ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2358
ตอบกลับ: 2
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

“เมืองพระประแดง” แรกสุด และตำนานจระเข้พระประแดง ต้นตระกูลชาละวัน พิจิตร

[คัดลอกลิงก์]



ผู้เขียน        สุจิตต์ วงษ์เทศ
เผยแพร่        วันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2561
เมืองพระประแดง สมัยแรกสุดอยู่ท่าเรือคลองเตย (ท่าเรือกรุงเทพฯ) ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างคลองเตย (ทางเหนือ) กับคลองพระโขนง (ทางใต้)

เป็นเมืองปากน้ำ ทำหน้าที่หลายอย่าง เช่น ด่านเก็บภาษี (ไม่ใช่เมืองท่าตามความหมายสมัยใหม่)

กำแพงเมืองก่ออิฐ ต่อมาถูกรื้อเอาอิฐไปสร้างกรุงธนบุรี สมัยพระเจ้าตาก [ปัจจุบันไม่เหลือร่องรอยกำแพงเมืองพระประแดง]

วัดหน้าพระธาตุ ศูนย์กลางหลักของเมืองพระประแดงอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตการท่าเรือฯ ถูกรื้อพร้อมวัดอื่นๆ ใกล้เคียง เพื่อเอาพื้นที่สร้างท่าเรือกรุงเทพฯ ราว พ.ศ. 2478-2480 [หลังจากนั้นสร้างทดแทน เป็นวัดธาตุทอง สุขุมวิท]


แผนที่กรุงเทพฯ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2453 ยังระบุที่ตั้งของวัดทั้ง 4 แห่ง คือ วัดหน้าพระธาตุ วัดเงิน วัดทอง และวัดไก่เตี้ย ในบริเวณที่ต่อมาจะกลายเป็นท่าเรือคลองเตย [กรมแผนที่ทหาร, แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. 2431-2474 (กรุงเทพฯ : กรมแผนที่ทหาร, 2530).]
ศาลพระประแดง อยู่ใกล้วัดหน้าพระธาตุ เป็นที่ตั้งพระประแดง (กมรเตง) เทวรูป 2 องค์ ที่ขุดพบจากคลองสำโรง (มีบอกในพงศาวดาร)
พระยาละแวก ยกพลมาตีอยุธยา แต่ตีไม่ได้ เลิกทัพลงไปเมืองพระประแดง (คลองเตย) ขนเทวรูป 2 องค์กลับเมืองละแวก หลังกรุงแตกครั้งแรก พ.ศ. 2112

น่าสงสัยว่าจะเป็นเทวรูปได้มาครั้งเจ้าสามพระยาขนจากเมืองพระนครหลวง พระยาละแวกรู้จึงเอาคืน

สมเด็จฯ เจ้าฟ้านริศ มีพระนิพนธ์เล่าว่าเคยเป็นวัดหน้าพระธาตุและศาลพระประแดง

พระประแดง เป็นคำกลายจากภาษาเขมร ว่า กมรเตง แปลว่า เจ้า (หรือผู้เป็นเจ้า)หมายถึงเทวรูป 2 องค์ คือ พระยาแสนตา กับ พระยาบาทสังขกร ตำนานเล่าว่าพบขณะขุดลอกคลองสำโรงกับคลองทับนาง สมัยต้นอยุธยา แผ่นดินรามาธิบดี (2) ราว พ.ศ. 2041


แผนที่แสดงตำแหน่งเมืองพระประแดง (คลองเตย) และบางกระเจ้า อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ (โดย ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ 2561)
แม่น้ำ “เจ้าพระยา” ได้ชื่อจากเทวรูป 2 องค์ “พระประแดง”
เจ้า มาจากคำเขมร กมรเตง หมายถึง เทวรูป 2 องค์ พระยา มาจากนามเทวรูปทั้งสอง ว่า พระยาแสนตา กับ พระยาบาทสังขกร

เจ้าพระยา ใช้เรียกตำบลปากน้ำพระประแดง ว่า บางเจ้าพระยา พบหลักฐานเก่าสุดสมัยพระนารายณ์ ในหนังสือกาพย์ต้นทางฝรั่งเศส พ.ศ. 2229 ว่า

ตั้งหน้าออกมา

จากบางเจ้าพระยา         พระทวารอันใหญ่

จักไปฝรั่งเศส                 ประเทศเมืองไกล

ข้ายกมือไหว้                  อารักษ์ทั้งปวง

หลังจากนั้นยังพบในหนังสือสัญญาไทย-ฝรั่งเศส สมัยพระนารายณ์ พ.ศ. 2231 ว่า “กรุงศรีอยุธยาฝ่ายเหนือฝ่ายใต้ จนปากน้ำบางเจ้าพระยา…”

สุนทรภู่ ไปเมืองแกลง (ระยอง) นั่งเรือล่องเจ้าพระยา ผ่านศาลพระประแดง ได้ชื่อว่า เฮี้ยน ก่อนเข้าคลองสำโรง ไปออกแม่น้ำบางปะกง

ถึงบางผึ้งผึ้งรังก็รั้งร้าง                            พี่ร้างนางร้างรักสมัครหมาย

มาแสนยากฝากชีพกับเพื่อนชาย               แม่เพื่อนตายมิได้มาพยาบาล

ถึงปากลัดแลท่าชลาตื้น                           ดูเลื่อมลื่นเลนลากลำละหาน

เขาแจวจ้องล่องแล่นแสนสำราญ                มาพบบ้านบางระจ้าวยิ่งเศร้าใจ

อนาถนิ่งอิงเขนยคะนึงหวน                      จนจวบจวนแจ่มแจ้งปัจจุสมัย

ศศิธรอ่อนอับพยับไพร่                            ถึงเชิงไทรศาลพระประแดงแรง

ขออารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ที่สิงศาล                     ลือสะท้านอยู่ว่าเจ้าห้าวกำแหง

ข้าจะไปทางไกลถึงเมืองแกลง                   เจ้าจงแจ้งใจภัคนีที

ฉันพลัดพรากจากจรเพราะร้อนจิต             ใช่จะคิดอายอางขนางหนี

ให้นิ่มน้องครองรักไว้สักปี                        ท่านสุขีเถิดข้าขอลาไป

พอแจ่มแจ้งแสงเงินเงาระยับ                     ดาวเดือนดับเด่นดวงพระสุริย์ใส

ถึงปากช่องคลองสำโรงสำราญใจ             พอน้ำไหลขึ้นเช้าก็เข้าคลอง

2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2019-4-25 20:04 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

เห็นเพื่อนเรือเรียงรายทั้งชายหญิง             ดูก็ยิ่งทรวงช้ำเป็นน้ำหนอง

ไม่แม้นเหมือนคู่เชยเคยประคอง                ก็เลยล่องหลีกมาไม่อาลัย

กระแสชลวนเชี่ยวเรือเลี้ยวลด                  ดูค้อมคดขอบคุ้งคงคาไหล

แต่สาชลเจียวยังวนเป็นวงไป                    นี่หรือใจที่จะตรงอย่าสงกา

                                                    นิราศเมืองแกลง ของ สุนทรภู่

หัวจระเข้ ถวายแก้บนเจ้าพ่อพระประแดง

ศาลเจ้าพ่อพระประแดง อยู่ริมแม่น้ำฯ คนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ไม่เคยเห็นเทวรูป “พระประแดง” เพราะพระยาละแวกขนไปเขมร ตั้งแต่สมัยอยุธยา

จึงโอนนิทานจระเข้เหนือทำศึกจระเข้ใต้ ที่มีมาดั้งเดิมก่อนแล้ว (ตั้งแต่สมัยอยุธยา) เข้าสวมสิงศาลพระประแดง

มีในนิราศฉลาง (เมืองถลาง จ. ภูเก็ต) ของเสมียนมี (หมื่นพรหมสมพัตสร กวีสมัย ร.3) ดังนี้

ถึงศาลเจ้าพระประแดงแสยงเกล้า      นึกกลัวเจ้าพระประแดงแรงหนักหนา

บนศาลศรีมีเศียรของกุมภา            แต่พันตาพันวังหัวฝังดิน

พระประแดงแข็งกล้าเจ้าข้าเอ๋ย         ขอลาเลยลับไปดั่งใจถวิล

ช่วยป้องกันกุมภาในวาริน               อย่าให้กินชาวบ้านชาวบูรี

มาตะบึงลุถึงพระโขนง                    น้ำก็ลงเรือก็ล่องยิ่งหมองศรี

ดูพวกเพื่อนทั้งหลายสบายดี             แต่ตัวพี่โศกศัลย์ถึงขวัญตา ฯ

  

ศาลเจ้าพ่อพระประแดง ฝั่งท่าเรือคลองเตย (สร้างขึ้นใหม่) ที่ความเชื่อเรื่องการถวายหัวจระเข้ยังคงอยู่ แม้ในปัจจุบันจะพัฒนาเป็นถวายจระเข้ปูนปั้น และจระเข้ยางแล้วก็ตาม
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2019-4-25 20:04 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
จระเข้ สัตว์ศักดิ์สิทธิ์
  • จระเข้สลักหิน ปราสาทวัดพู จำปาสัก
  • จามเทวี นางพญาจระเข้ (กยฺาม ภาษามอญ แปลว่า จระเข้)
  • จาม นับถือจระเข้เป็นบรรพชน
  • สร้างศาลหลักเมือง อ. พระประแดง ต้องมีจระเข้ เท่ากับสืบความเชื่อเดิม
ตำนานจระเข้ เมืองพระประแดง ต้นตระกูลชาละวัน เมืองพิจิตร

นิทานกลอน เรื่องไกรทอง โดย บุศย์ รจนา (องค์การค้าของคุรุสภา เอามาพิมพ์ใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2521) พิมพ์จำหน่ายแพร่หลาย มีเนื้อความตอนต้นสรุปย่อ ดังนี้

ท้าวโคจร จระเข้เหนือ ตัวยาวราว 40 เมตร (เส้นเศษ) อยู่แม่น้ำน่าน เมืองพิจิตร (เป็นปู่ของชาละวัน)

ท้าวพันตา, พระยาพันวัง จระเข้ใต้ สองพี่น้อง อยู่แม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้ปากน้ำ ทะเลอ่าวไทย

บริวารจระเข้เหนือ ล้ำแดนลงไปปะทะบริวารจระเข้ใต้

ท้าวโคจรโกรธมาก จะปราบจระเข้ใต้สองพี่น้อง จึงล่องลงแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วแผลงฤทธิ์ฟาดน้ำ ที่ต่อมาเรียกย่าน ดาวคะนอง (กรุงเทพฯ)

ท้าวโคจร ฆ่าท้าวพันตา จระเข้ตัวพี่

ต่อมาเทวดาเข้าข้างพระยาพันวังจระเข้ตัวน้อง สู้กับจระเข้เหนือ ท้าวโคจรต่อว่าเทวดาว่าเข้าข้างผิด เพราะพระยาพันวังเข่นฆ่าประชาชน

พระยาพันวัง ตอบโต้ว่าเทวดาไม่เข้าข้าง แต่ตนมีฤทธิ์เอง

เทวดาได้ยินก็ถอนความช่วยเหลือ ท้าวโคจรเลยฆ่าพระยาพันวัง แล้วคาบหัวพระยาพันวังสังเวยเทวดาไว้บนศาลริมฝั่งแม่น้ำ

นับแต่นั้นเป็นต้นมา ก็เป็นประเพณีถวายเทวดาอารักษ์ด้วยหัวจระเข้บนศาลเจ้าพ่อพระประแดง

หัวจระเข้บนศาลเจ้าพ่อหลักเมืองพระประแดง ที่ยังคงมีปรากฎอยู่ในปัจจุบัน

ฟังข้อมูลแบบมีภาพและเสียงได้ใน พระประแดงมาจากไหน? สุจิตต์ วงษ์เทศ มีคำตอบ ส่วนหนึ่งจาก รายการ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว ตอน “บางกะเจ้า เมืองพระประแดง ปากทางอ่าวสยาม”พบวิทยากรพิเศษ ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง และ ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ร่วมทอดน่องท่องเที่ยว ณ คุ้งบางกะเจ้า อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เมื่อวันอังคารที่ 25 กันยายน 2561


ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้