แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย AUD เมื่อ 2014-10-7 20:15
พลานุภาพ นาคเมืองน่าน (พญานาคทรงพลังวัดภูมินทร์)
พญานาค2 ตัวบนบันไดหน้าวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน
น่าน เป็นเมืองชายแดนเล็กๆอันสงบงามแห่งล้านนาตะวันออก
แต่สำหรับผมน่านจัดเป็นเมืองเล็กประเภท Small is Beautiful หรือประเภทเล็กดีรสโตที่มีพยัคฆ์ซุ่ม มังกรซ่อน ด้านสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ วิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรมอยู่มากมาย
แต่ประทานโทษ!?! ถ้าใครอยากไปท่องเที่ยวเชิงแสงสีหรือท่องเที่ยวเชิงโลกีย์ ผมแนะนำว่ากรุณาไปเที่ยวที่อื่นเหอะ อย่านำมลพิษทางการท่องเที่ยวไปยังเมืองน่านเลย
อนึ่งการไปน่านหนนี้ เป็นที่น่าเสียดาย(สำหรับตัวผม)ว่ามีเวลาอยู่น่านเพียงไม่นาน งานนี้ผมจึงทำได้แค่เพียงเลือกเที่ยวชมน่านชมโน่นชมนี่อยู่เฉพาะแค่ในเขตเมืองเท่านั้น โดยหลังชมงาช้างดำหนึ่งเดียวในเมืองไทยที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติน่านแล้ว ผมเดินทอดหุ่ยต่อไปยังวัดภูมินทร์ ที่อยู่ห่างจากพิพิธภัณฑ์ฯเพียงแค่ข้ามถนน
วัดภูมินทร์ เป็นวัดเก่าแก่กลางเมืองอายุกว่า 400 ปี ตามพงศาวดารเมืองน่านระบุว่า สร้างในปี พ.ศ. 2139 โดยพระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์หลังขึ้นครองเมืองน่านได้ 6 ปี เดิมชื่อ“วัดพรหมมินทร์” ก่อนจะเพี้ยนเป็นวัดภูมินทร์ในภายหลัง สำหรับวัดแห่งนี้มีของดีให้ชมกันเพียบ แต่ที่ถือเป็นระดับสุดยอดของเมืองไทยนั้นมีให้ชม 4 อย่างด้วยกัน
อย่างแรกคือ สถาปัตยกรรมทรงจตุรมุข (ที่กรมศิลปากรสันนิษฐานว่าเป็นหลังแรกของเมืองไทย)ที่เป็นอาคารเดียวแต่มีหลายฟังชั่นก์ในตัว เป็นทั้งโบสถ์ วิหาร และพระเจดีย์ประธานของวัด
อย่างที่สองคือ พระประธานจตุรทิศ ที่หันพระพักตร์(หน้า)ออกไปทั้ง 4 ทิศ และหันพระปฤษฎางค์(หลัง)ชนกัน พระประธานองค์นี้เป็นหนึ่งอันซีนไทยแลนด์อันเลื่องชื่อ
อย่างที่สาม ภาพจิตรกรรมฝาผนัง(พื้นบ้าน)อันสวยงามมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ซึ่งของดีทั้ง 3 อย่างนั้น ผมจะขอหยิบยกไปเล่าแบบขยายรายละเอียดกันอีกทีในโอกาสเหมาะๆ ส่วนตอนนี้ผมจะขอพูดถึงของดีระดับสุดยอดอย่างสุดท้ายในวัดภูมินทร์ นั่นก็คือพญานาค 2 ตัวบนบันไดทางเข้าวิหารที่ถือเป็นพญานาคในระดับไม่ธรรมดา
เพราะในสมัยรัชกาลที่ 8 (พ.ศ.2485) ได้มีการพิมพ์รูปวิหารด้านหน้าของวัดภูมินทร์ลงในธนบัตรใบละ 1 บาท มองเห็นพญานาค 2 ตัว(คล้าย)เลื้อยออกมาอย่างเด่นชัด นับได้ว่าพญานาคคู่นี้ได้รับเกียรติไม่น้อยเลย
ไม่เพียงเท่านั้นพญานาคบนราวบันไดวิหารวัดภูมินทร์ยังมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากวัดทั่วๆไปนั่นก็คือ ปกติตามวัดทั่วๆไปพญานาคราวบันไดโบสถ์-วิหารจะมีเฉพาะส่วนหัวเลื้อยโผล่ออกมาเท่านั้น แต่พญานาค 2 ตัวนี้ ช่างโบราณได้สร้างให้มันมีทั้งส่วนหัวและส่วนหาง(ดูเหมือน)เลื้อยทะลุออกมาจากวิหารยังไงยังงั้น (ในขณะที่บางคนก็ว่าดูเหมือนพญานาค 2 ตัวนี้เลื้อยหนุนวิหารหลังนี้ไว้) แถมพญานาคคู่นี้ ยังดูหน้าตาใจดี ร่างอวบอ้วน ดูมีชีวิตชีวา ปานประหนึ่งว่ามันกำลังเลื้อยอยู่จริงๆ โดยสังเกตได้จากช่วงอกต้นคอก่อนยกหัวขึ้นช่างเขาปั้นได้มีกล้ามอกดูละม้ายคล้ายงูใหญ่กำลังเลื้อย(จริงๆ)ชะมัดเลย
ที่พิเศษก็คือ ใต้ตัวพญานาคคู่นี้ทั้งส่วนหน้า-ส่วนหลังจะมีช่องเอาไว้ให้เดินลอด โดยบางคนเชื่อว่าถ้าใครได้ไปเดินลอดท้องพญานาคแล้วจะได้กลับมาเยือนจังหวัดน่านอีกครั้ง(หรือหลายครั้ง) บ้างก็ว่าถ้าใครไร้คู่แล้วได้เดินลอดใต้ตัวพญานาคก็จะประสบพบเนื้อคู่ ส่วนบางคนว่าเชื่อว่าถ้าได้ลอดตัวพญานาคทั้ง 4 ช่องแล้ว จะเป็นทางรอดนำไปสู่หนทางหลุดพ้น
งานนี้ใครใครเชื่อด้านใดก็สุดแท้แต่ศรัทธา แต่ที่แน่ชัดก็คือพญานาค 2 ตัวนี้สื่อนัยยะทางพุทธศาสนาออกมาอย่างชัดเจน ซึ่งผู้คนแถบนี้เขาเชื่อว่า พญานาคเปรียบเสมือนสะพาน(สายรุ้ง) ที่เชื่อมโลกมนุษย์กับสวรรค์ โดยเมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระองค์ได้เสด็จผ่านบันไดแก้วมณีสีรุ้งที่เทวดาเนรมิตขึ้นและมีพญานาคจำนวน 2 ตัว(ตน)เอาหลังหนุนบันไดไว้
ในขณะที่นักวิชาการบางคนยังตั้งข้อสังเกตว่า นี่เป็นการแสดงคติความเชื่อในเรื่องน้ำของคนโบราณโดยใช้พญานาคเป็นสัญลักษณ์เลื้อยผ่านตลอดวิหาร ส่วนบริเวณพื้นนั้นเปรียบดังสระน้ำสี่เหลี่ยมที่มีโบสถ์-วิหารวัดภูมินทร์ตั้งอยู่
นอกจากนี้หากมองตามคติพุทธทั่วๆไปแล้ว พญานาคทั้ง 2 เปรียบเสมือนผู้ปกป้องศาสนาพุทธ ซึ่งน่านถือเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีการแสดงออกทางความเชื่อในเรื่องของพญานาคอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากคนเมืองน่านเขาเชื่อว่าบรรพบุรุษของตนคือเจ้าขุนนุ่น ขุนฟอง เกิดมาจากไข่พญานาคนั่นเอง
โดยนอกจากตามวัดวาอารามแล้ว สัญลักษณ์พญานาคที่ปรากฏชัดก็คือ เรือแข่งเมืองน่าน ที่ทำเป็นรูปพญานาคเพื่อแสดงถึงการบูชารู้คุณต่อพญานาคผู้เป็นเจ้าแห่งน้ำบรรพบุรุษของชาวน่าน
เรือแข่งเมืองน่าน หัวเรือเป็นรูปหัวพญานาค เอกลักษณ์เฉพาะตัว
เรือแข่งเมืองน่าน หัวเรือจะแกะสลักเป็นรูปหัวพญานาคชูคออย่างสง่า แถมยังลงสีสันอย่างสวยงาม ส่วนตัวเรือก็เปรียบดังตัวพญานาค ไล่ยาวไปจนถึงที่ทำเป็นหางพญานาคชูงอนสูง
นับเป็นเรือแข่งที่สวยงามมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แถมยังโด่งดังไม่เป็นสองรองใคร ถึงขนาดปรากฏเป็นวลีแรกของคำขวัญจังหวัดนั่นก็คือ “แข่งเรือลือเลื่อง เมืองงาช้างดำ จิตรกรรมวัดภูมินทร์ แดนดินส้มสีทอง เรืองรองพระธาตุแช่แห้ง” ซึ่งทุกๆปีชาวน่านจะมีการจัดแข่งเรือพญานาคอย่างยิ่งใหญ่ในช่วงราวเดือน ต.ค.- พ.ย. หลังออกพรรษา โดยถือเอาวันเปิดสนามแข่งเรือตามวันถวายสลากภัตของวัดช้างค้ำ
ไม่เพียงเท่านั้นความโดดเด่นของเรือแข่งพญานาคเมืองน่าน ยังถูกใช้นำไปใช้ประดับบนหัวเสาป้ายชื่อถนน บนหัวเสาไฟจราจร ที่ดูแล้วเท่และมีเสน่ห์ไม่น้อยเลย เช่นเดียวกับพญานาควัดภูมินทร์ที่นอกจากจะมีเสน่ห์แล้วยังเป็นพญานาคที่ อ.ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินนามอุโฆษบอกว่าดูทรงพลังที่สุดในประเทศไทย
สำหรับพญานาคนาค 2 ตัวนี้จะดูทรงพลังแค่ไหน ผมว่ามันขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน แต่กับคำพูดของ อ.ถวัลย์น่ะ ดูจะทรงพลังต่อผมไม่น้อยเลย เพราะนี่คือหนึ่งในอิทธิพลสำคัญที่ทำให้ผมอยากมาชมพญานาคคู่นี้ใจแทบขาด และก็ไม่ทำให้ผิดหวังเสียด้วย
|