ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2724
ตอบกลับ: 2
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ดอกบัว…สัญญะแห่งพุทธปรัชญา

[คัดลอกลิงก์]
“บงกชเกิดต่ำต้อย โคลนตม

มั่นมุ่งเบื้องอุดม ฝ่าน้ำ

ขุ่นใสไป่ยอมจม อยู่ใต้

บริสุทธิ์ผุดผ่องคล้ำ เหล่าไม้ ดอกงาม”


“ดอกบัว” เป็นพันธุ์ไม้น้ำชนิดหนึ่งที่มีบทบาทและความสำคัญมากในพระพุทธศาสนา ชาวพุทธถือว่าบัวเป็นดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์ และมีความสูงส่ง เป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ธรรมชาติกำเนิดของบัวถูกนำมาใช้ในเชิงปรัชญาการดำเนินชีวิตอย่างลึกซึ้ง กล่าวคือ แม้บัวจะเกิดในโคลนตม แต่เมื่อโผล่พ้นน้ำขึ้นมารับแสงสว่างแล้ว กลีบดอกกลับสะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งใดแปดเปื้อน เสมือนคนที่เกิดมาแล้ว หากเข้าถึงหลักธรรมก็สามารถเป็นผู้หลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ทั้งปวงได้ ในทางพุทธปรัชญาพระพุทธเจ้าได้ทรงเปรียบดอกบัวแทนค่าของสติปัญญามนุษย์ ซึ่งแบ่งออกเป็นสี่เหล่า คือ


2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2019-6-5 21:26 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
บัวเหล่าที่ ๑ ดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ เปรียบได้กับ อุคฆฏิตัญญู คือ บุคคลที่มีสติปัญญาฉลาดเฉลียว เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมก็สามารถรู้ และเข้าใจในเวลาอันรวดเร็ว เมื่อต้องแสงอาทิตย์ก็เบ่งบานทันที
บัวเหล่าที่ ๒ ดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำ เปรียบได้กับ วิปัจจิตัญญู คือ บุคคลที่มีสติปัญญาปานกลาง เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มเติม จะสามารถรู้และเข้าใจได้ในเวลาอันไม่ช้า ซึ่งจะบานในวันถัดไป
บัวเหล่าที่ ๓ ดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ เปรียบได้กับ เนยยะ คือ บุคคลที่มีสติปัญญาน้อย แต่เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มอยู่เสมอ มีความขยันหมั่นเพียรไม่ย่อท้อ มีสติมั่นประกอบด้วยศรัทธาปสาทะ ในที่สุดก็สามารถรู้และเข้าใจได้ในวันหนึ่งข้างหน้า ซึ่งจะค่อยๆ โผล่ขึ้นเบ่งบานได้ในวันหนึ่ง
บัวเหล่าที่ ๔ ดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม เปรียบได้กับ ปทปรมะ คือ บุคคลที่ไร้สติปัญญา และยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ แม้ได้ฟังธรรมก็ไม่อาจเข้าใจความหมายหรือรู้ตามได้ ทั้งยังขาดศรัทธาปสาทะ ไร้ซึ่งความเพียร ยังแต่จะตกเป็นอาหารของเต่าปลา ไม่มีโอกาสโผล่ขึ้นพ้นน้ำเพื่อเบ่งบาน


3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2019-6-5 21:27 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
บัวเหล่าที่ ๑ , ๒ , ๓ นั้นเป็นเวไนยสัตว์ คือ สามารถสอนให้บรรลุธรรมไปสู่ความหลุดพ้นได้ ส่วนบัวเหล่าที่ ๔ เป็นอเวไนยสัตว์ คือ สั่งสอนไม่ได้ และเป็นผู้ที่ยังอยู่ในวังวนแห่งความมึนเมาอันยุ่งเหยิง
คติความเชื่อเรื่องของดอกบัวยังมีปรากฎอยู่มากมาย ทั้งในพุทธประวัติ ชาดก พระสูตร และตำนานต่าง ๆ ดอกบัวเป็นสัญลักษณ์แทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าประสูติก็มีดอกบัวมารองรับ ๗ ดอก และไม่ว่าพระพุทธองค์จะประทับในพระอิริยาบถใดก็ตาม ก็จะมีดอกบัวมาเป็นส่วนฐานเพื่อรองรับพระวรกายเสมอ และยังมีการเปรียบดอกบัวกับอนุพยัญชนะของพระพุทธเจ้า เช่น พระกรรณทั้งสองข้างมีสัณฐานอันยาวเรียวอย่างกลีบประทุมชาติ พระสรีระกายสดชื่นดุจดอกบัว กลิ่นพระโอษฐ์หอมฟุ้งเหมือนกลิ่นดอกอุบล
นอกจากนี้ พระโบราณจารย์ยังได้มีการเปรียบเทียบดอกบัวกับพระสงฆ์ กล่าวคือ ดอกบัวแม้จะเกิดขึ้นตามคูสกปรก แต่กลีบดอกก็ยังสวยสะอาดและมีกลิ่นหอมเป็นที่รื่นรมย์ใจ จนคนเก็บเอามาประดับ โดยปราศจากการรังเกียจถึงสถานที่เกิดอันแสนจะปฏิกูลของมันฉันใด พระสงฆ์สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้จะเกิดในตระกูลยากจนเข็ญใจสักเท่าใด แต่เมื่อมาประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ คนก็ย่อมเลื่อมใสศรัทธาเคารพกราบไหว้ โดยปราศจากความรังเกียจถึงชาติตระกูลฉันนั้น
ในมิลินทปัญหา พระนาคเสนเปรียบเทียบดอกบัวกับผู้ปฏิบัติธรรม โดยกล่าวถึงคุณสมบัติแห่งดอกบัวว่า ดอกบัวเกิดในน้ำ เติบโตในน้ำ แต่น้ำไม่สามารถติดดอกบัวได้ เปรียบกับผู้ปฏิบัติธรรม ไม่ติดอยู่ในบริโภคทั้งหลาย ตลอดจนไม่ติดอยู่ในกิเลสทั้งมวล ดอกบัวที่ผุดพ้นน้ำและชูดอกอยู่เหนือน้ำ เปรียบเหมือนผู้ปฏิบัติธรรมที่มีจิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรมทั้ง ๘ คือ ลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์ และสามารถผุดลอยอยู่ในโลกุตรธรรม พระนาคเสนยังเปรียบเทียบดอกบัวกับพระนิพพานว่า ธรรมชาติของดอกบัว น้ำย่อมไม่ซึมติดอยู่ได้ฉันใด พระนิพพานอันกิเลสทั้งปวงไม่ซึมติดอยู่ได้ฉันนั้น ในพุทธศาสนานิกายมหายานถือว่าดอกบัวเป็นเครื่องหมายศักดิ์สิทธิ์ ดอกบัวจะถูกใช้เป็นบัลลังก์ของพระโพธิสัตว์ในปางต่าง ๆ อันเป็นเหตุให้ฐานของรูปเคารพพระโพธิสัตว์หรือพระพุทธรูปมีกลีบบัวคว่ำและกลีบบัวหงาย
ดอกบัวกับพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ผูกพันกันอย่างเหนียวแน่น ชาวพุทธจึงนิยมนำดอกบัวมาถวายพระหรือประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา งานศิลปกรรมหรือสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ที่พบในวัดก็จะประกอบไปด้วยดอกบัว ทั้งนี้เพื่อเป็นการแฝงถึงพุทธปรัชญาอันลึกซึ้งที่เกี่ยวข้องกับดอกบัว เมื่อได้มองดอกบัวแล้ว เราอาจย้อนกลับมองมาที่ตัวเรา และเชื่อมโยงดอกบัวกับหลักธรรมคำสอน เพื่อเป็นดั่งเข็มทิศนำทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิต การได้เพียงพิจารณาดอกบัวเพียงดอกเดียว อาจจะทำให้เราเข้าใจได้ถึง การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เปรียบได้ดั่งดอกบัว เมื่อแรกตูม เบ่งบาน และเหี่ยวเฉาจนตายจากไปในที่สุด

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้