ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2039
ตอบกลับ: 2
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

เชือกคาดเอว หลวงพ่อโอ อินฺทโชโต วัดหางน้ำหนองแขม

[คัดลอกลิงก์]



เชือกคาดเอว
หลวงพ่อโอ อินฺทโชโต
วัดหางน้ำหนองแขม  ต.ม่วงหัก อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์


พระเกจิอาจารย์เมืองชัยนาทที่เลื่องชื่อยิ่งรูปหนึ่ง ซึ่งมีคำกล่าวขานถึงว่า “มีของหลวงพ่อโอก็เหมือนมีของหลวงพ่อเดิม” นับเนื่องว่าบันเบา ยิ่งเมื่อสืบค้นถึงผู้เป็นอาจารย์ถ่ายทอดวิชาให้แก่หลวงพ่อโอ วัดหางน้ำหนองแขม แล้ว ต้องยอมรับว่าวิชาของหลวงพ่อโอต้องไม่ธรรมดาเป็นแน่

เนื่องเพราะว่าวัตถุมงคลของหลวงพ่อโอนั้น คนหางน้ำหนองแขมบอกว่าใครจะเอาพระเครื่องของหลวงพ่อดังมีชื่อเสียงเพียงใดมาแลกก็ไม่เอา ใครมีวัตถุมงคลหลวงพ่อโอต่างหวงแหนกันทั้งนั้น เพราะสร้างน้อย ประสบการณ์สูง หลวงพ่อโอสร้างวัตถุมงคลออกมายุคแรกๆ เป็นเชือกคาด และปลัดขิก

กล่าวสำหรับผู้เป็น ‘อาจารย์’ ของหลวงพ่อโอ นับเรียงไล่กัน หลวงพ่อเทศ วัดสระทะเล หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า หลวงพ่อเงิน วัดพระปรางค์เหลือง หลวงพ่อมี วัดบ้านบน หลวงพ่อปั้น วัดหาดทะนง หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ และหลวงพ่ออิน วัดหางน้ำ

หลวงพ่อโอยังมีชื่อเสียงในด้านการทำน้ำมนต์ด้วย ซึ่งหลวงพ่อโอเรียนมาจากหลวงพ่อเงิน วัดพระปรางค์เหลือง เป็นหลวงพ่อเงินซึ่งทำน้ำมนต์รดองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาแล้ว ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์ ‘ประพาสต้นครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๔๙’ ว่า

“มาถึงวัดพระปรางค์เหลืองเที่ยง พระครูลงมาคอยอยู่ที่แพ ขึ้นบกทำกับข้าวแล้วดูเหยียบฉ่า กรมหลวงประจักษ์ให้เหยียบถ่ายรูป พบเจ้าพระยาเทเวศรซึ่งมารักษาตัวอยู่ที่นี้ดูเดินคล่องขึ้น ถามพระหมอแรกบอกว่าเป็นอำมะพาต แต่เป็นมาเสียนานถึง ๓๕ ปี ครั้นเถียงว่าอำมะพาตทำไมถึงช้าเพียงนั้น ก็รับว่าอ้ายนั่นว่าที่เป็นใหม่ นี่หายแล้วยังจะรักษาที่เป็นเก่าต่อไปอีก เดินดูกุฏิและโบสถ์ที่ทำใหม่ไม่มีสาระอะไร กลับลงมาร้อนอาบน้ำเลยให้พระครูรดน้ำมนต์ อยู่ข้างจะเหวสบายมาก”
เมื่อครั้งหลวงพ่อเงินยังมีชีวิตอยู่ ท่านทำน้ำมนต์ใส่บาตรน้ำมนต์ขนาดใหญ่ ขึงสายสิญจน์เป็นรูปเครื่องหมายบวก คนเจ็บไข้ได้ป่วยไปหาหลวงพ่อเงิน ท่านก็ให้คนไข้กินน้ำมนต์ที่ช่องบนด้านซ้าย ใครที่ท้องอยากคลอดลูกง่ายก็กินน้ำมนต์จากช่องบนด้านขวา คนที่ถูกผีเข้ากินน้ำมนต์ช่องล่าง
กล่าวสำหรับอัตโนประวัติหลวงพ่อโอ เกิดเมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๔๓๘ ที่บ้านหางน้ำหนองแขม หมู่ที่ ๗ ตำบลท่าฉนวน อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท เป็นบุตรนายเทศ โพธิ์อุไร และนางเพิ่ม โพธิ์อุไร

หากในวัยเด็กเมื่อมีอายุได้ ๗ ปี เกิดโรคฝีดาษระบาด หลวงพ่อโอได้ป่วยเป็นโรคนี้ด้วยคนหนึ่ง หากความยากจนและความห่างไกล การแพทย์ไม่ทันสมัย ได้รับการรักษาจากหมอพื้นบ้านด้วยยาสมุนไพรตามแต่จะหาได้ ยังผลให้หลวงพ่อโอจะสูญเสียสายตาไป แม้จะไม่บอดสนิท หากยังพอมองเห็นลางๆ อยู่บ้าง
จนเมื่ออายุได้ประมาณ ๘-๙ ปี หลวงพ่ออิน เจ้าอาวาสวัดหางน้ำหนองแขมได้รับอุปการะเป็นศิษย์คอยรับใช้ปรนนิบัติ และได้สอนหนังสือทั้งอักขระขอม และบาลี ให้ ทั้งยังได้ฝึกหัดกรรมฐานและเรียนคาถาอาคมไปด้วย
เมื่อหลวงพ่อโอมีอายุครบบวช หลวงพ่ออินได้นำหลวงพ่อโอเดินทางบุกป่าฝ่าดงไปยังวัดสระทะเล ซึ่งในขณะนั้นอุโบสถของวัดสระทะเลได้สร้างเสร็จแล้ว และได้ทำพิธีผูกพัทธสีมาเสร็จสิ้นพอดี หลวงพ่ออินได้นำหลวงพ่อโอไปหาพระอุปัชฌาย์เทศเพื่อจะขออุปสมบท ณ วัดสระทะเล มีหลวงพ่อเทศ วัดสระทะเล เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่ออิน วัดหางน้ำหนองแขม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์หมึก วัดสระทะเล เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๗
จากนั้นได้กลับมาจำพรรษาที่วัดหางน้ำหนองแขม จนเมื่อหลวงพ่ออินมรณภาพ หลวงพ่อโอได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสืบแทนเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๖
เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของหลวงพ่อโอคือ เมื่อยามที่ท่านอยู่ตามลำพัง หรือขณะรับแขก ท่านมักจะใช้ลูกกุญแจเคาะกับพื้นกระดานที่ท่านนั่งเหมือนกับนั่งสมาธิอยู่ตลอดเวลา
หลวงพ่อโอมรณภาพเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๘
เชือกคาดเอวหลวงพ่อโอยุคแรกที่สร้างเป็นเชือกดิบเส้นเดียว และมักประกอบด้วยลูกคั่น ลูกสะกด และปลัดขิก แต่ละเส้นจะมีครบทั้ง ๓ อย่างนั้นแล้วแต่วาสนา และที่โชคดีอาจมีตะกรุดติดมาด้วย ส่วนเชือกคาดเอวยุคต่อมาของหลวงพ่อโอทำจากเชือกสีเขียว ถักเป็นลายท้องตะขาบตลอดเส้น และถักหุ้มดอกตะกรุดด้วยด้ายดิบ มีทั้งแบบชุบรักและไม่ชุบรัก และจะมีลูกคั่นหรือลูกสะกดอยู่ด้วย ที่พบเห็นจะเป็นลูกคั่นทรงลูกตะกร้อ หรือลูกสะกดแบบยาวรีมียันต์ตารางกากกะบาทอย่างใดอย่างหนึ่ง และอาจมีปลัดขิกเนื้อปรอทอยู่ด้วย ซึ่งเชือกคาดแต่ละเส้นมีส่วนระกอบเหล่านี้ไม่เหมือนกัน

https://www.facebook.com/permalink.php?id=918006174898377&story_fbid=1557107077654947
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้