ประติมากรรมรูปเหมือนจริงของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
พบที่โกรลโรมัส (Krol Romeas - คอกแรด) อาคารแนวรูปวงกลมใกล้ประตูทางทิศเหนือของเมืองพระนครธม ในสภาพที่ยังแกะสลักไม่เสร็จและถูกทุบทำลาย
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกัมพูชา
.
“โกรลโรมัส” แปลตามชื่อที่เรียกจะมีความหมายถึง “คอกแรด” ตามความเข้าใจของนักวิชาการจากสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ (EFEO) ที่เชื่อว่าเป็นอาคารเลี้ยงสัตว์ประเภท "แรด" (กระซู่) ที่เคยมีอยู่อย่างมากมายรอบโตนเลสาบ (แต่ในปัจจุบันนี้สูญพันธุ์ไปจนหมดสิ้นแล้วครับ) ตามลักษณะของอาคารที่เป็นแนวกำแพงหินรูปวงกลมขนาดใหญ่ ซึ่งนอกจากจะสันนิษฐานว่าเป็นที่เลี้ยงแรดแล้ว นักวิชาการบางคนก็เสนอว่าน่าจะใช้เป็นสถานที่ในการเลี้ยงช้างหรือเป็น “เพนียดคล้องช้าง” ในยุคจักรวรรดิบายนมากกว่าครับ
.
รูปสลักเหมือนจริงของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ความสูงรวมฐาน 1.35 เมตร ที่ค้นพบที่โกรลโรมัสนี้ อาจเป็นรูปที่สมบูรณ์แบบหากพระพาหา (แขน) ทั้งสองข้างไม่หักหายไป นุ่งภูษาสมพต(คล้ายกางเกง)ขาสั้น แข้งคม มีกล้ามเนื้อรอบสะบ้าเข่า นั่งขัดสมาธิราบ ไม่ปรากฏร่องรอยของพระหัตถ์ที่หน้าตัก จึงสันนิษฐานกันในครั้งแรก ๆ ว่า แขนที่หักหายไปอาจจะอยู่ในท่าพนมมือ แสดง “อัญชลี” แก่รูปพระชัยพุทธมหานาถ ประธานแห่งศาสนสถานที่รูปประติมากรรมนั้นไปตั้งอยู่ |