ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 4462
ตอบกลับ: 6
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ความรักและคู่รักที่แท้

[คัดลอกลิงก์]
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย รามเทพ เมื่อ 2013-11-7 06:55

พระไพศาล วิสาโล





ปรับปรุงจากการสัมภาษณ์โดยรายการ
“The Exit ชีวิตมีทางออก”
วันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๔


พิธีกร พูดถึงเรื่องของความรัก เป็นนิยามที่คนยังสงสัยมาตลอดทุกยุคทุกสมัย ตลอดเวลา คำถามฮิต ความรักคืออะไร ทำไมเราต้องตื่นเต้นเวลาที่เราตกหลุมรัก บางคนก็บอกว่าเป็นปฏิกิริยาเคมีทางสมอง หรือว่าอาจจะเคยเป็นสามีภรรยากันเมื่อชาติอื่นๆ หรืออย่างไรก็แล้วแต่ ความจริงแล้วเราจะให้นิยามความรักคืออะไร
พระไพศาล พุทธศาสนามองว่าความรักมีสองประเภท ประเภทหนึ่งเป็นความรักที่มีความยึดติดถือมั่น เป็นเจ้าข้าวเจ้าของ เพื่อตอบสนองตัวตน หรือหวังความสุขเพื่อปรนเปรอตัวตน เราเรียกว่า สิเนหะ หรือเสน่หา เป็นความรักที่ภาษาสมัยใหม่เรียกว่ารักแบบมีเงื่อนไข เช่น ต้องถูกใจฉัน ต้องพะเน้าพะนอฉัน ความรักอีกประเภทหนึ่งเป็นความรักที่เป็นความปรารถนาดี ไม่มุ่งหรือคาดหวังให้เขามาปรนเปรอตัวตน เป็นความปรารถนาดีโดยปราศจากความเห็นแก่ตัว อันนี้เรียกว่าเมตตา
มีความแตกต่างระหว่างเมตตากับสิเนหะ พุทธศาสนามองว่าสิเนหะเป็นสาเหตุแห่งความทุกข์ เพราะว่าถ้าคาดหวังให้เป็นไปตามใจตัวแล้ว เมื่อไม่เป็นอย่างที่หวังก็ทุกข์ เกิดความพลัดพรากสูญเสียไปก็ทุกข์ แต่เมตตานั้น เนื่องจากไม่มีความยึดติดถือมั่นเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ ดังนั้นเขาจะทำอย่างไรกับเรา เราก็ไม่ทุกข์ เพราะว่ามีแต่ความปรารถนาดีอย่างเดียว ไม่มีเงื่อนไขว่าเขาต้องทำดีกับฉัน เขาต้องเทิดทูนบูชาฉัน หรือว่าเขาต้องเป็นลูกของฉัน เป็นสามีของฉัน เป็นคนรักของฉัน พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์มีความเมตตาต่อพระเทวทัตเท่ากับพระราหุล เมตตาคือความรักโดยไม่แบ่งแยก คนส่วนใหญ่มองว่าถ้าเป็นลูกฉันก็รัก ถ้าเป็นศัตรูฉันไม่รัก อันนี้เป็นสิเนหะ แต่เมตตาไม่มีเลือก ไม่มีแบ่งแยก เป็นความรักที่ไม่มีประมาณ ไม่มีเงื่อนไข ขณะเดียวกันเมื่อเกิดอะไรขึ้นกับเขา เราก็ไม่ทุกข์เพราะไม่ได้ยึดติดถือมั่นว่าเป็นเราเป็นของเรา หรือต้องอยู่กับเราชั่วนิจนิรันดร์
พิธีกร แล้วอย่างที่ว่า เวลาเรารักใครเราก็อยากอยู่ใกล้คนนั้น มีความคิดถึง มีอะไรพวกนี้ อันนี้มันเป็นส่วนหนึ่งของความรักใช่ไหมคะ
พระไพศาล อันนั้นเป็นสิเนหะ ในทางพุทธมีอีกคำหนึ่งคือคำว่าราคะ ราคะคือความปรารถนาที่จะครอบครอง เพราะว่ามันให้ความสุขแก่เรา เป็นความสุขทางผัสสะ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย อาจจะรวมถึงความอิ่มเอมใจด้วย ราคะใช้ได้กับทุกอย่างนะ แม้กระทั่งกับสิ่งของ เราอยากครอบครอง อยากอยู่ใกล้ทรัพย์สมบัติ เราก็เอาทรัพย์สมบัติ เอาเพชรนิลจินดามาดูทุกวัน แล้วก็มีความสุข อยากเอามาประดับติดตัว อยากอยู่ใกล้ ไม่อยากให้อยู่ไกล อันนี้เป็นราคะ




พิธีกร
ไม่ใช่ความรัก

พระไพศาล เป็นความรัก แต่เป็นความรักที่เจือด้วยกิเลส ที่ยังผูกติดกับเรื่องตัวตนอยู่ ที่จริงแล้วเราไม่ได้รักสิ่งนั้นอย่างจริงจังหรอก เรารักตัวเรา แต่เนื่องจากสิ่งนั้นให้ความสุขเรา ปรนเปรอเรา พะเน้าพะนออัตตาตัวตนของเรา เราก็เลยผูกใจปรารถนาสิ่งนั้น แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่สิ่งนั้นไม่เป็นไปดั่งใจหวัง ไม่พะเน้าพะนอเรา ไม่ปรนเปรออัตตาเรา เราก็เกลียด อย่างคู่รักที่เคยรักกันอย่างดูดดื่มแต่พอพบว่าเขาคิดไม่เหมือนเรา เขาไม่ให้เกียรติเรา ไม่จริงใจกับเรา ความรักที่มีก็เปลี่ยนเป็นความเกลียด ยิ่งพบว่าเขาปันใจให้คนอื่น เราก็ยิ่งเกลียดเขามากขึ้น รักก็กลายเป็นเกลียดไป ความรักแบบนี้คือรักตัวเอง ไม่ได้รักเขาอย่างแท้จริง
แต่จะว่าไปแล้ว เอาเข้าจริงๆ เรารักตัวเองหรือเปล่าก็ยังไม่รู้เลย เพราะว่าถ้าเรารักตัวเอง เราก็อยากอยู่กับตัวเอง แต่คนส่วนใหญ่เวลาอยู่กับตัวเองคนเดียวไม่มีความสุข กระวนกระวาย อยู่คนเดียวในห้อง แม้ว่าจะอยู่ในโรงแรมห้าดาว แต่ถ้าไม่มีโทรศัพท์ ไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีอินเตอร์เน็ต ไม่มีเฟสบุ๊ค ก็กระสับกระส่าย ทำไมล่ะ ในเมื่อรักตัวเองก็น่าจะมีความสุขเมื่ออยู่กับตัวเอง แต่ว่าคนส่วนใหญ่ ไม่มีความสุขที่จะอยู่กับตัวเอง ที่ทำมาทั้งหมดก็คือพยายามหนีตัวเอง เพราะทนอยู่กับตัวเองไม่ได้ เมื่อเรารักตัวเองไม่เป็น หรือรักตัวเองไม่ได้ เราจะไปรักใครได้อย่างแท้จริง แต่ทุกวันนี้ทุกคนที่อ้างว่ารักคนโน้นรักคนนี้ ที่จริงไม่ได้รักเขาหรอก แม้แต่ตัวเองก็ไม่ได้รัก

พิธีกร
ถามสำหรับน้องๆ หรือคนรุ่นใหม่ที่จะเลือกคู่ เขาจะมีวิธีที่จะเลือกคู่อย่างไรได้บ้าง

พระไพศาล การที่คนเราจะอยู่ด้วยกันได้นาน จะต้องมีความเหมือน มีความสอดคล้องกัน เช่นสอดคล้องกันในเรื่องของศีล ศีลในที่นี้หมายถึงความประพฤติปฏิบัติ หากว่าเป็นคนที่มีความประพฤติปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน เช่นเป็นคนที่ชอบทำบุญ ไม่ต้องการเบียดเบียน ใฝ่ในธรรมะ อันนี้ก็จะอยู่กันได้นาน พูดง่าย ๆ คือมีการดำเนินชีวิตไปในแนวทางเดียวกัน แต่ถ้าสวนทางกันหรือไม่เหมือนกัน ก็อยู่ด้วยกันได้ยาก เช่น คนหนึ่งอยากรวย แต่อีกคนใฝ่ธรรม คนหนึ่งโลภเพราะคิดว่ามีเงินจึงจะมีความสุข แต่อีกคนเห็นว่าการสละการปล่อยวางมีความสุขกว่า อย่างนี้ก็อยู่กันลำบาก อยู่ด้วยกันไม่ยืด
นอกจากศีลแล้ว ประการต่อมาก็คือ การแบ่งปัน หรือ จาคะ คือต้องมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เหมือนกัน ถ้าหากบางคนตระหนี่ก็จะอยู่กับคนที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องมีความเหมือนกันในแง่นี้ด้วย ศรัทธาและปัญญาก็เช่นกัน มีศรัทธาคล้าย ๆ กัน มีปัญญาเสมอกัน ก็อยู่กันได้นาน ธรรมทั้ง ๔ ประการเรียกว่า สมชีวิธรรม คือ ธรรมที่ทำให้คู่สมรสมีชีวิตที่กลมกลืนกัน ครองคู่กันได้นาน เรื่องนี้สำคัญมากคือการมีสาระของชีวิตสอดคล้องไปในทางเดียวกัน แต่ว่าถ้าต่างกันหรือสวนทางกัน จะอยู่ด้วยกันลำบาก สรุปก็คือสิ่งที่จะทำให้อยู่ด้วยกันได้ดีที่สุดคือธรรมะ หากมีธรรมะเหมือนกันก็จะยึดเหนี่ยวประสานน้ำใจให้เป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น
พิธีกร คือว่าวิธีการเลือกคู่แท้ของคนรุ่นใหม่ก็ต้องตรวจสอบดูว่า ข้อที่หนึ่งมีศีลเสมอกันหรือเปล่า ข้อสองมีศรัทธาเสมอกันหรือเปล่า ข้อที่สามมีจาคะ มีความยอมสละกันได้ไหม เราอยากทำบุญ แฟนเราอยากไปเดินห้างก็ต้องดู ข้อสุดท้ายก็เป็นเรื่องของปัญญาที่ต้องเสมอกันด้วย ถ้าตรวจสอบดูแล้วว่าตรงกันก็คือเลือกได้เลย มาถูกคนแล้ว
พระไพศาล ธรรมทั้ง ๔ ประการจะทำให้อยู่กันได้นาน แต่ส่วนใหญ่เรามักจะดูกันแต่รูปร่างหน้าตา หรือไม่ก็ดูแต่เปลือกนอก เช่นว่ารวยไหม มีทรัพย์สินเงินทองเท่าไร เหล่านี้เป็นของชั่วคราวประเดี๋ยวประด๋าว คือไม่สามารถที่จะยึดเหนี่ยวจิตใจได้จริง รูปร่างหน้าตาที่สวย ภูมิใจได้ประเดี๋ยวประด๋าว พออยู่ไปนานๆ เจอทุกวันๆ นอนด้วยกัน อยู่บ้านเดียวกัน เดี๋ยวก็เบื่อ เหมือนกับการกินหูฉลาม แม้จะอร่อย แต่ถ้ากินทุกวันๆ วันละสามมื้อ ไม่นานก็เบื่อ ความสุขแบบนี้เรียกว่ากามสุข เป็นของประเดี๋ยวประด๋าว เบื่อง่าย ทำให้ต้องแสวงหาสิ่งใหม่ๆ อยู่เรื่อย แม้กระทั่งนางเอกพระเอกแต่งงานกัน บางทีอยู่กันแค่สองสามปีก็เลิกกัน เพราะความรู้สึกว่าเขาสวยเขาหล่อนั้นเป็นความรู้สึกที่จืดจางได้
แต่ว่าถ้าเป็นความดี มันยึดเหนี่ยวจิตใจได้นาน เหมือนกับคนเรากินน้ำหวาน เรากินไม่ได้ทั้งวันหรอก แต่เรากินน้ำจืดเรากินได้ทั้งวัน กินได้ทุกวันด้วย ไม่รู้จักเบื่อ อันนี้เป็นสิ่งที่คนสมัยนี้ไม่ค่อยได้ตระหนัก รักกันเพียงเพราะรูปร่างหน้าตา อย่างนี้เรียกว่ารักไม่เป็น คิดว่าอารมณ์ความรู้สึกหวือหวาชั่วครั้งชั่วคราวมันคือความรัก แต่ที่จริงแล้วมันเป็นราคะมากกว่า ราคะเป็นสิ่งที่ผูกใจได้ประเดี๋ยวประด๋าว ตื่นเต้นชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้นเอง ถ้าเป็นความรักที่แท้จะผูกจิตประสานใจให้อยู่กันได้นาน




พิธีกร
ที่เราบอกว่าเขารวย เขาหล่อ อันนี้เรียกว่าราคะ มันก็เลยแค่ประเดี๋ยวประด๋าว พอไปนานๆ มันก็เฉยชินไป

พระไพศาล อย่างนี้แสดงว่าเราไม่ได้รักเขา เรารักเงินทองของเขา รักรูปร่างหน้าตาของเขามากกว่า แต่ว่าเราไม่ได้รัก ถ้าพูดภาษาปัจจุบันคือเราไม่ได้รักตัวตนของเขาจริงๆ
พิธีกร แล้วที่มีคำถามว่า รักแท้มีจริงไหม บางทีเราก็รู้สึกว่า เอ คนนี้มาจีบ อาจจะยังไม่ใช่เนื้อคู่เราที่แท้จริงต้องรอต่อไป บางคนก็เชื่อเรื่องนี้ว่าคนเรามีเนื้อคู่ของเรามาเองแล้ว เพียงแต่ยังไม่เจอกัน อันนี้พระอาจารย์มีความเห็นอย่างไรคะ
พระไพศาล อาตมาเชื่อว่ารักแท้มีจริงนะ แต่ว่ารักแท้มันมีหลายลักษณะ ความรักของแม่ที่มีต่อลูกก็เป็นรักแท้ ความรักของลูกบางคนที่มีต่อแม่ก็เป็นรักแท้ ความรักระหว่างสามีภรรยาที่เป็นรักแท้ก็มี ในสมัยพุทธกาลก็มีคู่ตัวอย่าง คือนกุลบิดาและนกุลมารดา ทั้งคู่เป็นคนที่ดีมาก เป็นผู้ที่ใฝ่ธรรม มีศีลเสมอกัน มีจาคะเสมอกัน มีปัญญาและศรัทธาเสมอกัน พระพุทธเจ้ายกย่องว่านี่เป็นคู่ตัวอย่าง ทั้งสองคนเคยทูลพระพุทธเจ้า อย่าว่าแต่การนอกใจทางกายเลย แม้แต่คิดนอกใจไม่เคยมี เรียกว่ามีความซื่อสัตย์มั่นคงต่อกันมาก ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นที่จะให้ต่างฝ่ายต่างมาปรนเปรอตัวเอง ทุกคนก็ดำเนินชีวิตบนทางแห่งธรรมะ แต่ว่าเดินเคียงคู่กัน อันนี้คือสิ่งสำคัญ
คู่รักที่แท้จะมองไปในทิศทางเดียวกัน เดินเคียงคู่กัน แต่ไม่ผูกมัดกัน แล้วก็ไม่พึ่งพากัน ทุกคนต่างเดินไปข้างหน้าเหมือนกัน แต่ว่าช่วยเหลือกันและเดินเคียงคู่กัน พระพุทธเจ้าตรัสสืบเนื่องจากพระนกุลบิดาและนกุลมารดาว่า ถ้าหวังจะอยู่ด้วยกัน มีชีวิตคู่ร่วมกันทั้งในชาตินี้และชาติหน้า พึงเป็นผู้มีศีล จาคะ ปัญญา ศรัทธา เสมอกัน คำตรัสดังกล่าวแสดงว่า เนื้อคู่มีอยู่จริง เนื่องจากได้ทำความดีต่อกัน มีทั้งศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญามาในชาติที่แล้ว มาชาตินี้ ก็จะได้มาเจอกันและได้เป็นคู่ครองกันอีก ถ้าพิจารณาจากคำตรัสของพระพุทธเจ้าตรัส ก็จะเห็นได้ว่าคู่รักที่แท้นั้นมีอยู่จริง เป็นเพราะว่าได้ทำบุญร่วมกันและทำบุญเสมอกัน
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-7 06:32 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย รามเทพ เมื่อ 2013-11-7 07:02

พิธีกร ถามพระอาจารย์ต่อจากเรื่องเมื่อสักครู่ว่ามีเพื่อนคนหนึ่ง เป็นชาวพุทธที่ดีคนหนึ่ง และเป็นคนทำงาน เป็นผู้หญิงเก่ง ทำงานประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานดี ครอบครัวมีฐานะดี หน้าตาดีทุกอย่าง จนอายุสี่สิบกลางๆ แล้วก็ไม่มีใครมาชอบเลย หรือชอบเขา เขาก็ไม่ชอบ จนวันหนึ่งเขาก็พูดขึ้นมาว่า หรือเป็นเพราะว่าชาติที่แล้ว เขาไปอธิษฐานผิดๆ หรือเปล่าว่า ขอให้เกิดมาเป็นเนื้อคู่กันทุกชาติ และปรากฏว่าเนื้อคู่เขาอาจยังไม่มา ยังไม่เจอสักที ความเชื่ออย่างนี้เป็นอย่างไรบ้าง
พระไพศาล อันนี้ก็มีคำอธิบายหลายอย่าง อาจเป็นเพราะว่าเนื้อคู่ยังไม่เกิด หรือว่ายังไม่ได้พบกัน ที่จริงบางคนกว่าจะได้พบเนื้อคู่จริงๆ ก็อายุมาก อาตมารู้จักคู่หนึ่งมาพบกันเมื่ออายุแปดสิบปี ก็รักกันดี


พิธีกร
แปดสิบปีเลยเหรอคะ

พระไพศาล แปดสิบปี ก่อนหน้านั้นก็มีคู่มาแล้วแต่ก็เป็นทุกข์ ส่วนคนใหม่นั้นก็อยู่ด้วยกันได้ดี คู่รักที่แท้นั้นบางทีก็มาแต่งงานกันเป็นครั้งที่สอง แต่บางคนไม่มีคู่ก็เพราะจิตใจเขาน้อมไปในทางการมีชีวิตเอกา หรือการมีชีวิตโสดก็ได้ บางทีจิตใจอาจจะน้อมไปทางนั้น ซึ่งก็น่าจะดี เพราะว่าในทางพุทธศาสนาการมีชีวิตคู่แล้วมีความสุขนั้นเป็นเรื่องยาก เหมือนกับถูกลอตเตอรี่ ส่วนใหญ่จะไม่มีความสุข เพราะว่าวางจิตวางใจไม่เป็น มีความยึดติดถือมั่น ชีวิตคู่ที่มีความสุขนั้นมี แต่ยาก เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีคู่แล้วมีความสุขได้ อาตมาก็ว่าเป็นเรื่องดี ไม่ใช่เรื่องเสียหาย อย่าไปคาดหวังพึ่งพาความสุขจากคนอื่น เราต้องรู้จักพึ่งตนเอง แล้วจะพบว่าความสุขอยู่ในใจเรานี่เอง

พิธีกร บางครั้งพอเรามีคู่ เราก็รู้สึกเหมือนมีห่วง คิดว่าคู่เราจะเป็นอย่างไร หรือลูกเราจะเป็นอย่างไร แล้วเรื่องนี้จะทำอย่างไร บางครั้งเราก็รู้สึกเหมือนกับว่า ถ้าเราไม่เข้าใจเรื่องพวกนี้ มันก็จะทำให้เราเป็นทุกข์ได้เหมือนกัน

พระไพศาล ต้องมีอุเบกขา มีเมตตา กรุณา แล้วต้องมีอุเบกขาด้วย อุเบกขาคือการวางใจเป็นกลาง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเราทำดีที่สุดกับเขาแล้ว เราก็ต้องรู้จักให้เขามีอิสระเป็นตัวของตัวเอง ถ้าเราไปจ้ำจี้จ้ำไช หรือไปดูแลเขาทุกอย่าง ก็จะไม่ทำให้เขาไม่รู้จักเติบโต ไม่ทำให้เขารู้จักรับผิดชอบตัวเอง หรือว่าเวลาลูกทำผิดพลาด พ่อแม่ก็ต้องปล่อยให้เขารับโทษหรือรับผิดชอบการกระทำนั้น ๆ ด้วยตัวเองอย่าไปแทรกแซงเขา อุเบกขาจะช่วยทำให้เราวางใจเป็นกลางได้ ทำให้เขารู้จักพึ่งตัวเองและรับผิดชอบตัวเอง อันนี้เป็นการแสดงความรักที่ดีที่สุด ก็คือทำให้เขาพึ่งตนเองได้หรือว่าเอาธรรมเป็นที่พึ่ง







พิธีกร
พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกเสมอหรือคะว่าความรักคือความทุกข์ จริงๆ แล้วก็มีเหมือนกันนะคู่ที่เสมอกันก็อาจจะส่งเสริมกันเกื้อกูลกันก็อาจจะไม่ได้เป็นทุกข์ก็ได้ ดังนั้นมันต้องมีหลักหรือเปล่าคะ หลักอะไรที่ทำให้เรามีตรงนี้เสมอกัน หรือว่าเป็นธรรมะในการครองคู่ที่ทำให้เราทุกข์น้อยที่สุด หรือว่าจริงๆ มันต้องทุกข์อยู่แล้ว

พระไพศาล พระพุทธเจ้าตรัสว่า ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ ถ้ารักร้อยก็ทุกข์ร้อย ถ้ารักเก้าสิบก็ทุกข์เก้าสิบ ถ้ารักหนึ่งก็ทุกข์หนึ่ง ถ้าไม่รักก็ไม่ทุกข์เลย แต่จะทุกข์เรื่องอื่น ทุกข์เพราะความเจ็บความป่วยก็ได้ แต่ทุกข์เพราะความผิดหวังในรักจะไม่มี อันนี้พระพุทธเจ้าตรัสกับนางวิสาขา หลานนางวิสาขาเสียชีวิต นางวิสาขาเสียใจ พระพุทธเจ้าก็เลยตรัสประโยคนี้ขึ้นมาเพื่อให้นางวิสาขาได้สติ คือความรักให้ความสุขก็จริง แต่สุขกับทุกข์มักจะอยู่ด้วยกัน ในทุกที่ๆ มีสุขจะเจือไปด้วยทุกข์เสมอ นี้เป็นธรรมดาของความสุขแบบโลกๆ ถ้าเราปรารถนาจะได้รับความสุขเมื่อมีความรักก็ต้องเผื่อใจให้กับความทุกข์ด้วย เว้นแต่ว่าเราไม่ยึดมั่นถือมั่น เวลาเขาตายจากไปหรือเขาเจ็บเขาป่วยเราก็ไม่ทุกข์ แต่ไม่ได้แปลว่าปล่อยปละละเลย เราก็ดูแลเขาอย่างดีที่สุดขณะที่เขายังอยู่กับเรา
เพราะฉะนั้นเวลาเราจะรักก็รักด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าเขาจะต้องอยู่กับเราไปตลอด รักโดยมีความเข้าใจในเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตากำกับด้วย คือถ้าไม่เข้าใจเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาก็จะยึดมั่นว่าเขาจะต้องเที่ยง เขาจะต้องอยู่กับเราไปจนตาย เขาจะต้องให้ความสุขกับเรา หรือว่าเขาจะต้องเป็นของเราคนเดียว คิดแบบนี้แสดงว่าไม่เข้าใจเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ถ้าเราเข้าใจ เมื่อรักก็จะรักแบบเมตตา ปรารถนาดีกับเขาโดยไม่มีเงื่อนไข หรือไม่ได้คาดหวังยึดมั่นกับเขา
เหมือนกับเรากินปลา เราก็ฉลาดที่จะกินโดยไม่ให้ก้างปลาตำ ปลามันก็ต้องมีก้างใช่ไหม คนส่วนใหญ่กินแบบไม่มีสติ ไม่มีปัญญา ก็จะถูกก้างปลาตำ หรือเหมือนกับปลาที่พอเห็นเหยื่อก็ฮุบทันที ทีแรกก็มีความสุขเพราะอร่อย แต่สักพักก็จะเจ็บเพราะถูกเบ็ดทิ่มปาก แต่ถ้าเราฉลาดเราก็จะไม่ฮุบเบ็ดนั้น หรือว่าถ้าเราจะกินปลา เราก็จะกินปลาอย่างมีสติ ไม่ให้ก้างปลาตำคอ เราก็ทำได้ นั่นคือมีเมตตาที่เกิดจากปัญญาหรือความเข้าใจความจริง ไม่ใช่รักแบบราคะหรือรักด้วยความยึดมั่นถือมั่น แต่รักในความหมายที่เป็นเมตตา ปรารถนาดีอย่างไม่มีเงื่อนไข ถ้ามีความรักแบบนี้ ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นกับเขาเราก็ไม่ทุกข์ เพราะเรารู้ว่ามันเป็นธรรมดา มันเป็นอนิจจัง มันไม่เที่ยง แล้วทุกอย่างมันก็สามารถจะบีบคั้นเราได้ถ้าเราไปยึดติดถือมั่นกับมัน อันนี้คือความหมายของคำว่าทุกข์ อีกทั้งทุกอย่างไม่มีใครเป็นเจ้าของได้ อันนี้คืออนัตตา ถ้าเข้าใจเช่นนี้ได้เราก็สามารถรักเขาได้โดยไม่เป็นทุกข์
พิธีกร แต่ความเป็นจริง บางทีมันก็ไม่ใช่คู่แท้ เป็นเจ้ากรรมนายเวรมาก็มี
พระไพศาล ก็ต้องเรียกว่าทำกรรมร่วมกันมา เป็นไปได้ และเกิดขึ้นบ่อยด้วย หลายคู่เมื่อแต่งงานกันไปแล้วแทนที่ชีวิตจะดีขึ้นหรือมีความสุขกลับเป็นทุกข์ยิ่งกว่าเดิม บางคนก็ถึงกับตายเพราะคู่ครองของตัวเอง เช่น ถูกคู่ครองทำร้าย คือความรักแทนที่จะนำไปสู่ความเจริญงอกงามของทั้งคู่ กลับทำให้ชีวิตต่ำลงหรือมีทุกข์มากขึ้น อธิบายได้อย่างหนึ่งว่าทั้งคู่เคยทำกรรมร่วมกันมาก่อน
พิธีกร เขาบอกว่าจริงๆ แล้วบางครั้งการเลือกคู่ยังต้องมีสติในการพิจารณา
พระไพศาล มีสติและปัญญา
พิธีกร เพราะว่าจะต้องมีตามหลักที่พระพุทธเจ้าได้เคยตรัสไว้ว่าอย่างน้อยก็ให้มีศีลเสมอกัน มีจาคะเสมอกัน มีทิฐิเสมอกัน และต้องมีปัญญา ศรัทธาที่เสมอกัน คือถ้าเกิดว่าเรามีจุดเช็คพ้อยท์ตรงนี้แล้ว และนำไปพิจารณาให้ดีขึ้น โอกาสที่เราจะผิดพลาดมันก็น่าจะน้อยลง
พระไพศาล จริงๆ มันก็ขึ้นอยู่กับธาตุด้วยนะ ถึงแม้เสมอกันทุกอย่าง แต่ว่า (มันไม่รักอ่ะ) ก็เป็นเพื่อนสนิท ก็ได้ แต่ว่ามันก็ต้องมีอะไรบางอย่างที่ทำให้รู้สึกปิ๊งที่จะอยู่ด้วยกัน ไม่งั้นก็เป็นแค่เพื่อนสนิท
พิธีกร ก็เคยมีคนมาจีบ สมัยสาวๆ เลิศเลอเพอร์เฟ็คไง มันก็เสมอกันหมดแต่ไม่รู้สึกอะไรเลย มันก็เป็นแฟนกันไม่ได้ มันต้องมีเสน่หาเล็กๆ ก็เลยว่าเสน่หาก็เป็นส่วนหนึ่งของความรัก
พระไพศาล ปุถุชนก็ต้องเป็นแบบนั้น
พิธีกร แต่ว่าจริงๆ แล้ว ถ้าสมมุติว่ายังงั้น ก็สู้อย่าอยู่ด้วยกันเลยนะ ถ้าไม่มีเสน่หาอะไร หรือว่าจริงๆ ความเร้าใจ ความตื่นเต้น ความอะไรนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของความรักใช่ไหมคะ เป็นราคะที่ท่านบอก แต่มันต้องมีนะคะ




พระไพศาล ราคะเป็นสิ่งดึงดูดให้คนสองคนพอใจที่จะมาใช้ชีวิตร่วมกัน ถ้าไม่มีตรงนี้ ก็คงไม่ทำให้เราอยากจะยอมสละความเป็นโสด เพื่อจะไปมีชีวิตร่วมกัน หลายคนก็รู้ว่าการสละความเป็นโสดทำให้เราสูญเสียบางอย่างที่มีค่า เช่น อิสรภาพ แต่ที่เรายอมเสียก็เพราะมีสิเนหะ สิเนหะทำให้เรายอมที่จะเสียความเป็นส่วนตัว หรืออิสรภาพบางส่วนไป
พิธีกร คิดว่าเสน่หามันก็คือ ควันบังตา บางทีมันบังตาทำให้เราลืมสี่ห้าข้อ คือ คนนี้เลิศเลอเพอร์เฟ็ค คนนี้ไม่เพอร์เฟ็คแต่รัก เราก็เลยเลือกผิด ก็เป็นเจ้ากรรมนายเวรของเราเองประมาณนี้ แล้วอีกกรณีหนึ่ง อันนี้ก็คือคู่นี้รักกันดี คู่นี้ก็รักกันดี เผอิญผู้หญิงของฝั่งนี้กับผู้ชายของฝั่งนี้มาเจอกัน เคยเป็นคู่กันมาหลายภพหลายชาติ แต่ว่าไอ้ตอนแรกก็คิดว่าใช่ คนนี้แหละ แต่พอแต่งกันไปต่างคนก็ต่างอยู่กันลุ่มๆ ลอนๆ พอคู่แท้มาเจอกัน แล้วอย่างนี้จะทำอย่างไรดี
พระไพศาล ส่วนใหญ่คงไม่ได้เป็นคู่แท้นะ น่าจะเป็นคู่กรรมกันมากกว่า เพราะว่าพอมาเจอกันแล้วชีวิตมีแต่ความทุกข์ หรือประสบความตกต่ำ เท่าที่อาตมาพบ มีหลายคู่ที่ชีวิตไม่ได้เจริญขึ้นเลย กลับตกต่ำลง เหมือนกับว่าทั้งสองคนมาพบกันเพื่อสร้างความทุกข์ให้กัน อาตมาไม่ค่อยได้พบว่ากรณีแบบนี้เป็นคู่แท้ น่าเป็นคู่กรรมมากกว่า ที่เป็นคู่แท้ก็อาจจะเป็นในลักษณะที่ไปเจอพ่อหม้ายหรือแม่หม้าย ถึงแม้ว่าจะมีอุปสรรคมากมาย แต่ก็ดิ้นรนฟันฝ่าจนมาอยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุขพอสมควร คู่แท้แบบนี้มีไม่น้อย ส่วนประเภทที่ว่ามีคู่อยู่แล้วแต่ว่ายอมสละทิ้งคู่ของตัว ส่วนใหญ่มักตกระกำลำบาก ทำให้ดูเหมือนไม่น่าเป็นคู่แท้
พิธีกร แต่ว่าบางคนก็เข้าใจและเป็นเพื่อนกันเฉยๆ ก็อาจจะเป็นยังงั้นก็ได้ เราก็ไม่รู้นะ เพราะมันสับสนมากเรื่องของความรัก ถ้าไม่ได้ฟังจากพระอาจารย์ก็ยังงงอยู่
พระไพศาล อาตมาก็พูดจากประสบการณ์ที่ได้ฟังที่ได้ยินมา ไม่เคยเจอประสบการณ์ตรงๆ ประสบการณ์จากโยมพ่อโยมแม่ที่ได้เห็น ก็รู้สึกว่าการที่มีชีวิตคู่แล้วมีความสุขมันยาก เหมือนถูกลอตเตอรี่
พิธีกร ถามเล็กๆ อย่างพระอาจารย์โตมาก็เข้ามาบวช อาจารย์เคยมีความรักไหมคะ
พระไพศาล มี มีเยอะด้วย ตั้งแต่เล็กนะ ป.๑ ป.๒ก็มีแล้ว แต่ว่าชั่วคราว
พิธีกร แล้วที่นี้ถ้าเป็นอย่างนั้น พระอาจารย์รู้สึกอย่างไรคะ หมายความว่าดีไหม
พระไพศาล มีแล้วก็รู้สึกว่ามันซาบซ่านดี มีชีวิตชีวา ตื่นเต้นดี แต่ก็ได้ทุกข์กลับมาด้วย เนื่องจากว่าเป็นคนที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จในเรื่องความรักก็เลยเดินทางนี้ได้สะดวก
พิธีกร ทำให้เราสรุปได้ไหมคะว่าจริงๆ แล้ว ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ แต่ทุกข์มากหรือทุกข์น้อยก็ขึ้นอยู่กับเราวางใจ ความยึดมั่นถือมั่น สรุปแล้วเรามีรักได้ แต่รักอย่างฉลาด อย่ารักแบบโง่ๆ
พระไพศาล แล้วก็พัฒนาให้ความรักนั้นกลายเป็นเมตตาให้ได้ ไม่ใช่สิเนหะ พัฒนาไปเป็นความรักที่แท้คือมีเมตตาต่อกัน ข้ามจากสิเนหะหรือราคะไปสู่เมตตา ซึ่งทำให้เป็นความรักที่ประณีต ประเสริฐมากขึ้น


ข้อมูลจาก..http://www.watlanna.com

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-7 06:45 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย รามเทพ เมื่อ 2013-11-7 06:48

                                          
เหตุแห่งความรัก


ปุถุชนผู้ยังละกิเลสไม่ได้ เกิดมาก็ย่อมต้องมีความรักทั้งหญิงและชายพระพุทธเจ้าทรงแสดงเหตุที่ทำให้หญิงชายรู้สึกรักกันไว้ใน สาเกตชาดก พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ ดังนี้


“ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เหตุไรหนอเมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้พอเห็นกันเข้าก็เฉย ๆ หัวใจก็เฉย บางคนพอเห็นกันเข้าจิตก็เลื่อมใส ”


“ ความรักนั้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยเหตุ ๒ ประการ คือด้วยการอยู่ร่วมกัน ในกาลก่อน ๑ ด้วยความเกื้อกูลต่อกันในปัจจุบัน ๑ ”

เหมือนดอกอุบลและชลชาติ เมื่อเกิดในน้ำ ย่อมเกิดเพราะอาศัยเหตุ ๒ประการคือน้ำและเปือกตม ฉะนั้น ”



จึงจะเห็นว่าการที่หญิงชายมารักกัน ชอบกันและอาจได้อยู่ร่วมกันนั้นไม่ใช่เหตุบังเอิญ แต่มีปัจจัยมาจาก ๒ประการดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงเหตุให้รู้แต่ก็ยังมีข้อสงสัยที่เกี่ยวเนื่องกับความรัก คู่ครอง เนื้อคู่ ฯลฯ อีกมากมาย


คู่

บุพเพสันนิวาส คือ การได้เคยอยู่ร่วมกันในอดีตชาติจนส่งผลให้ได้มาเป็นคู่ครองกันในปัจจุบันซึ่งส่วนใหญ่จะคิดว่าเคยอยู่ร่วมกันเป็นสามีภรรยาเท่านั้นแต่แท้จริงแล้วบุพเพสันนิวาสหมายถึงการที่อาจจะได้อยู่ร่วมกันในฐานะอื่นก็ได้ เช่นพี่กับน้อง พ่อกับลูก แม่กับลูก เพื่อครูกับศิษย์ นายกับบ่าว เป็นต้นการที่มีบุพเพสันนิวาสร่วมกันนี้เมื่อเกิดมาร่วมกันก็มักจะสร้างบุญสร้างกุศลร่วมกันมา ทำอะไรตามกัน มีความเห็นสอดคล้องกันทำให้อยู่ด้วยกันแล้วมีความสุข

เนื้อคู่ คือหญิงและชายที่เคยได้ใช้ชีวิตร่วมกัน เป็นสามีภรรยากันมาก่อนในอดีตชาติ

คู่ครอง คือ หญิงและชายที่ใช้ชีวิตร่วมกัน เป็นสามีภรรยากันในชาติปัจจุบัน

คู่กรรม คือ หญิงและชายที่ใช้ชีวิตร่วมกันเป็นสามีภรรยา แต่มักไม่มีความสุข

เนื่องจากการมาอยู่ร่วมกันนั้นเกิดจากวิบากของกรรมที่ทำร่วมกันหรือวิบากกรรมที่มีต่อกันมาส่งผลเช่น อาจเคยทำบาปร่วมกัน หรือเคยเป็นศัตรูกันมาก่อนเป็นต้น

คู่บารมี คือเนื้อคู่ที่ได้ติดตามกันมา ส่งเสริมกันและกันในทางที่ดีได้ใช้ชีวิตร่วมกันในฐานะสามีภรรยาร่วมกันนับชาติไม่ถ้วนและจะติดตามกันต่อไปจนกว่าจะสามารถหลุดพ้นจากวัฏสงสารได้มักใช้คำนี้กับพระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญบารมีกับเนื้อคู่ลำดับ ๑ที่จะได้เป็นคู่ครองกับในชาติสุดท้าย

เหตุแห่งการได้อยู่ร่วมกัน

ดังที่พระพุทธองค์ได้แสดงเหตุที่หญิงชายได้รักและได้เป็นสามีภรรยากันนั้นมี๒ ปัจจัย คือ

• การได้อยู่ร่วมกันในกาลก่อน

• การได้เกื้อหนุนกันในชาติปัจจุบัน

เนื่องจากวัฎสงสารยาวไกลจนหาจุดเริ่มต้นและที่สุดไม่ได้หญิงชายแต่ละคนจึงมีเนื้อคู่มากมายเป็นแสนคนแต่ละชาติที่เกิดมาก็อาจได้พบเจอเนื้อคู่ได้หลาย ๆ คนพร้อมกันหรืออาจไม่ได้เจอเนื้อคู่เลยสักคนก็เป็นได้ กรณีที่ไม่เจอเนื้อคู่เลยนั้นหญิงชายนั้นก็อาจมีคู่ได้กับบุคคลใกล้ชิดที่ได้เกื้อหนุนกันในปัจจุบันซึ่งเมื่อได้เป็นคู่กันในปัจจุบันแล้วหญิงชายนั้นก็จะได้เป็นเนื้อคู่กันต่อไป




ข้อมูลจากhttp://203.172.242.164/2555/8595/index.php/2012-07-16-06-56-39
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-7 06:50 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
[size=13.63636302947998px]  ขอบคุณครับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้