ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2392
ตอบกลับ: 6
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ทำเนียบเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเบลเยียม

[คัดลอกลิงก์]
การเข้าทำเนียบเอกอัครราชทูตครั้งนี้มีเรื่องน่าตื่นเต้นพิเศษ
ไม่ใช่แค่เพราะทำเนียบเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเบลเยียมประจำประเทศไทยไม่เคยเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมมาก่อน จนกระทั่งวันมรดกวัฒนธรรมยุโรปในปีนี้
ไม่ใช่แค่เพราะคฤหาสน์อายุ 100 กว่าปีใจกลางสาทรนี้สวยจับใจ และแทบไม่มีใครรู้จัก
แต่เพราะ The Cloud ได้พาภาพถ่ายบ้านเก่าหลังนี้กลับมาเยี่ยมทำเนียบในปัจจุบัน
ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง The Cloud บังเอิญพบชุดภาพถ่ายบ้านเลขที่ 44 ซอยพิพัฒน์ที่บ้านของตัวเอง ภาพถ่ายเหล่านี้อยู่ในสภาพสมบูรณ์มาก และไม่เคยถูกเผยแพร่ที่ไหนมาก่อน
เมื่อสืบค้นจึงพบว่าคุณทวดเป็นผู้สั่งให้สร้างบ้านหลังนี้ และคุณย่าก็เคยอยู่บ้านหลังนี้ตอนเด็กๆ
การนัดพบเอกอัครราชทูต Philippe Kridelka เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเบลเยียมประจำประเทศไทยครั้งนี้ จึงเป็นการนำประวัติศาสตร์ของบ้านในสมัยที่เป็นเรือนพักอาศัยและเป็นทำเนียบเอกอัครราชทูตมาบรรจบกัน
ไม่ต้องบรรยายความตื้นตันดีใจที่เกิดขึ้น คุณก็คงจะนึกภาพออก
ก่อนพวกเราจะถือภาพเก่าตามท่านทูตฟิลิปไปสำรวจร่องรอยอดีตทั่วทั้งบ้าน
ขอเริ่มต้นด้วยประวัติศาสตร์ฉบับย่อของความสัมพันธ์ไทย-เบลเยียม ที่เชื่อมกันก่อนสะพานไทย-เบลเยียมจะสร้างนับร้อยปี





2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2018-10-4 21:59 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เบลเยียมมาเยือนแม้ยังไม่ได้ตั้งสถานกงสุลในสยาม ความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรเบลเยียมและราชอาณาจักรสยามในสมัยรัตนโกสินทร์ก็เริ่มต้นจากการค้า ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
ช่วงนั้นชนชาติยุโรปเดินทางมาสยามกันอย่างคึกคัก บริษัทเบลเยียมอย่าง Cateaux-Wattel เข้ามาค้าขายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ ค.ศ. 1857 (พ.ศ. 2400) และบริษัทการค้าจากเมือง Antwerp ก็เข้ามาทำธุรกิจในบางกอกตั้งแต่ ค.ศ. 1860 (พ.ศ. 2403) โดยขณะนั้นเบลเยียมได้ตั้งสถานกงสุลที่สิงคโปร์และมะนิลาเรียบร้อยแล้ว
สยามเริ่มเปิดประเทศและทำสนธิสัญญากับประเทศต่างๆ เช่น ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา เดนมาร์ก โปรตุเกส และเนเธอร์แลนด์ ต่อมาใน ค.ศ. 1868 (พ.ศ. 2411) ปีสุดท้ายของรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือเมื่อ 150 ปีที่แล้ว รัฐบาลสยามลงนามในสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการพาณิชย์ระหว่างสยามและเบลเยียม
หลังจากนั้น ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศก็ชัดเจนขึ้น ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

เจ้าพระยาเบลเยียม และการเสด็จฯ เยี่ยมเบลเยียมในรัชสมัยของพระปิยมหาราช รัฐบาลสยามต้องการปรับปรุงกฎหมายให้เป็นสากลเพื่อสร้างความทัดเทียมกับต่างชาติ จึงเฟ้นหานักกฎหมายชาวยุโรป และได้ว่าจ้าง ‘เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ’ หรือ Gustave Rolin-Jacquemyns นักกฎหมาย นักการทูต และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของเบลเยียม มาทำงานให้ประเทศสยามใน ค.ศ. 1892 (พ.ศ. 2435)

กุสตาฟ รอแล็ง-ฌักแม็ง หรือที่นิยมเรียกว่า คุสตาฟ โรลิน ยัคมินส์ เข้ารับราชการในฐานะที่ปรึกษาราชการแผ่นดินทั่วไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ตลอดระยะเวลา 9 ปี โดยหน้าที่หลักคือพัฒนาระบบศาลยุติธรรมของสยาม และได้สร้างประโยชน์ต่อสยามอย่างมากมาย
เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ เป็นเจ้าพระยาคนเดียวที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ครั้งเดียวถึงชั้นเจ้าพระยา และเป็นชาวตะวันตกคนที่ 2 ต่อจากเจ้าพระยาวิชชาเยนทร์ (Constantine Phaulkon) ที่ได้รับบรรดาศักดิ์ถึงชั้นเจ้าพระยา
ต่อมาใน ค.ศ. 1897 (พ.ศ. 2440) รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก โดยเสด็จฯ เยือนราชอาณาจักรเบลเยียมด้วย พระองค์ประทับที่เมือง Ostend และเสด็จเยี่ยมเมือง Laeken ตามการเชื้อเชิญของสมเด็จพระราชาธิบดีเลโอโปลด์ที่ 2 แห่งเบลเยียม
นับแต่นั้นเป็นต้นมา ราชวงศ์ไทยและเบลเยียมก็มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาโดยตลอด



3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2018-10-4 22:00 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
จากบางรัก สีลม วิทยุ สู่สาทรประเทศเบลเยียมก่อตั้งสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ที่บางกอกใน ค.ศ. 1884 (พ.ศ. 2427) กงสุลคนแรกๆ คือนักธุรกิจชาวอังกฤษหรือชาวฝรั่งเศสที่อยู่ในสยาม นักการทูตเบลเยียมที่มาอยู่บางกอกจะอยู่ใต้อาณัติของเอกอัครราชทูตเบลเยียมที่ประจำอยู่เมืองจีน
ต่อมาสถานกงสุลเบลเยียมประจำประเทศไทยได้ถูกตั้งขึ้นที่ตรอกกัปตันบุช ย่านบางรัก ใกล้กับสถานกงสุลโปรตุเกส สถานกงสุลอังกฤษ และสถานกงสุลฝรั่งเศส ปัจจุบันที่บริเวณสถานกงสุลเบลเยียมกลายเป็นโรงแรมรอยัลออร์คิดเชอราตัน
สถานกงสุลเบลเยียมได้เลื่อนสถานะเป็นสถานอัครราชทูตเบลเยียม และย้ายมาอยู่บริเวณถนนสีลม ซอย 19 ในช่วง ค.ศ.1896 – 1904 (พ.ศ. 2439 – 2447) ก่อนจะย้ายไปเช่าบ้านบริเวณถนนวิทยุของนายโฮเรชีโอ เบลีย์ วิศวกรชาวอังกฤษ ผู้ได้รับพระราชทินนามว่า ‘พระปฏิบัติราชประสงค์’


จนกระทั่ง ค.ศ. 1927 (พ.ศ. 2470) อัครราชทูตมาร์เซล โปแล็ง (Marcel Polain) ต้องหาสถานที่ตั้งสถานอัครราชทูตอีกครั้ง เพราะกระทรวงการคลังต้องการใช้บ้านที่ถนนวิทยุเป็นที่พักของนายเรย์มอนด์ บี. สตีเวนส์ ที่ปรึกษาชาวอเมริกันคนที่ 4 ของกระทรวงการต่างประเทศ (ปัจจุบันบ้านหลังนี้เป็นทำเนียบเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา)
อัครราชทูตมาร์เซลได้พบบ้านของนายหลุยส์ ดูปลาตร์ (Louis Duplatre) ที่ปรึกษากฎหมายขาวฝรั่งเศสในกระทรวงยุติธรรม จึงได้ขอเช่าและได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่นี่ บ้านหลังนี้จึงได้กลายเป็นสถานเอกอัครราชทูตและเป็นทำเนียบเอกอัครราชทูตเบลเยียมอย่างถาวร
ความเป็นมาของบ้านเลขที่ 44 ซอยพิพัฒน์เป็นอย่างไร เราจะพาไปดู



4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2018-10-4 22:00 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
บ้านซอยพิพัฒน์ซอยพิพัฒน์เป็นซอยเชื่อมถนนสีลมและสาทร มีชื่อตามราชทินนามของพระยาพิพัฒน์โกษา หรือเซเลสติโน ซาเวียร์ (Celestino Xavier) ปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 ผู้มีเชื้อสายโปรตุเกส เขาเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและเป็นผู้ตัดถนนแบ่งที่ดินขายให้คหบดีชาวสยามและชาวต่างชาติในพระนคร เพื่อสร้างบ้านพักในช่วงปลายรัชกาลที่ 5
คุณหญิงนวม โทณวณิก ได้ซื้อที่ดินในซอยพิพัฒน์ และในราวปี 1910 – 1915 (พ.ศ. 2453 – 2458) ก็ว่าจ้าง Attilio Ferrero สถาปนิกชาวอิตาลีประจำกรมพระคลังข้างที่มาออกแบบคฤหาสน์ขนาดใหญ่สไตล์โคโลเนียล


คุณหญิงนวมและสามี หม่อมหลวงตุ่ม กุญชร ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านหลังนี้กับบุตรธิดา 11 คนอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนขายบ้านหลังนี้ให้นายหลุยส์ ดูปลาตร์ ภายในบ้านมีการต่อสายโทรศัพท์ไว้ใช้ นับเป็นบ้านที่มีเทคโนโลยีทันสมัยมากสำหรับยุคนั้น
อัครราชทูตมาร์เซลเช่าบ้านหลังนี้ต่อเป็นทั้งสถานทูตและบ้านพัก ต่อมาในปี 1935 (พ.ศ. 2478) รัฐบาลเบลเยียมซื้อบ้านและที่ดินนี้จากนายดูปลาตร์เป็นเงิน 1,116,000 ฟรังก์เบลเยียม
ในปี 2000 (พ.ศ. 2543) สถานเอกอัครราชทูตเบลเยียมตัดสินใจย้ายที่ทำการไปที่ตึกสำนักงานย่านสาทรใต้ ทำให้บ้านหลังนี้ได้บูรณะครั้งใหญ่ และทำหน้าที่ทำเนียบเอกอัครราชทูตเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บ้านหลังนี้เคยรับแขกสำคัญมากมาย อาทิ สมเด็จพระราชาธิบดีโบดวง สมเด็จพระราชินีฟาบิโอลา สมเด็จพระราชาธิบดีฟิลิป และสมเด็จพระราชินีมาตีลด์ รวมทั้งนายกรัฐมนตรีหลายท่าน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร




5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2018-10-4 22:01 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ในทำเนียบจากภาพถ่ายเก่าของราชสกุลกุญชร ณ อยุธยา ปัจจุบันคฤหาสน์หลังนี้ยังมีลักษณะคล้ายคลึงกับของเดิมมาก
เอกอัครราชทูตฟิลิป คริเดลกา พาเราสำรวจทำเนียบอย่างละเอียด เมื่อเดินเข้ามาจากประตูหน้าบ้าน จะเห็นตัวเรือนใหญ่รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางด้านยาวรับลมประจำฤดู และด้านแคบรับแดดทิศตะวันออกและทิศตะวันตก มีลักษณะโปร่งโล่ง และระบายความร้อนได้ดี

เมื่อเข้าไปภายในบ้านจะพบโถงทางเข้าที่มีบันไดสู่ชั้นบน ซ้ายมือของโถงนี้คือห้องรับแขกใหญ่ เพดานสูงโปร่ง สุดปลายห้องด้านตะวันตกมีประตูสู่เฉลียงริมสวน มีการต่อเติมหลังคาเหนือเฉลียงทำให้มุมนี้เหมือนศาลาน่าสบายในสวน มีสระว่ายน้ำอยู่ถัดไป



ส่วนด้านขวาของโถงเป็นห้องรับประทานอาหาร ติดพระบรมสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ 3 ดูเด่นเป็นสง่า
ทิศเหนือของห้องรับแขกและห้องรับประทานอาหารเป็นเฉลียงยาว พื้นปูด้วยหินอ่อนเย็นสบาย
ทั้งห้องรับประทานอาหารและห้องรับแขกปูด้วยพื้นไม้ ผนังตอนล่างกรุลูกฟักไม้สักสูงถึงใต้หน้าต่าง ฝ้าเพดานไม้สลักลวดลายประณีต รับกับลายฉลุเหนือประตูหน้าต่างที่ออกแบบเรียบๆ ตามความนิยมในสมัยรัชกาลที่ 6


นอกจากบันไดหลักที่โถงกลาง ด้านข้างซ่อนยังมีบันไดบ่าวที่ออกแบบให้ซ่อนตัวอย่างแนบเนียน น่าเสียดายที่พื้นที่บริเวณนี้เคยได้รับความชื้นจนทรุด ทำให้ต้องปูพื้นไม้ใหม่เป็นปาร์เกต์ และบันไดเล็กนี้ได้รับการบูรณะใหม่ทั้งหมด
ชั้นสองของบ้านมีโถงกลางทอดไประเบียงกว้างด้านนอก ซึ่งได้รับการต่อเติมและเพิ่มหลังคาในสมัยเป็นสถานเอกอัครราชทูต ชั้นนี้เป็นห้องพักของท่านทูตและครอบครัว กลางโถงเป็นมุมอ่านหนังสือของท่านทูตฟิลิป มีภูเขาหนังสือลูกย่อมๆ วางเต็มไปหมด ตั้งแต่การ์ตูนสำหรับลูกชายตอนเด็กๆ ไปจนถึงหนังสือประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ นวนิยาย และหนังสือหมวดอื่นๆ ทั้งภาษาฝรั่งเศส ภาษาอังกฤษ ไปจนถึงภาษาจีนที่ท่านทูตกำลังเรียน
ท่านทูตอธิบายว่าทุกครั้งที่เดินทางย้ายประเทศที่ทำงาน จะขนหนังสือไปด้วยตลอด เพราะชอบอ่านหนังสือกระดาษมากกว่าอ่านจากหน้าจอ และหนังสือที่เราเห็นเป็นแค่ส่วนเดียวเท่านั้น เพราะจริงๆ มีมากเกินกว่าบริษัทขนส่งจะขนมาเมืองไทยไหว ท่านทูตยังมีอีก 70 ลังที่เก็บไว้ที่ห้องใต้หลังคาที่บ้านคุณแม่ท่านทูตที่เบลเยียม
เมื่อขึ้นบันไดมาชั้นบนสุด ชั้นห้องใต้หลังคานี้เป็นห้องนอนแขกของสถานเอกอัครราชทูต ปัจจุบันแขกบางส่วนนิยมพักที่โรงแรมมากกว่า แขกที่จะมาพักที่นี้จึงมักเป็นแขกส่วนตัวของท่านทูต



6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2018-10-4 22:02 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ในสวนเขียวเมื่อเดินออกมานอกบ้านจะพบคูน้ำล้อมรอบที่ดินซึ่งเคยเชื่อมกับคลองสาทร ปัจจุบันคลองนอกรั้วถูกถมเป็นทางบกทั้งหมด คูน้ำและบ่อน้ำตรงกลางหน้าบ้านทำหน้าที่ป้องกันน้ำท่วมในฤดูฝนจวบจนปัจจุบัน และในอดีตยังเป็นแหล่งเก็บน้ำไว้ใช้ในยามแล้ง
ด้านหลังบ้านมีสระว่ายน้ำ และเรือนเล็กสำหรับเจ้าหน้าที่ ภายในสวนมีต้นปาล์มรอบถนนวนเทียบรถหน้าบ้าน ต้นจามจุรีสร้างร่มเงาริมรั้ว และเฟื่องฟ้าสร้างสีสัน การปลูกต้นไม้เหล่านี้เป็นสไตล์ดั้งเดิมที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6
ในสวนยังมีอนุสาวรีย์เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ หรือ Gustave Rolin-Jacquemyns เมื่อเปิดตัวอนุสาวรีย์นี้ สมเด็จพระราชาธิบดีฟีลิปและสมเด็จพระราชินีมาตีลด์ สมัยดำรงตำแหน่งเจ้าชายฟีลิปและเจ้าหญิงมาตีลด์ ได้เสด็จฯ มาทำพิธีเปิดในปี 2013 (พ.ศ. 2556) ด้วย


ใกล้อนุสาวรีย์ ท่านทูตชี้ให้ดูต้นโกโก้ที่นำมาปลูกไว้เพื่อสื่อถึงช็อกโกแลตแสนอร่อยของเบลเยียม และนำทางไปดูตอไม้ใหญ่ริมรั้ว อดีตต้นไม้รุ่นคุณปู่ถูกปลวกแทะจนท่านทูตต้องจำใจสั่งให้ตัดทิ้ง เพราะอาจเป็นอันตรายต่อถนน ท่านทูตเลยปลูกต้นไม้ใหม่ข้างๆ เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวทดแทนสำหรับอนาคต


หลังจบทัวร์ในสวน เรากลับเข้ามานั่งกินช็อกโกแลตเบลเยียมรสเข้มข้นในห้องโถง และเริ่มต้นบทสนทนาออกรสกับท่านทูตฟิลิป เอกอัครราชทูตผู้รักการอ่าน และเดินทางไปทำงานมาแล้วทั่วโลก

ก่อนมาเป็นเอกอัครราชทูตเบลเยียมประจำประเทศไทย คุณทำอะไรมาก่อนผมเคยทำงานกับ UN ในนิวยอร์ก ในปี 2013 สมเด็จพระราชาธิบดีอัลแบร์ที่ 2 ทรงสละราชสมบัติให้เจ้าชายฟิลิป มกุฎราชกุมาร พระองค์มีพระราชประสงค์ให้มีเจ้าหน้าที่ทีมใหม่ ผมเลยกลับประเทศไปเป็นเลขาธิการประจำสำนักพระราชวังเบลเยียม มีหน้าที่ดูแลจัดการพระราชกรณียกิจด้านต่างๆ ของสมเด็จพระราชาธิบดีฟีลิปและสมเด็จพระราชินีมาตีลด์ เป็นงานที่ได้เจอทั้งสองพระองค์ทุกวัน ผมทำงานนี้อยู่ 3 ปี ก่อนได้รับตำแหน่งเอกอัครราชทูตเบลเยียมประจำประเทศไทย
ผมทำงานด้านการทูตมาตลอด ผมเคยเป็นเอกอัครราชทูตที่สิงคโปร์ นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ผมสนใจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศอย่างประเทศไทยและสิงคโปร์เป็นสะพานเชื่อมระหว่างตะวันออกและตะวันตก คนไทยเข้าใจความเป็นตะวันตกดี แต่ก็ยังรักษาวัฒนธรรมตะวันออกไว้ แถมที่นี่ยังมีนักลงทุนเบลเยียมมากมาย และนักธุรกิจไทยหลายคนก็สนใจลงทุนในเบลเยียมด้วย
ก่อนหน้านั้น สมัยหนุ่มๆ ผมเคยเป็นนักการทูตที่อิหร่านและโปแลนด์ ผมรู้จักอิหร่านในยุค 1989 โปแลนด์ในยุค 1995 และสิงคโปร์ในยุค 2002 ค่อนข้างดีทีเดียว ผมหวังว่าเมื่องานของผมที่นี่จบลง ผมจะรู้จักเมืองไทยในปี 2019 ดี

อะไรคือความแตกต่างที่เห็นได้ชัดระหว่างประเทศไทยและประเทศเบลเยียมผมสนใจความเหมือนกันมากกว่า เพราะงานของผมคือมองหาความคล้ายกันระหว่างเรา จริงๆ เราสนใจอะไรคล้ายกันเยอะนะครับ ทั้งคุณภาพการศึกษา การจัดการขยะพลาสติก ความเท่าเทียมระหว่างชายหญิง การลดการใช้ความรุนแรงในบ้าน การสร้างงาน การพัฒนาเศรษฐกิจ สิทธิเพศที่ 3 หรือความปลอดภัยบนท้องถนน
นอกจากนี้ เรายังมีสถาบันกษัตริย์เช่นเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระราชาธิบดีโบดวงแห่งเบลเยียม เป็นพระสหายกัน ทั้งสองพระองค์เสด็จประทับและทรงศึกษาที่สวิตเซอร์แลนด์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งสองพระองค์ทรงรู้จักและเป็นพระสหายกันตอนนั้น และต่างเสด็จนิวัตประเทศเพื่อขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ขณะยังทรงพระเยาว์ การดูแลประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ทั้งสองพระองค์ต่างทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ดี

จากประสบการณ์ของคุณ คุณพบว่าคนไทยรู้จักอะไรเกี่ยวกับเบลเยียมบ้างช็อกโกแลต เบียร์ เพชร ราชวงศ์เบลเยียม และสะพานไทย-เบลเยี่ยม (หัวเราะ) ซึ่งก็จริง เรามีทุกอย่างที่กล่าวมา และผมก็อยากให้คนไทยรู้จักความสวยงามของเบลเยียม และไปเที่ยวเบลเยียมมากขึ้นนะครับ เรามีเมืองเก่าที่สวยงามหลายเมือง และถ้าไปทะเลก็ควรเช่าจักรยานมาปั่นรอบชายหาด มันสดชื่น ดีต่อสุขภาพมาก
นอกจากนี้ผมก็อยากให้นักศึกษาไทยรู้จักมหาวิทยาลัยในเบลเยียมมากขึ้น และอยากให้นักศึกษาเบลเยียมมาแลกเปลี่ยนที่เมืองไทย ตอนนี้เรามีโครงการแลกเปลี่ยนกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว นักศึกษาวิศวกรรมจากธรรมศาสตร์จะไปแลกเปลี่ยน 6 เดือนที่ KU Leuven หนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของเรา


แล้วคนเบลเยียมรู้จักประเทศไทยอย่างไรบ้างคนเบลเยียมเริ่มรู้จักเมืองไทยมากขึ้นเรื่อยๆ เราเป็นประเทศเล็กๆ ที่มีประชากร 11 ล้านคน มีคนเบลเยียมประมาณ 6,000 คนที่เกษียณแล้วเลือกมาใช้ชีวิตที่เมืองไทย หลายคนมาซื้อบ้านที่เชียงใหม่ อากาศที่นี่ดีกว่า การแพทย์ก็มีคุณภาพ และมีนักท่องเที่ยวเบลเยียมมาเมืองไทยราว 20,000 คนต่อปี
เมื่อพูดถึงเอเชีย คนยุโรปส่วนใหญ่จะคิดถึงญี่ปุ่น จีน และเกาหลี แต่ไม่รู้จักประเทศอื่น ดังนั้น ผมคิดว่าวัยรุ่นเบลเยียมควรมารู้จักและเรียนรู้ชีวิตที่เมืองไทย เพราะเราอยู่ในโลกที่มีวัฒนธรรมหลากหลาย นักศึกษาฝึกงานที่ดีที่สุดที่ผมเจอ เคยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนตอนมัธยมปลายที่ขอนแก่น เธอพูดไทยได้ สำเนียงอีสานด้วยนะครับ เธอพาผมไปขอนแก่นและแนะนำให้ผมรู้จักชีวิตประจำวันของคนไทยอีสาน
ผมอยากให้เมืองไทยเป็นที่รู้จักในสายตาชาวโลกมากขึ้น ประเทศไทยพัฒนาเร็วมาก ตอนนี้เมืองไทยผลิตรถยนต์มากกว่าฝรั่งเศส และมีบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำมากมาย

คุณชอบทำเนียบเอกอัครราชทูตเบลเยียมประจำประเทศไหนบ้างทำเนียบเอกอัครราชทูตเบลเยียมประจำประเทศไทย เป็นหนึ่งในสิบทำเนียบเอกอัครราชทูตเบลเยียมที่สวยที่สุดในโลก ที่อื่นๆ ที่น่าประทับใจคือที่วอชิงตัน ดี.ซี. ปารีส โรม ลอนดอน มาดริด และวอร์ซอ ทั้งหมดเป็นสถาปัตยกรรมเก่าที่สวยงามโอ่อ่า เพราะตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เอกอัครราชทูตมีฐานะเทียบเท่ารัฐมนตรี ที่ปารีส ลอนดอน และโรมเป็นวังเก่า ส่วนที่วอร์ซอเราสร้างใหม่หลังสงครามโลก
ตอนนี้ถ้าจะเปิดสถานเอกอัครราชทูตใหม่ เอกอัครราชทูตมักจะได้อยู่ในอพาร์ตเมนต์ดีๆ มากกว่าสร้างทำเนียบใหม่ ดังนั้น ผมจึงดีใจมากที่ได้มาอยู่ที่นี่ นักการทูตต่างอยากมาอยู่เมืองไทยด้วยเหตุผลหลายประการ เพราะที่นี่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว มีคนเบลเยียมมากมายที่นี่ การทำงานสะดวก ทำเนียบที่นี่สวย และทุกคนรู้ว่าประเทศไทยมีเสน่ห์และสวยงาม

คุณชอบส่วนไหนของทำเนียบเอกอัครราชทูตเบลเยียมประจำประเทศไทยมากที่สุดสวนครับ ผมทำงานหนักเพื่อดูแลสวนนี้ และผมยินดีมากที่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาที่นี่เพื่อช่วยปลูกต้นไม้ และติดป้ายชื่อต้นไม้ชนิดต่างๆ พวกเขาสุภาพและใจดีมาก
ผมชอบอ่านหนังสือตรงพื้นที่ชั้นสอง คุณคงเห็นแล้วว่าผมมีกองหนังสือมากมาย แล้วก็ต้องขอบคุณรูปภาพเก่าของพวกคุณ ผมชอบมากที่ได้รู้ว่าบ้านหลังนี้หน้าตาเหมือนสมัยก่อน ผมชอบประวัติศาสตร์และเชื่อว่าสถานที่เก่าๆ มีจิตวิญญาณ เคยมีครอบครัวอาศัยอยู่ที่นี่ ทหารญี่ปุ่นก็น่าจะเคยอยู่ที่นี่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วย

คนญี่ปุ่นและคนฝรั่งเศสชอบสังสรรค์ย่านสุขุมวิท แล้วคนเบลเยียมชอบเที่ยวที่ไหนในกรุงเทพฯ(หัวเราะ) ผมบอกได้เท่าที่รู้นะครับ ผมไม่หนุ่มเท่าไหร่แล้ว ผมชอบหนังสือกับประวัติศาสตร์ ผมรักการไปเที่ยวสุโขทัย อยุธยามากกว่าเที่ยวสังสรรค์ในกรุงเทพฯ
เท่าที่รู้ สาทรซอย 10 มีร้านคาเฟ่เบลเยียมชื่อ Le Café des Stagiaires เวลาลูกชายผมมาเมืองไทย เขาจะไปเล่นดนตรีอิเล็กโทรนิกและเป็นดีเจที่นั่นทุกคืน ที่นั่นมีทั้งคนไทยและฝรั่งหลายเชื้อชาติ
แต่ถ้าอายุมากกว่าหน่อย คนเบลเยียมชอบไปร้าน Blue Elephant เจ้าของเป็นคู่สามีภรรยา ภรรยาเป็นเชฟชาวไทย สามีเป็นนักค้าของเก่าชาวเบลเยียม พวกเขามีร้านแบบเดียวกันนี้ที่บรัสเซลส์ด้วย เวลาฝนตกหนาวๆ แล้วเข้าไปในร้านจะรู้สึกดีมาก ร้านตกแต่งได้ด้วยของไทยๆ ที่สวยมหัศจรรย์ มีดอกกล้วยไม้สดประดับทุกวัน และอาหารก็อร่อยมาก เผ็ดนิดหน่อย แต่ดีมากๆ ครับ



7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2018-10-4 22:03 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
Culture Shock ที่คุณเจอเมื่อมาอยู่เมืองไทยคืออะไรผมสับสนการเรียกพี่เรียกน้องของคนไทย คุณต้องรู้ว่าคนที่คุณเรียกอายุมากกว่าหรือน้อยกว่าคุณ แต่ผมเดาอายุคนไทยไม่ออก อย่างคนดูแลสวนที่นี่ ผมเรียกเขาว่าคุณบุญใหญ่ แต่ครูภาษาไทยของผมอธิบายว่าเราต้องเคารพคนที่อายุมากกว่าเรา ผมเลยเรียกเขาว่าลุงบุญใหญ่
ทุกเช้าผมจะบอกเขาว่า ‘ขอบคุณครับ ลุงบุญใหญ่’ ปรากฏว่า 1 อาทิตย์ผ่านไป เขาไปย้อมผมเป็นสีดำ เขาเสียใจที่ผมไปเรียกเขาว่าลุง เพราะเขาคิดว่าเขาอายุน้อยกว่าผม ผมเลยรีบกลับไปเรียกเขาว่าคุณบุญใหญ่เหมือนเดิมทันที
ที่สถานเอกอัครราชทูตก็เหมือนกัน บางคนทำงานที่นี่มานานแล้ว ผมอยากแสดงความนับถือพวกเธอเลยเรียกว่าพี่ แต่พวกเธอไม่ยอม ตอนนี้ผมเลยใช้คำว่าคุณเท่านั้น

อีกอย่างคือภาษาไทยไม่ง่ายเลย ผมเรียนภาษาไทยทุกเช้าวันอาทิตย์และวันอังคารที่สถานเอกอัครราชทูต สิ่งที่ยากคือเสียงวรรณยุกต์ พูดว่าสุโคทัยไม่ได้ ต้องออกเสียงว่าสุโขทัย หรือซาทรก็ไม่ได้ ต้องสาทร แต่ผลไม้ลงท้ายเสียงสูง เรียกว่ากระท้อน (หัวเราะ)

ตอนนี้ผมพูดบางประโยคได้แล้ว เวลาเรียกแท็กซี่ ต้องพูดว่า ‘ผม-ไป-สถานีบีทีเอส-ช่องนนทรี’ ผมพูดทีไร เขาพาไปช่องนนทรีถูกตลอด

ทำไมคุณต้องเรียกแท็กซี่ ในเมื่อคุณมีพนักงานขับรถประจำตัวผมมีพนักงานขับรถ แต่เขาทำงานเฉพาะเวลาทำการเท่านั้น สมมติว่าผม ภรรยา และลูกชาย จะออกไปกินข้าวที่ร้านอาหารไทยตอนค่ำวันหยุด ผมก็เรียกแท็กซี่แล้วต่อบีทีเอสไปเอง


นอกจากภาษาฝรั่งเศสกับภาษาดัตช์ที่คนเบลเยียมใช้ และภาษาอังกฤษ คุณพูดภาษาอะไรบ้างผมชอบภาษา ผมพอเข้าใจเยอรมัน สมัยหนุ่มๆ ตอนอยู่อิหร่านผมเรียนภาษาฟาร์ซีและพอพูดได้ในระดับชีวิตประจำวัน แล้วผมก็เรียนภาษาโปแลนด์ที่โปแลนด์ ตอนนี้ผมพยายามเรียนภาษาไทย แต่พออายุมากขึ้นมันก็ยากขึ้นจริงๆ ครับ

คำถามสุดท้าย ศัพท์ภาษาไทยคำไหนที่ยากที่สุดสำหรับคุณ‘กระทรวงการต่างประเทศ’ คำนี้ไม่ง่าย และคำว่า ‘มือถือหนึ่งเครื่อง’ คำนี้ผมออกเสียงไม่ถูกสักทีครับ (หัวเราะ)

ภาพ : ราชสกุล กุญชร ณ อยุธยา, ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุขขอบคุณข้อมูลจาก
  • หนังสือ ‘เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ (คุสตาฟ โรลิน ยัคมินส์) ที่ปรึกษาทั่วไปในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
  • หนังสือ ‘Belgian Embassy Bangkok’
  • คู่มือ ‘สถาปัตยกรรมทำเนียบเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเบลเยียมประจำประเทศไทย


ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้