ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1940
ตอบกลับ: 0
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์

[คัดลอกลิงก์]
★ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ... วันสิ้นพระชนม์..

.
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ .
.

.
✩ มหาอำมาตย์เอก มหาเสวกเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๗ - ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๓) ทรงเป็นต้นราชสกุลรพีพัฒน์ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๑๔ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้วางรากฐานด้านกฎหมายในเมืองไทย จนได้รับพระสมัญญานามว่าพระบิดาแห่งกฎหมายไทย

.
◎ พระประวัติ ..

○ ประสูติ  

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ประสูติเมื่อวันพุธ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีจอ จุลศักราช ๑๒๓๖ ตรงกับวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๗ มีพระนามเมื่อแรกประสูติว่าพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๑๔ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพระองค์ที่ ๒ ในเจ้าจอมมารดาตลับ มีพระเชษฐภคินีคือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอัจฉรพรรณีรัชกัญญา

เมื่อทรงพระเยาว์ทรงได้รับการอภิบาลจากเจ้าจอมมารดาตลับ หม่อมราชวงศ์ พึ่งบุญ และพระยาเวียงในนฤบาล (หรั่ง เกตุทัต)

.
○ การศึกษา

เมื่อเจริญวัยขึ้นพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ทรงเข้าศึกษาวิชาภาษาไทยเบื้องต้นกับพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) โดยใช้เก๋งกรงนกภายในพระบรมมหาราชวังเป็นที่ทรงพระอักษร  เมื่อทรงศึกษาจบแล้ว ก็ทรงเข้าศึกษาต่อที่สำนักของบาบู รามซามี โดยใช้โรงเรียนทหารมหาดเล็กเป็นที่ถวายพระอักษรจนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๔๒๖  ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เข้าศึกษาในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ

ในการส่งพระราชโอรสไปศึกษายังต่างประเทศของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์เป็นพระราชโอรสกลุ่มแรกที่ทรงไปศึกษาต่อในทวีปยุโรป เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ พร้อมกัน ๔ พระองค์ คือ

พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ (กรมพระจันทบุรีนฤนาถ)
พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ (กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์)
พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม (กรมหลวงปราจิณกิติบดี)
พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช (กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช)

แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้ทรงแยกกันเรียน โดยพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ พระองค์โปรดเกล้าฯ เสด็จไปศึกษาที่กรุงเอดินบะระ ประเทศสกอตแลนด์ โดยให้หมอเกาวัน เป็นผู้จัดการศึกษา ในการนี้เป็นเพียงการศึกษาเบื้องต้น จึงมีเพียงครูชาวต่างชาติมาถวายพระอักษรที่ตำหนักครึ่งวัน และหม่อมเจ้าเพิ่ม ลดาวัลย์ ถวายการสอนภาษาไทยอีกครึ่งวัน

พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ทรงศึกษาวิชาภาษาละติน วิชาภาษาอังกฤษ และวิชาภาษาฝรั่งเศสอยู่ ๒ ปี จึงเสด็จนิวัติประเทศไทย จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๓๑ จึงเสด็จไปศึกษาต่อในชั้นมัธยมอยู่ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๓๔ ทรงเลือกศึกษาวิชากฎหมายต่อที่วิทยาลัยไครส์ตเชิช ในมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๓๗  ทรงสามารถสอบไล่ได้ตามหลักสูตรชั้นปริญญาเกียรตินิยม จากนั้นจึงเสด็จกลับประเทศไทย ด้วยพระอัจฉริยภาพที่มีมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ จึงได้รับพระสมญาว่า เฉลียวฉลาดรพี

.
○พระราชพิธีโสกันต์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดให้ตั้งพระราชพิธีโสกันต์พระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๓ พระองค์พร้อมกันคือ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช และพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เป็นการสมโภช ๓ วัน ตั้งแต่วันอังคารที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๒๗ ถึงวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๒๗ แล้วจึงประกอบพระราชพิธีโสกันต์ในวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๒๗ โดยโปรดให้ทรงเครื่องต้นทั้ง ๔ พระองค์

.
○ ผนวช

หลังจากพระราชพิธีโสกันต์ผ่านพ้นไปแล้วพระเจ้าลูกยาเธอที่จะเสด็จไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ จึงได้ผนวชพร้อมกันตามโบราณราชประเพณี โดยมีกำหนดการที่สำคัญดังนี้

๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๒๘ - การพิธีสมโภชพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์ที่จะทรงสมโภช
๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๒๘- พิธีผนวชพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์ โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ในคืนวันนี้พระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์ ทรงจำวัดที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๒๘ - พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำเสด็จพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์ส่งต่อไปยังวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร
๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๒๘  - พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์ไปจำวัดที่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ บางปะอิน
๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๒๘ - พระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์ได้เสด็จกลับพระนคร

.
○ รับราชการ

พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ทรงเริ่มรับราชการในสำนักราชเลขาธิการ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี ทรงประกอบพระกรณียกิจ อันเป็นคุณประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อวงการกฎหมายไทยและศาลสถิตยุติธรรม ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม และสภานายกในกองข้าหลวงพิเศษ จัดการปรับปรุงศาลยุติธรรมสู่ระบบใหม่ จัดตั้งศาลมณฑล และศาลจังหวัด ทั่วประเทศ, ทรงเป็นประธานกรรมการตรวจชำระกฎหมาย ประมวลขึ้นเป็นกฎหมายอาญาฉบับ ร.ศ. ๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๑) ทรงตั้งโรงเรียนกฎหมายเพื่อเปิดการสอนกฎหมาย ทรงรวบรวมและแต่งตำราคำอธิบายกฎหมายลักษณะต่าง ๆ มากมาย และทรงสอนวิชากฎหมายด้วยพระองค์เอง, ทรงเป็นกรรมการตรวจตัดสินความฎีกาซึ่งเทียบได้กับศาลฎีกาในปัจจุบัน, เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓ ทรงตั้งกองพิมพ์ลายมือขึ้น สำหรับตรวจลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหาในคดีอาญา ตำแหน่งสุดท้ายทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ทรงปรับปรุงกิจการกรมทะเบียนที่ดิน

.
○ สิ้นพระชนม์

ในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ประชวรด้วยพระโรคที่ต่อมลูกหมากและมีการแทรกซ้อนต่อไปยังพระวักกะ (ไต) จึงทรงขอลาพักราชการในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ เพื่อรักษาพระองค์แต่อาการยังไม่ทุเลา ต่อมาจึงเสด็จไปรักษาพระองค์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส แต่พระโรคที่พระวักกะก็ยังทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเกินที่แพทย์จะเยียวยาได้ จนกระทั่งถึงวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ เวลาประมาณ ๒๑ นาฬิกา จึงสิ้นพระชนม์ สิริพระชันษา ๔๕ ปี ๙ เดือน ๑๗ วัน

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เอกอัครราชทูตสยามประจำประเทศฝรั่งเศสจัดการถวายพระเพลิง ณ กรุงปารีส ตามที่กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์รับสั่งไว้ หลังจากนั้นหม่อมเจ้าไขแสงรพี รพีพัฒน์ เสด็จไปรับและอัญเชิญพระอัฐของกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์มาถึงประเทศไทยในวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ในคราวนั้นเจ้าเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) หวนระลึกถึงรับสั่งของกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ได้ตรัสไว้ก่อนที่เสด็จไปรักษาพระองค์ที่ประเทศฝรั่งเศสว่า

.
.. " บางทีครูจะไม่ได้เห็นฉันอีก"
      ...และก็ไม่ได้เห็นอีกจริง ๆ  ..

.
Cr. วิกิพีเดีย

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้