ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 5750
ตอบกลับ: 5
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

“หลวงพ่อบุญธรรม วัดพระปฐมเจดีย์”

[คัดลอกลิงก์]
ท่านเจ้าคุณพระปฐมเจติยาทร
“หลวงพ่อบุญธรรม ธมฺมาราโม”
อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร
อำเภอเมือง   จังหวัดนครปฐม
            หลวงพ่อบุญธรรม หรือ ท่านเจ้าคุณ “พระปฐมเจติยาทร” ตามประวัติท่านเป็นบุตรคนที่ ๓ เป็นคนสุดท้องของนายจันทร์ นางลำภู จันทร์หอม หลวงพ่อบุญธรรม เกิดเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๓๕ ตรงกับวันพฤหัสบดีขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง ณ บ้านตำบลบางซื่อ อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร มีนามเดิมว่า บุญธรรม จันทร์หอม
            ในปฐมวัย ไม่ปรากฏว่าได้เคยศึกษาในโรงเรียนใด แต่เป็นเด็กที่ฝักใฝ่ในทางพระพุทธศาสนามาโดยตลอด และได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุ ๑๗ ปี (พ.ศ. ๒๔๕๒) ณ วัดแคสามเสน เพื่อศึกษาภาษาไทยและภาษาขอมซึ่งนิยมศึกษากันในสมัยนั้น จนกระทั่งมีความรู้อ่านออกเขียนได้เป็นอย่างดี เมื่ออายุครบบวชได้อุปสมบทครั้งแรก ณ วัดแคสามเสนนั่นเอง แต่อยู่จำพรรษาได้เพียงหนึ่งพรรษาก็ลาอุปสมบทเข้ารับราชการทหารประจำกรมมหาดเล็ก และอาสาสมัครไปร่วมสงครามยุโรปในสงครามโลกครั้งที่ ๑ แต่ไปไม่ทันถึงสนามรบสงครามก็สงบลง จึงเดินทางกลับและได้ปลดประจำการ เป็นทหารกองหนุนเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐
                ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้แต่งงานกับหญิงชื่อทิพย์ ที่ตำบลคลองบำหรุ บางกอกน้อย ธนบุรี แต่อยู่กันได้เพียง ๖ เดือนเศษก็แยกทางกันเนื่องจากนิสัยชอบการตระเวนท่องเที่ยวไปในที่ต่าง ๆ โดยใช้เรือเป็นที่พักอาศัย ขึ้นล่องไปตามลำน้ำต่าง ๆ ตลอดจังหวัดนครปฐม อยุธยา สุพรรณบุรี
            ในระหว่างนี้ เมื่อได้พบกับอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในตำบลใด ก็จอดพักเรือสมัครเป็นศิษย์เรียนวิชาเพิ่มพูลอยู่เสมอ ทั้งทางโหราศาสตร์และไสยศาสตร์ อาจารย์ที่ได้ประสิทธิประสาทวิชาให้เป็นระยะเวลายาวนานที่สุด คือ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และท่านอาจารย์แดง วัดโพธิ์ท่าเตียน พระนคร
            หลายปีต่อมา ท่านเบื่อการเร่ร่อนเช่นนั้น จึงได้ยกเรือให้พี่น้องเสีย แล้วมาปลูกกระท่อมอาศัยปฏิบัติตนเป็นมรรคทายกอยู่ที่วัดไผ่ล้อม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม แล้วย้ายไปตั้งร้านขายยาแผนโบราณอยู่ที่เชิงสะพานอ่อน (สะพานซอย ๓ ในปัจจุบัน) รับรักษาคนเจ็บป่วย จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในสมัยนั้น
                ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้อุปสมบทในพระบวรพุทธศาสนาเป็นครั้งที่สอง ณ พระอุโบสวัดพระปฐมเจดีย์ เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ โดยมีพระเทพสุธี (โชติ  ธัมมปัชโชติกเถระ) เจ้าอาวาส เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้ศึกษาทางพระธรรมวินัย กระทั้งสอบนักธรรมชั้นตรี ได้ในปี พ.ศ. ๒๔๗๙
            ลำดับสมณศักดิ์ของหลวงพ่อบุญธรรม
            พ.ศ. ๒๔๗๘ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูฐานานุกรมของท่านเจ้าคุณพระเทพสุธี วัดพระปฐมเจดีย์ ในตำแหน่ง “พระครูใบฎีกา” และเป็นพระกรรมวาจานุสาวนาจารย์
            พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูฐานานุกรมของท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก วัดพระปฐมเจดีย์ ในตำแหน่ง “พระครูสังฆวิชัย” ต่อมาได้เป็น “พระครูสังฆรักษ์”
            พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตร จ.ป.ร.ชั้นโท ในนาม “พระครูธรรมาภิราม”
                พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตร จ.ป.ร.ชั้นเอก (ในนามเดิม) ตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์
            พ.ศ. ๒๕๐๖ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในนาม “พระปฐมเจติยาทร”
พระราชธรรมาภรณ์ (หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม) และพระปฐมเจติยาทร (หลวงพ่อบุญธรรม) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ ภาพจากงานฉลองพระภิกษุใหม่ ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๐

            พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระปฐมเจติยาทร เป็นพระเถระที่เพียบพร้อมด้วยกตเวทีตาคุณเป็นอย่างยิ่ง ท่านระลึกถึงพระคุณของบูรพาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาแก่ท่านอยู่เสมอ เพราะเมื่อถึงวันเสาร์แรกของเดือนห้าทุก ๆ ปี ท่านจะจัดให้มีพิธีบูชาคุณครูอาจารย์เป็นประจำ ซึ่งเรียกกันว่า “งานไหว้ครู” ในงานนี้มีลูกศิษย์และผู้ที่เคารพนับถือท่านมาร่วมบำเพ็ญกุศลกับท่านอย่างหนาแน่นเสมอ ส่วนท่านอาจารย์ใดยังมีชีวิตอยู่ ท่านก็จัดเครื่องสักการะไปเคารพบูชาถึงที่อยู่ทุก ๆ อาจารย์ และหลวงพ่อบุญธรรมท่านมักจะชมวุฒิคุณ ความดีของครูบาอาจารย์ของท่านให้ลูกศิษย์และผู้ที่เคารพนับถือท่านฟังอยู่เป็นเนืองนิตย์
           



2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2019-10-10 23:02 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้




ภาพขบวนแห่นาค ที่หลวงพ่อบุญธรรม รับอุปการะเป็นเจ้าภาพอุปสมบทให้ ปีละหลายองค์
ภาพนี้บิดาผู้เขียนถ่ายจากถนนหลังพระ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๕


            ในส่วนของพระภิกษุ-สามเณร ที่ท่านได้เป็นกรรมวาจานุสาวนาจารย์ให้เมื่อถึงวันเปิดโรงเรียนพระปริยัติธรรม ท่านก็เรียกมาประชุมแจกสมุดหนังสือเรียนโดยทั่วถึงกันทั้งเก่าและใหม่เป็นประจำทุกปี ทั้งนี้เพราะท่านเคยปรารถนาอยู่เสมอว่า ท่านเองเกิดมาชาตินี้มีปัญญาน้อยไม่ได้เล่าเรียนอะไรไว้ก็อยากจะสนับสนุนลูกศิษย์ลูกหาทุกคนให้ได้ดิบได้ดีในการเรียนให้ได้มากที่สุด เพื่อจะได้เป็นอานิสงฆ์ต่อไปในภายหน้าให้ท่านได้เกิดมามีสติปัญญาดีเหมือนผู้อื่นเขาบ้าง ดังนั้นท่านจึงได้พยายามส่งเสริมในด้านการศึกษานี้อยู่เสมอ สำหรับศิษย์วัดที่มีผู้นำมาฝากไว้ให้อยู่ปรนนิบัติท่าน ท่านก็เลี้ยงดูอุปการะเป็นอย่างดี ให้การศึกษาและอบรมให้อยู่ภายในระเบียบวินัยอันดีงาม จนได้รับความชมเชยจากท่านผู้ใหญ่และบิดา-มารดาของเด็ก ๆ เหล่านั้นว่า ท่านอบรมเด็กได้ดีมีกิริยามารยาทเรียบร้อยทุกคน
            พระภิกษุและสามเณร ที่เป็นศิษย์ของท่าน ๆ มีวิธีชักจูงใจให้สนใจการศึกษาคือ การให้รางวัลแก่ผู้ที่สอบนักธรรมหรือเปรียญชั้นใดชั้นหนึ่งได้ นอกจากนี้ท่านก็ได้ช่วยเหลือในเรื่องอุปกรณ์การสอนและอุปการะการเงินเป็นนิตยภัตรเงินเดือนครูผู้สอน ปีหนึ่ง ๆ ท่านต้องสิ้นเงินเหล่านี้ปีละไม่ใช่น้อย เป็นที่ซาบซึ้งใจแก่ศิษย์ของท่านทั่วหน้ากันตลอดมา




            เนื่องจากหลวงพ่อบุญธรรมท่านเป็นพระภิกษุ ไม่โลภจริต ไม่เห็นแก่ตัว คือท่านไม่สะสมข้าวของเงินทองไว้เป็นประโยชน์สำหรับส่วนตัวเองเลยแม้แต่น้อย เมื่อมีมากท่านจะนำไปทอดกฐินหรือทอดผ้าป่าตามวัดที่กันดารในชนบทที่ห่างไกลหรือโดยวิธีก่อสร้างถาวรวัตถุและสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์เพื่อผู้อื่นแทบทั้งสิ้น ส่วนค่าใช้จ่ายของท่านเองก็มีไว้แต่พอสมควรแก่อัตภาพเท่านั้น
            ในฐานะเดิมท่านเคยเป็นแพทย์แผนโบราณมาก่อนอุปสมบทเป็นเวลานาน ฉะนั้นเมื่ออุปสมบทแล้ว จึงยังมีคนเจ็บป่วยมาขอความช่วยเหลือจากท่านอยู่ตลอดเวลา ท่านก็ได้อนุเคราะห์ให้ด้วยดีเป็นเหตุให้ท่านต้องแยกออกมาจากกุฏิหลังเดิมมาปลูกสร้างกุฏิหลังใหม่อยู่ริมวัดพระปฐมเจดีย์ ด้านทิศตะวันตก หน้าตึกธรรมศรัทธาสหชน (ในปัจจุบัน) เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๖ แล้วสร้างเรือนพักคนไข้ขึ้นข้าง ๆ ทำการรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยทั้งไข้สามัญและวิกลจริต จนมีชื่อเสียงไปทั้งจังหวัด  
            ต่อมาเมื่อลูกศิษย์และผู้เลื่อมใสศรัทธาท่านมากขึ้น ๆ กุฏิและเรือนพักอาศัยคนไข้ไม่พอรองรับท่านจึงได้ขยับขยายไปสร้างกุฏิถาวรสองชั้นฝาไม้กระดานขึ้นอีกหลังเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ให้ชื่อว่า “กุฏิมิตตสามัคคี” มีพระภิกษุสามเณรและลูกศิษย์มาสมัครปรนนิบัติท่านเป็นจำนวนมาก และผู้ที่ศรัทธาเคารพนับถือท่านก็มากขึ้นทุกที พอถึงงานประจำปีของท่านต่างก็พร้อมใจกันมาร่วมกุศลกับท่านอย่างหนาแน่น จนเป็นเหตุให้กุฏิมิตตสามัคคีไม่พอรองรับอีกท่านจึงจำเป็นต้องขยายกุฏิด้านหลังและด้านข้างขวามือออกไปอีก จนมีสถานที่ใหญ่โตเพียงพอที่จะต้อนรับลูกศิษย์ได้ในคราวมีงานประจำปีอย่างสบาย
            นอกจากนี้ท่านยังหาทุนทรัพย์ ก่อสร้างพระอุโบสถ โรงเรียน กุฏิสงฆ์ ถนน ให้แก่วัด   ต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลาเท่าที่พอจะประมวลมากล่าวย่อไว้ในที่นี้ได้ เช่น
            ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นประธานในการหาทุนทรัพย์ก่อสร้างพระอุโบสถวัดสุวรรณาราม       ต.ศาลายา อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม
            ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ร่วมการก่อสร้างพระอุโบสถวัดบ้านนา อ.เมือง จ.สุโขทัย
            ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ช่วยจัดหาทุนทรัพย์สร้างที่ว่าการอำเภอศรีสำโรง จ.สุโขทัย
            ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ จัดหาทุนทรัพย์ในการก่อสร้างโรงเรียนวัดไชโย จ.อ่างทอง
            ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ จัดหาทุนทรัพย์สร้างพระอุโบสถวัดลำพยา อ.บางเลน จ.นครปฐม
               ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ จัดหล่อพระประธานประจำพระอุโบสถ มอบให้กับวัดต่าง ๆ


และสร้างหอระฆังและหอกลองทรงปั้นหยาสูง ๓ วาเศษ ณ วัดพระปฐมเจดีย์ ในส่วนสิ่งก่อสร้างภายในวัดพระปฐมเจดีย์นอกจากหอระฆัง-หอกลองซุ้มประตูวัด ถนนพื้นคอนกรีต เสริมเหล็ก กว้าง ๔ เมตร  แล้วท่านยังปลูกสร้างถาวรวัตถุไว้อีกจำนวนมาก เพราะตลอดชีวิตท่านผูกพันอยู่กับวัดพระปฐมเจดีย์โดยตลอดอายุขัย

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2019-10-10 23:06 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้





ซุ้มประตูป้ายชื่อ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร ถนนศรัทธาสามัคคี และถนนธรรมมาบริหาร ถนนเชื่อมต่อบริเวณเสนาสนะสงฆ์คณะต่าง ๆ ในวัดหลวงพ่อบุญธรรมก่อสร้างเมื่อช่วงปี พ.ศ. ๒๔๙๔-๒๔๙๖



                เท่าที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้น เป็นเพียงสถานที่สำคัญ ๆ แต่ความจริงยังมีสถานที่และวัตถุอีกเป็นจำนวนมากที่ท่านได้จัดสร้าง สิ่งสุดท้ายที่ท่านได้สร้างขณะที่ท่านอาพาธก็คือ วัจจกุฏิสองห้องคู่ การก่อสร้างตึกหลังนี้หลวงพ่อบุญธรรมต้องใช้ความเพียรพยายามเป็นอย่างยิ่งแทบจะไม่มีเวลาพักผ่อนเลย เพราะวันละหลาย ๆ ชั่วโมงที่ท่านต้องรับแขกที่มาเยี่ยม มาให้ท่านตรวจโชคชะตาราศี มารักษาโรค ฯลฯ เมื่อว่างท่านก็ควบคุมดูแลการก่อสร้างด้วยตนเอง เป็นอยู่เช่นนี้ จนถึงปี ๒๕๐๖ วัดพระปฐมเจดีย์ก็มีตึกหลังใหม่ขึ้นมาอีก ๑ หลังอย่างเต็มภาคภูมิตัวตึกกว้างใหญ่เหมาะใช้เป็นสถานที่อยู่และเป็นตึกสำหรับรับรองพระเถระที่มาประกอบศาสนกิจ หลวงพ่อบุญธรรมได้ตั้งชื่อตึกนี้ว่า “ตึกธรรมศรัทธาสหชน”
            ขณะที่สร้างตึกหลังใหม่นี้แม้ท่านอาพาธอยู่ แต่ท่านขอตั้งปณิธานไว้แน่วแน่ก่อนแล้วว่าจะต้องสร้างให้เสร็จให้จงได้ ดังนั้นเมื่อตึกธรรมศรัทธาสหชนเสร็จเรียบร้อย ท่านก็ล้มเจ็บลง เมื่อแรก ๆ ก็เพียงสามวันดีสี่วันไข้ แต่ต่อมาอาการก็ทรุดหนักลง คณะศิษย์จึงตัดสินใจนำท่านไปให้แพทย์ตรวจและเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลสงฆ์ เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ แพทย์ลงความเห็นว่าท่านเป็นโรคมะเร็งในลำคอแต่เนื่องจากอยู่ระหว่างเข้าพรรษาและต้องใช้เวลารักษาเป็นเวลานานประกอบกับเข้าใจว่าถึงจะรักษาอยู่ต่อไปก็คงไม่หายขาด ท่านจึงขอให้ศิษย์นำกลับวัดพระปฐมเจดีย์อาศัยปรุงยากลางบ้านรับทานเองก็รู้สึกว่าพอจะได้ผลบ้าง แต่ไม่ดีนัก
            และในระหว่างที่หลวงพ่อบุญธรรมท่านอาพาธอยู่นี่เอง ท่านก็ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นท่านเจ้าคุณในนาม “พระปฐมเจติยาทร” หลวงพ่อบุญธรรมท่านได้ไปในพิธีรับพระราชทานพัดยศ ทั้ง ๆ ที่กำลังป่วย บรรดาลูกศิษย์ของท่านได้กำหนดงาน ฉลองพัดยศ ฉลองกุฏิตึกธรรมศรัทธาสหชน รวมพร้อมกันกับงานไหว้ครูประจำปี ซึ่งจัดให้มีขึ้นในวันเสาร์แรก เดือน ๕ ตรงกับวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๗
            ครั้งถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ๒๕๐๗ ท่านมีอาการอาพาธมากขึ้น ท่านฉันอาหารไม่ได้ต้องถวายนมสดและน้ำข้าวต้มแทน พอช่วยพยุงชีวิตท่านไว้เท่านั้น งานที่คณะศิษย์เตรียมจัดไว้แต่แรกเป็นงานใหญ่โตที่สุด ต้องเปลี่ยนแปลงไปคงไว้แต่พิธีทางศาสนาเท่านั้น ส่วนกำลังใจของหลวงพ่อยังดีอยู่มากแม้ว่าจะขยับกายเองไม่ได้แล้วก็ตาม ถึงวันที่ ๑๔ มีนาคม ซึ่งเป็นวันงานนั่นเองอาการของท่านก็กำเริบขึ้นเหลือวิสัยของคณะแพทย์ที่เยียวยาไว้ได้ แต่แล้วท่านก็ฟื้นคืนสติขึ้นมาได้อีกครั้งดังปาฏิหาริย์จนงานไหว้ครูผ่านไปได้ด้วยดี

4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2019-10-10 23:07 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
   แต่หลังงาน จากนั้นมาอาการของหลวงพ่อไม่กระเตื้องขึ้นเลย คงทรงอยู่อย่างนั้นเพียงแต่สติของท่านยังดีจำแม่นเหมือนปกติ กระทั่งถึงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๐๗ เวลา ๑๕.๒๐ น. หลวงพ่อบุญธรรมท่านจึงได้มรณภาพไปโดยสงบท่ามกลางลูกศิษย์และแพทย์ที่เฝ้าพยาบาลท่านจนถึงนาทีสุดท้าย ทิ้งไว้แต่คุณงามความดีของท่านที่ประกอบมาให้ไว้เป็นอนุสรณ์แก่อนุชนชั่วกาลนาน หลวงพ่อบุญธรรมรวมสิริอายุ ๗๒ ปี ท่านเป็นสานุศิษย์วิทยาคมสาย หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค จ.อยุธยา มีวิชาอาคมแก่กล้า มีเมตตาและพรหมวิหารธรรมสูง สงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสรักษาโรคดภัยไข้เจ็บแก่สาธุชนไม่เลือกชั้น วรรณะ ประดุจ พระอาจารย์ของท่านทุกประการ
                จากหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพพระปฐมเจติยาทร ๓ เม.ย. ๐๘ มีคัดออกบ้างบางตอน นำลงเผยแพร่ด้วยเห็นว่าท่านเป็นพระเถระผู้โอบอ้อมอารี ทั้งชีวิตท่านฝักใฝ่แต่ศาสนกิจกุศลโดยแท้จริง
            ศิษย์ของหลวงพ่อบุญธรรม ธมฺมาราโม
            ในปัจจุบันเท่าที่ผู้เขียนจำได้และยังอยู่จำพรรษาวัดพระปฐมเจดีย์สององค์คือ พระพิพัฒน์วิริยาภรณ์ (หลวงพ่อผูก) พระครูอุตตรการบดี (หลวงพ่อศรีสุข) ส่วนอีกองค์หนึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดคีรีวงศ์ อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี คือ พระสมุห์ทิม เตชปุญโต (อาจารย์ทิม)
            ก่อนจะกล่าวถึงวัตถุมงคล วิถีการสร้างพระผงของหลวงพ่อบุญธรรม วัดพระปฐมเจดีย์ (วัดใหญ่) ผู้เขียนเคยได้ฟังคุณยายพูดคุยกับหลวงพ่อบุญธรรมพอสรุปได้ว่า การที่ท่านต้องเสกเป่าคาถารักษาโรค ทำน้ำมนต์บ่อย ๆ นั้น พลังจิตของท่านย่อมไม่เข้มขลังเต็มพลัง ฉะนั้นในปีหนึ่ง ๆ หลังจากออกพรรษาและรับกฐินแล้ว หลวงพ่อท่านต้องเดินทางไปนั่งวิปัสสนากรรมฐานในที่สงบโดยไปนั่งเสริมพลังจิตที่ป่าช้าวัดบางนมโคใช้เวลาหนึ่งเดือนเต็ม ห้ามผู้ใดเข้าไปรบกวนโดยเด็ดขาด จะอนุญาตแต่เฉพาะผู้ส่งอาหารเท่านั้น หลังจากหนึ่งเดือนแล้วท่านจะออกจากป่าช้ามาพักผ่อนในวัดบางนมโคก่อน เมื่อสบายดีแล้วจึงกลับวัดพระปฐมเจดีย์เพื่อมาเป็นที่พึ่งให้แก่บรรดาลูกศิษย์ท่าน ด้วยจิตใจอันสงบและแน่วแน่
            วิธีสร้างพระของพระปฐมเจติยาทร หรือหลวงพ่อบุญธรรม ท่านสร้างตามแบบฉบับตำรับพิธีสมัยโบราณ คือ สร้างเนื้อเอง กดพิมพ์เอง ปลุกเสกเอง ในกุฏิที่ท่านพักอาศัยอยู่ ท่านจะไม่ยอมทำนอกวัดเหมือนการสร้างพระในปัจจุบัน โดยท่านจะเริ่มต้นตั้งแต่สร้างผงวิเศษด้วยการเขียนอักขระยันต์คาถาลงบนแผ่นกระดานดำด้วยดินสอพองกำหนดจิตเขียนทีละตัวจนครบสูตรของท่าน แล้วลบออกเก็บผงเลขยันต์ไว้ทำผงวิเศษ (เขียนแล้วก็ลบกระทั่งได้ผงตามที่ต้องการ) ในตัวยันต์ที่เขียนนั้นจะต้องมียันต์สำคัญของอาจารย์ท่าน เช่น ยันต์เกราะเพชร ที่ท่านร่ำเรียนถ่ายทอดมาจากหลวงพ่อปาน อยุธยา เลขยันต์ของท่านเจ้าคุณธรรมวโรดม (โชติ) พระอุปัชฌาย์ของท่านเป็นต้น ขั้นตอนต่อไปท่านใช้หัวว่าน ๑๐๘ ชนิดมา บดให้เป็นผงละเอียดรวมทั้งผงธูปหน้าพระประธานในพระอุโบสถและรอบ ๆ องค์พระปฐมเจดีย์ทั้ง ๔ ทิศ ผงธูปที่ท่านจุดบูชาพระอาจารย์ นำมาผสมรวมกับน้ำมนต์ตั้งอิ้วเมื่อเข้ากันดีแล้วได้ฤกษ์ดีแล้ว ท่านก็นำเนื้อนี้ลงแม่พิมพ์กดเป็นรูปพิมพ์พระตามพุทธลักษณะต่าง ๆ คือ พิมพ์พระสมเด็จปางสมาธิ ฐานสามชั้น ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ พระสมเด็จแบบพระพุทธกวัก พระพิมพ์พระนางพญา พิมพ์พระพุทธโสธร ลักษณะรูปสามเหลี่ยม ฯลฯ ที่ด้านหลังจะกดด้วยตัวอักษร “ธ” จมลงในเนื้อหมายความว่า “หลวงพ่อบุญธรรม” (ถ้าท่านผู้อ่านไม่มีพระเนื้อดินของหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค  จะใช้พระผงของหลวงพ่อบุญธรรม แทนรับรองพุทธคุณไม่แพ้กัน เพราะสร้างตามแบตำราเดียวกัน )

5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2019-10-10 23:07 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
นอกจากพระเครื่องเนื้อผง ท่านยังได้ทำสิ่งมงคลสำหรับบูชาประจำบ้านเรือนที่ลูกศิษย์นิยมกันมากในสมัยนั้นคือ ผ้ายันต์ประจำบ้านเรือนหรือโรงงานป้องกันภัยพิบัติต่าง ๆ ผ้ายันต์สามเหลี่ยมชายธงที่หลวงพ่อสักอักขระเลขยันต์ด้วยลายมือท่านเอง ทางด้านเมตตามหานิยมก็มี สาลิกา และเทียนสีผึ้งสำหรับทาริมฝีปาก เพื่อความมีเสน่ห์ในการเข้าหาพบปะผู้ใหญ่ เป็นต้น ส่วนบทพระคาถาต่าง ๆ ที่ลูกศิษย์ลูกหาเรียนไป เพื่อไว้อธิษฐานใช้ประจำตัวนั้น ผู้ที่นำไปใช้ห้ามลักขโมย ไม่ให้ปล้น ไม่ให้ดื่มเหล้า จึงจะมีคุณต่าง ๆ ตามความประสงค์
            ในช่วงที่หลวงพ่อบุญธรรมท่านยังมีชีวิตอยู่นั้น ท่านยังได้ทำเหรียญเนื้อโลหะรูปเหมือนของท่านด้วยตามความปรารถนาของบรรดาลูกศิษย์รวม ๓ รุ่น เป็นเนื้อทองแดงกะไหล่ทองทั้งหมด และสิ่งที่จะขาดเสียมิได้นั้นคือการลงจารตัวยันต์เกราะเพชรลงในแผ่นเงิน แผ่นทอง หลอมละลายเป็นชนวนสำคัญในเนื้อเหรียญทั้ง ๓ รุ่น
            สิ่งมงคลวัตถุมงคล และพระเครื่องต่าง ๆ ของหลวงพ่อบุญธรรม เมื่อเวลาท่านนำมาแจกให้แก่ลูกศิษย์ หรือผู้ที่นับถือท่านหลวงพ่อจะเสกเป่าประสิทธิ์ประสาทมอบให้กับมือเองอีกครั้งหนึ่ง และไม่มีการตั้งราคาว่าจะต้องทำบุญองค์ละเท่าไร! เพราะหลวงพ่อท่านถือว่าสร้างขึ้นเพื่อแจก นอกจากว่าท่านที่รับพระเหล่านั้นจะทำบุญเองตามความสมัครใจของแต่ละคน ก็สุดแต่ความศรัทธา ด้านพระพุทธคุณ ของ ๆ ท่านดีเด่นทางเมตตามหานิยม ให้โชค ให้ลาภ แคล้วคลาดจากภัยพิบัติอันตรายใด ๆ ทั้งปวง และโดยเฉพาะในทางมหาเสน่ห์ด้วยแล้วหากปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม นับว่าของของท่านเป็นที่เชื่อถือได้ มีความนิยมกันมากในหมู่บรรดาลูกศิษย์และคนที่ทราบประวัติความเป็นมาของหลวงพ่อบุญธรรม แต่ในบรรดานักนิยมสะสมพระเครื่องวงนอกอย่างเช่นปัจจุบัน ไม่ทราบทั้งประวัติของท่านและก็ไม่ทราบว่ามีพระเครื่องพิมพ์ต่าง ๆ อยู่ด้วย เนื่องจากขาดการประชาสัมพันธ์จึงไม่แพร่หลาย ไม่เหมือนพระที่สร้างขึ้นใหม่ ๆ ที่มีบุคคลในวงการเกี่ยวข้องทุ่มเทลงทุนโฆษณาพุทธคุณและปาฏิหาริย์ ให้คนได้รู้จักกันไปทั่วประเทศและต่างประเทศคล้ายสินค้าทาง...ธุรกิจ
            ดังนั้นพระเครื่องของหลวงพ่อบุญธรรม จึงยังไม่มีราคาเช่าหาที่แน่นอน ของของท่านส่วนมากยังอยู่กับบรรดาลูกศิษย์ และผู้ที่เคารพนับถือท่าน แต่ถ้าหากท่านผู้อ่านได้พบเจอเข้าวันใดก็ขอเช่าบูชาไว้ได้เลย ในราคาหลักร้อยต้น ๆ ของปลอมทำเลียนแบบ (เก๊) ยังไม่มี โดยเฉพาะพระเนื้อผง นับถึงวันนี้ก็มีอายุการสร้างมาได้ ๕๐ ปีแล้ว ผู้เขียนจึงอยากแนะนำว่าของ ๆ ท่านก็จัดอยู่ในทำเนียบพระดีราคาถูก แต่มากและหนักแน่นไปด้วย...พุทธคุณ...จริง ๆ ครับ


6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2019-10-10 23:08 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


พระผงพิมพ์พระสมเด็จ
(หลังปั้ม..ธ)


พระผงพิมพ์พระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่ หลังจุด

พระผงพิมพ์พระสมเด็จ วัดเกศ
ไชโย    (หลังปั้ม..ธ)


พระผงพิมพ์พระพุทธโสธร (หลังปั้ม...ธ)


พระผงปิดตาองค์นี้นายสุธี สูงกิจบูลย์ เข้าใจผิดคิดว่าเป็นพระของหลวงพ่อบุญธรรม แต่ความจริงแล้วเป็นพระปิดตาไตรแก้วพิมพ์เล็กของพระพิมลธรรม(ชอบ จารี) วัดราษฎร์บำรุง จังวัดชลบุรี




ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้