แม้เมืองไทยจะไม่ใช่ถิ่นอาศัยตามธรรมชาติของสิงโต แต่ที่แหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรีมีตำนานอ้างว่าที่แห่งนี้มีสิงโตอาศัยอยู่ (อาจจะนำเข้ามาจากอินเดีย หรือแอฟริกา?) และกลายเป็นที่มาของหินก้อนใหญ่รูปร่างคล้ายสิงโต จุดสังเกตของนักเดินเรือแต่โบราณ ดังความในตำราระบุว่า “ตำนานสิงโตคู่ที่แหลมสิงห์ มีที่มาจากภูเขาลูกหนึ่งชื่อ ‘เขาแหลมสิงห์’ ตั้งอยู่บริเวณปากน้ำจันทบุรี การที่เรียกชื่อเขาลูกนี้ว่าเขาแหลมสิงห์นั้นเพราะด้านหน้าเขามีหินเป็นแก่งเกาะยื่นล้ำออกไปในทะเล และในบรรดาก้อนหินเหล่านี้ มีอยู่ 2 ก้อนลักษณะคล้ายตัวสิงโต มีหัว มีลำตัว มีหาง มีเท้า และดวงตา มีขนาดลำตัวยาว 6 เมตร กว้าง 1.5 เมตร สูงจากพื้นน้ำทะเล 2.5 เมตร ยืนคู่กันล้ำเข้าไปในทะเล สิงโตคู่นี้เป็นที่สักการะนับถืออย่างยิ่งของชาวประมง คำโบราณปรัมปราเล่าว่าเมื่อก่อนนี้ไม่มีสิงโตคู่นี้ แต่กล่าวกันว่าบนเขาแหลมสิงห์มีสิงโตจริงๆ อยู่คู่หนึ่ง สิงโตตัวผู้ตัวเมียคู่นี้ไปไหนด้วยกันเสมอ และลงอาบน้ำทะเลด้วยกันทุกวัน ต่อมาฝรั่งเศสพวกหนึ่งคอยดักทำร้ายสิงโตนี้ โดยใช้วัตถุระเบิดชนิดหนึ่ง สิงโตตัวหนึ่งถึงแก่ความตาย อีกตัวหนึ่งวิ่งหนีลงทะเลทัน ตัวที่หนีลงทะเลไปนั้น เมื่อตายในน้ำแล้วก็มากลายรูปเป็นสิงโตศิลายืนหยัดอยู่ริมทะเล ส่วนตัวที่ถูกยิงตายอยู่ที่ริมฝั่งทะเล เหลือเพียงแต่ซากหินปรักหักพังยืนข้างศิลาตัวใหญ่ พอจะจับสังเกตเป็นเค้าได้ มีแววเป็นรูปสิงโตได้บ้าง” (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุฯ 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542. ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น: ความเป็นมาของอำเภอสำคัญในประวัติศาสตร์ภาคตะวันออก และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. หน้า 58-59) โขดหินรูปสิงโตหมอบที่ปากอ่าวจันทบูร ภาพวาดลายเส้นโดย ซาบาติเยร์ จากรูปสเก็ตช์ของมูโอต์นอกจากนี้ยังมีอีกตำนานอีกสำนวนหนึ่งเล่าว่า “แหลมสิงห์เป็นชื่อของภูเขาลูกหนึ่งที่มีบางส่วนยื่นออกไปในทะเลเป็นแหลม ตรงปลายแหลมมีหินซ้อนกันเป็นกลุ่มก้อน เมื่อมองจากทะเลจะเห็นคล้ายสิงโตยืนอยู่ ๒ ตัว ชาวบ้านจึงเรียกแหลมนี้ว่า แหลมสิงห์ ในสมัยที่ฝรั่งเศสเข้ายึดครองจันทบุรี ได้ใช้หินก้อนหนึ่งที่ดูคล้ายสิงโตนั้นเป็นเป้าทดลองปืนจนหินส่วนนั้นแตกสลาย ที่เหลืออีกก้อนหนึ่งนั้นคือส่วนที่คล้ายหัวสิงโตก็หักหลุดตกน้ำไป” (สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพานิชย์, 2542. หน้า 7241)
|