความหลง ทั้งสามอย่างนี้  ที่เป็นเหตุของการเกิดทุกข์  พระองค์ทรงมีความเพียรอันเป็นเลิศ  สามารถชำระกิเลส ความโลภ  ความโกรธ ความหลง ให้หมดสิ้นไปจากจิตใจ  พระองค์พ้นจากความทุกข์ใจในที่สุด  เมื่อพระองค์ตรัสรู้แจ้งเห็นจริงแล้ว  ทรงสั่งสอนมนุษย์   พระองค์ทรงแสดงธรรม  อบรมสั่งสอนให้ปัญจวัคคีย์ทั้ง  ๕  เป็นครั้งแรก  และมีพระอัญญาโกณฑัญญะ  ที่มีดวงตาเห็นธรรมเป็นคนแรก  จากนั้นก็เสด็จแสดงธรรมเผยแผ่พระพุทธศาสนาทุกสถานที่  เมื่อมีพระชนมายุได้  ๘๐  พรรษา  พระพุทธองค์ก็เสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน  ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป  นี้คือความหมายของคำว่า “นิพพานสมบัติ”

         บารมี ๑๐ อย่างนี้ ได้ติดตัวตามตนพระองค์ท่านมาแต่ชาติปางก่อน ได้ส่งผลให้มาเกิดเป็นมนุษย์ในชาตินี้  พระองค์ท่านก็ต้องสร้างบารมี ๑๐ อย่าง นี้ต่อไป เพื่อชำระกิเลสคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หมดสิ้นไปจากจิตใจ ความทุกข์ต่างๆ ก็จะหมดสิ้นไปด้วย   เมื่อดับแล้วซึ่งกิเลสและกองทุกข์ทั้งหลาย  จิตของท่านจะสงบแจ่มใสไร้มลทิน จะมีความรู้สึกสบายใจ ไม่สุข ไม่ทุกข์ กับสิ่งที่มากระทบ  ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อีกต่อไป ท่านจะได้นิพพานสมบัติ  ตั้งแต่ท่านยังมีชีวิตอยู่  นี้คือ  ความดับทุกข์เพราะหมดกิเลส  จิตสะอาดบริสุทธิ์ ผ่องใสไร้มลทิน  เมื่อดับขันธ์เข้าสู่นิพพาน ไม่ต้องมาเวียนว่าย ตายเกิด ในวัฏสงสารอีกต่อไป จะมีแต่ความสุขชั่วนิจนิรันดร


         ท่านทั้งหลายที่ยังไม่สร้างบารมีทั้ง ๑๐ อย่างนี้ ก็ขอให้ท่านเริ่มปฏิบัติตามคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เช่น ฝึกการให้ทาน ฝึกการนำศีลมารักษากาย วาจา ฝึกสมาธิเพื่อให้จิตสงบเมื่อจิตสงบแล้วใช้จิตให้พิจารณาคำสอนบทต่าง ๆ ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่เรียกว่า “วิปัสสนา” เพื่อให้เกิด  ปัญญา  รู้แจ้งเห็นจริงตามคำสอน เช่น พระองค์ท่านตรัสสอนให้เราพิจารณาว่า  ตัวเราประกอบไปด้วย ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ รูป ๑ นาม ๘ ไม่มีตัวไม่มีตน สักแต่เรียกว่า รูปกับนาม ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่  แล้วต้องดับไปในที่สุด ดังคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ว่า

อนิจจัง  คือความไม่เที่ยง  มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

ทุกขัง  คือ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ มีสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นรูปหรือนาม เป็นทุกข์ทั้งสิ้น

อนัตตา คือ ความสูญเปล่า ไม่ว่าสิ่งใด จะเป็นรูปหรือนามในโลกนี้  จะต้องมีการสูญสลายไปตามกาลเวลา  

         ถ้าท่านพิจารณาได้ดังที่กล่าวมานี้  ถือว่าท่านเป็นผู้มีปัญญา  เห็นสัจธรรม  คือเข้าใจอย่างถ่องแท้แล้วว่า  มนุษย์ที่เกิดมา  มีร่างกาย  ซึ่งเป็นรูปธรรม  และมีจิตเป็นนามธรรม  ซึ่งมีกิเลส  ความโลภ  ความโกรธ  ความหลง  ครอบงำจิตมาโดยตลอดทุก ๆ ชาติ  เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต  มีความเป็นทุกข์  เพราะจิตเป็นทาสของกิเลส  พาให้ลุ่มหลงมัวเมาใน  ลาภ ยศ  สรรเสริญ สุข และติดอยู่ใน รูป  เสียง  กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์   ยึดมั่นถือมั่น  ว่าสิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้  แม้กระทั้งตัวเราว่า  เป็นสิ่งที่จะบันดาลความสุขทั้งหลายทั้งปวง  จึงแสวงหาให้ได้มาไม่มีที่สิ้นสุดนี้คือ ผู้ที่รู้เหตุของการเกิดทุกข์  ตามคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า  ผู้ใดอยากเข้าสู่พระนิพพาน  ต้องชำระกิเลสทั้งสามอย่างนี้  ให้หมดสิ้นไปจากจิตใจ   

         ขอให้ทุกท่านจงประพฤติ ปฏิบัติตามพระธรรม  คำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า  ให้ได้มนุษย์สมบัติ  สวรรค์สมบัติ   และนิพพานสมบัติ  ด้วยกันทุกท่าน...เทอญ...

  ขอบคุณครับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้