ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) ~

[คัดลอกลิงก์]
41#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-25 23:16 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ประเภทพระธรรมเทศนา

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ทรงเรียบเรียงไว้มาก และพิมพ์เป็นเล่มแล้ว
เช่น ปัจคุณ ๕ กัณฑ์ ทษพลญาณเทศนา ๑๐ กัณฑ์
มงคลเทศนาถึงมงคลคาถาที่ ๖ โอวาทปาฏิโมกข์เทศนา ๓ กัณฑ์
สังฆคุณ ๙ กัณฑ์ พระมงคลวิเสสกถา
และพระธรรมเทศนาในการพระราชกุศล รวม ๑๐๙ กัณฑ์ เป็นต้น

ประเภทริเริ่มให้มีการรวบรวมและแปล

เนื่องในการจัดงานมหาสมณานุสรณ์ครบ ๕๐ ปี นับแต่วันสิ้นพระชนม์ของ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ได้ทรงดำริให้รวบรวมพระนิพนธ์เรื่องต่างๆ
ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้น
อันนอกเหนือไปจากที่ใช้เป็นหลักสูตรนักธรรมชั้นตรี โท เอก อยู่แล้ว
ซึ่งบางเรื่องนั้นยังไม่เคยพิมพ์เผยแพร่มาก่อน
และบางเรื่องเคยพิมพ์แล้วแต่หายาก หรือกระจัดกระจายอยู่
ให้เป็นหมวดหมู่ตามประเภท เป็นหนังสือขนาดใหญ่
(เท่าที่พิมพ์เสร็จแล้วในขณะนั้น) ๑๗ เล่ม
โดยมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ เป็นผู้จัดพิมพ์เผยแพร่

และต่อมาเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๕
ทางวัดได้จัดงานวชิรญาณวงศานุสรณ์ครบ ๑๐๐ ปี
นับแต่วันที่ประสูติของ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
ได้ทรงดำริให้รวบรวมพระนิพนธ์ของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้น
พิมพ์ขึ้นเป็นหนังสือชุดรวม ๖ เล่ม
โดยมหามกุฏราชวิทยาลัยเป็นผู้จัดพิมพ์เผยแพร่เช่นเดียวกัน

และได้ให้มหามกุฏราชวิทยาลัยฯ จัดรวบรวมและพิมพ์พระราชนิพนธ์
ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ออกเผยแพร่ด้วย
โดยจัดพิมพ์เป็นหนังสือชุดแบ่งตามประเภทของเรื่อง
ขณะนี้ได้จัดพิมพ์แล้ว ๔ เล่ม (ส่วนที่เหลือจะจัดพิมพ์ต่อไป)


สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ)
ทรงฉายเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ



นอกจากนี้ ยังได้ให้รวบรวมประวัติวัดบวรนิเวศวิหาร
จัดพิมพ์ออกเผยแพร่ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษด้วย


ในด้านการริเริ่มในการแปลตำราภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษนั้น
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็ได้จัดให้พระภิกษุไทยร่วมกับพระภิกษุชาวต่างประเทศ
ที่บวชจำพรรษาอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหารช่วยกันแปลหนังสือขึ้น
เป็นคู่มือในการศึกษาพระพุทธศาสนา

ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของ  
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
เป็นภาษาอังกฤษหลายเล่ม เช่น

๑. นวโกวาท ซึ่งเป็นหนังสือหลักในการศึกษาพระวินัยของพระภิกษุ
๒. วินัยมุข เล่ม ๑-๓ ซึ่งเป็นหนังสืออธิบายขยายความนวโกวาทให้เข้าใจง่ายขึ้น
๓. พุทธประวัติ เล่ม ๑-๒-๓ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังได้ทรงริเริ่มให้มีการแปลหนังสือพุทธศาสนาที่สำคัญๆ
จากภาษาไทยเป็นภาษาต่างประเทศ
เพื่อเป็นการเผยแพร่และเป็นคู่มือการศึกษาพระพุทธศาสนา
สำหรับชาวต่างประเทศอีกเป็นจำนวนมาก

เช่น หนังสือภิกขุปาติโมกข์ อุปสมบทวิธี ทำวัตรสวดมนต์ เป็นต้น
แล้วโปรดให้มหามกุฏราชวิทยาลัยฯ จัดพิมพ์เผยแพร่

ในระยะเดียวกันนี้
โปรดให้จัดตั้งแผนกจำหน่ายหนังสือพระพุทธศาสนาต่างประเทศ
ของมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ ขึ้นด้วย

เพื่อให้เป็นศูนย์หนังสือทางพระพุทธศาสนา
สำหรับชาวต่างประเทศที่สนใจจะศึกษาพระพุทธศาสนา
ตลอดถึงชาวไทยที่ต้องการหนังสือพระพุทธศาสนา
ในภาษาต่างประเทศไว้ประกอบการศึกษา
ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๑๒
และเจริญก้าวหน้ามาด้วยดีจวบจนทุกวันนี้


ตึกมนุษยนาคมานพวิทยาทาน ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ
42#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-25 23:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)


๏ ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

• พ.ศ. ๒๕๒๙

มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาปรัชญา

• พ.ศ. ๒๕๓๒

มหาวิทยาลัยมหิดล
ถวายปริญญาอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาศาสนาเปรียบเทียบ

• พ.ศ. ๒๕๓๓

มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทย
ถวายปริญญาพุทธศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

• พ.ศ. ๒๕๓๗

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ถวายปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาปรัชญาและศาสนา

• พ.ศ. ๒๕๓๘

มหาวิทยาลัยนเรศวร
ถวายปริญญาการศึกษาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการบริหารการศึกษา

• พ.ศ. ๒๕๓๙

มหาวิทยาลัยศรีนครินทราวิโรฒ
ถวายปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

• พ.ศ. ๒๕๔๑

มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาภาษาไทย

•  พ.ศ. ๒๕๔๓

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

•  พ.ศ. ๒๕๔๕

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์


ภาพทรงฉายร่วมกับคณะสงฆ์ของวัดบวรนิเวศวิหาร
เนื่องวันวันคล้ายวันประสูติ ๙๒ พรรษา เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘



๏ ตำแหน่งหน้าที่ในปัจจุบัน

๑.        เป็นประธานกรรมการมหาเถรสมาคม
๒.        เป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
๓.        เป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร
๔.        รักษาการเจ้าอาวาสวัดญาณสังวราราม ในพระบรมราชูปถัมภ์
๕.        เป็นนายกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
                      มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย
๖.        เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนพระสังฆาธิการคณะธรรมยุต
๗.        เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดสร้างพุทธมณฑลฝ่ายสงฆ์
๘.        เป็นประธานคณะกรรมการจัดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา
                     เนื่องในเทศกาลวันวิสาขบูชา
๙.        เป็นนายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
๑๐.        เป็นประธานกรรมการมูลนิธิพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย
๑๑.        เป็นประธานกรรมการมูลนิธิวัดญาณสังวราราม ในพระบรมราชูปถัมภ์


เนื่องในมงคลวโรกาสคล้ายวันประสูติ ๙๕  พรรษา วันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๑
43#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-25 23:19 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


๏ ชีวิตและปฏิปทาแบบอย่าง

ชีวิตของ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ นั้น
ก็ไม่แตกต่างไปจากชีวิตของคนทั่วๆ ไป
คือมีทั้งผิดหวังและสมหวัง มีทั้งสำเร็จและล้มเหลว มีทั้งดีใจและเสียใจ

แต่โดยที่ทรงมีคุณธรรมหลายประการ
ที่โดดเด่นเป็นแกนหรือเป็นแก่นของชีวิต
ชีวิตของพระองค์จึงมีความสมหวังมากกว่าผิดหวัง
มีความสำเร็จมากกว่าความล้มเหลว
และมีความดีใจมากกว่าเสียใจ

กล่าวโดยรวมก็คือ ด้วยคุณธรรมอันเป็นแกนของชีวิตดังกล่าว
พระองค์จึงทรงประสบความสำเร็จ
หรือทรงเจริญก้าวหน้าไปตามครรลองของชีวิตจนถึงที่สุด
ดังเป็นที่ปรากฏอยู่ในบัดนี้


หากวิเคราะห์ตามที่ปรากฏในพระประวัติ
ก็จะเห็นได้ว่าพระคุณธรรมที่โดดเด่นในชีวิตของพระองค์ก็คือ
อดทน
ใฝ่รู้         
กตัญญู
ถ่อมตน
คารวธรรม



ความอดทน (ขันติ : พระคุณธรรมประการแรก)

ที่ปรากฏเด่นชัดในชีวิตของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็คือ ความอดทน (ขันติ)
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงมีพระสุขภาพอ่อนแอไม่แข็งแรงมาตั้งเยาว์วัย
และมีผลสืบเนื่องมาจนถึงเมื่อทรงบรรพชาเป็นสามเณร

พระสุขภาพที่อ่อนแอนับเป็นอุปสรรคสำคัญของการศึกษาเล่าเรียน
พระองค์ต้องทรงใช้ความอดทนอย่างหนัก
จึงสามารถผ่านพ้นอุปสรรคแต่ละขั้นตอนมาได้
ทรงเล่าว่า บางครั้งเมื่อถึงเวลาสอบ
ต้องทรงใช้ผ้าสักหลาดพันรอบอกหลายชั้น
เพื่อไม่ให้เกิดอาการหนาวสั่นในเวลานั่งสอบ

นอกจากจะต้องอดทนต่อความไม่สมบูรณ์ของร่างกายแล้ว
ยังต้องงอดทนต่อเสียงค่อนแคะของเพื่อนร่วมสำนักอีกนานัปการ

แต่สิ่งเหล่านี้แทนที่จะทำให้กำลังพระทัยลดน้อยลง
แต่กลับทำให้ทรงรู้สึกว่าจะต้องมีความอดทนมากขึ้น


ความใฝ่รู้ (สิกขกามตา) : พระคุณธรรมที่โดดเด่นประการต่อมา

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงเป็นผู้ใฝ่รู้มาโดยตลอด
แม้เมื่อทรงเป็นพระมหาเถระแล้ว พระอัธยาศัยใฝ่รู้ของพระองค์ก็ไม่เคยจืดจาง
ได้ทรงแสวงหาความรู้อยู่เสมอด้วยการทรงอ่านหนังสือ
ทั้งที่เป็นหนังสือภาษาไทย และภาษาอังกฤษ

หนังสือดีมีประโยชน์บางเรื่องที่ทรงอ่านแล้ว
ยังทรงพระเมตตาแนะนำให้ผู้ใกล้ชิดอ่านด้วย โดยมักมีรับสั่งว่า

“เรื่องนี้เขาเขียนดี น่าอ่าน”

พระคุณธรรมข้อกตัญญูดังกล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงมีพระคุณธรรมข้อนี้อย่างเด่นชัด
และทรงหาโอกาสสนองคุณของผู้ที่มีพระคุณต่อพระองค์
แม้เพียงเล็กน้อยอยู่เสมอ


พระรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)


‘พระรูปเขียนสี’ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)

44#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-25 23:20 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ดังเช่น เมื่อทรงได้รับพระราชทานสถาปนา
เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร
ก็ทรงรำลึกถึงพระคุณของ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)
ที่ทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระญาณสังวร
เป็นรูปแรกในยุคกรุงรัตนโกสินทร์

เพราะหากไม่มี สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) เป็นรูปที่ ๑
ก็คงไม่มีสมเด็จพระญาณสังวร คือพระองค์เอง เป็นรูปที่ ๒

ฉะนั้นเมื่อถึงเทศกาลเข้าพรรษา
จึงเสด็จไปถวายสักการะพระรูป สมเด็จพระญาณสังวร (สุก)
ที่วัดราชสิทธารามเป็นประจำทุกปีตลอด

อีกกรณีหนึ่ง เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมวราภรณ์
และทรงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารใหม่ๆ (พ.ศ.๒๕๐๔)

คราวหนึ่ง สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย)  วัดสระเกศ
ได้ทรงปรารภกับพระองค์ด้วยความห่วงใยว่า

“เจ้าคุณ จะอยู่เอาวัดบวรได้อยู่หรือ”

ซึ่งหมายความว่า จะปกครอง วัดบวรนิเวศวิหาร
ที่เป็นพระอารามหลวงที่สำคัญทั้งมีพระเถระที่มีอาวุโสมากกว่า
อยู่มากองค์ในขณะนั้นให้เรียบร้อยได้หรือ

ด้วยพระปรารภดังกล่าวนี้ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงถือว่า
สมเด็จพระสังฆราช (อยู่) ทรงมีพระเมตตาต่อพระองค์
จึงทรงรำลึกถึงพระคุณของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้นอยู่เสมอ

เมื่อถึงเทศกาลเข้าพรรษาจึงทรงไปถวายสักการะ
สมเด็จพระสังฆราช (อยู่) พระองค์นั้น
นับแต่เมื่อยังมีพระชนม์อยู่และตลอดมาจนบัดนี้



สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย)  


พระคุณธรรมข้อถ่อมตน (นิวาตะ)

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงมีความถ่อมพระองค์มาแต่ต้น
เพราะความถ่อมตน เจ้าพระคุณสมเด็จฯ
จึงทรงเป็นพระเถระที่สงบเสงี่ยม สำรวมระวัง ตรัสน้อย และไม่ชอบแสดงตน

ดังเช่นในการสอนสมาธิกรรมฐาน
พระองค์ก็มิได้แสดงพระองค์ว่าเป็นผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญกว่าใครๆ
แต่มักตรัสว่า

“แนะนำในฐานะผู้ร่วมศึกษาปฏิบัติด้วยกัน”

บางครั้งมีผู้กล่าวถึงพระองค์ว่า
เป็นพระอาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เมื่อทรงทราบจะทรงแนะว่า ไม่ควรกล่าวเช่นนั้น เพราะ

“ใครๆ ไม่ควรที่จะอวดอ้างตนว่าเป็นครูอาจารย์
ของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินทุกคนมีหน้าที่ต้องถวายงานสนองพระราชประสงค์เท่านั้น”


อีกตัวอย่างหนึ่ง เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงเป็น กรรมการมหาเถรสมาคม
มาตั้งแต่ทรง ดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ และทรงเป็นตลอดมาทุกสมัย

ในการประชุมมหาเถรสมาคมแต่ละครั้ง
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ประทับเก้าอี้ท้ายแถวเสมอ

กระทั่งครั้งหนึ่ง สมเด็จพระสังฆราช (จวน) วัดมกุฎกษัตริยาราม
ซึ่งทรงเป็นประธานกรรมการมหาเถรสมาคมในขณะนั้น
ทรงทักแบบสัพยอกด้วยพระเมตตาว่า

“เจ้าคุณสานั่งไกลนัก กลัวจะเป็นสมเด็จหรือไง”

พระคุณธรรมข้อคารวธรรม

คือความเป็นผู้มีความเคารพต่อผู้ที่ควรเคารพ

คารวธรรม ประการแรกของ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ
ก็คือความเคารพในพระรัตนตรัย



ความเคารพในพระพุทธเจ้า

ทรงแสดงออกด้วยการเคารพต่อพระพุทธรูปในทุกสถานการณ์
ดังเช่น ทรงแนะนำภิกษุสามเณรอยู่เสมอว่า
การลงโบสถ์ทำวัตรเช้าค่ำนั้น ก็เสมือนการไปเฝ้าพระพุทธเจ้าประจำวัน
ทำให้รำลึกถึงพระพุทธคุณ จิตใจไม่ห่างไกลจากพระธรรม

ข้อที่ทรงแนะนำอีกประการหนึ่งก็คือ
พระพุทธรูปไม่ควรตั้งวางในที่ต่ำ
หรือในที่ที่จะต้องเดินข้ามไปข้ามมาเป็นต้น

ความเคารพต่อพระธรรม

ก็ทรงแสดงออก
ด้วยการเคารพต่อพระคัมภีร์ เช่นพระคัมภีร์ทาง
พระพุทธศาสนาทุกชนิดทรงเก็บรักษาไว้ในที่สูงเสมอ
ไม่เก็บไว้ในที่ที่ต้องเดินข้ามเดินผ่านเช่นกัน

แม้หนังสือธรรมทุกชนิดก็ไม่ทรงวางบนพื้นธรรมดา
ต้องวางไว้บนที่สูงเช่น บนโต๊ะ บนพานเป็นต้น
หากทรงเห็นใครวางหนังสือธรรมบนพื้น ก็จะตรัสเตือนว่า

“นั่นพระธรรม อย่าวางบนพื้น”

ความเคารพในพระสงฆ์

ก็ทรงแสดงออกโดยทรงมีความเคารพต่อ
พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ หรือที่เรียกกันว่าพระกรรมฐานเป็นพิเศษ

เช่นเมื่อมีพระกรรมฐานเป็นอาคันตุกะมาสู่พระอาราม
แม้จะเป็นผู้ที่มีอาวุโสน้อยกว่าก็ทรงต้อนรับปฏิสันถารด้วยความเคารพ

พระคุณธรรมข้อนี้ที่ปรากฏต่อสาธารณชนทั่วไปก็คือ
ทรงแสดงความเคารพต่อพระเถระผู้มีอาวุโสมากกว่าพระองค์ทุกรูป
ไม่ว่าพระเถระรูปนั้นจะเป็นภิกษุธรรมดาไม่มียศศักดิ์อะไร
หากมีอาวุโสพรรษามากกว่า
พระองค์ก็ทรงกราบแสดงความเคารพเสมอ

เมื่อมีพระสงฆ์จากที่ต่างๆ มาเข้าเฝ้า
หากมีพระเถระผู้เฒ่ามาด้วยก็จะทรงถามก่อนว่า

“ท่านพรรษาเท่าไร”

หากมีอายุพรรษามากกว่า
จะทรงนิมนต์ให้นั่งบนอาสนะและทรงกราบตามธรรมเนียมทางพระวินัย

พระคุณธรรมเหล่านี้ ทำให้ชีวิตของ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ
เป็นชีวิตที่งดงามหรือกล่าวอย่างภาษาชาวโลกก็คือ

เป็นชีวิตที่ประสบความสำเร็จ
เป็นชีวิตที่สามารถยึดถือเป็นแบบอย่างได้สำหรับทุกคน
ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์
ไม่ว่าจะเป็นชีวิตทางโลกหรือชีวิตทางธรรม




การกล่าวถึงพระคุณธรรมในชีวิตของ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ข้างต้นนั้น
เป็นการมองชีวิตของ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ในภาพรวม
เช่นกับชีวิตของคนทั่วไปว่า

ทรงมีอะไรบ้าง ทรงทำอะไรบ้าง
แต่ถ้ามองชีวิตของพระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นพระสงฆ์รูปหนึ่ง
ก็จะเห็นแบบอย่างของชีวิตในทางธรรมที่ชัดเจนอีกภาพหนึ่ง

นั่นคือ ปฏิปทาอันควรค่าแก่การเป็นแบบอย่าง
สำหรับพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทั่วไป
พระปฏิปทาอันเป็นแบบอย่างดังกล่าวก็คือ


ความเป็นผู้ทรงปริยัติและไม่ทิ้งปฏิบัติ
ความเป็นผู้สำรวมระวังในพระวินัย
ความเป็นผู้มักน้อยสันโดษ



.............................................................

คัดลอกมาจาก ::
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=15226                                                                                       
.....................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/ ... 4218a6865e&start=15

45#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-26 21:43 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระอาการประชวร

สมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงเสด็จประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ. 2545 เป็นต้นมา เช้าวันที่ 14 ต.ค. 2556 คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาได้รายงานว่า สมเด็จพระสังฆราชฯ ประชวร และทรงมีความดันพระโลหิตต่ำ เนื่องมาจากติดเชื้อในกระแสพระโลหิต คณะแพทย์ตรวจพบว่า พระอันตะ (ลำไส้ใหญ่) และพระอันตคุณ (ลำไส้เล็ก) ขาดพระโลหิตและมีแผลติดเชื้อ จึงถวายการรักษาด้วยการผ่าตัดพระอันตะและพระอันตคุณบางส่วนออก ภายหลังการผ่าตัดปรากฏว่าพระอาการโดยรวมดีขึ้น ไม่ทรงมีไข้ ความดันพระโลหิตอยู่ในเกณฑ์ที่ดี สามารถลดปริมาณพระโอสถ เพิ่มความดันพระโลหิตได้ตามลำดับ ไม่ปรากฏภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด คณะแพทย์ได้ถวายพระโอสถปฏิชีวนะ เพื่อควบคุมการติดเชื้อต่อไป และในวันที่ 15 ต.ค.2556 คณะแพทย์ได้เชิญสมเด็จพระสังฆราชฯ เสด็จออกจากหออภิบาลผู้ป่วยหนัก (I.C.U.) กลับมาประทับ ณ ห้องที่ประทับตึกวชิรญาณ

วันที่ 20 ต.ค. 2556 คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาได้รายงานว่า สมเด็จทรงมีความดันพระโลหิตลดต่ำลง และอัตราการเต้นของพระหทัยผิดปกติตั้งแต่ตอนบ่าย ผลการตรวจพระโลหิตพบว่า เม็ดพระโลหิตขาวเพิ่มสูงขึ้น เกล็ดพระโลหิตลดต่ำลง และมีความผิดปกติของการแข็งตัวของพระโลหิต ผลการตรวจการทำงานของพระยกนะ (ตับ) พบความผิดปกติเพิ่มขึ้น พระโลหิตมีภาวะเป็นกรด ผลการตรวจภาพรังสีคอมพิวเตอร์ (CT Scan) ที่พระอุระ (อก) และพระนาภี (ท้อง) ไม่พบการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติ คณะแพทย์จึงปรับเปลี่ยนพระโอสถปฏิชีวนะถวาย กับถวายสารน้ำ รวมทั้งถวายพระโอสถเพิ่มความดันพระโลหิต และควบคุมการเต้นของพระหทัย โดยแพทย์และพยาบาลได้ถวายการตรวจและติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชม.

ค่ำวันที่ 22 ต.ค.2556 คณะแพทย์ที่ทำการรักษาได้รายงานว่า สมเด็จฯ มีพระอาการทรุดลง ระดับความดันพระโลหิตต่ำลงอีก ไม่ตอบสนองต่อพระโอสถเพิ่มความดันที่ถวาย การเต้นของพระหทัยที่ไม่สม่ำเสมอ คณะแพทย์ได้ปรับเปลี่ยนพระโอสถปฏิชีวนะ พระโอสถเพิ่มความดันพระโลหิต รวมทั้งถวายโลหิตและสารน้ำทางหลอดพระโลหิตดำ วันที่ 23 ต.ค.2556 สมเด็จฯ มีอาการโดยรวมทรงตัว ระดับความดันพระโลหิตอยู่ในเกณฑ์ต่ำ คณะแพทย์ยังคงถวายพระโอสถปฏิชีวนะ และพระโอสถเพิ่มความดันโลหิต และเฝ้าถวายการตรวจ และติดตามการรักษาตลอด 24 ชม.

วันที่ 24 ต.ค.2556 คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษารายงานว่า สมเด็จฯ มีพระอาการโดยรวมทรุดลง ระดับความดันพระโลหิตอยู่ในเกณฑ์ต่ำลง คณะแพทย์และพยาบาลยังคงถวายพระโอสถและเฝ้าถวายการตรวจรักษาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องตลอด 24 ชม.

ล่าสุด ค่ำวันที่ 24 ต.ค. 2556 คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษารายงานว่า สมเด็จฯ ได้สิ้นพระชนม์ลงแล้ว เมื่อเวลา 19.30 น. ของวันนี้ สาเหตุเนื่องจากการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต
กราบท่านครับ
สาธุ ขอบคุณคร้าบ

น้อมกราบสักการะพระองค์ท่าน ด้วยจิตเคารพยิ่ง
ขอแสดงความอาลัยแด่ สมเด็จพระญาณสังวร ผมบวชที่วัดบวรฯ และได้มีโอกาสเข้าเฝ้าถวายสักการะ และทำวัดเย็นกับท่านในระหว่างที่บวช ณ โรงพยาบาลจุฬาฯ ท่านถือเป็นครูบาอาจารย์องค์แรกของผมครับ

ขอขอบคุณคุณ kit007 ที่สละเวลารวบรวมข้อมูลได้มากขนาดนี้
ภาพหายาก : สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในวาระโอกาสที่เสด็จมาเยือนสวนโมกขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี ท่านพุทธทาสภิกขุขอโอกาสกราบท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ แต่เพราะท่านพุทธทาสภิกขุมีอายุพรรษาแก่กว่า ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯจึงทรงห้ามไว้ แต่ท่านพุทธทาสภิกขุก็ไม่ยอม ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯจึงกราบท่านพุทธทาสภิกขุกลับ



ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้