ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ มงคลชีวิต ๓๘ ประการ ~

[คัดลอกลิงก์]
21#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-18 16:00 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๑๖.การประพฤติธรรม

๏ การประพฤติ ตามธรรม คำพระสอน
ไม่เดือดร้อน ถอนทุกข์ ยามฉุกเฉิน
คนรักธรรม ธรรมรักษ์คน ผลเจริญ
นั่ง,ยืน,เดิน นอน,สุข ทุกข์ไม่มี.


การประพฤติธรรม ก็คือการปฏิบัติให้เป็นไป แบ่งออกได้เป็น ๒ อันได้แก่

กายสุจริต คือ

๑.การไม่ฆ่าสัตว์ หมายรวมหมดตั้งแต่สัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ และมนุษย์

๒.การไม่ลักทรัพย์ หมายรวมถึงการคอรัปชั่น ไปหลอกลวง ปล้นจี้ชาวบ้านด้วย

๓.การไม่ประพฤติผิดในกาม หมายรวมถึงการคบชู้ นอกใจภรรยา และการข่มขืนด้วย

วจีสุจริต คือ

๑.การไม่พูดเท็จ คือการพูดแต่ความจริง ไม่หลอกลวง

๒.การไม่พูดคำหยาบ คือคำที่ฟังแล้วไม่รื่นหู เกิดความรู้สึกไม่สบายใจรวมหมด

๓.การไม่พูดจาส่อเสียด การนินทาว่าร้าย

๔.การไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล คือการพูดที่ไม่เป็นสาระ หาประโยชน์อันใดมิได้

มโนสุจริต คือ

๑.การไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น คือการนึกอยากได้ของเขามาเป็นของเรา

๒.การไม่คิดพยาบาทปองร้ายผู้อื่น คือการนึกอยากให้คนอื่นประสพเคราะห์กรรม คิดจะทำร้ายผู้อื่น

๓.การเห็นชอบ คือมีความเชื่อความเข้าใจในความเป็นจริง ความถูกต้อง ตามหลักคำสอนตามแนวทางพระพุทธศาสนา
22#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-18 16:01 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๑๗.การสงเคราะห์ญาติ

๏ เมื่อยามญาติ อัตคัด เกินขัดข้อง
ควรหาช่อง สงเคราะห์ ไม่เลาะหนี
เขาซาบซึ้ง ถึงคุณ อบอุ่นดี
หากถึงที เราจน ญาติสนใจ.


ลักษณะของญาติที่ควรให้การสงเคราะห์ เมื่ออยู่ในฐานะดังนี้คือ

    ๑.เมื่อยากจนหาที่พึ่งมิได้

    ๒.เมื่อขาดทุนทรัพย์ในการค้าขาย

    ๓.เมื่อขาดยานพาหนะ

    ๔.เมื่อขาดอุปกรณ์ทำมาหากิน

    ๕.เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย

    ๖.เมื่อคราวมีธุระการงาน

    ๗.เมื่อคราวถูกใส่ความหรือมีคดี
23#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-18 16:01 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
การสงเคราะห์ญาติ ทำได้ทั้งทางธรรมและทางโลกได้แก่

ในทางธรรม ก็ช่วยแนะนำให้ทำบุญกุศล ให้รักษาศีล และทำสมาธิภาวนา

ในทางโลก ก็ได้แก่

    ๑.ให้ทาน คือการสงเคราะห์เป็นทรัพย์สิน หรือเงินทองเพื่อให้เขาพ้นจากทุกข์หรือความลำบากตามแต่กำลัง

    ๒.ใช้ปิยวาจา คือการพูดเจรจาด้วยถ้อยคำที่อ่อนโยน สุภาพ และประกอบไปด้วยความปรารถนาดี

    ๓.มีอัตถจริยา คือการประพฤติตนให้เป็นประโยชน์กับเขา อาจช่วยเหลือด้วยแรงกาย กำลังใจ หรือด้วยความสามารถที่มี

    ๔.รู้จักสมานัตตตา คือการวางตัวให้เหมาะสม อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ร่วมทุกข์ร่วมสุข ไม่ถือตัว
24#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-18 16:01 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๑๘.ทำงานที่ไม่มีโทษ

๏ งานรับจ้าง ล้างชาม ก็ตามเถิด
หากไม่เกิด โทษทัณฑ์ นั่นสดใส
เมื่อได้ช่อง ต้องจำ กระทำไป
ได้กำไร ทุกทาง ไม่ว่างงาน.


งานที่ไม่มีโทษ ประกอบด้วยลักษณะดังต่อไปนี้

    ๑.ไม่ผิดกฏหมาย คือทำให้ถูกต้องตามกฏหมายของบ้านเมือง

    ๒.ไม่ผิดประเพณี คือแบบแผนที่ปฏิบัติกันมาแต่เดิม ควรดำเนินตาม

    ๓.ไม่ผิดศีล คือข้อห้ามที่บัญญัติไว้ในศีล ๕

    ๔.ไม่ผิดธรรม คือหลักธรรมทั้งหลายอาทิเช่น การพนัน การหลอกลวง

ส่วนอาชีพต้องห้ามสำหรับพุทธศาสนิกชนได้แก่

    ๑.การค้าอาวุธ

    ๒.การค้ามนุษย์

    ๓.การค้ายาพิษ

    ๔.การค้ายาเสพย์ติด

    ๕.การค้าสัตว์เพื่อนำไปฆ่า
25#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-18 16:07 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๑๙.ละเว้นจากบาป

๏ กรรมชั่วช้า ลามก ต้องยกเว้น
หากขืนเล่น ด้วยกัน ถูกมันผลาญ
งดเว้นบาป กำราบให้ ไกลสันดาน
ในดวงมาลย์ ไม่ร้อน และอ่อนเพลีย.


บาปคือสิ่งที่ไม่ดี เสีย ความชั่วที่ติดตัว ซึ่งไม่ควรทำ ท่านว่าสิ่งที่ทำแล้วถือว่าเป็นบาปได้แก่ อกุศลกรรมบถ ๑๐ คือ

    ๑.ฆ่าสัตว์

    ๒.ลักทรัพย์

    ๓.ประพฤติผิดในกาม

    ๔.พูดเท็จ

    ๕.พูดส่อเสียด

    ๖.พูดคำหยาบ

    ๗.พูดเพ้อเจ้อ

    ๘.โลภอยากได้ของเขา

    ๙.คิดพยาบาทปองร้ายคนอื่น

    ๑๐.เห็นผิดเป็นชอบ
26#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-18 16:07 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๒๐.สำรวมจากการดื่มน้ำเมา

๏ ของมึนเมา ทุกชนิด พิษคล้ายเหล้า
ใครเสพเข้า น่าตำหนิ สติเสีย
เกิดโรคร้าย แรงร้อน กายอ่อนเพลีย
ใครงดเสีย เป็นสุข ไปทุกวัน.


ว่าด้วยเรื่องของน้ำเมานั้น อาจทำมาจากแป้ง ข้าวสุก การปรุงโดยผสมเชื้อ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ดื่มแล้วทำให้มึนเมา เช่นเบียร์ ไวน์ ไม่ใช่แค่เหล้าเท่านั้น ล้วนมีโทษอันได้แก่

๑.ทำให้เสียทรัพย์ เพราะต้องนำเงินไปซื้อหา ทั้ง ๆ ที่เงินจำนวนเดียวกันนี้ สามารถนำเอาไปใช้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างอื่นได้มากกว่า

๒.ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท ซึ่งนำไปสู่ความวุ่นวาย เจ็บตัว หรือถึงแก่ชีวิต และคดีความ เพราะน้ำเมาทำให้ขาดการยับยั้งชั่งใจ

๓.ทำให้เกิดโรค โรคที่เกิดเนื่องมาจากการดื่มสุราล้วนแล้วแต่บั่นทอนสุขภาพกายจนถึงตายได้เช่น โรคตับแข็ง โรคหัวใจ โรคความดัน

๔.ทำให้เสียชื่อเสียง เมื่อคนเมาไปทำเรื่องไม่ดีเข้าเช่นไปลวนลามสตรี ปล่อยตัวปล่อยใจ ก็ทำให้วงศ์ตระกูล และหน้าที่การงานเสี่อมเสีย

๕.ทำให้ลืมตัวไม่รู้จักอาย คนเมาทำสิ่งที่ไม่ควรทำ ทำสิ่งที่คนมีสติจะไม่ทำ เช่นแก้ผ้าเดิน หรือนอนในที่สาธารณะเป็นต้น

๖.ทอนกำลังปัญญา ทานแล้วทำให้เซลล์สมองเริ่มเสื่อมลง ก็จะทำให้สุขภาพและปัญญาเสื่อมถอย ความสามารถโดยรวมก็ด้อยลง
27#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-18 16:08 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๒๑.ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย

๏ ไม่ประมาท คือมี สติพร้อม
คอยหน่วงน้อม ธรรมคุณ ไม่ผลุนผลัน
ธรรมอันใด ไม่ดี หลีกหนีพลัน
ธรรมดีนั้น ยึดแน่น ไม่แคลนคลอน.


ธรรมในที่นี้ก็คือ หลักปฏิบัติที่ทำแล้วมีผลในทางดี และเป็นจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงโปรดแนะทางไว้

คนที่ประมาทในธรรมนั้นมีลักษณะที่สรุปได้ดังนี้คือ

    ๑.ไม่ทำเหตุดี แต่จะเอาผลดี

    ๒.ทำตัวเลว แต่จะเอาผลดี

    ๓.ทำย่อหย่อน แต่จะเอาผลมาก

สิ่งที่ไม่ควรประมาทได้แก่

    ๑.การประมาทในเวลา คือการปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปโดยไม่ทำอะไรให้เกิดประโยชน์ หรือผลัดวันประกันพรุ่งเป็นต้น

    ๒.การประมาทในวัย คือคิดว่าอายุยังน้อย ไม่ต้องทำความเพียรก็ได้เพราะยังต้องมีชีวิตอยู่อีกนานเป็นต้น

    ๓.การประมาทในความไม่มีโรค คือคิดว่าตัวเองแข็งแรงไม่ตายง่ายๆ ก็ปล่อยปละละเลยเป็นต้น

    ๔.การประมาทในชีวิต คือการไม่กำหนดวางแผนถึงอนาคต คิดอยู่แต่ว่ายังมีชีวิตอยู่อีกนานเป็นต้น

    ๕.การประมาทในการงาน คือไม่ขยันตั้งใจทำให้สำเร็จ ปล่อยตามเรื่องตามราว หรือปล่อยให้ดินพอกหางหมูเป็นต้น

    ๖.การประมาทในการศึกษา คือการไม่คิดศึกษาเล่าเรียนในวัยที่ควรเรียน หรือขาดความเอาใจใส่ที่เพียงพอ

    ๗.การประมาทในการปฏิบัติธรรม คือการไม่ปฏิบัติสมาธิภาวนา หรือศึกษาหลักธรรมให้ถ่องแท้ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวเป็นต้น
28#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-18 16:08 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๒๒.มีความเคารพ

๏ ความเคารพ นับถือ คือเสน่ห์
ไม่โลเล เหมือนลิง วิ่งหลอกหลอน
ทั้งต่อหน้า ลับหลัง พึงสังวร
ย่อมงามงอน สวยสง่า ราคาแพง.


ท่านได้กล่าวว่าสิ่งที่ควรเคารพมีอยู่ดังนี้

    ๑.พระพุทธเจ้า

    ๒.พระธรรม

    ๓.พระสงฆ์

    ๔.การศึกษา

    ๕.ความไม่ประมาท คือการดำเนินตามหลักธรรมคำสอนพระพุทธศาสนาอื่นๆ ด้วยความเคารพ

    ๖.การสนทนาปราศรัย คือการต้อนรับอาคันตุกะผู้มาเยือนด้วยความเคารพ
29#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-18 16:08 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๒๓.มีความถ่อมตน

๏ ไม่พองลม ก้มหัว เจียมตัวด้วย
มรรยาทสวย นิ่มนวล สิ้นส่วนแข็ง
เหมือนงูพิษ ถอดเขี้ยว หมดเรี่ยวแรง
ยามแถลง นอบน้อม พร้อมใจกาย.


ความอ่อนน้อมถ่อมตน คือ การไม่แสดงออกถึงความสามารถที่ตัวเองมีอยู่ให้ผู้อื่นทราบเพื่อข่มผู้อื่น หรือเพื่อโอ้อวด การไม่อวดดี เย่อหยิ่งจองหอง แต่แสดงตนอย่างสงบเสงี่ยม

ท่านว่าไว้ว่าโทษของการอวดดีนั้นมีอยู่ดังนี้คือ

    ๑.ทำให้เสียคน คือไม่สามารถกลับมาอยู่ในร่องในรอยได้เหมือนเดิม เสียอนาคต

    ๒.ทำให้เสียมิตร คือไม่มีใครคบหาเป็นเพื่อนด้วย ถึงจะมีก็ไม่ใช่เพื่อนแท้

    ๓.ทำให้เสียหมู่คณะ คือถ้าต่างคนต่างถือดี ก็ทำให้ไม่สามารถตกลงกันได้ ในที่สุดก็ไม่ถึงจุดหมาย หรือทำให้เป็นที่เบื่อหน่ายของคนอื่น
30#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-18 16:09 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
การทำตัวให้เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนนั้นมีหลักดังนี้คือ

    ๑.ต้องคบกัลยาณมิตร คือเพื่อนที่ดีมีศีลมีธรรม คอยตักเตือนหรือชักนำไปในทางที่ดีที่ถูกที่ควร

    ๒.ต้องรู้จักคิดไตร่ตรอง คือการรู้จักคิดหาเหตุผลอยู่ตลอดถึงความเป็นไปในธรรมชาติของมนุษย์ ต่างคนย่อมต่างจิดต่างใจ และรวมทั้งหลักธรรมอื่นๆ

    ๓.ต้องมีความสามัคคี คือการมีความสามัคคีในหมู่คณะ อลุ่มอล่วยในหลักการ ตักเตือน รับฟังและเคารพความคิดเห็นของผู้อื่นอย่างมีเหตุผล

ท่านว่าลักษณะของคนถ่อมตนนั้นมีดังนี้

    ๑.มีกิริยาที่นอบน้อม

    ๒.มีวาจาที่อ่อนหวาน

    ๓.มีจิตใจที่อ่อนโยน

สรุปแล้วก็คือ สมบูรณ์พร้อมด้วยกาย วาจา และใจนั่นเอง
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้