ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ ตำ น า น พ ร ะ ป ริ ต ร ~

[คัดลอกลิงก์]
21#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-19 22:58 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เมื่อนายมะฆะมานพทำเช่นนี้เป็นอาจิณ
ผู้คนชนทั้งหลายที่สัญจรไปมาก็พากันเข้าไปถามว่า

สหายท่านกำลังทำอะไรอยู่

มะฆะมานพก็ตอบว่า

เรากำลังทำทางไปสวรรค์ ชนเหล่านั้นก็ขอร่วมทำด้วย
จนมีสมัครพรรคพวกเป็นเพื่อนถึง ๓๓ คน มะฆะมานพ
จึงพาทำทางได้ระยะไกลถึง ๒ โยชน์ หมู่ชนทั้งหลาย


เมื่อเดินทางได้รับความสะดวกสบาย
ต่างก็พากันสรรเสริญมะฆะมานพและบริวารเป็นอันมาก

ฝ่ายนายบ้าน ผู้เป็นเจ้าหน้าที่ปกครองท้องถิ่น
เห็นฝูงชนยกย่องสรรเสริญมะฆะมานพและบริวาร
ก็บังเกิดความริษยา จึงหาเรื่องเข้ามาว่ากล่าวว่า

เจ้าทั้งหลายกระทำอะไรไร้ประโยชน์
ทำไมไม่ใช้เวลาและแรงที่มีไปหาเนื้อหาปลามาเป็นอาหาร
วัยฉกรรจ์อย่างพวกเจ้าควรที่จะไปเที่ยวเล่น ดื่มสุรา
เที่ยวดูการละเล่นยังจะสนุกเพลิดเพลินเสียกว่า
อย่ามามัวเหนื่อยเปล่ากับ เรื่องไม่เป็นประโยชน์เหล่านี้อยู่เลย


มะฆะมานพและบริวารทั้ง ๓๓ คน ก็หาได้เชื่อฟังคำของนายบ้านไม่

นายบ้านจึงผูกใจโกรธ นำเรื่องไปเท็จทูลพระราชาว่า

มะฆะมานพและบริวาร เป็นคนเกเรไม่ทำมาหากิน
คอยดักปล้นสะดมผู้คนที่เดินทาง


พระราชา พอได้ฟังคำเท็จทูลของนายบ้านก็หลงเชื่อ
มีรับสั่งให้พนัก งานไปจับตัวมะฆะมานพและบริวารทั้ง ๓๓ คนมาลงโทษ
ด้วยการให้นอนลงกับพื้นแล้วต้อนช้างพลายผู้ดุร้ายให้ไปเหยียบ

ขณะที่ช้างพลายที่ดุร้ายจะมาเหยียบนั้น
มะฆะมานพได้สั่งให้บริวารทั้ง ๓๓ คน
เจริญเมตตาไว้ในใจ อย่าผูกโกรธ เคืองแค้นต่อนายบ้าน
แผ่เมตตาให้แก่พระราชาและช้างพลายที่จะตรงมาเหยียบ

ด้วยอานุภาพแห่งเมตตาของมะฆะและบริวาร
ช้างพลายที่ดุร้ายนั้นพลัน ก็ยืนสงบนิ่ง
ไม่ยอมที่จะก้าวเดินไปเหยียบมะฆะและบริวาร


ข้างพระราชาทรงประทับทอดพระเนตรการลงทันต์อยู่
ทรงเห็นว่าช้างไม่ยินยอมที่จะย่างเหยียบคนทั้ง ๓๓
ก็ให้พนักงานนำเอาเสื่อลำแพนมาปกคลุมร่างของคนทั้ง ๓๓ คนเสีย
ด้วยคิดว่าช้างอาจจะเห็นเป็นคน เลยมิกล้าที่จะเดินเหยียบได้

เมื่อชาวพนักงานนำเสื่อลำแพนมาคลุมร่างมะฆะมานพและบริวารมิดชิดแล้ว
จึงให้ควาญช้างไสช้างพลายนั้นให้ก้าวเหยียบไปบนเสื่อลำแพน
มิใยที่ควาญช้างจะโขกสับ บังคับไสช้างพลายนั้นให้เดินสักปานใด
ช้างนั้นก็ยืนสงบนิ่ง มิขยับ เขยื่อนเลื่อนไปแม้แต่ก้าวเดียว

พระราชาครั้นได้ทรงทอดพระเนตรเห็นดังนั้น จึงทรงดำริว่า

เอ...นี่มันเกิดอาเภทเหตุอัศจรรย์ใดกันหนอ
ทำไมชนทั้ง ๓๓ คนนี้ จึงมิได้มีอันตรายใดๆ

จากการลงทันต์ในครานี้เลย
ชะรอยเราต้องเรียกมาไตร่สวนดูให้รู้ความจริง
และแล้วจึงทรงมีพระดำรัสเรียกมะฆะมานพและบริวารเข้าเฝ้า


เมื่อมะฆะมานพและบริวารได้เข้าเฝ้าเบื้องหน้าพระพักตร์แล้ว

พระราชาจึงทรงมีพระดำรัสตรัสถามขึ้นว่า

อาชีพที่สุจริตในแผ่นดินนี้มีออกมากมาย
เหตุใดพวกเจ้าจึงพากันเป็นโจร ประกอบทุจริต

22#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-19 22:59 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
มะฆะมานพครั้นได้ฟังพระราชาทรงตรัสตำหนิถามดังนั้น จึงกราบทูลว่า

ข้าแต่องค์ราชะผู้ประเสริฐ ข้าพระพุทธเจ้าและสหาย
มิได้เป็นผู้ทำอาชีพทุจริตผิดกฎหมาย
พวกข้าพระพุทธเจ้าเป็นสุจริตชน
สิ่งที่ข้าพระพุทธเจ้าทำ คือทางไปสวรรค์
แต่กลับถูกกล่าวหาว่าเป็นโจร เหตุเพราะนายบ้านมีความริษยา
ผูกโกรธคิดกลั่นแกล้งใส่ความพวกข้าพระพุทธเจ้า
ถ้าพระองค์ไม่เชื่อ ขอได้ทรงโปรดให้ขุนทหาร
ไปเรียกชาวบ้านมาไตร่ถาม ความจริงก็จะปรากฏ


พระราชาจึงส่งขุนทหาร ไปเกณฑ์ชาวบ้านมาไตร่ถาม
จึงได้ทรงทราบความจริงว่า

มะฆะมานพ และบริวารได้ชวนกันทำงาน ไปสวรรค์จริงๆ

จึงทรงปราโมทย์ยินดี ทรงพระราชทานช้างพลายตัวนั้น
ให้แก่มะฆะมานพ และบริวาร อีกทั้งยังทรงมีรับสั่งให้
นายบ้านผู้มีจิตริษยานั้น ตกเป็นทาสของมะฆะมานพด้วย

ช้างมะฆะมานพและสหาย
เมื่อได้เห็นอานิสงส์ผลบุญ ที่พวกตนได้ร่วมกันกระทำ
ปรากฏให้เป็นที่ประจักษ์
จิตโสมนัส ศรัทธาในการบำเพ็ญบุญนั้นมากยิ่งขึ้น


ซึ่งนอกจากทำทาง ทำสถานที่ร่มรื่นให้ผู้คนและสัตว์
ที่กำลังเดินทางได้หยุดพักแล้ว
ยัง ได้ช่วยกันทำศาลาพักผ่อน ขุดสระ
ทำปลูกพืชผักผลไม้เอาไว้ให้ผู้คนที่หิวกระหายได้ตักดื่ม เก็บกิน
จนเป็นที่สำราญของผู้คนที่เดินทางผ่านไปมา ณ ตำบลบ้านนี้

นอกจากมะฆะมานพ จะเป็นผู้ชอบบำเพ็ญบุญดังกล่าวมาแล้ว
ยังจะเป็นผู้ปฏิบัติ ข้อวัตตะบท ๗ ประการ โดยบริบูรณ์ คือ


- ปฏิบัติเลี้ยงดูรักษาบิดามารดา
- อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล
- กล่าวความสัตย์ ไม่โกหก
- ไม่พูดหยาบคาย
- มีวาจาที่สุภาพ เรียบร้อย ระรื่นหูแก่ผู้ได้สดับ ไม่ส่อเสียดยุยง
- ไม่ตระหนี่ ยินดีในการให้
- เป็นผู้ที่มีปกติไม่โกรธ


ครั้นเมื่อถึงกาลมรณะสมัย มะฆะมานพและสหายได้ทำกาลกิริยาลง
ด้วยสิ้นอายุขัย ผลบุญที่ตนได้ทำเอาไว้ ส่งผลให้มะฆะมานพ
ไปบังเกิดเป็น พระอินทร์


ในเทพพิภพ พร้อมด้วยสหายอีก ๓๒ องค์
จึงรวมเป็นเหล่าเทพ ๓๓ องค์ เทพนครแห่งนั้น
จึงเปลี่ยนชื่อเป็น ตาวะตึงสะ หรือ ดาวดึงส์สวรรค์ ซึ่งแปลว่า ๓๓

ส่วนเทพยดา ที่สถิตในเทพนครนี้อยู่เดิม
เห็นเทพบุตรเกิดขึ้นใหม่ มีวรกายสง่างาม รัศมีกายเรืองรอง
จึงใคร่ผูกสมัครมิตรไมตรี พากันจรลี
ไปจัดสรรคัดหาโภชนาหารอันเลิศรส พร้อมกับเหล้าหอม
ชื่อคันธบาน แล้วชวนกันนำไปเลี้ยงแก่บรรดาเทพบุตรทั้ง ๓๓ องค์ที่บังเกิดใหม่

พระอินทร์ จึงแอบกระซิบแก่เทพบริวารทั้ง ๓๒ ว่า
อย่าดื่มน้ำคันธบานนั้น แต่ให้แสร้งทำประหนึ่งว่า
ได้ดื่มน้ำเหล้านั้นเข้าไปด้วย

ฝ่ายเทพดาที่สถิตอยู่ในเทพพิภพเดิม ก็มิได้คิดระแวงอันใด
จึงพากันดื่มเหล้าหอมนั้นเข้าไป จนเมามายหมดสติ มิอาจทรงกายอยู่ได้
จึงลงนอนและหลับไปในที่สุด ฤทธิ์แห่งเหล้าหอมนั้น
ทำให้เทพดาเก่าหลับไปนานถึง ๔ เดือน
23#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-19 22:59 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระอินทร์จึงกล่าวแก่เทพบริวารว่า
พวกเทพเหล่านี้ มัวเมา ประมาท จนขาดสติ
นอนได้แม้ในที่ที่มิมีใครนอน
แถมส่งเสียงเอะอะละเมอเหมือนกับคนบ้า ผ้าผ่อนภูษาก็หลุดลุ่ย

ขืนให้อยู่บนเทพพิภพรังแต่จะทำให้ เทพนครเสื่อมเสีย
มาเถิดสหายทั้ง ๓๒ เอ๋ย มาช่วยกันจับเทพขี้เมาเหล่านี้โยนลงสู่มหาสมุทรกันเถิด

เมื่อเทพขี้เมาเหล่านั้น โดนจับโยนลงมหาสมุทร
ร่างกระทบภาคพื้นพิภพใต้มหาสมุทร
เทพวิมานที่สำเร็จด้วยบุญฤทธิ์ของเทพขี้เมาเหล่านั้นก็ปรากฏขึ้น
มีสภาพดุจดัง เทพนครบนสวรรค์มิได้ผิด
จะต่างก็ตรงต้นปาริจฉัตตกะ ซึ่งมีอยู่บนเทพนครชั้นดาวดึงส์
แต่ในเทพพิภพมีแต่ต้นแคฝอย
ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ต้นจิตตปาตลี

เทพขี้เมาทั้งหลาย เมื่อฟื้นคืนสติขึ้นมา
จึงได้รู้ว่าพวกตนถูกเทพบุตรใหม่ทั้ง ๓๓ องค์
จับโยนลงมาอยู่ในมหาสมุทร ก็ให้นึกละอาย แล้วก็พากันดำริขึ้นว่า

นี่คงเป็นเพราะชาวเราทั้งหลายมัวเมาประมาท
กินเหล้าจนขาดสติหลับไป
จึงโดนเทพใหม่เหล่านั้นกลั่นแกล้งให้ได้อาย
เป็นเพราะน้ำเหล้าหอมนั้นเชียว

เราทั้ง หลายเอ๋ย ต่อนี้ไปจงอย่ากินเหล้าอีกเลย
ด้วยว่าดำริเช่นนี้
เทพขี้เมาเหล่านี้ ก็เลยเป็นเทพที่ไม่ยอมเมาอีกต่อไป
จนได้ชื่อว่า อสูร


อสูรนั้น ได้พักอาศัยอยู่ใน อสูรพิภพ
ซึ่งมีสภาพเหมือนกับเทพนครทุกอย่าง
ซึ่งทุกอย่างก็สำเร็จได้ด้วยบุญฤทธิ์ของตน ของตน
ต่างตนต่างก็อยู่อย่างเป็นสุข สถิตสถาพร
และมีหัวหน้าที่สำเร็จด้วยบุญฤทธิ์ ชื่อว่า ท้าวเวปจิตติอสูร

กาลต่อมา ลุถึงฤดูต้นแคฝอยออกดอก
เหล่าอสูรทั้งหลายต่างพากันหวนคำนึงนึกถึง เทพนครสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ซึ่งเป็นที่สถิตของต้นปาริจฉัตตกะ มีดอกใหญ่สีสวยกลิ่นหอม
เมื่อถึงคราวฤดูออกดอกก็ส่งกลิ่นทำให้เทพนครหอมอบอวนเป็นที่รื่นรมณ์ยิ่งนัก

เหล่าอสูรทั้งหลาย ก็พากันหวนคำนึงระลึกถึง เทพนครสวรรค์
เวปจิตติอสูร ผู้เป็นหัวหน้า จึงชักชวนพลโยธา จัดเตรียมเป็นกองทัพ
เพื่อไปชิงเอาเทพนครสวรรค์กลับมาเป็นของตน
พร้อมทั้งยกทัพ ขึ้นไปท้ารบกับพระอินทร์

องค์อินทราชจึงมีเทวบัญชา
ให้ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ แต่งกองทัพเทวดาลงไปรักษาเชิงเขาพระสุเมรุในทิศทั้ง ๔
คอยสู้รบ รุกรับ ขับไล่ต่อกรกับพวกอสูร
ซึ่งบางครั้งก็มีชัย บางครั้งก็พ่ายแพ้

คราใดที่ท้าวจาตุมทั้ง ๔ พ่าย
ก็พาทัพเทวดาถอยร่นขึ้นไปจนถึงประตูสวรรค์
องค์อินทร์ก็ต้องคุมทัพออกมารุกไล่รบแก่ทัพอสูรด้วยพระองค์เอง
และก่อนที่จะออกรบ องค์อินทรธิราช
ได้ทรงตรัสสั่งแก่บรรดา พลเทวดาว่า

ถ้าพลเทวดา หวาดกลัว สะดุ้ง และมีขนพองสยองเกล้าบังเกิดขึ้น
ก็ให้แลดูชายธงที่ปลิวไสวอยู่บนราชรถศึกของพระองค์
หรือไม่ก็แลดูชายธงขององค์เทวะชื่อ ปชาบดี ของพระวรุณเทวราช
หรือพระอีสานเทวราชเพื่อเป็นกำลังใจว่า ผู้นำ
ผู้เป็นที่พึ่งของเรายังสถิตอยู่กับเรา

เหล่าบรรดาพลทหารเทวดาทั้งหลาย
เมื่อได้แลเห็นชายธงของมหาเทวะทั้งหลายที่กล่าวนามมาแล้ว
จึงมีกำลังมีใจที่ฮึกเหิม ทำสงครามอย่างเกรียงไกร มีชัย

ในที่สุดอีกทั้งยังสามารถจับตัวท้าวโพจิตราสูร หัวหน้าของอสูร ทั้งปวงได้

ท้าวโพจิตราสูร เมื่อโดนจับก็ยิ่งผูกโกรธ
กล่าวคำหยาบช้า ด่าว่าพระอินทร์และเทพที่เกิดใหม่ทั้ง ๓๓ องค์ นานาประการ
แต่หมู่เทพและองค์อินทร์ก็หาได้โกรธไม่
อีกทั้งยังให้อภัย ปล่อยท้าวโพจิตราสูรให้เป็นอิสระ
สงครามระหว่างเทวะกับอสูรก็สงบลง แต่นั้นเป็นต้นมา

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสต่อไปว่า
เช่นนั้นแลภิกษุทั้งหลาย คราใดที่เธอทั้งหลายไปอยู่ในป่าก็ตาม
อยู่ใต้โคนไม้ก็ตาม อยู่ในเรือนว่างก็ตาม อยู่ในที่รกชัฏก็ตาม

ความหวาดกลัว ความสะดุ้งผวา ขนพองสยองเกล้าบังเกิดขึ้นแก่เธอ
เธอทั้งหลายพึงชนะความกลัวเหล่านั้น

ด้วยการระลึกถึงเรา ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้ด้วยพระองค์เอง
เป็นผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้ไปดีแล้ว เป็นผู้รู้แจ้งโลก
เป็นผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า
เป็นครูผู้สอนเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ดังนี้


ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

ถ้าเธอทั้งหลายไม่ระลึกถึงเรา เพื่อจะชนะความหวาดกลัว
เธอทั้งหลายพึงระลึกถึงคุณของพระธรรมว่า
พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสไว้ดีแล้ว
เป็นสิ่งที่บุคคลพึงเห็นรู้ได้ด้วยตนเอง
ไม่จำกัดกาลเวลาสามารถเรียกให้ผู้อื่นมาดูได้ด้วย
เป็นสิ่งที่บุคคลพึงน้อมเข้ามาใส่ตน เป็นคุณสมบัติของผู้รู้ทั้งหลาย ดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้เธอทั้งหลายมิพึงระลึกถึงพระธรรม
เพื่อจะครอบงำความกลัว
เธอทั้งหลายพึงระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ว่า เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง

พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
เป็นผู้ปฏิบัติธรรม เป็นผู้ปฏิบัติชอบ ซึ่งมีอยู่ ๔ คู่ ๘ พวก
พระสงฆ์สาวกเหล่านี้ เป็นผู้คงแก่การบูชา
เป็นผู้ควรแก่การต้อนรับ เป็นผู้คู่ควรแก่การรับทาน
เป็นผู้ควรแก่การกราบไหว้ เป็นเนื้อนาบุญของโลก ดังนี้


ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย

เมื่อเธอทั้งหลาย พากันมาระลึกถึง
คุณของพระพุทธเจ้า คุณของพระธรรมเจ้า คุณของพระสงฆ์เจ้า
เห็นปานนี้ ความสะดุ้งกลัว หวาดผวา
ขนพองสยองเกล้า จักมิอาจครอบงำเธอ ดังนี้แล

24#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-19 22:59 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


~อ    า    ฏ   า   น   า   ฏิ   ย   ป   ริ   ต   ร~

บทขัดอาฏานาฏิยปริตร

องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาค ผู้เป็นมหาวีรบุรุษ ทรงแสดงพระปริตรใด
เพื่อคุ้มกันพุทธบริษัททั้ง ๔ มิให้ถูกเบียดเบียน
จากอมนุษย์ทั้งหลาย ที่ดุร้ายสันดานหยาบช้า ไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
ซึ่งบัณฑิตทั้งหลายรับรองแล้วว่า เป็นศาสนาดีทุกเมื่อ
ท่านผู้เจริญทั้งหลายพึงสวดพระปริตรนั้นเทอญ


ตำนาน

สมัยหนึ่งสมเด็จ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเสด็จประทับอยู่
ณ ภูเขาคิชฌกูฎบรรพต ใกล้กรุงราชคฤห์มหานคร
ในครั้งนั้น ท้าวจาตุมมหาราชทั้ง ๔ ซึ่งสถิตย์อยู่เหนือยอดเขายุคันธร
ที่เรียกว่าชั้นจาตุมหาราชิกา อันเป็นชั้นต่ำกว่า สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงมา
ซึ่งเป็นที่สถิตย์ขององค์อินทราธิราช

พระอินทร์ ทรงมีเทวะพระบัญชาให้มหาราชทั้ง ๔
ทำหน้าที่เฝ้ารักษาประตูสวรรค์ในทิศทั้ง ๔
เพื่อป้องกันมิให้พวกอสูรมารบกวน โดยมี

ท้าวธตรฐ  ผู้เป็นเจ้าแห่งพวกคนธรรพ์ รักษาทิศบูรพา
ท้าววิรุฬหก  เป็นเจ้าแห่งกุมภัณฑ์ รักษาทิศทักษิณ
ท้าววิรูปักษ์  เป็นเจ้าแห่งนาคทั้งปวง รักษาทิศปัจจิม
ท้าวเวสสุวัน เป็นเจ้าแห่งยักษ์ รักษาทิศอุดร


ท้าวมหาราชทั้ง ๔ มีจิตเลื่อมใสศรัทธา
ปรารถนาจะเกื้อกูลพระพุทธศาสนา  มิให้พวกอสูร
หรือพวกศัตรูมาย่ำยีบีฑา แด่พระภิกษุสงฆ์สาวกของพระบรมสุคตเจ้า


จึงคิดจะชวนกันลงมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
แต่ก็ห่วงภาระหน้าที่ที่จะต้องดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในประตูสวรรค์ทั้ง ๔ ทิศ

มหาราชทั้ง ๔ จึงมีบัญชาแต่งตั้งให้ คนธรรพ์ กุมภัณฑ์ นาค และยักษ์
อย่างละแสนรักษาประตูสวรรค์ทั้ง ๔ ทิศ

ซึ่งก็ให้พวกคนธรรพ์รักษาทิศบูรพา
กุมภัณฑ์รักษาทิศทักษิณ
นาครักษาทิศปัจจิม
ยักษ์รักษาทิศอุดร

ครั้นแล้ว ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ได้ประชุมพร้อมกันที่
อาฏานาฏิยนคร ณ สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา
พร้อมกับผูกมนต์อาฏานาฏิยปริตร
ซึ่งมีเนื้อความสรรเสริญคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๗ พระองค์ มี

พระวิปัสสี ผู้มีสิริอันงาม
พระสิขี พุทธเจ้า ผู้มากด้วยการอนุเคราะห์แก่สัตว์ทั้งปวง
พระเวสสภู พุทธเจ้า ผู้ปราศจากกิเลส มีตบะ
พระกกุสันธะ พุทธเจ้า ผู้มีชัยชนะแก่พญามารและเสนามาร
โกนาคมนะ พุทธเจ้า ผู้มีบาปอันลอยเสียแล้วมีพรหมจรรย์อันจบแล้ว
กัสสปะ พุทธเจ้า ผู้พ้นวิเศษแล้ว จากกองกิเลสทั้งปวง
พระอังคีส พุทธเจ้า ผู้เป็นโอรสแห่งหมู่ศากยราช ผู้มีศักดิ์ มีสิริ ดังนี้เป็นต้น


ครั้นผูกมนต์พระปริตรแล้ว
ท้าวมหาราชทั้ง ๔ จึงประกาศแก่บริวารของตนว่า
ธรรมอาณาจักรของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
อันเป็นบรมครูของเราทั้ง ๔

ถ้ามีผู้ใดสาธยายมนต์ อาฏานาฏิยปริตร นี้ขึ้น
แล้วถ้าใครไม่เชื่อฟัง ไม่สดับ จะต้องถูกลงโทษอย่างสาสม รุนแรง


และแล้วมหาราชทั้ง ๔
ก็พร้อมใจกันลงมาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ ภูเขาคิชฌกูฏ
กราบบังคมทูลว่า

หมู่ยักษ์ทั้งหลาย หมู่นาคทั้งหลาย หมู่กุมภัณฑ์ทั้งหลาย
และหมู่คนธรรพ์ทั้งหลาย ผู้มีเดช มีศักดา มีอานุภาพ
มีจิตกระด้างหยาบช้า ละเมิดเบญจศีลเป็นอาจิณ
ที่ยังไม่เลื่อมใสในคุณของพระรัตนตรัยนั้นมีมาก
พวกที่เลื่อมใสนั้นมีน้อย

เมื่อพระสาวกของพระผู้มีพระภาค
เป็นผู้ยินดีในการอยู่ป่า เพื่อบำเพ็ญสมณธรรม ในที่ห่างไกลจากมนุษย์สัญจร
อมนุษย์ผู้ไม่เลื่อมใส ย่อมจะย่ำยี หลอนหลอก
กระทำให้เจ็บไข้เป็นอันตรายแก่ชีวิตและพรหมจรรย์

แต่ต่อนี้ไปจะไม่บังเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีกแล้ว
ถ้าพระบรมสุคตเจ้าทรงพระกรุณาโปรดรับมนต์อาฏานาฏิยปริตรนี้ไว้
แล้วโปรดประทานให้พระภิกษุสาวก
สาธยายอยู่เนือง ๆ อมนุษย์ทั้งปวงก็จะมิกล้าย่ำยีหลอนหลอกทำร้าย
อีกทั้งยังจะช่วยปกป้องคุ้มครอง กันภัยทั้งปวงให้อีกด้วยพระเจ้าข้า

องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงรับมนต์พระปริตรนั้นโดยดุษฏี

ท้าวเวสวัณ ก็แสดงอาฏานาฏิยปริตรนั้นถวาย
และแล้ว มหาราชทั้ง ๔ ก็ถวายมนัสการลา

สมเด็จพระบรมศาสดา จึงทรงมีพระบัญชาให้ประชุมภิกษุทั้งหลายในที่นั้น
แล้วทรงแสดงมนต์พระปริตรนั้นให้แก่ภิกษุทั้งหลายได้เรียนสาธยาย
เสร็จแล้วทรงมีพุทธฎีกาตรัสว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงอุตสาหะ
สาธยายมนต์พระปริตรนี้ให้บริบูรณ์ในสันดาน
จะพ้นจากอุปัทวันอันตรายทั้งปวงได้
อมนุษย์ทั้งหลายก็จะไม่มาย่ำยี หลอนหลอก
เธอทั้งหลายจะได้ดำรงค์อยู่เป็นสุข เพื่อยังพรหมจรรย์ให้เจริญ


ภิกษุเหล่านั้นก็เปล่งสาธุการ น้อมรับด้วยเศียรเกล้า จบ
25#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-19 23:00 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


~อั   ง   คุ   ลิ   ม   า   ล   ป   ริ   ต   ร~

บทขัดอังคุลิมาลปริตร

แม้แต่น้ำล้างตั่งของพระองคุลิมาลเถระ
ผู้กล่าวสัจจะปริตร ยังบันดาลให้อันตรายทั้งปวงหายไปได้

อนึ่ง พระปริตรบทใด ที่พระผู้มีพระภาคเจ้า
ทรงตรัสแก่พระองคุลิมาลเถระ
ย่อมยังการคลอดบุตรให้สำเร็จโดยสวัสดี ในทันทีทันใด
ท่านผู้เจริญทั้งหลายจงสาธยายพระปริตรบทนั้น
ซึ่งมีเดชมากอยู่จนตลอดกัปป์เทอญ


ตำนาน

ณ แว่น แคว้นโกศลราช ที่บ้านพราหมณ์ปุโรหิต
อันเป็นอาจารย์ของพระเจ้าโกศล
ภรรยาของท่านปุโรหิตได้ตั้งครรภ์แก่ใกล้คลอด
พอถึงการอันควร นางพราหมณีภรรยาปุโรหิตนั้น
ก็คลอดบุตรออกมาเป็นผู้ชาย

ขณะที่ทารกน้อยนั้นคลอดออกจากครรภ์มารดา
ก็ให้บังเกิดอาเพศเหตุอัศจรรย์ เครื่องศัสตราวุธ
ของมีคมทั้งหลายภายในเมือง
บังเกิดเป็นแสงรัศมีสีแดงรุ่งเรือง
ประดุจดังถูกเปลวไฟเผาไหม้กำลังจะหลอมละลาย
ครั้นเมื่อจับต้อง ก็หาได้บังเกิดความร้อนไม่

ฝ่ายปุโรหิตผู้เป็นบิดา รู้ทักษา รู้ฤกษ์นิมิตหมาย
จึงได้รู้อยู่แก่ใจว่า บุตรของตนเป็นกาลกิณี เป็นการีต่อผู้คน
หมู่ชนในบ้านเมือง จึงออกเดินทางจากบ้าน
ไปเข้าเฝ้าพระราชาโกศล แล้วทูลว่า

ขอเดชะ พระอาญามิพ้นเกล้า บัดนี้ได้บังเกิดอาเพศ
มีเหตุให้ระคายเคืองเบื้องพระบาทของพระองค์แล้ว พระเจ้าข้า

เรื่องก็มาจากกุมารบุตรของหม่อมฉัน ได้ถือกำเนิดเกิดขึ้นมา
เป็นเหตุให้ศัสตราวุธลุกเป็นไฟด้วยเดชและศักดิ์ดา ของกุมารน้อยนั้น

เมื่อเจริญวัย จะมีจิตใจหยาบช้า จะเข่นฆ่าหมู่ชน
จะเป็นเหตุให้มหาชนเดือดร้อนเป็นอันมาก
ขอพระองค์ทรงโปรดให้จับกุมารนั้น ไปประหารเสียเถิด
เพื่อมิให้เป็นภัยต่ออาณาประชาราชสืบไป

พระเจ้าโกศล เป็นผู้เลื่อมใสในพระรัตนตรัยเป็นพุทธมามกะ
จึงทรงมีจิตเมตตา ทรงตรัสห้ามว่า

อย่าเลยท่านปุโรหิต กุมารน้อยเพิ่งจะลืมตามาดูโลก ดุจดังไม้อ่อน
ขึ้นอยู่แต่ผู้ฟูมฟักปลูกฝัง สั่งสอนดัดกาย วาจา ใจ
ให้เขาเป็นอะไร ก็จะเป็นเช่นนั้น

ท่านมายกลูกให้เราฆ่า เราก็จะรับเอาไว้ แต่จะไม่ฆ่า
จะส่งคืนให้ท่านไปช่วยเลี้ยงดู ฟูมฟักถนุถนอม
อบรมสั่งสอนแทนเราด้วย
แล้วจึงทรงตั้ง ชื่อกุมารน้อยนั้นว่า อหิงสกะ

กาลเวลาล่วงเลยมา จนกุมารอหิงสกะ
เจริญวัยเติบใหญ่เป็นหนุ่มรูปงาม ร่างกายกำยำแข็งแรง
ท่านปุโรหิตและนางพราหมณี
จึงส่งลูกชายให้ไปศึกษาศิลปวิทยา ณ เมืองตักกศิลา ตามคตินิยมของคนในยุคนั้น

อหิงสกะ มานพหนุ่มนอกจากจะเป็นผู้มีรูปงาม
ร่างกายแข็งแรง ยังเป็นผู้มีความฉลาดหลักแหลม
เข้าไปเรียนศิลปวิทยา กับอาจารย์ไม่นานเท่าไหร่ ก็เข้า
ใจรอบรู้สรรพวิทยาของอาจารย์ได้ทั้งหมดเท่าที่อาจารย์สอน

ดีครับ
27#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-19 23:00 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
อีกทั้งยังเป็นผู้กตัญญูรู้คุณอาจารย์ มีกตเวทิตา
พยายามตอบแทนพระคุณอาจารย์
ด้วยช่วยเหลือกิจการงานทุกอย่างที่อาจารย์พึงมี
จนเป็นที่อิจฉาริษยาแก่บรรดาศิษย์คนอื่นๆ ที่อยู่ร่วม
ด้วยการหาเล่ห์ใส่ไคร้ว่า อหิงสกะ จะเป็นชู้แก่ภรรยาของอาจารย์

แรกๆ อาจารย์ก็มิเชื่อ
ต่อ ๆ มาความดีของ อหิงสกะ
กลับ เป็นที่โปรดปรานของภรรยาอาจารย์ยิ่งนัก
ถึงกับกล่าวนิยมชมชอบในตัว อหิงสกะ แก่สามีของตนว่า

เออ...นี่แน่ ท่านพี่ อหิงสกะ ศิษย์ของท่านคนที่ช่างน่ารัก น่าเอ็นดูยิ่ง
มีน้ำใจช่วยเหลือการงานภายในบ้าน
แถมยัง อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่เหมือนศิษย์อื่นที่มีมา

เมื่อภรรยาของอาจารย์ทิศาปาโมกข์
กล่าวนิยมชมชอบในตัวอหิงสกะมานพ
ให้แก่อาจารย์ทิศาปาโมกข์ ได้ฟังอยู่บ่อยๆ

อีกทั้งกลุ่มศิษย์ที่ริษยา ก็พากันพูดใส่ไคร้ให้อาจารย์หลงผิด
ปุถุชนคนธรรมดาอย่างอาจารย์ทิศาปาโมกข์ก็พลอยเชื่อตามคำยุยง
จึงคิดแค้นในใจว่า

หนอย...เจ้าอหิงสกะ คิดจะกินบนเรือนแล้วมาขี้รดบนหลังคา
เห็นทีข้าต้องหาทางฆ่ามัน ให้ได้


คิดดังนั้นแล้ว จึงออกอุบาย เรียกอหิงสกะมา แล้วกล่าวว่า

ศิษย์รัก เจ้าก็อยู่กับข้ามานาน
ชาญฉลาดทั้งยัง ช่วยทำการงานทุกอย่างภายในบ้าน

ข้าจึงคิดจะตอบแทนเจ้า ด้วยการสอนมนต์ที่ชื่อว่า
วิษณุอิทธิมนต์ให้แก่เจ้า แต่การจะเรียนมนต์ มิใช่ง่าย
ถ้าเรียนได้ก็จะวิเศษสุด ผู้ที่จะเรียนมนต์นี้
จะต้องนำนิ้วของคนมาคนละนิ้ว
รวมกันให้ได้พันนิ้ว แล้วร้อยเป็นพวงมาลา
เพื่อบูชาพระวิษณุ จึงจะเรียนมนต์นี้สำเร็จ

ศิษย์รัก เจ้าจงออกไปหานิ้วมนุษย์มา
ให้ครบพันเพื่อทำมาลาประกอบพิธีเถิด


อหิงสกะมานพ พอได้ฟังคำของอาจารย์ จึงกล่าวแก่อาจารย์ว่า

ข้าแต่ท่านอาจารย์ผู้ประเสริฐ
ตลอดเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่าท่านอาจารย์จะสั่งอะไร
ให้ข้าให้ขึ้นเขาลงห้วย ข้าช่วยทำให้หมด ไม่เคยขัด

แต่ครั้งนี้ ข้าขอขัดท่านอาจารย์สักครั้ง
ด้วยเหตุว่า การทำร้าย ทำลาย ฆ่าคน ผิดวิสัยของผู้ดีมีศีล
แม้ว่าข้าจะปรารถนาอย่างที่สุดที่จะเรียนรู้วิษณุมนต์
ข้าก็มิอาจทำปาณาติบาตฆ่าคนได้
ขอท่านอาจารย์โปรดกรุณาอดโทษแก่ข้าพเจ้า


ข้างฝ่ายอาจารย์ เห็นกิริยาของอหิงสกะ ผู้เป็นศิษย์
กล่าวถ้อยคำที่เป็นสุภาษิต ดังนั้นก็คิดว่า

ไอ้ศิษย์เนรคุณคนนี้ ยังจะมาทำเสแสร้งแกล้งรักษาศีลต่อหน้าเรา

ทั้งๆ ที่คิดจะเป็นชู้ต่อเมียเรา
ดีหละเราก็ต้องเสแสร้งแกล้ง ทำมายาแก่มันบ้าง


คิดดังนั้นแล้ว ผู้เป็นอาจารย์ก็ทำทีเป็นร้องไห้ฟูมฟาย
แล้วก็รำพึงรำพันว่า

โถ...โถ...ดูรึ สวรรค์ เราสู่อุตส่าห์
มีความเมตตากรุณาต่อศิษย์คิดจะประสาทสรรพวิทยายันต์มนต์อันศักดิ์สิทธิ์
แต่ศิษย์กับ มาคิดเล็กคิดน้อย
แถมพูดให้เราได้รับความน้อยเนื้อต่ำใจ

เทพไท..เอย..ท่านเทพไท ข้าคงจะไม่มีวาสนาเป็นอาจารย์ แก่ศิษย์ผู้นี้เสียแล้ว


ว่าแล้วก็ทำเป็นร้องไห้ต่อไป

อหิงสกะมานพ เห็นผู้เป็นอาจารย์มีกิริยาอาการเสียใจ
เพราะ คำพูดของตน จึงรู้สึกผิดและให้นึกสงสารเห็นใจผู้เป็นอาจารย์ยิ่งนัก
ด้วยความกตัญญู จึงตกปากรับคำว่า

ข้าแต่ท่านอาจารย์ผู้เจริญ
ในเมื่อเป็นความประสงค์ของอาจารย์ที่ปรารถนาจะให้ศิษย์ได้ดีมีวิชา
ศิษย์ก็มิบังอาจขัดคำสั่ง ขอท่านอาจารย์โปรดจงหยุดร้องไห้เสียเถิด

28#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-19 23:01 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
อาจารย์ได้ฟังดังนั้น จึงหยุดร้องไห้
แล้วก็ทำทีเป็นสวมกอดศิษย์รัก
พร้อมทั้งหยิบดาบส่งให้แล้วสั่งว่า

อหิงสกะเอย เจ้าฆ่าคนและจงตัดเอานิ้วชี้มาคนละนิ้วให้ได้หนึ่งพันนิ้ว
แล้วร้อยเป็นพวงมาลา นำมาให้เราบูชาองค์พระวิษณุเพื่อเรียนมนต์


อหิงสกะมานพ ถือดาบตระเวนไล่ฟันเข่นฆ่าผู้คน ล้มตายไปมากมาย
จนเป็นที่หวาดกลัวแก่ผู้คน ถึงขนาดขนานนามว่า องคุลิมาลโจร

ชนทั้งหลาย จึงไปร้องทุกข์ทูลเรื่องแก่พระเจ้าโกศลให้ทรงทราบ

พระเจ้าโกศลราช ทรงทราบความเดือดร้อนของอาณาประชาราช
จึงจัดส่งเจ้าพนักงานให้ออกไปสืบข้อเท็จจริง ว่าโจรองคุลิมาล เป็นใครกันแน่
ทำไมจึงได้เที่ยวไล่ฆ่าผู้ค

ครั้นเมื่อได้ทรงทราบว่า
ที่แท้ องคุลิมาลโจร ก็คือ อหิงสกะ บุตรของปุโรหิตนั่นเอง
พระเจ้าโกศลราชจึงมีรับสั่งให้จัดเตรียมทัพ
เพื่อจะไปจับ โจรองคุลิมาล ฆ่าเสีย

ข้างนางพราหมณีภรรยาของปุโรหิต
มารดาของอหิงสกะพอได้ทราบว่า
บัดนี้ลูกชายที่ส่งไปเรียนวิชา ณ เมืองตักกศิลา
ได้กลายเป็นโจรไล่เข่นฆ่าผู้คน
จนพระราชาต้องนำทัพไปปราบ

ด้วยความรักของแม่ที่มีต่อบุตรสุดชีวิต
ไม่คิดเสียดายแม้ชีวิตจะมีอันตราย
จึงออกเดินทางล่วงหน้า
เพื่อหวังจะไปบอกแก่ลูกว่ากำลังจะมีภัย
ให้ลดละเลิกทำปาณาติบาตเสีย

ยามสุดท้ายของราตรีนั้น
องค์พระผู้มีพระภาคเจ้า
ได้ทรงเลงข่ายพระญาณ ตรวจดูสรรพสัตว์
จึงได้ทราบว่า องคุลิมาลโจร มีอุปนิสัยอรหัตผล


ถ้าเช้าวันนี้พระองค์ไม่ทรงโปรด
องคุลิมาลโจร ก็จะทำมาตุฆาต
เป็นอนันตริยกรรมขาดจากอุปนิสัยอรหันต์


ครั้นเมื่อถึงกาลอรุณสมัย
องค์สมเด็จพระจอมไตร
จึงทรงเสด็จไปโปรดโจรองคุลิมาลด้วยอิทธิปาฏิหารย์
โดยปรากฏพระวรกายเฉพาะหน้าของ โจรองคุลิมาล

ซึ่งในขณะนั้น นางพราหมณีมารดาของ โจรองคุลิมาล
ก็ถึงเฉพาะหน้าลูกชายพอดี

องค์สมเด็จพระชินสีห์
จึงทรงเนรมิตร มิให้ โจรองคุลิมาล มองเห็นมารดา
เพราะทรงทราบว่า
ถ้าโจรองคุลิมาลเห็นมารดาก็จะฆ่าเสีย เหตุเพราะจำมารดาไม่ได้

โจรองคุลิมาล เมื่อได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็มิได้รู้จัก
แต่ก็คิดในใจว่า เราตระเวนหานิ้วคนเวลานี้ได้ ๙๙๙ นิ้วแล้ว
ยังจะขาดอีกนิ้ว สมณะผู้นี้ดูงามมีสง่า
แต่ก็น่าเสียดายที่จะต้องมาตายเสียวันนี้
คิดดังนั้น แล้วจึงถือดาบวิ่งไล่หมายใจว่าจะฟันหัวให้ขาด
แล้วตัดเอานิ้วเสีย
29#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-19 23:01 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
องคุลิมาลโจร วิ่งไล่มาได้ไกลแม้หลายโยชน์ แต่ก็หาทันไม่
ซึ่งปกติแม้ม้าอาชาไนยที่แข็งแรงก็อย่าได้หมาย
จะได้วิ่งชนะแก่องคุลิมาลโจรเลย

แต่มาวันนี้ เขากำลังวิ่งไล่ตามสมณะผู้กำลังเดินธรรมดาๆ
องคุลิมาลโจร จึงป้องปากตะโกนร้องบอกว่า

หยุดก่อนสมณะ หยุดก่อนสมณะ สมณะหยุดก่อน

พระผู้มีพระภาคจึงทรงตรัสในขณะที่ทรงพระดำเนินว่า

เราหยุดแล้วประสก เราหยุดแล้ว

องคุลิมาล จึงกล่าวตอบว่า ท่านเป็นสมณะ

ดูรึ ยังจะมากล่าวมุสาอีก

พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงตรัสตอบว่า

เรามิได้มุสา เราหยุดแล้วจากการก่อเวร
ละบาปและอกุศลกรรมทั้งปวงได้แล้ว
มีแต่ประสกนั่นแหละ ที่ยังไม่หยุดจากการทำบาปอกุศลกรรม


องคุลิมาลโจร พอได้สดับพระสุรเสียงนั้น จึงได้สติคิดว่า

จริงซินะ สมณะผู้นี้ เป็นผู้หยุดก่อเวร
ละบาปและอกุศลกรรมทั้งปวงได้แล้ว
คงมีแต่เรายังวิ่งแสวงหาแต่บาปและอกุศลกรรม
ซึ่งก็จะให้ผลเป็นทุกข์ในที่สุด


คิดดังนี้แล้ว องคุลิมาล จึงได้หยุดวิ่ง
แล้วปล่อยมีดให้หลุดจากมือ
เปลื้องมาลานิ้วมือที่คล้องคอทิ้งเสีย แล้วนั่งคุกเข่าอัญชลี
พร้อมทั้งขอติดตามออกบวช

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงคลายฤทธิ์
ทำให้ องคุลิมาล เห็นมารดา มารดาก็เห็นองคุลิมาล
แล้วทรงมีพุทธฏีกาตรัสให้ องคุลิมาลไปกราบขอขมา
ขออนุญาตบรรพชาจากมารดา
แล้วจึงให้ องคุลิมาล ตามเสด็จไปยังเชตวันมหาวิหาร

กาลต่อมา เมื่อ องคุลิมาล ไปบรรพชาอุปสมบทแล้ว
จึงเข้าไปบิณฑบาตในนครสาวัตถุ
ชาวเมืองเมื่อได้รู้ว่า องคุลิมาล เดินผ่านบ้านตน
ต่างฝ่ายต่างก็ตกใจกลัววิ่งหนีเข้าบ้านปิดประตูลั่นดาน
ซ่อนตัวอยู่แต่ในบ้าน ไม่มีใครยอมออกมาใส่บาตร

ขณะนั้น มีนางหญิงท้องแก่
เห็น องคุลิมาล ภิกษุเดินมา ก็กลัวลนลาน
จะหลบเข้าบ้านก็เดินออกมาไกลจากบ้าน อยู่บริเวณเขตรั้ว
จึงได้ก้มตัวลงเพื่อจะคลานรอดรั้วหนี องคุลิมาลภิกษุ ไปให้พ้น

แต่เจ้ากรรมช่วงหัวและหน้าอกลอดผ่านพ้นรั้วไปได้
และสุดท้ายติดครรภ์ที่โตใกล้คลอด
ขณะนั้นนางเกิดเจ็บครรภ์ขึ้นมากระทันหัน
ดิ้นรนร้องทุรนทุรายติดคารั้วบ้านอยู่

องคุลิมาลภิกษุ เมื่อเดินผ่านมาเห็นเข้า
บังเกิดจิตเมตตาปรารถนาที่จะช่วยหญิงนั้น
แต่ก็มิรู้จักทำประการใดจึงได้ตั้งสัจจะอธิษฐานว่า

“ดูก่อนน้องหญิง บัดนี้เราได้เกิดในสกุลพระสมณะ
ศากยะผู้ประเสริฐพระองค์นั้นแล้ว
มิได้เบียดเบียน ทำร้ายทำลายสัตว์ตนใด
ให้เดือดร้อนเสียหาย นี้เป็นคำสัตย์
ขอความสวัสดีจงมีแก่น้องหญิงและบุตรในครรภ์ด้วยเทอญ”


หญิงนั้นจึงได้คลอดลูกออกมาโดยง่าย
ปราศจากอันตรายและโดยสวัสดี


ต่อมาภายหลัง
ชนทั้งหลายมีความเลื่อมใสถึงขนาดนำน้ำไปล้างตั่งที่นั่งของท่าน
แล้วเอาไปให้หญิงหรือสัตว์มีครรภ์กิน
หญิงและสัตว์นั้นพลันคลอดบุตรง่าย

เมื่อ พระองคุลิมาล ได้ตั้งสัจจะอธิษฐานช่วยหญิงนั้นแล้ว
ท่านก็ออกเดินบิณฑบาต
จนได้อาหารแล้วกลับที่พักมาเจริญสมณธรรมต่อไป

ภิกษุองคุลิมาล ขณะเจริญสมณธรรม
ก็มีจิตคิดฟุ้งซ่าน เห็นแต่กายมนุษย์ที่ถูกตนฆ่า มาในรูปอสุรกาย
ปรากฏเฉพาะหน้า ยืนยื่นมือร้องทวงชีวิตเป็นเช่นนี้อยู่เนืองนิจ
จนความนี้รู้ถึงองค์สมเด็จพระชินสีห์ จึงทรงมีพุทธโอวาทตรัสสอนว่า

ดูก่อนภิกษุ เธอจงมีความเพียรเพ่งอยู่
เพื่อกำจัดบาปในใจ ดุจดังบุรุษเอาสาหร่ายจอกแหนออกจากบ่อน้ำฉะนั้น


ภิกษุองคุลิมาล ปฏิบัติพุทธโอวาท
ไม่ช้าก็บรรลุอรหัตผล เป็นพระอริยบุคคลผู้วิเศษในศาสนา

30#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-19 23:01 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


~ฉั   ท   ทั   น   ต   ป   ริ   ต   ร~
         
บทขัดฉัททันตปริตร

โอกาสนี้ ขออาราธนาท่านผู้เจริญทั้งหลาย
สาธยายมนต์ ของพญาช้างฉัททันต์โพธิสัตว์เจ้า
เพื่อชาวเราจักปลอดภัยจากภยันอันตราย ทั้งหลายทั้งปวงด้วยเทอญ


ตำนาน

ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า
กำลังทรงแสดงพระธรรมเทศนาอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร
พระภิกษุณีรูปหนึ่งฟังธรรมอยู่ แล้วดำริว่า

อันตัวเรานี้เคยเป็นบาทบริจาริกาของพระผู้มีพระภาคเจ้า
มาแล้วในอดีตกาลบ้างหรือไม่หนอ
ขณะนั้นก็บังเกิดญาณ อันทำให้ระลึกชาติได้แต่หนหลังว่า
เคยเป็นบาทบริจาริกาเมื่อครั้ง องค์สมเด็จพระบรมศาสดา
ทรงเสวยพระชาติเป็นพญาช้างฉัททันต์

ภิกษุณีผู้นั้น ก็ยินดีหัวเราะขึ้นในท่ามกลางสมาคมนั้น
แล้วนางภิกษุณีนั้น ก็พิจารณาต่อไป
จึงได้รู้ว่าในชาตินั้นตนเป็นผู้ใช้นายพราน ชื่อ โสนุดร
ไปยิงพญาช้างฉัททันต์ ด้วยลูกศรอาบยาพิษ ให้ถึงเเก่ความตาย

ภิกษุณีนั้นก็กลับเศร้าโศกเสียใจ ร้องไห้
ในที่สมาคมนั้นเห็นดังนั้น ต่างก็หันมามองพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า
ด้วยคิดจะถามว่าภิกษุณีท่านนี้ บังเกิดอะไรขึ้น

พระผู้มีพระภาค จึงทรงยกนางภิกษุณีนี้เป็นเหตุ
แล้วทรงตรัสชาดกเรื่อง พญาช้างฉัททันต์มาแสดง ความว่า

ณ ป่าหิมพานต์ มีพญาช้างเผือกอยู่เชือกหนึ่ง มีนามว่า พญาฉัททันต์
มีช้าง พังเป็นภรรยาอยู่ ๒ เชือกมีนามว่า จุลสุภัททา และ มหาสุภัททา
พร้อมกับมีช้างบริวารอีก ๘,๐๐๐ เชือก

อยู่มาวันหนึ่งเป็นฤดูที่ดอกไม้รังบาน
พญาช้างฉัททันต์ จึงชวนช้างภรรยาทั้งสอง ให้ไปชมดอกไม้นั้น
ครั้นไปถึง ณ ตำบลที่มีไม้รังออกดอกเป็นกลุ่มใหญ่
ดูระรานตาสดใส หอมเย็นชื่นใจเป็นยิ่งนัก
พญาช้างนั้นสุดที่จะอดใจไว้ได้
พาภรรยาทั้ง สองเดินตรงรี่เข้าไปหาโคนไม้รัง
แล้วใช้ศรีษะชนไม้รังต้นหนึ่ง เพื่อให้ดอกร่วง

ขณะนั้นบนต้นรัง มีรังมดแดงรังใหญ่อยู่
เมื่อพญาช้างชนต้นไม้ด้วยกำลัง รัง มดแดงใหญ่นั้นก็พลันหล่นลงมา
ด้วยเหตุทนแรงเหวี่ยงของกิ่งไม้นั้นไม่ได้
จังหวะที่รัง มดแดงใหญ่ร่วงลงมา
บนหัวของ ช้างพังจุลสุภัททา พอดี
ซึ่งขณะเดียวกันลมก็ได้พัด พาเอาดอกไม้รังและเกสร
ร่วงไปบนหัวและบนตัวของ ช้างพังมหาสุภัททา พอดี เช่นกัน

ช้างพังจุลสุภัททา เมื่อโดนมดร่วงลงใส่หัวและตัว
ก็คิดว่า พญาช้างไม่รักนาง จึงแกล้งทำรังมดแดงร่วงใส่
ทีมหาสุภัททาช้าง พญาช้างคงจะรักมากจึงทำให้ดอกไม้รัง
และเกสรหล่นโปรยไปตามลำตัว

ช้างพังจุลสุภัททา คิดดังนั้นแล้วก็บังเกิดความเคียดแค้น
ผูกพยาบาทจองเวร แก่พญาช้างฉัททันต์เป็นครั้งแรก


อีกครั้งหนึ่ง พระโพธิสัตว์ช้างฉัททันต์
ได้ดอกปทุมดอกใหญ่มาดอกหนึ่ง
ได้มอบดอกบัวนั้น ให้แก่ ช้างพังมหาสุภัททา

ช้างพังจุลสุภัททาได้เห็นดังนั้น ก็น้อยเนื้อต่ำใจว่า
พญาช้างทำไมไม่ให้ดอกปทุมแก่ตนบ้าง
ช้างนั้นก็ผูกเวรแก่พญาช้างฉัททันต์เป็นครั้งที่สอง


กาลต่อมา ช้างพังจุลสุภัททา
ได้มีโอกาสถวายผลไม้แก่พระปัจเจกพุทธเจ้า
แล้วนางช้างก็ได้ตั้งความปรารถนาอธิษฐานว่า
เมื่อข้าพเจ้าสิ้นชีพจากชาตินี้ไปแล้ว
ขอให้ได้ไปบังเกิดเป็นมนุษย์ผู้หญิง
มีโอกาสได้เป็นมเหสี ของพระบรมกษัตริย์
และมีโอกาสกลับมาล้างผลาญแก่ พญาช้างฉัททันต์
เอาชีวิตพญาช้าง และตัดเอางาคู่นั้น มาให้ได้
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้