|
อ.นิโคลัส เบิร์ด และคณะ ทำการศึกษา (ตีพิมพ์ใน Applied Physiology, Nutrition, and Metabolism) พบว่า การยกน้ำหนักเบาๆ (ยกได้เกิน 10 ครั้งก่อนหมดแรง หรือเกิน 10 เร็พ) และยกหลายๆ ครั้งจนถึงจุดหมดแรง (fatigue) ช่วยเพิ่มมวลกล้ามเนื้อได้มากกว่าที่คิด
.
ข้อดีของการยกน้ำหนักเบาๆ หลายๆ ครั้งจนหมดแรง คือ โอกาสบาดเจ็บจากการออกแรง-ออกกำลังมีน้อยกว่าการยกน้ำหนักแบบหนักมาก โดยเฉพาะในคนสูงอายุ หรือคนที่ไม่ฟิต
.
ข้อเสียของการยกน้ำหนักเบาๆ หลายๆ ครั้งจนหมดแรง คือ ใช้เวลาฝึกนานขึ้น
.
การไม่ออกแรง-ออกกำลังต้านแรงเลยมีแนวโน้มจะไม่ดีกับสุขภาพ เนื่องจากจะเสี่ยงมวลกล้ามเนื้อลดลงตามอายุที่มากขึ้น
.
ผลของการออกแรง-ออกกำลังต้านแรงจะพบได้ชัดเจนในช่วงป่วยหนัก หรือช่วงท้ายๆ ของชีวิต โดยจะเห็นคนที่ไม่ฟิตช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรือลุกจากเตียงไม่ค่อยไหว
.
กล้ามเนื้อเป็นอวัยวะสำคัญที่ช่วยดูดซับน้ำตาล-ไขมันในกระแสเลือดไปใช้ ซึ่งจะทำได้ดีถ้ามวลกล้ามเนื้อมีมากพอ และจะทำได้ดีมากหลังออกแรง-ออกกำลังเฉลี่ย 1/2-17 ชั่วโมง
.
ความสามารถในการดูดซับน้ำตาล-ไขมันในกระแสเลือดเข้าสู่กล้ามเนื้อ ขึ้นกับระดับความหนัก-ความนานของการออกแรง-ออกกำลัง และความฟิต
.
ยิ่งออกกำลังหนัก-นาน ยิ่งดูดซับได้ดี, กล้ามเนื้อของคนที่ฟิต (ออกแรง-ออกกำลังเป็นประจำ) มักจะดูดซับน้ำตาล-ไขมันได้ดีกว่าคนที่ไม่ฟิต (หรือไม่ได้ออกแรง-ออกกำลังเป็นประจำ)
.
การออกแรง-ออกกำลังกล้ามเนื้อมัดใหญ่ต่อเนื่อง เช่น ปั่นจักรยานหรือเดินเร็ว 20 นาที เช้า-เย็น ฯลฯ ช่วยให้หัวใจ-ระบบหลอดเลือดดีขึ้นได้มาก ฯลฯ
.
การออกกำลังต้านแรง เช่น เดินขึ้นลงเนิน ขึ้นลงบันได ฯลฯ 4 นาที/วัน ช่วยเพิ่มมวลกล้ามเนื้อตั้งแต่เอวลงไปได้ และช่วยป้องกันหกล้มจากกล้ามเนื้อต้นขาส่วนบนอ่อนแอ ซึ่งนิยมเรียกว่า "เข่าอ่อน" ได้ในระดับหนึ่ง
.
การหกล้มในคนสูงอายุ หรือคนที่มีโรคกระดูกโปร่งบาง-กระดูกพรุนเพิ่มเสี่ยงกระดูกหัก โดยเฉพาะถ้ากระดูกต้นขาท่อนบนหัก
.
การออกแรง-ออกกำลังไม่ซ้ำซาก เช่น วิ่ง 1 วันสลับจักรยาน 1 วัน ฯลฯ มีแนวโน้มจะดีกับสุขภาพมากกว่าการออกแรง-ออกกำลังแบบเดียวทุกวัน และช่วยลดโอกาสบาดเจ็บจากการฝึกได้ด้วย
.
การศึกษานี้เป็นการศึกษาแรกเริ่ม ควรติดตามการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนหรือคัดค้านการศึกษานี้ต่อไป
.
ถึงตรงนี้... ขอให้ท่านผู้อ่านมีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ |
|