ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 6873
ตอบกลับ: 13
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

สมถะกับวิปัสสนา (คือมะม่วงใบเดียวกัน)

[คัดลอกลิงก์]






การปฏิบัติในพระพุทธศาสนามีหลายวิธีการ ซึ่งถ้านำมาแยกย่อยก็มี สมถะกับวิปัสสนา ผู้ปฏิบัติจะเริ่มด้วยวิธีใดก่อนดีครับ
? เพราะเท่าที่ได้อ่านได้ฟังมาก็จะมีวิธีการใช้สมาธินำปัญญาและใช้ปัญญานำสมาธิ

จริงๆ แล้วมันทำได้ทั้งสองวิธี ทำควบคู่กันไป ส่วนมากโดยที่เราไม่รู้ตัวว่าเรามีสมาธิ มันก็ใช้ปัญญานำสมาธิ ใช้ปัญญานำเพราะอะไร? ถ้าเราไม่เห็นโทษของการกระทำผิดศีลก็ไม่มีปัญญาเห็นประโยชน์หรอก ต้องใช้ปัญญานำถ้าเราไม่รู้จักว่าการกระทำอันนี้เป็นการกระทำที่ผิด เราก็หลงกระทำอยู่นั่นแหละ มันต้องมีปัญญาเห็นว่าเรากระทำกรรมนี้ลงไปแล้วจะเป็นโทษแก่ตัวเรา แก่บุคคลอื่นทั้งในปัจจุบันและภายภาคหน้า มันจึงจะเลิกได้ นั่นปัญญาเห็นถ้าปัญญาไม่เห็นโทษของการกระทำผิดศีล มันก็ไม่มีปัญญาในการรักษาศีล มันต้องมีปัญญาก่อน

เช่น เรามีความทุกข์ใจ มีความไม่สบายใจ มีความฟุ้งซ่านภายในใจนะ เราต้องเห็นตรงนี้ก่อน เราจึงมาทำสมาธิ ถ้าจิตเราฟุ้งซ่านปรุงแต่งไปในเรื่องไร้สาระ เป็นความคิดที่เป็นอกุศล เป็นความคิดที่เป็นบาป เป็นความคิดที่ไม่ดีเนี่ย เรามีสติเห็นตรงนั้นน่ะ เราต้องการที่จะควบคุมใจให้เราสงบ ควบคุมใจเราให้ได้ เราก็ต้องทำสมาธิไง มันก็จะกลับมาทำสมถะ มันต้องมีปัญญาก่อน พอเราเห็นนะว่าจิตใจเราทำไมมันว้าวุ่นขนาดนี้ เราต้องการให้ใจเราสงบทำยังไง มันกลับมาทำกรรมฐาน ก็ต้องมาหาวิธีแล้วว่าเราจะทำสมาธิแนวไหน อย่างที่เราไปศึกษากัน บางสำนักก็อานาปานสติกรรมฐานกำหนดลมหายใจ บางสำนักก็ พุทธานุสติกรรมฐานกำหนดพุทโธ บางสำนักก็ยุบหนอพองหนอ บางสำนักก็สัมมาอรหัง แล้วแต่ที่ที่จะไป แล้วแต่กรรมไปศึกษา แต่กรรมฐาน ๔๐ กอง จะเป็น กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อนุสติ ๑๐ ก็แล้วแต่

มันเป็นสมถกรรมฐานเพื่อให้จิตสงบ แต่แล้วแต่ว่าอุบายจริตนิสัยบารมีของแต่ละคนนั้นจะถูกกับกรรมฐานบทใดเอามาเป็นพื้นฐานของจิตแค่นั้น เช่น ภาวนาพุทธานุสติกรรมฐานกำหนดพุทโธก็เพื่อให้จิตสงบ ระลึกถึงสังฆานุสติกรรมฐานนี่ระลึกถึงครูบาอาจารย์พระอรหันตสาวกก็เพื่อให้จิตสงบ กำหนดอานาปานสติกรรมฐานกำหนดลมหายใจเข้าออกนี่รู้ลมสัมผัส ก็เป็นสมถกรรมฐานเพื่อให้จิตสงบ มันเป็นอุบายเพื่อให้จิตสงบหมด

แต่ว่าสิ่งที่จะเกิดวิปัสสนากรรมฐานนี่ เมื่อจิตสงบแล้ว เราก็เอาความสงบนั้นมาใช้ คือว่าจิตสงบแล้ว มันจะเกิดพลังของสติขึ้นมา เราเอาพลังของสติปัญญามาใช้พิจารณากาย พิจารณาอารมณ์ภายในใจของเรา นี่แหละจึงจะเกิดวิปัสสนา เพราะเราจะเห็นว่าร่างกายไม่เที่ยง ร่างกายไม่ใช่ตัวตน มาพิจารณาอารมณ์ มันก็จะเห็นอารมณ์นี้ มีความเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป มันจะเป็นวิปัสสนา ต้องมีสมถะและวิปัสสนาควบคู่กัน มันจะอยู่ด้วยกัน อยู่ที่ใจดวงเดียวกันนี้แหละ

บางคนมาถามนะว่า “ศีล สมาธิ ปัญญา นี่มันคนละตัวกันหรือเปล่า?”

ถามหลวงพ่อชานะ หลวงพ่อชาก็ว่า..




“มะม่วงลูกเล็กๆ มะม่วงที่แก่ มะม่วงที่สุกมันคนละใบกันเหรอ?”

  มะม่วงลูกเดียว มันจากเล็กๆ แล้วมันเป็นที่มันแก่ขึ้นมาหน่อย แล้วมันห่ามแล้วก็สุก มันใบเดียวกันน่ะ ศีลก็อยู่ที่ใจ สมาธิอยู่ที่ใจ ปัญญาก็อยู่ที่ใจ มันเกิดด้วยกันอยู่ที่ใจนี้นะ มันต้องมีปัญญาเป็นวงจร คล้ายๆ ว่า ศีลสมาธิปัญญานี่ มันเป็นวงจร มันต้องมีปัญญาเห็นโทษของการผิดศีล รักษาศีลได้ เมื่อรักษาศีล ศีลมันก็เกื้อหนุน กายสงบ วาจาสงบ ทำสมาธิภาวนาจิตมันก็สงบ เมื่อทำสมาธิจิตสงบ ก็จะเกื้อหนุนให้เกิดปัญญาเอง เป็นวงจรต่อเนื่องกันเลย มันจะเริ่มจากปัญญาก่อนก็ได้


บางคนที่ว่าถ้าศีลยังไม่ปกติเรายุ่งหน้าที่การงานนี้ บางคนก็ไม่ฉลาดนะ ศีล ๕ เรายังไม่ได้ งั้นเรายังไม่ทำสมาธิ ไม่นั่งสมาธิ กลัวนั่งไม่ได้ นั่งได้เลย สมมติศีลเรานี่ รักษาได้ ๓ ข้อ ๔ ข้อ ไม่ถึง ๕ ข้อนะ

  ฝึกนั่งได้เลย ไม่ใช่ว่านั่งไม่ได้เพราะว่าศีลเรายังไม่ปกติจะทำสมาธิเจริญภาวนาไม่ได้ ไม่ใช่ ทำได้เลย เพราะอะไรรู้ไหม?

ทำไปแล้ว เมื่อจิตใจสงบแล้วมันจะกลับมารักษาศีล ปัญญามันจะเกิดอีก พอจิตมันสงบปั๊บมันจะเห็นว่า จิตสงบแบบนี้เราอยากจะสงบให้มากกว่านี้อีก จะทรงความสงบให้ได้ทำอย่างไร? มันก็จะมีสติปัญญารู้ว่าจะต้องรักษาศีล มันจะฉลาด เอาตรงไหนก่อนก็ได้ ศีลไม่ใช่ว่ามันจะต้องครบเป๊ะครบ ๕ วันนี้จึงจะนั่งสมาธิได้ วันนี้ศีล ๔ ศีล ๓ ศีล ๒ เอง ศีลขาด นั่งสมาธิไม่ได้ ไม่ใช่ เรารักษาศีลได้ข้อหนึ่ง สองข้อก็นั่งได้ เดี๋ยวมันจะสงบจะมีปัญญาเองล่ะ ว่าเราอยากจะพบกับความสงบนั้นอีก อยากจะมีความสุขของสมาธิที่มันมากขึ้น อยากจะรักษาตรงนี้ไว้ และจะมีปัญญาว่าถ้าอยากจะให้จิตสงบมากขึ้น มันต้องรักษาศีล ถ้าศีลบริสุทธิ์แล้วสมาธิมันจะเกิดขึ้นได้ง่ายมันจะต่อเนื่องกัน เพราะฉะนั้นทำได้หมด



สมถกรรมฐานมีวิธีใดบ้างครับ?

ก็อย่างที่บอก ส่วนมากพระเถระนักปราชญ์ทั้งหลายท่านจัดไว้ ก็มีกรรมฐาน ๔๐ กอง แต่ว่าแล้วแต่ว่าจริตนิสัยเราจะถูกกับกรรมฐานบทใดเช่น ระลึกถึงอนุสติกรรมฐานมีอยู่ ๑๐ อย่าง พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ แล้วก็อสุภกรรมฐาน ๑๐ กสิณ ๑๐ อะไรอย่างนี้ หรือทุกวันนี้ที่ได้ยินกันบ่อยๆ ก็กำหนดลมหายใจเข้าออก หรือกำหนดพุทโธ หรือสัมมาอรหัง หรือยุบหนอพองหนอ ที่ได้ยินกันบ่อยๆ นะ

ทีนี้ จำเป็นต้องบริกรรมประกอบกับลมหายใจหรือไม่? ถ้าพูดถึงสายหลวงพ่อชานะ พื้นฐานคนใหม่ท่านให้ฝึกอาปานสติกรรมฐานควบพุทธานุสติกรรมฐาน คือกำหนดลมหายใจ พร้อมกับบริกรรมภาวนาว่าพุทโธ เมื่อเรานั่งสมาธิใหม่ๆ ลมหายใจยังไม่เป็นปกติ ท่านให้ตั้งธาตุลมก่อนคือ กำหนดสติ ค่อยๆ สูดลมหายใจช้าๆ เข้าไปในปอดลึกๆ อัดเข้าไปในปอดแล้วตามลมออกมา ค่อยๆ ผ่อนออกมาสัก ๓ ครั้ง สูดลมหายใจไปลึกๆ แล้วผ่อนออก ตามลมเข้าลมออก พอตั้งธาตุลมได้แล้ว ให้กำหนดสติที่ปลายจมูกที่มันรู้ลมสัมผัสหายใจเข้าพอลมสัมผัสปลายจมูกอย่างแผ่วเบาตรงไหนก็แล้วแต่ให้กำหนดตรงจุดนั้นแล้วบริกรรมภาวนาภายในใจว่า พุธ หายใจออก พอลมสัมผัสปลายจมูกให้บริกรรมว่า โธ อันนี้สำหรับผู้ใหม่นะ

ทีนี้คนที่จิตว่าง่ายสอนง่ายเขากำหนดลมอย่างเดียว พอหายใจเข้า พอลมสัมผัสปลายจมูกให้กำหนดสติอยู่ตรงนั้น รู้ลมสัมผัส หายใจออกให้รู้ลมสัมผัสตรงนั้น ให้มีสติอยู่ตรงนี้ ไม่ต้องตามลมเข้าลมออก อันนี้สำหรับคนจิตว่าง่ายสอนง่าย เขากำหนดสติอยู่ตรงนี้ จิตก็ไม่คิดถึงเรื่องอดีตอนาคตแล้ว แต่คนที่หัดใหม่นี่ทำไมท่านถึงให้กำหนดควบพุทโธด้วย เพราะว่าพอเรากำหนดสติที่ลมนี่จิตจะคิดถึงเรื่องอดีตเรื่องอนาคต เนี่ยท่านก็ให้มาคิดเรื่องพุทโธแทนเพื่อตะล่อมให้จิตสงบแต่ว่าบางคนกำหนดลมไม่สะดวกอีก ท่านก็ให้บริกรรมพุทโธอย่างเดียว เหมือนท่องศัพท์ พุทโธ พุทโธ พุทโธ อย่างเดียว ก็ทำจิตให้สงบได้



บางคนบอกว่าจิตใจฟุ้งซ่านเนื่องจากการทำงานทางโลก บางทีไม่สามารถทำสมถกรรมฐานได้ จริงหรือไม่ครับ?

จริงๆ แล้ว การที่จิตใจฟุ้งซ่านสามารถทำสมถกรรมฐานได้ดีเพราะเราก็เริ่มทำสมถกรรมฐานจากการที่จิตใจฟุ้งซ่าน ครั้งแรกที่นั่งสมาธิภาวนา เพราะจิตใจฟุ้งซ่าน ตอนนั้นเรียนอยู่ปี ๓ เรียนอยู่หอการค้า เรียนตอน ๑ ทุ่ม กลับบ้าน ๓-๔ ทุ่ม แล้วพอดี วันนั้นจิตมันปรุงแต่งไม่หยุด คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้วสติมันเห็น เป็นครั้งแรกที่เห็นนะ สติมันเห็นว่า เอ๊ะ ทำไมจิตเรามันฟุ้งซ่านวุ่นวายอย่างนี้ ทำไมจิตไม่สงบ ทำไมจิตไม่นิ่ง ทำไมคิดอะไรไม่หยุด อยากจะหยุดน่ะมันไม่หยุด นี่แหละฟุ้งซ่าน พอจังหวะโชคดีว่าได้เห็นพ่อของเรา พอวันพระท่านจะเข้าห้องพระนั่งสมาธินุ่งขาวเราก็เห็นเป็นแบบอย่างและก่อนหน้านั้นเราก็ได้อ่านประวัติของหลวงปู่มั่น ซึ่งโยมพ่อได้ร่วมพิมพ์แล้วเอามาทิ้งไว้ที่ห้อง เราได้เปิดอ่าน ๒-๓ แผ่น

  มีอยู่เรื่องหนึ่งที่สมัยหลวงปู่มั่นไปบำเพ็ญภาวนาอยู่ที่ป่าที่เขาที่เชียงใหม่ ไปภาวนาอยู่กับพวกชาวเขาชาวดอย ท่านก็สอนให้พวกชาวเขาภาวนาโดยมีอุบายที่จะให้พวกชาวเขาช่วยเดินจงกรมไปมา

เขาก็มาถามท่าน (หลวงปู่มั่น) ว่า “ท่านหาอะไร?”
ท่านก็ว่า “หาพุทโธ”
ชาวเขาถามว่า “พุทโธเป็นยังไง?”
ท่านว่า“พุทโธคือดวงแก้วที่สว่างไสว”
(ชาวเขาถามว่า) “เราจะช่วยหาได้ไหม”
ท่านว่า “ได้” ชาวเขาถามว่า “ให้เราทำยังไง?”
ท่านว่า “ให้เดินภาวนาพุทโธ”


เราคิดว่าพวกชาวเขาอยู่ป่าอยู่เขา และเราเป็นคนกรุงเทพก็มีทิฏฐิมานะ ชาวเขาชาวป่าคนชนบทยังภาวนาได้เลย เราคนเมืองทำไมจะภาวนาไม่ได้ เราก็เลยเข้าห้องพระ นั่งสมาธิ พอนั่งสมาธิแล้วสงบ ที่ปลายจมูก หายใจเข้า ลมสัมผัสปลายจมูกหายใจเข้าระลึกถึงคำว่า พุท ลมสัมผัสปลายจมูกหายใจออกระลึกถึงคำว่า โธ

ตอนแรกตอนนั้นรู้สึกว่าเราจะกำหนดรู้ลมแค่ลมสัมผัสเท่านั้น พอกำหนดสติอยู่ตรงนี้จิตมันสงบเป็นสมาธิขึ้นมา จิตที่ฟุ้งซ่านมันหยุดเลย พอกำหนดที่ลม จิตอยู่ที่ลม มันก็ค่อยๆ สงบ กายเบา จิตเบา มีสติเกิดขึ้น มันสงบเยือกเย็น พอเราเปลี่ยนอิริยาบถจากนั่งสมาธิ ลุกมาทำกิจธุระภายในบ้าน สติมันตั้งมั่น เราเลยเห็นผลอานิสงส์ของการทำสมาธิ หลังจากนั้นทุกครั้งที่เรามีความฟุ้งซ่านมีความวุ่นวายใจเราจะนั่งสมาธิ

สมัยนั้นเราคิดว่าเราโชคดี แต่พอมาตอนนี้เราคิดว่าเป็นนิสัยปัจจัยเก่า เพราะทุกครั้งที่เรานั่งสมาธิจิตใจเราสงบ เพราะฉะนั้นเรื่องว่าจิตใจฟุ้งซ่านมากๆ เนื่องจากการงานทางโลก ทำไมเราจะนั่งสมาธิไม่ได้ จริงๆ ยิ่งดี มันจะตัดอารมณ์ความฟุ้งซ่านออกไปทำให้จิตสงบ และเมื่อจิตสงบแล้วจะมีสติที่มาควบคุมใจให้คิดในสิ่งที่ดี พูดในสิ่งที่ดี ทำในสิ่งที่ดี

ทีนี้ตัวเราเองก็ฝึกจากตรงนั้น แล้วเราโชคดีที่สติเราค่อนข้างที่จะตั้งมั่น สติค่อนข้างที่จะเข้มแข็ง เพราะพออยู่ในอิริยาบถทั่วไป สติเราจะคุมจิตได้ ตอนนั้นเราเริ่มคุมอย่างไรรู้ไหม? สามารถควบคุมได้ระดับหนึ่งว่า ให้เราคิดในสิ่งที่ดี เมื่อคิดดีเราพูดดีทำดี แต่ถ้าเกิดเราฟุ้งซ่านคิดเรื่องไม่ดีปั๊บ สติปัญญาเราจะพิจารณาตัดเลย ละให้จิตว่างจากอารมณ์ ยิ่งเวลาฟุ้งซ่านมากถ้าเราอยู่บ้าน เราจะนั่งสมาธิ ความฟุ้งซ่านก็หายไป อันนี้ทำได้



สำหรับคนที่อาจคิดว่าไม่มีนิสัยปัจจัยเก่าเหมือนท่านอาจารย์ล่ะครับ ท่านอาจารย์จะมีคำแนะนำอย่างไรบ้างครับ?

เราต้องทำสิ ก็ทำให้มันมี คือเหมือนว่าเราต้องการจะเก็บเงินให้ได้สักร้อยหรือพัน เราเก็บทีละบาทสองบาทให้ครบ แบบอาจารย์ที่ว่าถ้าอาจารย์มีวาสนาบารมีมาแต่เดิม เพราะอะไร? เพราะแต่อดีตอาจารย์ทำ อาจารย์จึงมีปัจจุบัน จึงมีวันนี้ ทีนี้ถ้าเราทำปัจจุบันนี้ เก็บเล็กผสมไว้ชาติต่อไปในอนาคตเราก็สบายขึ้น แต่ถ้าเราไม่ทำ เราก็ต้องเหนื่อยยากลำบากอยู่ เพราะฉะนั้นเราเก็บเล็กผสมน้อยตั้งแต่ในปัจจุบันนี้ดีกว่า ทำสมาธิบารมีไว้ ก็จะทำให้ง่ายเข้า ทำให้จิตใจเราสงบได้ง่ายขึ้น ถ้าเราไม่ทำเลยมันก็วุ่นวายไปตลอด



ถ้าจะทำสมถกรรมฐานให้ได้ดี พอที่จะเจริญวิปัสสนาต่อ ท่านอาจารย์มีความเห็นว่าจำเป็นต้องถึงฌานหรือไม่ครับ? ถ้าไม่ถึงฌานจะสามารถทำต่อไปได้หรือไม่ครับ?

จริงๆ แล้ว ฌาน รูปฌาน อรูปฌาน ไม่อยากให้สนใจทางปริยัติเลย อยากให้สนใจที่ว่า เราทำสติอยู่กับกรรมฐานบทใดบทหนึ่ง พอจิตใจเราสงบ ให้รู้จักว่าจิตใจเราสงบ ความสงบนั้นจะทรงตัวอยู่ได้นานหรือไม่นานก็ให้รู้จัก และเมื่อจิตถอนออกจากความสงบเริ่มนึกคิด ลองเอาความสงบนั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ใช้สติปัญญาพิจารณากายในกาย ถ้าจิตมันอยู่ในเรื่องเดียวในร่างกาย ถ้าพิจารณาผม ก็ให้อยู่ในเรื่องผม ถ้าพิจารณาหนัง ก็อยู่ในเรื่องของหนัง ถ้าพิจารณากระดูกก็ให้อยู่ในเรื่องกระดูก ถ้าสติปัญญามันเห็นความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตนของส่วนต่างๆของร่างกายก็ถือว่าใช้ได้



หมายความว่าไม่ต้องไปวัดว่าได้ถึงฌานขั้นไหน เพียงแต่ให้จิตสงบลงมาก็พอใช่ไหมครับ?

ใช่ พอเป็นบาทฐานในการพิจารณาได้



ส่วนเรื่องวิปัสสนากรรมฐานจะมีวิธีใดบ้างครับ?

วิปัสสนากรรมฐาน หมายถึง การพิจารณาให้เห็นความไม่เที่ยงความไม่ใช่ตัวตนของร่างกายเรา ของร่างกายบุคคลอื่น ของวัตถุธาตุทั้งหลาย เราจะพิจารณาในปัจจุบันก็ได้ ในขณะที่เราอยู่ในอิริยาบถทั่วไป สติปัญญาที่เราพิจารณาเนี่ย เช่น เราเห็นใบไม้ร่วง ถ้าจิตเราเกิดคิดพิจารณาว่า เอ๊ะ ใบไม้เนี่ยบางทีถูกลมพายุพัดแรงๆ ใบไม้เขียวก็ร่วงหล่นได้ โอ้ มันไม่เที่ยงนะ เปรียบเหมือนชีวิตของเรา บางทียังไม่ถึงความแก่ความชราเลย วัยหนุ่มนี้เกิดอุบัติเหตุก็เสียชีวิตได้หรือว่ามีโรคภัยไข้เจ็บก็เสียชีวิตได้ มันไม่เที่ยง คือวิปัสสนา ปัญญาอย่างน้อยๆ อย่างไปเห็นใบแก่ร่วงหล่นมาก็เห็นว่าชีวิตทุกคนก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน ที่สุดแล้วความแก่มาถึง ความตายก็ปรากฏขึ้นเหมือนใบไม้ที่แก่และร่วงหล่นไป เหมือนชีวิตของเราที่ย่อมมีความตายเป็นธรรมดา นี่คือวิปัสสนาอย่างน้อยๆ

เช่น เราไปโบราณสถาน ไปจังหวัดสุโขทัยอยุธยาเนี่ย ไปเที่ยวเมืองโบราณ เราเห็น เรามองดู เราอาจจะคิดพิจารณาไปสักขณะจิตหนึ่งว่า แต่ก่อน สมัย ๗๐๐ – ๘๐๐ กว่าปีสมัยสุโขทัย แล้วมาเป็นสมัยปัจจุบันเป็นรัตนโกสินทร์ ทำไมถาวรวัตถุเจดีย์วิหารเสื่อมสลายไป มันไม่เที่ยงเลยนะ นี่คือวิปัสสนานะ วิปัสสนาอย่างอ่อน แล้วจากนั้นเราน้อมมาพิจารณากายในกายเราว่า ไม่วันใดวันหนึ่ง ร่างกายเราที่ประกอบด้วยธาตุ ๔ มันก็ย่อมแตกสลายไปเหมือนโบราณสถานหรืออยุธยาก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน มันก็เสื่อมลงไป ๔๐๐ กว่าปีมันก็เสื่อม ร่างกายเราก็ไม่เที่ยงหรอก ไม่เกิน ๑๐๐ ปี ก็ต้องเสื่อม นี่คือเราสามารถที่จะพิจารณาได้ตลอด มันก็เป็นวิปัสสนา แต่วิปัสสนาตรงนี้คืออย่างอ่อนๆ ในความสงบของจิตในระดับนึง ถ้าจิตเกิดสลดสังเวช เกิดความเบื่อหน่ายก็ถือว่าใช้ได้ ปัญญาก็จะค่อยๆ เข้มข้นขึ้น ชัดขึ้น ความเห็นชอบจะค่อยๆ เกิดขึ้นมาเอง

พอเรามีเวลาว่างเราก็สำรวมอิริยาบถ นั่งสมาธิ เดินจงกรม เพื่อให้มีกำลังของสมาธิ พอเป็นบาทฐานในการพิจารณา แต่บางคนที่บอกว่าอย่าคิด อย่านึก อย่าปรุงแต่ง มันไปเป็นสัญญาความจำ อันนั้นก็อย่างหนึ่ง แต่ว่าถ้าจิตเรามีความสงบเป็นฐาน สติปัญญาที่ออกไปพิจารณามันเป็นปัญญาที่พิจารณาในความสงบของจิต จิตมันสงบเป็นฐาน แล้วสติปัญญาออกพิจารณา เช่น ออกพิจารณากาย พิจารณาอารมณ์ ความโลภ ความโกรธ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจเรา นั่นล่ะสติปัญญามันพิจารณาในความสงบ มันอยู่ในเรื่องเดียว และมันสามารถที่จะเห็นความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตนของอารมณ์นั้นได้ มันก็วางอารมณ์นั้นได้

แต่ว่าถ้ามันเป็นความนึกคิดปรุงแต่งมันวางไม่ได้หรอก เพราะมันไม่มีความสงบหนุน มันคิดปรุงแต่งมันก็แก้ความทุกข์ไม่ได้แก้กิเลสไม่ได้ อันนั้นจึงเรียกว่าความฟุ้งซ่าน ความปรุงแต่งของกิเลสมันยังไม่เป็นปัญญา ทีนี้บางคนเนี่ยศึกษาทางปริยัติ ได้ยินได้ฟังบางทีไม่เข้าใจ บางทีเข้าใจว่า “ทำสมาธิ ทำจิตให้สงบ มีสติดูอยู่เฉยๆไม่ต้องปรุงแต่ง ไม่ต้องคิด มันเป็นความฟุ้งซ่าน มันเป็นสังขาร” มันไม่ใช่หรอก มันอยู่ด้วยกัน ปัญญากับกิเลสมันอยู่ด้วยกัน แล้วแต่เราจะเปลี่ยน เหมือนสันมีดกับคมมีดมันอยู่ด้วยกัน เราจะใช้ด้านไหน ใช้ด้านสันฟันไม่เข้า ใช้ด้านคมก็ฟันเข้า อันนี้เหมือนกัน กิเลสมันจะเกิดขึ้นถ้าเราไม่มีศีล ไม่มีสมาธิเนี่ย สติมันเป็นสติความฉลาด ไม่ใช่สติปัญญา มันออกไปทางกิเลสหมด คนเราที่มีทิฏฐิมานะ มีความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ถ้าไม่มีศีลรองรับนะ ไม่มีสมาธิเป็นท่ามกลางนะ สติความฉลาดเป็นเรื่องของกิเลส บางทีคิดพูดทำ ตามกิเลสหมด ถ้ามีศีล ๕ เป็นพื้นฐานนะ หรือศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ เป็นพื้นฐาน ทำสมาธิเป็นท่ามกลาง มันจะเปลี่ยนเป็นสติปัญญาแล้ว เพราะว่าความเห็นชอบมันเกิดขึ้น เนี่ยมันมีเหตุมีผล มันมีเหตุมีผลเริ่มต้นตั้งแต่การพิจารณาเห็นโทษตั้งแต่การผิดศีลแล้ว มันจึงค่อยๆ สร้างปัญญาให้เข้มแข็งขึ้น ปัญญามันค่อยๆ เจริญเติบโตงอกงามขึ้น มันเป็นอย่างนั้น

ข้อมูลจาก http://www.dlitemag.com


วิสัชนาธรรม โดย ท่านอาจารย์พระอัครเดช (ตั๋น) ถิรจิตฺโต

ขอบคุณคร้าบ มีธรรมะดีๆให้อ่านแต่เช้า
ขอบคุณครับ

ขอบคุณค่ะ

ครับ
[size=13.63636302947998px]  ขอบคุณครับ


“มะม่วงลูกเล็กๆ มะม่วงที่แก่ มะม่วงที่สุกมันคนละใบกันเหรอ?”


  มะม่วงลูกเดียว มันจากเล็กๆ แล้วมันเป็นที่มันแก่ขึ้นมาหน่อย แล้วมันห่ามแล้วก็สุก มันใบเดียวกันน่ะ


ศีลก็อยู่ที่ใจ สมาธิอยู่ที่ใจ ปัญญาก็อยู่ที่ใจ มันเกิดด้วยกันอยู่ที่ใจนี้นะ

มันต้องมีปัญญาเป็นวงจร คล้ายๆ ว่า ศีลสมาธิปัญญานี่ มันเป็นวงจร

มันต้องมีปัญญาเห็นโทษของการผิดศีล รักษาศีลได้

เมื่อรักษาศีล ศีลมันก็เกื้อหนุน กายสงบ วาจาสงบ

ทำสมาธิภาวนาจิตมันก็สงบ เมื่อทำสมาธิจิตสงบ

ก็จะเกื้อหนุนให้เกิดปัญญาเอง

เป็นวงจรต่อเนื่องกันเลย มันจะเริ่มจากปัญญาก่อนก็ได้


ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้