ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

หลวงพ่อกล้วย (หลวงพ่อสำราญ ธัมมธุโร)

[คัดลอกลิงก์]
11#
 เจ้าของ| โพสต์ 2019-2-7 11:41 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ปรารถนาให้ญาติโยมหมั่นปฏิบัติ

ญาติโยมท่านใด มีโอกาส อยากไปฝึกปฏิบัติ ก็ขอเชิญมาที่นี่ก็ได้ หรือจะไปที่มุกดาหารก็ได้ บนภูบ้านไร่ ที่นั่นบรรยากาศดีมากทีเดียว หรือจะไปที่เขาใหญ่ วัดถ้ำสันติธรรม อาตมาก็มีลูกศิษย์อยู่คนหนึ่ง ที่นั่น ไปซื้อที่ ขยายที่เอาไว้ ให้ปลูกต้นไม้ครบ 4-5ไร่ ตรงหน้าถ้ำก็น่าอยู่ เหมือนกัน

มีโอกาสจะไป พังโคน ได้สร้างวัดเอาไว้ที่พังโคน เลยพังโคนไปทางวานรนิวาส ประมาณ 15 กิโลฯ พระฝรั่งท่านซื้อที่ถวาย เอาไว้ประาณ 300 กว่าไร่ ก็สร้างวัด สร้างอะไรอยู่ที่นั่น ซึ่งก็น่าปฏิบัติเหมือนกัน

เวลามีค่า อย่าปล่อยให้สูญเปล่า

ถ้าเราเข้าใจแล้ว อยู่ที่ไหนก็เป็นวัด ทำกายให้เป็นวัด ทำจิตให้เป็นพระ ไปสร้างประสบการณ์ ไปหาประสบการณ์ อย่าปล่อยเวลาทิ้ง เสียดายเวลา ถ้าเราเข้าใจตรงนี้แล้ว เราจะเสียดายเวลามากทีเดียว จะไม่อยากปล่อยเวลาทิ้ง ทั้งภายนอก ภายใน

เราจะสร้างคุณประโยชน์ต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์ ทั้งประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ทั้งทรัพย์ภายใน ทรัพย์ภายนอก ฝากฝังไว้กับสมมุติ คนรุ่นหลังมา ก็จะได้มาสร้าง มาสานต่อ เหมือนกับพ่อ แม่ ฝากฝังทรัพย์ไว้ให้ลูก ต้องพยายามกันนะ

สรุปสุดท้าย ก็ขอย้ำเรื่องจิต (ให้ตามดูจิตทุกขณะ)

ปกติอาตมาไม่ค่อยอยากจะพูด พูดน้อย แต่เหตุการณ์สมมุติให้พูด ถึงได้พูด ไม่อยากจะพูดเลย ถ้าพูดตามความจริง อยากจะดูอยู่เฉย ๆ ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้

วันนี้ ก่อนที่จะรับประทานอาหาร จิตนิ่งหรือเปล่า หรือว่า จิตเกิดความอยาก กายหิว จิตเกิดความอยากไหม จิตถึงบ้าน วันละกี่เที่ยว เราปรับปรุงแก้ไข ตัวเราเองได้แล้วหรือยัง เราเคยใช้อารมณ์กับแม่บ้าน กับหมู่ กับคณะ กับเพื่อนฝูง เรารู้จักสงบ รู้จักนิ่ง มีเหตุผลหรือไม่ เราก็ต้องพยายามวิเคราะห์แก้ไข ปรับปรุง ตัวเราเอง

วันนี้ อาตมาขอเจริญธรรม เพียงเท่านี้ ขอให้ญาติโยมทุกท่าน จงประสบแต่ความสุขความเจริญ

จากใจลูกศิษย์ ถึงหลวงพ่อกล้วย

คุณชลัช มานะเลิศ อายุ 75 ปี (หลวงพ่อคือ ผู้มีเมตตาธรรม)

เพิ่งรู้จักหลวงพ่อได้ไม่นาน ลูกแนะนำ ศรัทธาในปฏิปทาของหลวงพ่อ ท่านเป็นคนตรง ๆ จริง ๆแล้วก็มีเมตตา ลูกป้ามาบวชก่อน แล้วลูกเขาก็ประทับใจในบรรยากาศ ที่นี่ว่าเป็นที่ที่สงบ แล้วป้าก็ตามมาปฏิบัติธรรมด้วย ตอนเช้าก็ได้ทำบุญด้วย ป้าเป็นแฟนหนังสือโลกทิพย์ด้วยนะคะ ตั้งแต่โลกทิพย์ออกมาใหม่ ๆ เลย หนังสือโลกทิพย์ทำให้ป้าได้รู้จักพระอริยะ สายที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ซึ่งเราเองไม่สามารถ ที่จะไปค้นคว้า ได้อย่างนั้น แต่เราอาศัยจากหนังสือโลกทิพย์ ทำให้เราได้รู้จักพระอริยะต่าง ๆ

สำหรับหลวงพ่อท่าน เป็นพระที่ปฏิบัติจริง แล้วก็มีเมตตา ต่อคนที่มาปฏิบัติ แล้วสถานที่พักก็สะดวกดี เงียบสงบ ตอนเช้าได้ใส่บาตร และท่านก็แสดงธรรม ให้เราฟังก่อนที่จะฉันอาหาร ทำให้เราได้สงบจิต สงบใจ ช่วงขณะนั้น ซึ่งตรงกับใจป้าเลย

คุณพรรณงาม วัดสันตชาติ อายุ 59 ปี (กรุงเทพฯ)
หลวงพ่อคือพระผู้ไม่สะสมทรัพย์

ที่รู้จักหลวงพ่อ ก็เพราะลูก ๆ เขาแนะนำ แรก ๆ ที่เขาบอก ป้าก็ไม่ได้มา แต่พอป้าเพท ที่เขามาปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อ กลับไปกรุงเทพฯ เขาก็มาเล่าให้ฟังว่า หลวงพ่ออ่านสอนอย่างนี้ ๆ ป้าเห็นว่าดี ก็เลยมาสัมผัสดู ป้าเพิ่งมา 2 ครั้ง ป้าอยู่แถวลาดพร้าว ประทับใจท่านหลายอย่าง คิดว่า ท่านเป็นอริยะแล้ว ท่านปฏิบัติตัวแบบ ไม่เอาอะไรเลย ป้าคิดว่า พระแท้ ๆ ต้องไม่เอาอะไร ไม่สะสมอะไร คือไม่ต้องเอาอะไรเลย

แล้วก็ชอบบรรยากาศที่วัดด้วย ต้นไม้ร่มรื่น ครั้งที่แล้ว ป้ามาอยู่ประมาณ 17 วัน ครั้งนี้ คิดว่า จะอยู่เป็นเดือน เพราะเรายังปฏิบัติไม่ได้ ธรรมะไม่ใช่ของง่าย ต้องใช้เวลาที่จะศึกษา นี่ป้าก็กำลังศึกษาอยู่ และป้าก็ปฏิบัติได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่คิดว่า นี่คือแนวทางที่เราเข้าใจ แล้วก็จะปฏิบัติต่อ ส่วนลูก ๆ ของป้า เขาก็ทำงาน แต่พอวันหยุด เขาก็มาปฏิบัติธรรมกัน

หลวงพ่อท่านเป็นคนเมตตา และสบาย ๆ ไม่มีกฎเกณฑ์ แล้วท่านก็ไม่มีพวกเดรฉานวิชา พระเครื่อง พระบูชา ตู้บริจาคไม่มีเลย… คือคนเรา อยากทำบุญนี่ มันต้องทำด้วยจิตที่เป็นกุศลจริง ๆ ไม่ใช่จะต้องเอาตู้มาตั้งไว้ที่หน้าวัด อะไรอย่างนี้ แจกซองผ้าป่า หรือ บอกบุญอะไรใคร ชอบตรงที่ท่านไม่บอกบุญ แต่พอถึงเวลา ก็มีคนเอามาถวายท่าน คือเราเห็นความบริสุทธิ์ของท่าน ในความรู้สึกของป้า จิตของท่านบริสุทธิ์ถึงขั้น อริยะพอสมควร เท่าที่ป้าได้สัมผัสนะคะ เพราะป้าก็เรียนธรรมะมา รู้สึกว่าท่าน คงจะได้ตรงนี้ เพราะท่านไม่เอาอะไรเลย พอได้อะไรมาปุ๊บ ท่านก็จะนำเอามาสร้างอะไรให้เป็นประโยชน์ กับส่วนรวม
12#
 เจ้าของ| โพสต์ 2019-2-7 11:42 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
คุณสมบุญ นามวงศ์ (หลวงพ่อผู้มีแต่ให้)

รู้จักหลวงพ่อมานานแล้วค่ะ รู้จักตั้งแต่เป็นฆราวาส หลวงพ่อท่านมีพี่น้อง 5 คน แต่ตายไปคนหนึ่ง พี่มาอยู่ปฏิบัติกับท่าน 20 กว่าปี ได้ซาบซึ้งในธรรมของท่าน แล้วปฏิปทาท่านเป็นผู้เสียสละ มีแต่ให้ แล้วก็มีแต่ทำ

ทำอะไรก็ไม่เคยหวัง จะได้ จะเอาอะไรจากใคร แล้วก็ไม่เก็บสะสมอะไร ใครเอาของมาบริจาค มาถวาย ท่านก็ทำทานต่อ แรก ๆ ที่ท่านมาที่นี่ เป็นป่ารกมาก เพราะเป็นป่าช้า ท่านชอบความสะอาด ความเป็นระเบียบ มันถูกกับจริตของพี่

ทำไมท่านมีแต่ทำ ปกติพี่ก็เห็น ก็อยู่กับพระธุดงค์มาเยอะ ก็สังเกตว่า ท่านทำอะไร ทำไมท่านดูแปลกกว่าทุกองค์ที่ผ่านมา ในป่าช้านี้ ทำความสะอาด เก็บใบไม้กิ่งไม้ ใบหญ้ามันรกมาก แล้วก็มีแต่หลุมศพ เต็มไปหมด เรียงรายกันอยู่ ท่านก็ทำของท่านไป แล้วเวลาสอนธรรมะ ท่านก็สอนแต่ธรรมชาติ

หลวงพ่อท่านจะรักต้นไม้ ปลูกต้นไม้ แต่ที่นี่ปลูกอะไรก็ไม่ค่อยโต เพราะมันแห้งแล้งกันดาร ปลูกกี่ชุด กี่ชุด ก็ไม่เหลือ หลัง ๆท่านก็ปลูกต้นไผ่ ทำแต่งาน พี่ไม่ค่อยเห็นท่านเดินจงกรมนะ แต่ก็มีแต่หลักธรรมมาสอน สอนธรรมะแบบธรมชาติมาตลอด ญาติโยมมาก็สอนคำเก่านี่แหละ หลายปี หลายชาติ ก็สอนแบบนี้

ท่านบอกว่าธรรมของท่านมันทำง่าย เพราะตัวท่านก็ทำมาแต่เด็ก ๆ ท่านให้ทาน ใครมาขออะไรท่านให้หมดถึงไม่ขอ ท่านก็ให้ แล้วก็ไม่เก็บสะสมอะไร ที่กุฏิท่าน ไม่มีอะไรเลย มีแต่ผ้าสบง จีวรที่จำเป้นต้องใช้ คือมันผิดกับองค์อื่น ที่พี่เคยเห็น หรือ เคยสัมผัสมา ท่านมีแต่เสียสละ แล้ประทับใจหลวงพ่อตรงที่ ท่านไม่ให้พูดเรื่องคนอื่น ให้ดูตัวเอง ให้พิจารณาดูตัวเอง จะเกิดอะไรขึ้น

ถ้าตาเห็นรูปข้างนอก อย่าไปอคติ อย่าไปเพ่งโทษ ให้ดูตัวเองว่า จิตไปเพ่งโทษเขาไหม จิตมันมีอคติไหม จิตมันมีรอยมลทินไหม ประทับใจที่สุดคำนี้ เพราะดู ๆ ไป มันก็จริงอย่างที่ท่านสอน เรายังติดขัดตรงไหน ท่านก็แก้ ท่านก็บอก ช่วงเช้า ท่านจะเทศน์ทุกเช้า ก่อนที่จะฉันข้าว จะอบรมธรรมะก่อน ให้ทำสมธิแบบธรรมชาติ ทำอะไรก็ตามธรรมชาติ ให้ธรรมชาติที่สุด เดินก็ให้เป็นธรรมชาติ

ให้รู้อริยาบถ รู้กาย รู้จิต แล้วก็ให้หันมาดู ความปกติของจิต ทำยังไงถึงจะปกติ สอนการให้อภัยทาน อโหสิกรรม เมตตา เพื่อนที่เกิดแก่เจ็บตาย ด้วยกัน ทุกคนเสมอภาคกันหมด มีธรรมชาติหมดทุกคน เพียงแต่เขา ไม่ได้ปฏิบัติ ไม่ได้ฝึกสติของเขา เท่านั้นเอง

ให้สงสารเมตตาเขา เป็นเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตาย ท่านให้ความเมตตา เหมือนกันหมด ไม่มียศ ไม่มีตำแหน่ง ถ้าเข้ามาในวัดนี้ ท่านให้ละอัตตาตัวตน ตรงนี้แหละ มันถูกกับจริตพี่ พี่อยู่วัดประจำทุกวัน เป็นโยมอุปัฏฐากท่าน

ในความทรงจำของศิษย์คนหนึ่ง อ.คำดี จุลโสม (พ่อครู)

วัดป่า หรือ สำนักสงฆ์ธรรมอุทยาน ตั้งอยู่ที่ป่าช้า ของหมู่บ้านสำราญ และบ้านเพี้ยฟาน ต.สำราญ อ.เมือง จ.ขอนแก่น เรื่องเดิมก่อน พ.ศ.2527 ข้าพเจ้าไม่ทราบชัด จึงไม่สามารถ จะนำมาเล่าได้ ทราบเพียงว่า ช่วง พ.ศ.2527 ที่ป้าช้าของหมู่บ้านนี้ มีพระธุดงค์ มาพักเป็นประจำ แต่ไม่ถาวร มาอยู่เพียงเวลาสั้น ๆ

ในปีแรกที่ข้าพเจ้าได้พบหลวงพ่อ สำราญ เป็นช่วงเวลาที่ท่านกลับจากจำพรรษาที่ วัดถ้ำแสงเพชร จังหวัดอำนาจเจริญ แล้วเดินธุดงค์ ไปทางภาคเหนือ ได้กลับมาเยี่ยมญาติ ในหมู่บ้านเพี้ยฟาน และได้มาพักในป่าช้าแห่งนี้ ตามนิสัยของพระธุดงค์ ในปี พ.ศ.2527 นั้น

ข้าพเจ้าเป็นประธาน กลุ่มโรงเรียน กลุ่มสำราญ โดยสำนักงานตั้งอยู่ที่โรงเรียนบ้านสำราญ จึงได้นำคณะกรรมการกลุ่มโรงเรียน มาประชุมที่ศาลาพักศพ ในป่าช้านี้ และมีโอกาสได้พบท่านโดยบังเอิญ ต่อมาได้พยายามมาหาท่านบ่อย ๆ เมื่อได้รู้จักท่านดีแล้ว ก็เกิดศรัทธาในตัวท่าน

คืนแรก ที่ข้าพเจ้าได้มาพักค้างคืน ในป่าช้าแห่งนี้ ท่านบอกให้ข้าพเจ้า ไปอยู่ในกระท่อมเล็ก ๆ กลางป่าช้า ภายในกระท่อมมีแคร่ไม้ไผ่ คร่อมหลุมศพที่เขาก่อ อิฐก่อปูน มีรู และมีกลิ่นด้วย คงจะเป็นที่พักของทาน เพราะมีมุ้งกลดของท่านกางไว้ ท่านคงสละให้ข้าพเจ้าพัก ส่วนท่าน ไม่ทราบว่า ไปพักที่ไหน ในคืนนั้น หลังเที่ยงคืน จึงได้หลับนอน เพราะเจอประสบการณ์ครั้งแรกในชีวิต

ข้าพเจ้ามีความตั้งใจ อยากให้ที่นี่เป็นวัด จึงได้มาคลุกคลีกับท่าน เริ่มต้นบุกเบิกกับท่าน อยากให้ท่านอยู่เป็นหลัก ท่านเคยชักชวนให้ข้าพเจ้าบวชหลายครั้ง แต่ข้าพเจ้า ไม่รับคำชวนจากท่าน เพราะเกรงว่าท่าน จะมอบงานให้แล้ว ท่านจะหนีไป

สำหรับคำว่า ธรรมอุทยาน แปลเอาความว่า สวนธรรม หรือสวนแห่งพระธรรม ขณะนี้เห็นเด่นชัดตามชื่อ เพราะในสวนธรรมแห่งนี้ กำลังผลิดอกออกผล ให้เหล่าพุทธบริษัท ทั้งไกล และใกล้ ได้เก็บหมากผลอย่างเต็มอิ่ม (ยกเว้นประเภท มดแดงเฝ้ามะม่วง)
13#
 เจ้าของ| โพสต์ 2019-2-7 11:43 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
สำหรับปฏิปทาของหลวงพ่อ มีดังนี้

1 ท่านเป็นผู้ให้ ไม่เป็นผู้เอา คือท่านไม่มีความโลภ ความอยากได้ มีแต่การให้ การเสียสละ ไม่มีความต้องการ เอาเฉพาะสิ่งพอดี และจำเป็นกับชีวิตเท่านั้น ท่านถือคติที่ว่า ผู้ชอบเอาจะไม่ได้ ผู้ได้ คือผู้ไม่เอา ผู้ให้คือผู้ได้รับ

ที่ข้าพเจ้าซึ้งมากอีกประการหนึ่งคือ ได้มาเห็นภาพปริศนาธรรม ที่ท่านทำติดไว้ ขณะนี้ ยังมีให้เห็น อยู่ที่ฝาผนังศาลาอเนกประสงค์ มีคติเตือนใจว่า “คนแบกโลก” ดูภาพแล้ว มันถูกกับชีวิตจริง ๆ เป็นเหตุให้ข้าพเจ้า ได้วางหน้าที่ทางโลกหลายอย่าง เหลือไว้เพียงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่อย่างเดียว ทำให้งานเบา สบายขึ้นเยอะ

2 ท่านสอนให้ห่วงตัวเองก่อน จึงช่วยคนอื่นทีหลัง ขณะได้ฟังท่านครั้งแรก คิดว่าท่านสอนให้เป็นคนเห็นแก่ตัว หรือใจแคบ แต่เมื่อนำมาคิดให้ละเอียดแล้ว เป็นความจริง คือคนที่แก้ปัญหาตัวเองได้แล้ว จึงช่วยแก้ปัญหาคนอื่นได้ ตรงกับคติธรรมที่ว่า ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ได้ดีกว่าการสอน การให้กระทำเองดีกว่า การให้พร จึงเห็นได้ชัดว่าท่านสอนโดยเน้นการปฏิบัติมากกว่า ให้ดูตัวเองตลอดเวลา ไม่ให้มองคนอื่น ใครชั่วดีช่างเขา ให้จิตของเราเย็นเป็นพอ ทำจิตของเราให้สะอาดดี แล้วจึงจะช่วยผู้อื่นได้ง่ายขึ้น

ท่านสอนธรรมะโดยไม่มีพิธีรีตรอง ไม่มีธรรมาสน์ นั่งเทศน์ตามดิน ตามร่มไม้ที่ไหน ก็ได้ ไม่เลือกที่ไหนก็ได้ เมื่อไรก็ได้ ไม่จำกัดเวลา และสถานที่ สอนแบบเป็นกันเอง เรียบง่าย ท่านถือว่า คนมีธรรมะคือคนไม่มีปัญหา

4 ท่านสอนให้เอาทั้งวิมุติ และสมมุติ ทำจิตใจให้หลุดพ้นจากสมมุติ แต่ไม่ให้ยึดติดสมมุติ คือส่วนกายยังเป็นสมมุติอยู่ ให้ปล่อยวางเฉพาะทางจิตใจ ส่วนกายไม่ให้วางมือ ให้ทำตามหน้าที่ให้สมบูรณ์ที่สุด ศาสนวัตถุก็ดี ศาสนพิธีก็ดี ท่านให้เอา แต่ท่านไม่ให้เน้นหนัก ที่เน้นมากคือศาสนธรรม เพราะพระธรรมสำคัญกับบุคคลมาก เมื่อบุคคลมีธรรมะ ทุกอย่างจะดีหมด ท่านจึงเน้น การฝึกจิต การพัฒนาจิตเป็นสำคัญ เพราะเป็นทางดับทุกข์ เป็นทางดับปัญหา และต้นเหตุของปัญหา จุดประสงค์ของท่าน ให้ดูแล ควบคุมจิต ดูอาการของจิตตลอดเวลา การควบคุมดูแลจิตอยู่ เป็นที่จะได้ผลกว่า ไปดูอยู่สถานที่อื่นทั่วไป ซึ่งตรงกับพุทธพจน์ ปัจฉิมโอวาท ที่พระพุทธองค์ ทรงตรัสสั่ง เมื่อจะใกล้ปรินิพพานว่า ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท คือไม่ให้เผลอสติ หรือขาดสติ

5 ท่านมีความเกรงใจ ไม่รบกวนใคร การขอเรี่ยไร ไม่มีเลย ไม่เคยเห็นท่าน ทำใบบอกบุญมาจากที่อื่น ท่านก็มิได้แจก ท่านจัดการใส่ซองเอง แล้วก็นำส่งเขา

6 อีกประการหนึ่ง ท่านไม่เป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง เรื่องสมณศักดิ์ การมียศ มีตำแหน่ง ท่านไม่ต้องการเลย แม้แต่ตำแหน่งเจ้าอาวาส ที่ทำหน้าที่อยู่ปัจจุบันนี้ ก็เป็นโดยบังเอิญ ไม่ได้เป็นเพราะความอยาก เพราะในเวลาเริ่มต้นสร้างวัด ท่านมิได้คิดจะสร้างวัด เพื่อจะได้เป็นเจ้าอาวาส ท่านตั้งใจมาพักผ่อนในป่าช้า ตามอุปนิสัยของพระธุดงค์เท่านั้น

แต่บัดนี้ คำว่า “ธรรมอุทยาน” ที่ท่านให้ข้าพเจ้า เอามาถวายเป็นชื่อวัดในครั้งนั้น ก็ปรากฏชัดแล้ว สมเป็นสวนธรรมจริง ๆ กำลังผลิดอกออกผล ด้วยอำนาจบุญบารมีของท่าน ดังที่เห็นในปัจจุบัน ถ้าไม่มีท่าน คงจะไม่เห็นผลิตผล ในธรรมอุทยานแห่งนี้ และแห่งที่ 2 ที่ภูป่าไร่ อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหารด้วย ป่าช้าแห่งนี้ ก็คงจะเป็นป่าช้าธรรมดา จึงขอแสดงความภาคภูมิใจ ในปฏิปทา โดยสังเขปของหลวงพ่อ ณ โอกาสนี้


ขอสรุปอีกครั้งพอฟังง่าย
ตามบรรยายปฏิปทาของหลวงพ่อ
พยายามตามดูมาน่าเยินยอ
ไม่มีขอมีแต่ให้น้ำใจงาม
คำสอนเด่นเน้นตนเองให้ดีก่อน
ท่านพร่ำสอนฝึกเจ้าของอย่ามองข้าม
พูดถึงเรื่องคนอื่นท่านก็ปราม
เท่าที่ตามเฝ้าดูมาศรัทธาจริง
การเข้าหาเวลาใดได้ทุกที่
ท่านไม่มีการถือศักดิ์มักอวดหยิ่ง
เทศน์แก่นธรรมนำพา ว่าความจริง
ไม่ประวิงเวลาน่านิยม
ท่านเน้นมากเรื่องวิมุติหลุดให้ได้
ส่วนรูปกายสมมุตินามตามเหมาะสม
มือไม่วางว่างแต่ใจไร้อารมณ์
จึงกล่าวชมหลวงพ่อกล้วยท่านช่วยจริง
ไม่รบกวนไม่ขอใครเกรงใจมาก
ไม่ออกปากขออะไรใครทุกสิ่ง
การหาพระละความอยากหายากยิ่ง
เป็นความจริงมิได้โฆษณ์โปรดเข้าใจ
เรื่องตำแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์
มิได้ฝักใฝ่เอื้อเพื่อเป็นใหญ่
แม้ตำแหน่งเจ้าอาวาสไม่สนใจ
แล้วแต่ใครจะขันแข่งแย่งกันเอง
ถึงจะกล่าวเล่าเขียนไปไม่มีจบ
เท่าที่พบมากมีมิได้เล่า
ความดีท่านทุกส่วนล้วนน่าเอา
ถ้าพวกเราทำตามนี้จะดีเอง

ตัวอย่างคำสอน หลวงพ่อสำราญ ธัมมธุโร

ที่ควรใช้ โยนิโสมนสิการ (การพิจารณาโดยแยบคาย) และนำไปปฏิบัติ
-ให้กำหนดดูลมหายใจเข้า ออก กระทบปลายจมูก ทั้งผ่านเข้า และผ่านออก
-อย่าส่งจิตออกนอก ถ้ามันออกไป ให้รีบดึงกลับคืนมา
-ถ้าควบคุมจิตยากลำบาก ให้ใช้สมถะข่มไว้ (สร้างสติตามรูปแบบ)
-ให้ดูอาการของจิต (สิ่งที่เกิดกับจิต) ตลอดเวลา (ใช้ตาปัญญา)
-เมื่อมีความอยาก ความต้องการ อย่าเพิ่งเอาทันที ดูให้เห็นชัดก่อนจึงเอา (ดูจนกว่าจะหายอยาก)
-การเสียสละที่ดีกว่า คือการสลัดกิเลส (สิ่งเศร้าหมอง)ออกจากจิต
-ต้องเป็นผู้ให้ หรือเป็นผู้ไม่เอา จึงจะเป็นผู้ได้ ถ้าอยากเอาจะไม่ได้
-สมมุติ กับวิมุติต้องไปด้วยกัน คือกายทำตามหน้าที่สมมุติ แต่จิตใจไม่หลงยึดติดในสมมุติ ปล่อยวางทางใจ เพื่อให้จิตว่าง โดยมิได้วางมือ)
-ให้แยกรูป แยกนาม หรือแยกจิตออกจากขันธ์ห้า โดยไม่ให้ขันธ์ห้า มีอำนาจเหนือจิต (ไม่มีอุปาทานยึดมั่นในขันธ์ห้า)
-การปฏิบัติ ต้องปฏิบัติตลอดเวลา ไม่เลือกเวลาและสถานที่ โดยทำบ้านให้เป็นวัด ทำจิตใจให้เป็นพระ ทำอยู่ที่ไหน เมื่อไรก็ได้
-ผู้เห็นจิตจึงเห็นธรรม ผู้เห็นธรรม จึงเห็นพระพุทธเจ้า (เห็นด้วยปัญญา)
-ตำราและอาจารย์ตัวจริง คือตัวเรา ส่วนตำราและอาจารย์อื่น เป็นเพียงผู้บอก ผู้แนะ ถ้าหากตัวเอง ไม่รู้จักตัวเอง ไม่เห็นตัวเอง ก็ยังไม่รู้อะไรเลย
-สิ่งที่เห็น ที่ได้ยินเป็นต้น มิใช่เขามารบกวนเรา ที่จริงจิตของเราวิ่งออกไปรับมาเอง (แก้ปัญหาที่จิตเรา)
-การเดินต้องเห็นขา และเท้าตัวเองทุกก้าว โดยมิได้ก้มดู
-ขณะมาอยู่วัด ให้สังเกตดูจิต เขาไปเยี่ยมบ้านหรือเปล่า ถ้าเขาไปกี่ครั้ง พยายามควบคุมไว้ ไม่ให้เขาไป
-ไม่ควรสนใจงานอื่น หรือบุคคลอื่น ที่เป็นเหตุให้เสียเวลา ดูจิตของตน
-เวลาจะเข้าห้องน้ำ ให้ตรวจดูก่อน จึงเลือกเข้าห้องที่สกปรกที่สุด เพื่อจะได้มีงานทำเพิ่มขึ้น และอย่าลืมนึกขอบคุณ ผู้ที่สร้างงานไว้ให้เรา ได้มีงานทำ (เราเป็นคนไม่ตกงานเพราะเขา) ฯลฯ
จบบริบูรณ์
http://gowithweb.blogspot.com/2006/01/blog-post.html
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้