ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2830
ตอบกลับ: 2
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

โยนิโสมนสิการ

[คัดลอกลิงก์]


โยนิโสมนสิการ



คำว่า “ โยนิโสมนสิการ “ มาจากจากคำว่า โยนิโส + มนสิการ
โยนิโส มาจาก โยนิ แปลว่า เหตุ ต้นเค้า แหล่งเกิด ปัญญา อุบาย วิธี ทาง
มนสิการ แปลว่า การกระทำในใจ การคิด คำนึง นึกถึง ใส่ใจ พิจารณา

เมื่อนำ ๒ คำ มารวมกัน โยนิโสมนสิการ จึงแปลว่า การทำในใจโดยแยบคาย การพิจารณาโดยแยบคาย ส่วนที่ว่าจะแยบคายแค่ไหน เพียงใดนั้น ในคัมภีร์อรรถกถาได้แสดงความหมายเป็นแง่ ๆ ไว้ดังนี้

๑. อุบายมนสิการ แปลว่า คิด หรือ พิจารณาโดยอุบาย หมายถึง คิดถูกวิธีที่จะให้เข้าถึงความจริง สอดคล้องเข้าแนวกับสัจจะ ทำให้หยั่งรู้สภาวะลักษณะ และสามัญลักษณะของสิ่งทั้งหลาย

๒. ปถมนสิการ แปลว่า คิดเป็นทาง หรือ คิดถูกทาง คือ คิดได้ต่อเนื่องเป็นลำดับ จัดลำดับได้ หรือมีลำดับ มีขั้นตอน หมายถึง ความคิดเป็นระเบียบตามแนวเหตุผล ไม่ยุ่งเหยิงสับสน กระโดดไปกระโดดมา

๓. การณมนสิการ แปลว่า คิดตามเหตุ คิดตามผล หรือ คิดอย่างมีเหตุผล หมายถึง การคิดสืบค้นตามแนวความสัมพันธ์สืบทอดกันแห่งเหตุปัจจัย พิจารณาสืบสาวหาสาเหตุให้เข้าใจถึงต้นเค้า หรือแหล่งที่มา ซึ่งส่งผลต่อเนื่องมาตามลำดับ

๔. อุปปาทกมนสิการ แปลว่า คิดให้เกิดผล คือใช้ความคิดให้เกิดผลที่พึงประสงค์ หมายถึง การคิดพิจารณาที่ทำให้เกิดกุศลธรรม เช่น การพิจารณาให้มีสติ รู้จักคิดในทางที่ทำให้หายกลัว, รู้จักคิดให้เกิดการปลุกเร้าให้เกิดความเพียร เป็นต้น



ทั้ง ๔ ข้อ ข้างต้นนี้ เป็นเพียงการแสดงลักษณะด้านต่าง ๆ ของความคิดที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ แต่ในโยนิโสมนสิการที่เกิดขึ้นครั้งหนึ่ง ๆ นั้น อาจจะมีลักษณะครบทีเดียวทั้ง ๔ ประการนี้ก็ได้ หรือไม่คลอบคลุมทั้งหมดก็ได้ ส่วนวิธีโยนิโสมนสิการ เท่าที่พบในบาลี พอประมวลเป็นแบบใหญ่ ๆได้ ดังนี้ คือ

๑. วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย คือ พิจารณาปรากฏการณ์ที่เป็นผล ให้รู้จักสภาวะที่เป็นจริง หรือ พิจารณาปัญหา หาหนทางแก้ไขด้วยการค้นหาสาเหตุและปัจจัยต่าง ๆ ที่สัมพันธ์ส่งผลสืบทอดกันมา

“...เรานั้นได้มีความคิดว่า เมื่ออะไรมีอยู่หนอ อุปาทานจึงมี อุปาทานมีเพราะอะไรเป็นปัจจัย?? ลำดับนั้น เพราะเราโยนิโสมนสิการ จึงได้รู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อตัณหามีอยู่ อุปาทานจึงมี อุปาทานมีเพราะตัณหาเป็นปัจจัย;...”

๒. วิธีคิดแบบแยกแยะส่วนประกอบหรือกระจายเนื้อหา เป็นการคิดที่มุ่งให้มองและรู้จักสิ่งทั้งหลายตามสภาวะของมันเองอีกแบบหนึ่ง ในทางธรรม ท่านมักใช้พิจารณาเพื่อให้เห็นความไม่มีแก่นสาร หรือความไม่เป็นตัวเป็นตนที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลาย ให้หายยึดติด ถือมั่นในสมมติ

“...เพราะคุมส่วนประกอบทั้งหลายเข้า จึงมีศัพท์ว่า รถ ฉันใด เมื่อขันธ์ทั้งหลายมีอยู่ สมมติว่าสัตว์จึงมี ฉันนั้น...”

๓. วิธีคิดแบบสามัญลักษณ์ หรือวิธีคิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา คือ มองอย่างรู้เท่าทันความเป็นไปของสิ่งทั้งหลาย ซี่งจะต้องเป็นอย่างนั้น ตามธรรมดาของมันเอง

“...ภิกษุผู้มีสุตะ พึงมนสิการโดยแยบคาย ซึ่งอุปาทานขันธ์ ๕ โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นของถูกปัจจัยบีบคั้น...โดยความเป็นของมิใช่อัตตา...”

๔. วิธีคิดแบบอริยสัจ หรือคิดแบบแก้ปัญหา เรียกตามโวหารทางธรรมได้ว่า วิธีแห่งความดับทุกข์ ซึ่งวิธีคิดแบบอริยสัจนี้ มีลักษณะทั่วไป ๒ ประการ คือ

๔.๑ เป็นวิธีคิดตามเหตุและผล หรือเป็นไปตามเหตุและผล สืบสาวจากผลไปหาเหตุแล้วแก้ไข และทำการที่ต้นเหตุ จัดเป็น ๒ คู่ คือ

คู่ที่ ๑ ทุกข์เป็นผล เป็นตัวปัญหา เป็นสถานการณ์ที่ประสบซึ่งไม่ต้องการ
สมุหทัย เป็นที่มาของปัญหา เป็นจุดที่ต้องกำจัดหรือแก้ไข จึงจะพ้นจากปัญหาได้

คู่ที่ ๒ นิโรธเป็นผล เป็นภาวะสิ้นปัญหา เป็นจุดหมายซึ่งต้องการจะเข้าถึง
มรรคเป็นวิธีการ เป็นข้อปฏิบัติที่ต้องการกระทำในการแก้ไขสาเหตุ เพื่อบรรลุจุดหมาย หรือภาวะสิ้น ปัญหา อันได้แก่ ความดับทุกข์

๔.๒ เป็นวิธีคิดที่ตรงจุด ตรงเรื่อง ตรงไปตรงมา มุ่งตรงต่อสิ่งที่จะต้องทำต้องปฏิบัติต้องเกี่ยวข้องของชีวิต ใช้แก้ปัญหา ไม่ฟุ้งซ่านออกไปในเรื่องฟุ้งเฟ้อที่สักว่าคิดเพื่อสนองตัณหา มานะ ทิฏฐิ ซึ่งไม่อาจนำมาใช้ปฏิบัติ ไม่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหา




๕. วิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์ หรือคิดตามหลักการ และความมุ่งหมาย คือ พิจารณาให้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างธรรมกับอรรถ หรือหลักการกับความมุ่งหมาย

๖. วิธีคิดแบบคุณโทษและทางออก หรือพิจารณาให้เห็นเน้นครบทั้งส่วนดี ส่วนเสีย และทางออก เป็นการมองสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงอีกแบบหนึ่ง ซึ่งการยอมรับความจริงตามสิ่งนั้น ๆ เป็นอยู่ทุกแง่ ทุกด้าน ทั้งด้านดีและด้านเสีย

“...ภิกษุทั้งหลาย ก่อนสัมโพธิเมื่อยังเป็นโพธิสัตว์ผู้ยังมิได้ตรัสรู้ เราได้มีความคิดว่า อะไรหนอคือส่วนดีในโลก อะไรคือส่วนเสีย อะไรคือทางออก เรานั้นได้มีความคิดว่า ความสุขความฉ่ำชื่นใจที่เกิดขึ้นด้วยอาศัยสิ่งใด ๆ ในโลก นี้คือส่วนดีในโลก, ข้อที่โลกไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา นี้คือส่วนเสียในโลก ภาวะที่บำราศฉันทราคะ เป็นที่ละฉันทราคะในโลกได้ (นิพพาน) นี้คือทางออกในโลก...”

๗. วิธีคิดแบบคุณค่าแท้ – คุณค่าเทียม หรือการพิจารณาเกี่ยวกับปฏิเสวนา คือ การใช้สอย หรือบริโภค เป็นวิธีคิดแบบสกัด หรือบรรเทาตัณหา เป็นขั้นฝึกหัดขัดเกลากิเลส วิธีคิดแบบนี้ใช้มากในชีวิตประจำวัน เพราะเกี่ยวข้องกับการบริโภคใช้สอยปัจจัย ๔ และวัสดุอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ

“...ภิกษุพิจารณาโดยแยบคาย จึงใช้จีวรเพียงเพื่อกำจัดความหนาว ร้อน สัมผัสแห่งเหลือบยุง ลม แดด สัตว์เลี้อยคลาน เพื่อเพื่อปกป้องปกปิดอวัยวะที่ควรละอาย...”

๘. วิธีคิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรม เป็นวิธีคิดในแนวสะกัดกั้น หรือบรรเทาและขัดเกลาตัณหา จึงจัดได้ว่าเป็นข้อปฏิบัติระดับต้น ๆ สำหรับส่งเสริมความเจริญงอกงามแห่งกุศลธรรม และสร้างเสริมสัมมาทิฏฐิที่เป็นโลกิยะ เช่น ถ้าเกิดความคิดที่เป็นบาปอกุศลอันประกอบด้วย ความโลภ โกรธ หลง อาจแก้ไขได้ด้วยวิธีคิดดังนี้

เช่น เมื่อรู้ตัวว่าจะโกรธ ก็ให้นึกถึงสิ่งที่ทำให้เกิดความเมตตา แทนสิ่งที่ทำให้เกิดความโกรธ, ถ้ายังไม่หาย

ให้คิดถึงโทษของความโกรธว่า ไม่ดีอย่างไร ก่อผลร้าย หรือให้ทุกข์อย่างไร, ถ้ายังไม่หาย

ให้เลิกคิดถึง ไม่ใส่ใจ ไม่สนใจในสิ่งที่จะทำให้เกิดความโกรธไปเลย, ถ้ายังไม่หาย

ให้พิจารณาว่าความโกรธนั้นเป็นอย่างไร เกิดจากมูลเหตุป้จจัยอะไร, ถ้ายังไม่หาย

พึงขบฟัน เอาลิ้นดุนเพดาน อธิษฐาน คือตั้งใจแน่วแน่เด็ดเดี่ยว ข่มใจระงับความโกรธนั้นเสีย

๙. วิธีคิดแบบเป็นอยู่ในขณะปัจจุบัน หรือวิธีคิดแบบมีปัจจุบันธรรมเป็นอารมณ์ คือการเพ่งถึงการตั้งสติระลึกรู้เต็มตื่นอยู่กับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น กำลังเป็นไปอยู่ กำลังรับรู้ หรือกำลังกระทำในปัจจุบัน มีสติรู้เท่าทันทุกขณะ

๑๐. วิธีคิดแบบวิภัชชวาท ความจริงวิภัชชวาทไม่ใช่วิธีคิดโดยตรง แต่เป็นวิธีพูด หรือการแสดงหลักการแห่งคำสอนแบบหนึ่ง แต่ถือว่าการคิดกับการพูดเป็นกรรมใกล้ชิดกันที่สุด ก่อนจะพูดก็ต้องคิดก่อน สิ่งที่พูดล้วนสำเร็จมาจากความคิดทั้งสิ้น

"...สารีบุตร แม้รูปที่รู้ได้ด้วยตา เราก็กล่าวเป็น ๒ อย่าง คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี คำที่ว่านี้ เรากล่าวโดยอาศัยเหตุผลอะไร ? เมื่อเสพรูปที่รู้ได้ด้วยตาอย่างใด อกุศลธรรมทั้งหลาย ย่อมเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมหาย รูปที่รู้ได้ด้วยตาอย่างนี้ ไม่ควรเสพ เมื่อเสพรูปที่รู้ได้ด้วยตา อย่างใดอกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมหาย กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญยิ่งขึ้น รูปที่รู้ได้ด้วยตาอย่างนี้ ควรเสพ...สารีบุตร แม้เสียง..แม้กลิ่น..แม้รส..แม้สิ่งต้องกาย..แม้ธรรมที่รู้ได้ด้วยใจ เราก็กล่าวเป็น ๒ อย่าง คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี..."

โยนิโสมนสิการ ก็สามารถอธิบายออกมาได้ดังเนื้อหาข้างต้นนี้ ซึ่งคิดว่าไม่ยากเกินกว่าจะทำความเข้าใจได้ ผู้ใดสามารถเข้าถึงโยนิโสมนสิการแล้ว เชื่อว่าปัญหาใด ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ย่อมแก้ไขลุล่วงไปได้ด้วยดี


ขอความสุข สวัสดี จงมีแก่เพื่อนร่วมโลกทุกท่าน

http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=prommayanee&month=07-2012&date=03&group=3&gblog=96
ขอบคุณครับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้