แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย Sornpraram เมื่อ 2018-5-20 05:34
ประวัติพระยาพิชัยดาบหัก
อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดับหักบริเวณบ้านท่านพ่อ อ.พิชัย
พระยาพิชัยเป็นเจ้าเมืองพิชัยในสมัยกรุงธนบุรี ได้สร้างวีรกรรมที่ลือเลื่องในปี พ.ศ.2316 เมื่อพม่ายกกองทัพมาตีเมืองพิชัย ซึ่งปรากฏข้อความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งว่า
“…ครั้นถึง ณ เดือนอ้ายข้างขึ้น โปสุพลายกองยกทัพมาตีเมืองพิชัยอีก พระยาพิชัยก็ยกพลทหารออกไปต่อรบแต่กลางทางยังมาไม่ถึงเมือง เจ้าพระยาสุรสีห์ก็ยกกองทัพเมืองพระพิษณุโลกขึ้นไปช่วย ได้รบกับพม่าเป็นสามารถ และพระยาพิชัยถือดาบสองมือคุมพลทหารออกไล่ฟันพม่าจนดาบหัก จึงลือชื่อปรากฏเรียกว่า พระยาพิชัยดาบหัก แต่นั้นมา...”
จะเห็นได้ว่าชื่อ “พระยาพิชัยดาบหัก” ก็เรียกขานกันมานานถึง 200 กว่าปีแล้ว จนกระทั่งทางจังหวัดอุตรดิตถ์ได้สร้างอนุสาวรีย์ขึ้นที่หน้าศาลากลางจังหวัด และทางอำเภอพิชัยได้ปั้นรูปพระยาพิชัยดาบหักประดิษฐานอยู่ในศาลเจ้าพ่อพระยาพิชัยดาบหักอีกด้วย
สำหรับประวัติพระยาพิชัยดาบหักนี้ พระยาศรีสัชนาลัยบดี (เลี้ยง ศิริปาละกะ) ได้รวบรวมเรียบเรียงขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2466 และได้นำเผยแพร่ในหนังสือเสนาศึกษา เมื่อประมาณ พ.ศ. 2467 ผู้รวบรวมเรียบเรียงเป็นชาวพิชัยโดยกำเนิด จึงเชื่อว่าประวัติพระยาพิชัยดาบหักนี้คงจะบริบูรณ์ที่สุด ผู้เขียนจึงขอคัดตัดตอน และเรียบเรียงใหม่ดังต่อไปนี้
พระยาพิชัยดาบหักเดิมชื่อ “จ้อย” เกิดที่บ้านห้วยคา หลังเมื่อพิชัยไปทางทิศตะวันออกประมาณ 100 เส้นเศษ บิดามารดาตั้งบ้านเรือนไถนาหาเลี้ยงชีพ มีบุตรด้วยกัน 4 คน แต่เป็นไข้ทรพิษตายคราวเดียวกัน 3 คน เหลือจ้อยคนเดียว เมื่อจ้อยอายุได้ 8 ขวบ บิดาให้เลี้ยงควาย และชอบชกมวยมาก บิดาจึงนำตัวไปฝากท่านพระครูวัดมหาธาตุในเมืองพิชัย เพื่อเรียนหนังสือจนอายุอย่างเข้า 14 ขวบ ก็อ่านออกเขียนได้ ในขณะที่อยู่ที่วัดมหาธาตุนั้น จ้อยชอบดูการชกมวยมาก และเมื่อมีเรื่องชกต่อยกับเด็กวัดด้วยกัน จ้อยก็สามารถเอาชนะได้ทุกคน ต่อมาเจ้าเมืองพิชัยได้นำบุตรชายชื่อ เจิด กับเด็กคนใช้อีก 3 คนมาฝากท่านพระครูเรียนหนังสือ ต่อมาเกิดวิวาทชกต่อยกัน จ้อยเกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะเจิดเป็นบุตรชายเจ้าเมืองพิชัย จึงหนีไปบ้านท่าเสาเพื่อไปหัดมวยที่นั่น ระหว่างทางที่เดินทางมาถึงวัดบ้านแก่ง เห็นครูเที่ยงกำลังสอนมวยอยู่จึงสมัครเป็นศิษย์ เนื่องจากเกรงว่าจะมีคนจำชื่อได้ จึงเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “ทองดี” เมื่อหัดมวยจนฝีมือเป็นเลิศกว่าคนอื่นแล้ว ครูเที่ยงจึงตั้งชื่อให้ใหม่ว่า “ทองดีฟังขาว” ต่อมาศิษย์ครูเที่ยงอีก 4 คน เกิดอิจฉาจนเกิดเรื่องชกต่อยกัน นายทองดีเห็นว่าอยู่ไปก็ไม่มีความสุข จึงขอลาครูเที่ยงเดินทางติดตามพระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งจะไปนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ โดยไปพักอยู่ที่วัดบางเตาหม้อ อยู่ที่วัดบางเตาหม้อไม่นานนักก็ลาพระภิกษุไปหาครูมวยที่ท่าเสาชื่อครูเมฆ เพื่อขอเป็นศิษย์ฝึกหัดมวย จนสำเร็จการมวย ในระหว่างนี้นายทองดีอายุได้ 18 ปี ได้แสดงความสามารถติดตามผู้ร้ายที่เข้ามาลักความครูเมฆ โดยฆ่าคนร้ายตาย 1 คน และจับคนร้ายที่ยังไม่ตายได้อีก คน โดยนำมามอบให้กรมการตำบลบางโพท่าอิฐ กรมการตำบลบางโพท่าอิฐชมเชยนายทองดีและให้บำเหน็จ 5 ตำลึง
นายทองดีได้มีโอกาสแสดงฝีมืออีกครั้งหนึ่ง ด้วยการชกมวยในงานมหรสพฉลองพระแท่นศิลอาสน์ โดยชกชนะนายถึก(ศิษย์ครูนิล) และยังชนะครูนิลอีกด้วย ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่มีนักมวยคนใดในแขวงเมืองพิชัย เมืองทุ่งยั้ง เมืองลับแล และเมืองฝางมาขันสู้กับนายทองดีเลย ต่อมาอีก 3 เดือนพระสงฆ์เมืองสวรรคโลกชวนนายทองดีไปเมืองสวรรคโลก และได้ฝากนายทองดีกับครูฟันดาบผู้ฝึกบุตรเจ้าเมืองสวรรคโลก ได้ฝึกหัดอยู่ประมาณ 3 เดือน ก็ทำได้คล่องแคล่วทุกท่าทางจนจบหลักสูตร ทั้งยังได้ซ้อมฟันดาบกับบุตรชายเจ้าเมืองสวรรคโลกด้วย นายทองดีได้ลาครูฟันดาบเดินทางไปยังสุโขทัยขอสมัครเป็นศิษย์กับครูจีนแต้จิ๋วคนหนึ่งเพื่อฝึกมวยจีน และฝึกอยู่จนสำเร็จ ทั้งยังมีลูกศิษย์คนหนึ่งชื่อบุญเกิดด้วย ตอนนั้นนายทองดีและบุญเกิดอาศัยอยู่ที่วัดธานี อยู่วัดนี้ได้ประมาณ 6 เดือน ก็มีชาวจีนคนหนึ่งมาจากเมืองตาก เห็นฝีมือของนายทองดีจึงชวนไปเมืองตาก โดยเล่าว่าพระยาตากเจ้าเมืองมีความสนใจและชอบคนมีฝีมือ แต่ความจรงิต้องการชวนนายทองดีไปเป็นเพื่อน เพราะกลางกทางมีเสือดุ นายทองดีตกลงไปเมืองตาก โดยชวนบุญเกิดไปด้วย ระหว่างทางตอนกลางคืน เสือได้เข้ามาคาบบุญเกิดไป นายทองดีเข้าช่วยโดยต่อสู้กับเสือจนบาดเจ็บหนีไป และได้บุญเกิดคืนมาแต่บาดเจ็บมาก ต้องไปรักษาที่วัดใหญ่เมืองตากอยู่ถึง 2 เดือนจึงหาย
|