ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 6206
ตอบกลับ: 16
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ศิษย์ดีเพราะมีครู

[คัดลอกลิงก์]
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย รามเทพ เมื่อ 2013-10-3 07:21

“ศิษย์ดีเพราะมีครู”



คำว่า “ศิษย์ดีเพราะมีครู” เป็นคำพูดที่มีเหตุผลอันน่าคิด แฝงไว้ซึ่งคติอันน่าเลื่อมใส เตือนใจของคนทุกคนให้สำนึกระลึกถึงพระคุณของครู เพื่อกันความประมาทลบหลู่บุญคุณของครู บรรดาศิษย์ทั้งหลายควรพากันจำไว้ให้ขึ้นใจ นึกไว้เสมอว่า “ศิษย์ดีเพราะมีครู” คำพูดประโยคนี้เป็นความจริงอันใคร ๆ จะลบล้างไม่ได้ แม้แต่คำสอนในทางพระพุทธศาสนาก็กล่าวไว้สอดคล้องต้องกันว่า ในบรรดามนุษย์ทั้งหลาย ผู้ที่ได้รับการฝึกฝนอบรมดีแล้ว เป็นผู้ประเสริฐสุด มนุษย์ทุกคนต้องมีครูคอยแนะนำพร่ำสอนก่อนจะเป็นคนดีได้ มิฉะนั้นแล้วก็จะกลายเป็นไอ้วอกในป่า ไม่มีค่าอะไรสมกับที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ดังนั้น คนเราจะดีต้องมีครู  อันดับแรกควรจะได้ศึกษาในปัญหาเรื่องครูกันเสียก่อนแล้วจึงค่อยพูดกันในข้อที่ว่า “ศิษย์จะดีเพราะมีครู” กันต่อไป ทั้งนี้ก็เพราะปัญหาใหญ่อยู่ที่ครู บุคคลประเภทไหนที่เรียกกันว่า “ครู”


  นี่คือปัญหาที่ต้องคิดกัน คำว่า “ครู” ตามตัวหนังสือนิยมแปลกันว่า “บุคคลที่ควรเคารพบูชา” เพราะเหตุว่า บรรดามนุษย์ซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นผู้มีจิตใจสูง เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงจำเป็นต้องศึกษาวิชาความรู้ไว้สำหรับประดับตัวทุกคน ถ้าเกิดมาเป็นคนเหมือนเขา แต่ไม่ศึกษาเล่าเรียนอะไร หาวิชาศิลปศาสตร์อะไรแม้แต่อย่างเดียวก็ไม่ได้ ก็เป็นคนอาภัพอับวาสนาหาที่พึ่งไม่ได้เพราะวิชาความรู้นั้นเป็นทั้งอำนาจวาสนา เป็นทั้งเกียรติยศชื่อเสียง มหาเสน่ห์มหานิยม เพราะฉะนั้น คนเราทุกคนจึงต้องเรียนวิชาศิลปศาสตร์ไว้สำหรับประดับตัว บุคคลผู้ที่สอนวิชาศิลปศาสตร์ต่าง ๆ ให้นั่นแหละชื่อว่า “ครู” หรือ “อาจารย์” ครูอาจารย์มีหลายประเภทเรียกชื่อไปตามวิชาที่สอน สุดแท้แต่ว่าเป็นผู้สอนวิชาอะไร ก็เรียกชื่อไปตามวิชาที่สอนนั้น เช่น ครูศีลธรรม ครูวิทยาศาสตร์ เป็นต้น ในสมัยโบราณคนนับถือครูอาจารย์ในฐานะที่ควรเคารพบูชารองลงมาจากมารดาบิดา แม้แต่ในปัจจุบันทุกวันนี้ ครูอาจารย์ที่ดีพร้อมทั้งวิชาและความประพฤติก็ได้รับความเคารพบูชาจากศิษย์อยู่เสมอ

   ถ้าหากครูไม่ได้รับความเคารพบูชาจากศิษย์เท่าที่ควรแล้ว ก็อาจเป็นได้ด้วยเหตุ ๒ ประการคือ ครูเองประพฤติตัวไม่เหมาะสมกับความเป็นครู แม้จะมีวิชาความรู้ดี แต่ขาดจรณะคือความประพฤติและศีลธรรมจรรยาอันดีงาม ทำให้ศิษย์เคารพไม่ค่อยสนิทใจ คือน้อมคำนับไม่ลง เพราะครูทำตัวเป็นเพียงคนสอนหนังสือ ไม่มีวิญญาณแห่งความเป็นครูอยู่ภายในจิตใจบ้างเลย นี้ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง เป็นเพราะนิสัยอกตัญญูไม่รู้จักคุณของศิษย์เอง คนที่ “อกตัญญู” นั้น อย่าว่าแต่เพียงให้วิชาความรู้ไปประกอบอาชีพเลย แม้จะให้แผ่นดินทั้งหมดแก่เขา คน “อกตัญญู” ก็หารู้จักคุณไม่ บางทีกลับทำลายล้างผลาญครูอาจารย์ผู้ส่งเสริมตนเองเสียอีก หลักธรรมทางพระพุทธศาสนากล่าวตำหนิคน “อกตัญญู” ไว้อย่างน่าฟังว่า ไม้ลอยน้ำยังดีกว่าคนอกตัญญู คนอกตัญญูไม่มีประโยชน์อะไร ดังนี้
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-3 07:19 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย รามเทพ เมื่อ 2013-10-3 07:28

ครูที่ดีนั้นตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ๗ ประการ คือ

ปิโย ครุ ภาวนีโย     วตฺตา จ วจนกฺขโม  คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา  โน  จาฎฺฐาเน  นิโยชเย.

๑. ปิโย เป็นผู้น่ารักใคร่ประทับใจ

๒. ครุ เป็นผู้น่าเคารพยำเกรง  

๓. ภาวนีโย เป็นผู้น่ายกย่องสรรเสริญ  

๔. วัตตา เป็นผู้สามารถสอนศิษย์ให้เป็นคนดีได้  

๕. วจนักขโม อดทนต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ของศิษย์ได้  

๖. คัมภีรัญจ กถัง กัตตา ทำเรื่องยากให้ง่ายอธิบายให้ศิษย์เข้าใจได้  

๗. โน จัฏฐาเน นิโยชเย ไม่ชักชวนศิษย์ไปในทางเสียหาย  


๑. ทำตนให้เป็นที่รักใคร่ประทับใจของศิษย์ ข้อนี้มิได้หมายความว่า ครูจะต้องทำตัวประจบศิษย์ แต่หมายถึงการวางตัวให้เหมาะสม ครูจะต้องประพฤติตนเป็นคนเสมอต้นเสมอปลาย ไม่เป็นคนคุ้มดีคุ้มร้ายแสดงอาการขึ้น ๆ ลง ๆ พูดให้ตรงความหมายก็คือไม่เป็นอารมณ์ คือไม่พอใจกับใครที่ไหนก็พาลนำเอามาเป็นอารมณ์ในเวลาสอนศิษย์ อันผิดวิสัยของครูที่ดี ครูที่ดีต้องมีใจหนักแน่นในเหตุผล เป็นคนมีศีลดีมีธรรมงาม ตามคำสอนของศาสนา จึงจะได้ชื่อว่าเป็นที่รักใคร่ประทับใจของศิษย์ทั้งหลาย  

๒. เป็นผู้ที่น่าเคารพยำเกรงนั้นคือครูต้องเป็นผู้มีจิตใจหนักแน่นในธรรม ไม่ใช่เป็นผู้มีจิตใจเหลาะแหละโลเลพูดอย่างทำอย่าง และอย่าทำผิดสัญญากับลูกศิษย์บ่อยๆ ต้องตรงต่อเวลา สัญญาต้องเป็นสัญญา พูดจริงทำจริง ไม่เป็นคนเจ้าโทสะ ต้องรู้จักให้อภัยในความผิดพลาดของลูกศิษย์เสมอ ถือเสียว่าคนเราย่อมมีความผิดพลาดบกพร่องเป็นธรรมดา แต่ก็ต้องทำโทษบ้างในโอกาสและเหตุการณ์อันสมควร ถือสุภาษิตที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ข่มคนที่ควรข่ม ยกย่องคนที่ควรยกย่อง” ต้องเป็นคนไม่มีอคติในใจ ถ้าทำได้เช่นนี้ ครูก็เป็นที่เคารพยำเกรงของศิษย์ เพราะมีจิตประกอบด้วยคุณธรรม  

๓. เป็นผู้น่ายกย่องสรรเสริญ ข้อนี้ครูต้องหมั่นแสวงหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ไม่ยอมอยู่นิ่งเฉยในการศึกษา หาความรู้มาเป็นอาภรณ์ประดับตน รู้จักปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมและสภาวะการณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิชาการซึ่งมีลักษณะรุดไปข้างหน้าเสมอ ครูจะต้องเป็นคนทันสมัย แต่ไม่ถึงกับล้ำสมัยมากเกินไป ทั้งในด้านความคิดเห็นและการแต่งกาย รวมความแล้ว ก็คือว่าครูจะต้องปรับปรุงตัวเองอยู่เสมอ หยุดไม่ได้ต้องเป็นผู้มีความรู้อย่างเชี่ยวชาญในวิชาการที่สอน และมีความรู้รอบตัวพอสมควร ประกอบด้วยมีจิตใจอันเที่ยงธรรม ไม่ลำเอียงด้วยอคติ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง และเพื่อให้ศิษย์มีความมั่นใจในคำสอนของครู ด้วยอาการอย่างนี้ ครูจึงต้องอ่านมาก ศึกษาค้นคว้ามาก จำหลักได้แม่นยำ จึงจะทำให้เกิดความยกย่องสรรเสริญในระหว่างศิษย์ทั้งหลาย  

๔. เป็นผู้สามารถสอนศิษย์ให้เป็นคนดีได้ ครูจะต้องหมั่นอบรมสั่งสอน และตักเตือนลูกศิษย์อย่างใกล้ชิดเสมอ ครูบางคนเกียจคร้านในการสอนมาก สอนเพียงเพื่อจะให้หมดเวลา แถมแส่หาเรื่องอื่นนอกวิชาที่สอนมาคุยให้ศิษย์ฟัง และเรื่องที่คุยนั้นก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรแก่ศิษย์ มีแต่เป็นพิษเป็นภัยแก่จิตใจของผู้ฟัง แต่มีข้อยกเว้นอยู่ว่า หากเรื่องที่คุยนั้นเป็นไปเพื่อทำให้ศิษย์มีวิริยะ อุตสาหะ มีความละอายบาป ตั้งใจละชั่วประพฤติดี การคุยนอกเรื่องวิชาที่สอนนั้น ก็ถือว่าเป็นการสอนดี เข้าใจวิธีอบรมศิษย์ให้เป็นคนดี ครูจะต้องเป็นคนคล่องแคล่วว่องไวเสมอ หากครูเป็นคนเฉื่อยชาเสียแล้ว ไหนเลยนักเรียนนักศึกษาจะมีความกระตือรือร้นในการเรียนการศึกษา  อนึ่ง ครูต้องหมั่นเอาใจใส่ตักเตือนศิษย์ในเรื่องความประพฤติ จรรยามารยาท ชี้แจงให้ศิษย์เห็นว่าอะไรควรอะไรไม่ควร อย่าถือว่าธุระไม่ใช่ ในระยะแรก ๆ เด็กอาจจะไม่ชอบในความจู้จี้จุกจิก แต่เมื่อเขาเป็นผู้ใหญ่รู้จักผิดชอบชั่วดีแล้วนั่นแหละ เขาจึงจะระลึกถึงพระคุณของครูในภายหลัง ในการสอนนั้นครูต้องหวังผลในอนาคตมากกว่าในปัจจุบัน เหมือนชาวสวนรดน้ำต้นไม้ที่โคน แต่ย่อมหวังผลที่ปลาย แต่ก็ควรระวังอย่าเอาน้ำร้อนไปรดต้นไม้เข้า นอกจากจะไม่งามแล้ว ยังทำให้ต้นไม้ตายเสียอีก การสอนศิษย์ก็เหมือนกัน พยายามใช้ไม้นวมและใช้น้ำเย็นเข้าลูบให้มาก ถ้าอยากให้ศิษย์เป็นคนดี  

๕. เป็นผู้อดทนต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ของศิษย์ได้ ครูควรทำตนให้เป็นคนควรแก่การตักเตือนของคนอื่นบ้าง ไม่เพียงแต่สอนเขาข้างเดียว ให้เขาสอนเราบ้าง คือเมื่อตนเองทำอะไรผิดพลาดไป คนอื่นตักเตือนว่ากล่าวก็ควรรับฟังและควรรับฟังด้วยความชื่นใจเต็มอกเต็มใจ เพื่อความปลอดภัยในการดำรงชีวิตในสังคมของเรา เราควรทำตนให้เป็นคนว่าง่ายเตือนง่าย ทำตนให้เป็นคนว่ากล่าวตักเตือนได้ ทักท้วงได้ ไม่ใช่พอใครเตือนนิดก็ออกฤทธิ์เป็นฟืนเป็นไฟ บางครั้งแม้จะถูกลูกศิษย์ในชั้นวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ ก็ต้องใช้ขันติความอดทน อดได้ทนได้ และหากจะมีการโต้ตอบคำวิพากษ์วิจารณ์นั้น ก็ต้องโต้ตอบด้วยจิตใจเป็นปกติปราศจากอารมณ์ขุ่นเคือง การทำตนให้เป็นคนควรแก่การเตือนได้นั้น เป็นความน่าเคารพนับถือ สำหรับครู และผู้ใหญ่โดยทั่วไป  

๖. ทำเรื่องยากให้ง่าย อธิบายให้ศิษย์เข้าใจได้ ครูต้องมีความสามารถอธิบายคำที่ยากให้ง่ายได้ คำที่ลึกให้ตื้นได้ ด้วยอุบายวิธีต่าง ๆ เรื่องที่ยากแสนยากถ้าหากฉลาดในอุบายการสอนแล้วก็สามารถทำให้ง่ายได้ ดังนั้น ครูจึงต้องหมั่นคิดหมั่นฝึกฝน หมั่นค้นคว้าในวิชาการให้มาก เพื่อประกอบในการสอนให้ศิษย์เข้าใจง่าย ไม่น่าเบื่อ  

๗. ไม่ชักชวนลูกศิษย์ไปในทางเสียหาย ครูต้องไม่ชักชวนแนะนำศิษย์ในทางเสื่อมเสียต่าง ๆ เช่น ไม่ชักชวนในการดื่มน้ำดองของเมาเหล้าสุรา ยาเสพติดให้โทษ ไม่ชักชวนเล่นการพนัน ไม่ชักชวนเที่ยวกลางคืน ไม่ชักชวนให้มัวเมาในการเล่น ไม่ชักชวนให้คบเพื่อนไม่ดี เป็นต้น การสอนของครูนั้นมีอยู่ ๒ วิธี คือ สอนโดยการแนะนำด้วยวาจาประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง คือการทำตัวอย่างให้ดู ประการหลังนี้มีความสำคัญมากกว่า เพราะตัวอย่างนั้นเป็นสิ่งประทับใจมากกว่าคำสอน ดังนั้น ครูต้องประพฤติแต่ในสิ่งที่ดีให้เด็ก-นักเรียนเห็น แล้วเด็กจะได้ถือเอาเป็นแบบอย่างโดยไม่ต้องชักชวน  ตามที่กล่าวมานี้ เป็นทัศนะทางพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับบุคคลผู้เป็นครูโดยเฉพาะเมื่อพิเคราะห์ดูคุณสมบัติของครูแต่ละข้อแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า ท่านเลือกเฟ้นธรรมะแต่ละอย่างมาเป็นคุณสมบัติของครูได้เหมาะสมที่สุด และดีที่สุด

บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติทั้ง ๗ ประการนี้แล้ว จึงได้นามว่า “ครู” หรือ “อาจารย์” ถ้าหากปราศจากคุณธรรมทั้ง ๗ ประการนี้แล้ว หรือแม้แต่ข้อใดข้อหนึ่ง หาชื่อว่าเป็นครู หรืออาจารย์ที่สมบูรณ์ไม่ จะเป็นได้ก็เพียงคนสอนหนังสือเด็กเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ครูที่ดีทั้งหลาย จึงควรปลูกฝังคุณธรรมดังกล่าวนี้ ให้เกิดให้มีภายในจิตใจ เพื่อจะได้เป็นแม่พิมพ์หรือแบบอย่างที่ดีของบรรดาศิษย์ต่อไป และเพื่อให้สอดคล้องกับคำกล่าวที่ว่า “ศิษย์ดี เพราะมีครู” เมื่อได้พูดถึงเรื่องปัญหาของครูมาพอสมควรแล้ว เราก็มาพิจารณาปัญหาเรื่องศิษย์กันต่อไป คำกล่าวที่ว่า “ครูดี ศิษย์ดี” หรือ “เมื่อครูดี ศรีของครูชูศิษย์ด้วย” นั้น เป็นคำกล่าวที่ถูกต้อง แต่ว่า ก็ยังไม่ค่อยจะสมบูรณ์นัก ทั้งนี้ก็เพราะมีเหตุผลว่า ครูที่ดีนั้นก็ย่อมอบรมสั่งสอนได้เฉพาะศิษย์ผู้สมควรจะอบรมสั่งสอนได้เท่านั้น หากศิษย์ไม่อยู่ในฐานะที่จะอบรมสั่งสอนได้ เป็นศิษย์จำพวกนอกครู ครูก็หมดปัญญาที่จะอบรมสั่งสอนเหมือนกัน ตัวอย่างศิษย์อัปรีย์คิดล้างครู เช่นพระเทวทัต เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ ศิษย์ที่รักความเจริญก้าวหน้าในชีวิต จึงควรคิดสร้างวิญญาณแห่งความเป็นศิษย์ที่ดีให้เกิดให้มีขึ้นในจิตใจของตน เพื่อให้สมกับว่าเราเป็นศิษย์ อย่าอวดดีตีตนเสมอครู

ศิษย์ที่ดีนั้นตามทัศนะของพระพุทธศาสนา ต้องประกอบด้วยลักษณะ คือ  

๑. ให้ความเคารพต่อครูตามสมควรแก่โอกาสและกาลเทศะ อย่าแสดงตนเป็นคนเจ้าทิฎฐิมานะ ไม่มีสัมมาคารวะต่อครูเสียเลย และไม่ควรประพฤติตนเป็นคนประเภท “ลิงหลอกเจ้า” หรือ “ต่อหน้ามะพลับ ลับหลังตะโก”  

๒. เมื่อเห็นครูทำงานอยู่ ถ้าเรามีโอกาสพอจะคอยรับใช้ท่านตามโอกาสและเวลาอันสมควร ก็อย่าดูดายหรือเพิกเฉยแต่อย่าให้ถึงกับเป็นการประจบครู การที่เรามีโอกาสรับใช้ครูนั้น แสดงว่าเป็นคนมีแววแห่งความฉลาด สร้างความรัก ความเอ็นดูให้เกิดขึ้นในจิตใจของครู

๓. ให้ประพฤติตนเป็นคนอ่อนน้อม รับฟังโอวาทของครูโดยความเคารพ ว่านอนสอนง่าย อย่าเป็นคนดื้อรั้น ดันทุรัง คิดเสียว่า เราจะดีเพราะมีครู

๔. ให้ปรนนิบัติครูอาจารย์ตามโอกาสเวลาอำนวย ให้ช่วยเหลือท่านในกิจการบางสิ่งบางอย่าง การปฏิบัติครูอาจารย์ถือว่าเป็นบุญเป็นกุศลอันสูง อย่าเห็นว่าธุระไม่ใช่  

๕. ขณะที่อยู่ในห้องเรียนหรือชั้นเรียน ครูท่านสอนวิชาอะไรให้ตั้งใจฟังตั้งใจเรียนโดยเคารพ อย่าทำสิ่งอื่นใดในขณะครูสอน เพราะนอกจากไม่เคารพครูผู้สอนแล้ว ตัวเองก็ไม่เข้าใจในวิชาที่ครูสอนนั้นด้วย การไม่ตั้งใจฟัง ไม่ตั้งใจเรียนโดยเคารพนั้น ชื่อว่าสร้างความอาภัพให้แก่ตัวเอง เป็นอัปมงคลอย่างยิ่ง


ดังนั้น ศิษย์ที่ดีทั้งหลายจึงควรพากันสังวรให้ดี  เมื่อครูอาจารย์และศิษย์ ต่างก็ตั้งอยู่ในคุณสมบัติของตนตามที่กล่าวมานี้ เรื่อง “ศิษย์ดีเพราะมีครู” ก็เห็นจะไม่มีผู้สงสัย เพราะความกระจ่างชัดอยู่แล้ว ข้อสำคัญขอให้ครูและศิษย์เป็นมิตรกันในทางธรรม ฝ่ายครูก็เป็นครูในอุดมคติ คือเป็นผู้นำทางจิตทางวิญญาณจริงๆ อย่าเป็นแต่เพียงคนสอนหนังสืออย่างเดียว ฝ่ายศิษย์ก็ให้เป็นศิษย์ “กตัญญู” รับรู้พระคุณของครูอาจารย์ เช่น ท่านพระสารีบุตรอัครสาวกเบื้องขวาผู้เลิศด้วยปัญญา ท่านได้ฟังธรรมจากพระอัสสชิแล้ว ภายหลังเมื่อท่านทราบว่า พระอัสสชิอยู่ทางทิศไหน ท่านก็ตั้งใจส่งกระแสจิตไปถวายความเคารพต่ออาจารย์โดยทางทิศนั้น ศิษย์ที่มีความหนักแน่นในการเคารพครูอาจารย์ ย่อมประสพแต่ความเกษมสำราญ ตลอดกาลเป็นนิตย์แล

ข้อมูลจาก http://luangtachi.org/category
ขอบคุณคร้าบ
ขอบคุณครับ

ยามใดที่ท้อแท้ พึ่งบอกแก่ตนว่า"เราเป็นศิษย์มีครู"



ศิษย์มีครู
อีกประการหนึ่ง เป็นเพราะนิสัยอกตัญญูไม่รู้จักคุณของศิษย์เอง คนที่ “อกตัญญู” นั้น อย่าว่าแต่เพียงให้วิชาความรู้ไปประกอบอาชีพเลย แม้จะให้แผ่นดินทั้งหมดแก่เขา คน “อกตัญญู” ก็หารู้จักคุณไม่ บางทีกลับทำลายล้างผลาญครูอาจารย์ผู้ส่งเสริมตนเองเสียอีก หลักธรรมทางพระพุทธศาสนากล่าวตำหนิคน “อกตัญญู” ไว้อย่างน่าฟังว่า ไม้ลอยน้ำยังดีกว่าคนอกตัญญู คนอกตัญญูไม่มีประโยชน์อะไร ดังนี้





การที่เราจะรู้ตนรู้ตัวรู้ชั่วรู้ดี เราต้องมีสติสัมปชัญญะ ปัญญาเกิดจากการมีสติสัมปชัญญะ คนอกตัญญููเพราะไม่มีปัญญา
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้